พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๗-๑๕๑
๗. วนปัตถสูตร
ว่าด้วยการอยู่ป่า
1)
ภิกษุควรหลีกไปเสียจากป่าชัฏเสีย ไม่ควรอยู่ ด้วยเหตุที่ว่า
[๒๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ วิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดง วนปัตถปริยาย [เหตุของการอยู่ป่าชัฏ] แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังปริยายนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
[๒๓๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเข้าไปอาศัยป่าชัฏแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัย ป่าชัฏ นั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยัง ไม่สิ้นไป ก็ไม่ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้นไม่ได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากโยคะ อย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิตคือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิต จำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ก็ไม่ถึงความสิ้นไป และเราไม่ได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่ง จากโยคะอย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรหลีกไปเสียจากป่าชัฏนั้น ในเวลากลางคืน หรือในเวลากลางวันก็ตาม ไม่ควรอยู่
[๒๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยป่าชัฏ แห่งใด แห่งหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยป่าชัฏนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยัง ไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้น ไม่ได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่อง อุดหนุน ชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำเป็นต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นโดยไม่ยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น พึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏจิต ที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป และเราไม่ได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจาก โยคะ อย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก แต่ว่าเราไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพราะเหตุแห่ง จีวร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เพราะเหตุแห่ง คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร
ก็ครั้นเป็นเช่นนั้น เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏ ก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ก็ไม่ถึงความสิ้นไป และเราไม่ได้ บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นแม้รู้แล้ว ควรหลีกไปเสียจากป่าชัฏนั้น ไม่ควรอยู่
2)
ภิกษุควรอยู่ป่า ไม่ควรหลีกไป ด้วยเหตุที่ว่า
เมื่อเธอเข้าไปอาศัยป่าชัฏนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะ ที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้น ย่อมได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากโยคะ อย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ภิกษุนั้นแม้รู้แล้ว ก็ควรอยู่ในป่าชัฏนั้น ไม่ควรหลีกไปเสีย
[๒๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยป่าชัฏแห่งใด แห่งหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยป่าชัฏนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยัง ไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้น ย่อมได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย
ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ โดยยาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ก็ถึงความสิ้นไป และเราย่อมได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจาก โยคะอย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย
ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ โดยยาก แต่ว่าเราไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพราะเหตุแห่งจีวร เพราะเหตุ แห่ง บิณฑบาต เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ก็ครั้นเป็นเช่นนั้น เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ ตั้งมั่น ก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และเราย่อมได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่ง จากโยคะอย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นแม้รู้แล้ว ก็ควรอยู่ในป่าชัฏนั้น ไม่ควรหลีกไปเสีย
[๒๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยป่าชัฏแห่งใด แห่งหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยป่าชัฏนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้น ได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่อง อุดหนุน ชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้อง นำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และเราย่อมได้บรรลุความปลอดโปร่ง จากโยคะ อย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภคปัจจัย เหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรอยู่ในป่าชัฏนั้น จนตลอดชีวิต ไม่ควรหลีกไปเสีย
.........................................................................................................................................................................................
3)
การอยู่อาศัยอยู่นิคมใดนิคมหนึ่ง หรือเข้าไปอาศัยบุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่
(ตรัสเช่นเดียวกับการอยู่ป่า)
ควรหลีกไปเสียจากนิคม ไม่ควรพัวพันกะบุคคลนั้น
[๒๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบ้านแห่งใด แห่งหนึ่งอยู่ ... เข้าไปอาศัยนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ ... เข้าไปอาศัยนครแห่งใด แห่งหนึ่งอยู่ ... เข้าไปอาศัยชนบทแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ ... เข้าไปอาศัยบุคคลใด บุคคลหนึ่ง อยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยบุคคลนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏ ก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้นไม่ได้ บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุน ชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เหล่าใด ที่บรรพชิต จำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยบุคคลนี้อยู่ เมื่อเราเข้ามาอาศัยบุคคลนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป และไม่ได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากโยคะ อย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ต้องบอกบุคคลนั้น ควรหลีกไปเสียในเวลากลางวัน หรือกลางคืน ไม่ควรพัวพันกะบุคคลนั้นเลย
.........................................................................................................................................................................................
4)
ควรหลีกไปเสีย ไม่ควรพัวพันกะบุคคลนั้นเลย
[๒๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบุคคลใด บุคคลหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยบุคคลนั้น สติที่ยังไม่ปรากฏ ก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้นไม่ได้ บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุน ชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิต จำต้อง นำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยบุคคลนี้อยู่ เมื่อเราเข้ามาอาศัยบุคคลนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสนะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป และเราไม่ได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจาก โยคะ อย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิต จำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก
แต่ว่าเราไม่ได้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต เพราะเหตุแห่งจีวร เพราะเหตุ แห่งบิณฑบาต เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เพราะเหตุแห่ง คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ก็ครั้น เป็นเช่นนั้น เมื่อเราเข้ามาอาศัย บุคคลนี้อยู่ สติที่ยัง ไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยัง ไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ก็ไม่ถึงความ สิ้นไป และเราไม่ได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นแม้รู้แล้วไม่ต้องบอกบุคคลนั้น ควรหลีกไปเสีย ไม่ควรพัวพันกะบุคคลนั้นเลย
.........................................................................................................................................................................................
5)
ควรพัวพันกะบุคคลนั้น ไม่ควรหลีกไปเสีย
[๒๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบุคคลใด บุคคลหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยบุคคลนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้นได้ บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุน ชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เหล่าใด ที่บรรพชิต จำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยบุคคลนี้อยู่ เมื่อเราเข้ามาอาศัยบุคคลนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และเราได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่งจากโยคะ อย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิตคือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก
แต่ว่าเราไม่ได้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตเพราะเหตุ แห่งจีวร เพราะเหตุ แห่ง บิณฑบาต เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ก็ครั้นเป็นเช่นนั้น เมื่อเราเข้ามาอาศัยบุคคลนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ ตั้งมั่น ก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และเราได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่ง จากโยคะอย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นแม้รู้แล้ว ก็ควรพัวพันกะบุคคลนั้น ไม่ควรหลีกไปเสีย
.........................................................................................................................................................................................
6)
ควรพัวพันอยู่กะบุคคลนั้นจนตลอดชีวิต ไม่ควรหลีกไป แม้จะถูกขับไล่ก็ตาม
[๒๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบุคคลใด บุคคลหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยบุคคลนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้น ได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่ง จากโยคะอย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมา บริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยบุคคลนี้อยู่ เมื่อเข้ามาอาศัยบุคคลนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และเราได้บรรลุธรรม อันปลอดโปร่ง จากโยคะ อย่างสูง ที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิตคือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรพัวพันอยู่กะบุคคลนั้น จนตลอดชีวิต ไม่ควรหลีกไปเสีย แม้จะถูกขับไล่ก็ตาม
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น มีใจชื่นชมยินดี พระภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
จบ วนปัตถสูตร ที่ ๗
|