เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

รวมพระสูตร ฟังธรรมก่อนทำกาละ เป็นโสดาบัน เป็นอนาคามี และปรินิพพาน 1729
  (โดยย่อ)

1) สุปปพุทธะ เป็นบุรุษโรคเรื้อนยากไร้ หลังฟังธรรมแล้วจากไปได้ไม่นาน ได้ทำกาละ
     ทรงพยากรณ์ว่า สุปปพุทธะ (สิ้นสังโยชน์ ๓) เป็นโสดาบัน

2) ผัคคุณะ ฟังธรรมก่อนทำกาละ ทรงพยากรณ์ว่า
    
สิ้นสังโยชน์ ๕ (อนาคามี) เข้าถึงเทวดาสุทธาวาส

3) พระวักกลิ อาพาธ ได้ทำกาละหลังฟังธรรม
    ทรงพยากรณ์ว่า วักกลิกุลบุตร ปรินิพพานแล้ว

4) พาหิยะทารุจีริยะ ถูกแม่โคลูกอ่อนขวิดตาย หลังฟังธรรมได้ไม่นาน
   ทรงพยากรณ์ว่า พาหิยทารุจีริยะ ปรินิพพานแล้ว
-----------------------------------------------------------------------
ใน 4 พระสูตรนี้มีข้อแตกต่างกัน แม้จะฟังธรรมจากพระศาสดาเหมือนกัน

-สปปพุทธะ เป็นคนทั่วไปฟังธรรมแล้วสิ้นสังโยชน์ ๓ จากนั้นไม่นาน (มีช่วงเวลา) ก็ถูกวัวขวิด ตาย
แสดงว่าได้คุณสมบัติของโสดาบัน*ก่อนตาย จึงได้ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์
* (โสดาบันสัตตักขัตตุปรมะ เกิดในภพมนุษย์-เทวดาไม่เกิน 7คราว)

-ผัคคุณะ ได้ฟังธรรมก่อนตายซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อินทรีย์แก่กล้า จึงสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕
เป็น อนาคามี ไปเกิดเป็นเทวดาในชั้น สุทธาวาส

-พระวักกลิ ได้ฟังธรรมก่อนทำกาละ พระศาสดาพยากรณ์ว่าปริพนิพพาน แสดงว่า พระวักกลิ เป็นอนาคามี คือสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ก่อนฟังธรรม ครั้นเมื่อฟังธรรมแล้วจิตย่อมน้อมไปสู่ นิพพาน

-พาหิยะทารุจีริยะ นั้น ฟังธรรมแล้วบรรลุความเป็นอรหันต์ขณะฟังธรรม (อินทรีย์แก่กล้ามาก) เมื่อทำกาละ หลังถูกวัวขวิด จึงปรินิพพาน

ชื่อ หลังฟังธรรมจากพระศาสดา ภพใหม่
 1.สุปปพุทธะ (บุรุษโรคเรื้อน) เป็นโสดาบัน (สิ้นสังโยชน์ ๓) เทวดาชั้นดาวดึงส์
 2.ผัคคุณะ (ภิกษุอาพาธ) เป็นอนาคามี (สิ้นสังโยชน์ ๕ ) สุทธาวาส
 3.พระวักกลิ (ภิกษุอาพาธ) ปรินิพพาน -
 4.พาหิยทารุจีริยะ (ชาวประมง) ปรินิพพาน -
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 

 


1)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๐๔

สุปปพุทธะ ผู้ยากไร้ได้ทำกาละหลังฟังธรรม ทรงพยากรณ์ว่าเป็นโสดาบัน
(สุปปพุทธกุฏฐิสูตร)

            [๑๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้ พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ในพระนครราชคฤห์ มีบุรุษเป็นโรคเรื้อน ชื่อว่า สุปปพุทธะ เป็นมนุษย์ขัดสน กำพร้า ยากไร้ ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค แวดล้อม ไปด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ สุปปพุทธกุฏฐิ ได้เห็นหมู่ มหาชน ประชุมกันแต่ที่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า หมู่มหาชนจะแบ่งของ ควรเคี้ยว หรือของควรบริโภคอะไรๆ ให้ในที่นี้แน่แท้ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปหาหมู่ มหาชน เราพึงได้ของควรเคี้ยว หรือควรบริโภคในหมู่มหาชนนี้เป็นแน่

            ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิ ได้เข้าไปหาหมู่มหาชนนั้น แล้วได้เห็น พระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ ครั้นแล้วได้มี ความดำริว่า หมู่มหาชนคงไม่แบ่งของควรเคี้ยว หรือของควรบริโภคอะไรๆ ให้ในที่นี้ พระสมณะโคดมนี้ ทรงแสดงธรรมอยู่ในบริษัท ถ้ากระไร แม้เราก็พึงฟังธรรม เขานั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งในบริษัทนั้นเอง ด้วยคิดว่าแม้เราก็จักฟังธรรม

            ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงกำหนดใจของบริษัททุกหมู่เหล่าใด ด้วยพระทัยแล้ว ได้ทรงกระทำไว้ในพระทัยว่า ในบริษัทนี้ ใครหนอแลควรจะรู้แจ้ง ธรรม พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็น สุปปพุทธกุฏฐินั่งอยู่ในบริษัทนั้น ครั้นแล้วได้ทรง พระดำริว่า ในบริษัทนี้ บุรุษนี้แลควรจะรู้แจ้งธรรม พระองค์ทรงปรารภสุปปพุทธกุฏฐิ ตรัสอนุปุพพิกถาคือ ทานกถาศีลกถา สัคคกถาโทษแห่งกาม อันต่ำทรามเศร้าหมอง และทรงประกาศอานิสงส์ในเนกขัมมะ

            เมื่อใดพระผู้มีพระภาค ได้ทรงทราบว่า สุปปพุทธกุฏฐิมีจิตควรอ่อน ปราศจากนิวรณ์เฟื่องฟู ผ่องใส เมื่อนั้น พระองค์ทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่สุปปพุทธกุฏฐิในที่นั่ง นั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับ เป็นธรรมดา เหมือนผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมด้วยดีฉะนั้น

            [๑๑๓] ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งถึงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความ เคลือบแคลงบรรลุถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เชื่อต่อผู้อื่นในศาสนาของพระศาสดา ลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย บังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

            ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาค ทรงประกาศ โดยอเนกปริยายเปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุ จักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้ง พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงจำข้าพระองค์ ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

            ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิอันพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้งให้ สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้ว หลีกไป

           ครั้งนั้นแล แม่โคลูกอ่อน ชนสุปปพุทธกุฏฐิผู้หลีกไปไม่นานให้ล้มลง ปลงเสีย จากชีวิต ลำดับนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

            ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุปปพุทธกุฏฐิ อันพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานอาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้ว กระทำกาละ คติของเขาเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุปปพุทธกุฏฐิ เป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และไม่เบียดเบียนเราให้ลำบากเพราะธรรม เป็นเหตุ

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุปปพุทธกุฏฐิ เป็นพระโสดาบัน เพราะความสิ้นไป แห่งสังโยชน์ทั้งสาม มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ ในเบื้องหน้า

.....ฯลฯ....

           ครั้นอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว สมาทานศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นผู้เข้าถึงความเป็นสหาย ของเหล่าเทวดา ชั้นดาวดึงส์ เขาย่อมไพโรจน์ล่วงเทวดาเหล่าอื่น ในชั้นดาวดึงส์นั้น ด้วยวรรณะและด้วยยศ

(อ่านต่อ)



2)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๒๒ หน้าที่ ๓๔๓


ฟังธรรมก่อนทำกาละ ผิวพรรณผ่องใส สิ้นสังโยชน์๕ 
(ผัคคุณสูตร) 

              [๓๒๗] ก็สมัยนั้น ท่านพระผัคคุณะอาพาธ มีทุกข์เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว  ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระผัคคุณะ อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัย ความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับ โดยดุษณีภาพ ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาค  เสด็จออกจากที่เร้น เสด็จ เข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่

         ท่านพระผัคคุณะได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล แล้วจะลุก จากเตียง

         ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระผัคคุณะว่า อย่าเลยผัคคุณะ เธออย่าลุกขึ้นจากเตียง อาสนะเหล่านี้ที่ผู้อื่นได้ปูไว้มีอยู่ เราจักนั่งบนอาสนะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูไว้แล้ว ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่าน พระผัคคุณะว่า

         ดูกรผัคคุณะเธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนา ย่อมบรรเทาไม่กำเริบ หรือปรากฏว่าบรรเทา ไม่กำเริบขึ้นหรือ ท่านพระผัคคุณะ กราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบนั้น ไม่บรรเทาเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษ มีกำลังพึงเฉือนศีรษะด้วยมีดโกนที่คมฉันใด ลมกล้าเสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ ฉันนั้น

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนา ของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่บรรเทาเลย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง พึงเอาเชือกที่เหนียวแน่นพันศีรษะ ฉันใด ความเจ็บปวด ที่ศีรษะของข้าพระองค์ก็มีประมาณยิ่ง ฉันนั้น

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ เปรียบเหมือนบุรุษฆ่าโค หรือ ลูกมือ ของบุรุษฆ่าโค เป็นคนขยันพึงใช้มีดสำหรับชำแหละโคที่คม ชำแหละท้องโค ฉันใด ลมกล้ามี ประมาณยิ่งย่อมเสียดแทงท้องของข้าพระองค์ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ... เปรียบบุรุษผู้มีกำลังสองคน  จับบุรุษผู้อ่อนกำลัง คนเดียว ที่แขนคนละข้าง แล้วพึงลนย่างบนหลุมถ่านไฟ ฉันใด ความเร่าร้อนที่กาย ของข้าพระองค์ก็ประมาณยิ่งฉันนั้น

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนา ของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้นไม่บรรเทาเลย

         ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงด้วยธรรมีกถา ให้ท่านพระผัคคุณะ เห็นแจ้ง ให้สมาทานอาจหาญ ร่าเริง แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป 

         ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้กระทำกาละ และในเวลาตาย อินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะนั้น ผ่องใสยิ่งนักฯ 

         ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จจากมาไม่นาน ท่านพระผัคคุณะก็กระทำกาละ และ ในเวลาตายอินทรีย์ของท่าน พระผัคคุณะผ่องใสยิ่งนัก 

         พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์
ก็อินทรีย์ของผัคคุณภิกษุจักไม่ผ่องใส ได้อย่างไร จิตของผัคคุณภิกษุ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ จิตของผัคคุณภิกษุนั้น ก็หลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น...

(อ่านต่อ)



3)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค หน้าที่ ๑๑๕


ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า
(วักกลิสูตร)

          [๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทก นิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์. สมัยนั้นแล ท่านพระวักกลิอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่นิเวศน์ของนายช่างหม้อ

          ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า มาเถิด อาวุโส ท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวายบังคม พระยุคลบาท ด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราแล้วทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ อาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ ด้วยเศียรเกล้า และพวกท่านจงทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่าท่านขอประทาน วโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่าน วักกลิ ถึงที่อยู่เถิด

          ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับ ทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า และทูล อย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทานพระวโรกาส ขอทูลเชิญ พระผู้มีพระภาค ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาค ทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ

          [๒๑๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงครองผ้าแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิ ได้เห็นพระผู้มีพระภาค เสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง

          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า อย่าเลย วักกลิ
เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น

          พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้

          ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า ดูกรวักกลิเธอพอทนได้หรือ พอยัง อัตภาพ ให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ

          ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถยัง อัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ทุกขเวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย

          พ. ดูกรวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?
          ว. พระเจ้าข้า ที่แท้จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ ไม่น้อยเลย

          พ. ดูกรวักกลิ ก็ตัวเธอเอง ไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?
          ว. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เอง จะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่

          พ. ดูกรวักกลิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเอง โดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็น เช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร?
          ว. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไป เฝ้า พระผู้มีพระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคได้

          พ. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร?

          ดูกรวักกลิ ผู้ใดแล เห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้น ชื่อว่าย่อมเห็นธรรม

          วักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็น ธรรม.

          วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
          ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

          พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
          ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

          พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ หนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
          ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

          พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
          ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

          พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
          ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

          พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
          ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

          พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

          ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอน ท่านพระวักกลิ ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ

          [๒๑๗] ครั้งนั้นแล พระวักกลิ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ได้เรียก ภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยอุ้มเรา ขึ้นเตียง แล้วหามไปยัง วิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ก็ภิกษุผู้เช่นกับเรา ไฉนเล่า จะพึงสำคัญว่า ตนพึงทำกาละ ในละแวกบ้านเล่า?

          ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้น รับคำ ท่านวักกลิแล้ว อุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยัง วิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ

          ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ตลอดราตรี และ วันที่ยังเหลืออยู่นั้น

          ครั้งนั้น มื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขา คิชฌกูฏ ให้สว่าง ทั่วไปทั้งหมดแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง

          ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิ ภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น (กำลังตรึกเพื่อการหลุดพ้น)

          เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้าก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้ (หลุดพ้นแล้ว จะหลุดพ้นได้แน่นอน)

          เทวดาเหล่านั้น ได้กราบทูลอย่างนี้แล้วครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว ก็หายไป ณ ที่นั้นเอง

          [๒๑๘] ครั้นพอราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย มารับสั่งว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย จงพากันเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงบอก วักกลิกภิกษุ อย่างนี้ว่า อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำ ของเทวดา ๒ องค์ อาวุโสณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ผู้มี ฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

          ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้าวักกลิ ภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้

          อาวุโส วักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยา อันไม่เลวทราม แก่เธอ.

          ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระวักกลิ ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัส ของพระผู้มี พระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์

          [๒๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง เพราะว่า ภิกษุผู้เช่นกับเรานั่ง บนอาสนะสูงแล้ว จะพึงสำคัญว่า ตนควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น อย่างไรเล่า?

          ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระวักกลิแล้ว ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิ ลงจากเตียง แล้วกล่าวว่า ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง

          ครั้นแล้วเทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้นเทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นแล้วจักหลุดพ้นได้แน่แท้

          อาวุโส วักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยา ไม่เลวทราม แก่เธอ

          พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วยถวายบังคมพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้า ตามคำของผมด้วยว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ อาพาธ เป็นไข้หนักได้รับทุกขเวทนา เธอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มี พระภาคด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูล อย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์  มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์

          ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี กำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้. ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระวักกลิแล้วหลีกไป ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้น หลีกไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศัสตรามา

          [๒๒๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

          ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วักกลิภิกษุ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านของถวายบังคมพระยุคลบาทของ พระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่ เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์  มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์

          ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ ข้าพระองค์ ดังนี้

          [๒๒๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มา ไปกันเถิด ภิกษุทั้งหลาย เราจะพากันไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นที่ ที่ วักกลิกุลบุตร นำเอาศาตรามา

          ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เสด็จไปยังวิหาร กาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก. ได้ทอดพระเนตรเห็น ท่านพระวักกลิ นอนคอบิด อยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว

          ก็สมัยนั้นแล ปรากฏเป็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอกลอยไป ทางทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ.

          ลำดับนั้นเอง พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปทางทิศบูรพา ฯลฯ และอนุทิศ หรือไม่? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่าเห็น พระเจ้าข้า

          พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละ คือมารใจหยาบช้า ค้นหาวิญญาณของ วักกลิกุลบุตร ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ?

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตร มีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว



4)

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก
หน้าที่ ๕๗

พาหิยสูตร


          [๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
          สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของท่าน อนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อ พาหิยทารุจีริยะ อาศัยอยู่ที่ ท่าสุปปารกะใกล้ฝั่งสมุทร เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือบูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลาน ปัจจัยเภสัชบริขาร

           ครั้งนั้นแล พาหิยทารุจีริยะ หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจ อย่างนี้ว่า เราเป็นคนหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ หรือผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลก ลำดับนั้นแลเทวดาผู้เป็นสายโลหิต ในกาลก่อนของพาหิยทารุจีริยะ เป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์ ได้ทราบความปริวิตกแห่งใจของพาหิยทารุจีริยะ ด้วยใจ แล้วเข้าไปหาพาหิยทารุจีริยะ

           ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรพาหิยะ ท่านไม่เป็น พระอรหันต์ หรือไม่เป็นผู้ถึง อรหัตตมรรค อย่างแน่นอน ท่านไม่มีปฏิปทา เครื่องให้ เป็นพระอรหันต์ หรือเครื่อง เป็นผู้ถึงอรหัตตมรรค พาหิยทารุจีริยะ ถามว่าเมื่อเป็น อย่างนั้น บัดนี้ใครเล่าเป็น พระอรหันต์ หรือเป็นผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลกกับเทวโลก เทวดาตอบว่า

           ดูกรพาหิยะ ในชนบททางเหนือ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถี บัดนี้พระผู้มี พระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นประทับอยู่ในพระนครนั้น


           ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น แลเป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอน ทั้งทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะ ผู้อัน เทวดานั้นให้สลดใจแล้ว หลีกไปจากท่าสุปปารกะ ในทันใดนั้นเอง ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคผู้ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี โดยการพักแรมสิ้นราตรีหนึ่งในที่ทั้งปวง

          [๔๘] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ในที่แจ้ง พาหิยทารุจีริยะ เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ถามภิกษุเหล่านั้นว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าประสงค์จะเฝ้า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เพื่อบิณฑบาต

           ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะรีบด่วนออกจากพระวิหารเชตวัน เข้าไปยัง พระนครสาวัตถี ได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ในพระนคร สาวัตถี น่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ถึงความฝึก และ ความสงบ อันสูงสุด มีตนอันฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์สำรวม แล้วผู้ประเสริฐ แล้วได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค หมอบลงแทบพระบาท ของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญขอพระผู้มี พระภาค โปรดทรง แสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ขอพระสุคต โปรดทรงแสดงธรรม ที่จะพึงเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด

          [๔๙] เมื่อพาหิยทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควรก่อน เพราะเรายังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เพื่อบิณฑ บาตอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิต ของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็นไปแห่ง อันตราย แก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี พระภาค โปรดทรงแสดงธรรม แก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรม ที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด

          แม้ครั้งที่ ๒...แม้ครั้งที่ ๓ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิต ของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิต ของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระ สุคตโปรดทรง แสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์สิ้น กาลนานเถิด

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจัก เป็นสักว่ารู้แจ้ง ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจัก เป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้งในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในกาลใด ท่านไม่มี ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้าย่อมไม่มี ในระหว่าง โลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์

          ลำดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยะ กุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ ของพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอนพาหิยทารุจีริยะ กุลบุตรด้วยพระโอวาท โดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป

          [๕๐] ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน แม่โคลูกอ่อน ขวิด พาหิยทารุจีริยะ ให้ล้มลงปลงเสียจากชีวิต ครั้นพระผู้มีพระภาค เสด็จเที่ยว บิณฑบาต ในพระนครสาวัตถี เสด็จกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เสด็จ ออกจากพระนครพร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็น พาหิยทารุจีริยะ ทำกาละแล้ว จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายท่าน ทั้งหลายจงช่วยกัน จับสรีระ ของพาหิยทารุจีริยะ ยกขึ้นสู่เตียงแล้ว จงนำไปเผาเสีย แล้วจงทำสถูปไว้

          ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะประพฤติธรรมอันประเสริฐ เสมอกับท่าน ทั้งหลาย ทำกาละแล้ว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ช่วยกันยกสรีระของ พระพาหิย ทารุจีริยะ ขึ้นสู่เตียง แล้วนำไปเผา และทำสถูปไว้แล้วเข้าไปเฝ้า พระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ได้นั่งอยู่ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ สรีระของพาหิยทารุจีริยะข้าพระองค์ทั้งหลายเผาแล้ว และสถูปของ พาหิย ทารุจีริยะนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย ทำไว้แล้วคติของ พาหิยทารุจีริยะ นั้นเป็นอย่างไร ภพเบื้องหน้าของเขาเป็นอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะ เป็นบัณฑิตปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำเราให้ลำบาก เพราะเหตุแห่งการแสดงธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว

.......................................................................................

คำเทศนาโดยย่อ

พาหิยะ ! 
เมื่อใดเธอเห็น รูป แล้ว สักว่าเห็น
ได้ฟังเสียงแล้ว สักว่าฟัง
ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวกาย ก็สักว่า ดม ลิ้ม สัมผัส
ได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ ก็สักว่าได้รู้แจ้งแล้ว
เมื่อนั้น “เธอ” จักไม่มี.

เมื่อใด “เธอ” ไม่มี เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฏในโลกนี้
ไม่ปรากฏในโลกอื่นไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง  
นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ
.......................................................................................

พาหิยะ ! 
เมื่อเห็น จักเป็น สักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง
เมื่อทราบ จักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจัก เป็นสักว่ารู้แจ้ง

ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล

ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล
เมื่อท่านเห็น จักเป็นสักว่าเห็น
เมื่อฟัง จักเป็นสักว่าฟัง
เมื่อทราบจัก เป็นสักว่าทราบ (รวบ: หู จมูก ลิ้น กาย)
เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง

ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี
ในกาลใด ท่านไม่มี ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้
ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มี ในระหว่าง โลกทั้งสอง
นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์