พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๕
วนสังยุตต์
วิเวกสูตรที่ ๑
[๗๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล ภิกษุรูปนั้น พักผ่อนกลางวัน ตรึกอกุศลวิตกลามก อิงอาศัยเรือน
[๗๖๒] ครั้งนั้น เทวดาที่สิงอยู่ในป่านั้น มีความเอ็นดูใคร่ประโยชน์แก่ภิกษุนั้น หวังจะให้เธอสลดใจ จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวกะเธอ ด้วยคาถาว่า ท่านใคร่วิเวก จึงเข้าป่า ส่วนใจของท่านแส่ซ่าน ไปภายนอก ท่านเป็นคน จงกำจัดความพอใจในคนเสีย แต่นั้น ท่าน จักเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความกำหนัด ท่านมีสติ ละ ความไม่ยินดีเสียได้
เราเตือนให้ท่านระลึกถึงธรรมของ สัตบุรุษ ธุลีคือกิเลสประดุจ บาดาลที่ข้าม ได้ยาก ได้แก่ความ กำหนัดในกาม อย่าได้ครอบงำท่านเลย นกที่เปื้อนฝุ่น ย่อม สลัดธุลี ที่แปดเปื้อน ให้ตกไป ฉันใด ภิกษุผู้มีเพียร มีสติ ย่อมสลัดธุลีคือกิเลส ที่แปดเปื้อน ให้ตกไป ฉันนั้น ดังนี้ ลำดับนั้น ภิกษุนั้น เป็นผู้อันเทวดานั้น เตือนให้สังเวช ถึงซึ่งความ สลดใจ แล้วแล
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๕-๒๗๖
อุปัฏฐานสูตรที่ ๒
[๗๖๓] สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่า แห่งหนึ่งในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล ภิกษุรูปนั้น ไปนอนหลับ ในที่พักกลางวัน
[๗๖๔] ครั้งนั้น เทวดาที่สิงอยู่ในป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่ ภิกษุรูปนั้น หวังจะให้เธอสลดใจ จึงเข้าไปหาแล้วได้กล่าวกะเธอ ด้วยคาถาว่า ท่านจงลุกขึ้นเถิด ภิกษุ ท่านจะต้องการอะไร ด้วยความหลับ ท่านผู้เร่าร้อนด้วยกิเลส อันลูกศร คือตัณหา เสียบแทง ดิ้นรนอยู่ จะมัวหลับ มีประโยชน์อะไร ท่านออกจากเรือน บวชด้วย ความเป็น ผู้ไม่มีเรือนด้วยศรัทธาใด ท่านจงเพิ่มพูนศรัทธานั้นเถิด อย่าไปสู่อำนาจ ของความหลับเลย
[๗๖๕] คนเขลาหมกมุ่นอยู่ ในกามารมณ์เหล่าใด กามารมณ์ เหล่านั้น ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ความหลับจะแผดเผาบรรพชิต ผู้พ้นแล้ว ผู้ไม่เกี่ยวข้องในกามารมณ์ ซึ่งยัง สัตว์ ให้ติดอยู่ได้ อย่างไร เพราะกำจัดฉันทราคะเสียได้ และเพราะก้าวล่วง อวิชชา เสียได้
ญาณนั้น เป็นของบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ไฉนความ หลับจะแผดเผาบรรพชิตได้ ความหลับ จะแผดเผาบรรพชิต ผู้ไม่มีโศก ไม่มีความแค้นใจ เพราะทำลายอวิชชา เสียด้วย วิชชา และเพราะอาสวะ สิ้นไปหมดแล้วอย่างไรได้ ความ หลับจะแผดเผา บรรพชิต ผู้ปรารภความเพียร ผู้มีตนอันส่งไป แล้ว ผู้บากบั่นมั่นเป็นนิตย์ ผู้จำนง พระนิพพานอยู่อย่าง ไรได้
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๖-๒๗๗
กัสสปโคตตสูตรที่ ๓
[๗๖๖] สมัยหนึ่ง ท่านพระกัสสปโคตร พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล ท่านอยู่ในที่พักกลางวัน กล่าวสอน นายพรานเนื้อคนหนึ่ง
[๗๖๗] ครั้งนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ในป่านั้น มีความเอ็นดูใคร่ประโยชน์ แก่ท่าน พระกัสสปโคตร หวังจะให้ท่านสลดใจ จึงเข้าไปหา แล้วได้กล่าวกะท่านด้วยคาถาว่า
ภิกษุผู้กล่าวสอนนายพรานเนื้อ ซึ่งเที่ยวไปตามซอกเขาผู้ทรามปัญญา ไม่รู้เท่า ถึงการณ์ ในกาลอันไม่ควร ย่อมปรากฏ แก่เราประดุจคนเขลา เขาเป็นคนพาล ถึงฟังธรรม อยู่ก็ไม่ เข้าใจเนื้อความ แสงประทีปโพลงอยู่ก็ไม่เห็น เมื่อท่านกล่าว ธรรมอยู่ ย่อมไม่รู้เนื้อความ ข้าแต่ท่านกัสสป ถึงแม้ท่าน จักทรงประทีปอันโพลงตั้ง ๑๐ ดวง เขาก็จักไม่เห็นรูป เพราะ จักษุ (คือญาณ) ของเขาไม่มี
ลำดับนั้น ท่านกัสสปโคตร ผู้อันเทวดานั้น ให้สังเวช ถึงซึ่งความสลดใจแล้ว
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๗
สัมพหุลสูตรที่ ๔
[๗๖๘] สมัยหนึ่ง ภิกษุมากรูปด้วยกัน พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นอยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสแล้วหลีกไปสู่จาริกฯ
[๗๖๙] ครั้งนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น เมื่อไม่เห็นภิกษุเหล่านั้น ก็คร่ำครวญ ถึงได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า ความสนิทสนม ย่อมปรากฏประดุจความ ไม่ยินดี เพราะ เห็นภิกษุเป็นอันมาก ในอาสนะอันสงัด ท่านเหล่านั้น เป็นพหุสูต มีถ้อยคำไพเราะ ท่านเป็นสาวกของพระโคดม ไปที่ไหนกัน เสียแล้ว
[๗๗๐] เมื่อเทวดานั้น กล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กล่าวกะ เทวดานั้น ด้วยคาถาว่า ภิกษุทั้งหลายเ ป็นผู้ไม่อาลัยที่อยู่ เที่ยวไปเป็นหมู่ประดุจวานร ไปสู่แคว้นมคธและโกศล บางพวกก็บ่ายหน้าไปสู่แคว้นวัชชี
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๘
อานันทสูตรที่ ๕
[๗๗๑] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์ พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้น โกศล สมัยนั้นแล ท่านพระอานนท์ เป็นผู้มากไปด้วยการรับแขกฝ่ายคฤหัสถ์ เกินเวลาอยู่
[๗๗๒] ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์ แก่ท่านพระอานนท์ ใคร่จะให้ท่านสังเวช จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่าน ด้วยคาถาว่า ท่านเข้าไปสู่ที่รก คือโคนต้นไม้แล้ว จงใส่ใจถึงพระนิพพาน โคตมะ ท่านจงเพ่งฌาน อย่าประมาท ถ้อยคำที่สนทนา ของท่านจักทำอะไรได้
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ เป็นผู้อันเทวดานั้น ให้สังเวช ถึงซึ่งความสลดใจ แล้วแล
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๘-๒๗๙
อนุรุทธสูตรที่ ๖
[๗๗๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธ พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล
[๗๗๔] ครั้งนั้นแล เทวดาชั้นดาวดึงส์องค์หนึ่ง ชื่อชาลินี เป็นภรรยาเก่า ของท่านพระอนุรุทธ เข้าไปหาท่านถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่าน ด้วยคาถาว่า ท่านจงตั้งจิตของท่านไว้ในหมู่ทวยเทพ ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยอารมณ์อันน่าใคร่ ทั้งปวง ที่ท่านเคยอยู่ในกาลก่อน ท่านจะเป็นผู้อันหมู่เทวดา แวดล้อมเป็นบริวาร ย่อมงดงาม
[๗๗๕] อ. เหล่านางเทพกัลยา ผู้มีคติอันทราม ดำรงมั่นอยู่ใน กายของตน สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น แม้เป็นผู้มีคติอันทราม ก็ถูกนางเทพกัลยาปรารถนา
[๗๗๖] ท. เหล่าสัตว์ผู้ไม่ได้เห็นที่อยู่ อันเป็นที่น่าเพลิดเพลิน ของนรเทพ ชั้นไตรทศ ผู้มียศ ก็ชื่อว่าไม่รู้จักความสุข
[๗๗๗] อ. ดูกรเทวดาผู้เขลา ท่านไม่รู้แจ้งตามคำของพระอรหันต์ว่า สังขาร ทั้งปวง ไม่เที่ยง มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็น ธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป การเข้าไประงับสังขาร เหล่านั้นเสียได้เป็นสุข บัดนี้ การอยู่ครอบครอง ของเราไม่มี อีกต่อไป ตัณหาประดุจดังว่า ข่ายในหมู่เทพของเราก็ไม่มี สงสารคือชาติ สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ ไม่มีอีกต่อไป
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๙
นาคทัตตสูตรที่ ๗
[๗๗๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระนาคทัตตะ พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้น โกศล สมัยนั้นแล ท่านพระนาคทัตตะ เข้าไปสู่บ้านแต่เช้าตรู่และกลับมา หลังเที่ยง
[๗๗๙] ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่ ท่าน พระนาคทัตตะ ใคร่จะให้ท่านสังเวช จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่าน ด้วยคาถาว่า ท่านนาคทัตตะ ท่านเข้าไปแล้วในกาล และกลับมาในกลางวัน (ท่าน) มีปรกติเที่ยวไปเกินเวลา คลุกคลีกับคฤหัสถ์ พลอย ร่วมสุขร่วมทุกข์กับเขา เราย่อมกลัว พระนาคทัตตะ ผู้คะนอง สิ้นดี และพัวพันในสกุลทั้งหลาย ท่านอย่าไปสู่อำนาจของ มัจจุราชผู้มีกำลัง ผู้กระทำซึ่งที่สุดเลย
ลำดับนั้น ท่านพระนาคทัตตะ เป็นผู้อันเทวดานั้น ให้สังเวชถึง ซึ่งความสลดใจ แล้วแล
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๐
กุลฆรณีสูตรที่ ๘
[๗๘๐] สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล ภิกษุนั้นไปอยู่คลุกคลี ในสกุลแห่งหนึ่งเกินเวลา
[๗๘๑] ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิงอยู่ในราวป่านั้น มีความเอ็นดูใคร่ประโยชน์ แก่ ภิกษุนั้น ใคร่จะให้เธอสังเวช จึงเนรมิตเพศแห่งหญิงแม่เรือนในตระกูลนั้น เข้าไปหาถึง ที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุนั้น ด้วยคาถาว่า ชนทั้งหลาย ย่อมประชุมสนทนากัน ที่ฝั่งแม่น้ำในโรงที่พัก ในสภา และในถนน ส่วนเราและท่านเป็นดังรือ
[๗๘๒] แท้จริงเสียงที่เป็นข้าศึก มีมากอันท่านผู้มีตบะ พึงอดทน ไม่พึงเก้อเขิน เพราะเหตุนั้น เพราะสัตว์หาได้เศร้าหมองด้วย เหตุนั้นไม่ แต่ผู้ใดมักสะดุ้ง เพราะเสียง ประดุจเนื้อทรายในป่า นักปราชญ์กล่าวผู้นั้นว่ามีจิตเบา วัตรของเขาย่อมไม่สมบูรณ์
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๐-๒๘๑
วัชชีปุตตสูตรที่ ๙
[๗๘๓] สมัยหนึ่ง ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ใกล้เมืองเวสาลี สมัยนั้นแล วาระแห่งมหรสพ ตลอดราตรีทั้งปวง ย่อมมีในเมืองเวสาลี
[๗๘๔] ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้น ได้ฟังเสียงกึกก้องแห่งดนตรี อันบุคคล ตี และ บรรเลง แล้ว ในเมืองเวสาลี คร่ำครวญอยู่ ได้ภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า เราเป็นคนๆ เดียวอยู่ในป่า ประดุจท่อนไม้ ที่เขาทิ้งแล้วในป่า ฉะนั้น ใครจะเป็นผู้ลามกกว่าเรา ในราตรีเช่นนี้หนอ
[๗๘๕] ลำดับนั้น เทวดาผู้สิง อยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์ แก่เธอ ใคร่จะยังเธอให้สลด จึงเข้าไปหาจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะเธอ ด้วยคาถาว่า ท่านเป็นคนๆ เดียวเท่านั้นอยู่ในป่า ประดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้ง แล้วในป่าฉะนั้น เทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย เป็นอันมากย่อม รักท่าน ประดุจสัตว์นรกรักผู้ ที่จะไปสวรรค์ ฉะนั้น
ลำดับนั้นแล ภิกษุนั้นเป็นผู้อันเทวดา ให้สังเวชถึง ซึ่งความสลดแล้วแล
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๑
สัชฌายสูตรที่ ๑๐
[๗๘๖] สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล สมัยนั้น ภิกษุนั้น นัยว่าเมื่อก่อนเป็นผู้มากไปด้วยการสาธยายเกินเวลาอยู่ สมัยต่อมา เธอเป็นผู้ขวนขวายน้อย เป็นผู้นิ่ง ยังกาลให้ล่วงไป
[๗๘๗] ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิง อยู่ในแนวป่านั้น ไม่ได้ฟังธรรมของเธอ จึงเข้าไป หาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะเธอด้วยคาถาว่าภิกษุ ท่านอยู่ร่วม กับภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่สาธยายบทแห่งพระธรรม เพราะเหตุไรบุคคลฟังธรรมแล้ว ย่อมได้ความเลื่อมใส ผู้กล่าวธรรม ย่อมได้รับความสรรเสริญ ในทิฏฐธรรม เทียว
[๗๘๘] ภิ. ความพอใจในบทแห่งพระธรรม ได้มีแล้วในกาลก่อน จนถึงกาล ที่เรามาร่วมด้วยวิราคะ และเพราะเรามาร่วมด้วยวิราคะ แล้ว สัตบุรุษทั้งหลายรู้ทั่วถึง รูป เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวการเสียสละ (อารมณ์นั้นๆ) เสีย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๑-๒๘๒
อโยนิโสมนสิการสูตรที่ ๑๑
[๗๘๙] สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล เธอไปที่พักในกลางวัน ตรึกอกุศลวิตกอันลามก คือกามวิตกพยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก
[๗๙๐] ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์ หวังจะให้ภิกษุนั้นสังเวช จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุนั้น ด้วยคาถาว่า ท่านถูกวิตกกิน เพราะมนสิการไม่แยบคาย ท่านจงละ มนสิการไม่แยบคายเสีย และจง ใคร่ครวญโดยแยบคาย ท่าน ปรารภพระศาสดาพระธรรม พระสงฆ์ และศีลของตนแล้ว จะบรรลุความปราโมทย์ ปีติและสุขโดยไม่ต้องสงสัย แต่นั้น ท่านจักเป็นผู้มากด้วยความ ปราโมทย์ จักกระทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้
ลำดับนั้นแล ภิกษุนั้น เป็นผู้อันเทวดานั้น ให้สังเวชถึงซึ่งความสลดใจ
แล้วแล
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๒
มัชฌันติกสูตรที่ ๑๒
[๗๙๑] สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล
[๗๙๒] ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิงอยู่ในป่านั้น เข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ภาษิต คาถาเหล่านี้ ในสำนักของภิกษุนั้นว่า ในกาลกำลังเที่ยงวัน เมื่อนกทั้งหลาย จับเจ่าแล้ว ภัยนั้น ย่อมปรากฏแก่เรา ประดุจป่าใหญ่ส่งเสียงอยู่
ภิ. ในกาลกำลังเที่ยง เมื่อนกทั้งหลายจับเจ่าแล้ว ความยินดีนั้น ย่อมปรากฏ แก่เรา ประดุจป่าใหญ่ ส่งเสียงอยู่ ฉะนั้น
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๒-๒๘๓
ปากตินทริยสูตรที่ ๑๓
[๗๙๓] สมัยหนึ่ง ภิกษุมากรูปด้วยกัน พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล ล้วนเป็นผู้ฟุ้งซ่าน เห่อเหิม ขี้โอ่ ปากกล้า พูดเหลวไหล มีสติฟั่นเฟือน ไม่รู้สึกตน ไม่หนักแน่น จิตไม่มั่นคง มีอินทรีย์อันเปิดเผย
[๗๙๔] ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่ ภิกษุเหล่านั้น หวังจะให้พวกเธอสังเวช จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะ พวกเธอ ด้วยคาถาว่า
ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวก ของพระสมณโคดมในกาลก่อน มีปกติเป็นอยู่ง่าย ไม่มักได้ แสวงหาบิณฑบาต [ตามได้] ไม่มักได้แสวงหาเสนาสนะ [ตามได้] ท่านเหล่านั้น รู้ความ ไม่เที่ยงในโลกแล้ว ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว [ส่วน พวกท่าน] ทำตนให้เป็นผู้เลี้ยงยาก ประดุจผู้เอาเปรียบ ชาวบ้านในบ้าน กินแล้วๆ ก็นอนหมกมุ่น อยู่ในเรือนของ คนอื่น เราขอกระทำอัญชลี แก่พระสงฆ์แล้ว ขอกล่าวถึงภิกษุ ที่ควรกล่าวบางพวก ในพระศาสนานี้ ท่านเหล่านั้นถูกเขา ทอดทิ้งหาที่พึ่งมิได้ เหมือนอย่างคนที่ตายแล้ว ถูกเขา ทอดทิ้งไว้ในป่าช้า
ฉะนั้น เรากล่าวหมายถึง ภิกษุจำพวกที่ เป็นผู้ประมาทอยู่ แต่ท่านเหล่าใด เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ เราขอ กระทำการนอบน้อมแก่ท่านเหล่านั้น
ลำดับนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้อันเทวดานั้น ให้สังเวชถึงซึ่งความสลดใจ แล้วแล
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๒-๒๘๓
ปทุมปุบผสูตรที่ ๑๔
[๗๙๕] สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล ภิกษุนั้น กลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาฉัน ลงสู่สระโบกขรณี แล้วสูดดม ดอกปทุม
[๗๙๖] ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่ ภิกษุนั้น หวังจะให้เธอสลด จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะเธอ ด้วยคาถาว่า ท่านสูดดมดอกไม้ ที่เกิดในน้ำซึ่งใครๆ ไม่ได้ให้แล้ว นี้เป็น องค์อันหนึ่งแห่งความ เป็นขโมย ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้ ขโมยกลิ่น
[๗๙๗] ภิ. เราไม่ได้นำไป เราไม่ได้หัก เราดมดอกไม้ที่เกิดใน น้ำห่างๆ เมื่อเป็น เช่นนี้ ท่านจะเรียกว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น ด้วยเหตุดังรือ ส่วนบุคคลที่ขุดเหง้าบัว หักดอกบัว บุณฑริก เป็นผู้มีการงาน อันเกลื่อนกล่นอย่างนี้ ไฉนท่านจึงไม่เรียก เขาว่าเป็นขโมย
[๗๙๘] เท. บุรุษผู้มีบาปหนา แปดเปื้อนด้วย ราคาทิกิเลสเกินเหตุ เราไม่พูดถึง คนนั้น แต่เราควรจะกล่าวกะท่าน บาปประมาณ เท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏ ประดุจ เท่าก้อนเมฆ ใน นภากาศแก่บุรุษผู้ไม่มีกิเลส ดังว่าเนิน ผู้มักแสวงหา ไตรสิกขา อัน สะอาด เป็นนิจ
[๗๙๙] ภิ. ดูก่อนเทวดา ท่านรู้จักเราแน่ละ และท่านเอ็นดูเรา ดูก่อนเทวดา ท่านเห็นกรรมเช่นนี้ ในกาลใด ท่านพึงกล่าวอีก [ในกาลนั้น] เถิด
[๘๐๐] เราไม่ได้อาศัยท่านเป็นอยู่เลย และเราไม่ได้มีความเจริญ เพราะท่าน ดูก่อนภิกษุ ท่านพึงไปสุคติได้ด้วยกรรมที่ท่าน พึงรู้
ลำดับนั้นแล ภิกษุนั้น เป็นผู้อันเทวดานั้น ให้สลด ถึงซึ่งความสังเวชแล้วแล
วนสังยุต จบบริบูรณ์
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รวมพระสูตรแห่งวนสังยุต มี ๑๔ สูตร คือ
เวกสูตรที่ ๑ อุปัฏฐานสูตรที่ ๒ กัสสปโคตตสูตรที่ ๓ สัมพหุลสูตรที่ ๔
อานันทสูตรที่ ๕ อนุรุทธสูตรที่ ๖ นาคทัตตสูตรที่ ๗
กุลฆรณีสูตรที่ ๘
วัชชีปุตตสูตรที่ ๙ สัชฌายสูตรที่ ๑๐
อโยนิโสมนสิการสูตรที่ ๑๑
มัชฌันติกสูตรที่ ๑๒
ปากตินทริยสูตรที่ ๑๓
กับปทุมปุบผสูตร ครบ ๑๔
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
|