พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๒-๒๒๔
พราหมณสังยุตต์
อรหันตวรรคที่ ๑
ธนัญชานีสูตรที่ ๑
[๖๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อ แก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
ก็โดยสมัยนั้นแล นางพราหมณี ชื่อธนัญชานีแห่งพราหมณ์ผู้ภารทวาชโคตร คนหนึ่ง เป็นผู้เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
[๖๒๗] ครั้งนั้นแล นางธนัญชานีพราหมณี กำลังนำภัตเข้าไปเพื่อพราหมณ์ ภารทวาชโคตร ก้าวเท้าพลาดจึงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค พระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ... ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค พระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ฯ
เมื่อนางธนัญชานีพราหมณี กล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตร ได้กล่าว กะนางธนัญชานีพราหมณีว่า ก็หญิงถ่อยนี้กล่าวคุณ ของสมณะโล้นอย่างนี้อย่างนี้ ไม่ว่า ที่ไหนๆ แน่ะหญิงถ่อย บัดนี้ เราจักยกวาทะต่อพระศาสดานั้นของเจ้า
นางธนัญชานีพราหมณีกล่าวว่า พราหมณ์ ฉันยังไม่เห็นบุคคล ผู้จะพึงยกถ้อยคำ ต่อพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นในโลก พร้อมด้วยเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมด้วยสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ข้าแต่พราหมณ์ เอาเถิด ท่านจงไป แม้ไปแล้วก็จักรู้
[๖๒๘] ลำดับนั้นแล พราหมณ์ภารทวาชโคตรโกรธขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง
พราหมณ์ภารทวาชโคตรนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะพระผู้มี พระภาค ด้วยคาถาว่า บุคคลฆ่าอะไรได้ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไรได้ ย่อมไม่ เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อม ชอบใจการฆ่าธรรม อะไรเป็นธรรมอันเอก
[๖๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลฆ่าความโกรธได้ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ ย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรพราหมณ์ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญ การฆ่าความโกรธ อันมีมูลเป็นพิษ มีที่สุดอันคืนคลาย เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้น ได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
[๖๓๐] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศ พระธรรม โดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็น สรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ
พราหมณ์ภารทวาชโคตร ได้บรรพชาได้อุปสมบทแล้ว ในสำนักของพระผู้มี พระภาค ก็ท่านพระภารทวาช อุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียวไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ มีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเอง ในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระภารทวาช ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดา พระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๔-๒๒๖
อักโกสกสูตรที่ ๒
[๖๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทาน เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของ พระสมณโคดมแล้ว ดังนี้โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาค ด้วยวาจา อันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ
[๖๓๒] เมื่ออักโกสกภารทวาชพราหมณ์ กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะ อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของท่าน ย่อมมาบ้างไหม
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า พระโคดมผู้เจริญ มิตรและอำมาตย์ญาติ สาโลหิต ผู้เป็นแขกของข้าพระองค์ ย่อมมาเป็นบางคราว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน ท่านจัดของเคี้ยวของบริโภค หรือของดื่มต้อนรับมิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างหรือไม่
อ. พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ จัดของเคี้ยวของบริโภค หรือของดื่มต้อนรับ มิตร และอำมาตย์ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้น บ้างในบางคราว
พ. ดูกรพราหมณ์ ก็ถ้าว่ามิตร และอำมาตย์ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้น ไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคห รือของดื่มนั้นจะเป็นของใคร
อ. พระโคดมผู้เจริญ ถ้าว่ามิตร และอำมาตย์ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้น ไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภค หรือของดื่มนั้น ก็เป็นของข้าพระองค์อย่างเดิม
พ. ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเรา ผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเรา ผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับเรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่าน นั้น ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้น ก็เป็นของท่านผู้เดียว ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้น ก็เป็นของท่านผู้เดียว แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรพราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่ ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคด้วยกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภค ร่วม ไม่กระทำตอบด้วย ท่านเป็นอันขาด ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้น เป็นของท่านผู้เดียว ดูกรพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว
อ. บริษัทพร้อมด้วยพระราชา ย่อมทราบพระโคดมผู้เจริญ อย่างนี้ว่า พระสมณโคดม เป็นพระอรหันต์ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระโคดมผู้เจริญ จึงยังโกรธอยู่เล่า
[๖๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนแล้วมีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หลุดพ้น แล้ว เพราะรู้ชอบ สงบ คงที่อยู่ ความโกรธจักมีมาแต่ ที่ไหน ผู้ใดโกรธตอบ บุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามก กว่าบุคคลนั้นแหละ เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่ โกรธตอบ บุคคลผู้โกรธแล้ว ชื่อว่า ย่อมชนะสงครามอัน บุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์ แก่ทั้งสอง ฝ่าย คือแก่ตนและแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์ อยู่ทั้งสองฝ่าย คือของตน และของบุคคลอื่น ชนทั้งหลาย ผู้ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา ดังนี้
[๖๓๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศ พระธรรม โดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนัก ของพระโคดมผู้เจริญ
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชาได้อุปสมบทแล้ว ในสำนักของพระผู้มี พระภาค ก็ท่านอักโกสกภารทวาช อุปสมบทแล้วไม่นานแล หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ อันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ออกจากเรือน บวชเป็น บรรพชิตโดยชอบมีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเอง ในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีก เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระอักโกสกภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์ รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๖-๒๒๘
อสุรินทกสูตรที่ ๓
[๖๓๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาช-*โคตร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของพระสมณโคดม โกรธ ขัดใจเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่า บริภาษพระผู้มีพระภาคด้วยวาจา อันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ
เมื่ออสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ทรงนิ่งเสีย
ลำดับนั้นแล อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว
[๖๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนพาลกล่าวคำหยาบ ด้วยวาจา ย่อมสำคัญว่า ชนะทีเดียว แต่ ความอดกลั้นได้เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่ ผู้ใด โกรธตอบ บุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลผู้ โกรธแล้ว เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคล ผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงคราม อันบุคคลชนะได้โดยยาก
ผู้ใดรู้ว่า ผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบอยู่ได้ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมประพฤติประโยชน์แก่ ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตนและแก่ผู้อื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์ อยู่ทั้งสองฝ่าย คือของตน และของ ผู้อื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา ดังนี้
[๖๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศ พระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่าคนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดม ผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์ พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ
อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชา ได้อุปสมบทแล้ว ในสำนักของพระผู้มี พระภาค ก็ท่านอสุรินทกภารทวาชะ อุปสมบทแล้วไม่นานแล หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้ง ซึ่งคุณวิเศษอัน ยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือน บวชเป็น บรรพชิต โดยชอบ มีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเอง ในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระอสุรินทกภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์ รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๘-๒๒๙
พิลังคิกสูตรที่ ๔
[๖๓๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตร ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระสมณโคดม ดังนี้ โกรธ ขัดใจเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
[๖๓๙] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตก แห่งใจของพิลังคิก ภารทวาชพราหมณ์ ด้วยพระหฤทัยแล้ว ได้ตรัสกะพิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ ด้วย พระคาถา ว่า ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย เป็นบุรุษผู้หมดจด ไม่มีกิเลส เป็นเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับสนองผู้นั้น ผู้เป็น พาลนั่นเอง เปรียบเหมือนธุลี อันละเอียด ที่บุคคลซัดไปสู่ ที่ทวนลม ฉะนั้น
[๖๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศ พระธรรมโ ดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่าคนมีจักษุ ย่อมเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ
พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชา ได้อุปสมบทแล้ว ในสำนักของพระผู้มี พระภาค ก็ท่านพิลังคิกภารทวาช อุปสมบทแล้วไม่นานแล หลีกไปอยู่ผู้เดียวไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้ง ซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ มีความต้องการด้วยปัญญา เป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้ เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่าชาติ สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็น อย่างนี้ มิได้มี ก็แหละท่านภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ ทั้งหลาย ดังนี้แล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๙-๒๓๐
อหิงสกสูตรที่ ๕
[๖๔๑] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้นแล อหิงสกภารทวาชพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ ครั้นแล้ว สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
อหิงสกภารทวาชะพราหมณ์ นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อว่า อหิงสกะ ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อว่าอหิงสกะ
[๖๔๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าว่าท่านมีชื่อว่าอหิงสกะ ท่านพึงเป็นผู้ไม่ เบียดเบียน ด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ชื่อว่า อหิงสกะ โดยแท้ เพราะไม่เบียดเบียนซึ่งผู้อื่น
[๖๔๓] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว อหิงสกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ก็แหละพระอหิงสก ภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายดังนี้แล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๐-๒๓๑
ชฏาสูตรที่ ๖
[๖๔๔] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้นแล ชฏาภารทวาชพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับครั้นแล้ว สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
[๖๔๕] ชฏาภารทวาชพราหมณ์ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มี พระภาค ด้วยคาถาว่า ตัณหาพายุ่งในภายใน พายุ่งในภายนอก หมู่สัตว์ถูก ตัณหา พายุ่งรัดรึงไว้แล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ ขอทูลถาม พระองค์ว่า ใครพึงสางตัณหาพายุ่งนี้ได้
[๖๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุใดเป็นคนมีปัญญา ตั้งมั่นอยู่ในศีล อบรมจิต และปัญญา ให้เจริญ มีความเพียร มีปัญญารักษาตน ภิกษุนั้นพึงสาง ตัณหาพายุ่งนี้ได้ ราคะโทสะ และอวิชชา อันชนเหล่าใด สำรอกแล้ว ชนเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะ สิ้นแล้ว ตัณหาพายุ่งอันชนเหล่านั้นสางได้แล้ว นามและรูปย่อมดับไป ไม่เหลือในที่ใด ปฏิฆสัญญา รูปสัญญา และตัณหาพายุ่ง นั่น ย่อมขาดไปในที่นั้น
[๖๔๗] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว ชฏาภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ก็แหละท่านชฏาภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๑
สุทธิกสูตรที่ ๗
[๖๔๘] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้นแล สุทธิกภารทวาชพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ ครั้นแล้ว สนทนาปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
[๖๔๙] สุทธิกภารทวาชพราหมณ์ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถา นี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า พราหมณ์บางคน ในโลกแม้เป็นผู้มีศีล กระทำตบะอยู่ ย่อม หมดจดไม่ได้ พราหมณ์นั้นถึงพร้อมแล้ว ด้วยวิชชาและจรณะ ย่อมหมดจดได้ หมู่สัตว์อื่นนอกนี้ ย่อมหมดจดไม่ได้
[๖๕๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พราหมณ์ผู้กล่าวถ้อยคำแม้มาก เป็นผู้เน่าและ เศร้าหมองใน ภายใน อาศัยการโกหก (ลวงโลก) ย่อมไม่เป็นพราหมณ์ เพราะชาติ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และ คนเทหยากเยื่อ มีความเพียร อัน ปรารภแล้ว มีตนส่งไปแล้ว มีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ ย่อมถึงความหมดจดอย่างยิ่ง ท่าน จงรู้อย่างนี้เถิดพราหมณ์
[๖๕๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุทธิกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ก็แหละท่านพระภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๒-๒๓๓
อัคคิกสูตรที่ ๘
[๖๕๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ พระราชทาน เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
ก็โดยสมัยนั้นแล อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ปรุงข้าวปายาส ด้วยเนยใส ด้วยคิดว่า เราจักบูชาไฟ จักบำเรอการบูชาไฟ
[๖๕๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จ เข้าไป สู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาตในเวลาเช้า เสด็จไปบิณฑบาต ในกรุงราชคฤห์ ตามลำดับตรอก เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอัคคิก ภารทวาชพราหมณ์ ครั้นแล้วได้ประทับ ยืน อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
[๖๕๔] อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ประทับยืนเพื่อ บิณฑบาต ครั้นแล้วได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า พราหมณ์ผู้ถึงพร้อมแล้ว ด้วยไตรวิชชา มีชาติฟังคัมภีร์เป็น อันมาก ถึงพร้อมแล้ว ด้วยวิชชาและจรณะ พราหมณ์นั้น ควรบริโภคปายาสนี้
[๖๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พราหมณ์ผู้กล่าวถ้อยคำแม้มาก เป็นผู้เน่า และเศร้าหมอง ในภายใน อันความโกหกแวดล้อมแล้ว ย่อมไม่ชื่อว่าเป็น พราหมณ์ เพราะชาติ ผู้ใดรู้ปุพเพนิวาส และเห็นทั้งสวรรค์ ทั้งอบาย อนึ่ง ถึงความสิ้นไปแห่งชาติ เป็นมุนีผู้อยู่จบ แล้วเพราะรู้ยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้มีไตรวิชชาด้วยวิชชาสามเหล่านี้ ชื่อ ว่าเป็น พราหมณ์ผู้ถึงพร้อมแล้ว ด้วยวิชชาและจรณะ พราหมณ์ นั้นควรบริโภคปายาสนี้
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ กราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ขอเชิญบริโภคเถิด พระโคดมเป็นพราหมณ์ผู้เจริญ
[๖๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราไม่พึงบริโภคโภชนะ ที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูกรพราหมณ์ นั่นไม่ใช่ธรรมของผู้พิจารณาอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อม รังเกียจ โภชนะ ที่ได้ เพราะการขับกล่อม ดูกรพราหมณ์ เมื่อ ธรรมมีอยู่ ความเลี้ยงชีพนี้ก็ยังมี อนึ่ง ท่านจงบำรุงพระขีณาสพ ทั้งสิ้นผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มีความคะนองอันสงบแล้ว ด้วยข้าวน้ำอันอื่น เพราะว่าการบำรุงนั้น ย่อมเป็นเขตของผู้ มุ่งบุญ
[๖๕๗] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ก็แหละท่านพระภารทวาช ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๓-๒๓๖
สุนทริกสูตรที่ ๙
[๖๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา ในโกศลชนบท
ก็โดยสมัยนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ บูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟ อยู่ที่ฝั่ง แม่น้ำสุนทริกา
ลำดับนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ บูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟ แล้วลุกขึ้น จากอาสนะ เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ ด้วยคิดว่า ใครหนอควรบริโภคปายาสอันเหลือ จากการบูชานี้
[๖๕๙] สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ทรงคลุมอวัยวะ พร้อมด้วยพระเศียร ประทับนั่งที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ครั้นแล้วถือข้าวปายาสที่เหลือ จากการบูชาไฟด้วยมือซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยมือขวา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปิดพระเศียร ด้วยเสียงเท้าของสุนทริก ภารทวาช พราหมณ์ ครั้งนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กล่าวว่า นี้พระสมณะโล้นผู้เจริญนี้ พระสมณะโล้นผู้เจริญ แล้วประสงค์จะกลับจากที่นั้นทีเดียว
ลำดับนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้มีความดำริว่า พราหมณ์บางพวก ในโลกนี้ เป็นผู้โล้นบ้างก็มี ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปหาพระสมณะผู้โล้นนั้นแล้วถามถึงชาติ
ลำดับนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านเป็นชาติอะไร
[๖๖๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านอย่าถามถึงชาติ แต่จงถามถึงความ ประพฤติเถิด ไฟย่อม เกิดจากไม้แล บุคคลแม้เกิดในตระกูลต่ำเป็นมุนี มีความเพียร เป็นผู้รู้ทั่วถึงเหตุ ห้ามโทษเสียด้วยหิริ ฝึกตนแล้วด้วยสัจจะ ประกอบด้วยการปราบปราม ถึงที่สุดแห่งเวท มีพรหมจรรย์ อันอยู่จบแล้ว ผู้ใดมียัญอันน้อมเข้าไปแล้ว บูชา พราหมณ์ผู้ นั้น ผู้นั้นชื่อว่าย่อมบูชาพระทักขิไณยบุคคลโดยกาล
[๖๖๑] สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่าการบูชานี้ของข้าพระองค์ เป็นอันบูชาดีแล้ว เซ่นสรวงดีแล้ว เป็นแน่ เพราะข้าพระองค์ได้พบผู้ถึงเวทเช่นนั้น และเพราะ ข้าพระองค์ไม่พบบุคคลเช่นพระองค์ ชนอื่นจึงบริโภคปายาส อันเหลือ จากการบูชา
สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ กราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญเป็นพราหมณ์ เชิญบริโภคเถิด
[๖๖๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราไม่บริโภคโภชนะที่ขับด้วยคาถา ดูกรพราหมณ์ นั่นไม่ใช่ ธรรมของผู้พิจารณาอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมบรรเทา โภชนะที่ขับด้วยคาถา ดูกรพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ นั่น เป็นความประพฤติ อนึ่ง ท่านจงบำรุงพระขีณาสพทั้งสิ้น ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มีความคะนองอันสงบแล้ว ด้วยสิ่ง อื่นคือข้าวน้ำ เพราะว่าการบำรุงนั้น ย่อมเป็นเขตของผู้มุ่งบุญ
[๖๖๓] ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้นข้าพระองค์ จะให้ปายาสอันเหลือจากการบูชานี้แก่ใคร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดา และมนุษย์ ซึ่งจะบริโภคปายาส ที่เหลือจากการบูชานี้แล้ว จะพึงถึงความย่อยไปโดยชอบ นอกจาก ตถาคต หรือสาวกของตถาคต ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงทิ้งปายาสอันเหลือ จากการบูชานั้น ณ ที่ปราศจากของเขียว หรือทิ้งให้จมลงไปในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์
[๖๖๔] ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ทิ้งปายาสอันเหลือจากการบูชา นั้น ให้จมลงไปในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์
ครั้งนั้นแล ปายาสอันเหลือจากการบูชานั้น อันสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ เทลงแล้วในน้ำย่อมมีเสียงดัง วิจิฏะ วิฏิจิฏะ และเดือดเป็นควันกลุ้ม เหมือนอย่างผาล ที่ร้อนแล้วตลอดอัน อันบุคคลใส่ลงแล้วในน้ำ ย่อมมีเสียงดัง วิจิฏะวิฏิจิฏะ และเดือด
เป็นควันคลุ้ม ฉะนั้น
ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ หลากใจเกิดขนชูชัน เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ยืนอยู่ในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
[๖๖๕] พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ผู้ยืนอยู่ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านเผาไม้อยู่ อย่าสำคัญซึ่ง ความบริสุทธิ์ ก็ การเผาไม้นี้ เป็นของภายนอก ผู้ฉลาดทั้งหลายย่อมไม่กล่าว ความบริสุทธิ์ด้วยการเผาไม้นั้น ดูกรพราหมณ์ เราละการ เผาไม้ซึ่งบุคคลพึงปรารถนา ความบริสุทธิ์ ด้วยการเผาไม้อันเป็น ของมีในภายนอก แล้วยังไฟ คือญาณให้โพลง ภายใน ตนที เดียว เราเป็นพระอรหันต์ มีไฟอันโพลงแล้วเป็นนิตย์ มี จิตตั้งไว้ชอบแล้ว เป็นนิตย์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ดูกร- พราหมณ์ มานะแลเป็นดุจภาระคือ หาบของท่าน ความ โกรธดุจควัน มุสาวาทเป็นดุจเถ้า ลิ้นเป็นประดุจภาชนะ เครื่องบูชา หทัยเป็นที่ตั้ง กองกูณฑ์ ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็น ความรุ่งเรืองของบุรุษ
ดูกรพราหมณ์ บุคคลผู้ถึงเวททั้งหลาย นั้นแล อาบในห้วงน้ำ คือธรรมของบุรุษ ทั้งหลาย มีท่าคือศีล ไม่ขุ่นมัว อันบัณฑิต ทั้งหลายสรรเสริญแล้ว มีตัวไม่เปียก แล้ว ย่อมข้ามถึงฝั่ง ดูกรพราหมณ์ สัจจะธรรม ความ สำรวม พรหมจรรย์ การถึงธรรมอัน ประเสริฐ อาศัยใน ท่ามกลาง ท่านจงกระทำความนอบน้อม ในพระขีณาสพผู้ตรง ทั้งหลาย เรากล่าวคนนั้นว่า ผู้มีธรรมเป็นสาระ
[๖๖๖] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ก็แหละท่านพระภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๖-๒๓๙
พหุธิติสูตรที่ ๑๐
[๖๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในชัฏป่าแห่งหนึ่ง ในโกศลชนบท ก็โดยสมัยนั้นแล โคใช้ ๑๔ ตัว ของพราหมณ์ภารทวาชโคตรคนหนึ่งหายไป
[๖๖๘] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ภารทวาชโคตร เที่ยวแสวงหาโคใช้เหล่านั้นอยู่ เข้าไปถึงชัฏป่านั้น ครั้นแล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในชัฏป่านั้นทรงคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ทรงดำรงพระสติเฉพาะพระพักตร์ ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า โคใช้ ๑๔ ตัว ของพระสมณะนี้ไม่มีแน่ แต่ของเราหายไป ได้ ๖๐ วันเข้าวันนี้ เพราะเหตุนั้น พระสมณะนี้ จึงเป็นผู้มี ความสุข งาทั้งหลายอันเลว มีใบหนึ่งและสองใบในไร่ ของ พระสมณะนี้ ไม่มีเป็นแน่
เพราะเหตุนั้น พระสมณะนี้จึง เป็นผู้มีความสุข หนูทั้งหลายในฉางเปล่า ย่อมไม่รบกวนแก่ พระสมณะนี้ด้วยการยกหูหางขึ้น แล้วกระโดดโลดเต้นเป็นแน่ เพราะเหตุนั้น พระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข เครื่องลาด ของพระสมณะนี้ ใช้ตั้งเจ็ดเดือน ไม่ดาดาษแล้ว ด้วยสัตว์ ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นเป็นแน่ เพราะเหตุนั้น พระสมณะนี้จึง เป็นผู้มีความสุข หญิงหม้าย บุตรธิดามีบุตรคนหนึ่งและ สองคนของ พระสมณะนี้ ย่อมไม่มีแน่
เพราะเหตุนั้น พระ- สมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข แมลงวันมีตัวอันลาย ไต่ตอม บุคคลผู้หลับด้วยเท้า ย่อมไม่ไต่ตอมพระสมณะนี้เป็นแน่ เพราะเหตุนั้น พระสมณะนี้ จึงเป็นผู้มีความสุข ในเวลาใกล้ รุ่ง เจ้าหนี้ทั้งหลาย ย่อมไม่ทวงพระสมณะนี้ว่า ท่าน ทั้งหลายจงให้ ท่านทั้งหลายจงให้ ดังนี้เป็นแน่ เพราะเหตุนั้น พระสมณะนี้จึงเป็น ผู้มีความสุข
[๖๖๙] พระผู้มีพระภาคได้ภาษิตพระคาถาตอบว่า
ดูกรพราหมณ์ โคใช้ ๑๔ ตัวของเราไม่มีเลย แต่ของท่าน หายไปได้ ๖๐ วันเข้าวันนี้ ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข
ดูกรพราหมณ์ งาทั้งหลายอันเลวมี ใบหนึ่งและสองใบในไร่ ของเราไม่มีเลย ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข
ดูกรพราหมณ์ หนู ทั้งหลายในฉางเปล่า ย่อมไม่รบกวนเราเลย ด้วยการยกหูหาง ขึ้นแล้วกระโดดโลดเต้น ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข
ดูกรพราหมณ์ เครื่องลาดของเราใช้ตั้ง เจ็ดเดือนไม่ดาดาษเลย ด้วยสัตว์ทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้น ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข
ดูกรพราหมณ์ หญิงหม้าย บุตรธิดามีบุตรคนหนึ่ง และสองคน ของเราไม่มีเลย ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข
แมลงวันมีตัวอันลาย ไต่ตอมบุคคล ผู้หลับด้วยเท้า ย่อมไม่ไต่ตอมเราเลย
ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้ มีความสุข
ดูกรพราหมณ์ ในเวลาใกล้รุ่ง เจ้าหนี้ทั้งหลาย ย่อมไม่ทวงเราเลยว่า ท่านทั้งหลายจงให้ ท่านทั้งหลายจงให้ ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข
[๖๗๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศ พระธรรม โดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระสมณโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ
พราหมณ์ภารทวาชโคตร ได้บรรพชา ได้อุปสมบทแล้ว ในสำนักของพระผู้มี พระภาค ก็ท่านพระภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียวไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ มีความต้องการ ด้วยปัญญาเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้ เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ก็แหละท่านพระภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ ทั้งหลาย ดังนี้แล
จบ อรหันตวรรค ที่ ๑
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รวมพระสูตรในวรรคนี้ ๑๐ สูตร คือ
ธนัญชานีสูตร ๑ อักโกสกสูตร ๑ อสุรินทกสูตร ๑ พิลังคิกสูตร ๑
อหิงสกสูตร ๑ ชฏาสูตร ๑ สุทธิกสูตร ๑ อัคคิกสูตร ๑ สุนทริกสูตร ๑ พหุธิติสูตร ๑
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
|