เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

1/4 พระอนุรุทธะ เรื่องราวและพระสูตรที่เกี่ยวข้อง (ไม่รวมอรรถกถา) 1501
  P1501 P1502 P1503 P1504  
รวมพระสูตร พระอนุรุทธะ  
  (หัวเรื่อง)

1. พระอนุรุทธะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีทิพยจักษุ (เอตทัคคบาลี)
2. พระอนุรุทธะหลับนอนกับมาตุคาม ทรงติเตียน แล้วบัญญัติสิกขาบท (เรื่องพระอนุรุทธเถระ)
3. ทรงเสด็จไปพบกับภิกษุ(อรหันต์) ๓ รูป ตรัสถามความเป็นอยู่ (เสด็จพาลกโลณการกคาม)
4. เสด็จเข้าไปในนาทิกคามเพื่อสอบถามความเป็นของภิกษุ ๓ รูป (จูฬโคสิงคสาลสูตร)
     4.1 พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระอนุรุทธะ ถึงธรรมที่เป็นเครื่องอยู่สำราญ
     4.2 พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้ง ๓ รูป ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง
5. สามัคคีธรรม การอยู่ร่วมกันของภิกษุ (ทรงบัญญัติพระวินัย จาก จูฬโคสิงคสาลสูตร)
6. ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน ทรงบัญญัติพระวินัย (วัตถุสำหรับธรรมวาที ๑๘ ประการ)
    6.1 พระเถรานุเถระเข้าเฝ้า ทูลถามข้อปฏิบัติ
    6.2 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีเข้าเฝ้า ทูลถามข้อปฏิบัติ
    6.3 อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าเฝ้า ทูลถามข้อปฏิบัต
7. อนุรุทธะและ เจ้าศากยะทรงผนวชพร้อมกัน ๗ รูป
   7.1 ในพรรษานั้น ท่านพระอนุรุทธะ ได้ทิพยจักษุ
8. คำถาม-คำตอบ การสังคายนาศาสนา มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน (ปาจิตติยกัณฑ์)
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)
 


(1)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔

เอตทัคคบาลี
พระอนุรุทธะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีทิพยจักษุ

             [๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พระอัญญาโกณฑัญญะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวก ของเราผู้รู้ราตรีนาน
พระสารีบุตร เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีปัญญามาก
พระมหาโมคคัลลานะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีฤทธิ์ฯ
พระมหากัสสป เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้ทรงธุดงค์และสรรเสริญคุณแห่งธุดงค์
พระอนุรุทธะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีทิพยจักษุ
พระภัททิยกาฬิโคธาบุตร เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้เกิดในตระกูลสูง
พระลกุณฏกภัททิยะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีเสียงไพเราะ
พระปิณโฑลภารทวาชะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้บันลือสีหนาท
พระปุณณมันตานีบุตร เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้เป็นธรรมกถึก
พระมหากัจจานะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต โดยย่อให้พิสดาร



(2)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๙๖

เรื่องพระอนุรุทธเถระ (พระวินัย)
พระอนุรุทธะหลับนอนกับมาตุคาม ทรงติเตียน
แล้วบัญญัติ สิกขาบท

             [๒๙๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะ เดินทางไปพระนครสาวัตถี ในโกศลชนบท ได้ไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ณ เวลาเย็น ก็แลสมัยนั้น ในหมู่บ้านนั้นมีสตรีผู้หนึ่ง จัดเรือนพักสำหรับอาคันตุกะไว้.

            จึงท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาสตรีนั้น แล้วได้กล่าวคำนี้กะสตรีนั้นว่า ดูกรน้องหญิง ถ้าเธอไม่หนักใจ อาตมาขอพักแรมในเรือนพักสักคืนหนึ่ง.

            สตรีนั้นเรียนว่า นิมนต์พักแรมเถิด เจ้าข้า.

            พวกคนเดินทางแม้เหล่าอื่น ก็เข้าไปหาสตรีนั้น แล้วได้กล่าวคำนี้กะสตรีนั้น ว่า คุณนายขอรับ ถ้าคุณนายไม่หนักใจ พวกข้าพเจ้าขอพักแรม ในเรือนพักสักคืนหนึ่ง.

             นางกล่าวว่า พระคุณเจ้าสมณะนั่น เข้าไปพักแรมอยู่ก่อนแล้ว ถ้าท่าน อนุญาต ก็เชิญ พักแรมได้. จึงคนเดินทางพวกนั้น พากันเข้าไปหาท่านพระ อนุรุทธะ แล้ว ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระอนุรุทธะว่า ท่านขอรับ ถ้าท่านไม่หนักใจ พวกกระผมขอ พักแรมคืน ในเรือนพักสักคืนหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า เชิญพักเถิดจ้ะ.

            อันที่จริง สตรีนั้นได้มีจิตปฏิพัทธ์ในท่านพระอนุรุทธะ พร้อมกับขณะที่ได้เห็น ดังนั้น.นางจึงเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะ แล้วได้กล่าวคำนี้ว่า ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้า ปะปนกับคนพวกนี้ จักพักผ่อนไม่สบาย ทางที่ดีดิฉันควรจัดเตียงที่มีอยู่ข้างในถวาย พระคุณเจ้า

            ท่านพระอนุรุทธะรับด้วยดุษณีภาพ.

            ครั้งนั้น นางได้จัดเตียงที่มีอยู่ข้างในด้วยตนเอง ถวายท่านพระอนุรุทธะ แล้ว ประดับตกแต่งร่างกายมีกลิ่นแห่งเครื่องหอม เข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะ แล้วได้กล่าวคำนี้ กะท่านพระอนุรุทธะว่า ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้ามีรูปงามนัก น่าดูน่าชม ส่วนดิฉัน ก็มีรูปงามยิ่ง น่าดูน่าชม ทางที่ดีดิฉันควรจะเป็นภรรยาของ พระคุณเจ้า.

            เมื่อนางพูดอย่างนี้ ท่านพระอนุรุทธะได้นิ่งเสีย.

            แม้ครั้งที่ ๒ ... ๑-
            แม้ครั้งที่ ๓ นางก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระอนุรุทธะว่า ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้า มีรูปงามนัก น่าดู น่าชม, ส่วนดิฉันก็มีรูปงามยิ่ง น่าดู น่าชม ทางที่เหมาะ ขอพระคุณเจ้าจงรับปกครองดิฉัน และทรัพย์สมบัติทั้งหมด.

            แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอนุรุทธะก็ได้นิ่งเสีย.

            ลำดับนั้น นางได้เปลื้องผ้าออกแล้ว เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง เบื้องหน้าท่านพระอนุรุทธะ. ฝ่ายท่านพระอนุรุทธะ สำรวมอินทรีย์ ไม่แลดู ไม่ปราศรัย กะนาง. ดังนั้นนางจึงอุทานว่า น่าอัศจรรย์นัก พ่อเอ๋ย ไม่น่าจะมีเลยหนอพ่อผู้จำเริญ คนเป็นอันมากยอมส่งทรัพย์มาให้เรา ๑๐๐ กษาปณ์บ้าง ๑๐๐๐ กษาปณ์บ้าง.

            ส่วนพระสมณะรูปนี้ เราวิงวอนด้วยตนเอง ยังไม่ปรารถนาจะรับปกครองเรา และสมบัติทั้งหมด ดังนี้แล้ว จึงนุ่งผ้าซบศีรษะลงที่เท้าของท่านพระอนุรุทธะ แล้วได้กล่าวคำขอขมาต่อท่านดังนี้ว่า ท่านเจ้าข้า โทษล่วงเกินได้เป็นไป ล่วงดิฉัน ตามคนโง่ ตามคนหลง ตามคนไม่ฉลาด ดิฉันผู้ใดได้ทำความผิด เห็นปานนั้นไปแล้ว ขอพระคุณเจ้าโปรดรับโทษที่เป็นไปล่วง โดยความเป็นโทษ เป็นไปล่วงของดิฉันผู้นั้น เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิดเจ้าข้า

            ท่านพระอนุรุทธะ ตอบว่า เชิญเถิดน้องหญิง โทษล่วงเกิน ได้เป็นไป ล่วงเธอ ตามคนโง่ ตามคนเขลา ตามคนไม่ฉลาด เธอได้ทำอย่างนี้แล้ว เพราะเล็ง เห็นโทษ ที่เป็นไปล่วงโดยความเป็นโทษเป็นไปล่วงจริง แล้วทำคืนตามธรรม เราขอรับโทษ ที่ล่วงเกินนั้นของเธอไว้ ดูกรน้องหญิง ข้อที่บุคคลเล็งเห็นโทษ ที่เป็นไปล่วง โดย ความเป็นโทษเป็นไปล่วงจริง แล้วยอมทำคืนตามธรรม ถึงความ สำรวมต่อไป นี่แหละ เป็นความเจริญในอริยวินัย.

            ครั้นราตรีนั้นผ่านพ้นไป นางได้อังคาสท่านพระอนุรุทธะ ด้วยขา ทนียโภชียาหาร อันประณีต ด้วยมือของตนจนให้ห้ามภัตแล้ว กราบไหว้ท่าน พระอนุรุทธะ ผู้ฉันเสร็จนำมือออกจากบาตรแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

            ท่านพระอนุรุทธะ ได้ชี้แจงให้สตรีผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งนั้น เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ครั้นแล้วนางได้กล่าวคำนี้กะท่าน พระอนุรุทธะ ว่า ท่านเจ้าข้า ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ภาษิตของท่านไพเราะนัก พระคุณเจ้าข้า อนุรุทธะ ได้ประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยประสงค์ว่าคนมีจักษุ จักเห็นรูปดังนี้ ดิฉันนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทั้งพระธรรม และภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระคุณเจ้าจงจำดิฉันว่าเป็นอุบาสิกา ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

            ต่อจากนั้น ท่านพระอนุรุทธะ เดินทางไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้แจ้ง ความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความ รังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอนุรุทธะ จึงได้สำเร็จ การนอนร่วมกับมาตุคามเล่า ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้น ได้กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค ...

            ทรงสอบถาม

            พระผู้มีพระภาค ทรงสอบถามท่านพระอนุรุทธะว่า ดูกรอนุรุทธะ ข่าวว่า เธอสำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคาม จริงหรือ?

            ท่านพระอนุรุทธะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

            ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท

            พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้ าทรงติเตียนว่า ดูกรอนุรุทธะ ไฉนเธอจึงได้สำเร็จ การนอนร่วมกับมาตุคามเล่า การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อ ความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอ พึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

พระบัญญัติ
(กัณฑ์ที่ ๒ : ปาจิตติยกัณฑ์)
๕๕. ๖. อนึ่ง ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์.



(3)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๒๖๓

เสด็จพาลกโลณการกคาม (พระวินัย)
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปพบกับภิกษุ ๓ รูป
ตรัสถามความเป็นอยู่

            [๒๔๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค กำลังประทับอยู่ท่ามกลางสงฆ์ ตรัส พระคาถา เหล่านี้ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนิน ไปทางบ้านพาลกโลณการกคาม ก็สมัยนั้น ท่านพระภคุ พักอยู่ที่ บ้านพาลกโลณการกคาม ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จพระพุทธดำเนินมาแต่ไกลเทียว

            ครั้นแล้วได้จัดที่ประทับ ตั้งน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท กระเบื้อง เช็ดพระบาท ไปรับเสด็จรับบาตรจีวร พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง เหนือพุทธอาสน์ ที่จัดไว้ ครั้นแล้วให้ล้างพระบาทยุคล ฝ่ายท่านพระภคุ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้แก่ท่านพระภคุ ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า

            ดูกรภิกษุ เธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้หรือ เธอไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาตหรือ?

            ท่านพระภคุกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า ยังพอทนได้ ยังพอให้อัตภาพ เป็นไปได้ และข้าพระพุทธเจ้า ก็ไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า.

            จึงพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้ท่านพระภคุเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากที่ประทับ เสด็จพุทธดำเนินไปทาง ปราจีน วังสทายวัน

            ก็สมัยนั้น ท่าน พระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ พักอยู่ที่ ปราจีนวังสทายวัน คนเฝ้าสวนได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระสมณะ พระองค์อย่าเสด็จเข้ามา สู่สวนนี้ เพราะในสวนนี้มีกุลบุตรอยู่ ๓ ท่าน ต่างกำลังมุ่งประโยชน์ของตนอยู่ พระองค์อย่าได้ ทำความไม่สำราญแก่พวกนั้นเลย

            ท่านพระอนุรุทธะได้ยินเสียงคนเฝ้าสวน กำลังโต้ตอบอยู่กับพระผู้มีพระภาค จึงได้บอกคนเฝ้าสวนว่า นายทายบาล ท่านอย่าห้ามพระผู้มีพระภาคเลย พระองค์เป็น ศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ

ครั้นแล้วเข้าไปหาท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ ได้แจ้งความข้อนี้ แก่ท่าน ทั้งสองว่า จงรีบออกไปเถิด พวกท่าน จงรีบออกไปเถิด พวกท่าน พระผู้มี พระภาค ผู้เป็นศาสดาของพวกเรา เสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ

            จึงท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ พากันลุกไป รับเสด็จ พระผู้มีพระภาค รูปหนึ่ง รับบาตรจีวร ของพระผู้มีพระภาครูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งตั้งน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท กระเบื้องเช็ดพระบาท พระผู้มีพระภาค ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ ที่จัดไว้

            ครั้นแล้วให้ล้างพระบาทยุคล ท่านเหล่านั้น ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มี พระภาค ตรัสถามว่า อนุรุทธะพวกเธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้หรือ ไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาตหรือ?

            พวกท่านพระอนุรุทธะ กราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้า ยังพอทนได้ ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้ และพวกข้าพระพุทธเจ้า ไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า

            ภ. ดูกรพวกอนุรุทธะ ก็พวกเธอยังพร้อมเพรียงกัน ยังปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจน้ำนมสดกับน้ำ มองดูกันด้วยดวงตาอันเป็นที่รักอยู่หรือ?

            อ. ข้าพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ยังพร้อมเพรียงกัน ยังปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจน้ำนมสดกับน้ำ มองดูกันด้วยดวงตาอันเป็นที่รักอยู่ โดยส่วนเดียว พระพุทธเจ้าข้า

            ภ. ดูกรพวกอนุรุทธะ พวกเธอพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจน้ำนมสดกับน้ำ มองดูกันด้วยดวงตา อันเป็นที่รักอยู่ ด้วยวิธีอย่างไรเล่า?



(4)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๒๗๒


เหตุแห่งความสามัคคี (จูฬโคสิงคสาลสูตร)
เสด็จเข้าไปในนาทิกคามเพื่อสอบถามความเป็นของภิกษุ ๓ รูป


            [๓๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักซึ่งสร้างด้วยอิฐใน นาทิกคาม. ก็สมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ ท่านพระกิมิละ อยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน.
ครั้งนั้นเวลาเย็นพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับพักผ่อนแล้ว เสด็จเข้าไปยัง ป่าโคสิงคสาลวัน.

            นายทายบาล
 [ผู้รักษาป่า] ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้ว ได้กล่าว กะพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่สมณะท่านอย่าเข้าไปยังป่านี้เลย ในที่นี้มี กุลบุตร ๓ ท่าน ซึ่งเป็นผู้ใคร่ประโยชน์ตนเป็นสภาพอยู่ ท่านอย่าได้กระทำความ ไม่ผาสุก แก่ท่านทั้ง ๓ นั้นเลย.

            เมื่อนายทายบาลกล่าวกะพระผู้มีพระภาคอยู่ ท่านพระอนุรุทธได้ยินแล้ว จึงได้บอก นายทายบาล ดังนี้ว่า ดูกรนายทายบาลผู้มีอายุ ท่านอย่าได้ห้าม พระผู้มีพระภาคเลย พระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว.

            ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธได้เข้าไปหาท่าน พระนันทิยะ และท่านพระกิมิละ ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้บอกว่ารีบออกไปเถิด ท่านผู้มีอายุ รีบออกไปเถิด ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว.

             ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละ ได้ต้อนรับพระผู้มี พระภาค องค์หนึ่ง รับบาตร และจีวรของพระผู้มีพระภาค องค์หนึ่งปูอาสนะ องค์หนึ่งตั้งน้ำล้างพระบาท.

            พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูถวาย ครั้นแล้วทรงล้างพระบาท. ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

(4.1)
ธรรมเครื่องอยู่สำราญ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระอนุรุทธะ ถึงธรรมที่เป็นเครื่องอยู่สำราญ


             [๓๖๒] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอนุรุทธว่า (ทรงถาม 1)              ดูกรอนุรุทธ นันทิยะ และกิมิละ พวกเธอพอจะอดทนได้ละหรือ พอจะยัง ชีวิตให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต หรือ?
             อ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พวกข้าพระองค์พอจะอดทนได้ พอจะยังมีชีวิต ให้เป็น ไปได้ พวกข้าพระองค์ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต.

             พ. (2)  ก็พวกเธอ ยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกันยังเป็น เหมือน น้ำนม กับน้ำ แลดูกันและกันด้วยจักษุอันเป็นที่รักอยู่หรือ?
             อ. เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

             พ. (3) ก็พวกเธอเป็นอย่างนั้นได้ เพราะเหตุอย่างไร?

             [๓๖๓] อ. พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์มีความดำริ อย่างนี้ว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์ เห็นปานนี้ ข้าพระองค์ เข้าไปตั้ง กายกรรม ประกอบด้วยเมตตาในท่านผู้มีอายุ เหล่านี้ ทั้ง ต่อหน้า และลับหลัง เข้าไปตั้ง วจีกรรม ประกอบด้วยเมตตา ..เข้าไปตั้ง มโนกรรม ประกอบด้วยเมตตาในท่านผู้มีอายุ เหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

             ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงเก็บจิตของตนเสียแล้ว  ประพฤติตาม อำนาจจิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ แล้วข้าพระองค์ก็เก็บจิตของตนเสีย ประพฤติอยู่ ตามอำนาจจิต ของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ กายของพวกข้าพระองค์ต่างกัน จริงแล แต่ว่าจิต ดูเหมือน เป็นอันเดียวกัน.

             แม้ท่านพระนันทิยะ ... แม้ท่านพระกิมิละ ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้า ข้าขอประทานพระวโรกาส แม้ข้าพระองค์ก็มีความดำริอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เห็นปานนี้

             ข้าพระองค์เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ... เข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบ ด้วยเมตตา ในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ข้าพระองค์มีความ ดำริ อย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงเก็บจิตของตนเสียแล้ว ประพฤติตามอำนาจจิต ของท่าน ผู้มีอายุเหล่านี้ แล้วข้าพระองค์ ก็เก็บจิต ของตนเสีย ประพฤติอยู่ตาม อำนาจจิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ กายของพวกข้าพระองค์ ต่างกันจริงแล แต่ว่าจิต ดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ ยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นบาน ต่อกัน ไม่วิวาทกัน ยังเป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ แลดูกันและกันด้วยจักษุอันเป็นที่รักอยู่.

             [๓๖๔]พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ (4) พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่หรือ.
             อ. เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

             พ. (5) ก็พวกเธอเป็นอย่างนั้นได้ เพราะเหตุอย่างไร? 
             อ. พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส บรรดาพวกข้าพระองค์

ท่านผู้ใด กลับจากบิณฑบาตแต่บ้านก่อน ท่านผู้นั้นย่อมปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ไว้ ตั้งถาดสำรับไว้

ท่านผู้ใด
 กลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทีหลัง ถ้ามีบิณฑบาตที่เหลือ จากฉัน หากประสงค์ ก็ฉัน ถ้าไม่ประสงค์ก็ทิ้งเสียในที่ปราศจากของเขียว หรือ เทลงในน้ำ ที่ไม่มีสัตว์ ท่านผู้นั้นเก็บอาสนะ เก็บน้ำฉันเก็บน้ำใช้ เก็บถาดสำรับ กวาดโรงภัต

ท่านผู้ใด 
เห็นหม้อน้ำฉัน น้ำใช้ หรือหม้อน้ำชำระว่างเปล่า ท่านผู้นั้นก็เข้าไปตั้งไว้ ถ้าเหลือวิสัย ของท่าน ก็กวักมือเรียกรูปที่สอง แล้วช่วยกันยกเข้าไปตั้งไว้ พวกข้าพระองค์ไม่เปล่งวาจา เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

และทุกวันที่ ๕
 พวกข้าพระองค์ นั่งสนทนาธรรมกถาตลอดคืนยังรุ่ง พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปอยู่ ด้วยประการฉะนี้แล.

             [๓๖๕] พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ (6) ก็เมื่อพวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไป อยู่อย่างนี้ คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำความ เป็นพระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรม ของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญ ที่พวกเธอได้บรรลุ แล้ว มีอยู่หรือ?

             อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส พวกข้าพระองค์ หวังอยู่เพียงว่า พวกเราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม  บรรลุ ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ เมื่อพวกข้าพระองค์ เป็นผู้ไม่ ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปอยู่ คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถ กระทำ ความเป็นพระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญนี้แล พวกข้าพระองค์ ได้บรรลุแล้ว.

             พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ (7) ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำ ความเป็น พระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญที่พวกเธอ ได้บรรลุแล้ว เพื่อความก้าวล่วง เพื่อความระงับ แห่งธรรมเป็นเครื่องอยู่อันนี้ อย่างอื่นมีอยู่หรือ?

             อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่ เพียงว่าพวกเรา บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปิติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ อันนี้ ได้แก่คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ อันยิ่งกว่า ธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญ เพื่อความก้าวล่วง เพื่อความระงับ แห่งธรรมเป็นเครื่องอยู่อันนี้อย่างอื่น.

             พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ(8) ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำ ความเป็น พระอริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ?

             อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่ เพียงว่าพวกเรา มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป  บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้า ทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข อันนี้ได้แก่คุณวิเศษ คือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น.

             พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ(9) ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำ ความเป็น พระอริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ?

             อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่ เพียงว่า พวกเรา บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับ โสมนัส โทมนัส ก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้ได้แก่คุณวิเศษ คือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำ ความ เป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น.

             พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ (10) ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำ ความเป็น พระอริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ?

             อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่ เพียงว่า เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจ ซึ่งนานัตตสัญญา พวกเราบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยพิจารณา ว่า อากาศหาที่สุดมิได้ ดังนี้อยู่ อันนี้ได้แก่คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถ กระทำ ความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น.

             พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ (11) ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำ ความ เป็น พระอริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ?

             อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่ เพียงว่า เพราะล่วงเสีย ซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง พวกเราบรรลุ วิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ ดังนี้อยู่ อันนี้ได้แก่ คุณวิเศษ คือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น.

             พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ (12) ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำ ความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ?

             อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่ เพียงว่า เพราะล่วงเสียง ซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง พวกเรา บรรลุ อากิญจัญญายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า น้อยหนึ่งไม่มี ดังนี้อยู่ อันนี้ได้แก่คุณวิเศษ คือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น.

             พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ(13) ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำ ความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ?

             อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่ เพียงว่า เพราะล่วงเสียซึ่ง อากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง พวกเรา บรรลุ เนวสัญญา นาสัญญายตนญาน อยู่ อันนี้ได้แก่คุณวิเศษ คือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำ ความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น.

             พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ(14) ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถ กระทำ ความเป็นพระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญ ที่พวกเธอ ได้บรรลุแล้ว เพื่อความก้าวล่วงเพื่อความระงับ แห่งธรรมเป็นเครื่องอยู่อันนี้ อย่างอื่นมีอยู่หรือ?

             อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่ เพียงว่า เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง พวกเรา บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นแม้ด้วยปัญญา อาสวะของท่านผู้นั้น ย่อมหมด สิ้นไป อันนี้ได้แก่คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรม ของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญอย่างอื่นเพื่อความก้าวล่วง เพื่อความระงับแห่งธรรมเป็น เครื่องอยู่อันนี้ ได้บรรลุแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
             อนึ่ง พวกข้าพระองค์ยังไม่พิจารณาเห็นธรรม เป็นเครื่องอยู่สำราญ อย่างอื่นที่ยิ่งกว่า หรือประณีตกว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญอันนี้

             พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ(15)  ธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญอย่างอื่นที่ยิ่งกว่า หรือ ประณีตกว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญอันนี้ หามีไม่

(4.2)

พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้ง ๓ รูป ให้เห็นแจ้ง

             [๓๖๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคยังท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุก จากอาสนะ หลีกไป ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่าน พระกิมิละส่งเสด็จพระผู้มีพระภาค

            ครั้นกลับจากที่นั้นแล้ว ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละ ได้กล่าวกะท่าน พระอนุรุทธว่า

             ท่านอนุรุทธ ประกาศคุณวิเศษอันใด ของพวกกระผม จนกระทั่งถึง ความสิ้นอาสวะในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พวกกระผมได้บอกคุณวิเศษนั้น แก่ท่านอนุรุทธ อย่างนี้ หรือว่าพวกเราได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ด้วย.

             อ. พวกท่านผู้มีอายุ มิได้บอกแก่กระผมอย่างนี้ว่า พวกเราได้วิหารสมาบัติ เหล่านี้ด้วย แต่ว่ากระผมกำหนดใจของพวกท่านผู้มีอายุด้วยใจแล้ว รู้ได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ด้วยๆ แม้พวกเทวดาก็ได้บอก เนื้อความ ข้อนี้แก่กระผมว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ด้วยๆ กระผม ถูก พระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาแล้ว จึงทูลถวายพยากรณ์เนื้อความนั้น
(พระอนุรุทธะรู้การสิ้นอาสวะของภิกษุ ๒ รูป ด้วย 1.ทิพย์จักษุ 2.เทวดาบอกให้)



(5)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๒๖๕

สามัคคีธรรม (พระวินัย)
ความปรองดองของภิกษุเมื่ออยู่ร่วมกัน
การบัญญัติพระวินัยนี้ สืบเนื่องจากพระสูตรที่มีชื่อว่า เหตุแห่งความสามัคคี  (จูฬโคสิงคสาลสูตร) ที่เป็นสุตตันตปิฎก (ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๒๗๒)

            อ. พระพุทธเจ้าข้า ในข้อนี้ข้าพระพุทธเจ้า มีความคิดอย่างนี้ว่า เป็นลาภ ของเราหนอเราได้ดีแล้ว ที่เราได้อยู่ร่วมกับเพื่อนสพรหมจารี เห็นปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้านั้น ได้เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตา มโนกรรมไว้ ในท่านเหล่านี้ ทั้งในที่แจ้งและที่ลับข้าพระพุทธเจ้านั้น มีความคิด อย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงวางจิตของตน ให้เป็นไปตามอำนาจจิต ของท่านเหล่านี้ เท่านั้น ดังนี้ แล้ววาง จิตของตน ให้เป็นไปตามอำนาจจิตของท่าน เหล่านี้แหละ กายของพวกข้าพระพุทธเจ้า ต่างกันก็จริงแล แต่จิตเป็นเหมือน ดวงเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า

            ฝ่ายท่านพระนันทิยะ และท่านกิมพิละ ต่างได้กราบทูลคำนี้ แด่พระผู้มี พระภาค ว่าพระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็มีความคิดอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเรา หนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เราได้อยู่ร่วมกับเพื่อนสพรหมจารี เห็นปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้า นั้น ได้เข้าไปตั้ง เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ไว้ในท่านเหล่านี้ ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ

            ข้าพระพุทธเจ้านั้น มีความคิดอย่างนี้ว่าไฉนหนอ เราพึงวางจิต ของตน ให้เป็นไปตามอำนาจจิตของท่านเหล่านี้ เท่านั้นดังนี้ แล้ววางจิตของตน ให้เป็นไป ตามอำนาจจิต ของท่านเหล่านี้แหละ กายของพวกข้าพระพุทธเจ้า ต่างกัน ก็จริงแล แต่จิตเป็นเหมือนดวงเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้พร้อมเพรียง กัน ยังปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจน้ำนมสดกับน้ำ มองดูกัน ด้วยดวงตา อันเป็น ที่รักอยู่ ด้วยวิธีอย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า

            พ. ดูกรพวกอนุรุทธะ ก็พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่หรือ?

            อ. พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไป อยู่ โดยส่วนเดียว พระพุทธเจ้าข้า

            พ. ดูกรพวกอนุรุทธะ พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตน ส่งไปอยู่ ด้วยวิธีอย่างไรเล่า?

            อ. พระพุทธเจ้า ในข้อนี้ บรรดาพวกข้าพระพุทธเจ้า

            รูปใดบิณฑบาตกลับจาก บ้านก่อนรูปนั้น ก็ปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ ล้างสำรับ กับข้าวแล้วตั้งไว้ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้

            รูปใดบิณฑบาต กลับจากบ้านทีหลัง ถ้ามีอาหาร ที่ฉันแล้วเหลืออยู่ ถ้าต้องการ ก็ฉัน ถ้าไม่ต้องการ ก็เททิ้ง ในที่ปราศจากของเขียวสด หรือล้างเสีย ในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ รูปนั้นรื้ออาสนะเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้อง เช็ดเท้า ล้างสำรับกับข้าว แล้วเก็บไว้ เก็บน้ำฉันน้ำใช้ กวาดโรงฉัน

            รูปใดเห็น หม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หรือหม้อน้ำ ในวัจจกุฎีว่างเปล่า รูปนั้น ก็ตักน้ำตั้งไว้ ถ้ารูปนั้น ไม่สามารถ พวกข้าพระพุทธเจ้า ก็กวักมือเรียกเพื่อนมา แล้วช่วยกันตัก ยกเข้าไปตั้งไว้ แต่พวกข้าพระพุทธเจ้ามิได้บ่นว่า เพราะข้อนั้น เป็นเหตุเลย และพวกข้าพระพุทธเจ้า นั่งประชุมกันด้วยธรรมมีกถา ตลอดคืนยันรุ่งทุกๆ ๕ วัน พวกข้าพระพุทธเจ้า เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่ ด้วยวิธีอย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า

            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจง ให้ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระ นันทิยะ และท่านพระกิมพิละ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุก จาก ที่ประทับ เสด็จพระพุทธดำเนิน ไปทางตำบล บ้านปาริไลยกะ เสด็จจาริก โดยลำดับ ถึงตำบลบ้านปาริไลยกะ ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่โคนไม้
รังใหญ่ ในไพรสณฑ์รักขิตวัน เขตตำบลบ้านปาริไลยกะนั้น



(6)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๒๖๙

วัตถุสำหรับธรรมวาที ๑๘ ประการ (พระวินัย)
ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกันไม่ปรองดองกัน ทรงบัญญัติ

             สารีบุตร และพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม
๒. แสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าเป็นธรรม
๓. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย
๔. แสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าเป็นวินัย
๕. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้มิได้ตรัสไว้
๖. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ว่าพระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้
๗. แสดงมรรยาทอันพระตถาคต มิได้ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติ มา
๘. แสดงมรรยาทอันพระตถาคต ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตทรงประพฤติมา
๙. แสดงสิ่งที่พระตถาคต มิได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้
๑๐. แสดงสิ่งที่พระตถาคต ทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตทรงบัญญัติไว้
๑๑. แสดงสิ่งมิใช่อาบัติ ว่าเป็นสิ่งมิใช่อาบัติ
๑๒. แสดงอาบัติ ว่าเป็นอาบัติ
๑๓. แสดงอาบัติเบา ว่าเป็นอาบัติเบา
๑๔. แสดงอาบัติหนัก ว่าเป็นอาบัติหนัก
๑๕. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือ ว่าเป็นอาบัติมีส่วนเหลือ
๑๖. แสดงอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ ว่าเป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้
๑๗. แสดงอาบัติชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ
๑๘. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ
สารีบุตร เธอพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล

(6.1)

พระเถรานุเถระเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ

             [๒๕๓] ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้สดับข่าว ....
ท่านพระมหากัสสปะได้สดับข่าว ....
ท่านพระมหากัจจนะได้สดับข่าว ....
ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้สดับข่าว ....
ท่านพระมหากัปปินะได้สดับข่าว ....
ท่านพระมหาจุนทะได้สดับข่าว ....
ท่านพระอนุรุทธะได้สดับข่าว ....
ท่านพระเรวตะได้สดับข่าว ....
ท่านพระอุบาลีได้สดับข่าว ....
ท่านพระอานนท์ได้สดับข่าว ....
ท่านพระราหุลได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมาง ก่อการ ทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่ พระนครสาวัตถี จึงเข้าไปในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระราหุล นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัติแด่พระผู้มี พระภาคว่า พระพุทธเจ้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่ พระนครสาวัตถี ข้าพระพุทธเจ้า จะปฏิบัติในภิกษุเหล่านั้น อย่างไรพระพุทธเจ้าข้า?

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ราหุล ถ้าเช่นนั้น เธอจงดำรงอยู่ตามธรรม
        รา. ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงทราบธรรมหรืออธรรมอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?

        พ. ราหุล เธอพึงทราบ อธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการ ....

        ราหุล เธอพึงทราบอธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล.
        ราหุล และพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการ ....
        ราหุล เธอพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล.

(6.2)

พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ

        [๒๕๔] พระเถรีมหาปชาบดีโคตมี ได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี จึงเข้าไปในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มี พระภาคแล้ว ได้ยืนเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเถรีมหาปชาบดีโคตมี ยืนเฝ้า เรียบร้อยแล้ว ทูลถามข้อปฏิบัตินี้ แด่พระผู้มีพระภาคว่า

        พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมางก่อการ ทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความ อื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนคร สาวัตถี หม่อมฉันจะปฏิบัติ ในภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โคตมี ถ้าเช่นนั้น
เธอจงฟังธรรมในภิกษุสองฝ่าย ครั้นฟังธรรมในสองฝ่ายแล้ว
ภิกษุเหล่าใดในสองฝ่ายนั้น เป็นธรรมวาที เธอจงพอใจ ความเห็นความถูกใจ ความชอบใจ และความเชื่อถือ ของภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น

         อนึ่ง วัตรอย่างหนึ่งอย่างใด อันภิกษุณีสงฆ์ พึงหวังแต่ภิกษุสงฆ์ วัตรนั้น ทั้งหมด อันเธอพึงหวังแต่ธรรมวาทีภิกษุฝ่ายเดียว.

(6.3)

อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ

        [๒๕๕] อนาถบิณฑิกคหบดีได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความ บาดหมางก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี จึงเข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคม พระผู้มี พระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อนาถบิณฑิกคหบดีนั่งเฝ้า เรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้ แด่พระผู้มีพระภาคว่า

         พระพุทธเจ้าข้า ได้ยินข่าวมาว่า ภิกษุ ชาวเมือง โกสัมพี ที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความ อื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่ พระนครสาวัตถี ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติใน ภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คหบดี ถ้ากระนั้น
ท่านจงถวายทาน
ในภิกษุสองฝ่าย ครั้นถวายทานในภิกษุสองฝ่าย แล้ว
จงฟังธรรมในสองฝ่าย
ครั้นฟังธรรมในสองฝ่าย แล้ว
ภิกษุเหล่าใดในสองฝ่ายนั้น เป็นธรรมวาที ท่านจงพอใจในความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจ และความเชื่อถือ ของภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น.



(7)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๑๐๖

เรื่องเจ้าศากยะทรงผนวช
ทรงผนวชเจ้าศากยะทั้ง ๗ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานนท์ ภัคคุ
กิมพิละ เทวทัต และอุบาลี
(อุบาลีตำแหน่งภูษามาลา)

             [๓๔๑] ครั้งนั้น พระเจ้าภัททิยศากยะ อนุรุทธะ อานนท์ ภัคคุ กิมพิละ และ เทวทัตเป็น ๗ ทั้งอุบาลีซึ่งเป็นภูษามาลา เสด็จออกโดยเสนา ๔ เหล่าเหมือนเสด็จ ประภาส ราชอุทยานโดยเสนา ๔ เหล่า ในกาลก่อน ฉะนั้นกษัตริย์ทั้ง ๖ องค์เสด็จ ไปไกลแล้ว สั่งเสนาให้กลับแล้วย่างเข้าพรมแดน ทรงเปลื้องเครื่องประดับ เอาภูษา ห่อแล้ว ได้กล่าวกะอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาว่า เชิญพนาย อุบาลี กลับเถิด ทรัพย์เท่านี้ พอเลี้ยงชีพท่านได้ละ

             [๓๔๒] ครั้งนั้น อุบาลีผู้เป็นภูษามาลา เมื่อจะกลับ คิดว่าเจ้าศากยะ ทั้งหลายเหี้ยมโหดนักจะพึงให้ฆ่าเราเสียด้วยเข้าพระทัยว่า อุบาลีนี้ให้พระกุมาร ทั้งหลายออกบวช ก็ศากยกุมารเหล่านี้ยังทรงผนวชได้ ไฉนเราจักบวชไม่ได้เล่า เขาแก้ห่อเครื่องประดับ เอาเครื่องประดับนั้นแขวนไว้บนต้นไม้ แล้วพูดว่า ของนี้เรา ให้แล้วแล ผู้ใดเห็น ผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้วเข้าไปเฝ้าศากยกุมารเหล่านั้น ศากยกุมาร เหล่านั้น ทอดพระเนตรเห็นอุบาลีผู้เป็นภูษามาลา กำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึง รับสั่งถามว่า พนาย อุบาลีกลับมาทำไม

             อ. พระพุทธเจ้าข้า เมื่อข้าพระพุทธเจ้าจะกลับมา ณ ที่นี้ คิดว่าเจ้า ศากยะ ทั้งหลาย เหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าเราเสียด้วยเข้าพระทัยว่า อุบาลีนี้ให้พระกุมาร ทั้งหลายออกบวช ก็ศากยกุมารเหล่านี้ ยังทรงผนวชได้ ไฉนเราจักบวชไม่ได้เล่า ข้าพระพุทธเจ้านั้น แก้ห่อเครื่องประดับแล้ว เอาเครื่องประดับนั้น แขวนไว้บนต้นไม้ แล้วพูดว่าของนี้เราให้แล้วแล ผู้ใดเห็นผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้วจึงกลับมาจากที่นั้น พระพุทธเจ้าข้า

             ศ. พนาย อุบาลี ท่านได้ทำถูกต้องแล้ว เพราะท่านกลับไป เจ้าศากยะ ทั้งหลาย เหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าท่านเสียด้วยเข้าพระทัยว่า อุบาลีนี้ให้พระกุมาร ทั้งหลายออกบวช

             [๓๔๓] ลำดับนั้น ศากยกุมารเหล่านั้น พาอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วถวายบังคมประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูล ว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉัน เป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ อุบาลีผู้เป็น ภูษามาลานี้ เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน ขอพระผู้มีพระภาค จงให้อุบาลีผู้เป็น ภูษามาลา นี้บวชก่อนเถิด พวกหม่อมฉันจักทำการอภิวาท การลุกรับอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่ อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความถือตัวว่าเป็นศากยะ ของพวกหม่อมฉัน ผู้เป็นศากยะ จักเสื่อมคลายลง

             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค โปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน ให้ ศากยกุมารเหล่านั้น ผนวชต่อภายหลัง

(7.1)

ในพรรษานั้น ท่านพระอนุรุทธะได้ทิพยจักษุ

             [๓๔๔] ครั้นต่อมา ในระหว่างพรรษานั้นเอง
  ท่านพระภัททิยะ ได้ทำให้แจ้งซึ่ง วิชชา ๓   
  
ท่านพระอนุรุทธะ ได้ยังทิพยจักษุให้เกิด
  ท่านพระอานนท์ ได้ทำให้ แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล   
  พระเทวทัต ได้สำเร็จฤทธิ์ชั้นปุถุชน




(8)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๘ วินัยปิฎกปริวาร หน้าที่ ๓๑

ปาจิตติยกัณฑ์

คำถาม-คำตอบการสังคายนาศาสนา ที่มีพระมหากัสสปะเป็น ประธาน
(พระมหากัสสปถาม พระอนุรุทธะตอบ)

            [๖๐] ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ทรงบัญญัติปาจิตตีย์ในเพราะสัมปชานมุสาวาท ณ ที่ไหน?
ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครสาวัตถี
ถ. ทรงปรารภใคร?
ต. ทรงปรารภพระหัตถกศากยบุตร.
ถ. เพราะเรื่องอะไร?
ต. เพราะเรื่องที่พระหัตถกศากยบุตร เจรจากับพวกเดียรถีย์กล่าวปฏิเสธแล้วรับกล่าวรับแล้วปฏิเสธ.
มีบัญญัติ ๑. บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ สิกขาบทนี้เกิดด้วยสมุฏฐาน ๓ คือบางที เกิดแต่กายกับจิต มิใช่วาจา บางทีเกิดแต่วาจากับจิต มิใช่กาย บางทีเกิดแต่กาย วาจาและจิต ...

            [๖๑] ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระองค์ นั้น ทรงบัญญัติปาจิตตีย์ในเพราะโอมสวาท ณ ที่ไหน?
ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครสาวัตถี.
ถ. ทรงปรารภใคร?
ต. ทรงปรารภพระฉัพพัคคีย์.
ถ. เพราะเรื่องอะไร?
ต. เพราะเรื่องที่พระฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ด่าภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก.
มีบัญญัติ ๑ บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ สิกขาบทนี้ เกิดด้วยสมุฏฐาน ๓ ...

            [๖๒] ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ นั้น ทรงบัญญัติปาจิตตีย์ในเพราะส่อเสียดภิกษุ ณ ที่ไหน?
ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครสาวัตถี.
ถ. ทรงปรารภใคร?
ต. ทรงปรารภพระฉัพพัคคีย์.
ถ. เพราะเรื่องอะไร?
ต. เพราะเรื่องที่พระฉัพพัคคีย์เก็บเอาคำส่อเสียด ไปบอกแก่ภิกษุผู้หมางกัน เกิดทะเลาะกัน ถึงการวิวาทกัน.
มีบัญญัติ ๑ บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ สิกขาบทนี้ เกิดด้วยสมุฏฐาน ๓ ...

            [๖๓] ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ นั้น ทรงบัญญัติปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้สอนธรรมแก่อนุปสัมบันว่าพร้อมกัน ณ ที่ไหน?
ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครสาวัตถี.
ถ. ทรงปรารภใคร?
ต. ทรงปรารภพระฉัพพัคคีย์.
ถ. เพราะเรื่องอะไร?
ต. เพราะเรื่องที่พระฉัพพัคคีย์สอนธรรมแก่อุบาสกอุบาสิกาว่าพร้อมกัน.
มีบัญญัติ ๑ บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ สิกขาบทนี้เกิดด้วยสมุฏฐาน ๒ คือ บางทีเกิดแต่วาจา มิใช่กาย มิใช่จิต บางทีเกิดแต่วาจากับจิต มิใช่กาย ...

            [๖๔] ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ นั้น ทรงบัญญัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้สำเร็จการนอนร่วมกับอนุปสัมบันยิ่งกว่า ๒-๓ คืน ณ ที่ไหน?
ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ เมืองอาฬวี.
ถ. ทรงปรารภใคร?
ต. ทรงปรารภภิกษุหลายรูป.
ถ. เพราะเรื่องอะไร?
ต. เพราะเรื่องที่ภิกษุหลายรูป สำเร็จการนอนร่วมกับอนุปสัมบัน.
มีบัญญัติ ๑ อนุบัญญัติ ๑ บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ สิกขาบทนี้เกิดด้วยสมุฏ ฐาน ๒ คือ บางทีเกิดแต่กาย มิใช่วาจา มิใช่จิต บางทีเกิดแต่กายกับจิต มิใช่วาจา ...

            [๖๕] ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ นั้น ทรงบัญญัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุ ผู้สำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคาม ณ ที่ไหน?
ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครสาวัตถี.
ถ. ทรงปรารภ?
ต. ทรงปรารภท่านพระอนุรุทธะ.
ถ. เพราะเรื่องอะไร?
ต. เพราะเรื่องที่ท่านพระอนุรุทธะนอนร่วมกับมาตุคาม.
มีบัญญัติ ๑ บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ สิกขาบทนี้เกิดด้วยสมุฏฐาน ๒ (เหมือนเอฬกโลมสิกขาบท) ...

            [๖๖] ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระองค์ นั้น ทรงบัญญัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้แสดงธรรมแก่มาตุคามยิ่งกว่า ๕-๖ คำ ณ ที่ไหน?
ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครสาวัตถี.
ถ. ทรงปรารภใคร?
ต. ทรงปรารภพระฉัพพัคคีย์.
ถ. เพราะเรื่องอะไร?
ต. เพราะเรื่องที่พระฉัพพัคคีย์ซ่อนบาตรบ้าง จีวรบ้าง ผ้าปูนั่งบ้าง กล่องเข็มบ้าง ประคตเอวบ้าง ของภิกษุทั้งหลาย.
มีบัญญัติ ๑ บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ สิกขาบทนี้ เกิดด้วยสมุฏฐาน ๓ ...

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์