พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๑-๒๐๗
1)
๔. รถวินีตสูตร
ภิกษุชาวชาติภูมิยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุชาวชาติภูมิประเทศ ว่าในชาติภูมิฯ ภิกษุรูปไหนที่พวก ภิกษุยกย่องว่าเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ปรารภความเพียร สมบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะแล้ว .. ภิกษุกราบทูลว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตร)
[๒๙๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อ แก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
ครั้งนั้น ภิกษุชาวชาติภูมิประเทศ จำนวนมาก จำพรรษาแล้ว ในชาติภูมิ พากัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง.
พระผู้มีพระภาค ตรัสถามภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในชาติภูมิ ประเทศภิกษุ รูปไหนหนอ ที่พวกภิกษุเพื่อน พรหมจรรย์ ชาวชาติภูมิประเทศ ยกย่อง อย่างนี้ว่า ตนเองเป็นผู้มักน้อย สันโดษ สงัดเงียบ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำพรรณนา ความมักน้อย ความสันโดษความ สงัด เงียบ ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ความปรารภความ เพียร ความสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะ แก่ภิกษุทั้งหลาย อีกด้วย เป็นผู้โอวาท แนะนำชี้แจงชักชวนพวกภิกษุ เพื่อนพรหมจรรย์ให้อาจหาญ ร่าเริง.
ภิกษุชาวชาติ ภูมิประเทศเหล่านั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในชาติ ภูมิประเทศ ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เป็นผู้ที่พวกภิกษุ เพื่อนพรหมจรรย์ ชาวชาติ ภูมิประเทศ ยกย่องว่า ตนเองเป็นผู้มักน้อย สันโดษ สงัดเงียบ ไม่คลุกคลี ด้วยหมู่ ปรารภความเพียร สมบูรณ์ด้วยศีลสมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณ ทัสสนะแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำพรรณนาความมักน้อย ความสันโดษ ความสงัดเงียบ ความไม่คลุกคลี ด้วยหมู่ ความปรารภความเพียร ความสมบูรณ์ด้วยศีลสมาธิ ปัญญา วิมุติ และ วิมุตติญาณ ทัสสนะ แก่ภิกษุทั้งหลายอีกด้วย เป็นผู้โอวาท แนะนำชี้แจง ชักชวนพวกภิกษุ เพื่อนพรหมจรรย์ ให้อาจหาญ ร่าเริง.
[๒๙๓] สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร นั่งเฝ้าพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ ที่ใกล้ จึงดำริว่า เป็นลาภของท่าน ปุณณมันตานีบุตร ความเป็นมนุษย์อัน ท่านปุณณมันตานีบุตร ได้ดีแล้ว ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชน กล่าวยกย่อง พรรณนาคุณ เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา และพระศาสดาก็ทรงอนุโมทนา ซึ่งการกระทำนั้น บางทีเราคงได้พบกับ ท่านปุณณมันตานีบุตรแล้ว สนทนาปราศรัยกันสักครั้งหนึ่ง
2)
พระปุณณมันตานีบุตรเข้าเฝ้าพระพุทธองค์
(พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงท่านพระปุณณมันตานีบุตรให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา)
[๒๙๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ ตามสำราญ พระ อัธยาศัย เสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี.
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ท่านจึงเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรจาริกไปโดยลำดับ ตามทางที่จะไปยังพระนคร สาวัตถี ถึงพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถีแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาค จึงทรงชี้แจงท่านพระปุณณมันตานีบุตรให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา.
ครั้งนั้น ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มี พระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วเข้าไปสู่ป่า อันธวัน เพื่อพักในกลางวัน.
[๒๙๕] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรแล้วแจ้งข่าวว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร พระปุณณมันตานีบุตร ที่ท่านได้สรรเสริญอยู่เนืองๆ นั้น บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้ว ท่านก็ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณหลีกไปสู่ป่าอันธวัน เพื่อพักในกลางวัน.
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรรีบถือผ้านิสีทนะ(ผ้าปูรองนั่ง) แล้วติดตามท่าน พระ ปุณณมันตานี บุตร ไปข้างหลังๆ พอเห็นศีรษะกัน ครั้งนั้น ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เข้าไปในป่า อันธวัน แล้ว นั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง แม้ท่านพระสารีบุตร ก็เข้าไปสู่ป่า อันธวันแล้ว ก็นั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่งเหมือนกัน
3)
พระสารีบุตรสนทนากับพระปุณณมันตานีบุตร
(พระสารีบุตรถามการประพฤติธรรมของพระปุณณะ ปุณะตอบด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง สุดท้ายตอบว่า ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน)
[๒๙๖] ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตร ออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปหาท่านพระปุณณมันตานีบุตรถึงสำนัก ได้ปราศรัยกับท่านพระปุณณมันตานีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่ง เรียบร้อยแล้ว จึงถามท่านพระปุณณมันตานีบุตร ดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคของเราหรือ?
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า ถูกแล้ว ท่านผู้มีอายุ?
สา. ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อสีลวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค เพื่อจิตตวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค เพื่อทิฏฐิวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อมัคคามัคคญาณ ทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อปฏิปทาญาณทัสสน วิสุทธิ หรือ ท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อญาณทัสสนวิสุทธิ หรือ ท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ?
สา. ท่านผู้มีอายุ ผมถามท่านว่า ท่านประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค เพื่อสีล วิสุทธิ หรือ ท่านตอบผมว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อผมถามท่านว่า ท่านประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค เพื่อจิตตวิสุทธิหรือ เพื่อทิฏฐิวิสุทธิหรือ เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิหรือ เพื่อมัคคามัคคญาณ ทัสสนวิสุทธิหรือ เพื่อปฏิปทาญาณทัสสน วิสุทธิหรือ เพื่อญาณ ทัสสน วิสุทธิหรือ ท่านก็ตอบผมว่าไม่ใช่อย่างนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่ออะไรเล่า?
ปุ. ท่านผู้มีอายุ ผมประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน
สา. ท่านผู้มีอายุ สีลวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ จิตตวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ ทิฏฐิวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ กังขาวิตรณวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ ญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ ที่นอกไปจากธรรมเหล่านี้หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ ผมถามท่านว่า สีลวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน จิตตวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ทิฏฐิวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน กังขาวิตรณวิสุทธิ หรือเป็น อนุปาทาปรินิพพาน มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ปฏิปทาญาณ ทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ที่นอกไปจากธรรมเหล่านี้หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ท่านก็ตอบ ผมว่า ไม่ใช่อย่างนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะพึงเห็นเนื้อความของถ้อยคำ ที่ท่านกล่าวนี้อย่างไรเล่า?
[๒๙๗] ปุ. ท่านผู้มีอายุ
ถ้าพระผู้มีพระภาค จักทรงบัญญัติสีลวิสุทธิ ว่าเป็น อนุปาทาปรินิพพานแล้ว ก็ชื่อว่าทรงบัญญัติธรรม ที่ยังมีอุปาทาน ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน.
ถ้าจักทรงบัญญัติ จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณ ทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิว่า เป็นอนุปาทา ปรินิพพานแล้ว ก็ชื่อว่าทรงบัญญัติธรรม ที่ยังมีอุปาทาน ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ถ้าหากว่า ธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้ จักเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้วปุถุชน จะชื่อว่าปรินิพพาน เพราะว่าปุถุชนไม่มีธรรมเหล่านี้
ท่านผู้มีอายุ ผมจะอุปมาให้ท่านฟัง บุรุษผู้เป็นวิญญูชน บางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้ เนื้อความแห่งคำ ที่กล่าวแล้วด้วยอุปมา.
4)
อุปมาด้วยรถ ๗ ผลัด
(พระปุณณมันตานีบุตร อุปมาถึงธรรม ๗ อย่าง ว่าเหมือนพระเจ้าปเสนทิโกศล นั่งรถ ๗ ผลัด จากนครสาวัตถี กับเมืองสาเกต จนถึงที่หมาย คือประตูวัง ที่เปรียบเหมือน พระนิพพาน)
[๒๙๘] ท่านผู้มีอายุ เปรียบเหมือน พระเจ้าปเสนทิโกศล กำลังประทับอยู่ใน พระนครสาวัตถี มีพระราชกรณียะด่วน บางอย่าง เกิดขึ้นในเมืองสาเกต และในระหว่าง พระนครสาวัตถี กับเมืองสาเกตนั้น จะต้องใช้รถถึง ๗ ผลัด
ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จออกจากพระนครสาวัตถี
ทรงรถพระที่นั่ง ผลัดที่หนึ่ง ที่ประตูพระราชวัง ไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สอง ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่ง
จึงปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่ง
ทรงรถพระที่นั่ง ผลัดที่สอง เสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สาม ด้วยรถพระที่นั่ง ผลัดที่สอง
ทรงปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่สอง
ทรงรถพระที่นั่ง ผลัดที่สาม เสด็จถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่ สาม
ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่สาม
ทรงรถพระที่นั่ง ผลัดที่สี่ สด็จถึงรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่สี่
ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่สี่
ทรงรถพระที่นั่ง ผลัดที่ห้า เสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่หก ด้วยรถพระที่นั่ง ผลัดที่ห้า
ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า
ทรงรถพระที่นั่ง ผลัดที่หก เสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด ด้วยรถพระที่นั่ง ผลัดที่หก ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่หก
ทรงรถพระที่นั่ง ผลัดที่เจ็ด เสด็จไปถึงเมืองสาเกต ที่ประตูพระราชวังด้วยรถ พระที่นั่ง ผลัดที่เจ็ด
ถ้าพวกมิตรอำมาตย์ หรือพระญาติสาโลหิต จะพึงทูลถามพระองค์ ซึ่งเสด็จถึง ประตูพระราชวัง ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมา จาก พระนครสาวัตถี ถึงเมือง สาเกต ที่ประตูพระราชวัง ด้วยรถพระที่นั่งผลัดนี้ ผลัดเดียว หรือ ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะตรัสตอบอย่างไร จึงจะเป็นอันตรัสตอบถูกต้อง?
สา. ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะต้องตรัสตอบอย่างนี้ จึงจะเป็นอันตรัส ตอบ ถูกต้อง คือ เมื่อฉันกำลังอยู่ในนครสาวัตถีนั้น มีกรณียะด่วนบางอย่าง เกิดขึ้นในเมือง สาเกต ก็ในระหว่างนครสาวัตถี กับเมืองสาเกตนั้น จะต้องใช้รถถึง ๗ ผลัด เมื่อเช่นนั้น ฉันจึงออกจากนครสาวัตถี ขึ้นรถผลัดที่หนึ่ง ที่ประตูวังไปถึงรถผลัดที่สอง ด้วยรถผลัดที่หนึ่ง ปล่อยรถผลัดที่หนึ่งขึ้นรถผลัดที่สอง ไปถึงรถผลัดที่สาม ด้วยรถผลัดที่สอง ปล่อยรถผลัดที่สอง ขึ้นรถผลัดที่สามไปถึงรถผลัดที่สี่ ด้วยรถผลัดที่สาม ปล่อยรถผลัดที่สาม ขึ้นรถผลัดที่สี่ ไปถึงรถผลัดที่ห้าด้วยรถผลัดที่สี่ ปล่อยรถผลัดที่สี่ ขึ้นรถผลัดที่ห้า ไปถึงรถผลัดที่หก ด้วยรถผลัดที่ห้า ปล่อยรถผลัดที่ห้า ขึ้นรถผลัดที่หก ไปถึงรถผลัดที่เจ็ด ด้วยรถผลัดที่หก ปล่อยรถผลัดที่หก ขึ้นรถผลัดที่เจ็ด ไปถึงเมืองสาเกต ที่ประตูวังด้วยรถผลัดที่เจ็ด ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะต้องตรัสตอบอย่างนี้ จึงจะเป็นอันตรัสตอบถูกต้อง.
ปุ. ท่านผู้มีอายุ ข้อนี้ก็ฉันนั้น (ธรรมที่เกื้อกุลกัน)
สีลวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ จิตตวิสุทธิ
จิตตวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ ทิฏฐิวิสุทธิ
ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ กังขาวิตรณวิสุทธิ
กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ ญาณทัสสนวิสุทธิ
ญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ อนุปาทาปรินิพพาน
ท่านผู้มีอายุ ผมประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน
5)
กล่าวชื่นชมสุภาษิตของกันและกัน
(พระสารีบุตร ชื่นชมท่านพระปุณณมันตานีบุตร ว่ารู้ธรรมอันลึกซึ้งเยี่ยงสาวกผู้ได้สดับ)
(พระปุณณมันตานี ชื่นชมพระพระสารีบุตร ว่าเป็นสาวกที่ทรงคุณ คล้ายกับพระศาสดา)
[๒๙๙] เมื่อท่านพระปุณณมันตานีบุตร กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร จึงถามว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านชื่ออะไร และพวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ รู้จักท่าน ว่าอย่างไร?
ท่านพระปุณณมันตานีบุตร ตอบว่า ท่านผู้มีอายุ ผมชื่อ ปุณณะ แต่พวกภิกษุ เพื่อนพรหมจรรย์ รู้จักผมว่า มันตานีบุตร. ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมาแล้ว ธรรมอันลึกซึ้ง อันท่านพระปุณณมันตานีบุตร เลือกเฟ้น มากล่าวแก้ ด้วยปัญญาอันลึกซึ้งตาม เยี่ยงพระสาวกผู้ได้สดับแล้ว รู้ทั่วถึงคำสอนของ พระศาสดา โดยถ่องแท้ จะพึงกล่าวแก้ ฉะนั้น
เป็นลาภมากของ เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์อันเพื่อน พรหมจรรย์ ได้ดีแล้ว ที่ได้พบเห็นนั่งใกล้ท่าน พระปุณณมันตานีบุตร แม้ หากว่าเพื่อน พรหมจรรย์ทั้งหลาย จะเทิดท่าน พระปุณณมันตานีบุตร ไว้บนศีรษะ ด้วย เทริดผ้า จึงจะได้พบเห็น นั่งใกล้ แม้ข้อนั้นก็นับว่า เป็นลาภมากของเธอเหล่านั้น ความเป็นมนุษย์ อันเธอเหล่านั้นได้ดีแล้ว อนึ่งนับว่า เป็นลาภมากของผมด้วย เป็นการได้ดีของผม ด้วย ที่ได้พบเห็น นั่งใกล้ท่านพระปุณณมันตานีบุตร.
[๓๐๐] เมื่อท่านพระสารีบุตร กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระปุณณมันตานีบุตร จึงถาม ดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านชื่ออะไร และเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย รู้จักท่านว่าอย่างไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านผู้มีอายุ ผมชื่อ อุปติสสะ แต่พวกเพื่อนพรหมจรรย์รู้จักผม ว่า สารีบุตร
ท่านพระปุณณมันตานีบุตร กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ผมกำลังพูดอยู่กับ ท่านผู้เป็น สาวกทรงคุณคล้ายกับพระศาสดา มิได้ทราบเลยว่า ท่านชื่อสารีบุตร ถ้าผมทราบว่า ท่านชื่อสารีบุตรแล้ว คำที่พูดไปเพียงเท่านี้ คงไม่แจ่มแจ้งแก่ผมได้ เป็นการน่าอัศจรรย์ จริง ไม่เคยมีมาแล้ว ธรรมอันลึกซึ้ง อันท่านพระสารีบุตรเลือกเฟ้นมาถามแล้ว ด้วยปัญญา อันลึกซึ้ง ตามเยี่ยงพระสาวก ผู้ได้สดับแล้ว รู้ทั่วถึงคำสอนของ พระศาสดา โดยถ่องแท้ จะพึงถามฉะนั้นเป็นลาภมากของ เพื่อนพรหมจรรย์ความเป็น มนุษย์นับว่า เพื่อนพรหมจรรย์ ได้ดีแล้ว ที่ได้พบเห็น นั่งใกล้ท่านพระสารีบุตร แม้หากว่า เพื่อนพรหมจรรย์ จะเทิดท่า พระสารีบุตร ไว้บนศีรษะด้วยเทริดผ้า จึงจะได้พบเห็น นั่งใกล้แม้ข้อนั้น ก็เป็นลาภมาก ของเธอเหล่านั้น ความเป็นมนุษย์นับว่า อันเธอเหล่านั้น ได้ดีแล้ว อนึ่งนับว่าเป็นลาภมากของผมด้วย เป็นการได้ดีของผมด้วยที่ได้พบเห็น นั่งใกล้ พระสารีบุตร.
พระมหานาคทั้งสองนั้น ต่างชื่นชมสุภาษิตของกันและกัน ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ รถวินีตสูตรที่ ๔
|