1.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๑๐๑-๑๐๓.
ฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะปราศจากอุปธิ เรียกว่าเป็นของพระอริยะ
[๙๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในฝ่ายอิทธิวิธี
อิทธิวิธี ๒ อย่างเหล่านี้ คือ
๑. ฤทธิ์ที่ประกอบด้วยอาสวะ ประกอบด้วย อุปธิ ไม่เรียกว่าเป็นของพระอริยะ มีอยู่
๒. ฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะ ปราศจากอุปธิ เรียกว่าเป็นของพระอริยะ มีอยู่
๑. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฤทธิ์ที่ประกอบด้วยอาสวะ
ประกอบด้วย อุปธิ ที่ไม่เรียกว่า เป็นของพระอริยะนั้น เป็นไฉน คือสมณะหรือ พราหมณ์ บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียร เครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความ ไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้ว บรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว เขาได้บรรลุ อิทธิวิธี หลายประการ คือคนเดียว เป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียว ก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ เหมือนนก ก็ไปลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไป ตลอดพรหมโลก ก็ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้ฤทธิ์ที่ประกอบด้วย อาสวะ ประกอบด้วย อุปธิ ไม่เรียกว่าเป็นของพระอริยะ
๒. ส่วนฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะ ปราศจาก อุปธิ ที่เรียกว่าเป็นของพระอริยะนั้น เป็นไฉน คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีสัญญา ในสิ่งปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญา ในสิ่งปฏิกูลนั้น ว่าไม่ปฏิกูลอยู่
ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีสัญญา ในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญา ในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้น ว่าเป็นสิ่ง ปฏิกูลอยู่
ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีสัญญา ในสิ่งทั้งที่ปฏิกูล และไม่ปฏิกูล ว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญาในสิ่งทั้งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้น ว่าไม่ปฏิกูลอยู่
ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีสัญญา ในสิ่งทั้งปฏิกูล และไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญา ในสิ่งทั้งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่
ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงละวางสิ่ง ที่เป็นปฏิกูล และไม่เป็นปฏิกูลทั้ง ๒ นั้นเสีย แล้ววางเฉย มีสติสัมปชัญญะ ก็ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นที่เป็นปฏิกูล และไม่เป็นปฏิกูล นั้นเสีย มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้ฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะ ปราศจาก อุปธิ ที่เรียกว่าเป็น ของ พระอริยะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายอิทธิวิธี พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงรู้ ข้อธรรมนั้น ได้ทั้งสิ้น เมื่อทรงรู้ข้อธรรมนั้นได้ทั้งสิ้น ก็ไม่มีข้อธรรมอื่น ที่จะต้องทรงรู้ ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ซึ่งไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่รู้ยิ่งแล้ว จะมีความรู้ ยิ่งขึ้น ไปกว่าพระองค์ในฝ่ายอิทธิวิธี
2.
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๐-๒๒๑
การแสวง ๒ อย่าง
(การแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐ และการแสวงหาสิ่งที่ไม่ประเสริฐ)
[๓๑๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นสนทนา กันจบแล้วจึงทรงกระแอมแล้วเคาะบานประตู ภิกษุเหล่านั้นได้เปิดประตูรับ พระผู้มีพระภาค เสด็จเข้าไปที่อาศรมของพราหมณ์ชื่อรัมมกะ ประทับนั่งบนอาสนะ ที่ได้จัดไว้ แล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอ นั่งสนทนาเรื่องอะไรกัน และเรื่องอะไร ที่พวกเธอสนทนากันค้างไว้?
ภิกษุเหล่านั้น ทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมีกถาปรารภถึงพระผู้มีพระภาค นั้นแล พวกข้าพระองค์พูดกัน ค้างอยู่ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า ดีละภิกษุทั้งหลาย การที่พวกเธอ ผู้เป็น กุลบุตร ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตด้วยศรัทธา นั่งสนทนาธรรมีกถากัน เป็นการสมควร พวกเธอเมื่อนั่งประชุมกัน ควรทำกิจสองอย่าง คือสนทนาธรรมกัน หรือนั่งนิ่งตามแบบพระอริยะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหามีสองอย่าง คือ การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ อย่างหนึ่ง การแสวงหาที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง.
[๓๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลายคนบางคนในโลกนี้ โดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ ก็อะไรเรียกว่า สิ่งมีชาติเป็นธรรมดา บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โคม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีชาติเป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีชาติเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้องในสิ่งมีชาติ เป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา อยู่นั่นแหละ ก็อะไรเล่าเรียกว่าสิ่งมีชราเป็นธรรมดา บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงินเรียกว่าสิ่งมีชราเป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีชราเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีชรา เป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา? บุตร
ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลงเกี่ยวข้อง ในสิ่งมีพยาธิ เป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีพยาธิ เป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีพยาธิ เป็นธรรมดา อยู่นั่นแหละ ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา?
บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงินเรียกว่า สิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีมรณะ เป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่า โดยตนเอง เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา อยู่นั่นแหละ ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีความโศกเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลาทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีความโศก เป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีความโศกเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีความโศก เป็นธรรมดาเหล่านั้นชื่อว่าโดยตนเอง เป็นผู้มีความโศกเป็นธรรมดา ยังแสวงหา สิ่งมีความโศก เป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลายสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา เหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมี สังกิเลสเป็นธรรมดา เหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มี สังกิเลส เป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลส เป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ.
[๓๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาที่ประเสริฐเป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนบางคน ในโลกนี้ โดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา
ทราบชัดโทษ ในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เกิด หาธรรมอื่น ยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ โดยตนเองเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา
ทราบชัดโทษ ในสิ่งมีชราเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่แก่หาธรรมอื่น ยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ โดยตนเอง เป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา
ทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน หาพยาธิมิได้ หาธรรมอื่น ยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะโดยตนเองเป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา
ทราบชัดโทษ ในสิ่งมีมรณะ เป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่ตาย หาธรรมอื่น ยิ่งกว่ามีได้ เกษมจากโยคะ โดยตนเอง เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา
ทราบชัดโทษ ในสิ่งมีโศกเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพาน ที่หาโศกมิได้ หาธรรมอื่น ยิ่งกว่ามิได้เกษมจากโยคะ โดยตนเองเป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา
ทราบชัดโทษ ในสิ่งมีสังกิเลส เป็นธรรมดาย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ
ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้แล คือการแสวงหาที่ประเสริฐ.
3
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๗-๑๔๘
บุคคล ๔ จำพวก (เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ)
[๑๘๑] ดูกรอุทายี บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
๔ จำพวกเป็นไฉน?
ดูกรอุทายี (๑) บุคคลบางคน ในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละ อุปธิ เพื่อสละคืน อุปธิ แต่ความดำริที่แล่นไปอันประกอบด้วย อุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละ อุปธิ เพื่อ สละคืน อุปธิ นั้นได้อยู่ ผู้นั้นยังรับเอาความดำรินั้นไว้ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี เราเรียกบุคคลนี้แลว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ไม่ใช่ผู้อันกิเลส คลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกัน ในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว.
ดูกรอุทายี (๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละ อุปธิ เพื่อสละคืน อุปธิ ความดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละ คืน อุปธินั้น ได้อยู่ แต่ผู้นั้นไม่รับเอาความดำริเหล่านั้นไว้ ละได้ บรรเทาได้ ทำให้ สิ้นสุดได้ ให้ถึงความไม่มีได้แม้บุคคลผู้นี้ เราก็กล่าวว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ไม่ใช่ ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกัน ในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว.
ดูกรอุทายี (๓) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละ อุปธิ เพื่อสละคืน อุปธิ ความดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละ อุปธิ เพื่อสละ คืน อุปธิ นั้นได้อยู่ เพราะความหลงลืม แห่งสติในบางครั้งบางคราว ความดำริ ที่แล่นไป อันประกอบด้วย อุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืน อุปธิ นั้นได้อยู่ ความ บังเกิดแห่งสติช้าไป ที่จริงเขาละบรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความดำรินั้น ฉับพลัน.
ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนบุรุษเอาหยาดน้ำสองหยาด หรือสามหยาด หยาด ลงใน กระทะเหล็กอันร้อน อยู่ตลอดวัน หยาดน้ำตกลงช้าไป ความจริงหยาดน้ำ ถึง ความสิ้นไป แห้งไป นั้นเร็วกว่า ฉันใด
ดูกรอุทายี บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้น เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละ อุปธิ เพื่อสละ คืน อุปธิ ความดำริแล่นไป อันประกอบด้วย อุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละ อุปธิ เพื่อ สละคืน อุปธิ นั้นได้อยู่ เพราะความหลงลืมแห่งสติ ในบางครั้ง บางคราว ความบังเกิด แห่งสติช้าไป ที่จริงเขาละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุดให้ถึงความไม่มี ซึ่งความดำริ นั้น ฉับพลัน ถึงบุคคลนี้เราก็กล่าวว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ มิใช่ผู้อันกิเลส คลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกัน ในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว.
ดูกรอุทายี (๔) ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ว่าเบญจขันธ์อันชื่อว่า อุปธิ เป็นมูล แห่งทุกข์ ครั้นรู้ดังนี้แล้ว เป็นผู้ไม่มี อุปธิ แล้วน้อมจิตไปในนิพพานเป็นที่สิ้น อุปธิ บุคคลนี้เรากล่าวว่า ผู้อันกิเลสคลายแล้ว มิใช่ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว.
ดูกรอุทายี บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก.
โดยย่อ :
บางคนผู้ปฏิบัติเพื่อละ อุปธิ เพื่อสละคืน อุปธิ
1.แต่ผู้นั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด เราเรียกบุคคลนี้แลว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้
2.แต่ผู้นั้น ละได้ บรรเทาได้ ทำให้สิ้นสุดได้ เราเรียกบุคคลนี้แลว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้
3.แต่ผู้นั้น หลงลืมแห่งสติในบางครั้งบางคราว เราเรียกบุคคลนี้แลว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้
4.แต่ผู้นั้นรู้ว่าขันธ์ ๕ คืออุปธิ เป็นมูลแห่งทุกข์ ครั้นรู้แล้วได้น้อมจิตไปในนิพพานเป็นที่สิ้นอุปธิ บุคคลนี้เรากล่าวว่า ผู้อันกิเลสคลายแล้ว มิใช่ผู้อันกิเลสประกอบไว้
(เหตุเพราะอินทรีย์ต่างกันผลลัพธ์ จึงต่างกัน)
4.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๘-๑๒๔.
สัมมสสูตร
ชราและมรณะที่เป็นทุกข์นี้แล เพราะมีอุปธิเป็นเหตุเกิด
มีอุปธิ เป็นเหตุ
มีอุปธิ เป็นที่ตั้งขึ้น
มีอุปธิ เป็นกำเนิด
มีอุปธิ เป็นแดนเกิด
เมื่ออุปธิ มี ชราและมรณะจึงมี
เมื่ออุปธิ ไม่มี ชราและมรณะก็ไม่มี
เหตุเกิด-เหตุดับของอุปธิ คือตัณหา
[๒๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กัมมาสทัมมนิคมของชาวกุรุ ณกุรุชนบท ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุทูล
รับพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เมื่อพิจารณาย่อมพิจารณาปัจจัยภายในบ้าง หรือไม่ เมื่อพระองค์ตรัสถาม อย่างนี้แล้ว มีภิกษุรูปหนึ่ง ได้กราบทูลเนื้อความนี้ขึ้น แด่ พระองค์ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาปัจจัยภายใน พระเจ้าข้า
พระองค์จึงตรัสถามว่า เธอเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาปัจจัยภายในอย่างไร ทันใดนั้นแล ภิกษุรูปนั้นก็ทูลเล่าถวายให้ทรงทราบ แต่ก็ไม่ถูกพระหฤทัย ของพระผู้มีพระภาค
[๒๕๕] เมื่อพระภิกษุรูปนั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ จึงได้กราบทูลเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถึงเวลา ที่จะทรงแสดงเรื่องนี้แล้ว ข้าแต่พระสุคต ถึงเวลาที่จะทรงแสดงเรื่องนี้แล้ว พระองค์ ตรัสการพิจารณาปัจจัยภายในข้อใด ภิกษุทั้งหลาย ฟังการพิจารณา ปัจจัยภายใน ข้อนั้นจากพระองค์แล้ว จักทรงจำไว้ดังนี้ พระองค์จึงตรัสว่า
อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับ พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า
(พิจารณาปัจจัยภายในเหตุเกิด-เหตุดับของชรามรณะ ก็คือ อุปธิ)
[๒๕๖] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัยภายใน ว่าชราและมรณะนี้ อันใดแล ย่อมบังเกิด ในโลก เป็นทุกข์หลายอย่างต่างๆ กัน ชราและมรณะที่เป็นทุกข์นี้แล มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมีชราและมรณะ จึงมี เมื่อเธอพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ชราและมรณะนี้อันใดแล ย่อมบังเกิดขึ้น ในโลก เป็นทุกข์หลายอย่างต่างๆกัน ชราและมรณะที่เป็นทุกข์นี้แล มี อุปธิ เป็นเหตุ มี อุปธิ เป็นที่ตั้งขึ้น มี อุปธิ เป็นกำเนิด มี อุปธิ เป็นแดนเกิด
เมื่อ อุปธิ มี ชราและมรณะจึงมี เมื่ออุปธิไม่มี ชราและมรณะก็ไม่มี เธอย่อมทราบชัด ซึ่งชราและมรณะ ย่อมทราบชัดซึ่งความเกิดแห่งชราและมรณะ ย่อมทราบชัดซึ่งความดับแห่งชรา และมรณะ และย่อมทราบชัดซึ่งปฏิปทาอันสมควร เครื่องให้ถึงความดับ แห่งชรา และมรณะ และเธอย่อมเป็นผู้ปฏิบัติตามนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ ประพฤติตามธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเรียกภิกษุรูปนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความ สิ้นทุกข์ เพื่อความดับไป แห่งชราและมรณะ โดยชอบทุกประการ
(พิจารณาปัจจัยภายในเหตุเกิด-เหตุดับของอุปธิ ก็คือ ตัณหา)
[๒๕๗] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัยภายในว่า ก็อุปธิอันนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิดมีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี อุปธิ จึงมี เมื่ออะไรไม่มี อุปธิ จึงไม่มี เมื่อเธอพิจารณาอยู่ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า อุปธิ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด เมื่อตัณหามี อุปธิจึงมี เมื่อตัณหาไม่มี อุปธิก็ไม่มี เธอย่อมทราบชัดซึ่ง อุปธิย่อมทราบชัดซึ่งเหตุเกิดแห่ง อุปธิ ย่อมทราบชัดซึ่งความดับแห่ง อุปธิ ย่อมทราบชัด ซึ่งปฏิปทาอันสมควร เครื่องให้ถึงความดับแห่ง อุปธิ และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติตามนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตามธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเรียกภิกษุรูปนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความดับแห่ง อุปธิ โดยชอบทุกประการ
(เห็นเป็นของเที่ยง ที่ใดแลเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลก ตัณหาย่อม ย่อมตั้งอยู่ที่นั่น)
เกิดที่กายย่อมตั้งอยู่ที่กาย เกิดขึ้นที่ใจย่อมตั้งอยู่ที่ใจ)
[๒๕๘] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัยภายในว่า ก็ตัณหานี้เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน เมื่อเธอพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ที่ใดแล เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ตัณหา เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นั้น
ก็อะไรเล่า เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก
ตา เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ...
หู เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ...
จมูก เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ...
ลิ้น เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ...
กาย เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ...
ใจ เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก
ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ใจนั้น เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่ใจนั้น
[๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล ได้เห็นอารมณ์ อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค โดยความเป็นของ เกษม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าทำตัณหา ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดทำตัณหาให้เจริญขึ้นแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าทำ อุปธิ ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใด มาทำ อุปธิ ให้เจริญขึ้น แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าทำทุกข์ ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำทุกข์ ให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น ชื่อว่าไม่พ้นจากชาติชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า เขาไม่พ้นแล้ว จากทุกข์ได้เลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักเห็นอารมณ์ อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจ ในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง โดยความ เป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของ ไม่มีโรค โดยความเป็นของ เกษม สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าจักทำตัณหาให้เจริญขึ้นสมณะ หรือพราหมณ์ เหล่าใด จักทำตัณหาให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าจักทำ อุปธิ ให้เจริญขึ้น สมณะหรือ พราหมณ์ เหล่าใด จักทำ อุปธิ ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า จักทำทุกข์ ให้เจริญขึ้น สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดจักทำทุกข์ให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าจักไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่าเขาจักไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งในปัจจุบันนี้ เห็นอารมณ์ อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจ ในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค โดยความเป็นของเกษม สมณะ หรือพราหมณ์ เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมทำตัณหาให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ทำตัณหาให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมทำ อุปธิ ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำอุปธิให้เจริญ ขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมทำทุกข์ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใด ทำทุกข์ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า เขาย่อมไม่พ้นไป จากทุกข์ได้เลย ดังนี้ ฯ
[๒๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขันสำริดที่ใส่น้ำ ที่ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นและรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ทันใดนั้น มีบุรุษเดินฝ่าความร้อนอบอ้าวเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามา ระหายน้ำ คนทั้งหลาย จึงได้พูด กะบุรุษผู้นั้น อย่างนี้ว่า นายขันสำริดที่ใส่น้ำนี้ ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ถ้าท่านประสงค์ก็จงดื่มเถิด เพราะว่าเมื่อดื่มน้ำนั้น ก็จักซาบซ่านด้วยสีบ้าง กลิ่นบ้างรสบ้าง ก็แหละ ครั้นดื่มเข้าไปแล้ว ตัวท่านจะถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตายเพราะการดื่มนั้น เป็นเหตุ ดังนี้ บุรุษนั้น ผลุนผลันไม่ทันพิจารณาดื่มน้ำนั้นเข้าไปไม่บ้วนทิ้งเลย เขาก็พึงถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย เพราะการดื่มน้ำนั้นเป็นเหตุทันที แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล ได้เห็นอารมณ์ อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจ ในโลก ฯลฯ ในอนาคตกาล ฯลฯ
สมณะหรือ พราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งในปัจจุบันนี้ เห็นอารมณ์เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจ ในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็น ตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค โดยความเป็นของเกษม สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมทำตัณหาให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ทำตัณหาให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมทำอุปธิให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ทำอุปธิให้เจริญขึ้น สมณะ หรือพราหมณ์ เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมทำทุกข์ให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใด ทำทุกข์ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและ อุปายาส เรากล่าวว่าเขาย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ได้เลย ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล
(ในทางตรงกันข้าม - เห็นโดยนัยยะเป็นของไม่เที่ยง ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน)
เห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง..ชื่อว่าละตัณหาได้
ละตัณหาได้..ย่อมละอุปธิได้
ละอุปธิได้..ย่อมละทุกข์ได้
ละทุกข์ได้...ย่อมพ้นจากชรามรณะ ..ย่อมพ้นจากทุกข์ได้
[๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล ได้เห็นอารมณ์ อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของ ไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพ มิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค โดยความเป็นภัยแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าละตัณหาได้แล้ว สมณะ หรือ พราหมณ์เหล่าใด ละตัณหาได้แล้ว สมณะ หรือพราหมณ์ เหล่านั้น ชื่อว่า ละอุปธิเสียได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ละอุปธิได้แล้ว สมณะ หรือ พราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า ละทุกข์เสียได้ สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใด ละทุกข์ได้แล้ว สมณะ หรือพราหมณ์ เหล่านั้น ชื่อว่าพ้นแล้วจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาส ได้ เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น พ้นแล้ว จากทุกข์ได้
อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล จักเห็นอารมณ์ อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจ ในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็น สภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค โดยความ เป็นภัย สมณะหรือ พราหมณ์เหล่านั้น จักละตัณหาได้ ฯลฯ เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น จักพ้นจากทุกข์ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในปัจจุบัน กาล ย่อมเห็น อารมณ์อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค โดยความเป็นภัย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมละตัณหาได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ย่อมละ ตัณหาได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมละอุปธิได้ สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใด ย่อมละอุปธิได้ สมณะหรือ พราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมละทุกข์ได้ สมณะหรือ พราหมณ์เหล่าใด ย่อมละทุกข์ได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า สมณะ หรือพราหมณ์ เหล่านั้น ย่อมพ้นจาก ทุกข์ได้ ดังนี้
(อุปธิ อุปมาเหมือนยาพิษ)
[๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แก้วเหล้าที่ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นและรสแต่ว่า เจือด้วยยาพิษ ทันใดนั้น มีบุรุษเดินฝ่าความร้อนอบอ้าว เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า มา ระหายน้ำ คนทั้งหลายจึงได้พูดกะบุรุษผู้นั้นอย่างนี้ว่า นาย แก้วเหล้าที่ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ถ้าท่านประสงค์ ก็จงดื่มเถิดเพราะว่า เมื่อดื่มเหล้านั้น ก็จักซาบซ่านด้วยสีบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง ก็แหละครั้นดื่มเข้าไปแล้ว ตัวท่านจัก ถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย เพราะการดื่มนั้นเป็นเหตุ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น บุรุษนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า เหล้านี้เราดื่มแล้ว เราอาจจะบรรเทาได้ด้วยน้ำเย็น ด้วยเนยใส ด้วยน้ำข้าวสัตตุเค็ม หรือด้วยน้ำ ชื่อโลณโสจิรกะ แต่เราจะไม่ดื่มเหล้านั้นเลย เพราะไม่เป็นประโยชน์ มีแต่ทุกข์ แก่เราช้านาน เขาพิจารณาดูแก้วเหล้านั้นแล้ว ไม่พึงดื่ม เขาทิ้งเสีย เขาก็ไม่เข้าถึง ความตาย หรือความทุกข์แทบตาย เพราะการดื่มนั้นเป็นเหตุ แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล เห็นอารมณ์ อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็น สภาพมิใช่ตัวตนโดยความเป็นโรค โดยความเป็นภัยแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าละตัณหาได้แล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ละตัณหาเสียได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ละอุปธิ ได้แล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ละอุปธิเสียได้ สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้นชื่อว่า ละทุกข์ได้แล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ละทุกข์เสียได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า พ้นแล้วจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น พ้นแล้วจากทุกข์ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล ฯลฯ ในปัจจุบันกาล ย่อมเห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค โดยความเป็นภัย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมละตัณหาได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ย่อมละตัณหาได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมละอุปธิได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ย่อมละอุปธิได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมละทุกข์ได้
สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดย่อมละทุกข์ได้
สมณะ หรือพราหมณ์ เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ ดังนี้
5.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙๐-๓๙๔.
ฌานสูตร (สิ้นตัณหา คือความสิ้นไปของอุปธิ)
[๒๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัย ปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง อากาสานัญจายตนฌานบ้าง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย เพราะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง ฯ
ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรคเป็นดัง หัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาพาธ เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุดว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น
ครั้นแล้ว เธอย่อมโน้มจิตไปเพื่อ อมตธาตุ ว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็น ที่สงบ แห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืน อุปธิ ทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมเป็นอุปปาติกะ จักปรินิพพาน ในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้นๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนนายขมังธนู หรือลูกมือของนายขมังธนู เพียรยิงรูปหุ่นที่ทำ ด้วยหญ้าหรือกองก้อนดิน ต่อมาเขาเป็นผู้ยิงได้ไกล ยิงไม่พลาด และทำลายร่างใหญ่ๆได้แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ... ว่างเปล่าเป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น
ครั้นแล้วย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรม เป็นที่สงบ แห่งสังขารทั้งปวง ... นิพพาน เธอตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมเป็นอุปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้นๆ ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายเพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว
ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย เพราะอาศัยทุติยฌานบ้าง ฯลฯ เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง ฯลฯ เพราะอาศัย จตุตถฌานบ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งจตุตถฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ... ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น
ครั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบ แห่งสังขารทั้งปวง ...นิพพาน เธอตั้งอยู่ในจตุตถฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมเป็นอุปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้นๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู หรือลูกมือของนายขมังธนู เพียรยิงธนูไปยังรูปหุ่นที่ทำด้วยหญ้าหรือกองดิน ต่อมาเขาเป็นผู้ยิงได้ไกล ยิงไม่พลาด และทำลายร่างใหญ่ๆได้ แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล บรรลุ จตุตถฌาน ฯลฯ เธอย่อม พิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา ฯลฯ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัย จตุตถฌานบ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว
ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย เพราะอาศัยอากาสานัญจายตนฌานบ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับ ปฏิฆสัญญา และเพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า อากาศไม่มีที่สุด
เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งอากาสานัญจาตนฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ... ว่างเปล่า เป็นอนัตตาเธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น
ครั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรม เป็นที่สงบ แห่งสังขารทั้งปวง ... นิพพานเธอตั้งอยู่ในอากาสานัญจาตนฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมเป็นอุปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไปด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้นๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู หรือลูกมือของนายขมังธนู เพียรยิงธนูไปยังรูปหุ่นที่ทำด้วยหญ้าหรือกองดิน ต่อมาเขาเป็นผู้ยิงได้ไกล ยิงไม่พลาด และทำลายร่างใหญ่ๆ ได้ แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เพราะล่วงรูปสัญญา โดยประการ ทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา บรรลุ อากาสานัญจาตนฌาน ... เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย ฯลฯ มีอันไม่กลับ จากโลกนั้น เป็นธรรมดา ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เรากล่าวว่า เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย เพราะอาศัยอากาสานัญจายตนฌานบ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว ฯ
ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย เพราะอาศัยวิญญาณัญจายตนฌานบ้าง ฯลฯ อากิญจัญญายตนฌาน บ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า อะไรๆ หน่อยหนึ่งไม่มี เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรม ทั้งหลาย คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งอากิญจัญญายตนฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ... ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น
ครั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรม เป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ... นิพพาน เธอตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนะนั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่ถึงความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมเป็นอุปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้นๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนูหรือลูกมือของนายขมังธนู เพียรยิงธนูไปยังรูปหุ่น ที่ทำด้วยหญ้า หรือกองดิน ต่อมาเขาเป็นผู้ยิงได้ไกล ยิงไม่พลาด และทำลายร่างใหญ่ๆ ได้ แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า อะไรๆหน่อยหนึ่งไม่มี เธอย่อมพิจารณา เห็นธรรมทั้งหลาย คือ เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งอากิญจัญญายตนฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ... ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิต ให้ตั้งอยู่ในธรรมเหล่านั้น
ครั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือธรรม เป็นที่สงบสังขารทั้งปวง ... นิพพาน เธอตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ย่อมถึง ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่ถึงความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมเป็นอุปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่พึงกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้นๆ ข้อที่เรากล่าวว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัย อากิญจัญญายตนฌานบ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้แล สัญญาสมาบัติมีเท่าใด สัญญาปฏิเวธ ก็มีเท่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะ ๒ เหล่านี้ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ๑ สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑ ต่างอาศัยกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า อายตนะ ๒ ประการนี้ อันภิกษุผู้เข้าฌาน ผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ และฉลาดในการออกจากสมาบัติ เข้าแล้วออกแล้ว พึงกล่าวได้โดยชอบ
6.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๙๖-๑๙๘.
พรหมเทวสูตรที่ ๓ (พรหมปลดเปลื้องความเห็นผิดของนางพราหมณี)
ท้าวสหัมบดีพรหม(เทวดา) ลงมาจากชั้นพรหม เพื่อมาบอกนางพราหมณี มารดาของ พระพรหมเทวะ(อรหันต์) ให้เลิกบูชาเทวดาพรหมด้วยก้อนข้าว เพราะไม่ใช่อาหารของพรหม แต่ควรบิณฑบาตกับลูกชายที่ชื่อ พระพรหมเทวะ ผู้หมดอุปธิกิเลส (สำเร็จเป็นพระอรหันต์)... พระสูตรนี้ เข้าใจว่า นางพราหมณี คงเคยบูชาเทวดาพรหมด้วยก้อนข้าวเป็นประจำ แม้ลูกชาย จะสำเร็จเป็น พระอรหันต์ ก็ยังทำเป็นปกติ แต่ไม่รู้ว่าผู้สำเร็จอรหันต์ นั้นคืออะไร ต้องทำอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร ท้าวสหัมบดีพรหม จึงต้องอธิบายให้เข้าใจ (ทำให้สลดใจ)
[๕๖๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ
ก็สมัยนั้นแล บุตรแห่งนางพราหมณีคนหนึ่ง ชื่อพรหมเทวะ ออกบวชในสำนัก ของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้นแล ท่านพระพรหมเทวะเป็นผู้เดียวหลีกออกแล้ว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้ว อยู่ไม่นานเท่าไร ก็ได้กระทำให้แจ้ง ประโยชน์ ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องประสงค์ อันนั้น อย่างยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เพราะรู้แจ้งชัดเองในปรัตยุบันนี้แหละ เข้าถึงอยู่ ท่านได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้อีก มิได้มี ก็แหละท่านพรหมเทวะ ได้เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์แล้ว
[๕๖๔] ครั้งนั้นแล ท่านพระพรหมเทวะ ในเวลารุ่งเช้านุ่งห่มแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไป บิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ท่านเที่ยวบิณฑบาต ในพระนคร สาวัตถี ตามลำดับตรอก เข้าไปยังนิเวศน์แห่งมารดาของตนแล้ว
ก็สมัยนั้นแล นางพราหมณีผู้มารดาของท่านพระพรหมเทวะ ถือการบูชา บิณฑะ แก่พรหม มั่นคงเป็นนิตย์
ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม คิดว่า นางพราหมณีผู้มารดาของท่าน พระพรหมเทวะ นี้แล ถือการบูชาบิณฑะ(การขอ) แก่พรหมมั่นคงเป็นนิตย์ ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปหานางแล้วทำให้สลดใจ
[๕๖๕] ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมหายไปในพรหมโลกปรากฏแล้ว ในนิเวศน์ของมารดา แห่งท่านพระพรหมเทวะ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง พึงเหยียดออก ซึ่งแขนที่คู้เข้าแล้ว หรือพึงคู้เข้าซึ่งแขนที่เหยียดออกแล้ว ฉะนั้น
ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมลอยอยู่ในอากาศ ได้กล่าวกะนางพราหมณี ผู้มารดาของท่าน พระพรหมเทวะ ด้วยคาถาทั้งหลายว่า ดูกรนางพราหมณี ท่านถือ การบูชาด้วยก้อนข้าว แก่พรหมใด มั่นคงเป็นนิตย์ พรหมโลกของพรหมนั้นอยู่ไกล จากที่นี้ ดูกรนางพราหมณี ภักษาของพรหมไม่ใช่เช่นนี้ ท่านไม่รู้จักทางของพรหม ทำไมจึงบ่นถึงพรหม
ดูกรนางพราหมณี ก็ท่านพระพรหมเทวะของท่านนั้น เป็นผู้หมด อุปธิ กิเลส ถึงความเป็น อติเทพ ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล มีปรกติ ขอไม่เลี้ยงดูผู้อื่น ท่านพระพรหมเทวะ ที่เข้าสู่เรือนของท่านเพื่อบิณฑบาต เป็นผู้สมควรแก่บิณฑะ ที่บุคคลพึงนำมาบูชา ถึงเวท มีตนอันอบรมแล้ว สมควรแก่ทักษิณาทานของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย ลอยบาป เสียแล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่ฉาบทาแล้ว เป็นผู้เยือกเย็น กำลังเที่ยวแสวงหาอาหารอยู่
อดีตอนาคตไม่มีแก่ท่านพระพรหมเทวะนั้น ท่านพระพรหมเทวะเป็นผู้สงบ ระงับ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง วางอาชญาในปุถุชนผู้ยังมีความ หวาดหวั่น และพระขีณาสพผู้มั่นคงแล้ว ขอท่านพระพรหมเทวะนั้น จงบริโภคบิณฑบาต อันเลิศ ที่สำหรับบูชาพรหมของท่าน
ท่านพระพรหมเทวะซึ่งเป็นผู้มีเสนามารไปปราศแล้ว มีจิตสงบระงับ ฝึกตน แล้ว เที่ยวไป เหมือนช้าง ตัวประเสริฐ ไม่หวั่นไหว เป็นภิกษุมีศีลดี มีจิตพ้น วิเศษแล้ว ขอท่านพระพรหมเทวะ นั้น จงบริโภคบิณฑบาต อันเลิศที่สำหรับบูชาพรหม ของท่าน
ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่านพระพรหมเทวะนั้น เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ตั้งทักษิณาไว้ ในท่าน ผู้เป็นทักษิเณยยบุคคล ดูกรนางพราหมณี ท่านเห็นมุนีผู้มีโอฆะ อันข้ามแล้วจงทำบุญ อันจะนำความสุขต่อไปมาให้
ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่าน พระพรหมเทวะนั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว ตั้งทักษิณาไว้ในท่าน ผู้เป็นทักษิเณยยบุคคล ดูกรนางพราหมณี ท่านเห็นมุนีผู้มีโอฆะ อันข้ามแล้ว ได้ทำบุญ อันจะนำความสุขต่อไป มาให้แล้ว
7.
พระไตรปิฎก (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๓๒๓-๓๒๖
ว่าด้วยวิเวก ๓ อย่าง (กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก)
[๗๐๑] ชื่อว่า วิเวก ในคำว่า ผู้สงัด มีสันติบท แสวงหาคุณใหญ่ดังนี้ วิเวกมี ๓ อย่าง คือ กายวิเวก ๑ จิตวิเวก ๑ อุปธิวิเวก ๑.
กายวิเวกเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าโคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง และเป็นผู้สงัดด้วยกาย อยู่เธอเดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียวนั่งในที่หลีกเร้นผู้เดียว อธิษฐาน จงกรมผู้เดียว ผู้เดียวเที่ยวไป ยับยั้งอยู่ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา นี้ชื่อว่า กายวิเวก.
จิตวิเวกเป็นไฉน? ภิกษุบรรลุปฐมฌาน มีจิตสงัดจากนิวรณ์ บรรลุทุติยฌาน มีจิตสงัดจาก วิตกวิจาร บรรลุตติยฌาน มีจิตสงัดจากปีติ บรรลุจตุตถฌาน มีจิตสงัด จากสุข และทุกข์ บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจากรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา และนานัตตสัญญา บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน มีจิตสงัดจากวิญญาณัญจายตนสัญญา บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มีจิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา (เมื่อภิกษุนั้น) เป็นพระโสดาบัน มีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับ สักกายทิฏฐิเป็นต้นนั้น เป็นพระสกทาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์ เป็นต้นนั้น เป็นพระอนาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยอย่างละเอียดๆ และจากกิเลส ที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์ เป็นต้นนั้น เป็นพระอรหันต์ มีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชามานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย กิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับรูปราคะ เป็นต้นนั้นและจากสังขารนิมิต ทั้งปวงในภายนอก นี้ชื่อว่า จิตวิเวก.
อุปธิวิเวกเป็นไฉน? กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี เรียกว่า อุปธิ. อมตนิพพานเรียกว่าอุปธิวิเวก. ได้แก่ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิ ทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอกตัณหา เป็นที่ดับตัณหา เป็นที่ออกไปจากตัณหา เครื่องร้อยรัด นี้ชื่อว่าอุปธิวิเวก.
ก็กายวิเวกย่อมมี แก่บุคคลผู้มีกายหลีกออก ยินดียิ่งในเนกขัมมะ จิตวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิต บริสุทธิ์ ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง อุปธิวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้หมดอุปธิ ถึงซึ่งนิพพานอันเป็นวิสังขาร.
คำว่า สันติ ได้แก่สันตบ้าง สันติบทบ้าง โดยอาการอย่างเดียวกัน ก็สันติบทนั้นนั่นแล คือ อมตนิพพาน ได้แก่ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง .... เป็นที่ออกจากตัณหา เครื่องร้อยรัด. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บทใด คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขาร ทั้งปวง ....เป็นที่ออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด บทนั้น เป็นความสงบ เป็นธรรมชาติประณีต.
อีกอย่างหนึ่งโดยอาการอื่น ธรรมเหล่าใด ย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ เพื่อถูกต้อง ความสงบ เพื่อทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านี้ เรียกว่า สันติบท บทสงบ ตาณบท บทที่ต้านทาน เลณบท บทที่ซ่อนเร้น สรณบท บทที่พึ่ง อภยบท บทไม่มีภัย อัจจุตบท บทไม่เคลื่อน อมตบท บทไม่ตาย นิพพานบท บทดับตัณหา.
คำว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหาคุณใหญ่ คือ ทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งศีลขันธ์ใหญ่ สมาธิขันธ์ใหญ่ ปัญญาขันธ์ใหญ่ วิมุตติขันธ์ใหญ่ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่.
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งความทำลายกองมืดใหญ่ ความทำลายวิปลาสใหญ่ ความถอนลูกศร คือ ตัณหาใหญ่ ความปลดเปลื้องโครง ทิฏฐิใหญ่ ความกำจัดธงคือมานะใหญ่ ความระงับอภิสังขารใหญ่ ความปิดกั้น โอฆะใหญ่ ความปลงภาระใหญ่ความตัดสังสารวัฏใหญ่ ความดับความเดือดร้อนใหญ่ ความระงับความเร่าร้อนใหญ่ ความยกขึ้นซึ่งธงคือธรรมใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่.
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ อมตนิพพานเป็น ปรมัตถ์ใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้อันสัตว์ทั้งหลายที่มีศักดิ์มาก แสวงหา เสาะหาค้นหาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าเป็นเทวดายิ่งกว่าเทวดาประทับอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าผู้องอาจกว่า นรชนประทับอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ผู้สงัด มีสันติบท แสวงหาคุณใหญ่.
|