เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

เรื่องราว อัคคิเวสสนะ (ฉบับมหามกุฏ/ 5 เล่มจากพระโอษฐ์ ใช้คำว่า อัคคิเวสนะ ) 1581
  P1579 P1580 P1581 P1582 P1583
รวมพระสูตร อัคคิเวสสนะ
(ฉบับหลวง)
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 

(1) สัจจกนิครนถ์ทูลถามปัญหา
   1.1 ทำกายภาวนา แต่ไม่ทำจิตภาวนา ย่อมประสบทุกขเวทนา จักถึงความเป็นบ้า เพราะเหตุใด
   1.2 กายภาวนาที่เป็นมิจฉาทิฐิของวัจฉโคตร คือ เปลือยกาย ทรมานกาย ไม่ยินดีในภิกษา
   1.3 ว่าด้วยกายภาวนาและจิตตภาวนา
   1.4 การอบรมจิตอบรมกาย ที่ผิดวิธี ย่อมถูกเวทนาครอบงำ
   1.5 การอบรมจิต อบรมกาย ของตถาคต คือเมื่อ สุขเวทนาถูกต้องอยู่ย่อมไม่ยินดี ไม่หลงไหล
   1.6 ทรงชี้แจงเรื่องเวทนา ..ทุกขเวทนา สุขเวทนา ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ตถาคต
   1.7 ดูกรอัคคิเวสสนะ เราจะเล่าให้ฟัง เมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้
   1.8 เสด็จไปยังสำนักอาฬารดาบส และอุทกดาบส เพื่อแสวงหาความเป็นกุศล
   1.9 เราประคองจิต สงบ ตั้งมั่นด้วยสมาธิภายใน ในการแสดงธรรม ตั้งแต่ต้น จนจบ
   1.10 ตรัสความเป็นผู้หลงและไม่หลง
   1.11 สัจจกนิครนถ์สรรเสริญพระผู้มีพระภาค

(หมายเหตุ : อัคคิเวสนะ คือชื่อตระกูลปริพาชก ตระกูลหนึ่ง)


 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๐ - ๓๒๔
มหาสัจจกสูตร

1
สัจจกนิครนถ์ทูลถามปัญหา

            [๔๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี. ก็สมัยนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งดีแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร มีพระพุทธประสงค์ จะเสด็จเข้าไปเพื่อบิณฑบาต ในเมืองเวสาลี เวลานั้น สัจจกนิครนถ์ ผู้เป็นนิคันถบุตร เมื่อเที่ยวเดินเพื่อยืดแข้งขา ได้เข้าไปที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน.

            ท่านพระอานนท์ ได้เห็นสัจจกนิครนถ์ กำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้ว จึงทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัจจกนิครนถ์นี้เป็นนักโต้ตอบ พูดยกตนว่า เป็นนักปราชญ์ ชนเป็นอันมากยอมยกว่า เป็นผู้มีความรู้ดี เขาปรารถนาจะติเตียน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงพระกรุณาประทับอยู่สักครู่หนึ่งเถิด.

            พระผู้มีพระภาคจึงประทับอยู่บนอาสนะที่เขาปูถวาย. ขณะนั้น สัจจกนิครนถ์ เข้าไปถึงที่พระผู้มีพระภาคประทับ ครั้นแล้วทูลปราศรัยกับพระองค์ ครั้นผ่าน การปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

1.1
(ปัญหา..พวกที่ทำกายภาวนา แต่ไม่ทำจิตภาวนา ย่อมประสบทุกขเวทนา จักถึงความเป็นบ้า เพราะเหตุใด )

            [๔๐๖] สัจจกนิครนถ์ ครั้นนั่งแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระโคดมผู้เจริญ มีสมณะและพราหมณ์พวกหนึ่ง หมั่นประกอบกายภาวนาอยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบจิตภาวนาไม่. สมณะและพราหมณ์พวกนั้น ย่อมประสบ ทุกขเวทนาอันเกิดในสรีรกาย.

            พระโคดมผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลอันทุกขเวทนา อันเกิดใน สรีรกายกระทบเข้าแล้ว ความขัดขาจักมีบ้างหทัยจักแตกบ้าง เลือดอันร้อนจักพลุ่ง ออกจากปากบ้าง (พวกที่บำเพ็ญกายภาวนานั้น) จักถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง จิตอันหันไปตามกายของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจกาย. นั่นเป็นเพราะอะไร? เป็นเพราะไม่อบรมจิต.

            พระโคดมผู้เจริญ มีสมณะและพราหมณ์พวกหนึ่ง หมั่นประกอบจิตตภาวนา อยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบกายภาวนาไม่. สมณะและพราหมณ์พวกนั้น ย่อมประสพ ทุกขเวทนา อันเกิดขึ้นในจิต. พระโคดมผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลอัน ทุกขเวทนา อันเกิดขึ้นในจิตกระทบเข้าแล้ว ความขัดขาจักมีบ้าง หทัยจะแตกบ้าง เลือดอันร้อนจัดพลุ่งออกจากปาก (พวกที่บำเพ็ญจิตตภาวนานั้น) จักถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง กายอันหันไปตามจิตของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจจิต.

            นั่นเป็นเพราะอะไร? เป็นเพราะไม่อบรมกาย. พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้า มีความดำริว่า หมู่สาวกของพระโคดม ย่อมหมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่ โดยแท้ แต่หาหมั่นประกอบกายภาวนาอยู่ไม่.

1.2

(กายภาวนาที่เป็นมิจฉาทิฐิของวัจฉโคตร คือ เปลือยกาย ทรมานกาย ไม่ยินดีในภิกษา)

            [๔๐๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ กายภาวนาท่าน ฟังมาแล้วอย่างไร?

            สัจจกนิครนถ์ทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ท่านนันทะผู้วัจฉโคตร ท่านกิสะผู้สังกิจจโคตร ท่านมักขลิผู้โคสาล ก็ท่านเหล่านี้เป็นผู้เปลือยกาย ปล่อยมารยาทดีเสีย เช็ดอุจจาระที่ถ่ายด้วยมือ ไม่ไปรับภิกษาตามที่เขาเชิญให้รับ ไม่หยุดตามที่เขาเชิญให้หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ยินดีภิกษา ที่เขาเจาะจงให้ ไม่ยินดีการนิมนต์ ไม่รับภิกษาที่เขาให้แต่ปากหม้อ ไม่รับภิกษา ที่เขาให้แต่ปากกระเช้า ไม่รับภิกษาในที่มีธรณีและมีท่อนไม้ หรือมีสากอยู่ในระหว่าง ไม่รับภิกษาของคน๒ คน ที่กำลังกินอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ของหญิงที่กำลัง ให้ลูกดื่มนม ของหญิงที่มีชู้ไม่รับภิกษาที่เขานัดกันทำ ในที่ที่เขาเลี้ยงสุนัขไว้ และในที่มีหมู่แมลงวันตอม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำ ที่เขาหมักแช่ด้วยสัมภาระ

            รับภิกษาที่เรือนเดียวบ้าง รับเฉพาะคำเดียวบ้าง รับที่เรือนสองหลังบ้าง รับเฉพาะสองคำบ้าง ฯลฯ รับที่เรือนเจ็ดหลังบ้าน รับเฉพาะเจ็ดคำบ้าง เลี้ยงตนด้วย ภิกษาอย่างเดียวบ้าง สองอย่างบ้าง ฯลฯ เจ็ดอย่างบ้าง กลืนอาหารที่เก็บไว้วันหนึ่ง บ้าง สองวันบ้าง ฯลฯ เจ็ดวันบ้าง หมั่นประกอบเนืองๆ ในอันกินภัตตามวาระ แม้มีวาระครึ่งเดือน เห็นปานนี้ ย่อมอยู่ดังนี้.

            พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นเลี้ยงตน ด้วยภัตเท่านั้นอย่างเดียว หรือ?
            ส. ไม่เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ บางทีท่านเหล่านั้น เคี้ยวของควรเคี้ยว อย่างดีๆกินโภชนะอย่างดีๆ ลิ้มของลิ้มอย่างดีๆ ดื่มน้ำอย่างดีๆ ให้ร่างกายนี้มีกำลัง เจริญ อ้วนพีขึ้นๆ

            พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ พวกเหล่านั้น ละทุกกรกิจอย่างก่อนแล้ว บำรุงกายนี้ ภายหลังเมื่อเป็นอย่างนั้น กายนี้ก็มีความเจริญและความเสื่อมไป.

1.3
ว่าด้วยกายภาวนาและจิตตภาวนา

            [๔๐๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ จิตตภาวนาท่าน ได้ฟังมาแล้วอย่างไร?

            สัจจกนิครนถ์ อันพระผู้มีพระภาคตรัสถามในจิตตภาวนา ไม่อาจทูลบอกได้. ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสกะสัจจกนิครนถ์ดังนี้ว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ กายภาวนา ก่อนนั้น ท่านเจริญแล้ว แม้กายภาวนานั้น ไม่ประกอบด้วยธรรมในอริยวินัย ท่านยังไม่รู้จัก แม้กายภาวนา จักรู้จักจิตตภาวนาแต่ไหน

            ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลที่มีกาย มิได้อบรมแล้ว มีจิตมิได้อบรมแล้ว และที่มี กายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว เป็นได้ด้วยเหตุอย่างไร ท่านจงฟังเหตุนั้นเถิดจงทำไว้ ในใจ ให้ดี เราจักกล่าว.

สัจจกนิครนถ์ ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว.

            [๔๐๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ ก็บุคคลที่มีกายมิได้อบรม มีจิตมิได้อบรม เป็นอย่างไร?

1.4

(การอบรมจิตอบรมกาย ที่ผิดวิธี ย่อมถูกเวทนาครอบงำ)

            ดูกรอัคคิเวสสนะ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้มิได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูก สุขเวทนากระทบเข้าแล้ว มีความยินดีนักในสุขเวทนา และถึงความเป็นผู้ยินดีนัก ในสุขเวทนาสุขเวทนาของเขานั้น ย่อมดับไปเพราะสุขเวทนาดับ ก็มีทุกขเวทนา เกิดขึ้น เขาถูกทุกขเวทนา กระทบเข้าแล้ว ก็เศร้าโศก ลำบากใจ รำพัน คร่ำครวญ ตบอก ถึงความหลงไหล แม้สุขเวทนานั้นเกิดขึ้นแก่เขาแล้ว ก็ครอบงำจิตตั้งอยู่
            เพราะเหตุที่ มิได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว ก็ครอบงำจิต ตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ มิได้อบรมจิต
            ดูกรอัคคิเวสสนะ แม้สุขเวทนาเกิดขึ้นแก่ปุถุชนคนใดคนหนึ่ง ก็ครอบงำจิต ตั้งอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ มิได้อบรมจิต ทั้งสองอย่างดังนี้
            ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลที่มีกายมิได้อบรม มีจิตมิได้อบรม เป็นอย่างนี้แหละ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------

1.5

(การอบรมจิต อบรมกายในแบบของตถาคต คือเมื่อ สุขเวทนาถูกต้องอยู่ย่อม ไม่ยินดี ไม่หลงไหล เมื่อทุกขเวทนา ถูกต้องอยู่ ก็ไม่เศร้าโศกคร่ำครวญ)

            ดูกรอัคคิเวสสนะ ก็บุคคลที่มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้วเป็นอย่างไร? ดูกรอัคคิเวสสนะ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูกสุขเวทนากระทบเข้าแล้ว ไม่มีความยินดีนักในสุขเวทนา และไม่ถึงความเป็นผู้ยินดีนักในสุขเวทนา สุขเวทนาของเขานั้นย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับ ก็มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่รำพัน คร่ำครวญ ตบอก ไม่ถึงความหลงไหล แม้สุขเวทนานั้น เกิดขึ้นแก่อริยสาวกแล้ว ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่
            เพราะเหตุที่ ได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ ได้อบรมจิต
            ดูกรอัคคิเวสสนะ แม้สุขเวทนาเกิดขึ้น แก่อริยสาวกผู้ใด ผู้หนึ่ง ก็ไม่ ครอบงำจิต ตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็ไม่ครอบงำจิต ตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมจิตทั้งสองอย่างนี้ ดังนี้
            ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลที่มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว เป็นอย่างนี้แหละ

            สัจจกนิครนถ์ทูลว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าเลื่อมใสต่อพระโคดม เพราะพระโคดมมีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------


1.6

ทรงชี้แจงเรื่องเวทนา
(ทุกขเวทนา สุขเวทนา ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ตถาคต)

            [๔๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ วาจานี้ท่านนำมาพูดเทียบ กับเราโดยแท้แต่ว่าเราจะบอกแก่ท่าน ดูกรอัคคิเวสสนะ เมื่อใดแลเราปลงผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อนั้นจิตของเรานั้นถูกสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นครอบงำตั้งอยู่ หรือถูกสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นครอบงำตั้งอยู่ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะ ที่จะมีได้เลย.

            ส. สุขเวทนาอันเกิดขึ้นที่พอจะครอบงำจิตตั้งอยู่ หรือทุกขเวทนาอันเกิดขึ้น ที่พอจะครอบงำจิตตั้งอยู่ เวทนาเช่นนั้นย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระโคดมผู้เจริญ โดยแท้.

1.7
(ดูกรอัคคิเวสสนะ เราจะเล่าให้ฟัง เมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้ )

            [๔๑๑] พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ทำไมเวทนาทั้ง ๒ นั้น จะไม่พึงมีแก่เรา ดูกรอัคคิเวสสนะ เราจะเล่าให้ฟัง เมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้ ได้มีความดำริดังนี้ว่า ฆราวาสเป็นที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง การที่เราอยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์ดุจสังข์ที่เขา ขัดแล้ว ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เรากำลังเป็นหนุ่มมีเกศาดำสนิท ยังหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย เมื่อพระมารดาและพระบิดา ไม่ปรารถนาจะให้บวช มีพระพักตร์ อาบด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสงอยู่ ได้ปลงผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต.



1.8

(เสด็จไปยังสำนักอาฬารดาบส และอุทกดาบส เพื่อแสวงหาความเป็นกุศล)

            เมื่อบวชแล้ว ก็เสาะหาว่า อะไรเป็นกุศล เมื่อแสวงหาทางอันสงบ อย่างประเสริฐเยี่ยม จึงเข้าไปถึงสำนัก ท่านอาฬารดาบสกาลามโคตร แล้วกล่าวกะ อาฬารดาบสดังนี้ว่า ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติ พรหมจรรย์ ในธรรมวินัยนี้.

            เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร จึงกล่าวกะเราว่า เชิญท่านอยู่เถิด ธรรมที่วิญญูชนพึงบรรลุอยู่ เพราะทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งเอง ตามแบบอาจารย์ของตน ต่อกาลไม่นานนี้ ก็เช่นเดียวกัน. เราก็ศึกษาธรรมนั้นเร็วไว มิได้ช้า. ชั่วขณะหุบปากเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวได้ซึ่งญาณอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ

            ดูกรอัคคิเวสสนะในมัชฌิมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ อันนี้ เมื่อเราไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปอยู่ อวิชชาเรากำจัดเสียแล้ว วิชชาเกิดขึ้น แล้ว ความมืดเรากำจัดเสียแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว. แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแล้ว เห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.

            [๔๒๙] เราเมื่อมีจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ก็น้อมจิตไปเพื่อ อาสวักขยญาณ. ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเรารู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่า พ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำๆ เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี.

            ดูกรอัคคิเวสสนะ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่ ๓ อันนี้ เมื่อเราไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปอยู่ อวิชชาเรากำจัดเสียแล้ว วิชชาเกิดขึ้น แล้ว ความมืดเรากำจัดเสียแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว. แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแล้ว เห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.

1.9
(เราประคองจิต สงบ ตั้งมั่นด้วยสมาธิภายใน ในการแสดงธรรม ตั้งแต่ต้น จนจบ)

            [๔๓๐] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรารู้เฉพาะอยู่ว่า เป็นผู้แสดงธรรมแก่บริษัท หลายร้อย.ถึงแม้บุคคลคนหนึ่งๆ สำคัญเราอย่างนี้บ้างว่า พระสมณโคดมแสดงธรรม ปรารภเราเท่านั้น. ท่านอย่าพึงเห็นอย่างนั้น พระตถาคตย่อมแสดงธรรม แก่บุคคล เหล่านั้นโดยชอบ เพื่อประโยชน์ให้รู้แจ้งอย่างเดียว. เราประคองจิต สงบตั้งมั่น ทำให้เป็นสมาธิ ณ ภายใน ในสมาธินิมิตเบื้องต้น จนจบคาถานั้นทีเดียว เราอยู่ด้วย ผลสมาธิเป็นสุญญะ ตลอดนิตยกาล.

            ส. ข้อนี้ ควรเชื่อต่อพระโคดมผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แต่พระโคดม ย่อมรู้เฉพาะว่า พระองค์เป็นผู้หลับในกลางวันบ้างหรือ?

            พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ เรารู้เฉพาะอยู่ว่า ในเดือนท้ายฤดูร้อน เรากลับจาก บิณฑบาตในกาลภายหลังภัต ปูสังฆาฏิให้เป็น ๔ ชั้น แล้วเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับโดยข้างเบื้องขวา.

            ส. พระโคดมผู้เจริญ สมณะและพราหมณ์เหล่าหนึ่ง ย่อมกล่าวข้อนั้น ในความอยู่ด้วยความหลง.

            พ. บุคคลเป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลง ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น หามิได้ ก็บุคคลเป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลง ด้วยเหตุใด ท่านจงฟังเหตุนั้น จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว บัดนี้. สัจจกนิครนถ์ ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว.

1.10
ตรัสความเป็นผู้หลงและไม่หลง

            [๔๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ ก็อย่างไร บุคคลเป็นผู้หลง อาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ ให้เกิดความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ให้มีชาติชรามรณะต่อไป บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งยังละไม่ได้แล้ว เรากล่าว บุคคลผู้นั้นว่า เป็นผู้หลงบุคคลนั้นเป็นผู้หลง เพราะเหตุยังละอาสวะทั้งหลายไม่ได้ อาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมองให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชรามรณะต่อไป บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งละเสียแล้ว เรากล่าว บุคคลผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่หลง บุคคลนั้นนับว่า เป็นผู้ไม่หลง เพราะเหตุละเสียได้ ซึ่งอาสวะทั้งหลาย.

            ดูกรอัคคิเวสสนะ อาสวะทั้งหลาย อันทำให้เศร้าหมองให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชรามรณะต่อไป ตถาคตละ เสียได้แล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังว่าต้นตาลยอดด้วน ทำไม่ให้เกิด สืบไปไม่มีความเกิดต่อไปเป็นธรรมดา ดุจเดียวกันกับต้นตาล ที่เขาตัดยอดเสียแล้ว ไม่อาจงอกงามได้ต่อไป.

1.11
สัจจกนิครนถ์สรรเสริญพระผู้มีพระภาค

            [๔๓๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ทูลพระผู้มี พระภาค ดังนี้ว่า พระโคดมผู้เจริญ เรื่องที่ท่านกล่าวมานั้น น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี พระโคดมผู้เจริญ อันข้าพเจ้ามาสนทนากระทบกระทั่ง ทั้งไต่ถามด้วยถ้อยคำ ที่ปรุงแต่งมาอย่างนี้ ก็มีผิวพรรณสดใส ทั้งมีสีหน้าเปล่งปลั่ง เพราะท่านเป็น พระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ ปรารภโต้ตอบวาทะ กะท่านปูรณะ กัสสป แม้ท่านปูรณะ กัสสปนั้น ปรารภโต้ตอบ วาทะกับข้าพเจ้า ก็เอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสีย และชักนำให้พูดนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธเคืองขัดแค้นให้ปรากฏ

            พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ปรารภ โต้ตอบวาทะ กะ ท่านมักขลิ โคศาล ... ท่านอชิตะ เกสกัมพล ... ท่านปกุธะกัจจายนะ ... ท่านสัญชัย เวลัฏฐบุตร ... ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร แม้ท่านนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น ปรารภโต้ตอบวาทะ กับข้าพเจ้า ก็เอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสียและชักนำให้พูดนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธเคือง ขัดแค้นให้ปรากฏ ส่วนพระโคดมผู้เจริญ อันข้าพเจ้ามาสนทนา กระทบกระทั่ง ทั้งไต่ถามด้วยถ้อยคำ ที่ปรุงแต่งมาอย่างนี้ ก็มีผิวพรรณสดใส ทั้งมีสีหน้า เปล่งปลั่ง เพราะท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโคดมผู้เจริญ มิฉะนั้น ข้าพเจ้าขอลาไปในบัดนี้ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่ต้องทำมาก.

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้เถิด.

            ครั้งนั้น สัจจกนิครนถ์ผู้นิคันถบุตร ชื่นชม อนุโมทนา พระภาษิตของ พระผู้มีพระภาคลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป ดังนี้แล.

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์