เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
 2/3 รวมพระสูตร เรื่องพระมหากัสสป เอตทัคคบาลี (ด้านผู้ทรงธุดงค์) 1487
  P1486 P1487 P1488
รวมพระสูตร พระมหากัสสป
 

(โดยย่อ)

7. อปราทิฏฐิสูตรที่ ๕ (พรหมมีทิฐิชั่วช้าคิดว่าไม่มีภิกษุใดขึ้นมาถึงพรหมโลกได้)
8. มหาโคสิงคสาลสูตร (การสนทนาธรรมเรื่องภิกษุประเภทใดเป็นผู้ทำให้ป่างาม)
   (8.1) ความเห็นพระอานนท์
   (8.2) ความเห็นพระเรวตะ
   (8.3) ความเห็นพระอนุรุทธ
   (8.4) ความเห็นพระมหาโมคคัลลานะ
   (8.5) ความเห็นพระสารีบุตร
   (8.6) เข้าเฝ้าพระพุทธองค์
   (8.7) ความเห็นของตถาคต
9. มหาปรินิพพานสูตร (พระมหากัสสปพร้อมภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางมากุสินารา)
    (9.1) เทวดาบันดาลไม่ให้ไฟจิตกกาธาร(เชิงตะกอน)ติด รอให้พระกัสสปมาถวายบังคมเสียก่อน
    (9.2) เมื่อท่านพระมหากัสสปถวายบังคมแล้ว ไฟติดเอง

** (รวมรวมเฉพาะพระสูตรที่เป็นพุทธจน ไม่รวมอรรถกถา)

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)

 


(7)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๗๖

อปราทิฏฐิสูตรที่ ๕
พรหมมีทิฐิชั่วช้าคิดว่าไม่มีภิกษุใดขึ้นมาถึงพรหมโลกได้

             [๕๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

             ก็โดยสมัยนั้นแล พรหมองค์หนึ่ง ได้เกิดทิฐิอันชั่วช้า เห็นปานดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ที่จะพึงมาในพรหมโลกนี้ได้ไม่มีเลย

             [๕๗๔] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของ พรหมนั้นด้วยพระทัยแล้ว ทรงหายไปในพระวิหารเชตวัน ปรากฏแล้วในพรหมโลก นั้นเปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดออกซึ่งแขนที่คู้ไว้ หรือพึงคู้เข้าซึ่งแขนที่ เหยียดออก ฉะนั้น

             ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งขัดสมาธิในเวหา เบื้องบนของ พรหมนั้น เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว

             [๕๗๕] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดเช่นนี้ว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ

             ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้เห็นแล้วแล ซึ่งพระผู้มีพระภาคผู้ประทับนั่ง ขัดสมาธิในเวหาเบื้องบนของพรหมนั้น เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว ด้วยจักษุเพียงดัง ทิพย์อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ครั้นแล้วได้หายไปในพระวิหารเชตวัน ปรากแล้ว ในพรหมโลกนั้น ปานดังบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดออกซึ่งแขนที่คู้เข้า หรือพึงคู้ เข้า ซึ่งแขนที่เหยียดออกแล้ว ฉะนั้น

             ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ อาศัยทิศบูรพา นั่งขัดสมาธิ ในเวหาเบื้องบนของพรหมนั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเข้าเตโชธาตุกสิณ แล้ว

             [๕๗๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสป ได้มีความคิดนี้ว่า บัดนี้พระผู้มี พระภาคประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอแล ท่านพระมหากัสสป ได้เห็นแล้วแลซึ่งพระผู้มี พระภาค ฯลฯ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้หายไปในพระวิหารเชตวัน ปรากฏแล้วในพรหมโลกนั้น ปานดังบุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น

             ลำดับนั้นแล ท่านพระมหากัสสป อาศัยทิศทักษิณนั่งขัดสมาธิ ในเวหาส เบื้องบนของพรหมนั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว

             [๕๗๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะ ได้มีความคิดนี้ว่า บัดนี้พระผู้มี พระภาคประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอแลฯ

             ลำดับนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะ ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ฯลฯ ด้วยจักษุ เพียงดังทิพย์ ครั้นแล้วได้หายไปในพระวิหารเชตวัน ปรากฏแล้วในพรหมโลกนั้น ปานดังบุรุษมีกำลัง ฯลฯฉะนั้น

             ลำดับนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะ อาศัยปัจฉิมทิศ นั่งขัดสมาธิในเวหา เบื้องบนพรหมนั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว

             [๕๗๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธได้มีความคิดนี้ว่า บัดนี้พระผู้มี พระภาค ประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอแล ท่านพระอนุรุทธ ได้เห็นแล้วแลซึ่งพระผู้มี พระภาค ฯลฯ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ ครั้นแล้วได้หายไปในพระวิหารเชตวัน ปรากฏแล้ว ในพรหมโลกนั้น ปานดังบุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น

             ลำดับนั้นแล ท่านพระอนุรุทธ อาศัยทิศอุดรนั่งขัดสมาธิในวิเวหา เบื้องบน ของพรหมนั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว

             [๕๗๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้กล่าวกะพรหมด้วย คาถาว่า ผู้มีอายุ ทิฐิในก่อนของท่าน แม้ในวันนี้ก็ยังมีแก่ท่านหรือ ท่านเห็นพระผู้มี พระภาคผู้เป็นไปล่วงวิเศษ ผู้เป็นเบื้องหน้าของสัตว์ในพรหมโลกหรือ

             [๕๘๐] พรหมนั้นตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ทิฐิในเก่าก่อน ของข้าพเจ้า มิได้มีแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าย่อมเห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นไปล่วงวิเศษ ผู้เป็น เบื้องหน้า ของสัตว์ในพรหมโลก ไฉนในวันนี้ ข้าพเจ้าจะพึงกล่าวว่า "เราเป็นผู้เที่ยง เป็นผู้ติดต่อกัน" ดังนี้เล่า

             [๕๘๑] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคยังพรหมนั้นให้สลดใจแล้ว ได้หายไป ในพรหมโลกนั้น ปรากฏแล้วในพระวิหารเชตวันปาน ดังบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดออกซึ่งแขนที่คู้เข้า หรือพึงคู้เข้าซึ่งแขนที่ได้เหยียดออกแล้ว ฉะนั้น

             ลำดับนั้นแล พรหมได้เรียก พรหมปาริสัชชะ องค์หนึ่งมาว่า แน่ะท่าน ผู้นิรทุกข์ ท่านจงมา ท่านจงเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ จนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงกล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ สาวกทั้งหลาย ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น แม้เหล่าอื่น ซึ่งมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก เหมือน กับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระกัสสป ท่านพระกัปปินะ และท่านพระอนุรุทธะ ผู้เจริญ ก็ยังมีอยู่หรือหนอแลฯ

             พรหมปาริสัชชะนั้น รับคำของพรหมนั้นว่า อย่างนั้นท่านผู้นิรทุกข์ แล้ว หายไปในพรหมโลกนั้น ปรากฏแล้วข้างหน้าท่านพระมหาโมคคัลลานะ ปานดัง บุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น

             [๕๘๒] ครั้งนั้นแล พรหมปาริสัชชะนั้น อภิวาทท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วได้ยืนอยู่ในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พรหมปาริสัชชะนั้น ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว ได้กล่าวคำนี้กะท่าน พระมหาโมคคัลลานะว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ สาวก ทั้งหลาย ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น แม้เหล่าอื่นซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เหมือนกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระกัสสป ท่านพระกัปปินะ และท่านพระอนุรุทธะก็ยังมีอยู่ หรือหนอ

             [๕๘๓] ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกะ พรหม ปาริสัชชะ ด้วยคาถาว่าสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้วิชชา ๓ บรรลุ อิทธิวิธีญาณ และฉลาดในเจโตปริยญาณ หมดอาสวะ ไกลจากกิเลส มีอยู่มากดังนี้

             [๕๘๔] ลำดับนั้นแล พรหมปาริสัชชะนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของ ท่านมหาโมคคัลลานะแล้ว เข้าไปหาพรหมนั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ กะพรหม นั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ พระมหาโมคคัลลานะกล่าวเช่นนี้ว่า สาวกทั้งหลาย ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้วิชชา ๓ บรรลุอิทธิวิธีญาณ และฉลาดใน เจโตปริยญาณ หมดอาสวะ ไกลจากกิเลส มีอยู่มาก ดังนี้

             [๕๘๕] พรหมปาริสัชชะได้กล่าวคำนี้แล้ว พรหมมีใจยินดีชื่นชมภาษิต ของพรหมปาริสัชช ะนั้นแล



(8)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๒๘๐

๒. มหาโคสิงคสาลสูตร
การสนทนาธรรมเรื่องผู้ทำให้ป่างาม

             [๓๖๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน พร้อมด้วยพระสาวก ผู้เถระซึ่งมีชื่อเสียงมากรูป คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระสาวก ผู้เถระ ซึ่งมีชื่อเสียงอื่นๆ

             ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น เข้าไป หาท่านพระมหากัสสป ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปว่า มาไปกันเถิด ท่านกัสสป เราจักเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม ท่านพระมหากัสสป รับคำท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้ว

             ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป และ ท่าน พระอนุรุทธ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม ท่านพระอานนท์ได้เห็น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป และท่านพระอนุรุทธ เข้าไปหา ท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม ครั้นแล้ว จึงเข้าไปหาท่านพระเรวตะแล้ว กล่าวกะ ท่านพระเรวตะว่า ท่านเรวตะ ท่านสัปบุรุษพวกโน้น กำลังเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม มาไปกันเถิด ท่านเรวตะ เราจักเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม ท่านพระเรวตะรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ลำดับนั้น ท่านพระเรวตะ และท่าน พระอานนท์ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เพื่อฟังธรรม

             [๓๗๐] ท่านพระสารีบุตร ได้เห็นท่านพระเรวตะ และท่านพระอานนท์ กำลังเดินมาแต่ไกลครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์จงมาเถิด ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค มาดีแล้ว ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน สะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านอานนท์ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงาม ด้วยภิกษุเห็นปานไร?

(8.1)

ความเห็นพระอานนท์

ท่านพระอานนท์ตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรง สุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น อันภิกษุนั้นสดับมากแล้ว ทรงไว้แล้ว สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่ง ด้วยใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น ภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบท และ พยัญชนะ อันราบเรียบ ไม่ขาดสาย เพื่อถอนเสียซึ่งอนุสัยท่านพระสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล

(8.2)

ความเห็นพระเรวตะ

             [๓๗๑] เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าว กะท่านพระเรวตะว่า ท่านเรวตะ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านอานนท์พยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรี แจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

ท่านพระเรวตะตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีความหลีกเร้น เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะ อันเป็น ภายใน มีฌานอันไม่ห่างเหินแล้ว ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล

(8.3)

ความเห็นพระอนุรุทธ

             [๓๗๒] เมื่อท่านพระเรวตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าว กะท่านพระอนุรุทธว่า ท่านอนุรุทธ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านเรวตะพยากรณ์ แล้ว บัดนี้เราขอถามท่านอนุรุทธในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านอนุรุทธ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

             ท่านอนุรุทธตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมตรวจดูโลก พันหนึ่ง ด้วย ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ขึ้นปราสาทอัน งดงามชั้นบน พึงแลดูมณฑล แห่งกงตั้งพันได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แลความเห็น พระมหากัสสป

             [๓๗๓] เมื่อท่านพระอนุรุทธกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าว กะท่านพระมหากัสสปดังนี้ว่า ท่านกัสสป ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านอนุรุทธ พยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราขอขอถามท่านกัสสปในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็น สถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านกัสสป ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

             ท่านพระมหากัสสปตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ตนเอง อยู่ในป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความเป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตรด้วย ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยว บิณฑบาตเป็นวัตรด้วย ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรด้วย ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตรด้วย ตนเองเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยด้วย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งความสันโดษด้วย ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดด้วย ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วย ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียรและกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งการปรารภความเพียรด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งความถึงพร้อมด้วยศีลด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติ แะกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมวิมุติด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อม ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะด้วย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล

(8.4)

ความเห็นพระมหาโมคคัลลานะ

             [๓๗๔] เมื่อท่านพระมหากัสสปกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า ท่านโมคคัลลานะ ปฏิภาณตามที่เป็น ของตน ท่านมหากัสสปพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราจะขอถามท่านมหาโมคคัลลานะ ในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละ บานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านโมคคัลลานะป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

             ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูป ในพระศาสนานี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ นั้น ถามกันและกัน ถามปัญหากันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วย และธรรมกถาของเธอทั้ง ๒ นั้น ย่อมเป็นไปด้วย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล

(8.5)
ความเห็นพระสารีบุตร

             [๓๗๕] ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตร ดังนี้ว่า ท่านสารีบุตร ปฏิภาณตามที่เป็นของเรา อันเราทั้งหมดพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราจะขอถามท่านสารีบุตร ในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรี แจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

             ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระศาสนานี้ ยังจิต ให้เป็นไปในอำนาจและไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติ ใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด ในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติ ใด ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเย็น เปรียบเหมือนผอบผ้าของ พระราชา หรือราชมหาอำมาตย์ ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมแล้วเป็นสีต่างๆพระราชา หรือ ราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเช้า ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ ในเวลาเช้า หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเที่ยง หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเย็น ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเย็น ฉันใด

             ภิกษุยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวัง จะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า หวัง จะอยู่ ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเย็น ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล

             [๓๗๖] ลำดับนั้น ท่านสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านผู้มีอายุเหล่านั้นดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ปฏิภาณตามที่เป็นของตนๆ พวกเราทุกรูปพยากรณ์แล้ว มาไป กันเถิด พวกเราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้ว จักกราบทูล เนื้อความนี้ แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค จักทรงพยากรณ์แก่พวกเราอย่างใด พวกเราจักทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น.

ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว

(8.6)

เข้าเฝ้าพระพุทธองค์

             ลำดับนั้น ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วท่านพระสารีบุตร ได้กราบทูลดังนี้ว่าพระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ เข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่เพื่อฟังธรรม ข้าพระองค์ได้เห็นท่าน พระเรวตะ และท่านพระอานนท์กำลังเดินมาแต่ไกลครั้นแล้ว ได้กล่าวกะ ท่านพระอานนท์ ดังนี้ว่า ท่านอานนท์ จงมาเถิด ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐาก ของ พระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค มาดีแล้ว ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไปท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า

             ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่าใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้ง พยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น อันภิกษุนั้น สดับมากแล้ว ทรงไว้แล้ว สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้ว ด้วย ความเห็น ภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบท และพยัญชนะอันราบเรียบ ไม่ขาดสาย เพื่อถอนเสียซึ่งอนุสัยท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุ เห็นปานนี้แล

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร อานนท์ เมื่อจะพยากรณ์ โดยชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า อานนท์ เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้ง พยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น อันอานนท์นั้น สดับมากแล้ว ทรงไว้แล้วสั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้ว ด้วย ความเห็น อานนท์นั้น แสดงธรรมแก่บริษัท ๔ด้วยบทและพยัญชนะอันราบเรียบ ไม่ขาดสาย เพื่อถอนเสียซึ่งอนุสัย

             [๓๗๗] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ ได้กล่าวกะท่านพระเรวตะดังนี้ว่า ท่านเรวตะ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านอานนท์พยากรณ์แล้ว เราขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระเรวตะ ได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ท่านสารีบุตรภิกษุ ในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้ว ในความหลีกเร้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะอันเป็นภายใน มีฌานอันไม่เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงาม ด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร เรวตะเมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า เรวตะ เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วใน ความหลีกเร้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะอันเป็นภายใน มีฌานอันไม่เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร

             [๓๗๘] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระเรวตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ ได้กล่าวกะพระอนุรุทธดังนี้ว่า ท่านอนุรุทธ ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านเรวตะ พยากรณ์แล้ว เราขอถามท่านอนุรุทธในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถาน น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านอนุรุทธ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร?

             เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอนุรุทธได้ตอบข้าพระองค์ ดังนี้ว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ขึ้นปราสาทอันงดงาม ชั้นบน พึงแลดูมณฑลแห่งกงตั้งพันได้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลก พันหนึ่งด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร อนุรุทธ เมื่อจะพยากรณ์ โดยชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า อนุรุทธ ย่อมตรวจดูโลกตั้งพันด้วย ทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์

             [๓๗๙] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระอนุรุทธกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ ได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปดังนี้ว่า ท่านกัสสป ปฏิภาณตามที่เป็นของตน ท่านพระอนุรุทธพยากรณ์แล้ว เราขอถามท่านมหากัสสปในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่างไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านกัสสป ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุ เห็นปานไร?

             เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านมหากัสสป ได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ ว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ตนเองอยู่ในป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความเป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตรด้วย ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าว สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรด้วย ตนเองถือผ้าบังสุกุล เป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรด้วย ตนเอง เป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือ ไตรจีวรเป็นวัตร ด้วย ตนเองเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มี ความปรารถนาน้อยด้วย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง ความ สันโดษ ด้วย ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดด้วย ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วย ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยศีลด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยวิมุติด้วย ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะด้วย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร กัสสป เมื่อจะพยากรณ์ โดยชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่ากัสสป
       ตนเองเป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตร และกล่าว สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ในป่า เป็นวัตรด้วย
       ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยว บิณฑบาตเป็นวัตรด้วย
       ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง ความเป็นผู้ถือบังสุกุล เป็นวัตรด้วย
       ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือ ไตรจีวร เป็นวัตร ด้วย
       ตนเองเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความ เป็นผู้มี ความปรารถนาน้อยด้วย
       ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษด้วย
       ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สงัดด้วย
       ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วย
       ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภ ความเพียรด้วย
       ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึง พร้อมด้วย ศีลด้วย
        ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อม ด้วย สมาธิด้วย
       ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึง พร้อมด้วยปัญญาด้วย
       ตนเองเป็นถึงพร้อมด้วยวิมุติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความถึงพร้อม ด้วยวิมุติด้วย
       ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความ ถึงพร้อมด้วย วิมุตติญาณทัสสนะด้วย

             [๓๘๐] พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านพระมหากัสสปกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ ได้กล่าวกะท่านมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า ดูกรท่านโมคคัลลานะ ปฏิภาณ ตามที่เป็นของตน ท่านพระมหากัสสปพยากรณ์แล้ว เราจะขอถามท่าน โมคคัลลานะ ในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน สะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป

             ดูกรท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร? เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ตอบ ข้าพระองค์ ดังนี้ว่า

            ดูกรท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูปในพระศาสนานี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ นั้น ถามกัน และกัน ถามปัญหากันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วยและธรรมกถา ของเธอทั้ง ๒ นั้น ย่อมเป็นไปด้วย ดูกรท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วย ภิกษุเห็นปานนี้แล

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร โมคคัลลานะ เมื่อจะพยากรณ์ โดยชอบ พึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า โมคคัลลานะ เป็นธรรมกถึก

             [๓๘๑] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหา โมคคัลลานะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ในลำดับต่อไป ข้าพระองค์ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า ดูกรท่านสารีบุตร ปฏิภาณตามที่เป็น ของตน เราทั้งหมดพยากรณ์แล้ว บัดนี้ เราจะขอถามท่านสารีบุตร ในข้อนั้นว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานน่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน สะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ดูกรท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงาม ด้วยภิกษุ เห็นปานไร?

        เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า

              ดูกรท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระศาสนานี้ ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด ในเวลา เที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหาร สมาบัติใด ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ใน เวลา เย็น เปรียบเหมือนผอบผ้าของ พระราชา หรือราชมหาอำมาตย์ ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมเป็นสีต่างๆ พระราชา หรือ ราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเช้า ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลา เช้า หวังจะห่มคู่ผ้าชนิดใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเที่ยง หวังจะห่ม คู่ผ้าชนิดใดในเวลาเย็น ก็ห่มคู่ผ้าชนิดนั้นได้ในเวลาเย็น ฉันใด

        ภิกษุยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต เธอหวังจะ อยู่ด้วย วิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเช้า เธอหวัง จะอยู่ด้วย วิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ ในเวลาเย็น ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วย ภิกษุเห็นปานนี้แล

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ โมคคัลลานะ สารีบุตร เมื่อจะพยากรณ์ โดยชอบพึงพยากรณ์ตามนั้น ด้วยว่า สารีบุตรยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็น ไปตามอำนาจของจิตเธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหาร สมาบัตินั้น ได้ในเวลาเช้า เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วย วิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเที่ยง เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลาเย็น

(8.7)

พระพุทธโอวาท (ความเห็นของตถาคต)

             [๓๘๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า คำของใครหนอเป็นสุภาษิต?

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร คำของพวกเธอทั้งหมด เป็นสุภาษิต โดยปริยายก็แต่พวกเธอจงฟังคำของเรา คำถามว่า ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วย ภิกษุเห็นปานไรนั้น เราตอบว่า

         ดูกรสารีบุตร ภิกษุในศาสนานี้ กลับจากบิณฑบาต ในเวลาหลังภัตแล้ว นั่งคู้ บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่า จิตของเรา ยังไม่หมดความถือมั่น ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด เราจักไม่ทำลาย บัลลังก์นี้เพียงนั้น ดังนี้

       
ดูกรสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล

        พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

จบ มหาโคสิงคสาลสูตร ที่ ๒



(9)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๒๙

มหาปรินิพพานสูตร
พระมหากัสสปพร้อมภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางมากุสินารา
(ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า)

             [๑๕๔] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสป พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูปเดินทางไกลจากเมืองปาวา มาสู่เมืองกุสินารา ลำดับนั้น ท่าน พระมหากัสสปแวะออกจากทาง แล้วนั่งพักที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง

             สมัยนั้น อาชีวกคนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพในเมืองกุสินารา เดินทางไกล มาสู่เมืองปาวา ท่านพระมหากัสสป ได้เห็นอาชีวกนั้นมาแต่ไกล จึงถามอาชีวก นั้นว่า

              ดูกรผู้มีอายุ ท่านยังทราบข่าวพระศาสดาของเราบ้างหรือ อาชีวกตอบว่า อย่างนั้น ผู้มีอายุเราทราบอยู่ พระสมณโคดมปรินิพพานเสียแล้ว ได้ ๗ วันเข้าวันนี้ ดอกมณฑารพ นี้เราถือมาจากที่นั้น บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดยังไม่ ปราศจากราคะ

             ภิกษุเหล่านั้น บางพวกประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลง กลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีเท้าอันขาดแล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จ ปรินิพพาน เสียเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก อันตรธาน เสียเร็วนักดังนี้ ส่วนภิกษุเหล่าใด ปราศจากราคะแล้ว ภิกษุเหล่านั้น มีสติ สัมปชัญญะ อดกลั้นด้วยธรรมสังเวชว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เหล่าสัตว์ จะพึงได้ในสังขารนี้แต่ที่ไหน

             [๑๕๕] สมัยนั้น บรรพชิตผู้บวชเมื่อแก่ นามว่าสุภัททะ นั่งอยู่ในบริษัท นั้นด้วยครั้งนั้น สุภัททวุฒบรรพชิตได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเลยอาวุโส พวกท่านอย่าเศร้าโศกอย่าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว ด้วยว่าพระมหาสมณะนั้น เบียดเบียนพวกเราอยู่ว่า สิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ ก็บัดนี้ พวกเรา ปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่กระทำสิ่งนั้น

             ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสป เตือนภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเลยอาวุโส พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสสอนไว้อย่างนี้ ก่อนแล้ว ไม่ใช่หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้ แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

(9.1)

เทวดาบันดาลไม่ให้ไฟจิตกกาธาร(เชิงตะกอน)ติด รอให้พระมหากัสสป เดินทางมาถวายบังคมพระบาทเสียก่อน

             [๑๕๖] สมัยนั้น มัลลปาโมกข์ ๔ องค์ สระสรงเกล้าแล้วทรงนุ่งผ้าใหม่ ด้วยตั้งใจว่าเราจักยังไฟ ให้ติดจิตกาธาร ของพระผู้มีพระภาค ก็มิอาจให้ติดได้ ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า ข้าแต่ท่าน อนุรุทธะ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัยที่ให้มัลลปาโมกข์ทั้ง ๔ องค์นี้ ผู้สระสรงเกล้าแล้ว ทรงนุ่งผ้าใหม่ ด้วยตั้งใจว่า เราจักยังไฟให้ติดจิตกาธาร ก็มิอาจให้ติดได้

             อ. ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย ความประสงค์ของพวกท่านอย่างหนึ่ง ของพวก เทวดาอย่างหนึ่ง

             ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ความประสงค์ของพวกเทวดาเป็นอย่างไร

             ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย ความประสงค์ของพวกเทวดาว่า ท่าน พระมหากัสสป นี้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เดินทางไกลจาก เมืองปาวามาสู่ เมืองกุสินารา จิตกาธานของพระผู้มีพระภาค จักยังไม่ลุกโพลงขึ้น จนกว่าท่าน พระมหากัสสปจะถวายบังคมพระบาท ทั้งสองของพระผู้มีพระภาค ด้วยมือของตน

             ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเทวดาเถิด

             ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป เข้าไปถึงมกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ในเมืองกุสินารา และถึงจิตกาธารของพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วกระทำจีวรเฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประนม อัญชลี กระทำประทักษิณจิตกาธาร ๓ รอบ แล้วเปิดทางพระบาท ถวายบังคมพระบาททั้งสอง ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูป เหล่านั้น ก็กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่งประนมอัญชลี กระทำประทักษิณ ๓ รอบ แล้วถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า

(9.2)

เมื่อท่านพระมหากัสสปและภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้นถวายบังคมแล้วไฟติดเอง

             เมื่อท่านพระมหา กัสสปและภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้นถวายบังคมแล้ว จิตกาธารของ พระผู้มีพระภาคก็โพลงขึ้นเอง เมื่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาค ถูกเพลิงไหม้อยู่ พระอวัยวะส่วนใด คือ พระฉวี พระจัมมะ พระมังสะ พระนหารู หรือพระลสิกา เถ้า เขม่า แห่งพระอวัยวะส่วนนั้น มิได้ปรากฏเลย เหลืออยู่แต่ พระสรีระอย่างเดียว เมื่อเนยใสและน้ำมันถูกไฟไหม้อยู่เถ้า เขม่า มิได้ปรากฏ ฉันใด

              เมื่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาคถูกเพลิงไหม้อยู่ พระอวัยวะส่วนใด คือ พระฉวี พระจัมมะ พระมังสะ พระนหารู หรือพระลสิกา เถ้า เขม่าแห่งพระอวัยวะ ส่วนนั้น มิได้ ปรากฏเลย เหลืออยู่แต่พระสรีระอย่างเดียวฉันนั้นเหมือนกัน และ บรรดาผ้า ๕๐๐ คู่ เหล่านั้น ไฟไหม้เพียง ๒ ผืนเท่านั้น คือ ผืนในที่สุด กับผืนนอก

             เมื่อพระสรีระพระผู้มีพระภาค ถูกไฟไหม้แล้ว ท่อน้ำก็ไหลหลั่งมาจาก อากาศ ดับจิตกาธารของ พระผู้มีพระภาคน้ำพุ่งขึ้นแม้จากไม้สาละ ดับจิตกาธาร ของพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ดับจิตกาธารของพระผู้มีพระภาค ด้วยน้ำหอมล้วนๆ

             ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา กระทำสัตติบัญชร ใน สัณฐาคาร แวดล้อมด้วย ธนูปราการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสรีระ พระผู้มีพระภาค ตลอดเจ็ดวัน ด้วยการฟ้อนรำ ด้วยการขับ ด้วยการประโคม ด้วยพวงมาลัย

(สนใจอ่านเรื่องราวโดยละเอียด)


 






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์