1.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๗
ว่าด้วยการรู้อุปาทานขันธ์โดยเวียนรอบ ๔ (ปริวัฏฏสูตร)
อุปาทานขันธ์โดยปริวัฏฏ์ ๔
ภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
อุปาทานขันธ์ คือ รูป
อุปาทานขันธ์ คือ เวทนา
อุปาทานขันธ์ คือ สัญญา
อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร
อุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ
2.
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๙-๙๔
จูฬสีหนาทสูตร
ว่าด้วยเหตุแห่งการบันลือสีหนาท
[๑๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว.
2.1
สมณะ ๔ จำพวก (โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์)
[๑๕๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะมี ในพระศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่สองมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สามมีใน พระศาสนานี้ สมณะที่สี่มีในพระศาสนานี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากพระสมณะ ผู้รู้ทั่วถึง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงบันลือสีหนาทโดยชอบอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ทีเดียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ในโลกนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อะไรเป็นความมั่นใจของพวกท่าน อะไรเป็นกำลังของ พวกท่าน พวกท่านพิจารณาเห็นในตนด้วยประการไร จึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะมีใน พระศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่สองมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สามมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สี่มีในพระศาสนานี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากพระสมณะผู้รู้ทั่วถึง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้ อันพวกเธอ พึงกล่าวตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการ อันพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแล้ว มีอยู่ ที่พวกเรา เห็นธรรม เหล่านี้ในตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะมีในพระศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่สอง มีในพระศาสนานี้ สมณะที่สามมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สี่มีในพระศาสนานี้ ลัทธิของ ศาสดาอื่น ว่างเปล่าจากพระสมณะผู้รู้ทั่วถึง ธรรม ๔ อย่างเป็นไฉน?
๔ อย่าง คือ ความเลื่อมใสในพระศาสดาของพวกเรา มีอยู่ ความเลื่อมใสใน พระธรรมมีอยู่ ความกระทำให้บริบูรณ์ในศีล มีอยู่ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน เป็นที่น่ารัก น่าพอใจ มีอยู่
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล อันพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแล้ว ที่พวกเราเล็งเห็น ธรรมเหล่านี้ในตน จึงกล่าวอย่างนี้ สมณะมีในพระศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่สองมีใน พระศาสนานี้ สมณะที่สามมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สี่มีในพระศาสนานี้ ลัทธิของ ศาสดาอื่น ว่างเปล่าจากพระสมณะผู้รู้ทั่วถึง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ผู้ใดเป็นศาสดาของพวกเรา ความเลื่อมใสในศาสดา แม้ของ พวกเราก็มีอยู่ คำสอนใดเป็นธรรมของพวกเรา ความเลื่อมใสในธรรม แม้ของพวกเรา ก็มีอยู่ ธรรมเหล่าใดเป็นศีลของพวกเรา แม้พวกเรา ก็กระทำให้บริบูรณ์ ในศีลทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน แม้ของพวกเรา ก็เป็นที่น่ารัก น่าพอใจ ผู้มีอายุ ในข้อเหล่านี้อะไรเป็นข้อที่แปลกกัน อะไรเป็นข้อประสงค์ อะไรเป็นข้อที่กระทำ ให้ต่างกัน ในระหว่างของท่าน และของเราดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ผู้มีวาทะอย่างนี้ อันพวกเธอ พึง กล่าวตอบอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ความสำเร็จมีอย่างเดียว หรือมีมากอย่าง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์ อย่างนี้ว่า ความสำเร็จมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีมากอย่าง พวกเธอพึงกล่าว อย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ก็ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้มีราคะ หรือของผู้ปราศจากราคะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ปราศจากราคะ มิใช่ของผู้มีราคะ พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้น เป็นของผู้มีโทสะ หรือของผู้ปราศจากโทสะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่าความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ปราศจากโทสะ มิใช่ของผู้มีโทสะ พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้มีโมหะ หรือของผู้ปราศจากโมหะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ปราศจากโมหะมิใช่ของผู้มีโมหะ พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้มีตัณหา หรือของผู้ปราศจากตัณหา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์ อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ปราศจากตัณหา มิใช่ของผู้มีตัณหา พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้มี อุปาทาน หรือของผู้ไม่มี อุปาทาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ไม่มี อุปาทาน มิใช่ของผู้มี อุปาทาน พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้รู้แจ้ง หรือของผู้ไม่รู้แจ้ง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้รู้แจ้ง มิใช่ของผู้ไม่รู้แจ้ง พวกเธอพึง กล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ยินดียินร้าย หรือของผู้ไม่ยินดียินร้าย.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ไม่ยินดียินร้าย มิใช่ของผู้ยินดียินร้าย.
พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ยินดีในความเนิ่นช้า มีความเนิ่นช้า เป็นที่มายินดี หรือของผู้ยินดีในความไม่เนิ่นช้า มีความไม่เนิ่นช้า เป็น ที่มา ยินดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ยินดีในความไม่เนิ่นช้า มีความไม่เนิ่นช้า เป็นที่มายินดี มิใช่ของผู้ยินดีในความเนิ่นช้า มีความเนิ่นช้าเป็นที่มายินดี.
2.2
ทิฏฐิ ๒ (ภวทิฏฐิ และ วิภวทิฏฐิ)
(ภวทิฏฐิ เห็นว่าภพมีอยู่ เห็นอัตตาเป็นของเที่ยงแท้)
[๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ ๒ อย่างเหล่านี้ คือ ภวทิฏฐิ และ วิภวทิฏฐิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้แอบอิงภวทิฏฐิเข้าถึง ภวทิฏฐิ หยั่งลงสู่ภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ยินร้ายต่อวิภวทิฏฐิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้แอบอิง วิภวทิฏฐิ เข้าถึงวิภวทิฏฐิ หยั่งลงสู่วิภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ ยินร้ายต่อภวทิฏฐิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ทั่วถึง ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และการถ่ายถอนแห่งทิฏฐิ ๒ อย่างเหล่านี้ ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ยังมีราคะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังมีตัณหา ยังมี อุปาทาน ไม่ใช่ผู้รู้แจ้ง ยังยินดีและยินร้าย เป็นผู้ยินดีในความเนิ่นช้า มีความนิ่นช้าเป็นที่มายินดี พวกเขาย่อมไม่หลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ ความโศก ความร่ำไร ทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นทั้งหลาย เรากล่าวว่า ย่อมไม่หลุดพ้น จากทุกข์ สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ทั่วถึงความเกิด ความดับคุณ โทษ และการถ่ายถอนแห่งทิฏฐิ ๒ อย่างเหล่านี้ ตามความเป็นจริง
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะปราศจาก โมหะ ปราศจากตัณหา ปราศจาก อุปาทาน เป็นผู้รู้แจ้ง เป็นผู้ไม่ยินดีและยินร้าย มีความ ยินดีในความไม่เนิ่นช้า มีความไม่เนิ่นช้าเป็นที่มายินดี พวกเขา ย่อมหลุดพ้นจากชาติ ชรามรณะ ความโศก ความร่ำไร ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และความคับแค้นทั้งหลาย เรากล่าวว่า ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์.
2.3
อุปาทาน ๔
[๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ อย่างเหล่านี้. ๔ อย่างเป็นไฉน? คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้ อุปาทาน ทุกอย่าง แต่พวกเขาย่อมไม่บัญญัติ ความรอบรู้ อุปาทาน ทุกอย่างโดยชอบ คือ ย่อมบัญญัติความรอบรู้ กามุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติ ความรอบรู้ สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ อัตตวาทุปาทาน
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้ทั่วถึงฐานะ ๓ ประการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นพวกเขา จึงปฏิญาณลัทธิว่า รอบรู้ อุปาทาน ทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้ อุปาทาน ทุกอย่างโดยชอบ คือ ย่อมบัญญัติความรอบรู้ กามุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ อัตตวาทุปาทาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้ อุปาทาน ทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้ อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือย่อมบัญญัติ ความรอบรู้ กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ ทิฏฐปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ อัตตวาทุปาทาน
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่รู้ทั่วถึงฐานะ ๒ ประการเหล่านี้ ตาม ความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงปฏิญาณลัทธิว่า รอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ ย่อมบัญญัติความ รอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
ดูกรภิกษุทั้งหลายมีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้ อุปาทาน ทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้ อุปาทาน ทุกอย่างโดยชอบ คือย่อมบัญญัติ ความรอบรู้ กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ อัตตวาทุปาทาน
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่รู้ทั่วถึงฐานะอย่างหนึ่งนี้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้ อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติ ความรอบรู้ อุปาทาน ทุกอย่างโดยชอบ คือย่อมบัญญัติความรอบรู้ กามุปาทาน บัญญัติ ความรอบรู้ ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ อัตตวาทุปาทาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในศาสดาใด ความเลื่อมใสนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ความเลื่อมใสในธรรมใด ความเลื่อมใสนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ความกระทำให้บริบูรณ์ในศีลใด ข้อนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ความเป็นที่รักและน่าพอใจ ในหมู่สหธรรมิกใด ข้อนั้น เราไม่กล่าวว่าไปแล้วโดยชอบ ในธรรมวินัยเห็นปานนี้แล ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนั้น เป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัย ที่ศาสดา กล่าวชั่วแล้ว ประกาศชั่วแล้ว มิใช่สภาพนำออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ มิใช่อันผู้รู้เองโดยชอบประกาศไว้.
[๑๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นแล เป็นผู้มีวาทะว่า รอบรู้ อุปาทาน ทุกอย่าง ปฏิญาณอยู่ ย่อมบัญญัติความรอบรู้ อุปาทาน ทุกอย่าง โดยชอบ คือ ย่อมบัญญัติความรอบรู้ กามุปาทาน ย่อมบัญญัติความรอบรู้ ทิฏฐุปาทาน ย่อมบัญญัติความรู้สี ลัพพัตตุปาทาน ย่อมบัญญัติความรอบรู้ อัตตวาทุปาทาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในศาสดาใด ความเลื่อมใสนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ความเลื่อมใสในธรรมใด ความเลื่อมใสนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ความกระทำให้บริบูรณ์ในศีลใด ข้อนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบความเป็นที่รัก และ น่าพอใจในหมู่สหธรรมิกใด ข้อนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ในพระธรรมวินัย เห็นปานนี้ แล ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนั้น เป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัย อันศาสดา กล่าวดีแล้ว ประกาศดีแล้ว เป็นสภาพนำออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ อันท่านผู้รู้เอง โดยชอบ ประกาศแล้ว
2.4
เหตุเกิดอุปาทานเป็นต้น
[๑๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง อุปาทาน ๔ เหล่านี้ มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? อุปาทาน ๔ เหล่านี้ มีตัณหา เป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหานี้เล่ามีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุ เกิดมีอะไร เป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ตัณหา มีเวทนา เป็นต้นเหตุ มีเวทนา เป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนานี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไร เป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? เวทนามีผัสสะ เป็นต้นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะ เป็นกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสะนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไร เป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ผัสสะ มีสฬายตนะเป็นต้นเหตุ มีสฬายตนะเป็นเหตุเกิด มีสฬายตนะ เป็นกำเนิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สฬายตนะนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไร เป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สฬายตนะ มีนามรูปเป็นต้นเหตุ มีนามรูปเป็นเหตุเกิด มีนามรูป เป็นกำเนิด มีนามรูปเป็นแดนเกิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นามรูปนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไร เป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? นามรูป มีวิญญาณเป็นต้นเหตุ มีวิญญาณเป็นเหตุเกิด มีวิญญาณเป็นกำเนิด มีวิญญาณเป็นแดนเกิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไร เป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? วิญญาณ มีสังขารเป็นต้นเหตุ มีสังขารเป็น เหตุเกิด มีสังขารเป็นกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไร เป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? สังขาร มีอวิชชาเป็นต้นเหตุ มีอวิชชาเป็นเหตุเกิด มีอวิชชา เป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ภิกษุละ อวิชชา ได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น ภิกษุนั้น เพราะสำรอก อวิชชา เสียได้ เพราะวิชชาบังเกิดขึ้น ย่อมไม่ถือมั่น กามุปาทาน ย่อมไม่ถือมั่น ทิฏฐุปาทาน ย่อมไม่ถือมั่น สีลัพพัตตุปาทาน ย่อมไม่ถือมั่น อัตตวาทุปาทาน
เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตน นั่นเทียว เธอย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชม ยินดี ภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วแล.
3.
บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๕๘-๖๐/๙๕-๙๖.
ขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ (มหาปุณณมสูตร)
ภิกษุทั้งหลาย. เราจักแสดงขันธ์ ๕.และ อุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง..
ภิกษุทั้งหลาย.ก็ขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร.
3.1
ขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย.รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายใน หรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีต ก็ตามอยู่ใน ที่ไกลหรือใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่า รูปขันธ์.
ภิกษุทั้งหลาย.เวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก ก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ใน ที่ไกลหรือใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่า เวทนาขันธ์.
ภิกษุทั้งหลาย.สัญญา อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก ก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ใน ที่ไกลหรือใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่า สัญญาขันธ์.
ภิกษุทั้งหลาย.สังขาร อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก ก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีต ก็ตาม อยู่ใน ที่ไกลหรือใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่า สังขารขันธ์.
ภิกษุทั้งหลาย.วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต หรือ ปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีต ก็ตามอยู่ใน ที่ไกลหรือใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์.
ภิกษุทั้งหลาย. เหล่านี้เรียกว่า ขันธ์ ๕
3.2
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย. รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายใน หรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกล หรือใกล้ ก็ตาม อันเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ คือ รูป
ภิกษุทั้งหลาย.เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่ เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายใน หรือภายนอก ก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตามเลว หรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกล หรือใกล้ก็ตาม อันเป็นไปกับ ด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่ อุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ คือเวทนา
ภิกษุทั้งหลาย.สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก ก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกล หรือใกล้ก็ตาม อันเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัย แก่ อุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ คือสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย.สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก ก็ตามหยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกล หรือใกล้ก็ตาม อันเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ คือสังขาร
ภิกษุทั้งหลาย.วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก ก็ตามหยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกล หรือใกล้ก็ตาม อันเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัย แก่อุปาทาน. นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ
ภิกษุทั้งหลาย. เหล่านี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕
4.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑
เรียกกันว่า “สัตว์” เพราะติดเบญจขันธ์
(เพราะมีอุปาทานในขันธ์ทั้ง๕)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า สัตว์ สัตว์ ดังนี้ เขากล่าวกันว่า สัตว์ เช่นนี้ มีความหมายเพียงไร ? พระเจ้าข้า !
ราธะ !
ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) นันทิ (ความเพลิน) ตัณหา (ความทะยานอยาก) ใด ๆ มีอยู่ในรูป สัตว์ ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในรูปนั้น ด้วยฉันทราคะ เป็นต้นนั้น
เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ (ผู้ข้องติด) ดังนี้
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในเวทนา สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในเวทนานั้น ด้วยฉันทราคะ เป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ ดังนี้
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในสัญญา สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในสัญญานั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ ดังนี้
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในสังขารทั้งหลาย สัตว์ย่อม เกี่ยวข้อง ย่อมติดในสังขารทั้งหลาย เหล่านั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ ดังนี้
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในวิญญาณ สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในวิญญาณนั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียก ว่า สัตว์ ดังนี้ แล
5.
ปฏิจจสมุปบาท (สายเกิด)
เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย
เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะปริเทวะทุกขโทมนัส อุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้
บทสวดปฏิจจสมุปบาท(สายดับ)
เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือ แห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสะ ทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่ง กองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้
6.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๒-๓๑๔
สังโยชนสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ และสังโยชน์
(สังโยชน์
คือเครื่องร้อยรัด คืออุปาทานขันธ์)
[๓๐๘] พระนครสาวัตถี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ตั้ง แห่ง สังโยชน์ และสังโยชน์ เธอทั้งหลายจงฟัง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์เป็นไฉน สังโยชน์เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชื่อว่าธรรมเป็น ที่ตั้ง แห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ชื่อว่า สังโยชน์.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ นี้เรียกว่า สังโยชน์
7.
อุปาทานสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็น ที่ตั้งแห่งอุปาทาน และ อุปาทาน
[๓๐๙] พระนครสาวัตถี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ตั้งแห่ง อุปาทาน และอุปาทาน เธอทั้งหลายจงฟัง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานเป็นไฉน อุปาทานเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชื่อว่า ธรรมเป็นที่ตั้ง แห่ง อุปาทาน
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ชื่อว่า อุปาทาน.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทาน
8.
(หนังสือสังโยชน์ พุทธวจน)
ความเพลิน (ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) คือ อุปาทาน
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๘/๒๗.
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด
ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งอะไร คือ
ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด และความดับ แห่งรูป
ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด และความดับ แห่งเวทนา
ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด และความดับ แห่งสัญญา
ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด และความดับ แห่งสังขาร
ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด และความดับ แห่งวิญญาณ.
8.1
(ความเกิดแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
...คือความเกิดขึ้นแห่งทุกข์)
ภิกษุทั้งหลาย อะไรเป็นความเกิดแห่งรูป
อะไร เป็นความเกิดแห่งเวทนา
อะไร เป็นความเกิดแห่งสัญญา
อะไร เป็นความเกิดแห่งสังขาร
อะไร เป็นความเกิดแห่งวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมสยบมัวเมาอยู่ ก็บุคคลย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมสยบมัวเมาอยู่ ซึ่งอะไร ย่อม เพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมสยบมัวเมาอยู่ ซึ่งรูป เมื่อเขา เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมาอยู่ ซึ่งรูป ความเพลินย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใด ในรูป ความเพลินนั้น คือ อุปาทาน
เพราะอุปาทานของเขานั้น เป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัส อุปายาสะ ทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้น พร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมสยบมัวเมาอยู่ … ซึ่งเวทนา เมื่อเขาเพลิดเพลิน พร่ำรรเสริญ สยบมัวเมาอยู่ ซึ่ง เวทนา ความเพลินย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใดในเวทนา ความเพลินนั้น คือ อุปาทาน…
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมสยบมัวเมาอยู่ … ซึ่งสัญญา เมื่อ เขาเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมาอยู่ ซึ่งสัญญา ความเพลินย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใดในสัญญา ความเพลินนั้น คือ อุปาทาน …
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมสยบมัวเมาอยู่ … ซึ่งสังขารเมื่อเขา เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมาอยู่ซึ่ง สังขาร ความเพลินย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใดในสังขาร ความเพลินนั้น คือ อุปาทาน …
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมสยบมัวเมาอยู่ … ซึ่งวิญญาณ เมื่อเขาเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมาอยู่ ซึ่งวิญญาณ ความเพลินย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใดในวิญญาณ ความเพลินนั้น คือ อุปาทาน
เพราะอุปาทานของเขานั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสอุปายาสะ ทั้งหลาย จึงเกิดขึ้น ครบถ้วน ความเกิดขึ้น พร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความเกิดแห่งรูป ความเกิดแห่งเวทนา ความเกิดแห่ง สัญญา ความเกิดแห่งสังขาร และความเกิดแห่งวิญญาณ.
8.2
(ความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
...คือความดับแห่งทุกข์)
ภิกษุทั้งหลาย อะไรเป็นความดับแห่งรูป อะไรเป็นความดับแห่งเวทนา อะไร เป็นความดับแห่งสัญญา อะไรเป็นความดับแห่งสังขาร อะไรเป็นความดับ แห่งวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมไม่ เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำ สรรเสริญ ย่อมไม่สยบมัวเมาอยู่
ก็บุคคลย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่สยบ มัวเมาอยู่ ซึ่งอะไร ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่สยบมัวเมาอยู่ ซึ่งรูป เมื่อเขา ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญไม่สยบมัวเมาอยู่ซึ่งรูป ความเพลินในรูป ย่อมดับ เพราะมีความดับแห่งความเพลิน จึงมีความดับแห่ง อุปาทาน
เพราะมี ความดับ แห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ เพราะมี ความดับ แห่งภพ จึงมีความดับ แห่งชาติ เพราะมีความดับ แห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสะทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมไม่ เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำ สรรเสริญ ย่อมไม่สยบมัวเมาอยู่ …ซึ่งเวทนา เมื่อเขาไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมาอยู่ซึ่งเวทนา ความเพลินในเวทนาย่อมดับ เพราะมีความดับ แห่ง ความเพลิน จึงมีความดับแห่งอุปาทาน …
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำ สรรเสริญ ย่อมไม่สยบมัวเมาอยู่ …ซึ่งสัญญา เมื่อเขาไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมาอยู่ซึ่งสัญญา ความเพลินในสัญญาย่อมดับ เพราะมีความดับ แห่งความเพลิน จึงมีความดับแห่งอุปาทาน …
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำ สรรเสริญ ย่อมไม่สยบมัวเมาอยู่ …ซึ่งสังขาร เมื่อเขาไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมาอยู่ซึ่งสังขาร ความเพลินในสังขารย่อมดับ เพราะมี ความดับแห่ง ความเพลิน จึงมีความดับแห่งอุปาทาน …
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่สยบมัวเมาอยู่ ก็บุคคลย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่สยบ มัวเมาอยู่ซึ่งอะไร ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่สยบมัวเมาอยู่ ซึ่งวิญญาณ เมื่อเขาไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมาอยู่ซึ่งวิญญาณ ความเพลิน ในวิญญาณย่อมดับ เพราะมีความดับ แห่งความเพลิน จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับ แห่งชาติ เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสอุปายาสะทั้งหลายจึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการ อย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความดับแห่งรูป ความดับ แห่งเวทนา ความดับ แห่งสัญญา ความดับแห่งสังขาร และความดับแห่งวิญญาณ.
|