1)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๕-๒๕๕.
มหาหัตถิปโทปมสูตร
อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง
[๓๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายผู้มีอายุ. ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระสารีบุตรแล้ว
พระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย รอยเท้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้เที่ยวไป บนแผ่นดิน รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลง ใน รอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง ชาวโลกย่อมกล่าวว่า เป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะรอยเท้าช้าง เป็นของใหญ่ แม้ฉันใด
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใด เหล่าหนึ่ง กุศลธรรมเหล่านั้น ทั้งหมดย่อมถึงการสงเคราะห์ เข้าในอริยสัจสี่ ฉันนั้นเห็น เหมือนกันแล
ในอริยสัจสี่เหล่าไหน? คือ ในทุกขอริยสัจ ในทุกขสมุทัยอริยสัจ ในทุกขนิโรธ อริยสัจ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
[๓๔๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? คือ
แม้ความเกิด เป็นทุกข์
แม้ความแก่ เป็นทุกข์
แม้ความตาย เป็นทุกข์
แม้ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ แม้ความที่ไม่ได้ สิ่งที่ตนอยากได้ ก็เป็นทุกข์
โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ห้าเป็นไฉน? คือ
อุปาทานขันธ์ คือ รูป
อุปาทานขันธ์ คือ เวทนา
อุปาทานขัน์ คือ สัญญา
อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร
อุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ อุปาทานขันธ์คือรูป เป็นไฉน? คือ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔
มหาภูตรูป ๔
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ มหาภูตรูป ๔ เป็นไฉน? คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ
2)
ปฐวีธาตุ (ภายใน)
[๓๔๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ปฐวีธาตุเป็นไฉน? คือ
ปฐวีธาตุที่เป็นไป ภายใน ก็มี
ปฐวีธาตุที่เป็นไป ภายนอก ก็มี
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุ ที่เป็นไป ภายในเป็นไฉน? คือ สิ่งที่เป็น อุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ อย่างอื่น นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ เป็นไปภายใน
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และปฐวีธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็นปฐวีธาตุแล.
บัณฑิตพึงเห็นปฐวีธาตุนั้น นั่น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา
บัณฑิตครั้นเห็น ปฐวีธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัด ในปฐวีธาตุ
(ปฐวีธาตุภายนอก คือ ดิน ภูเขา ต้นไม้ แผ่นดิน วัตถุสิ่งของ ฯลฯ)
(ปฐวีธาตุภายนอกกำเริบ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาทลาย อุกกาบาตชนโลก)
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมี ได้แล ในสมัยนั้น ปฐวีธาตุอันเป็นภายนอก จะเป็นของอันตรธานไป
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่งปฐวีธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวน ไป เป็นธรรมดา จักปรากฏได้
ก็ไฉนความที่แห่งกาย อันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเราว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาล นิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไป เป็นธรรมดา จักไม่ ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถ ตัณหามานะและทิฏฐิ ในปฐวีธาตุ อันเป็นภายในนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ กระทบกระเทียบ จะเบียดเบียน ภิกษุนั้นไซร้
ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนา อันเกิดแต่โสตสัมผัสนี้ เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้ ทุกขเวทนานี้ อาศัยอะไรจึงมีได้ ทุกขเวทนาอาศัยผัสสะจึงมีได้
ภิกษุนั้น
ย่อมเห็นว่า ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง
จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่น เทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเสื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ด้วยดี ย่อมหลุดพ้น
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่น จะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ คือด้วยการประหาร ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหารด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหาร ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหาร ด้วยศาตราบ้าง
ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไป แห่งการประหาร ด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหาร ด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยศาตราบ้าง
อนึ่ง พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสไว้ในพระโอวาท อันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่า พวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่ น้อยทั้งหลาย ด้วยเลื่อย อันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้าย ในพวกโจร แม้นั้น ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา ด้วยเหตุนั้น ดังนี้
อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไป ตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว จักเป็นสภาพไม่กระวน กระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็นธรรมชาติ มีอารมณ์เป็นอย่างเดียวคราวนี้ การประหาร ด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหาร ด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี ตามทีเถิด คำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ เราจะทำให้จงได้ ดังนี้
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้น ระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่พร้อมได้. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดี ไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึง พระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึงความ สลดใจ แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้น ระลึกถึงพระพุทธเจ้า อยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัย กุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี
ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเรา หนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึก ถึงพระพุทธเจ้า อยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรม อยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้. ฉันนั้นเหมือนกันแล
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่าเมื่อภิกษุนั้น ระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น.
ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มี พระภาค เป็นอัน ภิกษุทำให้มากแล้ว
3)
อาโปธาตุ (ภายใน)
[๓๔๓] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็อาโปธาตุเป็นไฉน? คือ
อาโปธาตุที่เป็นไป ภายใน ก็มี
อาโปธาตุที่เป็นไป ภายนอก ก็มี
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุ ที่เป็นไป ภายในเป็นไฉน? คือ สิ่งที่เป็น อุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ ถึงความเอิบอาบ คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตาเปลวมัน น้ำลาย น้ำมูกไขข้อ น้ำมูตร ก็หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ ถึงความเป็นของเอิบอาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า อาโปธาตุเป็นไปภายใน
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และอาโปธาตุ อันใด เป็นไปภายนอกนั้น เป็นอาโปธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นอาโปธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญา อันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตน ของเรา
ครั้นเห็นอาโปธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่าย ในอาโปธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัด ในอาโปธาตุ
(อาโปธาตุภายนอก คือ แม่น้ำ น้ำฝน ทะเล มหาสมุทร)
อาโปธาตุภายนอกกำเริบ เช่น น้ำท่วม เกิดอุทกภัย เกิดคลื่นยักษ์ทำลายบ้านเรือน
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่อาโปธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะ มีได้แล อาโปธาตุ อันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง พัดเอานิคมไปบ้าง พัดเอาเมืองไปบ้าง พัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศ แห่งชนบทไปบ้าง
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทร ย่อมลึกลงไป ร้อยโยชน์บ้าง สองร้อยโยชน์บ้าง สามร้อยโยชน์บ้าง สี่ร้อยโยชน์บ้าง ห้าร้อยโยชน์บ้าง หกร้อยโยชน์ บ้าง เจ็ดร้อยโยชน์บ้าง ย่อมมีได้แล
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทร ขังอยู่เจ็ดชั่วลำตาลบ้าง หกชั่ว ลำตาลบ้าง ห้าชั่วลำตาลบ้าง สี่ชั่วลำตาลบ้าง สามชั่วลำตาลบ้าง สองชั่ว ลำตาลบ้าง ชั่วลำตาลหนึ่งบ้าง ย่อมมีได้แล
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ ได้เจ็ดชั่วบุรุษบ้าง หกชั่วบุรุษบ้าง ห้าชั่วบุรุษบ้าง สี่ชั่วบุรุษบ้าง สามชั่วบุรุษบ้าง สองชั่วบุรุษบ้าง ประมาณ ชั่วบุรุษหนึ่งบ้าง ย่อมมีได้แล
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ กึ่งชั่วบุรุษบ้าง ประมาณเพียงสะเอวบ้าง ประมาณเพียงเข่าบ้าง ประมาณเพียงข้อเท้าบ้าง ย่อมมีได้แล
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำแม้ประมาณพอเปียก ข้อนิ้วมือจะไม่มีใน มหาสมุทร ก็ย่อมมีได้แล
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่แห่งอาโปธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งมากถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวน ไป เป็นธรรมดา จักปรากฏได้
ก็ไฉนความที่แห่งกาย อันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไป เป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไป เป็นธรรมดา จักไม่ ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ความยึดถือ ด้วยสามารถ ตัณหามานะ และทิฏฐิ ในอาโปธาตุ อันเป็นภายนอกนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึก ถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขา อันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้ ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจ เพราะเหตุนั้น
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มี พระภาค เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว
4)
เตโชธาตุ (ธาตุไฟ)
[๓๔๔] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุเป็นไฉน? คือ
เตโชธาตุที่เป็นไป ภายใน ก็มี
เตโชธาตุที่เป็นไป ภายนอก ก็มี
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุที่ เป็นไป ภายในเป็นไฉน? คือ สิ่งที่เป็น อุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึงความเป็นของ เร่าร้อน คือ สิ่งที่เป็นเครื่องอบอุ่นแห่งกาย สิ่งที่เป็น เครื่องทรุดโทรมแห่งกาย สิ่งที่เป็น เครื่องเร่าร้อนแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องถึงความแปรปรวนไป ด้วยดีแห่งของที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และของที่ลิ้มรสแล้ว ก็หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็น อุปาทินนกรูป อันเป็นภายในเป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึงความเป็นของเร่าร้อน อย่างอื่น นี้เรียกว่า เตโชธาตุอันเป็นไปภายใน
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และเตโชธาตุ อันใด เป็นภายนอก นั่นเป็นเตโชธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นเตโชธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญา อันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นของเรา. บัณฑิตครั้นเห็นเตโชธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย กำหนัดในเตโชธาตุ
(เตโชธาตุภายนอก คือ ไฟ รวมถึงเชื้อไฟเช่นหญ้าแห้ง )
เตโชธาตุภายนอกกำเริบ เช่นไฟใหม้บ้านเรือน ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่เตโชธาตุ อันเป็นไปภายนอก กำเริบ ย่อมจะมี ได้แล เตโชธาตุ อันเป็นภายนอกนั้น ย่อมไหม้บ้านบ้าง ย่อมไหม้บ้านเมืองบ้าง ย่อมไหม้ นิคมบ้าง ย่อมไหม้ชนบทบ้าง ย่อมไหม้ประเทศแห่งชนบทบ้าง. เตโชธาตุ อันเป็น ภายนอกนั้น มาถึงหญ้าสด หนทาง ภูเขา น้ำ หรือภูมิภาคอันเป็นที่รื่นรมย์ ไม่มีเชื้อ ย่อมดับไปเอง
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ชนทั้งหลายแสวงหาไฟ ด้วยขนไก่บ้าง ด้วยการขูดหนังบ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่ง เตโชธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นเป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้
ความเป็นของสิ้นไป เป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ความ เป็นของแปรปรวนไป เป็นธรรมดา จักปรากฏได้
ก็ไฉนความที่แห่งกาย อันตัณหา เข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรา มีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาล นิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไป เป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไป เป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือ ด้วยสามารถตัณหามานะ และทิฏฐิ ในเตโชธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึง พระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านั้นแล คำสอนของพระผู้มี พระภาค เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว
5)
วาโยธาตุ (ธาตุลม)
[๓๔๕] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุเป็นไฉน? คือ
วาโยธาตุที่เป็นไป ภายใน ก็มี
วาโยธาตุที่เป็น ภายนอก ก็มี
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุที่เป็นไป ภายในเป็นไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึงความ เป็นของพัดไปมา คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอันอยู่ ในท้อง ลมอันอยู่ ในลำไส้ ลมอันแล่นไป ตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจ ออก ก็หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตนเป็นของ พัดไปมา ถึงความเป็นของพัดไปมา อย่างอื่น นี้เรียกว่า วาโยธาตุเป็นไปภายใน
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และวาโยธาตุ อันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็นวาโยธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นวาโยธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่านั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา
บัณฑิตครั้นเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัด ในวาโยธาตุ
(วาโยธาตุภายนอก คือ ลม ลมพายุ พายุทอนาโด พายุใต้ฝุ่น)
วาโยธาตุภายนอกกำเริบ เช่น เกิดพายุ พัดพาบ้านเรือนเสียหาย
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่วาโยธาตุอันเป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมี ได้แล วาโยธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง ย่อมพัดเอานิคมไปบ้าง ย่อมพัดเอานครไปบ้าง ย่อมพัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศ แห่งชนบท ไปบ้าง
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ชนทั้งหลาย แสวงหาลมด้วยพัดใบตาลบ้าง ด้วยพัดสำหรับพัดไฟบ้าง ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน แม้ในที่ชายคา หญ้าทั้งหลาย ก็ไม่ไหว ย่อมมีได้แล
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่งวาโยธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวน ไป เป็นธรรมดา จักปรากฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกาย อันตัณหา เข้ายึดถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมี ความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความ แปรปรวนไป เป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือ ด้วยสามารถ ตัณหามานะ และทิฏฐิในวาโยธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ จะกระทบ กระเทียบ จะเบียดเบียนภิกษุนั้นไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนา อันเกิดแต่ โสตสัมผัสนี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุพึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไร จึงมีได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะ จึงมีได้. ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลาย เป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยงจิต อันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่น เทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดีย่อมหลุดพ้น
6)
การทำตามพระโอวาท
(แม้ว่าพวกโจร ตัดทอน อวัยวะใหญ่น้อยด้วยเลื่อย หากภิกษุยังมีจิตคิดอาฆาตโจร ก็ยังไม่ถือว่าทำตามคำสอนของตถาคต)
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากชนเหล่าอื่น จะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการ ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ ด้วยการประหาร ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหารด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหาร ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหาร ด้วยศาตราบ้าง
ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไป แห่งการประหาร ด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหาร ด้วยก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการ ประหาร ด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหาร ด้วยศาตราบ้าง
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ ในพระโอวาท อันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ว่าพวกโจร ผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอน อวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลาย ด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ ประทุษร้ายในพวกโจร(ยังคิดอาฆาตมาดร้าย) แม้นั้น. ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตาม คำสอนของเรา ด้วยเหตุนั้น ดังนี้
อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติ ไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไป ตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติ ไม่หลงลืมกาย อันเราให้สงบแล้ว จักเป็นสภาพไม่กระวน กระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็นธรรมชาติ มีอารมณ์เป็นอย่างเดียว คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหาร ด้วยก้อนดินทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหาร ด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี ตามทีเถิด คำสอนของ พระพุทธเจ้า ทั้งหลายนี้ เราจะทำให้จงได้ ดังนี้
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายหากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึก ถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้พร้อม
ภิกษุนั้นย่อมสลดใจย่อม ถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเรา หนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราแล้วหนอ ที่เรา ระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดีดังนี้
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึงความ สลดใจ แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า อยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัย กุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี
ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเรา หนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึก ถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์ อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายหากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึง พระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อย่างนี้ อุเบกขาอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้
ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจ เพราะเหตุนั้น
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มี พระภาคเจ้า เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว
7)
ผู้เห็นธรรม (อุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม)
[๓๔๖] ดูกรท่านมีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยไม้ และอาศัยเถาวัลย์ ดินเหนียว และหญ้า แวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า เป็นเรือนฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยกระดูก และอาศัยเอ็นเนื้อ และหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า รูป ฉันนั้นเหมือนกันแล
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า จักษุ อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตก ทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็นภายนอก ย่อมไม่มาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนด อันเกิดแต่จักษุและรูปนั้น ก็ไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณ อันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า จักษุ อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตก ทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็นภายนอก ย่อมมาสู่คลองจักษุ แต่ความกำหนด อันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้นไม่มีความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณ อันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้นก็ยังมีไม่ได้ก่อน
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แต่ว่าในกาลใดแล จักษุ อันเป็นไปในภายใน เป็นของ ไม่แตกไม่ทำลายแล้ว และรูปทั้งหลาย อันเป็นภายนอก ย่อมมาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนด อันเกิดแต่จักษุและรูปก็ย่อมมีในกาลนั้น ความปรากฏแห่งส่วน แห่งวิญญาณ อันเกิดแต่จักษุและรูปนั้น ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
รูปแห่งสภาพที่เป็นแล้ว อย่างนั้นอันใด รูปนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ รูปเวทนาแห่งสภาพ ที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด เวทนานั้น ย่อมถึง ความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์คือ เวทนา สัญญาแห่งสภาพที่เป็นแล้ว อย่างนั้นอันใด สัญญานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ สัญญา สังขารแห่งสภาพ ที่เป็นแล้ว อย่างนั้นเหล่าใด สังขารเหล่านั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทาน คือ สังขาร วิญญาณแห่งสภาพที่เป็นแล้ว อย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้นย่อมถึงความ สงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ
ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่าการสงเคราะห์ การประชุมพร้อม หมวดหมู่ แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประการอย่างนี้
อนึ่ง พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้น ชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้
ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใดอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม แล
ความพอใจความอาลัย ความยินดี ความชื่นชอบ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันใด อันนั้นชื่อว่าทุกขสมุทัย
การกำจัดความกำหนัด ด้วยสามารถความพอใจ การละความกำหนัด ด้วยสามารถความพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนั้นชื่อว่าทุกขนิโรธแล
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล. คำสอนของพระผู้มี พระภาคเจ้า เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า โสตะ อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตก ทำลายแล้ว ฯลฯ (เช่นเดียวกับจักษุและรูป)
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ฆานะ อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตก ทำลายแล้ว ฯลฯ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชิวหา อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตก ทำลายแล้ว ฯลฯ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า กาย อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตก ทำลายแล้ว ฯลฯ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า มนะ อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตก ทำลายแล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลาย อันเป็นภายนอก ย่อมไม่มาสู่คลอง ทั้งความกำหนด อันเกิดแต่มนะ และธรรมารมณ์นั้น ก็ไม่มี ความปรากฏแห่งส่วน แห่งวิญญาณ อันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า มนะ อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตก ทำลายแล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลาย อันเป็นภายนอก ย่อมมาสู่คลองแต่ความกำหนด อันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้นไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณ อันเกิดแต่มน ะและธรรมารมณ์นั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แต่ว่าในกาลใดแล มนะ อันเป็นไปในภายใน เป็นของ ไม่แตก ทำลายแล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลาย อันเป็นภายนอก ย่อมมาสู่คลอง ทั้งความกำหนด อันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ก็ย่อมมี ในกาลนั้น ความปรากฏ แห่งส่วนแห่งส่วนแห่งวิญญาณ อันเกิดแต่มนะ และธรรมารมณ์นั้น ย่อมมีได้ด้วยอาการ อย่างนี้
รูปแห่งสภาพที่เป็นแล้ว อย่างนั้นอันใด รูปนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือรูป เวทนาแห่งสภาพที่เป็นแล้ว อย่างนั้นอันใด เวทนานั้น ย่อมถึง ความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือเวทนา สัญญาแห่งสภาพที่เป็นแล้ว อย่างนั้นอันใด สัญญานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือสัญญา สังขารทั้งหลาย แห่งสภาพ ที่เป็นแล้ว อย่างนั้นเหล่าใด สังขารเหล่านั้น ย่อมถึงความ สงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือสังขาร วิญญาณแห่งสภาพที่เป็นแล้ว อย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือวิญญาณ
ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า การสงเคราะห์ การประชุมพร้อมหมวดหมู่ แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประการอย่างนี้
อนึ่ง พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้
ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรมแล
ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี ความชื่นชอบ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันใด อันนี้ชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความกำหนัด ด้วยสามารถความพอใจ การละ ความกำหนัด ด้วยสามารถความพอใจ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันใด อันนั้นชื่อว่า ทุกขนิโรธแล
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของ พระผู้มีพระภาค เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว
ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดีภาษิต ของ ท่านพระสารีบุตรแล้วแล
จบ. มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘
|