พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๖-๒๒๘
๖. โอวาทสูตรที่ ๑ (ท่านพระมหากัสสป)
(พระผู้มีพระภาคเรียกภิกษุ 2 รูป มาตักเตือนเรื่องการอวดอ้างล่วงเกินกันด้วยสุตตะว่า ใครกล่าวสุตตะได้นานกว่ากัน)
[๔๘๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ... ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระมหากัสสป นั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกรกัสสป เธอจงกล่าวสอนภิกษุ ทั้งหลาย จงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุ ทั้งหลาย เราหรือเธอ พึงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกระทำธรรมีกถา แก่ภิกษุทั้งหลาย
[๔๘๔] พระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลาย ในบัดนี้ เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรม ที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทนไม่รับอนุศาสนีโดยเคารพ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระธรรมวินัยนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นภิกษุชื่อ ภัณฑะ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระอานนท์ และภิกษุชื่อ อาภิชชิกะ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริก ขอพระอนุรุทธ์ กล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าว ได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน ดังนี้
[๔๘๕] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอจงมา จงเรียกภัณฑภิกษุ สัทธิวิหาริกของอานนท์ และอาภิชชิกภิกษุ สัทธิวิหาริก ของ อนุรุทธ์ มาตามคำของเราว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนั้น ทูลรับ พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า แล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้น เข้าไปหาแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า พระศาสดาตรัสเรียก ท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น รับคำภิกษุนั้นว่า ขอรับ ผู้มีอายุดังนี้แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง
[๔๘๖] ครั้นภิกษุเหล่านั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า พวกเธอได้กล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะ ว่าจงมาเถิด ภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน ดังนี้จริงหรือ
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้ทั่วถึงธรรม ที่เราแสดงไว้แล้วอย่างนี้หรือหนอ พวกเธอจึงกล่าวล่วงเกินกันและกัน ด้วยสุตะอย่างนี้ว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าว ได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพวกเธอไม่รู้ ทั่วถึงธรรม ที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอรู้อะไร เห็นอะไร บวชอยู่ในธรรมวินัย ที่เรากล่าว ดีแล้วอย่างนี้ ย่อมกล่าวล่วงเกินกันและกัน ด้วยสุตะไปทำไมเล่าว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน
[๔๘๗] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นซบศีรษะใกล้พระบาทพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ ทั้งหลาย ผู้พาลอย่างไร ผู้หลงอย่างไร ผู้ไม่ฉลาดอย่างไร ข้าพระองค์เหล่าใดบวช ในพระธรรมวินัย ที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วอย่างนี้ กล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ นานกว่ากัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษ โดยความเป็นโทษ แห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อสำรวมต่อไป
[๔๘๘] พ. เอาเถิดภิกษุทั้งหลาย โทษได้ครอบงำพวกเธอ ผู้พาลอย่างไร ผู้หลงอย่างไร ผู้ไม่ฉลาดอย่างไร เธอเหล่าใดบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ ได้กล่าวล่วงเกินกัน และกันด้วยสุตะว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล พวกเธอมาเห็นโทษ โดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนเสียตามสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้น เราทั้งหลาย ขอรับโทษนั้นของเธอเหล่านั้น ก็การที่บุคคลเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ แล้ว ทำคืนเสียตามสมควรแก่ธรรม และถึงความสำรวมต่อไปนี้ เป็นความเจริญ ในวินัย ของพระอริยเจ้า
จบสูตรที่ ๖
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ หน้าที่ ๒๒๙-๒๓๑
๗. โอวาทสูตรที่ ๒ (ท่านพระมหากัสสป)
[๔๘๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ... ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ...ครั้นนั่ง เรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรกัสสป เธอจงกล่าวสอน ภิกษุทั้งหลาย จงกระทำธรรมีกถา แก่ภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกล่าวสอน ภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอ พึงกระทำธรรมีกถา แก่ภิกษุทั้งหลาย
[๔๙๐] ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลาย ในบัดนี้ เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้ เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุศาสนีโดยเคารพ บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มี ความเพียร ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขา ที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้
แต่ความเสื่อม ในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เปรียบเหมือน พระจันทร์ในข้างแรม ย่อมเสื่อมจากวรรณจากมณฑล จากรัศมี จากความยาวและความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใดบุคคลบางคนไม่มีศรัทธา ... ไม่มีหิริ ... ไม่มีโอตตัปปะ ... ไม่มีความพากเพียร ...ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรม ทั้งหลายตลอดคืน หรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อม ในกุศลธรรม ทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีศรัทธานี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีหิริ นี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีโอตตัปปะ นี้เป็นความ เสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนเกียจคร้านนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคล มีปัญญาทรามนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมักโกรธ นี้เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลผูกโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่ไม่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้ เป็นความเสื่อมโทรม
[๔๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลบางคนมีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีความเพียร มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้ แต่ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย เท่านั้น หวังความเสื่อมไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างขึ้น ย่อมเปล่งปลั่งด้วยวรรณ ด้วยมณฑล ด้วยรัศมี ด้วยความยาวและความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนผู้มีศรัทธา ... มีหิริ ... มีโอตตัปปะ ... มีความเพียร ... มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือ วันของเขา ที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเจริญ ในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเสื่อม ไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่บุรุษบุคคลมีศรัทธานี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษ บุคคลมีหิรินี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีโอตตัปปะนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีความพากเพียรนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญานี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มักโกรธนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่ผูกโกรธนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่มีภิกษุ ผู้กล่าวสอนนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม
[๔๙๒] พ. ดีแล้ว ดีแล้ว กัสสป บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ... ไม่มี โอตตัปปะ ... ไม่มีความเพียร ... ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดคืน หรือวันของเขา ที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างแรมย่อมเสื่อมจากวรรณ จากมณฑล จากรัศมี จากความยาวและความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา ... ไม่มีหิริ ... ไม่มีโอตตัปปะ ...ไม่มีความเพียร ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อม ในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น
ดูกรกัสสป ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีศรัทธานี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคล ไม่มีหิริ ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลผู้ไม่มีโอตตัปปะ ฯลฯข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนเกียจคร้าน ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญาทราม ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมักโกรธ ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคล ผูกโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่ไม่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้ เป็นความเสื่อมโทรม
[๔๙๓] ดูกรกัสสป บุคคลบางคนมีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ ... มีความเพียร ... มีปัญญา ... ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้ แต่ความเจริญ ในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเสื่อมไม่ได้เลย เปรียบเหมือน พระจันทร์ในข้างขึ้น ย่อมเปล่งปลั่งด้วยวรรณ ด้วยมณฑลด้วยรัศมี ด้วยความยาวและ ความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนผู้มีศรัทธา ... มีหิริ ... มีโอตตัปปะ ... มีความเพียร ... มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขา ที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเจริญ ในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเสื่อม ไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น
ดูกรกัสสป ข้อที่บุรุษบุคคลมีศรัทธานี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคล มีหิริ ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมีโอตตัปปะ ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมีความเพียร ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคล มีปัญญา ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนไม่มักโกรธ ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคล เป็นคนไม่ผูกโกรธนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ดังนี้
จบสูตรที่
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๑-๒๓๔
๘. โอวาทสูตรที่ ๓ (ท่านพระมหากัสสป)
[๔๙๔] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่ง เรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรกัสสป เธอจงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย กัสสป เราหรือเธอพึงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกระทำธรรมีกถา แก่ภิกษุ ทั้งหลาย
ท่านพระมหากัสสปได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลาย ในบัดนี้ เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุศาสนีโดยเคารพ
[๔๙๕] พ. ดูกรกัสสป ก็เป็นความจริงอย่างนั้น ครั้งก่อน ภิกษุทั้งหลายผู้เป็น เถระ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความเป็นผู้ถือการอยู่ป่า เป็นวัตร เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความเป็น ผู้ถือ เที่ยว บิณฑบาต เป็นวัตร
เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง ความเป็นผู้ทรงผ้า บังสุกุล เป็นวัตร เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งความเป็นผู้ทรง ไตรจีวร เป็นวัตร
เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มี ความ ปรารถนาน้อย เป็นผู้สันโดษและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษ
เป็นผู้สงัดจากหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดจากหมู่ เป็นผู้ไม่ คลุกคลี ด้วยหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วยหมู่ เป็นผู้ปรารภ ความเพียร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งการปรารภความเพียร บรรดาภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุใดเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความ เป็นผู้ถือ การอยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่ง ความเป็น ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความ
เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความเป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย
เป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความสันโดษ เป็นผู้สงัดจากหมู่ และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความสงัดจากหมู่ เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ และกล่าว สรรเสริญ คุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วยหมู่
เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งการปรารภความเพียร ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ย่อมนิมนต์เธอให้นั่งด้วยคำว่า มาเถิดภิกษุ ภิกษุรูปนี้ชื่อไร ช่างรุ่งเรืองหนอ ใคร่ต่อการศึกษาแท้ มาเถิดภิกษุ นี้อาสนะ นิมนต์ท่านนั่ง
ดูกรกัสสปเมื่อภิกษุทั้งหลาย กระทำสักการะอย่างนั้น ภิกษุใหม่ๆ พากันคิดเห็น ว่า ทราบว่าภิกษุรูป ที่ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความเป็นผู้ถือ การ อยู่ป่าเป็นวัตร
เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ...เป็นผู้ทรง ไตรจีวรเป็นวัตร ... เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย... เป็นผู้สันโดษ... เป็นผู้ชอบสงัดจากหมู่... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ... เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าว สรรเสริญคุณ แห่งการปรารภความเพียร
ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ย่อมนิมนต์เธอให้นั่งด้วยคำว่า มาเถิดภิกษุ ภิกษุรูปนี้ ชื่อไร ช่างรุ่งเรืองหนอ ใคร่ต่อการศึกษาแท้ มาเถิดท่าน นี้อาสนะ นิมนต์ท่านนั่ง ภิกษุใหม่ๆ เหล่านั้นก็ปฏิบัติ เพื่อความเป็นอย่างนั้น การปฏิบัติตามของพวกเธอนั้น เป็นการอำนวยประโยชน์สุขชั่วกาลนาน
[๔๙๖] ดูกรกัสสป ก็บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ไม่เป็นผู้ถือการอยู่ป่า เป็นวัตร และไม่กล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่เป็นผู้ถือ การเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และไม่กล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความ เป็นผู้ถือการเที่ยว บิณฑบาตเป็นวัตร ไม่เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และไม่กล่าวสรรเสริญ
คุณแห่งความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุล เป็นวัตร ไม่เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความ เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ไม่เป็นผู้มีความปรารถนา น้อย และไม่กล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความ เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่เป็นผู้สันโดษ และไม่กล่าวสรรเสริญ
คุณแห่งความสันโดษ ไม่เป็นผู้สงัดจากหมู่ และไม่กล่าวสรรเสริญ คุณแห่ง ความสงัดจากหมู่ ไม่เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ และไม่กล่าวสรรเสริญ คุณแห่งการ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ไม่เป็นผู้ปรารภความเพียร และไม่กล่าวสรรเสริญ
คุณแห่งการปรารภความเพียร บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุใดเป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร พวกภิกษุผู้เป็นเถระ ย่อมนิมนต์เธอให้นั่งด้วยคำว่ามาเถิดภิกษุ ภิกษุรูปนี้ชื่อไร ช่างรุ่งเรืองหนอ ใคร่ต่อเพื่อน สพรหมจารี ด้วยกันแท้มาเถิดภิกษุ นี้อาสนะ นิมนต์ท่านนั่ง
ดูกรกัสสป เมื่อภิกษุทั้งหลาย กระทำสักการะอย่างนั้น ภิกษุใหม่ๆ พากันคิดว่า ทราบว่า ภิกษุที่มีชื่อเสียง มียศได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร พวกภิกษุผู้เป็นเถระพากันนิมนต์เธอให้นั่งด้วยคำว่า มาเถิดภิกษุ ภิกษุรูปนี้ชื่อไร ช่างรุ่งเรืองหนอใคร่ต่อเพื่อนสพรหมจารี ด้วยกันแท้
มาเถิดภิกษุ นี้อาสนะ นิมนต์ท่านนั่งภิกษุใหม่ๆ เหล่านั้นก็ปฏิบัติเพื่อความเป็น อย่างนั้น การปฏิบัติตามของพวกเธอนั้น ไม่อำนวยประโยชน์ มีแต่ทุกข์ชั่วกาลนาน
ดูกรกัสสป บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบควรกล่าวว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ถูกอันตรายแห่งพรหมจรรย์ เบียดเบียนเสียแล้ว ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งมีความปรารถนา เกินประมาณ ถูกความปรารถนา เกินประมาณสำหรับพรหมจรรย์ เบียดเบียนแล้ว
ดูกรกัสสป บัดนี้ บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ ควรกล่าวว่าผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ถูกอันตรายแห่งพรหมจรรย์ เบียดเบียนเสียแล้ว ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งมีความปรารถนาเกินประมาณ ถูกความปรารถนาเกินประมาณ สำหรับพรหมจรรย์ เบียดเบียนเสียแล้ว
จบสูตรที่ ๘
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๔-๒๓๘
๙. ฌานาภิญญาสูตร (ตรัสภิกษุ ท.)
[๔๙๗] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึง ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังสงัด จากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่ วิเวก อยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน
[๔๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตใน ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไปมีปีติ และสุข อันเกิดแต่สมาธิอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตใน ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุข อันเกิด แต่สมาธิ อยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน
[๔๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และ เสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าถึงตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญ ว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุขได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าถึงตติยฌาน ที่พระอริยเจ้า ทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุขได้ เท่านั้นเหมือนกัน
[๕๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะ ละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ได้ เท่าใด แม้กัสสปก็หวัง เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุขละทุกข์ และดับ โสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน
[๕๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ มีอารมณ์ว่า อากาศ ไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ มีอารมณ์ว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่ใส่ใจนานัตตสัญญาอยู่ได้ เท่านั้นเหมือนกัน
[๕๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ มีอารมณ์ว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ มีอารมณ์ว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วง อากาสานัญจายตนะ ได้โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน
[๕๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ มีอารมณ์ว่า หน่อยหนึ่งไม่มี เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะ ได้โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ มีอารมณ์ว่า หน่อยหนึ่งไม่มี เพราะล่วง วิญญาณัญจายตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน
[๕๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วง อากิญจัญญายตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงเนวสัญญา นาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะ ได้โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่านั้น เหมือนกัน
[๕๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วง เนวสัญญานาสัญญายตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ได้โดยประการทั้งปวง อยู่ได้ เท่านั้น เหมือนกัน
[๕๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียว เป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน เหมือนในน้ำ ก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้เหาะไปในอากาศ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดถึงพรหมโลกก็ได้ อย่างใดแม้กัสสป ก็หวังอย่างนั้นได้เหมือนกันคือ กัสสป บรรลุอิทธิวิธีหลายประการ ฯลฯใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดถึงพรหมโลกก็ได้
[๕๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังว่า เราได้ยินเสียงสองชนิด คือเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลทั้งอยู่ใกล้ได้อย่างใด แม้กัสสปก็หวังอย่างนั้นได้เหมือนกัน คือกัสสปได้ยินเสียงสองชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งอยู่ที่ไกลทั้งอยู่ใกล้
[๕๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังว่า เราย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะ จิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ จิตที่ยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตที่ยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็น สมาธิ จิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตยังไม่ หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้นได้อย่างใด แม้กัสสปก็หวังอย่างนั้นไ ด้เหมือนกัน คือ กัสสป ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ ฯลฯหรือจิต ยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น
[๕๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังว่า เราตามระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือตามระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้างห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป เป็นอเนกบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอเนกบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัป เป็นอเนกบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียง เท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ ย่อมตามระลึก ถึงชาติก่อน ได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ได้อย่างใด แม้กัสสปก็หวังอย่างนั้น ได้เหมือนกัน คือกัสสปตามระลึกถึงชาติก่อน ได้เป็นอันมาก คือตามระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง ฯลฯ ย่อมตามระลึกถึงชาติก่อน ได้เป็นอันมาก พร้อมทั้ง อาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้
[๕๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังว่า เราย่อมเห็นหมู่สัตว์ ผู้กำลังจุติกำลัง อุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอัน บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ว่าสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือ การกระทำ ด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ที่ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้
เราย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติเลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณ ทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมอยู่ ด้วยประการฉะนี้ได้อย่างใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้กัสสปก็หวังอย่างนั้น ได้เหมือนกัน คือกัสสปเห็นหมู่สัตว์ ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทรามได้ดี ตกยาก ด้วย ทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้
[๕๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะ มิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมเข้าถึงอยู่ ได้อย่างใด แม้ กัสสป ก็ทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่อย่างนั้นได้เหมือนกัน
จบสูตรที่ ๙ |