1.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๒ - ๒๓๓
มหาสติปัฏฐานสูตร ที่ ๙
[๓๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
-พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑
-หรือเมื่อยังมี อุปาทิ เหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑
๗ ปี ยกไว้
ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติ ปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๖ ปี ... ๕ ปี ... ๔ ปี ... ๓ ปี ... ๒ ปี ... ๑ ปี เขาพึงหวัง ผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
-พระอรหัตผลใน ปัจจุบัน ๑
-หรือเมื่อยังมี อุปาทิ เหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑
๑ ปียกไว้
ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญ สติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๗ เดือน เขาพึงหวังผล ๒ ประการ อย่างใด อย่างหนึ่ง คือ
-
พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑
- หรือเมื่อยังมี อุปาทิ เหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑
๗ เดือนยกไว้
ผู้ใดผู้หนึ่ง เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๖ เดือน ... ๕ เดือน ... ๔ เดือน ...๓ เดือน ... ๒ เดือน ... ๑ เดือน ... กึ่งเดือน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
-
พระอรหัตผล ในปัจจุบัน ๑
-
หรือเมื่อยังมี อุปาทิ เหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑
กึ่งเดือนยกไว้
ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญ สติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๗ วัน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใด อย่างหนึ่ง คือ
-
พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑
-
หรือเมื่อยังมี อุปาทิ เหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุธรรม ที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ฉะนี้แล
คำที่เรากล่าว ดังพรรณนามาฉะนี้ เราอาศัย เอกายนมรรค (ทางสายเอก) กล่าวแล้ว พระผู้มีพระภาค ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ยินดี ชื่นชมภาษิตของ พระผู้มีพระภาค แล้ว ฉะนี้แล
(เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ สามารถเร่งความเพียรจนบรรลุเป็นพระอรหันต์หรืออนาคามี
ได้ตั้งแต่ 7 วัน - 7 ปี ตามกำลังอินทรีย์ของสัตว์)
2.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก ๒๔๕ - ๒๕๐
อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง (มหาหัตถิปโทปมสูตร)
ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน)
[๓๔๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ปฐวีธาตุเป็นไฉน? คือ ปฐวีธาตุที่เป็นไป ภายในก็มี ปฐมวีธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุ ที่เป็นไป ภายในเป็นไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของ แข้นแข็ง เป็นของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ก็หรือสิ่งใด สิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็น อุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ เป็นไปภายใน.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และปฐวีธาตุ อันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็นปฐวีธาตุแล.
บัณฑิตพึงเห็นปฐวีธาตุนั้น นั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. บัณฑิตครั้นเห็นปฐวีธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ ย่อมยังจิต ให้คลายกำหนัดในปฐวีธาตุ ....
อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ)
[๓๔๓] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุเป็นไฉน? คือ อาโปธาตุ ที่เป็นไปภายในก็มี อาโปธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุที่เป็นไปภายในเป็นไฉน? คือ สิ่งที่เป็น อุปาทินนกรูป อันเป็นภายในเป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ ถึงความเอิบอาบ คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูกไขข้อ น้ำมูตร ก็หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็น อุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตนเป็นของเอิบอาบ ถึงความเป็นของเอิบอาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า อาโปธาตุเป็นไปภายใน.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และอาโปธาตุ อันใด เป็นไปภายนอกนั้นเป็นอาโปธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นอาโปธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตน ของเรา. ครั้นเห็นอาโปธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัดในอาโปธาตุ......
เตโชธาตุ(ธาตุไฟ)
[๓๔๔] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุเป็นไฉน? คือ เตโชธาตุ ที่เป็น ไปภายในก็มี เตโชธาตุ ที่เป็นไปภายนอกก็มี.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็เตโชธาตุที่เป็นไปภายในเป็นไฉน? คือ สิ่งที่เป็น อุปาทินนกรูป (รูปที่เกิดจากกรรม) อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึงความเป็น ของ เร่าร้อน คือ สิ่งที่เป็นเครื่องอบอุ่นแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องทรุดโทรม แห่งกาย สิ่งที่เป็น เครื่องเร่าร้อนแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องถึงความแปรปรวนไปด้วยดี แห่งของ ที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และของที่ลิ้มรสแล้ว ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็น อุปาทินนกรูป อันเป็นภายในเป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึงความเป็นของ เล่าร้อน อย่างอื่น นี้เรียกว่า เตโชธาตุอันเป็นไปภายใน.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุ อันใดแล เป็นไปภายใน และเตโชธาตุ อันใด เป็นภายนอก นั่นเป็นเตโชธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นเตโชธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นของเรา. บัณฑิตครั้นเห็น เตโชธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่าย ใน เตโชธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย กำหนัดในเตโชธาตุ.....
วาโยธาตุ(ธาตุลม)
[๓๔๕] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุเป็นไฉน? คือ วาโยธาตุ
ที่เป็นไปภายในก็มี วาโยธาตุที่เป็นภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็วาโยธาตุที่เป็นไปภายในเป็นไฉน? คือ สิ่งที่เป็น อุปาทินนกรูป อันเป็น ภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึงความเป็นของพัดไปมา คือ ลมพัดขึ้น เบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอันอยู่ในท้อง ลมอันอยู่ในลำไส้ ลมอันแล่นไปตาม อวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็น อุปาทินนกรูป อันเป็น ภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึงความเป็นของ พัดไปมา อย่างอื่น นี้เรียกว่า วาโยธาตุเป็นไปภายใน.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายก็วาโยธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และวาโยธาตุ อันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็นวาโยธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นวาโยธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา.
บัณฑิตครั้นเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายใน วาโยธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัด ในวาโยธาตุ....
3.
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๗๒-๗๓
อุปาทิยสูตร (ว่าด้วยการถูกมารผูกมัดเพราะถือมั่น)
[๑๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส แสดง พระธรรมเทศนา โดยสังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว เป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่เถิด.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลยังยึดมั่น ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่ยึดมั่น จึงหลุดพ้นจากมาร. (ความยึดมั่นหรืออุปทานขันธ์ พระองค์เปรียบเหมือน ถูกมารมัดไว้)
ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ ทราบแล้ว.
พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่กล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร ได้อย่างไรเล่า?
ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลยังยึดรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณมั่นอยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่ยึดมั่นจึงหลุดพ้นจากมาร.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถ แห่งพระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้ว อย่างย่อ โดยพิสดาร อย่างนี้แล.
พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร อย่างดีแล้ว. ดูกรภิกษุ บุคคลยังยึดรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณมั่นอยู่ ก็ต้อง ถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่ยึดมั่น จึงหลุดพ้นจากมาร เธอพึงทราบอรรถแห่งคำนี้ ที่เรากล่าวแล้ว อย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้เถิด.
[๑๓๙] ครั้งนั้นแล. ภิกษุรูปนั้นเพลิดเพลิน อนุโมทนาพระภาษิต ของ พระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป
ครั้งนั้นแล เธอเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจ มั่นคงอยู่ ไม่นานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตร ทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี.
ก็ภิกษุรูปนั้นได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
4.
พระไตรปิฎก (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๓๔๗-๓๕๐
สอุปาทิเสสสูตร (บุคคล 9 จำพวก พ้นแล้วจาก 3 ภพล่าง)
[๒๑๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของ ท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตร นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ท่านพระสารีบุตร มีความคิด ดังนี้ว่า การเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถียังเช้าเกินไป ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปยัง อารามของ อัญญเดียรถีย์ปริพาชกก่อนเถิด
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปยังอาราม ของพวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึก ถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งก็สมัยนั้น อัญญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้น กำลัง นั่งประชุม สนทนากันในระหว่างว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งที่ยังเป็น สอุปาทิเสสะ กระทำกาละ ผู้นั้น ล้วนไม่พ้นจากนรก ไม่พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พ้นจากเปรตวิสัย ไม่พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต ฯ (เป็นความเห็นผิดของปริพาชกว่าผู้ยังเป็น สอุปาทิเสสะ หรือเป็นอริยะบุคคลอันมีกิเลสที่เบาบาง เมื่อทำกาละแล้วจะได้ไปเกิดใน 3 ภพล่าง)
ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไม่ยินดีไม่คัดค้านถ้อยคำ ที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้นกล่าว ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยคิดว่า เราจักรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่ง ภาษิตนี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตร เที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี กลับจาก บิณฑบาต ภายหลังภัต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ข้าพระองค์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า การเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ยังเช้าเกินไป ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปยังอาราม ของพวก อัญญเดียรถีย์ปริพาชกก่อนเถิด
ลำดับนั้น ข้าพระองค์เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึก ถึง กันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ก็สมัยนั้นแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น กำลังนั่งประชุมสนทนา กันอยู่ ในระหว่างว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งที่ยังเป็น สอุปาทิเสสะ กระทำ กาละ ผู้นั้นล้วนไม่พ้นจากนรก ไม่พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พ้นจากเปรตวิสัย ไม่พ้นจาก อบาย ทุคติ และวินิบาต ข้าพระองค์ไม่ยินดีไม่คัดค้านถ้อยคำ ที่พวก อัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้นกล่าวแล้ว ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยคิดว่า เราจักรู้ทั่วถึง เนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรสารีบุตร อัญญเดียรถีย์ปริพาชกบางพวกโง่เขลา ไม่ฉลาด อย่างไรจักรู้ ผู้ที่เป็น สอุปาทิเสสะ ว่า เป็น สอุปาทิเสสะ หรือจักรู้ผู้ที่เป็น อนุปาทิเสสะ ว่า เป็นอนุปาทิเสสะ
ดูกรสารีบุตร บุคคล ๙ จำพวกนี้ที่เป็น สอุปาทิเสสะ กระทำกาละ พ้นจาก นรก พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และ วินิบาต ๙ จำพวก เป็นไฉน
ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอันตราปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป (อนาคามี)
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๑ ผู้เป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ พ้นจาก นรก พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรต วิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอุปหัจจปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๒ ...
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอสังขารปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิย สังโยชน์ ๕ สิ้นไป ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๓ ...
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นสสังขารปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิย สังโยชน์ ๕ สิ้นไป ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๔ ...
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๕ ...
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลกระทำ พอประมาณในสมาธิ ในปัญญา บุคคลนั้นเป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์๓ สิ้นไป เพราะ ราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง กลับมายังโลกนี้เพียงคราวเดียวจะทำที่สุด แห่งทุกข์ได้ ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๖ ...
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลกระทำ พอประมาณในสมาธิ ในปัญญา บุคคลนั้นเป็นเอกพีชี เพราะสังโยชน์สิ้นไป บังเกิดยัง ภพมนุษย์นี้ครั้งเดียว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๗ ...
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำ พอประมาณในสมาธิ ในปัญญา บุคคลนั้นเป็นโกลังโกละ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป ท่องเที่ยวอยู่ ๒-๓ ตระกูล แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๘ ...
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำ พอประมาณในสมาธิ ในปัญญา บุคคลนั้นเป็น สัตตักขัตตุปรมโสดา เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป ท่องเที่ยวอยู่ยังเทวดา และมนุษย์ ๗ ครั้ง เป็นอย่างยิ่งแล้วจะทำที่สุดแห่ง ทุกข์ ได้
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๙ ผู้เป็นสอุปาทิเสสะกระทำกาละ พ้นจาก นรก พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัยพ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต
ดูกรสารีบุตร อัญญเดียรถีย์ปริพาชกบางพวกโง่เขลา ไม่ฉลาด อย่างไร จักรู้บุคคลผู้เป็น สอุปาทิเสสะ ว่า เป็น สอุปาทิเสสะ หรือ จักรู้บุคคลผู้เป็น อนุปาทิเสสะ ว่า เป็นอนุปาทิเสสะ
ดูกรสารีบุตร บุคคล ๙ จำพวกนี้แล เป็น สอุปาทิเสสะ กระทำกาละ พ้นจาก นรกพ้นจาก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติและวินิบาต
ดูกรสารีบุตร ธรรมปริยายนี้ ยังไม่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกา ก่อน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ฟังธรรมปริยายที่เรากล่าวด้วยความอธิบาย ปัญหานี้ แล้ว อย่าถึงความประมาท
บุคคล 9 จำพวกโดยย่อ(เป็นสอุปาทิเสสะ)
1. อันตราปรินิพพายี (สิ้นสังโยชน์ ๕ / อนาคามี สิ้นอายุแล้วปรินิพพาน)
2. อุปหัจจ-ปรินิพพายี (สิ้นสังโยชน์ ๕ / อนาคามี สิ้นอายุแล้วปรินิพพาน)
3. อสังขาร-ปรินิพพายี (สิ้นสังโยชน์ ๕ / อนาคามี สิ้นอายุแล้วปรินิพพาน)
4. สสังขาร-ปรินิพพายี (สิ้นสังโยชน์ ๕ / อนาคามี สิ้นอายุแล้วปรินิพพาน)
5. อุทธังโสโต-อกนิฏฐคามี (สิ้นสังโยชน์ ๕ / อนาคามี สิ้นอายุแล้วปรินิพพาน)
6. สกทาคามี (สิ้นสังโยชน์ ๓/ราคะโทสะโมหะเบาบาง เกิดในภพเทวดาชั้นดุสิต แล้วปรินิพพาน)
7. โสดาบัน เอกพีชี (สิ้นสังโยชน์ ๓ / จะกลับมาสู่ภพมนุษย์เพียงคราวเดียว แล้วปรินิพพาน)
8. โสดาบัน โกลังโกละ (สิ้นสังโยชน์ ๓ / จะกลับมาสู่ภพมนุษย์เพียง 2-3 คราว แล้วปรินิพพาน)
9. โสดาบัน สัตตักขัตตุ (สิ้นสังโยชน์ ๓ /มาสู่ภพเทวดาและมนุษย์ไม่เกิน 7 คราว แล้วปรินิพพาน)
5.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้า ๑๙๒ - ๑๙๓
ธาตุสูตร (นิพพานธาตุ 2 ประการ สอุปาทิเสส และ อนุปาทิเสส)
[๒๒๒] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาค ผู้เป็น พระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้
๒ ประการเป็นไฉน คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มี สังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ โดยชอบ
ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ ๕ เหล่าใดเป็นธรรมชาติไม่บุบสลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านั้นของเธอ ยังตั้งอยู่นั่นเทียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ ของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ (ยังเสวยเวทนาอยู่)
ดูกรภิกษุทั้งหลายก็ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ โดยชอบเวทนาท้้งปวงในอัตภาพนี้แหละของภิกษุนั้น เป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว จัก (ดับ) เย็น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (พระพุทธเจ้าดับเย็นด้วย อนุปา..)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้แล
----------------------------------------------------------------------------------
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัส คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้ พระตถาคต ผู้มีจักษุผู้อันตัณหา และทิฐิ ไม่อาศัยแล้ว ผู้คงที่ประกาศไว้แล้ว อันนิพพานธาตุอย่างหนึ่งมีในปัจจุบันนี้ ชื่อว่า สอุปาทิเสส
เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ ส่วนนิพพานธาตุ (อีกอย่างหนึ่ง) เป็นที่ดับสนิทแห่งภพทั้งหลาย โดยประการทั้งปวง อันมีในเบื้องหน้าชื่อว่า อนุปาทิเสส ชนเหล่าใด รู้บท อันปัจจัยไม่ปรุงแต่งแล้วนี้มีจิตหลุดพ้นแล้ว
เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ ชนเหล่านั้นยินดีแล้วในนิพพานเป็นที่สิ้น กิเลสเพราะบรรลุธรรมอันเป็นสาระ เป็นผู้คงที่ ละภพได้ทั้งหมด เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล |