พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑-๕๙
๑. มหาปทานสูตร (๑๔)
44) ท้าวมหาพรหมทราบความปริวิตก จึงขอร้องให้แสดงธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมนั้นหายไปในพรหมโลก มาปรากฏ เฉพาะ พระพักตร์ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เหมือน บุรุษที่มีกำลัง เหยียดออก ซึ่งแขนที่คู้เข้าไว้ หรือคู้เข้าซึ่งแขนที่ได้เหยียด ออกไว้ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมกระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกชาณุมณฑล เบื้องขวา ลงบนแผ่นดินประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ประทับอยู่แล้ว ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสีว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี พระภาค จงทรงแสดงธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระสุคตจงทรงแสดง ธรรม ในโลกนี้สัตว์ที่มีกิเลส เพียงดัง ธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะมิได้ฟังธรรม สัตว์เหล่านั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ ยังจักมี
45) ธรรมที่ทรงบรรลุนั้นเป็นธรรมลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวมหาพรหมนั้นกราบทูลเช่นนี้ พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้ตรัสกะท้าวมหาพรหมนั้นว่าดูกรพรหม แม้เรา ก็ได้ดำริแล้วเช่นนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงแสดงธรรม ดูกรพรหม แต่เรานั้นได้คิดเห็น ดังนี้ว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง เห็นได้ยากรู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต
46) หมู่สัตว์ที่มีอาลัยเป็นมายินดี ยากที่จะเป็นสภาวะธรรมที่อาศัยกันเกิด (ปฏิจจ)
ส่วนหมู่สัตว์นี้ มีอาลัย เป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัยก็อันหมู่สัตว์ ผู้มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ยากที่จะเห็นได้ ซึ่งฐานะ นี้ คือปัจจัยแห่ง สภาวะ ธรรม อันเป็นที่อาศัยกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาท) ยากที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะ แม้นี้คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับแห่ง สังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่ง ตัณหา คลายความกำหนัด ดับทุกข์ ก็และเรา พึงแสดงธรรม แต่สัตว์เหล่าอื่นไม่พึงรู้ ทั่วถึงธรรมของเรา นั้นพึงเป็นความลำบาก แก่เรา นั้น พึงเป็นความเดือดร้อนแก่เรา
ดูกรพรหมคาถา ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ซึ่งเรามิได้สดับ มาแล้วแต่ก่อน หรือได้แจ่มแจ้ง แล้ว ดังนี้บัดนี้ ไม่ควรเลยที่จะประกาศธรรม ที่เราได้บรรลุแล้วโดยแสนยาก ฯลฯ
47) พระองค์ไม่มีจิตที่น้อมไปเพื่อการแสดงธรรม พรหมขอร้องถึง 3 ครั้ง
ดูกรพรหม เมื่อเราพิจารณาเห็นดังนี้ จิตก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อยมิได้น้อมไป เพื่อจะแสดงธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่สอง ท้าวมหาพรหมนั้น ก็ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีดังนั้น...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่สาม ท้าวมหาพรหมนั้นก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระผู้มีพระภาค จงทรงแสดงธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรม ในโลกนี้ สัตว์ที่มีกิเลสเพียงดังธุลี ในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะมิได้ฟังธรรม สัตว์เหล่านั้น จึงเสื่อมเสียไป ผู้รู้ทั่วถึงธรรมได้ ยังจักมีอยู่ดังนี้
48) ทรงเห็นหมู่สัตว์มีอินทรีย์แก่อ่อนต่างกัน อุปมาเหมือนกอบัว ๓ เหล่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ทรงทราบการทูลเชิญของพรหมแล้ว ทรงอาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์ จึงได้ตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี เมื่อทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ*ก็ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ บางพวกมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย บางพวกมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมาก บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดีบางพวก มีอาการทราม บางพวกจะพึงให้รู้แจ้งได้ง่าย บางพวกจะพึงให้รู้แจ้ง ได้ยาก บางพวก เป็นภัพพสัตว์ บางพวกเป็นอภัพพสัตว์ (ผู้อาภัพ) บางพวกมักเห็นปรโลก และโทษ โดยความเป็นภัย
*พุทธจักษุ คือ จุตูปปาตญาณ หรือ ทิพย์จักษุ
ในกออุบล หรือกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกอุบล ดอกบัวหลวงหรือดอกบัวขาว เกิดแล้ว ในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ น้ำเลี้ยงอุปถัมภ์ไว้ บางเหล่ายังจมอยู่ภายในน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำมิได้ติดใบแม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสีทรงตรวจดูด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นก็ฉันนั้นเหมือนกัน บางพวกมีกิเลสเพียง ดังธุลี ในจักษุน้อย บางพวกมีกิเลสเพียงดังธุลี ในจักษุมาก บางพวก มีอินทรีย์แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการทรามบางพวก จะพึงให้ รู้แจ้ง ได้ง่าย บางพวกจะพึงให้รู้แจ้งได้ยาก บางพวกเป็นภัพพสัตว์บางพวกเป็น อภัพพสัตว์ บางพวกมักเห็นปรโลก และโทษโดยความเป็นภัย
49) คาถาของท้าวมหาพรหม
(อุปมาว่าพระพุทธเจ้าเหมือนยืนอยู่ที่สูงชั้นปราสาท ย่อมเห็นชุมชนโดยรอบว่าเป็นผู้มีความ ทุกข์โศก ถูกชาติและชราคอบงำแล้ว ขอพระองค์จงแสดงธรรมเพื่อชนเหล่านั้นเถิด)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมทราบพระปริวิตก ในพระทัยของ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ด้วยใจ แล้วจึงได้ กราบทูล พระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ด้วยคาถา ทั้งหลายความว่า
[๔๕] ผู้ที่ยืนอยู่ยอดภูเขาสิลาล้วน พึงเห็นประชุมชนได้โดยรอบ ฉันใด ท่านผู้มี เมธาดีมีจักษุโดยรอบ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ขึ้นสู่ปราสาทอันสำเร็จแล้วด้วยธรรม เป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก ทรงพิจารณาเห็นประชุมชน ผู้เกลื่อนกล่นไปด้วยความ เศร้าโศก ถูกชาติและชราครอบงำแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้กล้า ผู้ชนะสงครามแล้ว เป็นนายพวกปราศจากหนี้ ขอพระองค์จงเสด็จลุกขึ้น เปิดเผยโลกขอผู้มีพระภาค จงทรงแสดงธรรมผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ ยังจักมี
50) พระพุทธเจ้าวิปัสสีเป็นผู้ประตูอมตะไว้ให้กับท่าน(เทวดาพรหม)แล้ว
(พระพุทธเจ้าวิปัสสีตั้งใจจะแสดงธรรมแล้ว เทวดาพรหมทราบแล้วจึงหายไป)
[๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวมหาพรหมนั้นได้กราบทูลแล้ว ดังนี้พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี จึงได้ตรัสกะท้าวหาพรหมนั้น ด้วย พระคาถา ว่าเราได้เปิดเผยประตูอมตะไว้สำหรับท่านแล้ว ผู้มีโสตจงปล่อยศรัทธา มาเถิด ดูกรพรหม เรารู้สึกลำบากจึงมิได้กล่าวธรรมอันประณีต ซึ่งเราให้คล่องแคล่ว แล้ว ในหมู่มนุษย์ ดังนี้
[๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมคิดว่า เราเป็นผู้มีโอกาส อันพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้ทรงกระทำแล้ว เพื่อจะทรงแสดงธรรม จึงถวาย บังคมพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี กระทำประทักษิณ แล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง
51) เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนเล่าหนอ
(แสดงธรรมกับโอรสของพระองค์พระนามว่า ขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่า ติสสะ)
[๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ทรงพระดำริว่า เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนเล่าหนอ ใครจะรู้ทั่วถึง ธรรมนี้ ได้เร็วพลันทีเดียว ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแลพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้ทรง พระดำริว่า พระราชโอรสพระนามว่า ขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่า ติสสะ นี้ ผู้อาศัยอยู่ใน พระนครพันธุมดีราชธานี เป็นคนฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบาง สิ้นกาลนาน ไฉนหนอ เราพึงแสดงธรรมแก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่า ติสสะก่อน คนทั้งสองนั้นจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้รวดเร็วทีเดียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ได้หายพระองค์ที่ควงโพธิพฤกษ์ ไปปรากฏพระองค์ ณ มฤคทายวันชื่อว่าเขมะ ในพระนคร พันธุมดี ราชธานี เปรียบเหมือนบุรุษ ที่กำลังเหยียดออก ซึ่งแขนที่คู้เข้าไว้ หรือคู้เข้าซึ่งแขน ที่ได้เหยียดออกไว้ ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ตรัสเรียกคนเฝ้าสวนมฤคทายวันมาว่า มานี่ นายมฤคทายบาล เธอจงเข้าไป ยังพระนครพันธุมดี ราชธานี แล้วบอกกะพระราชโอรส พระนามว่าขัณฑะ และบุตร ปุโรหิตชื่อติสสะ ดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้เสด็จถึงพระนครพันธุมดี ราชธานีแล้ว กำลังประทับอยู่ที่มฤคทายวันชื่อว่าเขมะ พระองค์ทรงพระประสงค์จะพบท่านทั้งสอง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายมฤคทายบาล รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสีแล้ว เข้าไปยังพระนครพันธุมดี แล้วแจ้งข่าวกะ พระราชโอรส พระนามว่า ขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่า ติสสะ ว่าพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี เสด็จถึงพระนครพันธุมดีราชธานีแล้ว กำลังประทับอยู่ที่มฤคทายวันชื่อว่า เขมะ พระองค์ทรง พระประสงค์ที่จะพบท่าน ทั้งสอง
52) พระราชโอรสขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าวิปัสสี
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่าติสสะ สั่งให้บุรุษเทียมยานที่ดีๆ แล้วขึ้นสู่ยานที่ดีๆ ออกจากพระนครพันธุมดีราชธานี พร้อมกับ ยานดีๆ ทั้งหลาย ขับตรงไปยังมฤคทายวันชื่อว่าเขมะ ไปด้วยยานตลอด ภูมิประเทศ เท่าที่ยาน จะไปได้แล้ว ลงจากยานเดินตรงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
53) พระพุทธเจ้าวิปัสสีตรัสสอน อนุปุพพิกถา
|
(ย่อ)
อนุปุพพิกถา มีเรื่อง : ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์การออกบวช ...
เมื่อทราบว่า (ผู้ฟัง) มีจิตอ่อน ปราศจากนิวรณ์ จึงแสดงในเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (อริยสัจสี่) ขัณฑะและ ติสสะ จึงเกิดดวงตาเห็นธรรม รู้แจ้งในธรรม จากนั้นจึงขอบวช |
พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้ตรัสอนุปุพพิกถา แก่ท่านทั้งสอง นั้น คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกามที่ต่ำช้า เศร้าหมอง และ อานิสงส์ในการออกบวช เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบว่า ท่านทั้งสองนั้นมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส จึงได้ทรงประกาศธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงยกขึ้นแสดง ด้วย พระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรม อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ และบุตรปุโรหิต ชื่อว่าติสสะ ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไป เป็นธรรมดา ณ ที่นั่งนั้นแล เหมือนผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อม ด้วยดี ฉะนั้น
ท่านทั้งสองนั้น เห็นธรรมถึงธรรม รู้แจ้งธรรม หยั่งทราบธรรม ข้ามความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสนา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต ของพระองค์ ก็แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทาง แก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาค ทรงประกาศ พระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้ ขอถึง พระผู้มีพระภาค และพระธรรมว่า เป็นที่พึ่ง ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักของ พระผู้มีพระภาค
54) พระราชโอรสขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ อุปสมบท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชโอรสพระนามว่า ขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่าติสสะ ได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ได้ทรงยังท่านทั้งสองนั้น ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วประกาศโทษของสังขาร อันต่ำช้าเศร้าหมอง และอานิสงส์ในการออกบวช จิตของท่านทั้งสองนั้นผู้อัน พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่น
55) หมู่มหาชนชาวพระนครพันธุมดีราชธานี ประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ออกบวช
[๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่มหาชนชาวพระนครพันธุมดีราชธานี ประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เสด็จถึงพระนคร พันธุมดีราชธานีโดยลำดับแล้ว ประทับอยู่ ณ มฤคทายวันชื่อ เขมะ ข่าวว่าพระราชโอรส พระนามว่า ขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อ ติสสะปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวช เป็นบรรพชิต ณ สำนักของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนาม วิปัสสี แล้ว ดังนี้ คนเหล่านั้นครั้นได้ฟังแล้ว ต่างคิดเห็นกันว่า ก็พระราชโอรสพระนามว่า ขัณฑะและบุตรปุโรหิต ชื่อว่า ติสสะ ปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวช เป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยใด พระธรรมวินัยนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน บรรพชานั้น คงไม่ต่ำทราม แต่พระราชโอรส พระนามว่า ขัณฑะ และบุตรปุโรหิตชื่อว่า ติสสะ ยังปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้า กาสาวพัสตร์ออกบวช เป็นบรรพชิตได้ ไฉนพวกเราจึงจัก ออกบวชเป็นบรรพชิต บ้างไม่ได้เล่า
56) ตรัสอนุปุพพิกถา แก่หมู่แก่ชาวพันธุมดี ประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน จนหลุดพ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล หมู่มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้ชวนกันออกจาก พระนคร พันธุมดีราชธานี เข้าไปทางเขมมฤคทายวัน ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ครั้นเข้าไปเฝ้า แล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี แล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ได้ตรัส อนุปุพพิกถา แก่ชนเหล่านั้น คือทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกาม ที่ต่ำช้า เศร้าหมอง และอานิสงส์ในการออกบวช
เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบว่า ชนเหล่านั้น มีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปราศจาก นิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส จึงได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงยกขึ้นแสดงด้วย พระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัยนิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรม อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่หมู่มหาชน ๘๔,๐๐๐ คน นั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา ณ ที่นั่งนั้นแล เหมือนผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมด้วยดีฉะนั้น ชนเหล่านั้น เห็นธรรม ถึงธรรม รู้แจ้งธรรมหยั่งทราบธรรม ข้ามความสงสัยปราศจาก ความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้าไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสนา ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต ของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศ พระธรรม โดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และ พระภิกษุ สงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่มหาชน ๘๔,๐๐๐ คนเหล่านั้น ได้บรรพชา ได้อุปสมบท ในสำนักของ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสีแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ได้ทรงยังภิกษุเหล่านั้น ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ของสังขารที่ต่ำช้าเศร้าหมอง และอานิสงส์ ในพระนิพพาน จิตของภิกษุเหล่านั้น ผู้อันพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วย ธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจาก อาสวะ เพราะไม่ยึดมั่น (ชาวพันธุมดี ประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ที่ติดตาม หลุดพ้นทั้งหมด)
[๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เสด็จถึงพระนครพันธุมดี ราชธานีโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ มฤคทายวันชื่อว่า เขมะ และมีข่าวว่า กำลังทรง แสดงธรรมอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ได้พากันไป ทางพระนครพันธุมดีราชธานี ทางมฤคทายวันชื่อว่า เขมะที่พระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ประทับอยู่
ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสีแล้ว พากันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ได้ตรัสอนุปุพพิกถา แก่บรรพชิตเหล่านั้น คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกาม ที่ต่ำช้าเศร้าหมอง และอานิสงส์ในการออกบวช เมื่อทรงทราบว่า บรรพชิต เหล่านั้น มีจิตคล่อง มีจิตอ่อนมีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส จึงได้ทรงประกาศ พระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงยกขึ้นแสดง ด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธมรรค ดวงตาเห็นธรรม ที่ปราศจาก ธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปนั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไป เป็นธรรมดา ณ ที่นั่งนั้นแล เหมือนผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมด้วยดี ฉะนั้น
บรรพชิตเหล่านั้นเห็นธรรม ถึงธรรม รู้แจ้งธรรม หยั่งทราบธรรม ข้ามความสงสัย ปราศจาก ความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้าไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสนา ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสีว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนักข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีป ในที่มืดด้วยคิดว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาค ทรงประกาศพระธรรม โดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้นได้บรรพชาได้อุปสมบท ในสำนัก ของพระผู้มีพระภาค พระนามว่าวิปัสสีแล้ว พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ได้ทรงยังภิกษุเหล่านั้นให้เห็นแจ้งให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ทรงประกาศ โทษของสังขารที่ต่ำช้าเศร้าหมอง และ อานิสงส์ในพระนิพพาน จิตของภิกษุ เหล่านั้น ผู้อันพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถา ไม่นานนักก็หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่น
57) ทรงให้ภิกษุสงฆ์ ๑๖๘,๐๐๐ รูป จงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่มหาชน
[๕๑] ก็สมัยนั้น ในพระนครพันธุมดีราชธานี มีภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่มาก ประมาณ หนึ่งแสนหกหมื่น แปดพันรูป (๑๖๘,๐๐๐) ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแลพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้เสด็จเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความรำพึง ในพระทัยว่า บัดนี้ ในพระนครพันธุมดีราชธานี มีภิกษุสงฆ์ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณ หนึ่งแสน หกหมื่นแปดพันรูป ถ้ากระไร เราพึงอนุญาตภิกษุ ทั้งหลายว่า
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ จงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อ ความสุข แก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทพดาและมนุษย์ ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป เธอทั้งหลาย จงแสดงธรรมงาม ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศ พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้ง พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกนี้ ที่มีกิเลสเพียงดัง ธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์พวกนั้น จึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี แต่ว่าโดยหกปีๆ ล่วงไป พวกเธอพึงกลับมายังพระนครพันธุมดี ราชธานี เพื่อแสดงพระปาติโมกข์
58) ท้าวมหาพรหมเข้าเฝ้า ขอให้ภิกษุจาริกไป แต่อย่าไปทางเดียวกันสองรูป
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ได้ทราบความรำพึงในพระทัย ของพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ด้วยใจแล้ว จึงได้หายตัว ที่พรหมโลก ไปปรากฏอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี เปรียบเหมือนบุรุษที่มีกำลัง เหยียดออกซึ่งแขน ที่คู้เข้าไว้ หรือคู้เข้าซึ่งแขน ที่เหยียดออกไว้ ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทันใดนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคตข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ในพระนคร พันธุมดี ราชธานี มีภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่ เป็นจำนวนมาก ประมาณหนึ่งแสนหกหมื่นแปดพันรูป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงอนุญาตภิกษุทั้งหลายเถิดว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป
59) เธอทั้งหลาย จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ภิกษุทั้งหลายเธอ ทั้งหลาย จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกที่มีกิเลส เพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์พวกนั้น จึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี
60) ขอให้ภิกษุที่จาริกไป กลับมาแสดงพระปาติโมกข์ทุกๆหกปี
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ ก็จัก กระทำโดย ที่จะให้ภิกษุทั้งหลาย กลับมายังพระนครพันธุมดี ราชธานี เพื่อแสดงพระปาติโมกข์ โดยหกปีๆ ล่วงไป
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวมหาพรหมนั้นได้กราบทูลดังนี้แล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี กระทำประทักษิณแล้ว หายไป ณ ที่นั้นเอง
61) พระพุทธเจ้าวิปัสสีทวนซ้ำให้ภิกษุฟัง ตามที่ท้าวมหาพรหหมขอร้อง
[๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ในเวลาเย็น เสด็จออกจากที่เร้นแล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ภิกษุทั้งหลาย วันนี้เรา ไปเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความรำพึงในใจว่า ในพระนครพันธุมดีราชธานี มีภิกษุสงฆ์อาศัย อยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณหนึ่งแสนหกหมื่นแปดพันรูป ถ้ากระไร เราพึงอนุญาต ภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุข แก่ชน เป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป เธอทั้งหลาย จงแสดงธรรมงาม ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกที่มีกิเลส เพียงดังธุลี ในจักษุ เบาบางยังมีอยู่ เพราะ ไม่ได้ฟังธรรม สัตว์พวกนั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี แต่ว่า โดยหกปีๆ ล่วงไป พวกเธอพึงกลับมายังพระนคร พันธุมดี ราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์
ภิกษุทั้งหลาย ทันใดนั้นแล ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ได้ทราบความรำพึงในใจของเรา ด้วยใจ แล้วจึงได้หายตัวที่พรหมโลก มาปรากฏเฉพาะหน้าเรา เปรียบเหมือนบุรุษ ที่มีกำลังเหยียดออก ซึ่งแขนที่คู้เข้าไว้ หรือคู้เข้าซึ่งแขนที่เหยียดออกไว้ ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย ที่นั้น ท้าวมหาพรหมนั้น กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี มาทางเราแล้ว พูดกะเราว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น บัดนี้ในพระนครพันธุมดีราชธานี มีภิกษุสงฆ์ อาศัยอยู่ เป็นจำนวนมาก ประมาณหนึ่งแสนหกหมื่น แปดพันรูป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงอนุญาต ภิกษุทั้งหลายเถิดว่า
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชน เป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทพดาและ มนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดง ธรรมงาม ในเบื้องต้น งามในท่ามกลางงาม ในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง ในโลกนี้สัตว์พวกที่มีกิเลสเพียงดังธุลี ในจักษุ เบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ ฟังธรรม สัตว์พวกนั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ ก็จักกระทำโดยที่จะให้ภิกษุทั้งหลาย กลับมายัง พระนครพันธุมดี ราชธานี เพื่อแสดงพระปาติโมกข์โดยหกปีๆ ล่วงไป ภิกษุทั้งหลาย ท้าวมหาพรหมนั้น พูดกะเรา ดังนี้แล้ว ไหว้เรา กระทำประทักษิณ แล้วหายไปในที่นั้นเอง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชน เป็นอันมาก เพื่อ ความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกัน สองรูป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้นงามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกที่มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบาง ยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ ฟังธรรมสัตว์พวกนั้น จึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี แม้เรา ก็จักกระทำ โดยที่ให้พระนครพันธุมดี เป็นสถานที่อันเธอทั้งหลายพึงกลับมาแสดงพระปาติโมกข์ โดยหกปีๆ ล่วงไป ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายได้เที่ยวจาริกไป ในชนบทโดยวันเดียว เท่านั้น โดยมาก
62) เทพดาขอร้องพระพุทธเจ้าวิปัสสี สวดพระปาติโมกข์ในพระนครพันธุมดี
[๕๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ในชมพูทวีปมีอาวาสอยู่ ๘๔,๐๐๐ อาวาสเมื่อล่วงไปได้ พรรษาหนึ่งแล้ว เทพดาทั้งหลายได้ร้องประกาศว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
ล่วงไปพรรษาหนึ่งแล้ว บัดนี้ ยังเหลือห้าพรรษา โดยอีกห้าพรรษาล่วงไป ท่านทั้งหลาย พึงเข้าไปยังพระนครพันธุมดีราชธานี เพื่อสวดพระปาติโมกข์
เมื่อล่วงไปได้ สองพรรษาแล้ว เทพดาทั้งหลายได้ร้องประกาศว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ทั้งหลาย ล่วงไปสองพรรษาแล้ว บัดนี้ ยังเหลือสี่พรรษา โดยอีก สี่พรรษา ล่วงไป ท่านทั้งหลายพึงเข้าไปยังพระนครพันธุมดีราชธานี เพื่อสวด พระปาติโมกข์
เมื่อล่วงไป ได้สามพรรษาแล้ว เทพดาทั้งหลาย ได้ร้องประกาศว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ทั้งหลาย ล่วงไปสามพรรษาแล้ว บัดนี้ ยังเหลือสามพรรษา โดยอีกสามพรรษา ล่วงไป ท่านทั้งหลายพึงเข้าไปยัง พระนครพันธุมดีราชธานี เพื่อสวดพระปาติโมกข์
เมื่อล่วงไปได้สี่พรรษาแล้ว เทพดาทั้งหลาย ได้ร้องประกาศว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ทั้งหลาย ล่วงไปสี่พรรษาแล้ว บัดนี้ ยังเหลือสองพรรษา โดยอีกสองพรรษาล่วงไป ท่านทั้งหลายพึงเข้าไปยังพระนครพันธุมดีราชธานี เพื่อสวดพระปาติโมกข์ เมื่อล่วง ไปได้ห้าพรรษาแล้ว
เทพดาทั้งหลายได้ร้องประกาศว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ล่วงไปห้าพรรษา แล้ว บัดนี้ ยังเหลือพรรษาเดียว โดยอีกพรรษาเดียวล่วงไป ท่านทั้งหลายพึงเข้าไป ยังพระนคร พันธุมดี ราชธานี เพื่อสวดพระปาติโมกข์
เมื่อล่วงไปได้หกพรรษาแล้ว เทพดาทั้งหลาย ได้ร้องประกาศว่า ล่วงไปหกพรรษา แล้ว บัดนี้ถึงเวลาละ ท่านทั้งหลาย พึงเข้าไปยังพระนคร พันธุมดีราชธานี เพื่อสวด พระปาติโมกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น บางพวกไปด้วยอิทธานุภาพของตน บางพวกไป ด้วยอิทธานุภาพของเทวดา เข้าไปยังพระนครพันธุมดีราชธานี โดย วันเดียว นั้น เพื่อสวดพระปาติโมกข์
63) บทธรรมที่ทรงสวดพระปาติโมกข์
(ขันติเป็นตบะอบ่างยิ่ง พระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยิ่ง
1.ไม่ทำร้ายเบียดเบียน
2.ไม่กระทำบาปทั้งปวง
3.ยังกุศลให้ถึงพร้อม
4.ทำจิตใจให้ผ่องใส
5.มีความสำรวมในพระปาติโมกข์
6.ประมาณใอาหาร
อยู่ในที่สงัด ประกอบอธิติต
[๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ทรงสวดพระปาติโมกข์ในที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์ดังนี้
ขันติคือ ความทนทาน เป็นตบะ อย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็น สมณะเลย การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตน ให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
การไม่กล่าวร้าย ๑
การไม่ทำร้าย ๑
ความสำรวมใน พระปาติโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้ ประมาณ ในภัตตาหาร ๑
ที่นอนที่นั่ง อันสงัด ๑
การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑
หกอย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
หมายเหตุ :
เรื่องพระพุทธเจ้าวิปัสสี พระสูตรนี้ จบเพียงแค่นี้
-----------------------------------------------------
ข้อต่อไป [๕๕] จะเป็นเรื่องราวของพระตถาคต (องค์ปัจจุบัน) เสด็จสุทธาวาส
เป็นชั้นเทวดา ที่พระองค์ไม่เคยเสด็จมาก่อน
อ่านต่อได้ที่ P141 |