เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

เรื่องราว อัคคิเวสสนะ (ฉบับมหามกุฏ/ 5 เล่มจากพระโอษฐ์ ใช้คำว่า อัคคิเวสนะ ) 1582
  P1579 P1580 P1581 P1582 P1583
รวมพระสูตร อัคคิเวสสนะ
(ฉบับหลวง)
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
  1 ทันตภูมิสูตร
  1.1 พระราชกุมารชยเสนะ ยังบริโภคกาม จะสำเร็จเอกัคคตาแห่งจิต นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส
  1.2 เหมือนช้าง ม้า โค ที่ยังไม่ได้รับการฝึก จะสำเร็จภูมิที่ฝึกนั่น ไม่ใช่ฐานะ
  1.3 เหมือนบุคคลที่อยู่ภูเขาด้านล่าง ย่อมไม่เห็นสวนป่า สระโบกขรณี เหมือนยืนอยู่ข้างบน
  1.4 พระราชกุมารชยเสนะ ถูกอวิชชาใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาลูกนั้นบังไว้ จึงไม่อาจเห็นแจ้งได้
  1.5 เปรียบเหมือนควาญช้างที่ชำนาญ ย่อมคล้องช้างป่ามาอยู่ที่แจ้งได้
  1.6 เปรียบเหมือนควาญช้างที่ชำนาญ ย่อมใช้วาจาที่ไม่มีโทษกับช้างป่า สอนให้เชื่องจนใช้งานได้
  1.7 ช้างที่ฝึกดีแล้ว สามารถออกศึกได้มีอาวุธหอกของ้าวอยู่บนหลังช้าง คู่ควรแก่พระราชา
  1.8 ตถาคตก็เช่นกัน ตรัสรู้โดยชอบ เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก เป็นครูของเทวดาและมนุษย์
  1.9 ครั้นใครได้ฟังแล้วย่อมเชื่อถือตถาคต จึงสละเพศฆราวาส แล้วบรรพชา
  1.10 มาเถิด เธอเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ ละนิวรณ์ ๕ พิจารณาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม
  1.11 เธอย่อมเข้าฌานทั้ง ๔ และญาณ ๓ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว
  1.12 ถ้าภิกษุยังไม่สิ้นอาสวะ แต่ทำกาละลง ก็นับว่าตายไปอย่างมิได้ฝึก

(หมายเหตุ : อัคคิเวสนะ คือชื่อตระกูลปริพาชก ตระกูลหนึ่ง)

 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๕


1

ทันตภูมิสูตร

            [๓๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็นสถานที่ พระราชทาน เหยื่อ แก่กระแต เขตพระนคร ราชคฤห์ สมัยนั้นแล สมณุทเทสอจิรวตะ อยู่ในกระท่อมในป่า ครั้งนั้น พระราชกุมาร ชยเสนะ ทรงพระดำเนิน ทอดพระชงฆ์เที่ยวเล่นไปโดยลำดับ เข้าไปหา สมณุทเทส อจิรวตะ ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ตรัสทักทายปราศรัยกับสมณุทเทสอจิรวตะ ครั้นผ่านคำ ทักทายปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

            [๓๘๙] พระราชกุมารชยเสนะ พอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้รับสั่งกะ สมณุทเทสอจิรวตะ ดังนี้ว่า ข้าแต่ท่าน อัคคิเวสสนะ ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้สดับมา ดังนี้ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ พึงสำเร็จ เอกัคคตา แห่งจิตได้

            สมณุทเทสอจิรวตะ ถวายพระพรว่า ดูกรพระราชกุมาร ข้อนั้นถูกต้องแล้วๆ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่พึงสำเร็จ เอกัคคตา แห่งจิตได้

            ช. ดีแล้ว ขอท่านอัคคิเวสสนะ โปรดแสดงธรรมตามที่ได้สดับ ตามที่ได้ ศึกษามาแก่ข้าพเจ้าเถิด

            [๓๙๐] อ. ดูกรพระราชกุมาร อาตมภาพไม่อาจจะแสดงธรรมตามที่ได้ สดับ ตามที่ได้ศึกษามา แก่พระองค์ได้ เพราะถ้าอาตมภาพพึงแสดงธรรมตามที่ได้ สดับ ตามที่ได้ศึกษามาแก่พระองค์ และพระองค์ไม่ทรงทราบอรรถแห่งภาษิต ของอาตมภาพได้ ข้อนั้นจะเป็นความยาก จะเป็นความลำบาก ของอาตมภาพ

            ช. ขอท่านอัคคิเวสสนะ โปรดแสดงธรรมตามที่ได้สดับ ตามที่ได้ศึกษามา แก่ข้าพเจ้าเถิด บางที ข้าพเจ้าจะพึงทราบอรรถแห่งภาษิตของท่านอัคคิเวสสนะได้

            อ. ดูกรพระราชกุมาร อาตมภาพ จะพึงแสดงธรรมตามที่ได้สดับ ตามที่ได้ ศึกษา มาแก่พระองค์ ถ้าพระองค์ทรงทราบอรรถแห่งภาษิต ของอาตมภาพได้นั่น เป็นความดี ถ้าไม่ทรงทราบขอพระองค์ พึงดำรงอยู่ในภาวะของพระองค์ตามที่ควรเถิด อย่าได้ซักถามอาตมภาพในธรรมนั้นให้ยิ่งขึ้นไปเลย (แสดงธรรมได้แต่ห้ามซัก)

            ช. ขอท่านอัคคิเวสสนะ โปรดแสดงธรรมตามที่ได้สดับ ตามที่ได้ศึกษา มาแก่ข้าพเจ้าเถิด ถ้าข้าพเจ้า ทราบอรรถแห่งภาษิต ของท่านอัคคิเวสสนะได้ นั่นเป็น ความดี ถ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าจักดำรงอยู่ในภาวะของตนตามที่ควร ข้าพเจ้าจักไม่ซัก ถาม ท่านอัคคิเวสสนะ ในธรรมนั้น ให้ยิ่งขึ้นไป

            [๓๙๑] ลำดับนั้นแล สมณุทเทสอจิรวตะ ได้แสดงธรรมตามที่ได้สดับ ตามที่ได้ศึกษามา แก่พระราชกุมารชยเสนะ เมื่อสมณุทเทสอจิรวตะกล่าวแล้วอย่างนั้น พระราชกุมารชยเสนะ ได้ตรัสกะสมณุทเทสอจิรวตะดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านอัคคิเวสสนะ ผู้เจริญ ข้อที่ภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ พึงสำเร็จเอกัคคตา แห่งจิต นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ต่อนั้น พระราชกุมารชยเสนะ ทรงประกาศความ ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส แก่สมณุทเทสอจิรวตะแล้ว ทรงลุกขึ้นจากอาสนะเสด็จ หลีกไป

            ครั้งนั้นแล สมณุทเทสอจิรวตะ เมื่อพระราชกุมารชยเสนะเสด็จหลีกไปแล้ว ไม่นาน จึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มี พระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลเรื่องราว เท่าที่ได้สนทนา กับพระราชกุมารชยเสนะทั้งหมดนั้น แด่พระผู้มีพระภาค

1.1

(พระราชกุมารชยเสนะ ยังบริโภคกาม จะพึงสำเร็จเอกัคคตาแห่งจิต นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส)

            [๓๙๒] เมื่อสมณุทเทสอจิรวตะ กราบทูลแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะสมณุทเทสอจิรวตะ ดังนี้ว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ พระราชกุมารจะพึงได้ความ ข้อนั้นในภาษิตของเธอนี้แต่ที่ไหน ข้อที่ความข้อนั้น เขารู้ เขาเห็น เขาบรรลุเขา ทำให้แจ้งกันได้ด้วยเนกขัมมะ แต่พระราชกุมารชยเสนะ ยังอยู่ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกกิน ถูกความเร่าร้อน เพราะกามเผา ยังขวนขวายในการ แสวงหากาม จักทรงรู้ หรือจักทรงเห็น หรือจักทรงทำให้แจ้งความข้อนั้นได้นั่น ไม่ใช่ฐานะที่มีได้

1.2

(เหมือนช้าง ม้า โค ที่ยังไม่ได้รับการฝึก จะสำเร็จภูมิที่ฝึกนั่น ไม่ใช่ฐานะ)

            [๓๙๓] ดูกรอัคคิเวสสนะ(อุปมา 1) เปรียบเหมือนช้างที่ควรฝึกหรือม้า ที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก คู่หนึ่งที่เขา ฝึกดี หัดดีแล้ว อีกคู่หนึ่งเขาไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดเลย ดูกรอัคคิเวสสนะ เธอจะสำคัญความ ข้อนั้น เป็นไฉน ช้างที่ควรฝึก หรือม้าที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก คู่ที่เขาฝึกดีหัดดีแล้วนั้น อันเขาฝึกแล้ว จึงเลียนเหตุการณ์ที่ฝึกแล้ว สำเร็จภูมิที่ฝึกแล้วได้ ใช่ไหม
            อ. ใช่ พระพุทธเจ้าข้า

            พ. ส่วนช้างที่ควรฝึก หรือม้าที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก คู่ที่เขาไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดแล้วนั้น อันเขา ไม่ได้ฝึกเลย จะเลียนเหตุการณ์ที่ฝึกแล้ว สำเร็จภูมิที่ ฝึกแล้ว เหมือนอย่างคู่ที่ฝึกดีหัดดีแล้วนั้น ได้ไหม
            อ. ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า

            พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ข้อที่ความข้อนั้นเขารู้เขาเห็น เขาบรรลุ เขาทำให้แจ้งกัน ได้ด้วยเนกขัมมะ แต่พระราชกุมารชยเสนะ ยังอยู่ ท่ามกลาง กาม ยังบริโภคกามถูกกามวิตกกิน ถูกความเร่าร้อนเพราะกามเผา ยังขวนขวาย ในการแสวงหากาม จักทรงรู้หรือจักทรงเห็น หรือจัก ทรงทำให้แจ้ง ความข้อนั้นได้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

1.3

(เหมือนบุคคลที่อยู่ภูเขาด้านล่าง ย่อมไม่เห็นสวนป่า สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ เหมือนบุคคลที่ยืนอยู่ข้างบน)

            [๓๙๔] ดูกรอัคคิเวสสนะ(อุปมา 2) เปรียบเหมือนภูเขาใหญ่ ไม่ห่างไกล บ้าน หรือ นิคม สหาย ๒ คนออกจากบ้าน หรือนิคมนั้นไปยังภูเขาลูกนั้นแล้ว จูงมือกัน เข้าไปยัง ที่ตั้งภูเขา

            ครั้นแล้วสหายคนหนึ่ง ยืนที่เชิงภูเขาเบื้องล่าง อีกคนหนึ่งขึ้นไปข้างบน ภูเขา สหายที่ยืนตรงเชิง ภูเขาข้างล่าง เอ่ยถามสหายผู้ยืนบนภูเขานั้นอย่างนี้ว่า แน่ะเพื่อน เท่าที่เพื่อนยืนบนภูเขานั้น เพื่อนเห็นอะไร สหายคนนั้นตอบอย่างนี้ว่า เพื่อนเอ๋ย เรายืนบนภูเขาแล้วเห็นสวน ป่าไม้ภูมิภาค และ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์

            สหายข้างล่างกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเพื่อน ข้อที่เพื่อนยืนบนภูเขาแล้ว เห็นสวนป่าไม้ ภูมิภาค และ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ นั่นไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสเลย สหาย ที่ยืน บนภูเขา จึงลงมายังเชิงเขา ข้างล่าง แล้วจูงแขนสหายคนนั้น ให้ขึ้นไป บนภูเขาลูกนั้น ให้สบายใจครู่หนึ่งแล้ว เอ่ยถาม สหายนั้นว่า แน่ะเพื่อน เท่าที่เพื่อน ยืนบนภูเขาแล้วเพื่อนเห็นอะไร

            สหายคนนั้นตอบอย่างนี้ว่า เพื่อนเอ๋ย เรายืนบนภูเขาแล้วแลเห็นสวน ป่าไม้ ภูมิภาค และสระ โบกขรณี ที่น่ารื่นรมย์ สหายคนขึ้นไปก่อน กล่าวอย่างนี้ว่าแน่ะเพื่อน เราเพิ่งรู้คำที่ท่านกล่าว อย่างนี้ว่า เพื่อนเอ๋ย ข้อที่เพื่อนยืนบนภูเขา แล้วเห็นสวน ป่าไม้ ภูมิภาค และสระโบกขรณี ที่น่ารื่นรมย์ นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสเลย เดี๋ยวนี้เองและสหายคนขึ้นไปทีหลังก็พูดว่า เราก็เพิ่งรู้คำที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า

            แน่ะ เพื่อน เรายืนบนภูเขาแล้วเห็นสวน ป่าไม้ ภูมิภาค และสระโบกขรณี ที่น่า รื่นรมย์ เดี๋ยวนี้ เหมือนกัน สหายคนขึ้นไปก่อนจึงพูดอย่างนี้ว่า สหายเอ๋ย ความเป็นจริง เราถูกภูเขาใหญ่ลูกนี้กั้นไว้ จึงไม่แลเห็นสิ่งที่ควรเห็น นี้ ฉันใด

1.4
(พระราชกุมารชยเสนะ ถูกอวิชชาใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาลูกนั้น กั้นไว้ บังไว้ ปิดไว้ จึงไม่อาจเห็นแจ้งได้)

            ดูกรอัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล พระราชกุมารชยเสนะ ถูกกองอวิชชา ใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาลูกนั้น กั้นไว้ บังไว้ ปิดไว้ คลุมไว้แล้ว พระราชกุมารชยเสนะนั้นแล ยังอยู่ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกกิน ถูกความเร่าร้อน เพราะกามเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากาม จักทรงรู้ หรือ ทรงเห็น หรือทรงทำให้แจ้งซึ่งความ ข้อที่เขารู้เขาเห็น เขาบรรลุ เขาทำให้แจ้งกันได้ด้วยเนกขัมมะ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

            ดูกรอัคคิเวสสนะถ้าอุปมา ๒ ข้อนี้จะพึงทำเธอให้แจ่มแจ้ง แก่ พระราชกุมารชยเสนะได้ พระราชกุมาร ชยเสนะ จะพึงเลื่อมใสเธอ และเลื่อมใสแล้ว จะพึงทำอาการของบุคคล ผู้เลื่อมใสต่อเธอ อย่างไม่น่าอัศจรรย์

            อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อุปมา ๒ ข้อนี้จักทำข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้ง แก่พระราชกุมารชยเสนะ ได้แต่ที่ไหน เพราะอุปมาอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ข้าพระองค์ ไม่เคยได้สดับมาในก่อนเหมือนที่ได้สดับ ต่อพระผู้มีพระภาค

1.5
(เปรียบเหมือนควาญช้างที่ชำนาญ ย่อมคล้องช้างป่ามาอยู่ที่แจ้งได้)

            [๓๙๕] พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ(อุปมา 3) เปรียบเหมือนพระราชามหากษัตริย์ ผู้ทรงได้ มูรธาภิเษกแล้ว ตรัสเรียกพรานผู้ชำนาญป่าช้างมารับสั่งว่า มานี่แน่ะ พ่อพราน เพื่อนยาก ท่านจงขี่ช้างหลวง เข้าไปยังป่าช้าง เห็นช้างป่าแล้ว จงคล้องมันไว้ให้มั่นคงที่คอช้างหลวงเถิด พรานผู้ชำนาญป่าช้าง รับสนอง พระราชโองการแล้ว จึงขึ้นช้างหลวงเข้าไปยังป่าช้าง เห็นช้างป่าแล้ว จึงคล้องไว้ มั่นคง ที่คอช้างหลวง ช้างหลวงจึงนำช้างป่านั้น ออกมาสู่ที่กลางแจ้งได้

            ดูกรอัคคิเวสสนะ เพียงเท่านี้แล ช้างป่าจึงมาอยู่กลางแจ้ง ธรรมดาช้างป่า ทั้งหลาย ยังห่วงถิ่น คือป่าช้างอยู่ พรานจึงกราบทูลเรื่องนี้ แด่พระราชามหากษัตริย์ว่า ขอเดชะ ช้างป่าของพระองค์ มาอยู่ ที่กลางแจ้ง แล้วพระพุทธเจ้าข้า พระราชา มหากษัตริย์จึงตรัสเรียกควาญผู้ฝึกช้างมารับสั่งว่า

            มานี่แน่ะ ควาญช้างเพื่อนยาก ท่านจงฝึกช้างป่า จงไปแก้ไขปรกติของ สัตว์ป่า แก้ไขความดำริ พล่าน ของสัตว์ป่าแก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจ และความเร่าร้อนใจ ของสัตว์ป่า เพื่อให้ช้างป่าเชือกนั้น อภิรมย์ในแดนบ้าน ให้บันเทิง ในปรกติ ที่มนุษย์ต้องการเถิด

1.6
(เปรียบเหมือนควาญช้างที่ชำนาญ ย่อมใช้วาจาที่ไม่มีโทษกับช้างป่า สามารถสอนให้เชื่องและใช้งานได้)

            ควาญช้างรับสนองพระราชโองการแล้ว จึงฝังเสาตะลุงใหญ่ในแผ่นดิน ล่ามคอช้างป่าไว้มั่นคง เพื่อแก้ไขปรกติของสัตว์ป่า แก้ไขความดำริพล่านของสัตว์ป่า แก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจ และความเร่าร้อนใจของสัตว์ป่า เพื่อให้ช้างป่า เชือกนั้น อภิรมย์ในแดนบ้าน ให้บันเทิง ในปรกติที่มนุษย์ต้องการ

            ควาญช้างย่อมร้องเรียกช้างป่าเชือกนั้น ด้วยวาจาซึ่งไม่มีโทษ เสนาะหู ชวนให้รักใคร่ จับใจ เป็นภาษาชาวเมือง อันคนส่วนมาก ปรารถนาและชอบใจเห็น ปานนั้น ในเมื่อช้างป่าอันควาญช้างร้องเรียกอยู่ ด้วยวาจาซึ่งไม่มีโทษ เสนาะหู ชวนให้รักใคร่ จับใจ เป็นภาษาชาวเมือง อันคนส่วนมาก ปรารถนาและชอบใจ เห็นปานนั้นแล้ว จึงสำเหนียกด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิต รับรู้

            ควาญช้างจึงเพิ่มอาหาร คือ หญ้าและน้ำให้ช้างนั้นยิ่งขึ้น ในเมื่อช้างป่า รับอาหาร คือหญ้าและน้ำของควาญช้าง ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า คราวนี้ ช้างป่า จักเป็นอยู่ได้ละ จึงให้ช้างนั้นทำการณ์ยิ่งขึ้นด้วยคำว่า รับพ่อ ทิ้งพ่อ

            ในเมื่อช้างของพระราชาเป็นสัตว์ทำตามคำ รับทำตามโอวาทของ ควาญช้าง ในการรับและการทิ้ง

            ควาญช้างจึงให้ช้างนั้น ทำการณ์ยิ่งขึ้นด้วยคำว่า รุกพ่อ ถอยพ่อ ในเมื่อช้าง ของ พระราชา เป็นสัตว์ทำตามคำ รับทำตามโอวาทของควาญช้างใน การรุก และการถอย

            ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นทำการยิ่งขึ้นด้วยคำว่า ยืนพ่อ เทาพ่อในเมื่อช้าง ของพระราชาเป็นสัตว์ทำตามคำ รับทำตามโอวาทของควาญช้างในการยืน และ การเทา

1.7
(ช้างที่ฝึกดีแล้ว สามารถออกศึกได้ มีบุรุษนั่งคอ มีอาวุธหอก ของ้าวอยู่บน หลังช้าง เป็นช้างที่คู่ควรแก่พระราชา)

            ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นทำการณ์ชื่ออาเนญชะยิ่งขึ้น คือ ผูกโล่ห์ใหญ่เข้าที่ งวงช้างนั้น จัดบุรุษถือหอกซัด นั่งบนคอ จัดบุรุษถือหอกซัดหลายคนยืนล้อมรอบ และควาญช้างถือ ของ้าวยาว ยืนข้างหน้า

            ช้างนั้นถูกควาญช้างให้ ทำการณ์ชื่ออาเนญชะอยู่ จึงไม่เคลื่อนไหวเท้าหน้า ไม่เคลื่อนไหวเท้าหลัง ไม่เคลื่อนไหวกายเบื้องหน้า ไม่เคลื่อนไหวกายเบื้องหลัง ไม่เคลื่อนไหวศีรษะ ไม่เคลื่อนไหวหู ไม่เคลื่อนไหวงา ไม่เคลื่อนไหวหาง ไม่เคลื่อนไหว งวงจึงเป็นช้างหลวงทนต่อการประหารด้วย หอก ดาบ ลูกศร และเครื่องประหารของศัตรูอื่น ทนต่อเสียงกึกก้องแห่งกลองใหญ่ บัณเฑาะว์ สังข์ และกลองเล็ก กำจัดโทษคดโกงทุกอย่างได้ หมดพยศ ย่อมถึงความนับว่า เป็นช้าง สมควรแก่พระราชาอันพระราชาควรใช้สอย เป็นองค์สมบัติของพระราชา ฉันใด

1.8
(ตถาคตก็เช่นกัน ตรัสรู้โดยชอบ เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก เป็นครูของ เทวดา และมนุษย์)

            [๓๙๖] ดูกรอัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ตถาคตอุบัติในโลกนี้ ได้เป็นผู้ไกล จากกิเลส รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี ผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้วเป็นผู้แจกธรรม

            ตถาคตนั้นทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนโลกนี้ทั้งเทวดา มาร พรหม ทุกหมู่สัตว์ ทั้งสมณะ และพราหมณ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ให้รู้ทั่ว แสดงธรรม ไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลางในที่สุด พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ประกาศ พรหมจรรย์ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง คฤหบดีก็ดี บุตรของคฤหบดีก็ดี คนที่เกิด ภายหลัง ในสกุลใด สกุลหนึ่งก็ดีย่อมฟังธรรมนั้น

1.9
(ครั้นใครได้ฟังแล้วย่อมเชื่อถือตถาคต จึงสละเพศฆราวาส แล้วบรรพชา)

            ครั้นฟังแล้ว ย่อมได้ความเชื่อในตถาคต เขาประกอบด้วยการได้ความเชื่อ โดยเฉพาะนั้น จึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชา เป็นช่องว่าง เรายังอยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยส่วน เดียว ดุจสังข์ ที่เขาขัดแล้ว นี้ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลยเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้า กาสาวพัสตร์อ อกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด

            สมัยต่อมาเขาละโภคสมบัติน้อยบ้าง มากบ้าง และวงศ์ญาติเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วออกจากเรือน บวชเป็น บรรพชิต ดูกรอัคคิเวสสนะ เพียงเท่านี้แล เขาชื่อว่าเป็นอริยสาวก อยู่ในโอกาสอันว่าง แล้วความจริง เทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย ยังห่วงถิ่น คือ กามคุณทั้ง ๕ อยู่ ตถาคต จึงแนะนำเธอนั้นให้ยิ่งขึ้นไปว่า

            ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วย อาจาระ และโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียง เล็กน้อย สมาทานศึกษาใน สิกขาบท ทั้งหลายเถิด ดูกรอัคคิเวสสนะ ในเมื่ออริย สาวกเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วย ปาติโมกขสังวร ถึงพร้อม ด้วยอาจาระและโคจรอยู่ ย่อมเป็นผู้เห็นภัยในโทษ เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายได้ ตถาคตจึงแนะนำเธอให้ ยิ่งขึ้นไปว่า

1.10
(มาเถิด เธอเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ ละนิวรณ์ ๕ เป็นผู้พิจารณาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมทั้งหลาย)

            ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เห็นรูปด้วย จักษุแล้ว จงอย่าถือโดยนิมิต ฯลฯ เธอครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องทำใจ ให้เศร้าหมอง ทำปัญญาให้ถอยกำลังนี้ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ย่อมเป็นผู้ พิจารณา เห็นเวทนาในเวทนา ... ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิต ... ย่อมเป็นผู้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัส ในโลก เสียได้อยู่

            [๓๙๗] ดูกรอัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนควาญช้างฝังเสา ตะลุงใหญ่ลงใน แผ่นดิน ล่ามคอช้างป่าไว้มั่นคง เพื่อแก้ไขปรกติของสัตว์ป่า แก้ไขความดำริพล่าน ของสัตว์ป่า แก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจ และความเร่าร้อนใจของ สัตว์ป่า เพื่อให้ช้างป่าเชือกนั้น อภิรมย์ในแดนบ้าน ให้บันเทิงในปรกติที่มนุษย์ ต้องการ ฉันใด

            ดูกรอัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สติปัฏฐาน ๔ นี้ชื่อว่าเป็นหลักผูกใจ ของอริยสาวก เพื่อแก้ไขปรกติ ชนิดอาศัยบ้านแก้ไขความดำริพล่านชนิดอาศัยบ้าน แก้ไขความ กระวนกระวาย ความลำบากใจ และความเร่าร้อนใจชนิดอาศัยบ้าน เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง

1.11
(เธอย่อมเข้า ฌานทั้ง ๔ และญาณ ๓ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว

            [๓๙๘] ตถาคตจึงแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้ พิจารณา เห็นกายในกายอยู่ แต่อย่าตรึกวิตกที่เข้าประกอบกับกาย จงเป็นผู้พิจารณา เห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ แต่อย่าตรึกวิตกที่เข้าประกอบกับเวทนา จงเป็นผู้พิจารณา เห็นจิต ในจิตอยู่ แต่อย่าตรึกวิตกที่เข้าประกอบกับจิต จงเป็นผู้พิจารณา เห็นธรรม ในธรรมอยู่ แต่อย่าตรึก วิตกที่เข้าประกอบกับธรรม เธอย่อมเข้าทุติยฌานมีความ ผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้นเพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ย่อมเป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติมีสติ สัมปชัญญะ อยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ... ย่อมเข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติ บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

            [๓๙๙] เธอ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส เครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงานตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่อ ปุพเพนิวาสานุสติญาน ระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยใน ชาติก่อน ได้เป็นอเนกประการ คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เธอย่อมระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยในกาลก่อนได้เป็นอเนกประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้ง อุเทศเช่นนี้

            [๔๐๐] เธอ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส เครื่องยียวน ปราศจาก อุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงานตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ย่อมน้อมจิตไป เพื่อญาณเครื่องรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย มองเห็น หมู่สัตว์ กำลังจุติ กำลังอุปบัติเลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วย ทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมทราบชัด ซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็น ไปตาม กรรมเช่นนี้

            [๔๐๑] เธอ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงานตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ย่อมน้อมจิต ไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์นี้เหตุ ให้เกิดทุกข์ นี้ที่ดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับทุกข์ รู้ชัดตามเป็นจริงว่าเหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ที่ดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับอาสวะเมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะแม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณ รู้ชัดว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำ เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

            [๔๐๒] ภิกษุนั้นเป็นผู้อดทน คือ มีปรกติอดกลั้นต่อความหนาว ความร้อน ความหิว และความกระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และ สัตว์เสือกคลาน ต่อ ทำนอง คำพูดที่กล่าวร้าย ใส่ร้าย ต่อเวทนาประจำสรีระ ที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นทุกข์ กล้า เจ็บแสบ ไม่ใช่ความสำราญ ไม่เป็นที่ชอบใจพอจะสังหารชีวิตได้ เธอเป็นผู้กำจัด ราคะ โทสะ โมหะทั้งปวงได้ หมดกิเลสเพียงดังน้ำฝาดแล้ว เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ ของต้อนรับ ควรแก่ทักขิณาทานควรแก่การกระทำ อัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของ โลก อย่างหา แห่งอื่นเปรียบมิได้

            [๔๐๓] ดูกรอัคคิเวสสนะ ถ้าช้างหลวงแก่ ที่ไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดล้มลง ก็ถึงความนับว่า ช้างหลวงแก่ ล้มตายไปอย่างมิได้ฝึก ถ้าช้างหลวงปูน ปานกลาง ที่ไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัด ล้มลง ก็ถึงความนับว่า ช้างหลวงปูนปานกลางล้มตายไป อย่างมิได้ฝึก ถ้าช้างหลว งปูนหนุ่มที่ไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัด ล้มลง ก็ถึงความนับว่า ช้างหลวงหนุ่ม ล้มตายไป อย่างมิได้ ฝึกฉันใด

1.12
(ถ้าภิกษุยังไม่สิ้นอาสวะ แต่ทำกาละลง ก็นับว่าตายไปอย่างมิได้ฝึก)

            ดูกรอัคคิเวสสนะฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าภิกษุเถระยังไม่สิ้นอาสวะ ทำกาละลง ก็ถึงความนับว่าภิกษุเถระทำกาละ ตายไปอย่างมิได้ฝึก ถ้าภิกษุมัชฌิมะ ยังไม่สิ้นอาสวะ ทำกาละลง ก็ถึงความนับว่า ภิกษุมัชฌิมะทำกาละ ตายไปอย่าง ไม่ได้ฝึก ถ้าภิกษุ นวกะยังไม่สิ้นอาสวะทำกาละลง ก็ถึงความนับว่า ภิกษุนวกะ ทำกาละ ตายไปอย่างไม่ได้ฝึก

            [๔๐๔] ดูกรอัคคิเวสสนะ ถ้าช้างหลวงแก่ที่ฝึกดี หัดดีแล้ว ล้มลงก็ถึงความ นับว่า ช้างหลวง แก่ล้มตายไปอย่างฝึกแล้ว ถ้าช้างหลวงปูนปานกลาง ที่ฝึกดี หัดดีแล้ว ก็ถึงความนับว่า ช้างหลวงปูนปานกลางล้มตายไปอย่างฝึกแล้ว ถ้าช้าง หลวงปูน หนุ่มที่ฝึกดี หัดดีแล้วล้มลง ก็ถึงความนับว่า ช้างหลวงปูนหนุ่มล้มตายไป อย่างฝึกแล้ว ฉันใด

            ดูกรอัคคิเวสสนะฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าภิกษุเถระสิ้นอาสวะแล้ว ทำกาละลง ก็ถึงความนับว่า ภิกษุเถระทำกาละ ตายอย่างฝึกแล้ว ถ้าภิกษุมัชฌิมะสิ้น อาสวะแล้ว ทำกาละลง ก็ถึงความนับว่า ภิกษุมัชฌิมะทำกาละ ตายอย่างฝึกแล้ว ถ้าภิกษุนวกะ สิ้นอาสวะแล้ว ทำกาละลง ก็ถึงความนับว่า ภิกษุนวกะทำกาละ ตายอย่างฝึกแล้ว

            พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว สมณุทเทสอจิรวตะจึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์