พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๐-๒๔๒
พราหมณสังยุตต์
อุปาสกวรรคที่ ๒
กสิสูตรที่ ๑
[๖๗๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ ณ พราหมณคามชื่อว่าเอกนาลา ในทักขิณาคีรีชนบท แคว้นมคธ ก็ในสมัยนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์ เทียมไถมีจำนวน ๕๐๐ ในกาล (ฤดู) หว่านข้าว
[๖๗๒] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไป ยังที่ทำการงานของ กสิภารทวาชพราหมณ์ในเวลาเช้า
สมัยนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์ กำลังเลี้ยงอาหาร (มื้อเช้า)
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค เสด็จเข้าไปยังที่เลี้ยงอาหาร (ของเขา) ครั้นแล้วประทับ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
กสิภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ประทับยืนบิณฑบาตอยู่ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระสมณะ ข้าพเจ้าไถและหว่านครั้นไถ และ หว่านแล้ว ย่อมบริโภค ข้าแต่พระสมณะ แม้พระองค์ก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่าน แล้ว จงบริโภคเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและ หว่านแล้ว ก็บริโภค
กสิภารทวาชพราหมณ์ กราบทูลว่า ก็ข้าพเจ้าไม่เห็นแอก ไถ ผาล ประตัก หรือ โคทั้งหลาย ของท่านพระโคดมเลย เมื่อเช่นนี้ท่านพระโคดม ยังกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่าน แล้วก็บริโภค
[๖๗๓] ครั้งนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้ว ยคาถาว่า พระองค์ปฏิญาณว่าเป็นชาวนา แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นการไถของพระองค์ พระองค์ผู้เป็นชาวนา ข้าพเจ้าถามแล้วขอจงตรัส บอก ไฉน ข้าพเจ้าจะรู้การทำนา ของพระองค์นั้นได้
[๖๗๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญา ของเรา เป็นแอก และไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาล และประตัก เรามีกายคุ้มครองแล้ว มีวาจาคุ้มครองแล้ว เป็นผู้ สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้า (คือวาจา สับปรับ) ด้วยคำสัตย์ โสรัจจะของเราเป็นเครื่องให้แล้ว เสร็จงาน ความเพียรของเรา เป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวัง นำไปถึงความเกษมจาก โยคะ ไปไม่ถอยหลัง ยังที่ซึ่งบุคคล ไปแล้วไม่เศร้าโศก
เราทำนาอย่างนี้ นาที่เราทำนั้น ย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคล ทำนาอย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
กสิภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า ท่านพระโคดมผู้เป็นชาวนา ขอจงบริโภค อมฤตผล ที่ท่านพระโคดมไถนั้นเถิด
[๖๗๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราไม่พึงบริโภคโภชนะ ซึ่งได้เพราะความ ขับกล่อม ดูกรพราหมณ์ นี่เป็นธรรมของบุคคล ผู้เห็นอรรถและธรรมอยู่ ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมรังเกียจโภชนะ ที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูกรพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ ความเป็นไป (อาชีวะ) นี้ก็ยังมีอยู่ แต่ท่านจงบำรุง ซึ่งพระขีณาสพทั้งสิ้น ผู้แสวงหาคุณใหญ่ มีความคะนอง ระงับแล้วด้วยข้าวน้ำอันอื่น ด้วยว่าการบำรุงนั้น เป็นนาบุญของผู้มุ่งบุญ
[๖๗๖] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสเช่นนี้แล้ว กสิภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย ดุจหงาย ภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นได้ ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๒ - ๒๔๓
อุทัยสูตรที่ ๒
[๖๗๗] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ ของอุทัยพราหมณ์
ลำดับนั้น อุทัยพราหมณ์ เอาข้าวใส่บาตรถวายพระผู้มีพระภาคจนเต็ม
[๖๗๘] แม้ครั้งที่ ๒ ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร และ จีวร เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทัยพราหมณ์
ลำดับนั้น อุทัยพราหมณ์ เอาข้าวใส่บาตรถวายพระผู้มีพระภาคจนเต็ม
[๖๗๙] แม้ครั้งที่ ๓ เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของ อุทัยพราหมณ์ แม้ในครั้งที่ ๓ อุทัยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตร ถวายพระผู้มีพระภาค จนเต็มแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระสมณโคดมนี้ ติดในรส (ติดใจในอาหาร) จึงเสด็จมาบ่อยๆ
[๖๘๐] พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ ด้วยธัญชาติบ่อยๆยาจกย่อมขอบ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ ทานบดีให้บ่อยๆ แล้ว ก็เข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ ผู้ต้องการน้ำนม ย่อมรีดนม บ่อยๆ ลูกโคย่อมเข้าหาแม่โคบ่อยๆ บุคคลย่อมลำบาก และดิ้นรนบ่อยๆ คนเขลา ย่อมเข้าถึงครรภ์บ่อยๆ สัตว์ย่อมเกิดและตายบ่อยๆ บุคคลทั้งหลาย ย่อมนำ ซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ ส่วนผู้มีปัญญาถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรค แล้วไม่เกิดอีก ดังนี้
[๖๘๑] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว อุทัยพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของ พระองค์ แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจัก มองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง พระรัตนตรัย เป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๓-๒๔๕
เทวหิตสูตรที่ ๓
[๖๘๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อันเป็นอารามของอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ประชวรด้วยโรคลม
ท่านพระอุปวาณะ เป็นอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงเรียกท่านพระอุปวาณะ มาตรัสว่า อุปวาณะเธอจงรู้ น้ำร้อนเพื่อฉัน ท่านพระอุปวาณะ ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว นุ่งสบงถือบาตรและจีวร เข้าไปยังที่อยู่ ของ เทวหิตพราหมณ์ แล้วยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
[๖๘๓] เทวหิตพราหมณ์ ได้เห็นท่านพระอุปวาณะ ยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ได้กล่าวกะท่าน พระอุปวาณะด้วยคาถาว่า ท่านเป็นสมณะศีรษะโล้น ครองผ้า สังฆาฏิยืนนิ่งอยู่ ท่าน ปรารถนาอะไร แสวงหาอะไร มาเพื่อขออะไรหรือ
[๖๘๔] ท่านพระอุปวาณะตอบว่า พระสุคตมุนีเป็นอรหันต์ในโลก ประชวรด้วย โรคลม ถ้ามีน้ำร้อน ขอท่านจงถวาย แก่พระสุคตมุนีเถิดพราหมณ์ ฉันปรารถนา จะเอาไปถวายพระผู้มีพระภาค ในบรรดาผู้ที่ควรแก่ การบูชา สักการะ นอบน้อมทั้งหลาย อันบุคคลได้บูชา สักการะ นอบน้อมแล้วนั้น
[๖๘๕] ครั้งนั้น เทวหิตพราหมณ์ให้บุรุษ (คนใช้) ถือกาน้ำร้อน และห่อน้ำอ้อย (ตามไป) ถวายท่านพระอุปวาณะ
ลำดับนั้น ท่านพระอุปวาณะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ แล้ว อัญเชิญ ให้พระผู้มีพระภาค สรงสนาน และละลายน้ำอ้อย ด้วยน้ำร้อนแล้วถวาย พระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงหายประชวรนั้น
[๖๘๖] ต่อมา เทวหิตพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับแล้ว ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง
เทวหิตพราหมณ์นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า พึงให้ไทยธรรมที่ไหน ทานอันบุคคลให้ที่ไหน มีผลมาก ทักษิณาสำเร็จ ในที่ไหน แก่บุคคลผู้บูชาอย่างไร
[๖๘๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ผู้ใดรู้ขันธ์ที่เคยอาศัยในก่อน แลเห็นสวรรค์ และอบาย บรรลุพระอรหัตอันเป็นที่สิ้นชาติ อยู่จบแล้วเพราะรู้ยิ่งเป็นมุนี พึงให้ไทยธรรม ในผู้นี้ ทานที่ให้แล้วในผู้นี้มีผลมาก ทักษิณา ย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้บูชา อย่างนี้แหละ
[๖๘๘] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว เทวหิตพราหมณ์ ได้กราบทูล พระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่าน พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางส่องประทีป ในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจัก มองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มี พระภาค กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๕-๒๔๗
มหาศาลสูตรที่ ๔
[๖๘๙] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้น พราหมณ์มหาศาลคนหนึ่ง เป็นคนปอน นุ่งห่มปอน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ สนทนาปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสก ะพราหมณ์มหาศาลนั้น ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วว่า
ดูกรพราหมณ์ ทำไมท่านจึงเป็นคนปอน นุ่งห่มก็ปอน
พราหมณ์มหาศาล กราบทูลว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม พวกบุตรของข้าพระองค์ ๔ คนในบ้านนี้คบคิดกับภรรยา แล้วขับข้าพระองค์ออกจากเรือน
[๖๙๐] ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเรียนคาถานี้แล้ว เมื่อหมู่มหาชน ประชุมกันที่สภา และเมื่อพวกบุตร มาประชุมพร้อมแล้ว จงกล่าวว่า เราชื่นชม และ ปรารถนา ความเจริญ แก่บุตรเหล่าใด บุตร เหล่านั้นคบคิดกัน กับภรรยารุมว่าเรา ดังสุนัขรุมเห่าสุกร เขา ว่าพวกมันเป็น อสัตบุรุษลามก ร้องเรียกเราว่าพ่อๆ พวก มัน ประดุจยักษ์แปลง เป็นบุตรมา ละทิ้งเราผู้ล่วงเข้าปัจฉิม วัยไว้
พวกมันกำจัดคนแก่ ไม่มีสมบัติออกจากที่ (อาศัย) กิน ดังม้า แก่ที่เจ้าของ ปล่อยทิ้ง ฉะนั้น
บิดาของบุตรพาลเป็นผู้เฒ่า ต้องขอในเรือนผู้อื่นได้ยินว่าไม้เท้า ของเรายังจะ ดีกว่า พวกบุตรที่ไม่เชื่อฟัง จะดีอะไร เพราะ ไม้เท้ายังป้องกันโค หรือสุนัขดุได้ ในที่มืด ยังใช้ยันไปข้าง หน้าได้ ในที่ลึกยังใช้หยั่งดูได้ พลาดแล้วยังยั้งอยู่ได้ด้วย อานุภาพ ไม้เท้า
[๖๙๑] ครั้งนั้นแล พราหมณ์มหาศาลนั้น เรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้พระภาคแล้ว เมื่อหมู่มหาชน ประชุมกันในสภา และเมื่อพวกบุตรมาประชุมแล้วจึงได้กล่าวว่า เรา ชื่นชม และปรารถนาความเจริญ แก่บุตรเหล่าใด บุตรเหล่า นั้น คบคิดกันกับภรรยา รุมว่าเรา ดังสุนัขรุมเห่าสุกร เขาว่า พวกมันเป็นอสัตบุรุษลามก ร้องเรียกเราว่าพ่อๆ พวกมัน ประดุจยักษ์แปลงเป็นบุตรมา ละทิ้งเราผู้ล่วงเข้าปัจฉิมวัยไว้
พวกมันกำจัดคนแก่ ไม่มีสมบัติออกจากที่ (อาศัย) กินดัง ม้าแก่ที่เจ้าของ ปล่อยทิ้ง ฉะนั้น
บิดาของบุตรพาลเป็นผู้เฒ่า ต้องขอในเรือนผู้อื่น ได้ยินว่าไม้เท้า ของเรายัง จะดีกว่า พวกบุตรที่ไม่เชื่อฟังจะดีอะไร เพราะไม้เท้า ยังป้องกันโค หรือสุนัขดุได้ ในที่มืด ยังใช้ยันไปข้างหน้าได้ ใน ที่ลึกยังใช้หยั่งดูได้ พลาดแล้วยังยั้ง อยู่ได้ด้วยอานุภาพ ไม้เท้า
[๖๙๒] ลำดับนั้น พวกบุตร นำพราหมณ์มหาศาลนั้น ไปยังเรือนให้อาบน้ำแล้ว ให้นุ่งห่มผ้าคู่หนึ่งๆ ทุกๆ คน
พราหมณ์มหาศาลนั้น ถือผ้าคู่หนึ่ง ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับสนทนา ปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมแสวงหาทรัพย์ สำหรับ อาจารย์ มาให้อาจารย์ ขอท่านพระโคดม ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าจงรับส่วน ของ อาจารย์เถิด
พระผู้มีพระภาค ทรงรับด้วยความอนุเคราะห์
[๖๙๓] ครั้งนั้น พราหมณ์มหาศาลนั้น ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่าน พระโคดม ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของ ที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่าคนมีจักษุ จักมองเห็นรูป ได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ข อถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และพระภิกษุ สงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๗-๒๔๙
มานัตถัทธสูตรที่ ๕
[๖๙๔] สาวัตถีนิทาน ฯ
สมัยนั้น พราหมณ์มีนามว่า มานัตถัทธะ สำนักอยู่ในกรุงสาวัตถี เขาไม่ไหว้มารดา บิดา อาจารย์ พี่ชาย
[๖๙๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงแสดงธรรมอยู่
ครั้งนั้น มานัตถัทธพราหมณ์ มีความดำริว่า พระสมณโคดมนี้ อันบริษัท หมู่ใหญ่ แวดล้อม แสดงธรรมอยู่ ถ้ากระไร เราจะเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมยังที่ประทับ ถ้าพระสมณโคดม ตรัสกะเรา เราก็จะพูดกะท่าน ถ้าพระสมณโคดม ไม่ตรัสกะเรา เราก็จะไม่พูดกะท่าน ลำดับนั้นแล มานัตถัทธพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสด้วย มานัตถัทธพราหมณ์ ต้องการจะกลับจากที่นั้น ด้วยคิดว่าพระสมณโคดมนี้ไม่รู้อะไร
[๖๙๖] ทีนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกในใจ ของมานัตถัทธ พราหมณ์ ด้วยพระหฤทัยแล้ว ได้ตรัสกะ มานัตถัทธพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า ดูกรพราหมณ์ ใครในโลกนี้ มีมานะไม่ดีเลย ผู้ใดมาด้วย ประโยชน์ใด ผู้นั้นพึงเพิ่มพูน ประโยชน์นั้นแล
[๖๙๗] ครั้งนั้น มานัตถัทธพราหมณ์คิดว่า พระสมณโคดมทราบจิตเรา จึงหมอบลงด้วยศีรษะ ที่ใกล้พระบาทพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้นเอง แล้วจูบพระบาท พระผู้มีพระภาค ด้วยปากและนวดด้วยมือ ประกาศชื่อว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ มีนามว่า มานัตถัทธะๆ
ครั้งนั้น บริษัทนั้นเกิดประหลาดใจว่า น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีหนอมานัตถัทธ พราหมณ์ นี้ไม่ไหว้มารดา บิดา อาจารย์ พี่ชาย แต่พระสมณโคดมทรงทำคนเห็นปานนี้ ให้ทำนอบนบได้เป็นอย่างดียิ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสกะมานัตถัทธพราหมณ์ว่า พอละพราหมณ์เชิญลุก ขึ้น นั่งบนอาสนะของตนเถิด เพราะท่านมีจิตเลื่อมใสในเราแล้ว
[๖๙๘] ลำดับนั้น มานัตถัทธพราหมณ์ นั่งบนอาสนะของตนแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า ไม่ควรทำมานะในใคร ควรมีความเคารพในใคร พึงยำเกรง ใคร บูชาใครด้วยดีแล้ว จึงเป็นการดี
[๖๙๙] พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า ไม่ควรทำมานะในมารดา บิดา พี่ชาย และในอาจารย์เป็น ที่ ๔ พึงมีความเคารพ ในบุคคลเหล่านั้น พึงยำเกรงบุคคล เหล่านั้น บูชาบุคคลเหล่านั้น ด้วยดีแล้วจึงเป็นการดี บุคคล พึงทำลายมานะเสีย ไม่ควรมีความ กระด้าง ในพระอรหันต์ผู้ เย็นสนิท ผู้ทำกิจเสร็จแล้ว หาอาสวะมิได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เพราะอนุสัยนั้น
[๗๐๐] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสเช่นนี้แล้ว มานัตถัทธพราหมณ์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่าน พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทางส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดมข้าพระองค์ขอถึง พระผู้มี พระภาค กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่ าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๙-๒๕๐
ปัจจนิกสูตรที่ ๖
[๗๐๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้น พราหมณ์มีนามว่าปัจจนิกสาตะ สำนักอยู่ในกรุงสาวัตถี ปัจจนิกสาตพราหมณ์ มีความดำริว่า อย่ากระนั้นเลย เราพึง เข้าไป เฝ้าพระสมณโคดม ยังที่ประทับเถิด พระสมณโคดม จักตรัสคำใดๆ เราจักเป็น ข้าศึก คำนั้นๆ ดังนี้
[๗๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ลำดับนั้น ปัจจนิกสาต พราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับแล้ว เดินตามพระผู้มีพระภาคซึ่งกำลัง เสด็จ จงกรมอยู่ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ขอท่านพระสมณะ จงตรัสธรรม
[๗๐๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คำอันเป็นสุภาษิต อันบุคคลผู้ยินดี จะเป็นข้าศึก มีจิตเศร้า หมอง มากไปด้วยความแข่งดี จะเห็นแจ้งด้วยดีไม่ได้ ส่วนว่าบุคคลใด กำจัด ความแข่งดี และความไม่เลื่อมใส แห่งใจ ถอนความอาฆาตได้แล้ว ผู้นั้นแลพึงรู้คำ อันเป็น สุภาษิต
[๗๐๔] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสเช่นนี้แล้ว ปัจจนิกสาตพราหมณ์ กราบทูล พระผู้มี พระภาคว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยายดุจ หงาย ภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คน มีจักษุ จะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๐-๒๕๑
นวกรรมิกสูตรที่ ๗
[๗๐๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค อยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่งในแคว้นโกศล
สมัยหนึ่ง นวกรรมิกภารทวาชพราหมณ์ ให้คนทำงานอยู่ในไพรสณฑ์นั้น เขาได้เห็นพระผู้มีพระภาค ซึ่งประทับนั่งคู้บัลลังก์ (นั่งขัดสมาธิ) ตั้งพระกายตรงดำรง พระสติไว้เฉพาะหน้า ที่โคนสาลพฤกษ์ต้นหนึ่ง ครั้นเห็นแล้ว เขามีความคิดว่า เราให้คนทำงานอยู่ในไพรสณฑ์นี้จึงยินดี ส่วนพระสมณะนี้ ให้คนทำอะไรอยู่จึงยินดี
[๗๐๖] ลำดับนั้น นวกรรมิกภารทวาชพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า ข้าแต่ท่านภิกษุ ท่านทำงาน อะไรหรือ จึงอยู่ในป่าสาลพฤกษ์ พระโคดมอยู่ในป่าผู้เดียว ได้ความยินดีอะไร
[๗๐๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราไม่มีกรณียกิจในป่าดอก เพราะเราถอนราก เหง้า ป่า อันเป็น ข้าศึกเสียแล้ว เราไม่มีป่าคือกิเลส ปราศจากลูกศรคือกิเลส ละความ กระสันเสียแล้ว จึงยินดีอยู่ผู้เดียวในป่า
[๗๐๘] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสเช่นนี้แล้ว นวกรรมิกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนักท่าน พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทางส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดมข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มี พระภาค กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ เป็นสรณะ ขอพระองค์ จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๑-๒๕๒
กัฏฐหารสูตรที่ ๘
[๗๐๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่งในแคว้น โกศลโน้น
ก็สมัยนั้น พวกมาณพหลายคน ซึ่งเป็นอันเตวาสิกของพราหมณ์ ภารทวาชโคตร คนหนึ่ง เที่ยวหาฟืนพากันเข้าไปยังไพรสณฑ์นั้น แล้วได้เห็นพระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง คู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เฉพาะหน้า อยู่ในไพรสณฑ์นั้น จึงเข้าไปหา พราหมณ์ ภารทวาชโคตร ถึงที่อยู่ แล้วบอกพราหมณ์ภารทวาชโคตรว่า ขอท่าน พึงทราบ พระสมณโคดม ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เฉพาะหน้า อยู่ใน ไพรสณฑ์
[๗๑๐] ลำดับนั้น พราหมณ์ภารทวาชโคตร พร้อมด้วยมาณพเหล่านั้น เข้าไป ยัง ไพรสณฑ์นั้นแล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรง พระสติ ไว้เฉพาะหน้า ครั้นเห็นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณที่นั้น แล้วได้ทูล พระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า ภิกษุ ท่านเข้าไปสู่ป่าที่ว่างเปล่า ปราศจากคนในป่า หนาทึบ น่า หวาดเสียวนัก มีกายไม่หวั่นเป็นประโยชน์ งาม เพ่งพินิจ อย่างดีหนอ ท่านเป็นมุนีอาศัยป่า อยู่ในป่าผู้เดียว ซึ่งไม่มี การขับร้อง และการบรรเลง การที่ท่าน มีจิต ยินดี อยู่ในป่า แต่ผู้เดียวนี้ ปรากฏเป็นข้อน่าอัศจรรย์แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้า ปรารถนา ไตรทิพย์อันสูงสุด จึงมุ่งหมายความเป็นสหายกับ ท้าวมหาพรหม ผู้เป็นอธิบดีของโลก เหตุไร ท่านจึงชอบใจ ป่าที่ปราศจากคน ท่านทำความเพียรในที่นี้ เพื่อบังเกิดเป็น
พรหม หรือ
[๗๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ความมุ่งหวัง หรือความเพลิดเพลินอย่างใดๆ ในอารมณ์หลาย ชนิด ซึ่งมีประจำอยู่ทุกเมื่อ นานาประการ หรือตัณหาอัน เป็นเหตุให้ กระชับ แน่น ซึ่งมีอวิชชาเป็นมูลราก ก่อให้เกิด ทั้งหมด เราทำให้สิ้นสุด พร้อมทั้งราก แล้ว เราจึงไม่มีความ มุ่งหวัง ไม่มีตัณหาประจำ ไม่มีตัณหาเข้ามาใกล้ มีปรกติ เห็นหมดจด ในธรรมทั้งปวง บรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด ประเสริฐ เราควรเป็นพรหม แกล้วกล้าเพ่งอยู่
[๗๑๒] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสเช่นนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนก ปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีป ในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดมข้าพระองค์ข อถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๓
มาตุโปสกสูตรที่ ๙
[๗๑๓] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้น มาตุโปสกพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ สนทนาปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการ ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง มาตุโปสกพราหมณ์ นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าแสวงหาภิกษาโดยชอบแล้ว เลี้ยงมารดาและบิดา ข้าพเจ้าทำเช่นนี้ ชื่อว่าทำกิจที่ควรทำหรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชอบยิ่ง พราหมณ์ ท่านทำดังนี้ ชื่อว่าได้ทำกิจที่ควรทำ แล้ว ด้วยว่า ผู้ใดแสวงหาภิกษาโดยชอบแล้ว เลี้ยงมารดาและบิดาผู้นั้นย่อมได้บุญ เป็นอันมาก
[๗๑๔] พระผู้มีพระภาค ผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ ต่อไปอีกว่า บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยชอบ เพราะการ บำรุงมารดา และบิดานั่นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น ในโลกนี้ ทีเดียว บุคคลนั้น ละไปจากโลกนี้แล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์
[๗๑๕] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสเช่นนี้แล้ว มาตุโปสกพราหมณ์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย ดุจหงาย ภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดมข้าพระองค์ ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ เป็นสรณะ ขอพระองค์ จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็น อุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๔
ภิกขกสูตรที่ ๑๐
[๗๑๖] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้น ภิกขกพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ สนทนาปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ภิกขกพราหมณ์นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคนขอ พระองค์ก็เป็นผู้ขอ ในความข้อนี้ เราจะต่างอะไรกัน
[๗๑๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลหาชื่อว่าเป็นภิกษุ เพียงด้วยการขอ คนอื่นไม่ บุคคล สมาทานธรรมเป็นพิษ หาชื่อว่าเป็นภิกษุได้ไม่ ผู้ใดในโลก นี้ละบุญ และบาปเสียแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยการ พิจารณา ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นภิกษุ
[๗๑๘] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสเช่นนี้แล้ว ภิกขกพราหมณ์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย ดุจหงาย ภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๔-๒๕๖
สังครวสูตรที่ ๑๑
[๗๑๙] สาวัตถีนิทาน ฯ
สมัยนั้นสังครวพราหมณ์ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี มีลัทธิถือความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ปรารถนา ความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ประพฤติการลงอาบน้ำ ชำระร่างกายทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าเป็นนิตย์
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตในกรุง สาวัตถี ในเวลาเช้า ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี แล้วกลับมาเวลาหลังอาหารเข้า ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
[๗๒๐] ท่านพระอานนท์นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า พระเจ้าข้า สังครวพราหมณ์ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี เขามีลัทธิถือความ บริสุทธิ์ ด้วยน้ำ ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ประพฤติการลงอาบน้ำชำระร่างกาย ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า เป็นนิตย์ ข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จไปหา สังครวพราหมณ์ ยังที่อยู่อาศัย ด้วยความอนุเคราะห์เถิดพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ ฯ
ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไป หา สังครวพราหมณ์ ยังที่อยู่อาศัย แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้
[๗๒๑] ลำดับนั้น สังครวพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วสนทนา ปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถาม สังครวพราหมณ์ ซึ่งนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกรพราหมณ์ เขาว่า ท่านได้ชื่อว่าถือความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ปรารถนาความบริสุทธิ์ ด้วยน้ำ ท่านถือการลงอาบน้ำ ชำระร่างกาย ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าเป็นนิตย์ จริงหรือ
สังครวพราหมณ์กราบทูลว่า จริงเช่นนั้น ท่านพระโคดมผู้เจริญ
พ. ดูกรพราหมณ์ ท่านเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงได้ชื่อว่ามีลัทธิถือ ความบริสุทธิ์ ด้วยน้ำ ปรารถนาความบริสุทธิ์ ด้วยน้ำ ถือการลงอาบน้ำชำระร่างกาย ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าเป็นนิตย์
ส. ท่านพระโคดม บาปกรรมใด ที่ข้าพระองค์ทำในเวลากลางวัน ข้าพระองค์ ลอยบาปกรรมนั้น เสียด้วยการอาบน้ำในเวลาเย็น บาปกรรมใดที่ข้าพระองค์ทำในเวลา กลางคืน ข้าพระองค์ลอยบาปกรรมนั้น เสียด้วยการอาบน้ำในเวลาเช้า ท่านพระโคดม ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์นี้แหละ จึงได้ชื่อว่า มีลัทธิถือความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ถือการลงอาบน้ำชำระร่างกาย ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า เป็นนิตย์
[๗๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ห้วงน้ำคือธรรม มีศีลเป็นท่าไม่ขุ่น สัตบุรุษ สรรเสริญต่อสัตบุรุษ เป็นที่ที่บุคคล ผู้ถึงเวทอาบแล้ว บุคคล ผู้มีตัวไม่เปียก เท่านั้น จึงจะข้ามถึงฝั่งได้
[๗๒๓] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสเช่นนี้แล้ว สังครวพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมภาษิต ของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะ ที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ เป็นสรณะขอพระองค์ ทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเ ป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕๕-๒๕๗
โขมทุสสสูตรที่ ๑๒
[๗๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมชื่อว่า โขมทุสสะของเจ้าศากยะ ในแคว้นสักกะ
ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไป บิณฑบาต ยังโขมทุสสนิคม
สมัยนั้นพราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม ประชุมกันอยู่ในสภา ด้วย กรณียกิจ บางอย่าง และฝนกำลังตกอยู่ประปราย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังสภานั้น
พราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม ได้เห็นพระผู้มีพระภาค เสด็จมา แต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า คนพวกไหน ชื่อว่าสมณะโล้น และคนพวกไหนรู้จัก ธรรมของสภา
[๗๒๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะพราหมณ์ และคฤหบดีชาว โขมทุสสนิคม ด้วยพระคาถาว่า ในที่ใดไม่มีคนสงบ ที่นั้นไม่ชื่อว่าสภา คนเหล่าใดไม่ กล่าวธรรม คนเหล่านั้น ไม่ชื่อว่าคนสงบ คนสงบละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว กล่าวธรรมอยู่
[๗๒๖] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์และคฤหบดี ชาวโขมทุสสนิคม ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรง ประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คน หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุ จักเห็นรูปฉะนั้น พวกข้าพระองค์ เหล่านี้ ขอถึงท่านพระโคดมผู้เจริญ กับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม ทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ดังนี้
จบอุบาสกวรรคที่ ๒
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กสิสูตร ๒. อุทัยสูตร ๓. เทวหิตสูตร ๔. มหาศาลสูตร
๕. มานัตถัทธสูตร ๖. ปัจจนิกสูตร ๗. นวกรรมิกสูตร ๘. กัฏฐหารสูตร
๙. มาตุโปสกสูตร ๑๐. ภิกขกสูตร ๑๑. สังครวสูตร ๑๒. โขมทุสสสูตร
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
|