พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๕
ทุติยวรรคที่ ๒
ปาสานสูตรที่ ๑
[๔๔๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏเขตกรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในที่แจ้ง ในเวลากลางคืนอันมืด และฝนกำลังตก ประปรายอยู่
[๔๔๗] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปต้องการจะยังความกลัว ความหวาดเสียว ขนพอง สยองเกล้า ให้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไป ณ ที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ครั้นแล้ว กลิ้งศิลาก้อนใหญ่ๆ ไปใกล้พระผู้มีพระภาค
[๔๔๘] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป จึงตรัสสำทับ กะมารผู้มีบาป ด้วยพระคาถาว่า
แม้ถึงว่าท่านจะพึงกลิ้งภูเขาคิชฌกูฏหมดทั้งสิ้น ความหวั่น ไหวก็จะไม่มีแก่ พระพุทธเจ้า ทั้งหลายผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบ แน่แท้
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเราพระสุคต ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง
..................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๕-๑๕๖
สีหสูตรที่ ๒
[๔๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล พระองค์แวดล้อมด้วย บริษัทหมู่ใหญ่ ทรงแสดงธรรมอยู่
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป ได้มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมนี้แล แวดล้อม ด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ แสดงธรรมอยู่ ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปใกล้ ณ ที่พระสมณโคดม ประทับอยู่ เพื่อการกำบังจักษุเถิด
[๔๕๐] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภา ถึงที่ประทับครั้นแล้ว กล่าวกะพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า ท่านเป็นผู้องอาจในบริษัท บันลือสีหนาท ดุจราชสีห์ ฉะนั้น หรือ ก็ผู้ที่พอจะต่อสู้ท่านยังมี ท่านเข้าใจว่าเป็นผู้ชนะแล้ว หรือ
[๔๕๑] พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า ตถาคตเป็นมหาวีรบุรุษ องอาจในบริษัท บรรลุทสพลญาณ ข้าม ตัณหาอันเป็นเหตุข้องในโลกเสียได้ บันลืออยู่ โดยแท้
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเราพระสุคต ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง ..................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๖-๑๕๗
สกลิกสูตรที่ ๓
[๔๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มัททกุจฉิมิคทายวัน เขตรุงราชคฤห์
ก็โดยสมัยนั้นแล พระบาทของพระผู้มีพระภาค ถูกสะเก็ดหินเจาะแล้วได้ยินว่า เวทนาทั้งหลาย อันยิ่ง เป็นไปในพระสรีระ เป็นทุกข์ แรงกล้า เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ทรงสบาย ย่อมเป็นไปแด่พระผู้มีพระภาค พระองค์มีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้น ซึ่งเวทนาเหล่านั้น ไม่กระสับกระส่าย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ลาดผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น แล้วสำเร็จ สีหไสยา โดยพระปรัศเบื้องขวา พระบาทซ้ายเหลื่อมพระบาทขวา มีพระสติสัมปชัญญะ
[๔๕๓] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ แล้วทูลถาม พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ท่านนอนด้วยความเขลา หรือมัวเมาคิดกาพย์กลอนอยู่ ประโยชน์ทั้งหลายของท่านไม่มีมาก ท่านอยู่ ณ ที่นั่งที่นอน อันสงัดแต่ผู้เดียว ตั้งหน้า นอนหลับ นี่อะไร ท่านหลับ ทีเดียวหรือ
[๔๕๔] พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า เราไม่ได้นอนด้วย ความเขลา ทั้งมิได้ มัวเมาคิดกาพย์กลอนอยู่ เราบรรลุประโยชน์แล้วปราศจากความโศก อยู่ ณ ที่นั่งที่นอน อันสงัดแต่ผู้เดียว นอนรำพึงด้วยความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
ลูกศรเข้าไปในอกของชนเหล่าใด ร้อยหทัยให้ลุ่มหลงอยู่ แม้ ชนเหล่านั้น ในโลกนี้ ผู้มีลูกศรเสียบอกอยู่ ยังได้ความหลับ เราผู้ปราศจากลูกศรแล้ว ไฉนจะ ไม่หลับเล่า
เราเดินทางไปในทางที่มีราชสีห์เป็นต้น ก็มิได้หวาดหวั่น ถึง หลับในที่เช่นนั้น ก็มิได้กลัวเกรง กลางคืนและกลางวันย่อม ไม่ทำให้เราเดือดร้อน เราย่อมไม่พบเห็น ความเสื่อมอะไรๆ ในโลก ฉะนั้น เราผู้มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวงจึงนอนหลับ
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเราพระสุคต ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง
..................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๗-๑๕๘
ปฏิรูปสูตรที่ ๔
[๔๕๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ศาลาหลังหนึ่ง ในพราหมณคามในแคว้นโกศล
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยคฤหัสถ์ บริษัทหมู่ใหญ่ทรง แสดงธรรมอยู่
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปได้มีความคิดขึ้นว่า พระสมณโคดมนี้ แวดล้อมด้วย คฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่ ทรงแสดงธรรมอยู่ ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปใกล้พระสมณโคดม ถึงที่ประทับ เพื่อการกำบังจักษุเถิด
[๔๕๖] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ท่านพร่ำสอนผู้อื่นด้วยสิ่งใด สิ่งนั้นไม่สมควร แก่ท่าน เมื่อ ท่านกล่าวถึงธรรมนั้น อย่าได้ข้องอยู่ในความยินดียินร้าย
[๔๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระสัมพุทธเจ้ามีปรกติอนุเคราะห์ ด้วยจิต อันเกื้อกูล ทรงพร่ำ สอนผู้อื่นด้วยสิ่งใด ตถาคตมีจิตหลุดพ้น จากความยินดียินร้าย ในสิ่งนั้นแล้ว
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเราพระสุคต ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง
..................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๘
มานสสูตรที่ ๕
[๔๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
[๔๕๙] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า บ่วงใดมีใจไปได้ในอากาศ กำลังเที่ยวไป ข้าพระองค์จักคล้อง พระองค์ไว้ด้วยบ่วงนั้น สมณะ ท่านไม่พ้นเรา
[๔๖๐] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราหมดความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็น ของรื่นรมย์ใจแล้ว แน่ะมาร เรากำจัดท่านได้แล้ว
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต ทรง รู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง
..................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๙-๑๖๐
ปัตตสูตรที่ ๖
[๔๖๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วย อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ภิกษุเหล่านั้นทำในใจ ให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมนี้แล ยังภิกษุทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ ๕ ก็ภิกษุเหล่านั้น ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสต ลงสดับ ธรรมอยู่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปใกล้พระสมณโคดม ถึงที่ประทับ เพื่อการกำบังตาเถิด
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้วางบาตรเป็นอันมากไว้ในที่กลางแจ้ง
[๔๖๒] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปแปลงเพศเป็นโค เดินไปยังที่บาตรเหล่านั้นวางอยู่
ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจึงบอกกะภิกษุ อีกรูปหนึ่งว่า ภิกษุๆ โคนั้นพึงทำบาตร ทั้งหลายให้แตก
เมื่อภิกษุนั้นพูดอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ภิกษุนั่น มิใช่โค นั่นเป็นมารผู้มีบาป มาเพื่อกำบังตาพวกเธอ
[๔๖๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ผู้นี้เป็นมารผู้มีบาป
จึงตรัสกะ มารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า พระอริยสาวก ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อย่างนี้ว่า เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ของเรา แม้มารและเสนามารแสวงหา อยู่ในที่ทั้งปวง ก็ไม่พบอริยสาวก ผู้เบื่อหน่ายแล้วอย่างนี้ มีอัตภาพอันเกษม ล่วงพ้น สังโยชน์ ทั้งปวงแล้ว
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเราพระสุคต ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง
..................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๐-๑๖๑
อายตนสูตรที่ ๗
[๔๖๔] ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเมือง เวสาลี
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา เกี่ยวด้วยผัสสายตนะ ๖
ก็ภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสต ลงสดับธรรมอยู่
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมนี้แล ยังภิกษุทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยผัสสายตนะ ๖ และภิกษุเหล่านั้น ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลง สดับธรรมอยู่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปเฝ้าพรสมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อการกำบังตาเถิด
[๔๖๕] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับครั้นแล้ว ได้ร้องเสียงดังพิลึกพึงกลัว ประดุจแผ่นดินจะถล่ม ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวกะภิกษุอีกรูปหนึ่งอย่างนี้ว่า ภิกษุ ภิกษุแผ่นดินนี้ เห็นจะถล่มเสียละกระมัง
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ แผ่นดินนี้ย่อมไม่ถล่ม ดูกรภิกษุ นั่นมารผู้มีบาปมาแล้ว เพื่อกำบังตาพวกเธอ
[๔๖๖] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี้เป็นมารผู้มีบาป จึงตรัสกะ มารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งสิ้นนี้ เป็นโลกามิสอันแรงกล้า โลกหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านี้ ส่วนสาวกของพระพุทธเจ้า มีสติ ก้าวล่วงโลกามิสนั้น และ ก้าวล่วงบ่วงมารแล้ว รุ่งเรืองอยู่ดุจพระอาทิตย์ ฉะนั้น
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเราพระสุคต ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง
..................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๑-๑๖๒
ปิณฑิกสูตรที่ ๘
[๔๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บ้านพราหมณ์ในปัญจสาลคาม แคว้นมคธ
ก็สมัยนั้นแล ที่บ้านพราหมณ์ ในปัญจสาลคาม มีนักขัตฤกษ์แจกของแก่พวก เด็กๆ ครั้นรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปสู่บ้าน พราหมณ์ ในปัญจสาลคาม เพื่อบิณฑบาต
ก็โดยสมัยนั้นแล พราหมณ์ผู้คฤหบดี ชาวปัญจสาลคาม ถูกมารผู้มีบาปเข้า ดลใจ ด้วยประสงค์ว่า พระสมณโคดมอย่าได้บิณฑบาตเลย
พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้าสู่บ้านพราหมณ์ ในปัญจสาลคาม เพื่อบิณฑบาต ด้วยบาตรเปล่าอย่างใด ก็เสด็จกลับมาด้วยบาตรเปล่าอย่างนั้น
[๔๖๘] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า สมณะ ท่านได้บิณฑบาตบ้างไหม
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แน่ะมารผู้มีบาป ท่านได้กระทำให้เราไม่ได้ บิณฑบาต มิใช่หรือ
มารผู้มีบาปกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระผู้มีพระภาค จงเสด็จเข้าไปสู่บ้าน พราหมณ์ ในปัญจสาลคาม เพื่อบิณฑบาตครั้งที่สองอีกเถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ จักกระทำให้พระผู้มีพระภาคได้บิณฑบาต
[๔๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มารมาขัดขวางตถาคต ได้ประสพสิ่งมิใช่บุญแล้ว ดูกรมารผู้มี บาป ท่านเข้าใจว่า "บาปย่อมไม่ให้ผลแก่เรา" ฉะนั้นหรือ พวกเราไม่มี ความกังวล ย่อมอยู่เป็นสุขสบายหนอ พวกเรา จักมีปีติเป็นภักษา ดุจอาภัสสรเทพ ฉะนั้น
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเราพระสุคต ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง
..................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๒-๑๖๔
กัสสกสูตรที่ ๙
[๔๗๐] สาวัตถีนิทาน ฯ
ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยพระนิพพาน และภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จ ประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมนี้แล ทรงยังภิกษุ ทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วย พระนิพพาน ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปใกล้พระสมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อการกำบังตาเถิด
[๔๗๑] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาป จึงนิรมิตเพศเป็นชาวนาแบกไถใหญ่ ถือปะฏัก มีด้ามยาว มีผมยาวรุงรังปกหน้าปกหลัง นุ่งผ้าเนื้อหยาบ มีเท้าทั้งสองเปื้อนโคลน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่สมณะท่านได้เห็น โคทั้งหลายบ้างไหม
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า แน่ะมารผู้มีบาป ท่านจะต้องการอะไรด้วยโค ทั้งหลาย เล่า
มารกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ จักษุเป็นของเราแท้ รูปก็เป็นของเราอายตนะ คือวิญญาณ อันเกิดแก่จักษุสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้นข้าแต่สมณะ โสตเป็นของเรา เสียงเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่โสตสัมผัสก็เป็น ของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น ข้าแต่สมณะ จมูกเป็นของเรากลิ่นเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่ฆานสัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น
ข้าแต่สมณะ ลิ้นเป็นของเรา รสเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่ชิวหาสัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น ข้าแต่สมณะ กายเป็นของเรา โผฏฐัพพะเป็นของ เรา อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่กายสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น ข้าแต่สมณะ ใจเป็นของเราธรรมารมณ์เป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่ มโนสัมผัส ก็เป็นของเราท่านจะหนีเราไปไหนพ้น
[๔๗๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมารผู้มีบาป จักษุเป็นของท่าน รูปเป็นของ ท่าน อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่จักษุสัมผัส ก็เป็นของท่านแท้ ดูกรมารผู้มีบาป แต่ในที่ใด ไม่มีจักษุ ไม่มีรูป ไม่มีอายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่จักษุ สัมผัส ที่นั้นมิใช่ ทางดำเนินของท่าน โสตเป็นของท่าน เสียงเป็นของท่าน
อายตนะ คือวิญญาณอันเกิดแต่โสตสัมผัส ก็เป็นของท่าน แต่ในที่ใด ไม่มีโสต ไม่มีเสียง ไม่มีอายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่โสตสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน จมูก เป็นของท่าน กลิ่นเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ฆานสัมผัส เป็นของท่าน ฯลฯ ลิ้นเป็นของท่าน รสเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่ชิวหาสัมผัส เป็นของท่าน ฯลฯ
กายเป็นของท่าน โผฏฐัพพะเป็นของท่านอายตนะ คือวิญญาณอันเกิดแต่กายสัมผัส เป็นของท่าน ฯลฯ ใจเป็นของท่านธรรมารมณ์ทั้งหลาย เป็นของท่าน อายตนะคือ วิญญาณ อันเกิดแต่มโนสัมผัสก็เป็นของท่าน แต่ในที่ใด ไม่มีใจ ไม่มีธรรมารมณ์ ไม่มีอายตนะคือวิญญาณ อันเกิดแต่มโนสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน
[๔๗๓] มารกราบทูลว่า ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใดว่า นี้ของเรา และกล่าวว่า นี้เป็นเรา ถ้าใจของท่านมีอยู่ในสิ่งนั้น ข้าแต่สมณะ ท่านก็จะไม่พ้น เราไปได้
[๔๗๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใด สิ่งนั้นไม่มีแก่เรา ชนเหล่าใดกล่าว ชนเหล่านั้นไม่ใช่เรา ดูกรมารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ท่านย่อมไม่เห็น แม้ทางของเรา
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเราพระสุคต ทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง
..................................................................................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๔-๑๖๕
รัชชสูตรที่ ๑๐
[๔๗๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กระท่อมอันตั้งอยู่ในป่า ในประเทศหิมวันต์ แคว้นโกศล
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ประทับทรงพักผ่อนอยู่ในที่ลับ ได้ทรงปริวิตกว่า เราจะสามารถเสวยรัชสมบัติ โดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ทำผู้อื่นให้เสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำผู้อื่นให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเองไม่ทำให้ผู้อื่น เศร้าโศกได้หรือไม่
[๔๗๖] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปทราบความปริวิตก แห่งพระหฤทัย ของพระผู้มีพระภาค ด้วยจิตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงเสวยรัชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า ขอพระสุคตจงเสวยรัชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำคนอื่นให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ทำให้ผู้อื่น เศร้าโศก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมารผู้มีบาป ท่านเห็นอะไรของเรา ทำไมจึงได้พูด กะเรา อย่างนี้ว่า ขอพระผู้มีพระภาค จงเสวยรัชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า ขอพระสุคต จงเสวยรัชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ทำให้ ผู้อื่นเสื่อมเอง ไม่ใช้ให้เขาทำผู้อื่นให้เสื่อม ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ทำให้ผู้อื่นเศร้าโศก
มารกราบทูลว่า พระเจ้าข้า อิทธิบาททั้ง ๔ พระองค์ทรงบำเพ็ญให้เจริญ กระทำ ให้มาก กระทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นวัตถุที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สั่งสมปรารภด้วยดีแล้ว พระเจ้าข้า ก็เมื่อพระองค์ทรงพระประสงค์ ทรงอธิษฐานภูเขาหลวง ชื่อหิมพานต์ให้เป็น ทองคำล้วน ภูเขานั้นก็พึงเป็นทองคำล้วน
[๔๗๗] พระผู้มีพระภาค ตรัสกะมารด้วยพระคาถาว่า ภูเขาทองคำล้วนมีสีสุก ถึงสองเท่า ก็ยังไม่พอแก่บุคคลคน หนึ่ง บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติสงบ ผู้ใด ได้เห็น ทุกข์มีกามเป็นเหตุแล้ว ไฉนผู้นั้นจะพึงน้อมใจไปในกามเล่า บุคคลทราบอุปธิว่า เป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว พึงศึกษาเพื่อ กำจัดอุปธินั้นเสีย
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต ทรง รู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง
จบวรรคที่ ๒
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รวมพระสูตรในวรรคที่ ๒ นี้มี ๑๐ สูตร คือ
ปาสาณสูตรที่ ๑ สีหสูตรที่ ๒ สกลิกสูตรที่ ๓ ปฏิรูปสูตรที่ ๔ มานส
สูตรที่ ๕
ปัตตสูตรที่ ๑ อายตนสูตรที่ ๗ ปิณฑิกสูตรที่ ๘ กัสสกสูตรที่ ๙ กับรัชชสูตร ครบ ๑๐
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
|