พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก ๒๙๐-๒๙๕
๓. มหาโคปาลสูตร
ว่าด้วยองค์แห่งนายโคบาลกับของภิกษุ
[๓๘๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว.
องค์ไม่เป็นเหตุให้เจริญ
[๓๘๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ ไม่ควรจะครอบครองฝูงโค ไม่ควรทำฝูงโคให้เจริญได้ องค์ ๑๑ ประการเป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคบาล ในโลกนี้ ไม่รู้จักรูป ไม่ฉลาดในลักษณะ ไม่คอย เขี่ยไข่ขัง ไม่ปิดบังแผล ไม่สุมควันให้ ไม่รู้จักท่า ไม่รู้จักให้โคดื่ม ไม่รู้จักทาง ไม่ฉลาด ในสถานที่โคเที่ยวหากิน รีดน้ำนมมิได้เหลือไว้ ไม่บูชาโคที่เป็นพ่อฝูง เป็นผู้นำฝูง ด้วยการบูชาเป็นอดิเรก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล ไม่ควรจะ ครอบครองฝูงโค ไม่ควรทำฝูงโคให้เจริญได้ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกันเมื่อประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ ก็ไม่ควรเพื่อจะถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ องค์ ๑๑ ประการเป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้จักรูป ไม่ฉลาดในลักษณะ ไม่คอย เขี่ยไข่ขัง ไม่ปิดบังแผล ไม่สุมควัน ไม่รู้จักท่า ไม่รู้จักดื่มไม่รู้จักทาง ไม่ฉลาดในสถานที่ โคจร รีดเสียหมดมิได้เหลือไว้ ไม่บูชาภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู มีพรรษามาก เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ ด้วยการบูชาเป็นอดิเรก
[๓๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย (1) ก็ภิกษุไม่รู้จักรูปเป็นอย่างไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้ชัดตามเป็นจริงว่า รูปสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รูปทั้งปวงมหาภูตรูป (รูปใหญ่) ทั้ง ๔ และอุปาทายรูป (รูปที่อาศัย) แห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่รู้จักรูปเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย (2) ก็ภิกษุไม่ฉลาดในลักษณะเป็นอย่างไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้ชัดตามเป็นจริงว่า คนพาลมีกรรมเป็น เครื่องหมาย บัณฑิตมีกรรม เป็นเครื่องหมาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ฉลาดใน ลักษณะเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย (3) ก็ภิกษุไม่คอยเขี่ยไข่ขังเป็นอย่างไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมมีวินัยนี้ ให้กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทับถมอยู่ มิได้ละเสีย มิได้บรรเทาเสีย มิได้ทำให้หมดไปไม่ให้ถึงความดับสูญ ให้พยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทับถมอยู่ มิได้ละ เสีย มิได้บรรเทาเสียมิได้ทำให้หมดไป ไม่ให้ถึงความดับสูญ ให้วิหิงสา วิตก เกิดขึ้นแล้ว ทับถมอยู่ มิได้ละเสียมิได้บรรเทาเสีย มิได้ทำให้หมดไป ไม่ให้ถึงความดับสูญ และให้ เหล่า อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วๆ ทับถมอยู่ มิได้ละเสีย มิได้บรรเทาเสีย มิได้ทำ ให้ หมดไป ไม่ให้ถึงความดับสูญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่คอยเขี่ยไข่ขัง เป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย (4) ก็ภิกษุไม่ปิดบังแผลเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ถือโดยนิมิต ถือโดยอนุพยัญชนะ เหล่า อกุศลธรรม อันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส ย่อมครอบงำบุคคลที่ไม่ สำรวมจักขุนทรีย์ มีจักขุนทรีย์ที่มิได้สำรวม เป็นเหตุเธอไม่ปฏิบัติ เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์นั้น ไม่รักษา จักขุนทรีย์ นั้น ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์นั้น ได้ยินเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วย ฆานะ ... ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ถือโดยนิมิต ถือโดยอนุพยัญชนะ เหล่าอกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ย่อมครอบงำบุคคลที่ไม่สำรวมมนินทรีย์ มีมนินทรีย์ที่มิได้สำรวมเป็นเหตุ เธอไม่ไม่ ปฏิบัติ เพื่อสำรวมมนินทรีย์นั้น ไม่รักษามนินทรีย์นั้น ไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ปิดบังแผลเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย(5) ก็ภิกษุไม่สุมควันเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่แสดงธรรมตามที่ตน ได้ฟังตามที่ตนได้ศึกษามา แก่ผู้อื่น โดยพิสดาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่สุมควันเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย(6) ก็ภิกษุไม่รู้จักท่าเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เข้าไปหาแล้วไต่ถาม สอบถาม กะภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระ เป็นพหูสูต เป็นผู้รู้หลักทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ตามกาลอันควรว่า ภาษิตนี้เป็น อย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลายผู้มีอายุนั้น จึงไม่เปิดเผย ข้อความที่ยังลี้ลับ ไม่ทำข้อความที่ลึกให้ตื้น ไม่บรรเทาความสงสัยในธรรม เป็นที่ตั้ง แห่งความสงสัย อันมีอย่างเป็นอเนกแก่ภิกษุนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่รู้จักท่า เป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย(7) ก็ภิกษุไม่รู้จักดื่มเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันใครๆ แสดงอยู่ ไม่ได้ความ รู้ธรรม ไม่ได้ความรู้อรรถไม่ได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่รู้จักดื่มเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย(8) ก็ภิกษุไม่รู้จักทางเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้ชัดอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่รู้จักทางเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย(9) ก็ภิกษุไม่ฉลาดในสถานที่โคจรเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้ชัดในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ฉลาดในสถานที่โคจรเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย(10) ก็ภิกษุรีดเสียหมดมิได้เหลือไว้เป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกคฤหบดีผู้มีศรัทธา ปวารณาภิกษุในธรรมวินัยนี้ ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพื่อให้รับตามปรารถนา ในการที่เขา ปวารณานั้น ภิกษุไม่รู้จักประมาณเพื่อจะรับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรีดเสียหมด มิได้เหลือไว้ เป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย(11) ก็ภิกษุไม่บูชาภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู มีพรรษามาก เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ ด้วยการบูชาเป็นอดิเรกเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ในภิกษุทั้งหลาย ที่เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู มีพรรษามาก เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่บูชาภิกษุ ทั้งหลายที่เป็นเถระเป็นรัตตัญญู มีพรรษามากเป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ ด้วยการบูชา เป็นอดิเรกเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล ไม่ควรเพื่อจะถึง ความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้
องค์เป็นเหตุให้เจริญ
[๓๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้ควรจะ ครอบครองฝูงโค ควรทำฝูงโคให้เจริญได้. องค์ ๑๑ ประการเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลในโลกนี้ รู้จักรูป ฉลาดในลักษณะ เป็นผู้คอยเขี่ยไข่ขัง ปิดบังแผล สุมควันให้ รู้จักท่า รู้จักให้โคดื่ม รู้จักทาง ฉลาดในสถานที่โคเที่ยวหากิน รีดน้ำนมให้เหลือไว้ บูชาโคที่เป็นพ่อฝูง เป็นผู้นำฝูง ด้วยการบูชาเป็นอดิเรก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้ เป็นผู้ควรจะ ครอบครองฝูงโค ควรทำฝูงโคให้เจริญได้ ฉันใดดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ ฉันนั้น เหมือนกัน เมื่อประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ ก็ควรเพื่อจะถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ องค์ ๑๑ ประการเป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักรูป ฉลาดในลักษณะ คอยเขี่ย ไข่ขัง ปิดบังแผลสุมควัน รู้จักท่า รู้จักดื่ม รู้จักทาง ฉลาดในสถานที่โคจร รีดให้เหลือไว้ บูชาภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู มีพรรษามาก เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ ด้วยการบูชาเป็นอดิเรก
[๓๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้รู้จักรูปเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า รูปสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รูปทั้งปวง มหาภูตรูปทั้ง ๔ และอุปาทายรูปแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้จักรูปเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในลักษณะเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า คนพาลมีกรรมเป็นเครื่องหมาย บัณฑิต มีกรรม เป็นเครื่องหมาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในลักษณะเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้คอยเขี่ยไข่ขังเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ให้กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทับถมอยู่ ย่อมละเสีย บรรเทาเสีย ทำให้หมดไปให้ถึงความดับสูญ ไม่ให้พยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทับถมอยู่ ... ไม่ให้ วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทับถมอยู่ ... ไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วๆ ทับถมอยู่ ย่อมละเสีย บรรเทาเสีย ทำให้หมดไป ให้ถึงความดับสูญ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้เขี่ยไข่ขังเป็นอย่างนี้แล.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ปิดบังแผลเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ เหล่า อกุศลธรรม อันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ย่อมครอบงำบุคคลที่ไม่สำรวมจักขุนทรีย์ มีจักขุนทรีย์ที่มิได้สำรวมเป็นเหตุ เธอปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์นั้น รักษาจักขุนทรีย์นั้น ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์นั้น ได้ยินเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วย ชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือ โดยอนุพยัญชนะ เหล่าอกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ย่อมครอบงำ บุคคลที่ไม่สำรวมมนินทรีย์มีมนินทรีย์ที่มิได้สำรวมเป็นเหตุ เธอปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ นั้น รักษามนินทรีย์นั้นถึงความสำรวมในมนินทรีย์นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ปิด บังแผล เป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้สุมควันเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ แสดงธรรมตามที่ตนได้ฟัง ตามที่ตนได้ศึกษามา แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุเป็นผู้สุมควันเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรู้จักท่าเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ในธรรมวินัย นี้ ย่อมเข้าไปหาแล้วไต่ถาม สอบถาม กะภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระ เป็นพหูสูต เป็นผู้รู้หลักทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ตามกาลอันควรว่า ภาษิตนี้ เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลายผู้มีอายุนั้น จึงเปิดเผยข้อความที่ยังลี้ลับ ทำข้อความที่ลึก ให้ตื้น บรรเทาความสงสัยในธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย อันมีอย่างเป็นอเนก แก่ภิกษุนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้จักท่าเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรู้จักดื่มเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันใครๆ แสดงอยู่ ย่อมได้ ความรู้ธรรม ได้ความรู้อรรถ ได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้จักดื่มเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้จักทางเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้จักทางเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุฉลาดในสถานที่โคจรเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุฉลาดในสถานที่โคจรเป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้รีดให้เหลือไว้เป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกคฤหบดีผู้มีศรัทธา ปวารณาภิกษุในธรรมวินัยนี้ ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพื่อให้รับตามปรารถนา ในการที่เขาปวารณานั้น ภิกษุรู้จักประมาณ เพื่อจะรับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รีดให้เหลือไว้เป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุบูชาภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู มีพรรษามาก เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ ด้วยการบูชาเป็นอดิเรกเป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอันประกอบ ด้วย เมตตาในภิกษุทั้งหลาย ที่เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู มีพรรษามาก เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบูชาภิกษุทั้งหลาย ที่เป็น เถระ เป็นรัตตัญญูมีพรรษามาก เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ ด้วยการบูชาเป็นอดิเรก เป็นอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล ควรเพื่อจะถึง ความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้
พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดี พระภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
จบ มหาโคปาลสูตร ที่ ๓
|