พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๐-๑๘๑
ภิกขุนีสังยุต
อาฬวิกาสูตรที่ ๑
[๕๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ครั้งนั้น เวลาเช้า อาฬวิกา ภิกษุณี นุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาต ไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต มีความต้องการด้วยวิเวก จึงเข้าไปในป่าอันธวัน
[๕๒๓] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ใคร่จะให้อาฬวิกาภิกษุณี บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากวิเวก จึงเข้าไปหา อาฬวิกาภิกษุณีถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะอาฬวิกาภิกษุณี ด้วยคาถาว่า ในโลก ไม่มีทางออกไปจากทุกข์ได้ ท่านจักทำอะไรด้วย วิเวก จงเสวยความยินดีในกามเถิด อย่าได้มีความเดือดร้อน ในภายหลังเลย
[๕๒๔] ลำดับนั้น อาฬวิกาภิกษุณี ได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์
ทันใดนั้น อาฬวิกาภิกษุณี ได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เรา บังเกิด ความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจาก วิเวก จึงกล่าวคาถา
ครั้นอาฬวิกาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาป ด้วยคาถาว่า ในโลกนี้มีทางออกไปจากทุกข์ได้ เรารู้ชัดดีแล้วด้วยปัญญา ดูกรมารผู้มีบาป ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท ท่านไม่รู้จัก ทางนั้น กามทั้งหลาย เปรียบด้วยหอกและหลาว กองกาม ทั้งหลายนั้นประหนึ่งว่าผีร้าย เราไม่ใยดี ถึงความยินดีในกามที่ ท่านกล่าวถึงนั้น
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า อาฬวิกาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้จึงได้ อันตรธาน ปในที่นั้นเอง
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๑-๑๘๒
โสมาสูตรที่ ๒
[๕๒๕] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้น เวลาเช้า โสมาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยัง พระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาต ไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจาก บิณฑบาต แล้ว เข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวัน ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
[๕๒๖] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ใคร่จะให้ โสมาภิกษุณี บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหา โสมาภิกษุณี ถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะโสมาภิกษุณี ด้วยคาถาว่า สตรีมีปัญญา เพียงสองนิ้ว ไม่อาจถึงฐานะ อันจะพึงอดทนได้ ด้วยยาก ซึ่งท่านผู้แสวงทั้งหลาย จะพึงถึงได้
[๕๒๗] ลำดับนั้น โสมาภิกษุณี ได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็นมนุษย์ หรืออมนุษย์
ทันใดนั้น โสมาภิกษุณี ได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เราบังเกิด ความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา
ครั้นโสมาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาป
ด้วยคาถาว่า ความเป็นสตรีจะทำอะไรได้ เมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อญาณ เป็นไปแก่ ผู้เห็นธรรมอยู่ โดยชอบ ผู้ใดจะพึงมีความคิดเห็น แน่อย่างนี้ว่า เราเป็นสตรี หรือว่าเรา
เป็นบุรุษ หรือจะยังมี ความเกาะเกี่ยวว่า เรามีอยู่ มารควรจะกล่าวกะผู้นั้น
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า โสมาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้จึงได้ อันตรธานไป ในที่นั้นเอง
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๒-๑๘๓
โคตมีสูตรที่ ๓
[๕๒๘] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้น เวลาเช้า กิสาโคตมี ภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตใน พระนคร สาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจาก บิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักผ่อนกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
[๕๒๙] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ใคร่จะให้ กิสาโคตมีภิกษุณี บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหา กิสาโคตมีภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะกิสาโคตมีภิกษุณีด้วยคาถาว่า ท่านมีบุตรตายแล้ว มานั่งอยู่คนเดียว มีหน้าเหมือนคน ร้องไห้ มาอยู่กลางป่าคนเดียว กำลังแสวงหาบุรุษบ้างหรือ หนอ
[๕๓๐] ลำดับนั้น กิสาโคตมีภิกษุณี ได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ทันใดนั้น กิสาโคตมีภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้
เคลื่อน จากสมาธิ จึงกล่าวคาถา
ครั้นกเีภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาป ด้วย คาถาว่า เรามีบุตรตายแล้ว เหมือนความตายของบุตร ถึงที่สุดแล้ว บุรุษทั้งหลาย ก็มี ความตายของบุตรนี้เป็นที่สุดเหมือนกัน เรา ไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ ไม่กลัวความ ตาย นั้นดอก ฯ ผู้มีอายุ ความเพลิดเพลินในส่วนทั้งปวง เรากำจัดแล้ว กองมืดเราทำลาย แล้ว เราชนะเสนาแห่งมัจจุแล้ว ไม่มี อาสวะอยู่
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า กิสาโคตมีภิกษุณี รู้จักเราดังนี้ จึงได้ อันตรธานไปในที่นั้นเอง
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๓-๑๘๔
วิชยาสูตรที่ ๔
[๕๓๑] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้น เวลาเช้า วิชยาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร ฯลฯ จึงนั่งพักกลางวัน ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
[๕๓๒] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ใคร่จะให้ วิชยาภิกษุณี บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหา วิชยาภิกษุณี ถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะวิชยาภิกษุณีด้วยคาถาว่า เธอยังเป็นสาว มีรูปงาม และฉันก็ยังเป็นหนุ่มแน่น มาเถิด นาง เรามาอภิรมย์ กันด้วยดนตรี มีองค์ห้า
[๕๓๓] ลำดับนั้น วิชยาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็น มนุษย์หรืออมนุษย์
ทันใดนั้น วิชยาภิกษุณี ได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เราบังเกิด ความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงได้กล่าวคาถา
ครั้นวิชยาภิกษุณี ทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาป ด้วยคาถาว่า ดูกรมาร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่ารื่นรมย์ใจ เราขอมอบให้ท่าน ผู้เดียว เพราะเราไม่ต้องการมัน เราอึดอัด ระอาด้วยกายเน่า อันจะแตกทำลาย เปื่อยพังไป นี้ กาม ตัณหา เราถอนได้แล้ว ความมืดในรูปภพ ที่สัตว์ทั้งหลาย เข้าถึง ในอรูปภพที่สัตว์ทั้งหลาย เป็นภาคี และในสมาบัติอัน สงบทั้งปวง เรากำจัดได้แล้ว
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า วิชยาภิกษุณีรู้จักเราดังนี้ จึงได้ อันตรธานไป ในที่นั้นเอง
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๔-๑๘๕
อุบลวรรณาสูตรที่ ๕
[๕๓๔] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้น เวลาเช้า อุบลวรรณาภิกษุณี นุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร ฯลฯ ได้ยืนอยู่ที่โคน ต้นสาลพฤกษ์ ซึ่งมีดอกบานสะพรั่ง ต้นหนึ่ง
[๕๓๕] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ใคร่จะให้ อุบลวรรณาภิกษุณี บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหา อุบลวรรณาภิกษุณี ถึงที่ที่ยืนอยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะอุบลวรรณาภิกษุณี ด้วยคาถาว่า
ดูกรภิกษุณี ท่านคนเดียว เข้ามายังต้นสาลพฤกษ์ ซึ่งมีดอก บานสะพรั่ง ตลอด ยอด แล้วยืนอยู่ที่โคนต้นสาลพฤกษ์ ก็ ฉวีวรรณของท่านไม่มีที่สอง คนทั้งหลายก็จะมา ในที่นี้ เช่นท่าน ท่านกลัวพวกนักเลงเพราะความเขลาหรือ
[๕๓๖] ลำดับนั้น อุบลวรรณาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์
ทันใดนั้น อุบลวรรณาภิกษุณี ได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เรา บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจาก สมาธิ จึงกล่าวคาถา
ครั้นอุบลวรรณาภิกษุณี ทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะ มารผู้มีบาป ด้วยคาถาว่า แม้นักเลงตั้งแสนมาในที่นี้ ก็ตามเถิด เราไม่สะเทือนขน ไม่สะดุ้ง ดูกรมาร ถึงเราคนเดียว ก็ไม่กลัวท่าน ฯ เรานี้จะหายตัว หรือเข้าท้องพวกท่าน แม้จะยืนอยู่ ณ ระหว่าง ดวงตาบนดั้งจมูก ท่านจักไม่เห็นเรา ฯ เราเป็นผู้ชำนาญในจิต อิทธิบาทเราเจริญดีแล้ว เราพ้นแล้ว จากเครื่องผูกทุกชนิด เราไม่กลัวท่านดอก ท่านผู้มีอายุ
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า อุบลวรรณาภิกษุณี รู้จักเราดังนี้ จึงได้ อันตรธานไปในที่นั้นเอง
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๕-๑๘๖
จาลาสูตรที่ ๖
[๕๓๗] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้น เวลาเช้า จาลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาต ยังพระนคร สาวัตถี เที่ยวบิณฑบาต ไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาต แล้ว เข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้วจึงนั่งพักกลางวัน ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
[๕๓๘] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ใคร่จะให้ จาลาภิกษุณี บังเกิดความกลัวความ หวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหา จาลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะจาลาภิกษุณีว่า ดูกรภิกษุณีท่านไม่ชอบใจ อะไรหนอ
จาลาภิกษุณีตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราไม่ชอบความเกิดเลย
[๕๓๙] ม. เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงไม่ชอบความเกิดผู้เกิดมาแล้วย่อม บริโภคกาม ใครหนอให้ท่านยึดถือเรื่องนี้ อย่าเลยภิกษุณี ท่านจงชอบความเกิดขึ้น
[๕๔๐] จา. ความตายย่อมมีแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ผู้ที่เกิดมาแล้วย่อมพบ เห็นทุกข์ คือ การจองจำ การฆ่า ความเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ชอบความเกิด
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เป็นเครื่องก้าวล่วงความเกิด พระองค์สอนให้เรา ตั้งอยู่ในสัจจะ ๑- เพื่อละทุกข์ทั้งมวล ฯ สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพ และสัตว์เหล่าใด เป็นภาคีแห่ง อรูปภพ สัตว์เหล่านั้นเ มื่อยังไม่รู้นิโรธ ต้องมาสู่ภพอีก
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า าลาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้จึงได้ อันตรธาน ไป ในที่นั้นเอง
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๖-๑๘๗
อุปจาลาสูตรที่ ๗
[๕๔๑] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้น เวลาเช้า อุปจาลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยัง พระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปใน พระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจาก บิณฑบาต แล้วเข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพัก กลางวันอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
[๕๔๒] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ใคร่จะให้ อุปจาลาภิกษุณี บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหา อุปจาลาภิกษุณี ถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะอุปจาลาภิกษุณีว่า ดูกรภิกษุณี อย่างไร หนอท่าน จึงอยากจะเกิด
อุปจาลาภิกษุณีตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราไม่อยากเกิดในที่ไหนๆเลย
[๕๔๓] ม. ท่านจงตั้งจิตไว้ในพวกเทพ ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยาม ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นวสวดีเถิด ท่านจักได้เสวยความ ยินดี
@๑ หมายเอาพระนิพพาน
[๕๔๔] อุ. พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ชั้นยาม ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นวสวดี ยังผูกพัน อยู่ด้วยเครื่องผูกคือกาม จำต้อง กลับมาสู่อำนาจมารอีก โลกทั้งหมดเร่าร้อน โลกทั้งหมด คุเป็นควัน โลกทั้งหมดลุกโพลง โลกทั้งหมดสั่น สะเทือน ใจของเรายินดี แน่ว ในพระนิพพาน อันไม่สั่นสะเทือน อันไม่หวั่นไหว ที่ปุถุชนเสพไม่ได้ มิใช่คติ ของมาร
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า อุปจาลาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้จึงได้ อันตรธานไปในที่นั้นเอง
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๗-๑๘๘
สีสุปจาลาสูตรที่ ๘
[๕๔๕] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้น เวลาเช้า สีสุปจาลา ภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาต ไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจาก บิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวัน จึงนั่งพักกลางวัน ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
[๕๔๖] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป เข้าไปหา สีสุปจาลาภิกษุณี ถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะสีสุปจาลาภิกษุณีว่า ดูกรภิกษุณี ท่านชอบใจทิฐิของใครหนอ
สีสุปจาลาภิกษุณีตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราไม่ชอบใจทิฐิของใครเลย
[๕๔๗] ม. ท่านจงใจเป็นคนโล้น ปรากฏตัวเหมือนสมณะ แต่ไฉน ท่านจึงไม่ ชอบใจทิฐิ ท่านจึงประพฤติเรื่องนี้ เพราะความ งมงายดอกหรือ
[๕๔๘] สี. คนเจ้าทิฐิ ภายนอกพระศาสนานี้ ย่อมจมอยู่ใน ทิฐิทั้งหลาย เราไม่ชอบใจธรรมของพวกเขา พวกเขาเป็นคน ไม่ฉลาดต่อธรรม ยังมีพระพุทธเจ้า ผู้เสด็จอุบัติในศากยสกุล หาบุคคลอื่นเปรียบมิได้ ทรงครอบงำส่วนทั้งปวง ทรงบรรเทา เสียซึ่งมาร ไม่ปราชัยในที่ทุกสถาน ทรงพ้นแล้วในส่วน ทั้งปวง เป็นผู้อันตัณหา และทิฐิ อาศัยไม่ได้ มีพระจักษุทรง เห็นธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุธรรม เป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง ทรงน้อมไปในธรรม เป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้นเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจคำสอนของพระองค์ท่าน
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า สีสุปจาลาภิกษุณี รู้จักเราดังนี้ จึงได้ อันตรธานไปในที่นั้นเอง
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๘-๑๘๙
เสลาสูตรที่ ๙
[๕๔๙] สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้น เวลาเช้า เสลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต ยังพระนคร สาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต แล้ว เข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวัน ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
[๕๕๐] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้ เสลาภิกษุณี บังเกิดความกลัวความ หวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาเสลา ภิกษุณี ถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะเสลาภิกษุณีด้วยคาถาว่า รูปนี้ ใครสร้าง ผู้สร้างรูป อยู่ที่ไหน รูปบังเกิดในที่ไหน รูปดับไปในที่ไหน
[๕๕๑] ลำดับนั้น เสลาภิกษุณี ได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็น มนุษย์หรืออมนุษย์
ทันใดนั้น เสลาภิกษุณี ได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เราบังเกิด ความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา
ครั้นเสลาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาป ด้วยคาถาว่า รูปนี้ ไม่มีใครสร้าง อัตภาพนี้ ไม่มีใครก่อ รูปเกิดขึ้น เพราะอาศัยเหตุ ดับไป เพราะเหตุดับ พืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่บุคคลหว่านลงในนา ย่อมงอกขึ้น เพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ รสในแผ่นดิน และยาง ในพืช ฉันใด ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ๖ เหล่านี้ ก็เกิดขึ้น เพราะอาศัยเหตุ ดับไป เพราะเหตุดับ ฉันนั้น
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า เสลาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้จึงได้ อันตรธานไปในที่นั้นเอง
---------------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๙-๑๙๐
วชิราสูตรที่ ๑๐
[๕๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ครั้งนั้น เวลาเช้า วชิราภิกษุณี นุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาต ไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจาก บิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพัก กลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
[๕๕๓] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ใคร่จะให้ วชิราภิกษุณี บังเกิดความกลัว ความ หวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อน จากสมาธิ จึงเข้าไปหา วชิราภิกษุณี ถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะวชิราภิกษุณี ด้วยคาถาว่า สัตว์นี้ ใครสร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์บังเกิดใน ที่ไหน สัตว์ดับไปในที่ไหน
[๕๕๔] ลำดับนั้น วชิราภิกษุณี ได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าว คาถาจะเป็น มนุษย์หรืออมนุษย์
ทันใดนั้น วชิราภิกษุณี ได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เราบังเกิด ความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา
ครั้นวชิราภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาป แล้วจึงได้กล่าวกะ มารผู้มีบาป ด้วยคาถาว่า ดูกรมาร เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับ มาว่าสัตว์
ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่าสัตว์ ฯ เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วน ทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมี ฉันใด
เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ย่อมมี ฉันนั้น ความจริงทุกข์เท่านั้น ย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้น ไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มี อะไรดับ ฯ
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า วชิราภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้จึงได้ อันตรธานไปในที่นั้นเอง
จบภิกษุณีสังยุต
---------------------------------------------------------------------------------------------------
รวมพระสูตรในภิกขุนีสังยุตนี้มี ๑๐ สูตร คือ
อาฬวิกาสูตรที่ ๑ โสมาสูตรที่ ๒ โคตมีสูตรที่ ๓ วิชยาสูตรที่ ๔
อุบลวรรณาสูตรที่ ๕ จาลาสูตรที่ ๖ อุปจาลาสูตรที่ ๗ สีสุปจาลาสูตรที่ ๘
เสลาสูตรที่ ๙ กับวชิราสูตรครบ ๑๐ ฯ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
|