พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๘-๓๓๐
นิคัณฐสูตร
[๕๗๗] ก็สมัยนั้นแล นิครณฐ์นาฏบุตร ได้ไปถึงราวป่าชื่อว่ามัจฉิกาสณฑ์ พร้อมด้วยนิครณฐ์บริษัทเป็นอันมาก จิตตคฤหบดี ได้สดับข่าวว่า นิครณฐ์นาฏบุตรได้มา ถึงราวป่า ชื่อว่ามัจฉิกาสณฑ์ พร้อมด้วยนิครณฐ์บริษัทเป็นอันมาก
ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดี พร้อมด้วยอุบาสกหลายคน เข้าไปหานิครณฐ์นาฏบุตร แล้ว ได้ปราศรัยกับ นิครณฐ์นาฏบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงได้นั่ง ณที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วนิครณฐ์นาฏบุตรได้ถามจิตตคฤหบดีว่า
ดูกรคฤหบดี ท่านย่อมเชื่อต่อพระสมณโคดมว่า สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจารมีอยู่ ความดับวิตกวิจารมีอยู่หรือ จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่ได้เชื่อต่อ พระผู้มีพระภาคในข้อนี้ว่า สมาธิอันไม่มีวิตกวิจารมีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารมีอยู่
[๕๗๘] เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครณฐ์นาฏบุตร แลดูบริษัทของตน แล้ว จึงประกาศว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้ เป็นคนตรงไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาจริงเพียงใด จิตตคฤหบดีผู้เข้าใจว่า พึงมีการดับวิตกวิจารนั้น ก็เท่ากับว่า เข้าใจว่า พึงกั้นกางลมได้ด้วยข่าย หรือจิตตคฤหบดีผู้เข้าใจว่า พึงมีการดับวิตกวิจารนั้น ก็เท่ากับว่าเข้าใจว่า พึงกั้นกางกระแสน้ำคงคาได้ด้วยฝ่ามือของตน
จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านย่อมเข้าใจเป็นไฉน คือญาณกับ ศรัทธา อะไรประณีตกว่ากัน
นิครณฐ์. ดูกรคฤหบดี ญาณนั่นแหละประณีตกว่าศรัทธา
จิตต. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราสงัดจากกามสงัดจาก อกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน อันมีวิตกวิจารมีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ข้าพเจ้าย่อม จำนง หวังได้ทีเดียวว่า เราเข้าทุติยฌาน ฯลฯ เพราะวิตกวิจารสงบไป ข้าพเจ้าย่อมจำนง หวังได้ทีเดียวว่า เพราะปีติสิ้นไป ฯลฯ เข้าตติยฌาน ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราเข้าจตุตถฌาน ฯลฯ เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จักไม่เชื่อสมณะหรือพราหมณ์ใดๆ ว่าสมาธิอันไม่มีวิตกวิจาร มีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารมีอยู่
[๕๗๙] เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครณฐ์นาฏบุตรได้แลดูบริษัท ของตน แล้ว จึงประกาศว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนไม่ตรง โอ้อวด มีมารยาจริงเพียงใด จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าทราบคำ ที่ท่าน พูดเมื่อสักครู่นี้แหละว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงดูเรื่องนี้จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนตรง ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาจริงเพียงใด และทราบคำที่ท่านพูดเดี๋ยวนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนไม่ตรง โอ้อวดมีมารยา จริงเพียงใด ถ้าคำพูดครั้งก่อนของท่านเป็นจริง คำพูดครั้งหลังของท่านก็ผิด ถ้าคำพูด ครั้งหลังของท่านเป็นจริง คำพูดครั้งก่อนของท่านก็ผิด ก็ปัญหาที่มีเหตุผล ๑๐ ข้อนี้ ย่อมมาถึงแก่ท่าน เมื่อท่านเข้าใจเนื้อความแห่งปัญหาเหล่านั้น ก็เชิญบอกกับนิครณฐ์ บริษัท
ปัญหา ๑๐ ข้อนี้ คือ
ปัญหา ๑ อุเทศ ๑ ไวยากรณ์๑
ปัญหา ๒ อุเทศ ๒ ไวยากรณ์ ๒
ปัญหา ๓ อุเทศ ๓ ไวยากรณ์ ๓
ปัญหา ๔ อุเทศ ๔ ไวยากรณ์ ๔
ปัญหา ๕ อุเทศ ๕ ไวยากรณ์ ๕
ปัญหา ๖ อุเทศ ๖ไวยากรณ์ ๖
ปัญหา ๗ อุเทศ ๗ ไวยากรณ์ ๗
ปัญหา ๘ อุเทศ ๘ ไวยากรณ์ ๘
ปัญหา ๙ อุเทศ ๙ ไวยากรณ์ ๙
ปัญหา ๑๐ อุเทศ ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐
ครั้นจิตตคฤหบดีได้ถามปัญหาที่มีเหตุผล ๑๐ ข้อนี้กะนิครณฐ์นาฏบุตร เสร็จแล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป |