พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๖๓ - ๗๒
สัมมาทิฏฐิสูตร (แสดงธรรมโดยพระสารีบุตร)
๑) รู้ชัดอาหาร ๔
[๑๑๓] ท่านพระสารีบุตรตอบว่า พึงมีอยู่ ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัด ซึ่งอาหารเหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร และทางที่จะให้ถึงความดับ อาหาร แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้ ก็อาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหารทางที่จะให้ถึง ความดับอาหาร เป็นไฉน? ได้แก่อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้ เพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ ผู้เกิดแล้ว หรือ เพื่ออนุเคราะห์เหล่าสัตว์ ผู้แสวงหาที่เกิด
อาหาร ๔ อย่างเป็นไฉน? คือ
๑ อาหาร คือ คำข้าว หยาบ หรือละเอียด
๒ อาหาร คือ ผัสสะ
๓ อาหาร คือ ความคิดอ่าน [จงใจ]
๔ อาหาร คือ วิญญาณ [ความรู้แจ้งทางอายตนะ ๖]
เหตุเกิด แห่งอาหาร ย่อมมีเพราะ ตัณหา เป็นเหตุให้เกิด
ความดับ อาหารย่อมมี เพราะ ตัณหา ดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบเลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ ชื่อว่าทาง ที่จะให้ถึง ความดับอาหาร
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับ อาหาร ทางที่จะให้ถึงความดับอาหารอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทา ปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัย ว่าเรามีอยู่ โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ ในปัจจุบันนี้เทียว แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความ เลื่อมใส อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
[๑๑๔] ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม อนุโมทนาภาษิต ของท่านพระสารีบุตรว่า สาธุ ท่านผู้มีอายุแล้วได้ถามปัญหากะท่าน พระสารีบุตรต่อไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่นอริยสาวก ... มาสู่พระสัทธรรมนี้
๒) รู้ชัดอริยสัจสี่
[๑๑๕] ท่านพระสารีบุตรตอบว่า พึงมีอยู่ ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดอริยสาวก รู้ชัดซึ่งทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็ทุกข์เป็นไฉน? ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความแห้งใจ ความ พิไร รำพัน ความไม่สบายกาย ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความประจวบกับสิ่งไม่เป็น ที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมหวัง แต่ละอย่างๆ ล้วน เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ อันนี้เรียกว่า ความทุกข์
ก็ทุกขสมุทัยเป็นไฉน? ได้แก่ ตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่ ประกอบด้วย ความกำหนัด ด้วยสามารถแห่งความเพลินเพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัย
ทุกขนิโรธเป็นไฉน? ได้แก่ความดับด้วยสามารถแห่งความสำรอก โดย ไม่เหลือ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่พัวพัน แห่งตัณหานั้นแหละ อันนี้ เรียกว่า ทุกขนิโรธ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเป็นไฉน? ได้แก่ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ...ความตั้งใจมั่นชอบ อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ดูกรผู้มีอายุ เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่ง ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียง เท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความ เลื่อมใส อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
|
อนุสัย 3 (ความเคยชิน ความหลงไหล)
1. ราคานุสัย (เกิดจากสุข)
2. ปฏิฆานุสัย (เกิดจากทุกข์)
3. อวิชชานุสัย (เกิดจาก อทุกขมสุข) |
๓) รู้ชัดซึ่งชรามรณะ
[๑๑๖] ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า สาธุ ท่านผู้มีอายุแล้ว ได้ถามปัญหากะท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่นอริยสาวก ... มาสู่พระสัทธรรมนี้
[๑๑๗] ท่านพระสารีบุตรตอบว่า พึงมีอยู่ ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัด ซึ่ง ชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับชราและมรณะ และทาง ที่จะให้ ถึง ความดับชราและมรณะ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็ชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับชราและมรณะ ทางที่จะให้ถึงความดับชราและมรณะ เป็นไฉน?
ชรา ได้แก่ความแก่ ความคร่ำคร่า ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์ นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชรา
มรณะ ความจุติความเคลื่อนไป ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดไปแห่ง ชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์ นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ
ชราและมรณะ ดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่า ชราและมรณะ
เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ย่อมมีเพราะ ชาติ เป็นเหตุให้เกิด
ความดับชรา และมรณะ ย่อมมีเพราะ ชาติ ดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ... ความตั้งใจมั่นชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับ ชราและ มรณะ
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชรา และมรณะ ความดับชราและมรณะ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับแห่งชรา และมรณะ อย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย ฯลฯ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
๔) รู้ชัดซึ่งชาติ
[๑๑๘] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ท่านพระสารีบุตร ตอบว่าพึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ความดับ ชาติ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับชาติ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็ชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ความดับชาติ ปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับชาติ เป็นไฉน?
ชาติ ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดเฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์ นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่า ชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ย่อมมี เพราะ ภพ เป็นเหตุ ให้เกิด
ความดับชาติ ย่อมมี เพราะ ภพ ดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือความเห็นชอบ ... ความตั้งใจมั่น ชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับชาติ ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแลอริยสาวกรู้ชัด ซึ่งชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ความดับชาติและปฏิปทาที่จะให้ถึง ความดับชาติอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้
๕) รู้ชัดซึ่งภพ
[๑๑๙] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตรตอบว่าพึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งภพ เหตุเกิดแห่ง ภพ ความดับภพ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับภพ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวก ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็ภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับภพ และ ปฏิปทา ที่จะให้ถึงความดับภพ เป็นไฉน? ได้แก่
ภพ ๓ เหล่านี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
เหตุเกิดแห่งภพ ย่อมมีเพราะ อุปาทาน เป็นเหตุให้เกิด
ความดับภพ ย่อมมีเพราะ อุปาทาน ดับ
อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ...ความตั้งใจมั่น ชอบ ชื่อว่าปฏิปทา ที่จะให้ถึงความดับภพ
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัด ซึ่งภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับภพ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับภพอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้.
๖) รู้ชัดซึ่งอุปาทาน
[๑๒๐] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตร ตอบว่าพึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับอุปาทานและปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอุปาทาน แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ...มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็อุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับอุปาทาน และปฏิปทาที่จะ ให้ถึง ความดับอุปาทาน เป็นไฉน? ได้แก่
อุปาทาน ๔ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน
เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ย่อมมีเพราะ ตัณหา เป็นเหตุ ให้เกิด
ความดับอุปาทาน ย่อมมีเพราะ ตัณหา ดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ... ความตั้งใจมั่นชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับ อุปาทาน
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอุปาทานเหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับอุปาทาน และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอุปาทานอย่างนี้ๆ เมื่อนั้นท่านละ ราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้
๗) รู้ชัดซึ่งตัณหา
[๑๒๑] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตรตอบว่าพึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหาและปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับตัณหา แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ...มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็ตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับตัณหา และปฏิปทาที่จะให้ถึง ความดับ ตัณหา เป็นไฉน? ได้แก่
ตัณหา ๖ หมวดเหล่านี้ คือ ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง ตัณหาในกลิ่น ตัณหาในรส ตัณหาในโผฏฐัพพะ ตัณหาในธรรม
เหตุเกิดแห่งตัณหา ย่อมมีเพราะ เวทนา เป็นเหตุให้เกิด
ความดับตัณหา ย่อมมี เพราะ เวทนา ดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือความเห็นชอบ ... ความตั้งใจมั่น ชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับตัณหา
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแลอริยสาวก รู้ชัดซึ่งตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับตัณหา และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับ ตัณหา อย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละ ราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ ...มาสู่พระสัทธรรมนี้.
๘) รู้ชัดซึ่งเวทนา
[๑๒๒] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตรตอบว่าพึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความดับเวทนา และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับเวทนา แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็เวทนา
เหตุเกิดแห่งเวทนา ความดับเวทนา และปฏิปทาที่จะให้ถึง ความดับ เวทนา เป็นไฉน? ได้แก่
เวทนา ๖ หมวดเหล่านี้ คือ เวทนาที่เกิดแต่จักขุ สัมผัส เวทนาที่เกิด แต่โสตสัมผัส เวทนาที่เกิดแต่ฆานสัมผัส เวทนาที่เกิดแต่ชิวหา สัมผัส เวทนาที่เกิด แต่กาย สัมผัสเวทนา ที่เกิดแต่มโนสัมผัส
เหตุเกิดเวทนา ย่อมมี เพราะ ผัสสะ เป็นเหตุให้เกิด
ความดับเวทนา ย่อมมี เพราะ ผัสสะ ดับ
อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือความเห็นชอบ ... ความตั้งใจมั่นชอบ ชื่อว่าปฏิปทา ที่จะให้ถึง ความดับเวทนา
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความดับเวทนา และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับเวทนาอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละ ราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้.
๙) รู้ชัดซึ่งผัสสะ
[๑๒๓] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตรตอบว่าพึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับผัสสะ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับผัสสะ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ก็ผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับผัสสะ และทางที่จะให้ถึงความดับ ผัสสะเป็นไฉน? ได้แก่
ผัสสะ ๖ หมวด คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส
เหตุเกิดแห่งผัสสะ ย่อมมีเพราะ อายตนะ ๖ เป็นเหตุให้เกิด
ความดับผัสสะ ย่อมมีเพราะ อายตนะ ๖ ดับ
อริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ นี้แหละ คือความเห็นชอบ ... ความตั้งใจมั่นชอบ ชื่อว่าปฏิปทา ที่จะให้ถึง ความดับ ผัสสะ
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัด ซึ่งผัสสะเหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับผัสสะ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับผัสสะ อย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละ ราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้.
๑๐) รู้ชัดซึ่งอายตนะ
[๑๒๔] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตร ตอบว่า พึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอายตนะ ๖ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ความดับแห่งอายตนะ ๖ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับ อายตนะ ๖ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ...มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็อายตนะ ๖ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ความดับอายตนะ ๖ และปฏิปทา ที่จะให้ถึง ความดับ อายตนะ ๖ เป็นไฉน? ได้แก่
อายตนะ ๖ เหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ย่อมมีเพราะ นามรูป เป็นเหตุให้เกิด
ความดับ อายตนะ ๖ ย่อมมีเพราะ นามรูป ดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ... ความตั้งใจมั่นชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอายตนะ ๖
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัด ซึ่งอายตนะ ๖เหตุเกิดอายตนะ ๖ ความดับอายตนะ ๖ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับ อายตนะ ๖ อย่างนี้ๆเมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวก ชื่อว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้.
๑๑) รู้ชัดซึ่งนามรูป
[๑๒๕] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตรตอบว่าพึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวก รู้ชัดซึ่งนามรูป เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับนามรูปและปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับนามรูป แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ...มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็นามรูป เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับนามรูป และปฏิปทาที่จะให้ถึง ความดับนามรูป เป็นไฉน?
นามรูป เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ อันนี้เรียกว่า นาม มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ อันนี้เรียกว่ารูป นามและรูป ดังพรรณนามา ฉะนี้ เรียกว่า นามรูป
เหตุเกิดแห่งนามรูป ย่อมมีเพราะ วิญญาณ เป็นเหตุให้เกิด
ความดับนามรูป ย่อมมีเพราะ วิญญาณ ดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือความเห็นชอบ ... ความตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับนามรูป
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งนามรูป เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับนามรูป และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับนามรูปอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละ ราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้.
๑๒) รู้ชัดซึ่งวิญญาณ
[๑๒๖] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตรตอบว่า พึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวก รู้ชัดซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับวิญญาณและทางที่จะให้ถึงความดับวิญญาณ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็วิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับวิญญาณ ปฏิปทาที่จะให้ถึง ความดับวิญญาณเป็นไฉน? ได้แก่
วิญญาณ ๖ หมวดเหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ
เหตุเกิดแห่ง วิญญาณ ย่อมมีเพราะ สังขาร เป็นเหตุให้เกิด
ความดับวิญญาณ ย่อมมีเพราะ สังขาร ดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือความเห็นชอบ ... ความตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับวิญญาณ
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับวิญญาณ ปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับวิญญาณ อย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละ ราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้.
๑๓) รู้ชัดซึ่งสังขาร
[๑๒๗] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตรตอบว่าพึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวก รู้ชัดซึ่งสังขาร เหตุเกิด แห่งสังขาร ความดับสังขาร และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับสังขาร แม้ด้วยเหตุเพียง เท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็สังขาร เหตุเกิดแห่งสังขาร ความดับสังขาร ทางที่จะให้ถึงความดับ สังขารเป็นไฉน? ได้แก่
สังขาร ๓ เหล่านี้ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร
เหตุเกิดแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะ อวิชชา เป็นเหตุให้เกิด
ความดับสังขาร ย่อมมี เพราะ อวิชชา ดับ
อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ... ความตั้งใจมั่นชอบ ชื่อว่าทางที่จะให้ถึงความดับสังขาร
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งสังขาร เหตุเกิดแห่งสังขาร ความดับสังขาร ปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับสังขารอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ... มาสู่พระสัทธรรมนี้.
๑๔) รู้ชัดซึ่งอวิชชา
[๑๒๘] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตร ตอบว่าพึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอวิชชา เหตุเกิด แห่งอวิชชา ความดับอวิชชาและปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอวิชชา แม้ด้วยเหตุเพียง เท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ...มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็อวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับอวิชชา และปฏิปทาที่จะให้ถึง ความดับ อวิชชา เป็นไฉน?
อวิชชา ความไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ในความดับทุกข์ ในปฏิปทา ที่จะให้ถึง ความดับทุกข์ อันนี้เรียกว่าอวิชชา
เหตุเกิดแห่งอวิชชา ย่อมมี เพราะ อาสวะ เป็นเหตุ ให้เกิด
ความดับอวิชชา ย่อมมีเพราะ อาสวะ ดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือความเห็นชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ ชื่อว่าปฏิปทา ที่จะให้ถึงความดับอวิชชา
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่ง อวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับอวิชชา ทางที่จะให้ถึงความดับอวิชชาอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
[๑๒๙] ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า สาธุ ท่านผู้มีอายุแล้วได้ถามปัญหากะท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมี อยู่หรือปริยายแม้อย่างอื่นที่อริยสาวกซึ่งชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไป ตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
๑๕) รู้ชัดซึ่งอาสวะ
[๑๓๐] ท่านพระสารีบุตรตอบว่า พึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวก รู้ชัด ซึ่งอาสวะอาสวสมุทัย อาสวนิโรธ อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา แม้ด้วยเหตุเพียง เท่านี้ อริยสาวกชื่อว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วย ความเลื่อมใส อันแน่วแน่ในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็อาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับอาสวะ ทางที่จะให้ถึงความดับ อาสวะ เป็นไฉน? ได้แก่
อาสวะ ๓ เหล่านี้ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ
เหตุเกิดแห่งอาสวะ ย่อมมีเพราะ อวิชชา เป็นเหตุให้เกิด
ความดับอาสวะ ย่อมมี เพราะ อวิชชา ดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบพยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ชื่อว่า ปฏิปทา ที่จะให้ถึง ความดับอาสวะ
ดูกรท่านผู้มีอายุเมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับ อาสวะ ปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอาสวะ อย่างนี้ๆ เมื่อนั้นท่านละราคานุสัย บรรเทา ปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัย โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชา ให้เกิด ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันเทียว แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวก ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้วประกอบด้วย ความเลื่อมใส อันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดีภาษิตของท่าน พระสารีบุตรแล้วแล.
จบ สัมมาทิฏฐิสูตร ที่ ๙
|