เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  ปฏิจจสมุปบาท ชุด 5 หน้า 599- 636 877
 
 ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ชุด
 
1 ปฏิจจสมุปบาทที่ตรัสโดยพระพุทธเจ้าวิปัสสี (91กัปที่แล้ว) (สุดลงเพียงแค่วิญญาณ)
2 ปฏิจจสมุปบาทที่ตรัสโดยพระพุทธเจ้าวิปัสสี (91กัปที่แล้ว) (สุดลงเพียงแค่วิญญาณ) (ปฏิปักขนัย)
3 ปฏิจจสมุปบาท (สมุทยวาร) ที่ตรัสอย่างย่อที่สุด (ตัณหา คือความตั้งขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ จากผัสสายตนะทั้ง6)
4 ปฏิจจสมุปบาท (ทั้งสมุทยะและนิโรธวาร) ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เพราะการเกิดขึ้นของนันทิ ทุกข์ดับเพราะนันทิดับ
5 ปฏิจจสมุปบาท แห่งทุพพลภาวะ ของมนุษย์
6 ปฏิจจสมุปบาท แห่ง มิคสัญญีสัตถันตรกัป
7 ปฏิจจสมุปบาท แห่งการปฏิบัติผิดโดยไตรทวาร
8 ปฏิจจสมุปบาท แห่งการอยู่อย่างมี "เพื่อนสอง"
9 ปฏิจจสมุปบาท แห่งการอยู่อย่างมี "เพื่อนคนเดียว"
10 ปฏิจจสมุปบาท แห่ง การอยู่ด้วยความประมาท
11 ปฏิจจสมุปบาท ที่ยิ่งกว่า ปฏิจจสมุปบาท ( มี ๒๔ อาการ)
12 ปฏิจจสมุปบาท แห่ง อาหารของอวิชชา
13 ปฏิจจสมุปบาท แห่งอาหารของภวตัณหา
14 ทุจริต ๓ บริบูรณ์ ทำให้นิวรณ์ ๕ บริบูรณ์ นิวรณ์ ๕ บริบูรณ์ อวิชชาย่อมบริบูรณ์ อวิชชาบริบูรณ์ ภวตัณหาย่อมบริบูรณ์
15 ปฏิจจสมุปบาท แห่ง อาหารของวิชชาและวิมุตติ
16 ปฏิจจสมุปบาทแห่งวิชชาและวิมุตติ (โดยสังเขป)
17 ปฏิจจสมุปบาท แห่ง ปฏิสรณาการ
18 ปฏิจจสมุปบาท แห่ง สัจจานุโพธ และผลถัดไป
   
 
 


1

หน้า 559
ปฏิจจสมุปบาทที่ตรัสโดยพระพุทธเจ้าวิปัสสี (91กัปที่แล้ว)
(สุดลงเพียงแค่วิญญาณ)


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ครั้งนั้นแล ความปริวิตกแห่งใจ ได้เกิดขึ้นแก่พระวิปัสสี โพธิสัตว์ ผู้เสด็จเข้าประทับ อยู่ในที่หลีกเร้น ทรงหลีกเร้นอยู่อย่างนี้ว่า สัตว์โลกนี้หนอ ถึงทั่วแล้วซึ่งความยากเข็ญ ย่อมเกิด ย่อมแก่ ย่อมตาย ย่อมจุติ และย่อมอุบัติ ก็เมื่อสัตว์โลกไม่รู้จักอุบายเครื่องออกไปพ้นจากทุกข์ คือชรามรณะแล้ว การออก จากทุกข์ คือชรามรณะนี้ จักปรากฏขึ้นได้อย่างไร?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ลำดับนั้นแลความฉงนนี้ได้เกิดขึ้นแก่พระวิปัสสี-โพธิสัตว์นั้นว่า
เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชรามรณะ จึงได้มี
เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ลำดับนั้นแล ความรู้แจ้งอย่างยิ่งด้วยปัญญา เพราะการทำในใจ โดยแยบคาย ได้เกิดขึ้นแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์นั้นว่า 
เพราะชาตินั่นแล มีอยู่ ชรา มรณะ จึงได้มี  

เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ ดังนี้

...เพราะภพนั่นแล มีอยู่ ชาติ จึงได้มี เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ดังนี้
...เพราะอุปาทานนั่นแล มีอยู่ ภพ จึงได้มี  เพราะมีอุปทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ดังนี้
...เพราะตัณหานั่นแล มีอยู่ อุปาทาน จึงได้มี เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน ดังนี้.
.. เพราะเวทนานั่นแล มีอยู่ ตัณหา จึงได้มี เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ดังนี้
...เพราะผัสสะนั่นแล มีอยู่ เวทนา จึงได้มี เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ดังนี้
...เพราะสฬายตนะนั่นแล มีอยู่ ผัสสะ จึงได้มี เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมี
ผัสสะ ดังนี้
...เพราะนามรูปนั่นแล มีอยู่ สฬายตนะ จึงได้มี เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ ดังนี้
.. เพราะวิญญาณนั่นแล มีอยู่ นามรูป จึงได้มี เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมี นามรูป ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ลำดับนั้นแล ความฉงนนี้ได้เกิดขึ้นแก่พระวิปัสสี-โพธิสัตว์นั้นว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ วิญญาณจึงได้มี เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ดังนี้

………………………………………………………………………………….
๑ข้อความตามที่ละ....ไว้นั้น หมายความว่า ได้มีความฉงนเกิดขึ้นทุก ๆ ตอน แล้วทรงทำ ในใจโดยแยบคาย จนความรู้แจ้งเกิดขึ้นทุก ๆ ตอน เป็นลำดับไป จนถึงที่สุด. ในที่นี้ละไว้ โดยนัยที่ ผู้อ่านอาจจะเข้าใจเอาเองได้ เป็นการตัดความรำคาญในการอ่าน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ลำดับนั้นแล ความรู้แจ้งอย่างยิ่งด้วยปัญญา เพราะการทำในใจ โดยแยบคาย ได้เกิดขึ้น แก่ภระวิปัสสีโพธิสัตว์นั้นว่า เพราะนามรูปนั่นแลมีอยู่  วิญญาณจึงได้มี  เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ลำดับนั้นแล ความรู้แจ้งนี้ได้มีแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์นั้นว่า วิญญาณนี้ย่อมเวียนกลับจากนามรูป(ขันธ์5) ย่อมไม่เลยไปอื่น ด้วยเหตุเพียง เท่านี้ สัตว์โลกนี้ พึงเกิดบ้าง พึงแก่บ้าง พึงตายบ้าง พึงจุติบ้าง พึงอุบัติบ้าง.

ข้อนี้ได้แก่การที่
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ.. เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ.. เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา.. เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน.. เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ.. เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข โทมนัส-อุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อม แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น นี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! 
     ดวงตา เกิดขึ้นแล้ว (1)
     ญาณ เกิดขึ้นแล้ว (2)
     ปัญญา เกิดขึ้นแล้ว (3)
     วิชชา เกิดขึ้นแล้ว (4)
     แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้ว
(5) แก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์นั้น ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์ ไม่เคยฟังมาแต่ก่อนว่าความเกิดขึ้นพร้อม(สมุทัย) ความเกิดขึ้นพร้อม(สมุทัย)ดังนี้

...............................................................................................................


2
(ปฏิปักขนัย)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ลำดับนั้นแล ความฉงนนี้ ได้เกิดขึ้นแก่พระวิปัสสี-โพธิสัตว์นั้น ต่อไปว่า
เมื่ออะไรไม่มีหนอ ชรามรณะ จึงไม่มี
เพราะความดับแห่งอะไร จึงมี ความดับแห่งชรามรณะ ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ครั้นนั้นแล ความรู้แจ้งอย่างยิ่งด้วยปัญญา เพราะการทำในใจ โดยแยบคาย ได้เกิดขึ้น แก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์นั้นว่า 
เพราะชาตินั่นแลไม่มี ชรา มรณะ จึงไม่มี 
เพราะความดับแห่งชาติ จึงมี ความดับแห่งชรามรณะ ดังนี้

...เพราะภพนั่นแลไม่มี ชาติจึงไม่มี
เพราะความดับแห่งภพจึงมีความดับแห่งชาติ ดังนี้

...เพราะอุปาทานนั่นแลไม่มี ภพจึงไม่มี
เพราะความดับแห่งอุปทาน จึงมีความดับแห่งภพ ดังนี้

...เพราะตัณหานั่นแลไม่มี อุปาทานจึงไม่มี  เพราะความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน ดังนี้

...เพราะเวทนานั่นแลไม่มี ตัณหาจึงไม่มี  เพราะความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา ดังนี้.

...เพราะผัสสะนั่นแลไม่มี เวทนาจึงไม่มี  เพราะความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา ดังนี้.

...เพราะสฬายตนะนั่นแลไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เพราะความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ ดังนี้.

...เพราะนามรูปนั่นแลไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เพราะความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่ง สฬายตนะ ดังนี้.

...เพราะวิญญาณนั่นแลไม่มี นามรูปจึงไม่มี  เพราะความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ลำดับนั้นแล ความฉงนนี้ได้เกิดขึ้นแก่พระวิปัสสี-โพธิสัตว์นั้นว่า เมื่ออะไระไม่มีหนอ วิญญาณจึงไม่มี เพราะความดับแห่งอะไร จึงมีความดับ แห่งวิญญาณ ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ลำดับนั้นแล ความรู้แจ้งอย่างยิ่งด้วยปัญญา เพราะการทำในใจ โดยแยบคาย ได้เกิดขึ้น แก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์นั้นว่า เพราะนามรูปนั่นแลไม่มี วิญญาณจึงไม่มี  เพราะความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งวิญญาณ ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ลำดับนั้นแล ความรู้แจ้งนี้ได้เกิดขึ้นแก่พระวิปัสสี-โพธิสัตว์นั้น ว่า หนทางเพื่อการ ตรัสรู้นี้อันเราถึงทับแล้วแล ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ

เพราะความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งวิญญาณ
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความ ดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาส ทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! 
     ดวงตา เกิดขึ้นแล้ว
     ญาณ เกิดขึ้นแล้ว
     ปัญญา เกิดขึ้นแล้ว
     วิชชา เกิดขึ้นแล้ว
     แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้ว
แก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์นั้นในธรรมทั้งหลาย ที่พระองค์     ไม่เคยฟังมาแต่ก่อนว่า ความดับไม่เหลือ (นิโรธ) ความดับไม่เหลือ(นิโรธ)ดังนี้



3
หน้า 572

ปฏิจจสมุปบาท (สมุทยวาร) ที่ตรัสอย่างย่อที่สุด
(ตัณหา คือความตั้งขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ จากผัสสายตนะทั้ง6)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็ ความตั้งขึ้นพร้อม (สมุทโย) แห่งกองทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า?

เพราะอาศัยซึ่งจักษุด้วย ซึ่งรูปทั้งหลายด้วย จึงเกิด จักขุวิญญาณ การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ (จักษุ + รูป + จักขุวิญญาณ)นั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา นี้คือ ความตั้งขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์

เพราะอาศัยซึ่งโสตะด้วย ซึ่งเสียงทั้งหลายด้วย จึงเกิด โสตวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ (โสตะ + เสียง + โสตวิญญาณ)นั่นคือ ผัสสะ เพราะมี ผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา  นี้ คือ ความตั้งขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์

เพราะอาศัยซึ่งฆานะด้วย ซึ่งกลิ่นทั้งหลายด้วย จึงเกิด ฆานวิญญาณการประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ (ฆานะ + กลิ่น + ฆานวิญญาณ)นั่นคือ ผัสสะเพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา นี้ คือความตั้งขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์

เพราะอาศัยซึ่งชิวหาด้วย ซึ่งรสทั้งหลายด้วยจึงเกิด ชิวหาวิญญาณ การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ (ชิวหา + รส + ชิวหาวิญญาณ)นั่นคือ ผัสสะเพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา นี้ คือ ความตั้งขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์

เพราะอาศัยซึ่งกายด้วย ซึ่งโผฏฐัพพะทั้งหลายด้วย จึงเกิด กายวิญญาณ การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ ( กาย + โผฏฐัพพะ + กายวิญญาณ)นั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมี เวทนา เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา นี้คือ ความตั้งขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์

เพราะอาศัยซึ่งมโนด้วย ซึ่งธัมมมารมณ์ทั้งหลายด้วย จึงเกิด มโนวิญญาณการประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ (มโน + ธัมมารมณ์ + มโนวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา นี้ คือ ความตั้งขึ้นพร้อม แห่งกองทุกข์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เหล่านี้แล คือความตั้งขึ้นพร้อมแห่งทุกข์



4
หน้า 573
ปฏิจจสมุปบาท (ทั้งสมุทยะและนิโรธวาร) ที่ตรัสอย่างสั้นที่สุด
(ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ มีได้เพราะความเกิดขึ้นแห่ง นันทิ)
(ความดับไปไม่มีเหลือของทุกข์มีได้ เพราะความดับ ไปไม่เหลือของนันทิ)


ดูก่อนปุณณะ! รูปทั้งหลาย ที่เห็นด้วยตา อันเป็นรูปที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นที่ยั่วยวนชวนให้รัก เป็นที่เขาไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด ย้อมใจ มีอยู่ 

ถ้าภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา
ในรูปนั้น ไซร้ เมื่อภิกษุนั้น เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมาในรูปนั้นอยู่ นันทิ (ความเพลิน)ย่อมเกิดขึ้น ดูก่อนปุณณะ! เรากล่าวว่า "ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ มีได้เพราะความเกิดขึ้นแห่ง นันทิ" ดังนี้

ดูก่อนปุณณะ! เสียงทั้งหลายที่ได้ยินด้วยหู ...ฯลฯ... ...ฯลฯ...
ดูก่อนปุณณะ! กลิ่นทั้งหลายที่ดมด้วยจมูก ...ฯลฯ... ...ฯลฯ...
ดูก่อนปุณณะ! รสทั้งหลายที่ลิ้มด้วยลิ้น ...ฯลฯ... ...ฯลฯ...
ดูก่อนปุณณะ! โผฏรัพพะทั้งหลายที่ถูกต้องด้วยกาย ...ฯลฯ... ...ฯลฯ...
ดูก่อนปุณณะ! ธัมมารมณ์ทั้งหลายที่รู้แจ้งด้วยใจ อันเป็นธัมมารมณ์ที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่น่าพอใจ เป็นที่ยั่วยวนชวนให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่

เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญสยบมัวเมาในธัมมารมณ์นั้นไซร้ เมื่อภิกษุนั้น เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมาในธัมมารมณ์นั้นอยู่ นันทิ ย่อมเกิดขึ้น

ดูก่อนปุณณะ! เรากล่าวว่า"ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์มีได้ เพราะความเกิดขึ้นแห่ง นันทิดังนี้.

---- (ปฏิปักขนัย) ----

(ความดับไปไม่มีเหลือของทุกข์มีได้ เพราะความดับ ไปไม่เหลือของนันทิ)

ดูก่อนปุณณะ! รูป ทั้งหลายที่เห็นด้วยตา อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่น่าพอใจ เป็นที่ยั่วยวนชวนให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัดย้อมใจ มีอยู่

ถ้าภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลินไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ในรูปนั้น ไซร้ เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ในรูปนั้นอยู่ นันทิย่อมดับไป

ดูก่อนปุณณะ! เรากล่าวว่า "ความดับไปไม่มีเหลือของทุกข์มีได้ เพราะความดับ ไปไม่เหลือของนันทิดังนี้.

(ในกรณีแห่งเสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี และธัมมารมณ์ก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ มีนัยะ อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูป)



5
หน้า 580

ปฏิจจสมุปบาท
 แห่งทุพพลภาวะ ของมนุษย์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!

สมัยใด ราชา (ผู้ปกครอง) ทั้งหลายไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น ราชยุตต์ (ข้าราชการ) ทั้งหลาย ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม

เมื่อ ราชยุตต์ทั้งหลายไม่ตั้งอยู่ในธรรม พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ก็ไม่ตั้งอยู่ใน ธรรม

เมื่อ พราหมณ์ละคหบดีทั้งหลาย ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองและชาวชนบททั้งหลาย ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม

เมื่อ ชาวเมืองและชาวชนบททั้งหลาย ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ก็มีปริวรรต ไม่สม่ำเสมอ

เมื่อ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ มีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ ดาวนักษัตรและดาวทั้งหลาย ก็มีปริวรรต ไม่สม่ำเสมอ

เมื่อ ดาวนักษัตรและดาวทั้งหลาย มีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ คืนและวัน ก็มีปริวรรตไม่ สม่ำเสมอ

เมื่อ คืนและวัน มีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ เดือนและปักษ์ ก็มีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ

เมื่อ เดือนและปักษ์ มีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปี ก็มีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ

เมื่อ ฤดูและปี มีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ ลม(ทุกชนิด) ก็พัดไปไม่สม่ำเสมอ

เมื่อ ลม (ทุกชนิด)พัดไปไม่สม่ำเสมอ ปัญชสา (ระบบแห่งทิศทางลม อันถูกต้อง) ก็แปรปรวน

เมื่อ ปัญชสา(ทิศทางลม) แปรปรวน เทวดาทั้งหลาย ก็ระส่ำระสาย

เมื่อ เทวดาทั้งหลาย ระส่ำระสาย ฝนก็ตกลงมาอย่างไม่เหมาะสม

เมื่อ ฝนตก ลงมาอย่างไม่เหมาะสม พืชพรรณข้าวทั้งหลาย ก็แก่ และสุกไม่สม่ำเสมอ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เมื่อมนุษย์ทั้งหลาย บริโภคพืชพรรณข้าวทั้งหลาย อันมีความแก่ และ สุก ไม่สม่ำเสมอ ก็กลายเป็นผู้มีอายุสั้น ผิดพรรณทราม ทุพพลภาพ และ มี โรคภัยไข้เจ็บมาก



6
P581

ปฏิจจสมุปบาท
 แห่ง มิคสัญญีสัตถันตรกัป

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
           เมื่อพระราชา* มีการกระทำชนิดที่เป็นไปแต่เพียงเพื่อการคุ้มครองอารักขา แต่มิได้เป็นไปเพื่อการ กระทำให้เกิดทรัพย์ แก่บุคคลผู้ไม่มีทรัพย์ทั้งหลาย ดังนั้นแล้ว ความยากจน ขัดสน ก็เป็นไปอย่างกว้าง ขวางแรงกล้าถึงที่สุด
* (ชนชั้นปกครองในสมัยที่ท่านกล่าวว่ามนุษย์มีอายุขัย ๘ หมื่นปี ซึ่ง ข้อนี้เป็นการคำนวณ เทียบส่วนแห่งความต้องการของกิเลส กับความเป็นอยู่ของ มนุษย์)

           เพราะความยากจนขันสน
เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด อทินนา ทาน(ลักโขมย) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรง กล้าถึงที่สุด

          เพราะอทินนาทาน
เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด การใช้ศัสตราวุธโดยวิธีการต่าง ๆ ก็เป็นไป อย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด

           
เพราะการใช้ศัสตราวุธโดยวิธีการต่าง ๆ เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึง ที่สุด ปาณาติบาต (ซึ่งหมายถึงการฆ่ามนุษย์ด้วยกัน) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้า ถึงที่สุด

           
เพราะปาณาติบาตเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด มุสวาท (การหลอก ลวงคดโกง) ก็เป็นไปอย่าง กว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด (สมัยนี้ มนุษย์มี อายุขัยถอยลงมา เหลือเพียง ๔ หมื่นปี)

          เพราะมุสาวาท
เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด ปิสุณาวาท(การพูดจา ยุแหย่ เพื่อการแตกกันเป็นก๊ก เป็นหมู่ ทำลายความสามัคคี) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด (สมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมา เหลือเพียง ๒ หมื่นปี)

          เพราะปิสุณาวาท
เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด กาเมสุมิจฉาจาร (การทำชู้ การละเมิด ของรัก ของบุคคลอื่น) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้า ถึงที่สุด (สมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัย ถอย ลงมาเหลือเพียง ๑ หมื่นปี)

          เพราะกาเมสุมิจฉาจารเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด ผรุสวาท และ สัมผัปปลาปวาท (การใช้คำหยาบและคำพูดเพ้อเจ้อเพื่อความสำราญ) ก็เป็นไป อย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด (สมัยนี้มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง๕ พันปี)

          เพราะผรุสวาท
 และสัมผัปปลาปวาท เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้า ถึงที่สุด อภิชฌาและพยาบาท (แผนกการกอบโกย และการทำลายล้าง) ก็เป็นไป อย่างกว้าง ขวางแรงกล้าถึงที่สุด (สมัยนี้มนุษย์มีอายุ ขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๒,๕๐๐-๒,๐๐๐ ปี)

          เพราะอภิชฌาและพยาบาท
 เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้า ถึงที่สุด  มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดชนิดเห็น กงจักรเป็นดอกบัว นิยมความชั่ว) ก็เป็นไปอย่าง กว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด (สมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมา เหลือเพียง ๑,๐๐๐ ปี)

          เพราะมิจฉาทิฏฐิ
เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด (อกุศล) ธรรมทั้ง สามคือ อธัมมราคะ (ความยินดีที่ไม่เป็นธรรม) วิสมโลภะ(ความโลภไม่สิ้นสุด) มิจฉา-ธรรม(การประพฤติตามอำนาจกิเลส) ก็เป็นไปอย่าง กว้างขวางแรงกล้า ถึงที่สุด (อย่างไม่แยกกัน) (สมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๕๐๐ ปี)

          เพราะ(อกุศล)ธรรม
 ทั้งสาม...นั้นเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด (อกุศล) ธรรมทั้งหลาย คือ ไม่ปฏิบัติอย่างถูกต้องในมารดา -บิดา -สมณะ -พราหมณ์  และ ไม่มีกุลเชฏธาปจายนธรรม (ความอ่อน น้อมตามฐานะสูงต่ำ) ก็เป็นไปอย่างกว้าง ขวางแรงกล้าถึงที่สุด (สมัยนี้มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือ เพียง ๒๕๐-๒๐๐-๑๐๐ ปี)

            สมัยนั้น จักมีสมัยที่มนุษย์มีอายุขัยลดลงมา เหลือเพียง ๑๐ ปี
(จักมีลักษณะแห่งความเสื่อมเสียมีประการต่าง ๆ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า)
          - หญิงอายุ ๕ ปี ก็มีบุตร
          - รสทั้งห้า คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และ รสเค็ม ก็ไม่ปรากฎ
          - มนุษย์ทั้งหลายกินหญ้า ที่เรียกว่า กุทรุสกะ (ซึ่งนิยมแปลกันว่าหญ้ากับแก้) แทนการกินข้าว
          - กุศลกรรมบถ หายไปไม่มีร่องรอย อกุศลกรรมบถรุ่งเรืองถึงที่สุด ในหมู่มนุษย์ ไม่มีคำพูดว่ากุศล จึงไม่มีการทำกุศล
          - มนุษย์สมัยนั้น จักไม่ยกย่อง สรรเสริญ มัตเตยยธรรม (ความเคารพเกื้อกูล ต่อมารดา) เปตเตยยธรรม (ความเคารพเกื้อกูลต่อบิดา) สามัญญธรรม (ความเคารพ เกื้อกูลต่อสมณะ) พรหมัญญธรรม (ความเคารพ เกื้อกูลต่อชีพราหมณ์) และกุลเชฏฐา ปจายนธรรม เหมือนอย่างที่มนุษย์ยกย่องกันอยู่ใน สมัยนี้ ไม่มีคำพูดว่า แม่น้าชาย น้าหญิง พ่อ อาลุง ป้า ภรรยา ของอาจารย์ และ คำพูดว่า เมียของครู
           - สัตว์โลกจักกระทำการ สัมเภท(สมสู่ สำส่อน) เช่นเดียวกันกับ แพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัขสุนัขจิ้งจอก
          - ความอาฆาตความพยาบาท ความคิดร้ายความคิด ฆ่าเป็นไปอย่างแรงกล้า แม้ในระหว่างมารดา กับบุตร บุตรกับมารดา บิดากับบุตร บุตรกับบิดา พี่กับน้อง น้องกับพี่ ทั้งชายและหญิง เหมือนกับที่นาย พรานมีความรู้สึกต่อเนื้อทั้งหลาย.
             - ในสมัยนั้น จักมี สัตถันตรกัปป์ (การใช้ศัสตราวุธติดต่อกันไม่หยุดหย่อน) ตลอดเวลา ๗ วัน 
           - สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จักมีความสำคัญแก่กันและกันราวกะว่าเนื้อแต่ละคน มีศัสตราวุธในมือ ปลงชีวต ซึ่งกันและกันราวกะว่าฆ่าปลาฆ่าเนื้อ

(มีมนุษย์หลายคน ไม่เข้าร่วมวงสัตถันตรกัปป์ด้วยความกลัว หนีไปซ่อนตัวอยู่ในที่ ที่พอจะซ่อนตัว ได้ ตลอด ๗ วัน แล้วกลับออกมาพบกันและกัน ยินดีสวมกอดกัน กล่าวกะกันและกันในที่นั้น ว่ามีโชคดีที่รอด มาได้ แล้วก็ ตกลงกันในการตั้งต้น ประพฤติธรรม กันใหม่ต่อไป ชีวติมนุษย์ก็ค่อยเจริญขึ้น จาก ๑๐ ปีตามลำดับๆ จนถึง สมัย ๘ หมื่นปี อีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเป็นสมัยแห่งศาสนาของพระพุทธเจ้า มีพระนาม ว่า เมตเตยย สัมมา สัมพุทธะ)



7

หน้า 587
ปฏิจจสมุปบาท
 แห่งการปฏิบัติผิดโดยไตรทวาร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! กามวิตก (ความครุ่นคิดในกาม) เป็นธรรมมีนิทาน(เหตุให้เกิด) ไม่ใช่เป็นธรรมไม่มี นิทาน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ข้อนี้เป็นอย่างไรเล่า?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
เพราะอาศัย กามธาตุ (ธาตุเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกทางกาม) จึงมีการเกิดขึ้นแห่ง กามสัญญา (ความหมายมั่นในกาม)

เพราะอาศัย กามสัญญา
จึงมีการเกิดขึ้นแห่ง กามสังกัปปะ (ความตริตรึกในกาม)

เพราะอาศัย กามสังกัปปะ จึงมีการเกิดขึ้นแห่ง กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)

เพราะอาศัย กามฉันทะ จึงมีการเกิดขึ้นแห่ง กามปริฬาหะ (ความเร่าร้อนเพื่อกาม)

เพราะอาศัย กามปริฬหะ จึงมีการเกิดขึ้นแห่ง กามปริเยสนา (การแสวงหากาม)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ เมื่อแสวงหาอยู่ซึ่งกาม ย่อม ปฏิบัติผิด โดยฐานะสาม คือ โดยกาย โดยวาจา โดยใจ

(ข้อความต่อไปนี้ มีการตรัสถึง พยาปาทวิตก และวิหิงสาวิตก โดยนัยะอย่างเดียวกัน กับ การแสดงนัยะ แห่งกามวิตกนี้)



8
หน้า 598

ปฏิจจสมุปบาท แห่งการอยู่อย่างมี "เพื่อนสอง"

พระมิคชาละ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ด้วยเหตุเพียง เท่าไรหนอภิกษุ จึงชื่อว่าเป็นผู้มีการอยู่ อย่างมีเพื่อนสองพระเจ้าข้า?".

ดูก่อนมิคชาละ รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ เป็นรูปที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ มีรูปน่ารัก เป็นที่ เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัดย้อมใจ มีอยู่ ถ้าหากว่าภิกษุย่อม เพลิดเพลินพร่ำ สรรเสริญ สยบมัวเมาซึ่ง รูปนั้นไซร้ แก่ภิกษุผู้เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญสยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นอยู่นั่นแหละ  นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น. เมื่อนันทิมีอยู่ สาราคะ (ความกำหนัด กล้า) ย่อมมี เมื่อ สาราคะมีอยู่ สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมมี

ดูก่อนมิคชาละ! ภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์- ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า "ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง"

(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหูก็ดี กลิ่นทั้งหลาย อันจะพึงดมด้วย จมูกก็ดี รสทั้งหลาย อันจะพึงลิ้มด้วยลิ้นก็ดี โผฏฐัพพะทั้งหลาย อันจะพึงสัมผัสด้วย ผิวกายก็ดี และธัมมารมณ์ทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้ง ด้วยใจก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ มีนัยอย่างเดียวกันกับ ในกรณีแห่งรูปทั้งหลาย อันจะพึงเห็น ได้ด้วยจักษุ)

ดูก่อนมิคชาละ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะส้องเสพเสนาสนะอันเป็นป่า และป่าชัฏ ซึ่งเงียบ สงัด มีเสียงรบกวนน้อย มีเสียงกึกก้องครึกโครมน้อย ปราศจาก ลมจากผิวกายคน เป็นที่ทำการลับของ มนุษย์ เป็นที่ สมควรแก่การหลีกเร้นเช่นนี้แล้ว ก็ตาม ถึงกระนั้น ภิกษุนั้นเราก็ยังคงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมี เพื่อนสองอยู่ นั่นเอง ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า?

ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ตัณหานั่นแลเป็นเพื่อนสองของภิกษุ นั้น ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ยังละไม่ได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นเราจึงเรียกว่าผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง ดังนี้

มายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า พระพุทธภาษิตนี้แสดงให้เห็น ความหมาย และความ แตกต่างของ ภาษาคน และภาษาธรรม. เพื่อนสองในภาษา ธรรม หมายถึงตัณหาที่กำลังเกิดอยู่ในอาราม นั้น ๆ เป็นเพื่อนสองที่มีความรุนแรง มากกว่าเพื่อนสองในภาษาคน เพราะว่าเข้าไปอยู่ถึงภายในจิต



9

หน้า 599

ปฏิจจสมุปบาท
 แห่งการอยู่อย่างมี "เพื่อนคนเดียว"

พระมิคชาละได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ด้วยเหตุ เพียง เท่าไรหนอ แล ภิกษุจึง ชื่อว่าเป็นผู้มีการอยู่อย่างผู้เดียวพระเจ้าข้า?"

ดูก่อนมิคชาละ รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ เป็นรูปที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ มีรูปน่ารัก เป็นที่ เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย้อมใจ มีอยู่ ถ้าหากว่าภิกษุ ย่อมไม่ เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบ มัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้ แก่ภิกษุผู้ ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูป นั้น อยู่นั่นแหละ นันทิย่อมดับเมื่อนันทิ ไม่มีอยู่ สาราคะ  (ความกำหนัดกล้า) ย่อมไม่มี เมื่อสาราคะไม่มีอยู่ สัญโญคะ (ความผูกจิต ติดกับอารมณ์) ย่อมไม่มี

ดูก่อนมิคชาละ! ภิกษุผู้ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ ด้วยอำนาจ แห่งความ เพลิดเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า "ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว"

(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหูก็ดี กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดม ด้วยจมูกก็ดี รสทั้งหลาย อันจะพึงลิ้มด้วยลิ้นก็ดี โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัส ด้วยผิวกายก็ดี และธัมมารมณ์ทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้ง ด้วยใจก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ มีนัยอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูป ทั้งหลาย อันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ)

ดูก่อนมิคชาละ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้อยู่ในหมู่บ้านอันเกลื่อนกล่น ไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ด้วยพระราชามหาอำมาตย์ ของ พระราชาทั้งหลาย ด้วยเดียรถีย์ สาวกของ เดียรถีย์ทั้งหลายก็ตาม ถึงกระนั้น ภิกษุนั้น เราก็เรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียวโดยแท้.

ข้อนั้นเพราะเหตุ ไรเล่า? ข้อนั้นเพราะเหตุว่าตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุ นั้น ตัณหานั้นอันภิกษุนั้นละเสียได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นเรา จึงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว ดังนี้ แล.



10
หน้า 600
ปฏิจจสมุปบาท แห่ง การอยู่ด้วยความประมาท

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เราจักแสดงซึ่งอาการของภิกษุ ผู้มีปรกติอยู่ด้วยความประมาท และของภิกษุ ผู้มีปรกติอยู่ ด้วยความไม่ประมาท แก่พวกเธอทั้งหลาย. พวกเธอ ทั้งหลายจงฟังซึ่งความข้อนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุเป็น ผู้มีปรกติอยู่ด้วยความประมาท เป็นอย่างไรเล่า?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เมื่อภิกษุ ไม่สำรวมระวัง ซึ่งอินทรีย์คือตาอยู่  จิตย่อม เกลือกกลั้ว ในรูปทั้งหลาย อันเป็นวิสัยแห่งการรู้สึกด้วยตา

เมื่อภิกษุนั้น มีจิตเกลือกกลั้วแล้ว ปราโมทย์ย่อมไม่มี
เมื่อ ปราโมทย์ไม่มี ปีติก็ไม่มี
เมื่อ ปีติไม่มี ปัสสัทธิ(สงบจากกิเลส)ก็ไม่มี
เมื่อ ปัสสัทธิไม่มี ภิกษุนั้นย่อม อยู่เป็นทุกข์
เมื่อ มีทุกข์ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น
เมื่อ จิตไม่ตั้งมั่น ธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏ
เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ ภิกษุนั้นย่อมถึงซึ่งการถูกนับว่าเป็นผู้ มีปรกติอยู่ ด้วยความประมาทโดยแท้.

(ในกรณีแห่งอินทรีย์ คือ หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็มีนัยะอย่างเดียวกัน)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีปรกติอยู่ด้วยความประมาท

(ในกรณีแห่งภิกษุผู้มี ปรกติอยู่ด้วยความไม่ประมาทได้ทรงแสดงไว้โดยปฏิปักขนัย ผู้ศึกษาพึงเทียบ เคียงเอาเอง).

หมายเหตุผู้รวบรวม : 
ผู้ศึกษาพึงสังเกตุให้เห็นว่า สูตรนี้ เป็นตัวอย่างที่แสดง ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทนั้น มีอยู่ในรูปต่าง ๆ กัน ไม่จำเป็นจะต้องขึ้นต้น ด้วยคำว่า "อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา... ฯลฯ..." เสมอไป



11

หน้า 615
ปฏิจจสมุปบาท
  ที่ยิ่งกว่า ปฏิจจสมุปบาท ( มี ๒๔ อาการ)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย สำหรับบุคคล ผู้รู้อยู่เห็นอยู่ มิใช่สำหรับบุคคลผู้ไม่รู้อยู่ ไม่เห็นอยู่

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีแก่บุคคลผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ ซึ่งอะไรเล่า?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีแก่บุคคลผู้รู้อยู่เห็นอยู่ว่า 

"รูป คืออย่างนี้ ๆ
เหตุให้เกิดรูป คืออย่างนี้ ๆ
ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งรูปคืออย่างนี้ ๆ

และว่า "เวทนา คืออย่างนี้ ๆ
เหตุให้เกิดเวทนา คืออย่างนี้ ๆ
ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งเวทนา คืออย่างนี้ ๆ

และว่า "สัญญาคืออย่างนี้ ๆ
เหตุให้เกิดสัญญา คืออย่างนี้ ๆ
ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งสัญญา คืออย่างนี้ ๆ

และว่า "สังขารทั้งหลาย คืออย่างนี้ ๆ
เหตุให้เกิดสังขารทั้งหลาย คืออย่างนี้ ๆ
ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งสังขารทั้งหลาย คืออย่างนี้ ๆ

และว่า "วิญญาณคืออย่างนี้ ๆ
เหตุให้เกิดวิญญาณคืออย่างนี้ ๆ
ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งวิญญาณ คืออย่างนี้ ๆ ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมีแก่บุคคลผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ๆ แล

(๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เมื่อ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย มีอยู่ ญาณ ในความสิ้นไปแห่งอาสวะ นั้นย่อมมี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวญาณ แม้นั้นว่า เป็นญาณมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่ไม่มีที่เข้าไป ตั้งอาศัยไม่

(๒) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่าเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของญาณ ในความ สิ้นไป? คำตอบพึงมีว่า "วิมุตติ คือ ธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของญาณ ในความ สิ้นไป". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้วิมุตติ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่

(๓) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่าเป็นที่เข้าไปอาศัยของวิมุตติ? คำตอบพึงมี ว่า "วิราคะ คือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของวิมุตติ". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าว ว่า แม้วิราคะ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไป ตั้งอาศัยไม่

(๔) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่าเป็นที่เข้าไปอาศัยของวิราคะคำตอบ พึงมีว่า "นิพพิทาคือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของวิราคะ". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้นิพพิทา ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้ง อาศัยไม่

(๕) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่าเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของนิพพิทา? คำตอบ พิงมีว่า "ยถาภูต ญาณทัสสทะคือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของนิพพิทา" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้ยถาภูต ทัสสนะ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่

(๖) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่าเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของยถาตภูตญาณ-ทัสสนะ? คำตอบ พึงมีว่า "สมาธิคือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของ ยถาภูตญาณ ทัสสนะ" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่าแม้สมาธิ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่

(๗) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่าเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสมาธิ? คำตอบ พึงมีว่า "สุขคือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสมาธิ" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าว ว่า แม้สุข ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่

(๘) ดูก่อนภิกษุทั้งหลายก็อะไรเล่าเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสุข? คำตอบ พึงมีว่า "ปัสสัทธิคือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสุข". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้ปัสสัทธิ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้ง อาศัยไม่

(๙) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่าเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปัสสัทธิ? คำตอบ พึงมีว่า "ปีติคือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปัสสัทธิ" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรา กล่าวว่าแม้ปีติก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่

(๑๐) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่าเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปีติ? คำตอบ พึงมีว่า"ปราโมทย์คือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปีติ".ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้ปราโมทย์ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้ง อาศัยไม่

(๑๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลายก็อะไรเล่าเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปราโมทย์?คำตอบพึงมีว่า"สัทธาคือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของปราโมทย์". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้สัทธา ก็เป็นธรรมมีที่ เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็น ธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่

(๑๒) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่าเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสัทธา? คำตอบ พึงมีว่า "ทุกข์คือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสัทธา". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้ทุกข์ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้ง อาศัยไม่

(๑๓) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของทุกข์? คำตอบ พึงมีว่า "ชาติ คือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของทุกข์". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้ชาติ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้ง อาศัยไม่

(๑๔) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของชาติ? คำตอบ พึงมีว่า "ภพ คือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของชาติ". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้ภพ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้ง อาศัยไม่.
(๑๕) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของภพ? คำตอบ พึงมีว่า "อุปาทาน คือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของภพ". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้อุปาทาน ก็ เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้ง อาศัยไม่

(๑๖) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของอุปาทาน? คำตอบ พึงมีว่า"ตัณหา คือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของอุปาทาน". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้ตัณหา ก็เป็นธรรมมีที่ เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่

(๑๗) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของตัณหา? คำตอบ พึงมีว่า "เวทนา คือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของตัณหา". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!เรากล่าวว่า แม้เวทนาก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็น ธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่

(๑๘) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของเวทนา? คำตอบ พึงมีว่า "ผัสสะ คือธรรม เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของเวทนา". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้ผัสสะ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้ง อาศัยไม่

(๑๙) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของผัสสะ? คำตอบ พึงมีว่า "สฬายตนะ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของผัสสะ". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้สฬายตนะ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไป ตั้งอาศัยไม่

(๒๐) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสฬายตนะ? คำตอบ พึงมีว่า "นามรูป คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสฬายตนะ". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้นามรูป ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้ง อาศัยไม่

(๒๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของนามรูป?คำตอบ พึงมีว่า "วิญญาณ คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของนามรูป". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้วิญญาณ ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้ง อาศัยไม่

(๒๒) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของวิญญาณ? คำตอบ พึงมีว่า "สังขาร ทั้งหลาย คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของวิญญาณ". ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้สังขารทั้งหลาย ก็เป็นธรรมมีที่เข้าไปตั้งอาศัย หาใช่เป็นธรรมไม่มีที่เข้าไปตั้งอาศัยไม่.

(๒๓) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อะไรเล่า เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของสังขาร? ดูก่อนภิกษทั้งหลาย คำตอบ พึงมีว่า "อวิชชา คือธรรมเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยของ สังขาร ทั้งหลาย"


[เมื่อนับความสิ้นอาสวะเข้าด้วย ก็เป็น ๒๔ พอดี ]

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้แล

สังขารทั้งหลาย ชื่อว่ามี อวิชชา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
วิญญาณ ชื่อว่ามี สังขาร เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
นามรูป ชื่อว่ามี วิญญาณ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
สฬายตนะ ชื่อว่ามี นามรูป เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ผัสสะ ชื่อว่ามี สฬายตนะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
เวทนา ชื่อว่ามี ผัสสะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ตัณหา ชื่อว่ามี เวทนา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
อุปาทาน ชื่อว่ามี ตัณหา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ภพ ชื่อว่ามี อุปาทาน เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ชาติ ชื่อว่ามี ภพ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ทุกข์ ชื่อว่ามี ชาติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย

สัทธา ชื่อว่ามี ทุกข์ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ปราโมทย์ ชื่อว่ามี สัทธา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ปีติ ชื่อว่ามี ปราโมทย์ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ปัสสทธิ ชื่อว่ามี ปีติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย

สุข ชื่อว่ามี ปัสสัทธิ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
สมาธิ ชื่อว่า มีสุข เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ยถาภูตญาณทัสสนะ ชื่อว่ามี สมาธิ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
นิพพิทา ชื่อว่า มี ยถาภูตญาณทัสสนะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย

วิราคะ ชื่อว่ามี นิพพิทา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
วิมุตติ ชื่อว่ามี วิราคะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ญาณในความสิ้นไป ชื่อว่า วิมุตติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนเมื่อฝนหนัก ๆ ตกลงบนภูเขา น้ำฝนนั้นไหลไป ตามที่ลุ่ม ย่อมทำซอกเขา ซอกผา และลำห้วยทั้งหลายให้เต็ม ครั้นซอกเขา

ซอกผา และลำห้วยทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำบึงน้อยทั้งหลายให้เต็ม
บึงน้อยทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำบึง ใหญ่ทั้งหลายให้เต็ม
บึงใหญ่ทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำแม่น้ำน้อยทั้งหลายให้เต็ม
แม่น้ำน้อยทั้งหลายเต็ม แล้ว ย่อมทำแม่น้ำใหญ่ทั้งหลายให้เต็ม
แม่น้ำใหญ่ทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำมหาสมุทรให้เต็ม นี้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ข้อนี้ก็ฉันเดียวกันนั้นแล คือ
สังขารทั้งหลาย ชื่อว่ามี อวิชชา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
วิญญาณ ชื่อว่ามี สังขาร เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
นามรูป ชื่อว่ามี วิญญาณ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
สฬายตนะ ชื่อว่ามี นามรูป เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ผัสสะ ชื่อว่ามี สฬายตนะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
เวทนา ชื่อว่ามี ผัสสะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ตัณหา ชื่อว่ามี สฬายตนะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
อุปาทาน ชื่อว่ามี ตัณหา เข้าไปตั้งอาศัย
ภพ ชื่อว่ามี อุปาทาน เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ชาติ ชื่อว่ามี ภพ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ทุกข์ ชื่อว่ามี ชาติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย

สัทธา ชื่อว่ามี ทุกข์ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ปราโมทย์ชื่อว่ามี สัทธา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ปีติ ชื่อว่ามี ปราโมทย์ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ปัสสัทธิ ชื่อว่ามี ปีติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
สุข ชื่อว่ามี ปัสสัทธิ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
สมาธิ ชื่อว่ามี สุข เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ยถาภูตญาณทัสสนะ ชื่อว่ามี สมาธ ิเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
นิพพิทา ชื่อว่ามี ยถาภูตญาณสัททนะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
วิราคะ ชื่อว่ามี นิพพิทา เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
วิมุตติ ชื่อว่ามี วิราคะ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
ญาณในความสิ้นไป ชื่อว่า มีวิมุตติ เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย ดังนี้ แล


12

หน้า 622
ปฏิจจสมุปบาท
 แห่ง อาหารของอวิชชา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ที่สุดในเบื้องต้นของอวิชชา ย่อมไม่ปรากฏ ก่อนแต่นี้ อวิชชามิได้มี แต่ว่า อวิชชาเพิ่งมีต่อภายหลัง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!คำกล่าวอย่างนี้แหละ เป็นคำที่ใครๆควรกล่าว และควรกล่าว ด้วยว่า  "อวิชชาย่อม ปรากฏเพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้อวิชชานั้น ก็เป็นธรรมชาติมีอาหารหาใช่เป็น ธรรมชาติที่ไม่มี อาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของอวิชชา? คำตอบพึงมีว่า  "นิวรณ์ทั้งหลาย  ประการเป็นอาหารของอวิชชา" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้นิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการ ก็เป็นธรรมชาติ มีอาหารหาใช่เป็น ธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของนิวรณ์ ทั้งหลาย ๕ ประการ? คำตอบพึงมีว่า "ทุจริตทั้งหลาย  ประการ" ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้ทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการ ก็เป็นธรรมชาติ มีอาหาร หาใช่เป็น ธรรมชาติ ที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของทุจริต ทั้งหลาย ๓ ประการ? คำตอบพึงมีว่า "การไม่สำรวมอินทรีย์" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้การไม่สำรวมอินทรีย์ ก็เป็นธรรมชาติอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติ ที่ไม่มีอาหาไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของการไม่สำรวม อินทรีย์ ? คำตอบพึงมีว่า "ความเป็นผู้ไม่มีสติ สัมปชัญญะ" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้ความเป็นผู้ไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็เป็นธรรมชาติ มีอาหาร หาใช่ เป็นธรรมชาติ ที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของความ เป็นผู้ ไม่มีสติ สัมปชัญญะ? คำตอบพึงมีว่า "อโยนิโสมนสิการ" ดังนี้.

คำว่า วุจฺจติ คำนี้ เคยแปลกันแต่ว่า อันตถาคตย่อมกล่าว กันจนเป็นธรรมเนียม ไปเสีย ในที่นี้ พิจารณาดูแล้ว เห็นได้ว่าควรจะแปลว่าใคร ๆ ทุกคนที่เป็นผู้รู้ รวมทั้ง พระองค์เองด้วยควรจะกล่าว หาใช่เป็นการผูกขาด เฉพาะไว้แต่พระองค์ผู้เดียวไม่.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้อโยนิโสมนสิการ ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติ ที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของอโยนิโสมนสิการ? คำตอบพึงมีว่า "ความไม่มีสัทธา" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้ความไม่มีสัทธา ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติ ที่ไม่มี อาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของความไม่มีสัทธา? คำตอบพึงมีว่า  "การไม่ได้ฟัง พระสัทธรรม" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าว่า ถึงแม้การไม่ได้ฟังพระสัทธรรม ก็เป็นธรรมชาติ มีอาหาร หาใช่เป็น ธรรมชาติ ที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของการไม่ได้ ฟังพระสัทธรรม? คำตอบพึง มีว่า "การไม่คบสัตบุรุษ" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ด้วยอาการอย่างนี้แล ที่ เมื่อ
๑) การไม่คบสัตบุรุษ เป็นไปบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำการไม่ได้ฟังพระสัทธรรมให้บริบูรณ์ 
๒) การไม่ได้ฟังพระสัทธรรมบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำความไม่มีสัทธาให้บริบูรณ์
๓) ความไม่มีสัทธาบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำอโยนิโสมนสิการให้บริบูรณ์
๔) อโยนิโสมนสิการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำความเป็นผู้ไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์
๕) ความเป็นผู้ไม่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์
๖) การไม่สำรวมอินทรีย์บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการให้บริบูรณ์
๗) ทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำนิวรณ์ทั้งหลาย ๕ประการให้บริบูรณ์
๘) นิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำอวิชชาให้บริบูรณ์.


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อาหารแห่งอวิชชานี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ และ บริบูรณ์แล้ว ด้วยอาการอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
(อุปมาเหมือนการเอ่อล้นของน้ำที่ไหลลงมาจากเขา จนถึงสมุทร)

..เปรียบเหมือนเมื่อฝนหนักๆ ตกลงบนภูเขา น้ำฝนนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมทำซอก เขาซอกผา และลำห้วยทั้งหลายให้เต็ม
..ครั้นซอกเขาซอกผา และลำห้วยทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำบึงน้อยทั้งหลายให้เต็ม
..บึงน้อยทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำบึงใหญ่ทั้งหลายให้เต็ม
..บึงใหญ่ทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อม ทำแม่น้ำน้อยทั้งหลายให้เต็ม
..แม่น้ำน้อยทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำแม่น้ำใหญ่ ทั้งหลายให้เต็ม
..แม่น้ำใหญ่ทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำมหาสมุทรสาครให้เต็ม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อาหารแห่งมหาสมุทรสาครนั้น ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ และเต็มแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ นี้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ข้อนี้ก็ฉันนั้น กล่าวคือ
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
.. การไม่คบสัตบุรุษเป็นไปบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำการไม่ได้ฟังพระสัทธรรมให้บริบูรณ์
.. การไม่ได้ฟังพระสัทธรรมบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำความไม่มีสัทธาให้บริบูรณ์
.. ความไม่มีสัทธาบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำอโยนิโสมนสิการให้บริบูรณ์
.. อโยนิโสมนสิการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำความเป็นผู้ไม่มีสติ สัมปชัญญะให้บริบูรณ์
.. ความเป็นผู้ไม่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์
.. การไม่สำรวมอินทรีย์ บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำทุจริตทั้งหลาย๓ ประการให้บริบูรณ์
.. ทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำนิวรณ์ทั้งหลาย๕ ประการให้บริบูรณ์
.. นิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำอวิชชาให้บริบูรณ์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อาหารแห่งอวิชชานี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ และ บริบูรณ์ ด้วยอาการอย่างนี้.


.................................................................................
หมายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า ข้อความทั้งหมดนี้ ก็มีลักษณะ แห่ง อิทัปปัจจยตา คือเป็น การแห่งกระแสปฏิจจสมุปบาทของอวิชชาโดยตรง เกิดแก่ อวิชชา ก่อนหน้าแต่ อวิชชา จะทำหน้าที่ปรุงแต่งปฏิจจสมุปบาทสายที่เป็น ใหญ่ เป็นประธาน ของการเกิดแห่ง กองทุกข์.



13

หน้า 626
ปฏิจจสมุปบาท แห่งอาหารของภวตัณหา


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ที่สุดในเบื้องต้นของภวตัณหา ย่อมไม่ปรากฏ ก่อนแต่นี้ ภวตัณหามิได้มี แต่ว่า ภวตัณหาเพิ่มมีต่อภายหลัง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! คำกล่าวอย่างนี้แหละเป็นคำที่ใครๆ ควรกล่าวและควรกล่าวด้วยว่า  "ภวตัณหา ย่อมปรากฏ เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย" ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้ภวตัณหานั้น ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่ เป็นธรรมชาติ ที่ไม่มี อาหารไม่. ก็อะไรเล่าเป็นอาหารของภวตัณหา? คำตอบพึงมีว่า "
อวิชชา เป็นอาหารของ ภวตัณหาดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้อวิชชา ก็เป็นธรรมชาติมีอาหารหาใช่ เป็น ธรรมชาติที่ไม่มี อาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของอวิชชา? คำตอบพึงมีว่า  "นิวรณ์ทั้งหลาย  ประการ 
เป็นอาหารของอวิชชา" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้นิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการ ก็เป็นธรรมชาติมี อาหาร หาใช่เป็น ธรรมชาติ ที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของนิวรณ์ ทั้งหลาย ๕ ประการ? คำตอบพึงมีว่า "
ทุจริตทั้งหลาย  ประการ(เป็นอาหารของ นิวรณ์๕) ดังนี้.

(คำต่อไปนี้เหมือนกับข้อความในหัวข้อว่า "ปฏิจจสมุปบาทแห่งอาหารของอวิชชา "คือหัวข้อที่แล้ว มาตั้งแต่ คำว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้ทุจริต ทั้งหลาย ๓ ประการ ก็เป็นธรรมชาติ มีอาหาร" ...ไปจน กระทั่งถึงคำว่า... "การไม่ สำรวมอินทรีย์บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการให้บริบูรณ์" เป็นข้อความ ๒๙ บรรทัด ผู้ศึกษาพึงเติมเอาเองให้เต็ม)

(ภวตัณหา คือ ความอยากในภพ อยากมี อยากเป็น)



14

หน้า 627


ทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการบริบูรณ์แล้ว
ย่อมทำนิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการให้บริบูรณ์

นิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำอวิชชาให้บริบูรณ์
อวิชชาบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำภวตัณหาให้บริบูรณ์.


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อาหารแห่งภวตัณหานี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ และบริบูรณ์ แล้ว ด้วยอาการอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนเมื่อฝนหนัก ๆ ตกลงบนภูเขา น้ำฝนนั้นไหลไป ตามที่ลุ่ม ย่อมทำ ซอกเขา ซอกผา และลำห้วยทั้งหลายให้เต็ม ครั้นซอกเขา ซอกผา และลำห้วย ทั้งหลาย เต็มแล้ว (ข้อความต่อไปนี้เหมือนกับข้อความที่เป็นอุปมาในหัว ข้อว่า "ปฏิจจฯ แห่งอาหารของอวิชชา" จนกระทั่งถึง คำว่า ...."ทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการบริบูรณ์ แล้ว ย่อมทำนิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการให้บริบูรณ์")
นิวรณ์ ทั้งหลาย ๕ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำอวิชชาให้บริบูรณ์ อวิชชาบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำภวตัณหา ให้บริบูรณ์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อาหารแห่งภวตัณหานี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ และ บริบูรณ์แล้ว ด้วยอาการอย่างนี้



15
หน้า 628
ปฏิจจสมุปบาท
 แห่ง อาหารของวิชชาและวิมุตติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า แม้วิชชา และวิมุตติ ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติ ที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ? คำตอบพึงมีว่า "โพชฌงค์ทั้งหลาย  ประการ" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้โพชฌงค์ทั้งหลาย ๗ ประการก็เป็นธรรมชาติ มีอาหาร หาใช่ เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ? คำตอบพึงมีว่า "สติปัฏฐานทั้งหลาย  ประการ"ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้สติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการ ก็เป็นธรรมชาติ มีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของสติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการ? คำตอบพึงมีว่า "สุจริตทั้งหลาย  ประการ" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้สุจริตทั้งหลาย ๓ ประการ ก็เป็นธรรมชาติ มีอาหารหาใช่เป็น ธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของสุจริต ทั้งหลาย ๓ ประการ? คำตอบพึงมีว่า "การสำรวมอินทรีย์" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้การสำรวมอินทรีย์ ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติ ที่ไม่มี อาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์? คำตอบพึงมีว่า "ความเป็นผู้สีสติสัมปชัญญะ" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้ความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ก็เป็นธรรมชาติ มีอาหาร หาใช่เป็น ธรรมชาติ ที่ไม่มี อาหาไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของความเป็นผู้ มีสติสัมปชัญญะ? คำตอบพึงมีว่า "โยนิโสมนสิการ" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้โยนิโสมนสิการ ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่ เป็น ธรรมชาติ ที่ไม่มี อาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของโยนิโสมนสิการ? คำตอบ พึงมีว่า "สัทธา" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่า ถึงแม้สัทธา ก็เป็นธรรมชาติมีอาหารหาใช่เป็น ธรรมชาติที่ไม่มี อาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของสัทธา? คำตอบพึงมีว่า "การได้ฟังพระสัทธรรม" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ถึงแม้การได้ฟังพระสัทธรรม ก็เป็นธรรมชาติมีอาหารหาใช่เป็น ธรรมชาติที่ไม่มี อาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของการได้ฟัง พระสัทธรรม? คำตอบพึงมีว่า "การคบสัปบุรุษ" ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ด้วยอาการอย่างนี้แล
- ที่เมื่อการคบสัปบุรุษเป็นไปบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำการได้ฟังพระสัทธรรมให้บริบูรณ์
- การได้ฟังพระสัทธรรมบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำสัทธาให้บริบูรณ์
- สัทธาบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำโยนิโสมนสิการให้บริบูรณ์
- โยนิโสมนสิการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์
- ความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์
- การสำรวมอินทรีย์บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำสุจริตทั้งหลาย ๓ ประการให้บริบูรณ์
- สุจริตทั้งหลาย๓ ประการบริบูรณ์แล้วย่อมทำสติปัฏฐานทั้งหลาย๔ ประการให้บริบูรณ์
- สติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการบริบูรณ์แล้วย่อมทำโพชฌงค์ทั้งหลาย๗ ประการให้ บริบูรณ์
- โพชฌงค์ทั้งหลาย ๗ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อาหารแห่งวิชชา และวิมุตตินี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ และบริบูรณ์แล้ว ด้วยอาการอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนเมื่อฝนหนัก ๆ ตกลงบนภูเขา น้ำฝนนั้นไหลไป ตามที่ลุ่ม ย่อมทำซอกเขา ซอกผา และลำห้วยทั้งหลายให้เต็ม ครั้นซอกเขาซอกผา และลำห้วยทั้งหลาย เต็มแล้ว ย่อมทำบึงน้อย ทั้งหลายให้เต็ม บึงน้อยทั้งหลาย เต็มแล้ว ย่อมทำบึงใหญ่ทั้งหลายให้เต็ม บึงใหญ่ทั้งหลายเต็มแล้วย่อมทำ แม่น้ำน้อย ทั้งหลายให้เต็ม แม่น้ำน้อยทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำแม่น้ำใหญ่ทั้งหลายให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ทั้งหลาย เต็มแล้ว ย่อมทำมหาสมุทรสาครให้เต็ม.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อาหารแห่งมหาสมุทรสาครนั้น ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ และเต็มแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ นี้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ข้อนี้ก็ฉันนั้น กล่าวคือ
- การคบสัปบุรุษ บริบูรณ์แล้วย่อมทำการได้ฟังพระสัทธรรมให้บริบูรณ์
- การได้ฟังพระสัทธรรมบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำ สัทธาให้บริบูรณ์  
- สัทธาบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำโยนิโสมนสิการให้บริบูรณ์
- โยนิโสมนสิการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์
- ความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์
- การสำรวมอินทรีย์บริบูรณ์แล้วย่อมทำสุจริตทั้งหลาย ๓ ประการให้บริบูรณ์
- สุจริตทั้งหลาย ๓ ประการบริบูรณ์แล้วย่อมทำสติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการให้ บริบูรณ์
- สติปัฏฐานทั้งหลาย ๔ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งหลาย ๗ ประการให้ บริบูรณ์
- โพชฌงค์ทั้งหลาย๗ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!อาหารแห่ง วิชชา และ วิมุตต นี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ และบริบูรณ์แล้วด้วย อาการอย่างนี้ ดังนี้ แล



16

หน้า 631
ปฏิจจสมุปบาทแห่งวิชชาและวิมุตติ(โดยสังเขป)


กุณฑลิยปริพพาชก ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ข้าพเจ้าเป็นผู้ชอบเที่ยวไป ตามหมู่บริษัทในอารามต่างๆ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! เมื่อข้าพเจ้าเสร็จภัตตกิจในเวลาเช้าแล้ว หลังจากเวลาแห่งภัตแล้ว กิจเป็นประจำวัน ของข้าพเจ้า คือ เที่ยวไปจากอารามนั้นสู่อารามนี้จาก อุทยานนั้นสู่อุทยานนี้.

ในที่นั้น ข้าพเจ้าได้เห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่งๆ เป็นผู้มีการเปลื้องวาทะ แก่กันและ กันว่า อย่างนี้ ๆ เป็นเครื่องสนุกสนานชอบใจ (อานิสงส์) ก็มี มีการติเตียนกัน เมื่อ กล่าวกถา นั้น ๆ อยู่ เป็นเครื่อง สนุกสนานชอบใจก็มี ก็พระสมณะโคดมเล่า เป็นผู้อยู่ ด้วยการ มีอะไรเป็นเครื่อง สนุกสนาน ชอบใจ? "

ดูก่อนกุณฑลิยะ! ตถาคตอยู่ด้วยการมีผลแห่งวิชชา และวิมุตติเป็นเครื่อง สนุกสนานชอบใจ

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำ วิชชา และ วิมุตติให้บริบูรณ์?" ดูก่อนกุณฑลิยะ! โพชฌงค์ประการ แล....

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ ๗ประการ ให้บริบูรณ์?" ดูก่อนกุณฑลิยะ! สติปัฏฐาน ๔ ประการแล....

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมเหล่าไหนเล่าที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน ๔ประการ ให้บริบูรณ์?"
ดูก่อนกุณฑลิยะ! สุจริต ๓ ประการ แล....

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำสุจริต ๓ประการ ให้บริบูรณ์?"
ดูก่อนกุณฑลิยะ! อินทรีย์สังวรแล ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมทำสุจริต ๓ ประการให้ บริบูรณ์.

ดูก่อนกุณฑลิยะ! อินทรีย์สังวรที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงจะทำสุจริต ๓ ประการให้บริบูรณ์?

ดูก่อนกุณฑลยะ! ภิกษุในกรณีนี้ เห็นรูปที่น่าพอใจด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่เพ่งเล็ง ด้วยความโลภ ไม่หวังจะเอามาทะนุถนอม ไม่ทำราคะให้เกิดขึ้น กายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว ในภายใน.

อนึ่งเธอ เห็นรูปที่ไม่น่าพอใจด้วยจักษุแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่เงอะงะ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วย โทสะ มีใจอันความ โกรธไม่ครอบงำแล้ว มีจิตไม่มาดร้ายแล้ว กายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ ตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว ในภายใน. (ในกรณีแห่งเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็ตรัสไว้มีนัยเดียวกัน).

ดูก่อนกุณฑลิยะ! เพราะเหตุที่ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว เป็นผู้คงที่ มีจิตอันกิเลสไม่ ครอบงำแล้วไม่มี จิตถึงความผิดปรกติแล้ว ในรูปทั้งหลายทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่า พอใจ กายของเธอจึงคงที่ จิตของ เธอจึงคงที่ เป็นจิตตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้วใน ภายใน (ในกรณีแห่งเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็ตรัสไว้มีนัยเดียวกัน)

ดูก่อนกุณฑลิยะ! อินทรียสังวร อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงจะทำสุจริต ๓ ประการให้บริบูรณ์.

ดูก่อนกุณฑลิยะ! สุจริต ประการ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร เล่า จึงจะทำ สติปัฏฐาน ๔ ประการให้บริบูรณ์?

ดูก่อนกุณฑลิยะ! ภิกษุในกรณีนี้
(๑) ย่อมเจริญกายสุจริต เพื่อละกายทุจริต
(๒) ย่อมเจริญวจีสุจริต เพื่อละวจีทุจริต
(๓) ย่อมเจริญมโนสุจริต เพื่อละมโนทุจริต

ดูก่อนกุณฑลิยะ! สุจริต๓ ประการ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล จึงจะทำ สติปัฏฐาน๔ ประการให้บริบูรณ์

ดูก่อนกุณฑลิยะ! สติปัฏฐานประการ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่าจึงจะทำ โพชฌงค์ ๗ ประการให้บริบูรณ์ ?

ดูก่อนกุณฑลิยะ! ภิกษุในกรณีนี้  
(๑) ย่อมเป็นผู้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมป ชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้
(๒) ย่อมเป็นผู้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ...ฯลฯ...
(๓) ย่อมเป็นผู้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ...ฯลฯ...
(๔) ย่อมเป็นผู้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียร เผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.

ดูก่อนกุณฑลิยะ! สติปัฏฐาน ๔ ประการ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล จึงจะทำโพชฌงค์ ๗ ประการให้บริบูรณ์

ดูก่อนกุณฑลิยะ! โพชฌงค์ประการ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่า จึงจะทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์?

ดูก่อนกุณทลิยะ! ภิกษุในกรณีนี้
(๑) ย่อม เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธะน้อมไปเพื่อ ความปล่อยวาง
(๒) ย่อม เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์...ฯลฯ...
(๓) ย่อม เจริญวิริยสัมโพชฌงค์...ฯลฯ...
(๔) ย่อม เจริญปีติสัมโพชฌงค์...ฯลฯ...
(๕) ย่อม เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์...ฯลฯ...
(๖) ย่อม เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์...ฯลฯ...
(๗) ย่อม เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธะ น้อมไปเพื่อความปล่อยวาง.

ดูก่อนกุณฑลิยะ! โพชฌงค์ ๗ ประการ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำไปมากแล้ว อย่างนี้แล จึงจะทำ วิชชา และ วิมุตติให้บริบูรณ์.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้แล้ว กุณฑลิยปริพพาชก ยกย่องชมเชยในพระธรรม เทศนาแล้ว แสดงตนเป็นอุบาสก รับนับถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ จนตลอดชีวิต.
……………………………………………………………………………………………..

หมายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทสายนี้ เป็นการแสดงโดย สังเขป เพียง ไม่กี่อาการ มีลำดับคืออินทรีย์สังวร สุจริต ๓ สติปัฏฐาน ๔โพชฌงค์ ๗ และ วิชชาวิมุตติ ถึง กระนั้นก็พึงทราบว่า อาจจะขยายออกให้มีมากครบทุกประการ ดังที่ได้แสดง ไว้แล้ว ในหัวข้อเรื่องที่ แล้วมา.



17
หน้า 635

ปฏิจจสมุปบาท แห่ง ปฏิสรณาการ

อุณณาภพราหมณ์ ทูลถามว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! อินทรีย์ ๕ อย่างเหล่านี้ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยโคจร และ วิสัยของกันและกัน.

ห้าอย่างคือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! อะไรเป็น ปฏิสรณะ (ที่แล่นไปสู่) ของอินทรีย์เหล่านั้น? อะไรย่อมเสวยซึ่งโคจร และวิสัยของอินทรีย์เหล่านั้น?"

ดูก่อนพราหมณ์! ...ใจเป็นปฏิสรณะของอินทรีย์ เหล่านั้น ใจย่อมเสวยซึ่งโคจร และวิสัยของอินทรีย์ เหล่านั้น.

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! อะไรเป็นปฏิสรณะของใจ?"
ดูก่อนพราหมณ์! สติ แล เป็นปฏิสรณะของใจ.

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! อะไรเป็นปฏิสรณะของสติ?"
ดูก่อนพราหมณ์! วิมุตติ แล เป็นปฏิสรณะของสติ.

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! อะไรเป็นปฏิสรณะของวิมุตติ?"
ดูก่อนพราหมณ์! นิพพาน แล เป็นปฏิสรณะของวิมุตติ.

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! อะไรเป็นปฏิสรณะของนิพพาน?"

ดูก่อนพราหมณ์! แล่นเตลิดเลยไปเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาที่สุดแห่งปัญหาเสียแล้ว เพราะว่า พรหมจรรย์ นั้น เขาอยู่ประพฤติกัน มีนิพพานเป็นที่หยั่งลงมีนิพพาน เป็นเบื้องหน้า มีนิพพาน เป็นที่สุด..

หมายเหตุผู้รวบรวมผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า สิ่งที่ควรสังเกตในสูตรนี้ คือคำว่า ปฏิสรณะ ซึ่งตามธรรมดาเราแปลกันว่า ที่พึ่งอาศัย เช่นคำว่า กมฺมปฏิสรโณ ซึ่งแปลว่า มีกรรม เป็นที่พึงอาศัย ส่วนในกรณีนี้ หมายถึงที่เป็นที่แล่นไปสู่ ของมโนเป็นต้น ขอให้ถือเอา ความตามที่มีอยู่ในวงเล็บนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง ข้อความในสูตรนี้ กล่าวได้ว่าได้เป็นที่แสดงให้เห็นหลักธรรมที่แปลกเป็นพิเศษ อีกแนวหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยจะได้ผ่านการได้ยินได้ฟังกันนัก กล่าวคือ อินทรีย์แล่นไปสู่ใจ ใจแล่น ไปสู่สติ สติแล่นไปสู่วิมุตติ วิมุตติแล่นไปสู่นิพพาน ซึ่งถ้าเข้าใจกันดีแล้ว จะมีประโยชน์เป็น อันมาก


18
หน้า 636
ปฏิจจสมุปบาท แห่ง สัจจานุโพธ และผลถัดไป


กาปทิกมาณพผู้ภารทวาชโคตร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"..พระโคดมผู้เจริญ! สัจจานุโพธ (การรู้ตามซึ่งสัจจธรรม) ย่อมมีได้ด้วยเหตุเพียงเท่าไร? บุคคลย่อมรู้ตาม ซึ่งสัจจธรรม ได้ด้วยเหตุ เพียงเท่าไร? พวกเราถามซึ่งการรู้ตาม ซึ่งสัจจธรรม กะพระ โคดมผู้เจริญแล้วละ" ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบแก่มาณพนั้นด้วยข้อความ ต่อไปข้างล่างนี้ว่า

ดูก่อนภารทวาชะ! ได้ยินว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้าน หรือในนิคม แห่งใดแห่งหนึ่ง. คหบดีหรือคหบดีบุตร ได้เข้าไปใกล้ภิกษุนั้นแล้วใคร่ครวญ ดูอยู่ใน ใจเกี่ยวกับธรรม ๓ ประการ คือธรรมเป็น ที่ตั้งแห่งโลภะ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโทสะธรรม เป็นที่ตั้งแห่งโมหะ ทั้งหลาย (โดยนัยเป็น ต้นว่า) "ท่านผู้มีอายุผู้นี้จะมีธรรมอันเป็น ที่ตั้งแห่งโลภะหรือไม่หนอ อันเป็นธรรมที่เมื่อครอบงำจิต ของท่านแล้วจะทำให้ ท่าน เป็นบุคคลที่เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น หรือว่าจะชักชวน ผู้อื่นใน ธรรมอันเป็นไปเพื่อ ความทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นตลอด กาล นาน" ดังนี้

เมื่อเขาใคร่ครวญดูอยู่ในใจ ซึ่งภิกษุนั้น ก็รู้ว่า "ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโลภะชนิดนั้น มิได้ มีแก่ท่านผู้มีอายุ นี้, อนึ่ง กายสมาจาร วีสมาจาร ของท่านผู้มีอายุผู้นี้ ก็เป็นไปใน ลักษณะแห่งสมาจาร ของบุคคล ผู้ไม่โลภแล้ว อนึ่งท่านผู้มีอายุนี้แสดงซึ่งธรรมใด ธรรมนั้นเป็นธรรมที่ลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยากเป็น ธรรมที่รำงับประณีต ไม่เป็นวิสัย ที่จะหยั่งลงง่ายแห่งความตรึก เป็นธรรมละเอียดอ่อน รู้ได้เฉพาะ บัณฑิตวิสัยธรรมนั้น มิใช่ธรรมที่คนผู้มีความโลภ จะแสดงให้ถูกต้องได"ดังนี้.

เมื่อเขาใคร่ครวญดูอยู่ซึ่งภิกษุนั้น ย่อมเล็งเห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรม อันเป็นที่ตั้ง แห่งโลภะ. ต่อแต่นั้น เขาจะพิจารณาใคร่ครวญภิกษุนั้นให้ยิ่งขึ้นไป ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ..ในธรรมทั้ง หลายอัน เป็นที่ตั้งแห่งโมหะ... (ก็ได้เห็นประจักษ์ ในลักษณะอย่างเดียวกัน กับในกรณีแห่ง โลภะ ตรงเป็นอันเดียวกัน ทุกตัวอักษรไปจน ถึงคำว่า "เมื่อเขาใคร่ครวญดูอยู่ซึ่งภิกษุนี้ ย่อมเล็งเห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมเป็น ที่ตั้งแห่งโมหะ").  

ลำดับนั้น เขา
(๑)ปลูกฝังศรัทธาลงไปในภิกษุนั้น ครั้นมีสัทธาเกิดแล้ว
(๒) ย่อมเข้าไปหา ครั้นเข้าไปหาแล้ว
(๓) ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ ครั้นเข้าไปนั่งใกล้แล้ว
(๔) ย่อมเงี่ยโสตลง ครั้นเงี่ยโสตลง
(๕) ย่อมฟังซึ่งธรรม ครั้งฟังซึ่งธรรมแล้ว
(๖) ย่อมทรงไว้ซึ่งธรรม
(๗) ย่อมใคร่ครวญซึ่งเนื้อความแห่งธรรม ทั้งหลาย อันตนทรงไว้แล้วเมื่อใคร่ ครวญ ซึ่งเนื้อความแห่ง ธรรมอยู่
(๘) ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อความเพ่งพินิจ เมื่อการทนต่อการเพิ่งพินิจของ ธรรมมีอยู่
(๙) ฉันทะย่อมเกิดขึ้น ผู้มีฉันทะเกิดขึ้นแล้ว
(๑๐) ย่อมมีอุสสาหะ ครั้นมีอุสสาหะแล้ว
(๑๑) ย่อมพิจารณาหาความสมดุลย์แห่งธรรม ครั้นมีความสมดุลย์แห่งธรรมแล้ว (๑๒) ธรรมเป็นเครื่องตั้งมั่น ย่อมตั้งมั่น เขาผู้มีตนส่งไปแล้วอย่างนี้อยู่ ย่อมกระทำ ให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะ ด้วย(นาม)กายด้วย ย่อมแทงตลอดซึ่งธรรมนั้นแล้ว เห็นอยู่ด้วยปัญญาด้วย.

ดูก่อนภารทวาชะ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล สัจจานุโพธ(การรู้ตามซึ่งสัจจธรรม) ย่อมมีได้ บุคคล ย่อมรู้ตาม ซึ่งสัจจธรรมได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พวกเราบัญญัติซึ่ง สัจจานุโพธ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แต่ว่า สัจจานุปัตติ (การบรรลุซึ่งสัจจธรรม) ยังมิได้มี ดังนี้.

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ถ้าสัจจานุโพธ มีได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้, บุคคลย่อมรู้ตาม ซึ่งสัจจธรรมได้ ด้วยเหตุ เพียงเท่านี้, และพวกเราก็หวังได้ซึ่งสัจจธรรม ด้วยเหตุเพียง เท่านี้ ดังนี้แล้ว ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! สัจจา นุปัตติ (การบรรลุซึ่งสัจจธรรม) จะมี ได้ด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า? บุคคลจะบรรลุซึ่งสัจจธรรม ได้ด้วย เหตุ เพียงเท่าไรเล่า? และพวกเราถามซึ่งสัจจานุปัตติ กะพระโคดมผู้เจริญแล้วละ"

ดูก่อนภารทวาชะ! การเสพคบการทำให้เจริญการกระทำให้มากซึ่งธรรม ทั้งหลายเหล่านั้นแหละเป็นตัวสัจจานุปัตติ ดูก่อนภารทวาชะ! สัจจานุ-ปัตติย่อม มีได้ด้วยเหตุเพียงเท่านั้นแหละ บุคคลย่อมบรรลุ ซึ่งสัจจธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แหละ และพวกเราก็บัญญัติซึ่งสัจจานุปัตติ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แหละ.

(
๑)"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ!...(ถ้าเป็นดังนี้แล้ว)ธรรมชื่ออะไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะ มากแก่สัจจานุปัตติ? พวกเราถามซึ่งธรรมมีอุปการะมาก แก่สัจจานุปัตติกะพระโคดม ผู้เจริญแล้วละ".

ดูก่อนภารทวาชะ! ธรรมเครื่องตั้งมั่น เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่สัจจา นุปัตติ : ถ้าบุคคลไม่ตั้ง ไว้ ซึ่งธรรมเป็นเครื่องตั้งมั่น (ปธาน) แล้วไซร้ เขาก็ไม่พึง บรรลุซึ่งสัจจธรรม. เพราะเหตุที่เขาตั้งไว้ซึ่ง ธรรมเป็น เครื่องตั้งมั่น เขาจึงบรรลุซึ่ง สัจจธรรม; เพราะเหตุนั้นธรรมเป็นเครื่องตั้งมั่น จึงชื่อว่าเป็นธรรม มีอุปการะมากแก่ สัจจานุปัตติ.

(๒) "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมชื่ออะไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่ธรรมเป็น เครื่องตั้งมั่น? พวกเรา ถามซึ่งธรรม มีอุปการะมากแก่ธรรมเป็นเครื่องตั้งมั่นกะพระ โคดม ผู้เจริญแล้วละ".

ดูก่อนภารทวาชะ! การพิจารณาหาความสมดุลย์แห่งธรรมเป็นธรรม มีอุปการะมากแก่ธรรม เป็นเครื่องตั้งมั่น : ถ้าบุคคลไม่พึงพบ ซึ่งความสมดุลย์ แห่งธรรมนั้นแล้วไซร้ ธรรมเป็นเครื่องตั้งมั่นก็ไม่พึง ตั้งมั่น.เพราะเหตุที่เขาพบซึ่งความสมดุลย์แห่งธรรม ธรรมเป็นเครื่องตั้งมั่นจึงตั้ง; เพราะเหตุนั้นการพิจารณา หาความ สมดุลย์แห่งธรรม จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ธรรมเป็นเครื่องตั้งมั่น.

(
๓) "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมชื่อไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่การพิจารณา หา ความสมดุลย์ แห่งธรรม? พวกเราถามซึ่งธรรมมีอุปการะมากแก่การพิจารณา หา ความสมดุลย์แห่งธรรมกะพระโคดม ผู้เจริญแล้วละ"

ดูก่อนภารทวาชะ! อุสสาหะเป็น ธรรมมีอุปการะมากแก่การพิจารณาหาความ สมดุลย์แห่งธรรม  ถ้าบุคคลไม่พึงมีอุสสาหะแล้วไซร้ ก็ไม่พึงพบซึ่งความสมดุลย์ แห่งธรรม. เพราะเหตุที่เขามีอุสสาหะ เขาจึง พบความสมดุลย์แห่งธรรม เพราะเหตุนั้น อุสสาหะ จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การพิจารณาหาความ สมดุลย์ แห่งธรรม.

(๔) "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมชื่อไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่อุสสาหะ?  พวกเราถามซึ่งธรรม มีอุปการะแก่อุสสาหะกะพระโคดมผู้เจริญแล้วละ"

ดูก่อนภารทวาชะ! ฉันทะเป็น ธรรมมีอุปการะมากแก่อุสสาหะ ถ้าบุคคลไม่พึงยัง ฉันทะให้เกิดแล้วไซร้ ก็ไม่พึงมีอุสสาหะ. เพราะเหตุที่ฉันทะเกิดขึ้น เขาจึงมีอุสสาหะ เพราะเหตุนั้น ฉันทะจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่อุสสาหะ

(๕) "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมชื่อไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่ฉันทะ?  พวกเราถามซึ่งธรรม มีอุปการะ มาก แก่ฉันทะกะพระโคดมผู้เจริญแล้วละ"

ดูก่อนภารทวาชะ! ความที่ธรรมทั้งหลายทนได้ต่อการเพ่งพินิจ เป็นธรรมมี อุปการะมากแก่ฉันทะ: ถ้าธรรมทั้งหลายไม่พึงทน ต่อการเพ่ง พินิจแล้วไซร้ ฉันทะก็ไม่พึงเกิด. เพราะเหตุ ที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจ ฉันทะ จึงเกิด เพราะเหตุนั้น ความที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจ จึงเป็นธรรมมีอุปการะ มากแก่ฉันทะ.

(๖) "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมชื่ออะไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่ความที่ ธรรม ทั้งหลายทนต่อ การเพ่งพินิจ? พวกเราถามซึ่งธรรมมีอุปการะมาก แก่ความ ที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจกะพระโคดม ผู้เจริญแล้วละ"

ดูก่อนภารทวาชะ! ความเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ เป็นธรรม มีอุปการะมากแก่ ความ ที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจ  ถ้าบุคคลไม่เข้าไป ใคร่ครวญซึ่ง อรรถะแล้วไซร้ ธรรมทั้งหลายก็ไม่ พึงทนต่อการเพ่งพินิจ. เพราะเหตุที่บุคคล เข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ ธรรมทั้งหลายจึงทนต่อการเพ่งพินิจ เพราะเหตุนั้นการ เข้าไป ใคร่ครวญซึ่งอรรถะจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความที่ธรรม ท.ทนต่อการเพ่งพินิจ

(
๗) "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมชื่อไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่ความเข้าไป ใคร่ครวญ ซึ่ง อรรถะ? พวกเราถามซึ่งธรรมมีอุปการะมากแก่ความเข้าไปใคร่ครวญซึ่ง อรรถะกะพระโคดมผู้เจริญแล้วละ".

ดูก่อนภารทวาชะ! การทรงไว้ซึ่งธรรม เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ ความเข้าไปใคร่ ครวญซึ่งอรรถะ. ถ้าบุคคลไม่ทรงไว้ ซึ่งธรรมะแล้วไซร้ เขาก็ไม่ อาจเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ เพราะเห ตุที่เขาทรงธรรมไว้ได้ เขาจึงเข้าไปใคร่ครวญ ซึ่งอรรถะได้. เพราะเหตุนั้น การทรงไว้ซึ่งธรรม จึงเป็นธรรม มีอุปการะมากแก่ความ เข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ.

(
๘) "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมชื่อไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่การทรงไว้ ซึ่งธรรม? พวกเราถาม ซึ่งธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงไว้ซึ่งธรรมกะพระโคดมผู้เจริญ แล้วละ".

ดูก่อนภารทวาชะ! การฟังซึ่งธรรม เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การ ทรงไว้ซึ่งธรรม. ถ้าบุคคลไม่พึงฟังซึ่งธรรมแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงทรงธรรมไว้ได้ เพราะเหตุที่เขาฟังธรรมซึ่งธรรม เขาจึงทรงธรรมไว้ได้. เพราะเหตุนั้น การฟังซึ่งธรรม จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงไว้ซึ่งธรรม.

(
๙) "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมชื่อไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่การฟัง ซึ่งธรรม?  พวกเราถาม ซึ่งธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังซึ่งธรรมกะ พระโคดมผู้เจริญ แล้วละ".

ดูก่อนภารทวาชะ! การเงี่ยลงซึ่งโสตะ เป็นธรรม มีอุปการะมากแก่ การฟัง ซึ่งธรรมถ้าบุคคลไม่เงี่ยลงซึ่งโสตะแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงฟังซึ่งธรรมได้ เพราะเหตุที่เขาเงี่ยลงซึ่งโสตะเขาจึงฟังซึ่งธรรมได้.เพราะเหตุนั้นการเงี่ยลงซึ่งโสตะ จึง เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังซึ่งธรรม.

(๑๐) "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมชื่ออะไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่การ
เงี่ยลงซึ่งโสตะ? พวกเราถามซึ่งธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยลง ซึ่งโสตะกะ พระโคดม ผู้เจริญ แล้วละ".


ดูก่อนภารทวาชะ! การเข้าไปนั่งใกล้ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ การเงี่ยลงซึ่งโสตะถ้าบุคคลไม่พึงเข้าไปนั่งใกล้แล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงเงี่ยลงซึ่ง โสตะ เพราะเหตุที่เขาเข้าไปนั่งใกล้ เขาจึงเงี่ยลงซึ่งโสตะได้ เพราะเหตุนั้น การเข้า ไปนั่งใกล้ จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากกว่าการเงี่ยลงซึ่งโสตะ.

(
๑๑) "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมชื่อไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่การเข้าไป นั่งใกล้? พวกเราถามซึ่งธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้กะพระโคดมผู้เจริญ แล้วละ".

ดูก่อนภารทวาชะ! การเข้าไปหา เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้า ไปนั่งใกล้ถ้าบุคคลไม่เข้าไปหาแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงเข้าไปนั่งใกล้ได้เพรา เหตุที่ เขาเข้าไปหา เขาจึงเข้าไป นั่งใกล้ได้. เพราะเหตุนั้น การเข้าไปหาจึงเป็นธรรมมี อุปการะมากแก่การเข้าไป นั่งใกล้.

(
๑๒) “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็ธรรมชื่อไรเล่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่การเข้าไป หา. ? พวกเราถามซึ่งธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหากะพระโคดมผู้เจริญแล้วละ” .

ดูก่อนภารทวาชะ! สัทธาเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา. ถ้าสัทธา ไม่พึงเกิดแล้วไซร้ เข้าก็จะไม่เข้าไปหา เพราะเหตุที่สัทธาเกิดขึ้น เข้าจึงเข้าไปหา เพราะเหตุนั้น สัทธาจึงเป็นธรรมมีอุปการระมากแก่การเข้าไปหา.
............ ฯลฯ .............
………………………………………………………………………………….

หมายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า ลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท อาจจะมีได้ในแบบต่าง ๆ กัน ดังเช่นในสูตรนี้ แสดงลักษณะแห่งปฏิจจสมุปบาท ของการ บรรลุธรรม เช่นเดียวกับข้อความในเรื่องที่แล้วมา โดยหัวข้อว่า" ปฏิจจสมุปบาทที่ยิ่งกว่าปฏิจจ สมุปบาท" ควรแก่การสนใจ.





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์