เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
  
หนังสือพุทธวจนออนไลน์   ดูหนังสือทั้งหมด
90 90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์  
   
ค้นหาคำที่ต้องการ            

  อนาคามี-พุทธวจน   ดาวน์โหลดหนังสือ(ไฟล์ PDF)
  
    4 of 8  
 
  อนาคามี พุทธวจน  ที่มา : http://watnapp.com/book  
       
    สารบัญ หน้า  
  ภพ ๓ - คติ ๕    
  57.ภพ ๓   170  
  58.ความมีขึ้นแห่งภพ (นัยที่ ๑) 171  
  59.ความมีขึ้นแห่งภพ (นัยที่ ๒) 173  
  60.เครื่องนำไปสู่ภพ 175  
  61.ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ (นัยที่ ๑) 176  
  62.ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ (นัยที่ ๒) 178  
  63.ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ (นัยที่ ๓) 180  
  64.ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ (นัยที่ ๑) 182  
  65.ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ (นัยที่ ๒) 186  
  66.ความมีขึ้นแห่งภพ แม้มีอยู่ชั่วขณะก็น่ารังเกียจ   190  
  67.คติ ๕ 191  
  68.เหตุให้ทุคติปรากฏ 193  
  69.เหตุให้สุขคติปรากฏ 198  
  70.เหตุให้ต้องท่องเที่ยวในสังสารวัฏ 203  
  71.สังสารวัฏกำหนดที่สุดไม่ได 205  
  สังโยชน์ คือ เครื่องผูก 207  
  72.สังโยชน์ ๗ 208  
  73.ที่ตั้งของสังโยชน์ และสังโยชน์ 209  
  74.ความติดใจ ก็เป็นสังโยชน์ 211  
  75.ผลของการพิจารณาธรรม อันเป็นที่อาศัยของสังโยชน์ 215  
  76.ผลของการพิจาณาเห็นโทษ ในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ 217  
  77.อุปาทาน ๔ 218  
  78.ที่ตั้งของอุปาทาน และอุปาทาน 219  
  79.อนุสัย ๓ และเหตุเกิด 221  
  80.ละเวทนา ๓ เพื่อละอนุสัย ๓ 224  
       
 
 




อนาคามี Page 4
ภพ ๓ - คติ ๕


หน้า 170

57 ภพ ๓
-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๕๒/๙๒.

ภิกษุทั้งหลาย ภพ1 เป็นอย่างไรเล่า.
ภิกษุทั้งหลาย ภพทั้งหลาย ๓ อย่าง เหล่านี้คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ.2
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภพ.

ความก่อขึ้น พร้อมแห่งภพ ย่อมมีเพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน
ความดับ ไม่เหลือแห่งภพ ย่อมมีเพราะความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน
มรรค อันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับ ไม่เหลือแห่งภพ ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือความเห็นชอบ ความดำริชอบการพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.

1. ภพ = สถานที่อันวิญญาณใช้ตั้งอาศัยเพื่อเกิดขึ้น หรือเจริญงอกงามต่อไป. (ดูเพิ่มเติมที่ตั้งอาศัยของวิญญาณ 182 ตรัสภพเปรียบกับดินวิญญาณเปรียบกับ ส่วนของพืชเช่น เมล็ด ที่สามารถเจริญงอกงามต่อไปได้)
2. กามภพ = ที่เกิดอันอาศัย ดิน น้ำ ไฟ ลม รูปภพ = สถานที่เกิดอันอาศัยสิ่งที่ เป็นรูปในส่วนละเอียด อรูปภพ = สถานที่เกิดอันอาศัยสิ่งที่ไม่ใช่รูป.

หน้า 171

58
ความมีขึ้นแห่งภพ (นัยที่ ๑)

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๘๗/๕๑๖.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘ภพ–ภพ’ ดังนี้ภพ ย่อมมีได้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า.

อานนท์ ถ้ากรรมมี กามธาตุ(1) เป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ กามภพ จะพึงปรากฏได้หรือ.

ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า.

อานนท์ ด้วยเหตุนี้แหละ
กรรม จึงเป็นผืนนา (กมฺมํเขตฺตํ)
วิญญาณ เป็นพืช (วิญฺญาณํ พีชํ)
ตัณหา เป็นยางของพืช (ตณฺหา สิเนโห)
วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นทราม การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ (อวิชฺชานีวรณานํ สตฺตานํ ตณฺหาสญฺโญชนานํหีนาย ธาตุยา วิญฺญาณํ ปติฏฺฐิตํ เอวํ อายตึ ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ โหติ).

อานนท์ ถ้ากรรมมี รูปธาตุ(2) เป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ รูปภพ จะพึงปรากฏได้หรือ.

ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า.

1. กามธาตุ = ธาตุดิน ธาตุ้นำธาตุลมและธาตุไฟ. ดูเพิ่มเติม -ไทย นิทาน. สํ.๑๖/๑๔๘/๓๕๕-๖. -ผู้รวบรวม
2. รูปธาตุ = สิ่งที่เป็นรูปในส่วนละเอียด. ดูเพิ่มเติม “มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง” -ไทย สี. ที. ๙/๓๓/๔๙. –ผู้รวบรวม

อานนท์ ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นพืช ตัณหาเป็นยาง ของพืช วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นกลาง (มชฺฌิมาย ธาตุยา) การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ถ้ากรรมมี อรูปธาตุ (3) เป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ อรูปภพ จะพึงปรากฏได้หรือ.

ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า.

อานนท์ ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนาวิญญาณเป็นพืช ตัณหาเป็นยาง ของพืช วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็น เครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นประณีต (ปณีตาย ธาตุยา) การบังเกิดขึ้น ในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ภพ ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล.

3. อรูปธาตุ = สิ่งที่ไม่ใช่รูป เป็นนามธรรม เช่น เวทนา สัญญา สังขาร.
(ผู้ได้สมาธิระดับ อากาสานัญจายตนะขึ้นไป)

หน้า 173

59
ความมีขึ้นแห่งภพ (นัยที่ ๒)

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๘๘/๕๑๗.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘ภพ–ภพ’ ดังนี้ภพ ย่อมมีได้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า.

อานนท์ ถ้ากรรม มี กามธาตุ เป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ กามภพ จะพึงปรากฏได้หรือ.

ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า.

อานนท์ กรรมจึงเป็นผืนนา (กมฺมํ เขตฺตํ) วิญญาณเป็นพืช (วิญฺญาณํ พีชํ) ตัณหาเป็นยางของพืช (ตณฺหา สิเนโห)ความเจตนาก็ดี ความปรารถนาก็ดี ของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นทราม การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ (อวิชฺชานีวรณานํ สตฺตานํ ตณฺหาสญฺโญชนานํหีนาย ธาตุยา เจตนา ปติฏฺฐิตา ปตฺถนา ปติฏฺฐิตา เอวํ อายตึ ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ โหติ).

อานนท์ ถ้ากรรม มี รูปธาตุ เป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ รูปภพ จะพึงปรากฏได้หรือ.

ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า.

อานนท์ ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนาวิญญาณเป็นพืช ตัณหาเป็นยางของพืช ความเจตนาก็ดีความปรารถนาก็ดีของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นกลาง (มชฺฌิมาย ธาตุยา) การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไปย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ถ้ากรรม มี อรูปธาตุ เป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ อรูปภพ จะพึงปรากฏได้หรือ.

หามิได้ พระเจ้าข้า.

อานนท์ ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนาวิญญาณเป็นพืช ตัณหาเป็นยางของพืช ความเจตนาก็ดีความปรารถนาก็ดีของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นประณีต(ปณีตาย ธาตุยา) การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ภพ ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล.

หน้า 175

60
เครื่องนำไปสู่ภพ

-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๓/๓๖๘.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘เครื่องนำไปสู่ภพ เครื่องนำไปสู่ภพ’ ดังนี้ ก็เครื่องนำไปสู่ภพ เป็นอย่างไร และความดับไม่เหลือของเครื่องนำไปสู่ภพ เป็นอย่างไร พระเจ้าข้า.

ราธะ ฉันทะ (ความพอใจ) ก็ดี ราคะ (ความกำหนัด)ก็ดี นันทิ (ความเพลิน) ก็ดี ตัณหา (ความอยาก) ก็ดี อุปายะ (ความเข้าถึง) และ อุปาทาน (ความถือมั่น) อันเป็นเครื่องตั้งทับ เครื่องเข้าไปอาศัย และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิตก็ดีใดๆ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ

สิ่งเหล่านี้ เราเรียกว่า ‘เครื่องนำไปสู่ภพ’ ความดับไม่เหลือของเครื่องนำไป สู่ภพ มีได้เพราะความดับไม่เหลือของฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหาอุปายะ และ อุปาทาน ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ เหล่านั้น นั่นเอง.
.................................................................................................................................


หน้า 176

61
ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ (นัยที่ ๑)

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๘๐/๑๔๙.

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคล ย่อมคิด (เจเตติ) ถึงสิ่งใดอยู่ ย่อมดำริ (ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใดอยู่ และย่อมมีใจฝังลงไป (อนุเสติ) ในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี

เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้วเครื่องนำไปสู่ภพใหม่ (นติ) ย่อมมี
มื่อเครื่องนำไปสู่ภพใหม่มี การมาการไป (อาคตืคติ) ย่อมมี เมื่อการมาการไปมี การเคลื่อนและการบังเกิดย่อมมี
เมื่อมีการเคลื่อน และการบังเกิด มี ชาติ ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส อุปายาสะ ทั้งหลาย จึงเกิดขึ้น ครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่ง กองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใด แต่เขายังมีใจ ปักลงไปในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ

เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้น เฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว เครื่องนำไปสู่ภพใหม่ ย่อมมีเมื่อเครื่องนำไปสู่ภพใหม่ มี การมาการไป (อาคติคติ) ย่อมมี เมื่อการมาการไปมี การเคลื่อนและ การบังเกิดย่อมมี

เมื่อการเคลื่อนและการบังเกิดมี ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส อุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป ความเกิดขึ้นพร้อม แห่งกองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

หน้า 178

62
ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ (นัยที่ ๒)

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๗๙/๑๔๗.

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมคิด (เจเตติ) ถึงสิ่งใดอยู่ ย่อมดำริ (ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใดอยู่ และย่อมมีจิตปักลงไป (อนุเสติ)ในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ

เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี
เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว การก้าวลงแห่งนามรูป (นามรูปสฺส อวกฺกนฺติ) ย่อมมี

เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนาเพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพเพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใด แต่เขายังมีใจฝังลงไป (คือมีอนุสัย)ในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ
เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมีเมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว การก้าวลงแห่งนามรูป ย่อมมี
เพราะมีนามรูป เป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ
ทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

หน้า 180

63
ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ (นัยที่ ๓)

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๗๘/๑๔๕.

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมคิด (เจเตติ) ถึงสิ่งใดอยู่ ย่อมดำริ (ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใดอยู่ และย่อมมีจิตฝังลงไป(อนุเสติ) ในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ

มื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี
เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ ต่อไป (ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ) ย่อมมี
เมื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไปมีอยู่ ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะ โทมนัสอุปายาสะทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมไม่คิด (โน เจเตติ) ถึงสิ่งใด ย่อมไม่ดำริ (โน ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใด แต่เขายังมีจิตฝังลงไป (อนุเสติ) ในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็น อารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่ง วิญญาณย่อมมี เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะเจริญงอกงามแล้ว ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ ต่อไปย่อมมี เมี่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไปมีอยู่ ชาติชรามรณะโสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่ง กองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าว่าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใดด้วย ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใด ด้วย และย่อมไม่มีจิตฝังลงไป (โนอนุเสติ) ในสิ่งใดด้วยในกาลใด ในกาลนั้น สิ่งนั้น ย่อมไม่เป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่ออารมณ์ไม่มีความตั้งขึ้น เฉพาะแห่งวิญญาณย่อมไม่มี เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งขึ้นเฉพาะ ไม่เจริญงอกงาม แล้ว ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไปย่อมไม่มี เมื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ ต่อไปไม่มี ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้แล.
............................................................................................................................................

หน้า 182

64
ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ (นัยที่ ๑)

-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๖๗/๑๐๖.

ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ใช้เป็นพืชมี ๕ อย่างเหล่านี้

๕ เป็นอย่างไร คือ
(1) พืชจากเหง้าหรือราก (มูลพีช)
(2) พืชจากต้น (ขนฺธพีช)
(3) พืชจากตาหรือผล (ผลพีช)
(4) พืชจากยอด (อคฺคพีช)
(5) พืชจากเมล็ด (พีชพีช)

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่างเหล่านี้ ที่ไม่ถูกทำลาย ยังไม่เน่า เปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันเจ้าของ เก็บไว้ด้วยดี แต่ดิน น้ำ ไม่มี.

ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่างเหล่านั้นจะพึงเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้แลหรือ. หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า.

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่าง เหล่านี้แหละ ที่ไม่ถูกทำลาย ยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลม และแดด ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดีทั้ง ดิน น้ำ ก็มีด้วย.

ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่าง เหล่านั้นจะพึงเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้มิใช่หรือ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ ๔ อย่าง (รูป เวทนาสัญญา สังขาร) พึงเห็นว่า เหมือนกับ ดิน.

ภิกษุทั้งหลาย นันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความเพลิน) พึงเห็นว่าเหมือนกับ นํ้า.

ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยพึงเห็นว่าเหมือนกับ พืชสดทั้ง ๕ นั้น.

ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอารูปตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีรูป เป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้.

ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาเวทนาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณ ที่มีเวทนา เป็นอารมณ์มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.

ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสัญญาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณ ที่มีสัญญา เป็นอารมณ์มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.

ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสังขารตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณ ที่มีสังขาร เป็นอารมณ์มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.

ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่าเราจักบัญญัติซึ่งการมา การไปการจุติ (การตาย) การอุบัติ (การเกิด)ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ ของวิญญาณโดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนาเว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขาร ดังนี้นั้นนี่ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย.

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว (ราโค ปหีโน).

เพราะละราคะได้ อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลง ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงามหลุดพ้นไป เพราะไม่ถูกปรุงแต่งเพราะ หลุดพ้นไป ก็ตั้งมั่นเพราะตั้งมั่น ก็ยินดีในตนเอง

เพราะยินดีในตนเอง ก็ไม่หวั่นไหวเมื่อไม่หวั่นไหว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก ดังนี้.

(ดูเพิ่มเติมเรื่อง “การน้อมใจเพื่อตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์”ในหน้า 443 ซึ่งได้ตรัสไว้โดยนัยใกล้เคียงกัน. -ผู้รวบรวม)

หน้า 186

65
ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ (นัยที่ ๒)

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๘๑/๖๕.

อานนท์ วิญญาณฐิติ (ที่ตั้งอาศัยของวิญญาณ) ๗เหล่านี้ และ อายตนะ ๒ มีอยู่. วิญญาณฐิติ ๗ เหล่าไหนเล่า.

วิญญาณฐิติ ๗ คือ
(1) อานนท์ สัตว์ทั้งหลาย (สตฺตา) มีกายต่างกันมีสัญญาต่างกัน มีอยู่ ได้แก่ มนุษย์ทั้งหลาย เทวดาบางพวก และวินิบาตบางพวก นี้คือ วิญญาณฐิติที่ ๑.

(2) อานนท์ สัตว์ทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ ได้แก่ พวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ที่บังเกิดโดยปฐมภูมิ1 (ปฐมานิพฺพตฺตา) นี้คือ วิญญาณฐิติที่ ๒.2

(3) อานนท์ สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกันมีสัญญาต่างกัน มีอยู่ ได้แก่ พวกเทพอาภัสสระ นี้คือวิญญาณฐิติที่ ๓.

1. ปฐมภูมิ = ภูมิเบื้องต้น สามารถเข้าถึงได้หลายทาง เช่น ผู้ได้ปฐมฌาน ผู้เจริญเมตตา ผู้กระทำกุศลกรรมบท ๑๐ ผู้ประกอบพร้อมด้วย ศรัทธา ศีลสติ จาคะ ปัญญา เป็นต้น.
2. ในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เฉพาะในสูตรนี้ วิญญาณฐิติที่ ๒ จะพบมีคำ ว่า อบายทั้ง ๔ อยู่เพียงตำ แหน่งเดียวที่เป็นพุทธวจน แต่ไม่ตรงกับสูตรอื่นที่กล่าว ถึงวิญญาณฐิติ ๗ (-บาลี ปา. ที. ๑๑/๒๖๕,๓๑๑/๓๓๕,๔๓๕.) และไม่ตรงกับ ไตรปิฎกฉบับภาษามอญและภาษายุโรป ดังนั้น คำ ว่า อบายทั้ง ๔ จึงไม่ได้นำ มาใส่ในที่นี้.

(4) อานนท์ สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกันมีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ ได้แก่ พวกเทพสุภกิณหะ นี้คือ วิญญาณฐิติที่ ๔.

(5) อานนท์ สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งรูปสัญญา 1 โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา2 เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา3 จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ มีการทำในใจว่า ”อากาศไม่มีที่สุด ”ดังนี้ มีอยู่นี้คือ วิญญาณฐิติที่ ๕.

(6) อานนท์ สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ มีการทำในใจว่า “วิญญาณไม่มีที่สุด” ดังนี้มีอยู่ นี้คือ วิญญาณฐิติที่ ๖.

(7) อานนท์ สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ มีการทำในใจว่า “อะไรๆ ไม่มี” ดังนี้มีอยู่ นี้คือ วิญญาณฐิติที่ ๗.
1. รูปสัญญา = ความหมายรู้ในรูป.
2. ปฏิฆสัญญา = ความหมายรู้อันไม่น่ายินดีในส่วนรูป.
3. นานัตตสัญญา = ความหมายรู้อันมีประการต่างๆ ในส่วนรูป.

ส่วน อายตนะ ๒ นั้น คือ อสัญญีสัตตายตนะที่ ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนะที่ ๒อานนท์ ในบรรดาวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ (รวมเป็น ๙) นั้น วิญญาณฐิติที่ ๑ อันใดมีอยู่ คือ สัตว์ทั้งหลายมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่ มนุษย์ทั้งหลาย เทวดาบางพวก และวินิบาตบางพวก.

อานนท์ ผู้ใดรู้ชัดวิญญาณฐิติที่ ๑ นั้น รู้ชัดการเกิด(สมุทัย) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัด ความตั้งอยู่ไม่ได้ (อัตถังคมะ) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดรสอร่อย (อัสสาทะ) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดโทษต่ำทราม(อาทีนวะ) แห่งสิ่งนั้น และรู้ชัดอุบายเป็นเครื่อง ออกไปพ้น (นิสสรณะ) แห่งสิ่งนั้น ดังนี้แล้ว ควรหรือหนอที่ผู้นั้นจะเพลิดเพลิน ยิ่ง ซึ่งวิญญาณฐิติที่ ๑ นั้น.

ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า.

(ในกรณีแห่ง วิญญาณฐิติที่ ๒ วิญญาณฐิติที่ ๓ วิญญาณฐิติที่ ๔ วิญญาณฐิติที่ ๕ วิญญาณฐิติที่ ๖ วิญญาณฐิติที่ ๗ และ อสัญญี-สัตตายตนะที่ ๑ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะอย่างดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ได้มีการอธิบาย ตรัสถาม และทูลตอบ โดยข้อความทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งวิญญาณฐิติที่ ๑ นั้น ทุกประการ ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้นส่วนเนวสัญญานาสัญญายตนะที่ ๒ นั้น ได้ตรัสแตกต่างไป ดังนี้)

อานนท์ ในบรรดาวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒(รวมเป็น ๙) นั้น เนวสัญญานา สัญญายตนะ (ความหมายรู้ว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่) อันใด มีอยู่.

อานนท์ ผู้ใดรู้ชัดเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้นรู้ชัดการเกิดแห่งสิ่งนั้น รู้ชัดการดับแห่งสิ่งนั้น รู้ชัดรสอร่อยแห่งสิ่งนั้น รู้ชัดโทษอัน่ตำทรามแห่งสิ่งนั้น และรู้ชัดอุบายเป็นเครื่องออกแห่งสิ่งนั้น ดังนี้แล้ว ควรหรือหนอ ที่ผู้นั้นจะเพลิดเพลินยิ่งซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น.

ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า.

อานนท์ เมื่อใดแล ภิกษุรู้แจ้งชัดตามเป็นจริง ซึ่งการเกิด การดับ รสอร่อย โทษอันตํ่าทราม และอุบายเป็นเครื่องออกแห่งวิญญาณฐิติ ๗ เหล่านี้ และแห่งอายตนะ ๒เหล่านี้ด้วยแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นเพราะความไม่ยึดมั่น.

อานนท์ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ผู้เป็นปัญญาวิมุตติ.

หน้า 190

66
ความมีขึ้นแห่งภพ แม้มีอยู่ชั่วขณะก็น่ารังเกียจ

-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๔๖/๒๐๓.

ภิกษุทั้งหลาย คูถ แม้นิดเดียว ก็เป็นของมีกลิ่นเหม็น ฉันใด.

ภิกษุทั้งหลายสิ่งที่เรียกว่า ภพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้มีประมาณน้อย ชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็ไม่มีคุณอะไรที่พอจะกล่าวได้.

(ในสูตรถัดไป ได้ตรัสอุปมาด้วยมูตร ด้วยน้ำลาย ด้วยหนอง
ด้วยโลหิต โดยทำนองเดียวกัน -บาลี เอก. อํ. ๒๐/๔๖/๒๐๔. -ผู้รวบรวม)


หน้า 191

67
คติ ๕

-บาลี มู. ม. ๑๒/๑๔๗/๑๗๐.

สารีบุตร คติ1 ๕ ประการเหล่านี้ มีอยู่
๕ ประการเป็นอย่างไร คือ

(1) นรก
(2) กำนิดเดรัจฉาน
(3) เปรตวิสัย
(4) มนุษย์
(5) เทวดา

สารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งนรก ทางยังสัตว์ให้ถึงนรก และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ ให้ถึงนรก อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก2 เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งกำเนิดเดรัจฉาน ทางยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดเดรัจฉาน และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดเดรัจฉาน อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงกำเนิดเดรัจฉาน เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

1. คติ = ทางไปของสัตว์. (ที่นำ ไปสู่ภพ)
2. อบาย ทุคติ วินิบาต นรก = ที่เกิดของสัตว์ต่ำ กว่ามนุษย์.

สารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเปรตวิสัย ทางยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย และ ปฏิปทาอันจะ ยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย อนึ่งสัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกาย แตกย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเหล่ามนุษย์ ทางยังสัตว์ให้ถึงมนุษย์โลก และ ปฏิปทา อันจะยังสัตว์ให้ถึงมนุษย์โลกอนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้า แต่ตาย เพราะกายแตกย่อมบังเกิดในหมู่มนุษย์ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเทวดาทั้งหลาย ทางยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก และ ปฏิปทา อันจะยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก อนึ่งสัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้า แต่ตายเพราะ กายแตกย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งนิพพาน ทางยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน และ ปฏิปทาอันจะยัง สัตว์ให้ถึงนิพพาน อนึ่งสัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด ย่อมกระทำให้ แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงแล้วแลอยู่ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย

หน้า 193

68
เหตุให้ทุคติปรากฏ

-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๕,๓๐๕/๑๖๕,๑๘๙.

จุนทะ ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่างความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง.

จุนทะ ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า.
จุนทะ คนบางคนในกรณีนี้

(1) เป็นผู้มีปกติทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง หยาบช้ามีฝ่ามือเปื้อนด้วยโลหิต มีแต่การฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต

(2) เป็นผู้มีปกติถือเอาสิ่งของที่มีเจ้าของมิได้ให้ คือวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ ของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้าน หรือในป่าก็ตาม เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย

(3) เป็นผู้มีปกติประพฤติผิดในกาม (คือประพฤติผิด)ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงหรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหมโดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย) เป็นผู้ประพฤติผิดจารีต ในรูปแบบเหล่านั้นจุนทะ
อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาด ทางกาย ๓ อย่าง.

จุนทะ ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า.
จุนทะ คนบางคนในกรณีนีี้

(1) เป็นผู้มีปกติกล่าวเท็จ ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ ด ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี อันเขานำไปเป็น พยาน ถามว่า “บุรุษผู้เจริญ ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น”ดังนี้ บุรุษนั้น เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อรู้ก็กล่าวว่า ไม่รู้เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น เมื่อ เห็นก็กล่าวไม่เห็น เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่น หรือเพราะเหตุเห็น แก่อามิสไรๆก็เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่

(2) เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด คือฟังจากฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังจากฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น เป็นผู้ทำคนที่สามัคคีกันให้แตกกัน หรือทำคนที่แตกกันแล้วให้แตกกันยิ่งขึ้น พอใจยินดีเพลิดเพลิน ในการแตกกันเป็นพวก เป็นผู้กล่าววาจาที่กระทำให้แตกกันเป็นพวก

(3) เป็นผู้มีวาจาหยาบ อันเป็นวาจาหยาบคายกล้าแข็ง แสบเผ็ดต่อผู้อื่น กระทบกระเทียบผู้อื่น แวดล้อมอยู่ด้วยความโกรธ ไม่เป็น ไปเพื่อสมาธิ เขาเป็น ผู้กล่าววาจามีรูปลักษณะเช่นนั้น

(4) เป็นผู้มีวาจาเพ้อเจ้อ คือเป็นผู้กล่าวไม่ถูกกาลไม่กล่าวตามจริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัยเป็นผู้กล่าววาจาไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่มีจุดจบ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์จุนทะ
อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางวาจา๔ อย่าง.

จุนทะ ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า.
จุนทะ คนบางคนใน กรณีนีี้

(1) เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา (ความโลภเพ่งเล็ง) เป็นผู้โลภเพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์ แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้

(2) เป็นผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริในใจเป็นไปในทางประทุษร้าย ว่า “สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จงเดือดร้อน จงแตกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ อย่าได้มีอยู่เลย” ดังนี้เป็นต้น

(3) เป็นผู้มีความเห็นผิด มีทัสสนะวิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี (ผล) ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล) การบูชาที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล) ผลวิบากแห่งกรรม ที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกอื่น ไม่มี มารดา ไม่มี บิดา ไม่มี สัตว์ผู้เป็น โอปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบถึงกับกระทำ ให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้ จุนทะ อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง.

จุนทะ เหล่านี้แล เรียกว่า อกุศลกรรมบถสิบ. (3+4+3)

จุนทะ อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วย อกุศลกรรมบถ ทั้งสิบประการ เหล่านี้ เป็นเหตุ นรกย่อมปรากฏ กำเนิดเดรัจฉานย่อมปรากฏ เปรตวิสัยย่อมปรากฏ หรือว่าทุคติ ใดๆ แม้อื่นอีกย่อมมี.

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นเหมือน บุคคลผู้ถูกนำไปเก็บไว้ในนรก.

(สูตรอื่นๆ แทนที่จะนับจำนวนกรรมบถมี ๑๐ ได้ทรงขยายออกไปเป็น ๒๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำอีกสิบ และทรงขยายออกไปเป็น ๓๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำสิบ ยินดีเมื่อเขาทำสิบ และทรงขยายออกไปเป็น ๔๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำสิบ ยินดีเมื่อเขาทำสิบ สรรเสริญผู้กระทำสิบ จึงมีกรรมบถสิบ ยี่สิบ สามสิบ สี่สิบ. -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๓๒๕/๑๙๘.

ในสูตรอื่น แสดงผลแห่งการกระทำแปลกออกไป จากคำว่า“เหมือนถูกนำไปเก็บไว้ในนรก” นั้น ทรงแสดงด้วยคำว่า “เป็นผู้ขุดรากตนเอง กำจัดตนเอง” ก็มี “ตายแล้วไปทุคติ” ก็มี “เป็นพาล” ก็มี.
-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๓๓๒,๓๓๓/๒๐๒,๒๐๓. -ผู้รวบรวม)

หน้า 198

69
เหตุให้สุขคติปรากฏ

- บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๗,๓๐๖/๑๖๕,๑๘๙.

จุนทะ ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่างความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่างความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง.

จุนทะ ความสะอาดทางกาย มี ๓ อย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า.
จุนทะ บุคคลบางคน ในกรณีนี้

(1) ละการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอายถึงความเอ็นดูกรุณา เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่

(2) ละการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ถือเอาทรัพย์และอุปกรณ์แห่งทรัพย์ อันเจ้าของไม่ได้ให้ ในบ้านก็ดี ในป่าก็ดีด้วยอาการแห่งขโมย

(3) ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (คือเว้นจาก การประพฤติผิด) ในหญิงซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงหรือ ญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหมโดยที่สุดแม้หญิง อันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบ เหล่านั้นจุนทะ อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง.

จุนทะ ความสะอาดทางวาจา มี ๔ อย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า.
จุนทะ บุคคลบางคนในกรณีนี้

(1) ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท ไปสู่สภาก็ดีไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “บุรุษผู้เจริญ ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้ บุรุษนั้นเมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่าไม่รู้เมื่อรู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าเห็น เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่น หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสไรๆ ก็ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่

(2) ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ได้ฟังจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่เก็บไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อแตกจากฝ่ายนี้ หรือได้ฟังจากฝ่ายโน้น แล้วไม่เก็บมาบอกแก่ฝ่ายนี้ เพื่อแตกจากฝ่ายโน้น แต่จะสมานคนที่แตกกันแล้ว ให้กลับพร้อมเพรียงกัน อุดหนุนคนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ ให้พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น เป็นคนชอบในการพร้อมเพรียง เป็นคนยินดีในการพร้อมเพรียง เป็นคนพอใจในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้พร้อมเพรียงกัน

(3) ละการกล่าวคำหยาบเสีย เว้นขาดจากกล่าวคำหยาบ กล่าวแต่วาจาที่ไม่มี โทษ เสนาะโสตให้เกิดความรักเป็นคำฟูใจ เป็นคำสุภาพที่ชาวเมืองเขาพูดกัน เป็นที่ใคร่ที่พอใจของมหาชน กล่าวแต่วาจาเช่นนั้นอยู่

(4) ละคำพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำพูดเพ้อเจ้อ กล่าวแต่ในเวลาอันสมควร กล่าวแต่คำจริง เป็นประโยชน์เป็นธรรม เป็นวินัย กล่าวแต่วาจามีที่ตั้ง มีหลักฐานที่อ้างอิงมีเวลาจบ ประกอบด้วยประโยชน์ สมควรแก่เวลาจุนทะ อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง.

จุนทะ ความสะอาดทางใจ มี ๓ อย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า.

จุนทะ บุคคลบางคนในกรณีนี้

(1) เป็นผู้ไม่มากด้วยอภิชฌา คือเป็นผู้ไม่โลภเพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ ของผู้อื่นว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้

 (2) เป็นผู้ไม่มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันไม่ประทุษร้ายว่า “สัตว์ท้ง หลายเหล่านี้ จงเป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีสุขบริหาร ตนอยู่เถิด ” ดังนี้เป็นต้น

(3) เป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง มีทัสสนะไม่วิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว มี (ผล) ยัญที่บูชาแล้ว มี (ผล) การบูชาที่บูชาแล้ว มี (ผล) ผลวิบากแห่งกรรม ที่สัตว์ทำดีทำชั่ว มีโลกนี้ มี โลกอื่นมี มารดามี บิดามี สัตว์ผู้เป็นโอปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้ และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็มี” ดังนี้จุนทะ อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง.

จุนทะ เหล่านี้แล เรียกว่า กุศลกรรมบถสิบ.

จุนทะ อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยกุศล-กรรมบถทั้งสิบประการเหล่านี้เป็น เหตุ พวกเทพจึงปรากฏพวกมนุษย์จึงปรากฏ หรือว่าสุคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี.

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นเหมือนบุคคลผู้ถูกนำตัวไปเก็บไว้ในสวรรค์.

 (สูตรอื่นๆ แทนที่จะนับจำนวนกรรมบถมี ๑๐ ได้ทรงขยายออกไปเป็น ๒๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำอีกสิบ และทรงขยายออกไปเป็น ๓๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำสิบ ยินดีเมื่อเขาทำสิบ และทรงขยายออกไปเป็น ๔๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำสิบ ยินดีเมื่อเขาทำสิบ สรรเสริญผู้กระทำสิบ จึงมีกรรมบถ สิบ ยี่สิบ สามสิบ สี่สิบ. -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๓๒๕/๑๙๘.

ในสูตรอื่น แสดงผลแห่งการกระทำแปลกออกไป จากคำว่า “เหมือนถูกนำไปเก็บไว้ในสวรรค์” นั้น ทรงแสดงด้วยคำว่า “ผู้ไม่ขุดรากตนเอง ไม่กำจัดตนเอง” ก็มี “ตายแล้วไปสุคติ” ก็มี“เป็นบัณฑิต” ก็มี. -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๓๓๒, ๓๓๓/๒๐๒, ๒๐๓.-ผู้รวบรวม)

หน้า 203

70
เหตุให้ต้องท่องเที่ยวในสังสารวัฏ

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑/๑., บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๑/๑๖๙๘.

ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้ตามลำดับ เพราะไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจทั้ง ๔ เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ก็อริยสัจทั้ง ๔ เป็นอย่างไร คือ
ทุกขอริยสัจ
ทุกขสมุทยอริยสัจ (เหตุให้เกิดทุกข์)
ทุกขนิโรธอริยสัจ (ความดับไม่เหลือของทุกข์)
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ (ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์)

ที่เมื่อไม่รู้ตามลำดับและไม่แทงตลอดแล้ว เราและพวกเธอทั้งหลายจึงได้ ท่องเที่ยวไปแล้ว ในสังสารวัฏตลอดกาล ยืดยาวนานถึงเพียงนี้.

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อทุกขอริยสัจ อันเราและพวกเธอทั้งหลาย รู้ตามลำดับและ แทงตลอดแล้ว เมื่อทุกขสมุทย-อริยสัจ อันเราและพวกเธอทั้งหลาย รู้ตามลำดับ และแทงตลอดแล้ว เมื่อทุกขนิโรธอริยสัจ อันเราและพวกเธอทั้งหลายรู้ตาม ลำดับและแทงตลอดแล้ว เมื่อทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา-อริยสัจ อันเราและ พวกเธอทั้งหลาย รู้ตามลำดับและแทงตลอดแล้ว ตัณหาในภพก็ถูกถอนขึ้นได้ ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพใหม่ก็สิ้นไป บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป.

(สูตรอื่นได้ตรัสเหตุที่ทำให้ ต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏเพราะไม่รู้อริยธรรม ๔ ประการ ดังต่อไปนี้ )ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้ตามลำดับ เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งธรรม ๔ ประการ เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้ว ในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเป็นอย่างไร คือ ศีลที่เป็นอริยะ สมาธิที่เป็นอริยะ ปัญญาที่เป็นอริยะ และวิมุตติที่เป็นอริยะ

ที่เมื่อไม่รู้ตามลำดับและ ไม่แทงตลอดแล้ว เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้ว ในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้.

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อศีลที่เป็นอริยะ สมาธิที่เป็นอริยะ ปัญญาที่เป็นอริยะ และวิมุตติ ที่เป็นอริยะ อันเราและพวกเธอทั้งหลาย รู้ตามลำดับและแทงตลอดแล้ว ตัณหาในภพก็ถูกถอนขึ้นได้ ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพใหม่ ก็สิ้นไปบัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป.

หน้า 205

71
สังสารวัฏกำหนดที่สุดไม่ได้

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๒๑๙/๔๓๘.

ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มี อวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏสัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูน ปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนท่อนไม้ อันบุคคลซัดขึ้นไปสู่อากาศ บางคราวตกเอาโคนลง บางคราวตกเอาตอนกลางลง บางคราวตกเอาปลายลง ข้อนี้ฉันใด.

ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บางคราวแล่น ไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น บางคราวแล่นจากโลกอื่นสู่โลกนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า.

เพราะเหตุว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มี อวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศได้เพิ่มพูน ปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

..............................................................................................................................................

สังโยชน์ คือ เครื่องผูก


หน้า 208

72
สังโยชน์ ๗

-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๗/๘.

ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ ๗ ประการนี้
๗ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) ความยินดี
(2) ความยินร้าย
(3) ความเห็นผิด
(4) ความสงสัย
(5) มานะ
(6) ความกำหนัดในภพ
(7) อวิชชา

ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ ๗ ประการนี้แล.
(เกี่ยวกับสังโยชน์ ๑๐ ประการ มีเนื้อหาอยู่ในหน้า 22ของหนังสือเล่มนี้. -ผู้รวบรวม)

หน้า 209

73
ที่ตั้งของสังโยชน์ และสังโยชน์

-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๐๒/๓๐๘.

ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์และสังโยชน์ เธอทั้งหลายจงฟัง.

ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์เป็นอย่างไร และสังโยชน์เป็น อย่างไร.

ภิกษุทั้งหลาย รูป เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ความกำหนัดด้วยอำนาจ ความพอใจในรูปชื่อว่า สังโยชน์.

ภิกษุทั้งหลาย เวทนา เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ความกำหนัดด้วยอำนาจ ความพอใจในเวทนาชื่อว่า สังโยชน์.

ภิกษุทั้งหลาย สัญญา เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ความกำหนัดด้วยอำนาจ ความพอใจในสัญญาชื่อว่า สังโยชน์.

ภิกษุทั้งหลาย สังขาร เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ความกำหนัดด้วยอำนาจ ความพอใจในสังขารชื่อว่า สังโยชน์.


ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ความกำหนัดด้วยอำนาจ ความพอใจในวิญญาณ ชื่อว่า สังโยชน์.

ภิกษุทั้งหลาย ขันธ์เหล่านี้เรียกว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ(ฉนฺทราคะ) นี้เรียกว่า สังโยชน์.

(ในสูตรอื่นทรงแสดง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ด้วยอายตนะภายในหก -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๑๐/๑๕๙. และอายตนะภายนอกหก-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๓๕/๑๘๙. -ผู้รวบรวม)

หน้า 211

74
ความติดใจ ก็เป็นสังโยชน์

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๓๙/๕๕๒.

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้ เป็นเหตุให้เกิดกรรม (ที่เป็นอกุศล) ๓ อย่างเป็นอย่างไร คือ

(1) ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต
(2) ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต
(3) ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน

ภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่ง ฉันทราคะในอดีตเป็นอย่างไร คือภิกษุทั้งหลาย บุคคลตรึกตรองตามด้วยใจ ถึงธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะ ในอดีต เมื่อตรึกตรองตามด้วยใจ อยู่ย่อมเกิดความพอใจ (ฉนฺทชาโต) ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ก็ชื่อว่าถูกธรรม เหล่านั้นผูกไว้แล้ว ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความติดใจ (เจตโส สาราโค) นั้นว่าเป็นสังโยชน์ ภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมเกิด เพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต เป็นอย่างนี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่ง ฉันทราคะในอนาคตเป็นอย่างไร คือภิกษุทั้งหลาย บุคคลตรึกตรองตามด้วยใจ ถึงธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะ ในอนาคต เมื่อตรึกตรองตามด้วยใจอยู่ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความ พอใจแล้ว ก็ชื่อว่าถูกธรรมเหล่านั้นผูกไว้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความติดใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ ภิกษุทั้งหลาย ความพอใจ ย่อมเกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต เป็นอย่างนี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมเกิด เพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่ง ฉันทราคะในปัจจุบัน เป็นอย่างไร คือภิกษุทั้งหลาย บุคคลตรึกตรองตามด้วยใจ ถึงธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน เมื่อตรึกตรองตามด้วยใจอยู่ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ก็ชื่อว่าถูกธรรมเหล่านั้นผูกไว้แล้ว ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความติดใจนั้นว่า เป็นสังโยชน์ ภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้ง แห่งฉันทราคะในปัจจุบัน เป็นอย่างนี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้แล เป็นเหตุให้เกิดกรรม(ที่เป็นอกุศล).

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้ เป็นเหตุให้เกิดกรรม (ที่เป็นกุศล) ๓ อย่างเป็นอย่างไร คือ
(1) ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต
(2) ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะ ในอนาคต
(3) ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะ ในปัจจุบัน

ภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่ง ฉันทราคะในอดีต เป็นอย่างไรคือ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้ชัดซึ่งผลอันจะเกิด ต่อไปของธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่ง ฉันทราคะในอดีต ครั้นรู้ชัดแล้ว ก็กลับใจ เสียจากเรื่องนั้น ครั้นกลับใจได้แล้ว ก็คลายใจออกและแทงตลอดด้วยปัญญา ภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิด เพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง ฉันทราคะในอดีตเป็นอย่างนี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่ง ฉันทราคะในอนาคต เป็นอย่างไร คือ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้ชัดซึ่งผลอันจะเกิด ต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ครั้นรู้ชัดแล้ว ก็กลับใจเสีย จากเรื่องนั้น ครั้นกลับใจได้แล้ว ก็คลายใจออก และแทงตลอดด้วยปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่ง ฉันทราคะในอนาคต เป็นอย่างนี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่ง ฉันทราคะในปัจจุบัน เป็นอย่างไร คือ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้ชัดซึ่งผลอันจะเกิด ต่อไปของธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ครั้นรู้ชัดแล้วก็กลับใจเสียจาก เรื่องนั้น ครั้นกลับใจได้แล้ว ก็คลายใจออกและแทงตลอดด้วยปัญญา ภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่ง ฉันทราคะในปัจจุบัน อย่างนี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้แล เป็นเหตุให้เกิดกรรม (ฝ่ายกุศล).

หน้า 215

75
ผลของการพิจารณาธรรม
อันเป็นที่อาศัยของสังโยชน์

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๓๓๘/๒๙๒.

ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ เป็นอย่างไรเล่า.

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดซึ่งตา รู้ชัดซึ่งรูป รู้ชัดซึ่งสังโยชน์ที่อาศัยตา และรูปทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้น อนึ่ง สังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

ภิกษุย่อมรู้ชัดซึ่งหู รู้ชัดซึ่งเสียง … ภิกษุย่อมรู้ชัดซึ่งจมูก รู้ชัดซึ่งกลิ่น… ภิกษุย่อมรู้ชัดซึ่งลิ้น รู้ชัดซึ่งรส … ภิกษุย่อมรู้ชัดซึ่งกายรู้ชัด ซึ่งสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย …

ภิกษุย่อมรู้ชัดซึ่งใจรู้ชัดซึ่งธรรม และรูู้ชัดซึ่งสังโยชน์ที่อาศัยใจและธรรมทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้น อนึ่ง สังโยชน์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ด้วยอาการอย่างนี้

ภิกษุชื่อว่า ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในอยู่บ้าง พิจารณาเห็นธรรม ในธรรมภายนอกอยู่บ้าง พิจารณาเห็นธรรม ในธรรมทั้งภายใน ทั้งภายนอก อยู่บ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในธรรมอยู่บ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมอยู่บ้าง อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอ ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก.

ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖.

หน้า 217

76
ผลของการพิจาณาเห็นโทษในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์

-บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๖๕/๒๕๒.

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นอย่างไรคือ การเห็นอัสสาทะ (ความน่ายินดี) เนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ และ การเห็นอาทีนวะ (โทษ) เนืองๆในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์.

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เห็นอัสสาทะเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่ง สังโยชน์อยู่ ย่อมละราคะไม่ได้ ย่อมละโทสะไม่ได้ ย่อมละโมหะไม่ได้

เรากล่าวว่า บุคคลยังละราคะไม่ได้ ยังละโทสะไม่ได้ ยังละโมหะไม่ได้แล้ว ย่อมไม่พ้นจาก ชาติ ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัส และอุปายาสะ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เห็นอาทีนวะเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่ง สังโยชน์อยู่ ย่อมละราคะได้ ย่อมละโทสะได้ ย่อมละโมหะได้

เรากล่าวว่า บุคคลผู้ละราคะ ละโทสะละโมหะได้แล้ว ย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส และอุปายาสะ ย่อมพ้นไปจากทุกข์ได้.

ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้แล ธรรม ๒ อย่าง.

หน้า 218

77
อุปาทาน ๔

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๘๘/๓๓๗.

ภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ อย่างเหล่านี้ ๔ อย่างเป็นอย่างไร ได้แก่
(1) อุปาทานคือกาม (กามุปาทาน)
(2) อุปาทานคือทิฏฐิ (ทิฏฐุปาทาน)
(3) อุปาทานคือศีลและพรต (สีลัพพตุปาทาน)
(4) อุปาทานคืออัตตวาทะ (อัตตวาทุปาทาน)

ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้อุปาทาน ๔ อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละอุปาทาน ๔ อย่างนี้แล

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ … ย่อมเจริญสัมมาวาจา … ย่อมเจริญสัมมากัมมันตะ … ย่อมเจริญสัมมา-อาชีวะ … ย่อมเจริญสัมมาวายามะ … ย่อมเจริญสัมมาสติ …ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ

ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละอุปาทาน ๔ อย่างเหล่านี้.

หน้า 219

78
ที่ตั้งของอุปาทาน และอุปาทาน
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๐๒/๓๐๙.

ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็น ที่ตั้งแห่งอุปาทาน และ อุปาทาน เธอทั้งหลายจงฟัง. ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานเป็นอย่างไร อุปาทานเป็นอย่างไร.

ภิกษุทั้งหลาย รูป เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานความกำหนัด ด้วยอำนาจ ความพอใจในรูป ชื่อว่า อุปาทาน.

ภิกษุทั้งหลาย เวทนา เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ความกำหนัดด้วยอำนาจ ความพอใจในเวทนาชื่อว่า อุปาทาน.

ภิกษุทั้งหลาย สัญญา เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ความกำหนัดด้วยอำนาจ ความพอใจในสัญญาชื่อว่า อุปาทาน.

ภิกษุทั้งหลาย สังขาร เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ความกำหนัดด้วยอำนาจ ความพอใจในสังขารชื่อว่า อุปาทาน.

ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ความกำหนัดด้วยอำนาจ ความพอใจในวิญญาณ ชื่อว่า อุปาทาน.

ภิกษุทั้งหลาย ขันธ์เหล่านี้เรียกว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ

นี้เรียกว่า อุปาทาน.

(ในสูตรอื่นทรงแสดง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ด้วยอายตนะภายในหก -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๑๐/๑๖๐. และอายตนะภายนอกหก-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๓๖/๑๙๐. -ผู้รวบรวม)


หน้า 221

79
อนุสัย ๓ และเหตุเกิด

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๕๑๖/๘๒๒.

ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยตาด้วย รูปทั้งหลายด้วย จึงเกิดจักขุวิญญาณ การประจวบพร้อมแห่งธรรม๓ ประการ นั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.

เพราะอาศัยหูด้วย เสียงทั้งหลายด้วย จึงเกิดโสตวิญญาณ การประจวบพร้อม แห่งธรรม ๓ ประการนั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย…

เพราะอาศัยจมูกด้วย กลิ่นทั้งหลายด้วย จึงเกิดฆานวิญญาณ การประจวบพร้อม แห่งธรรม ๓ ประการนั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย…

เพราะอาศัยลิ้นด้วย รสทั้งหลายด้วย จึงเกิดชิวหาวิญญาณ การประจวบพร้อม แห่งธรรม ๓ ประการนั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย…

เพราะอาศัยกายด้วย โผฏฐัพพะทั้งหลายด้วย จึงเกิดกายวิญญาณ การประจวบพร้อม แห่งธรรม ๓ ประการนั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย…

เพราะอาศัยใจด้วย ธรรมารมณ์ทั้งหลายด้วย จึงเกิดมโนวิญญาณ การประจวบพร้อม แห่งธรรม ๓ ประการนั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนาอันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.

บุคคลนั้น
เมื่อสุขเวทนา ถูกต้องอยู่ ย่อมเพลิดเพลินย่อมพร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ อนุสัยคือราคะ ย่อมตามนอนแก่บุคคลนั้น

เมื่อทุกขเวทนา ถูกต้องอยู่ เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมระทมใจ ย่อมคร่ำครวญ ย่อมตีอกร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหลอยู่ อนุสัยคือปฏิฆะ ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้)แก่บุคคลนั้น.

เมื่อเวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ถูกต้องอยู่ เขาย่อมไม่รู้ตามเป็นจริงซึ่งสมุทยะ (เหตุเกิด) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งอัตถังคมะ (ความดับไม่เหลือ) แห่งเวทนานั้นด้วย ซึ่งอัสสาทะ(รสอร่อย) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งอาทีนวะ (โทษ) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งนิสสรณะ (อุบายเครื่องออกพ้นไป) ของเวทนานั้นด้วย อนุสัยคืออวิชชา ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น.

บุคคลนั้นหนอ
ยังละ ราคานุสัย อันเกิดจาก สุขเวทนาไม่ได้
ยังบรรเทา ปฏิฆานุสัย อันเกิดจาก ทุกขเวทนาไม่ได้
ยังถอน อวิชชานุสัย อันเกิดจาก อทุกขมสุขเวทนา ไม่ได้

เมื่อยังละอวิชชาไม่ได้ และยังทำวิชชาให้เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว
เขาจักทำที่สุดแห่งทุกข์ ในทิฏฐธรรมนี้ได้นั้น
ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้


หน้า 224

80
ละเวทนา ๓ เพื่อละอนุสัย ๓

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๕๔/๓๖๓.

ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นอย่างไร
คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา

ภิกษุท้้งหลาย เธอทั้งหลาย
พึงละราคานุสัย ใน สุขเวทนา
พึงละปฏิฆานุสัย ใน ทุกขเวทนา
พึงละอวิชชานุสัย ใน อทุกขม-สุขเวทนา

เพราะเหตุที่ภิกษุละราคานุสัย ในสุขเวทนา ละปฏิฆานุสัย ในทุกขเวทนา ละอวิชชานุสัยใน อทุกขมสุขเวทนา ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่มีราคานุสัย มีความเห็นชอบตัดตัณหาได้เด็ดขาด เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เพราะละมานะ ได้โดยชอบ.