พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒-๓๘
๔. อัญญติตถิยสูตร (พระสารีบุตรสนทนากับปริพาชก)
[๗๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนคร ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่ พระนครราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ได้มีความคิดดังนี้ว่า เวลานี้ ยังเช้าเกินไปที่จะเที่ยวบิณฑบาต ในพระนครราชคฤห์อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยัง อาราม ของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เถิด
ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ได้เข้าไปยัง อาราม ของพวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์ ครั้นแล้วได้สนทนาปราศรัย กับปริพาชก อัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง
[๗๒] ท่านพระสารีบุตร พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ได้ กล่าวกะท่านดังนี้ว่า ดูกรท่านสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้กล่าวกรรมย่อม บัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเอง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ ผู้อื่นทำให้ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย อนึ่ง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดขึ้นเอง เพราะอาศัยการ ที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำ
ดูกรท่านสารีบุตร ก็ในวาทะทั้ง ๔ นี้ พระสมณโคดมกล่าวไว้อย่างไร บอกไว้ อย่างไร พวกข้าพเจ้าพยากรณ์อย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าว ตามที่พระสมณโคดม กล่าวแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระสมณโคดม ด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรม สมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้
[๗๓] ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยอะไรเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น บุคคล ผู้กล่าวดังนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าว ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่ พระผู้มีพระภาค ด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะ ที่ถูกไรๆ ก็จะไม่ถึงฐานะ อันวิญญูชนจะติเตียนได้
ดูกรท่านทั้งหลาย ในวาทะทั้ง ๔ นั้น แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็น ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเอง ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณ พราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ผู้อื่นทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า เกิดเอง เพราะอาศัยการ ที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะ เป็นปัจจัย
ดูกรท่านทั้งหลาย ในวาทะทั้ง ๔ นั้น พวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรม บัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเอง เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ผู้อื่นทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรม บัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเองด้วยผู้อื่นทำให้ด้วย เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ถึงพวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะจะมีได้ ดังนี้
[๗๔] ท่านพระอานนท์ ได้ยินท่านพระสารีบุตร สนทนาปราศรัย กับพวปริพาชก อัญญเดียรถีย์ เหล่านั้นแล้ว ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ในกาลภายหลังภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลถ้อยคำสนทนา ของท่าน พระสารีบุตร กับพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ซึ่งได้มีมาแล้วทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาค
[๗๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ อานนท์ ตามที่สารีบุตรพยากรณ์ ชื่อว่า พยากรณ์โดยชอบ ดูกรอานนท์ เรากล่าวว่าทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น ทุกข์อาศัย อะไรเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น บุคคลผู้กล่าวดังนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าว ตามที่ เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ ก็จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้
ดูกรอานนท์ ในวาทะทั้ง ๔ นั้น ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรม บัญญัติว่าตนทำเอง ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ผู้อื่นทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่ พวกสมณพราหมณ์ ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ก็ย่อมเกิด เพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า เกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ ก็ย่อมเกิด เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
ดูกรอานนท์ ในวาทะทั้ง ๔ นั้นพวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติ ว่า ทุกข์ตนทำเอง เว้นผัสสะเสียเขาย่อมเสวยทุกข์ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณ พราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ผู้อื่นทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวย ทุกข์ ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะ ที่จะมีได้ถึงพวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดเอง เพราะอาศัย การที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ ฐานะ ที่จะมีได้
[๗๖] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้ กรุงราชคฤห์ นี้แหละ ครั้งนั้นแล อานนท์ ในเวลาเช้า เรานุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป สู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ดูกรอานนท์ เรานั้นได้คิดดังนี้ว่า เวลานี้ยังเช้าเกินไป ที่จะเที่ยวบิณฑบาต ในกรุงราชคฤห์ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยังอารามของพวก ปริพาชกอัญญเดียรถีย์เถิด
ครั้งนั้นแล อานนท์ เราได้เข้าไปยังอาราม ของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ครั้นแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ดูกรอานนท์ พอเรานั่งเรียบร้อยแล้ว พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ได้กล่าวกะเราดังนี้ว่า ท่านพระโคดม มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เป็นผู้กล่าวกรรมย่อม บัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเอง อนึ่ง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เป็นผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ผู้อื่นทำให้ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เป็นผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ตน ทำเอง ด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย
อนึ่ง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำ ในวาทะทั้ง ๔ นี้ ท่านพระโคดม กล่าวไว้อย่างไร บอกไว้อย่างไร ข้าพเจ้าทั้งหลายพยากรณ์อย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็น ผู้กล่าว ตามที่ท่านพระโคดมกล่าวแล้ว จะไม่กล่าวตู่ท่านพระโคดมด้วยคำไม่จริง และพึง พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะอัน วิญญูชน จะติเตียนได้
ดูกรอานนท์ เมื่อพวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์เหล่านั้น กล่าวแล้วอย่างนี้ เราได้กล่าวกะพวก ปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นดังนี้ว่า ดูกรท่านทั้งหลาย เรากล่าวว่า ทุกข์ เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น บุคคลผู้กล่าวดังนี้จึงจะชื่อว่า เป็นผู้กล่าวตาม ที่เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควร แก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ ก็จะไม่พึงถึงฐานะ อันวิญญูชนจะติเตียนได้
ดูกรท่านทั้งหลาย ในวาทะทั้ง ๔ นั้น แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้ กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเอง ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณ พราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ผู้อื่นทำให้ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า เกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำ ก็ย่อมเกิด เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย
ดูกรท่านทั้งหลายในวาทะทั้ง ๔ นั้น พวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรม บัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเองเว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ พวก สมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ผู้อื่นทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อม เสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะ ที่จะมีได้ ถึงพวกสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดเองเพราะอาศัย การที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ ฐานะที่จะมีได้
[๗๗] ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า น่าอัศจรรย์พระเจ้าข้า ไม่เคยมีพระเจ้าข้า ในการที่เนื้อความทั้งหมด จักเป็นอรรถ อันพระองค์ตรัสแล้วด้วยบทๆเดียว เนื้อความนี้ เมื่อกล่าวโดยพิสดาร จะเป็นอรรถอันลึกซึ้งด้วย เป็นอรรถมีกระแสความอันลึกซึ้งด้วย พึงมีไหมหนอ พระเจ้าข้า ดูกรอานนท์ ถ้ากระนั้นเนื้อความในเรื่องนี้จงแจ่มแจ้ง กะเธอ เองเถิด
[๗๘] ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าชนเหล่าอื่น จะพึงถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ ชราและมรณะมีอะไรเป็นเหตุมีอะไร เป็น ที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึง พยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านทั้งหลาย ชราและมรณะมีชาติเป็นเหตุ มีชาติเป็นที่ตั้งขึ้น มีชาติเป็น กำเนิด มีชาติเป็นแดนเกิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าชนเหล่าอื่น พึงถามข้าพระองค์ อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ ก็ชาติเล่า มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ดังนี้ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านทั้งหลาย ชาติมีภพเป็นเหตุ มีภพเป็นที่ตั้งขึ้น มีภพเป็นกำเนิด มีภพ เป็น แดนเกิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าชนเหล่าอื่น พึงถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ ก็ภพเล่ามีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น แดนเกิด ดังนี้ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านทั้งหลาย ภพมีอุปาทานเป็นเหตุ มีอุปาทานเป็นที่ตั้งขึ้น มีอุปาทาน เป็นกำเนิด มีอุปาทานเป็นแดนเกิด ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าชนเหล่าอื่น พึงถาม ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ ก็อุปาทานเล่า มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ดังนี้ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์ อย่างนี้ว่า อุปาทานมีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหา เป็น แดนเกิด ดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าชนเหล่าอื่น พึงถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ ก็ตัณหาเล่า มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไร เป็นแดนเกิด ดังนี้ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ตัณหามีเวทนา เป็นเหตุ มีเวทนาเป็นที่ตั้งขึ้น มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด ดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าชนเหล่าอื่น พึงถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ ก็เวทนาเล่า มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น แดนเกิด ดังนี้ ข้าพระองค์ ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านทั้งหลาย เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นที่ตั้งขึ้น มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด ดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าชนเหล่าอื่น พึงถามข้าพระองค์ว่า ท่านอานนท์ ก็ผัสสะเล่า มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ดังนี้ข้าพระองค์ ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านทั้งหลาย ผัสสะมี สฬายตนะเป็นเหตุ มีสฬายตนะเป็นที่ตั้งขึ้น มีสฬายตนะเป็นกำเนิด มีสฬายตนะ เป็นแดนเกิด
ดูกรท่านทั้งหลาย ก็เพราะผัสสายตนะ ๖ นั่นแหละดับ ด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะโสกปริเทว ทุกขโทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ถูกถามแล้วอย่างนี้ พึงพยากรณ์อย่างนี้ ดังนี้แล
จบสูตรที่ ๔ |