พระไตรปิฎก ฉบับหลวง สุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๒๓ - ๒๔
๔. ภยเภรวสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นภัยและน่าหวาดกลัว
[๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ชาณุโสณีพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๒๘] ชาณุโสณีพราหมณ์นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่าข้าแต่ท่านพระโคดม กุลบุตรเหล่าใดมีศรัทธา ออกบวชเป็น บรรพชิต อุทิศเฉพาะท่านพระโคดมท่านพระโคดม ทรงเป็นหัวหน้าของกุลบุตรเหล่านั้น ทรงมีอุปการะมากแก่กุลบุตรเหล่านั้น ทรงยังกุลบุตรเหล่านั้นให้ถือเอาตาม และ ประชุมชนนั้น ย่อมปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านพระโคดมหรือ? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้อย่างนั้น ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้อย่างนั้น กุลบุตรเหล่าใดมีศรัทธา ออกบวชเป็นบรรพชิต อุทิศเฉพาะเรา เราเป็นหัวหน้าของกุลบุตรเหล่านั้นมีอุปการะมาก แก่กุลบุตรเหล่านั้น ยังกุลบุตรเหล่านั้นให้ถือเอาตาม และประชุมชนนั้น ย่อมปฏิบัติตามแบบอย่างของเรา.
[๒๙] ชา. ข้าแต่ท่านพระโคดม เสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว ยากที่จะเป็นอยู่ได้ ในภาวะที่โดดเดี่ยว ความสงัดกาย ยากที่จะทำได้ ยากที่จะยินดีได้ ป่าทั้งหลายประหนึ่ง จะชักพาใจของภิกษุผู้ยังไม่ได้ สมาธิไปเสีย.
ภ. ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้นพราหมณ์ เสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว ยากที่จะเป็นอยู่ได้ ในภาวะที่โดดเดี่ยว ความสงัดกาย ยากที่จะทำได้ ยากที่จะยินดีได้ ป่าทั้งหลายประหนึ่งจะชักพาใจของพระภิกษุ ผู้ยัง ไม่ได้สมาธิไปเสีย.
[๓๐] ภ. ดูกรพราหมณ์ แม้เราเมื่อเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้ทีเดียว ได้มีความดำริดังนี้ว่า เสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว ยากที่จะเป็นอยู่ได้ ในภาวะที่โดดเดี่ยว ความสงัดกาย ยากที่จะทำได้ ยากที่จะยินดีได้ ป่าทั้งหลาย ประหนึ่งว่าจะชักพาใจของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิไปเสีย.
[๓๑] ดูกรพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ ย่อมเสพเสนาสนะ อันสงัด ที่เป็นป่า และเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องความกลัว และความ ขลาด อันเป็นอกุศล เพราะโทษของตน คือ มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์เป็นเหตุ. ส่วนเรา มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวหามิได้ เราเป็นผู้ มีกายกรรมบริสุทธิ์. พระอริยะเหล่าใด มีกายกรรมบริสุทธิ์ ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าและเป็น ป่าเปลี่ยว บรรดาพระอริยะเหล่านั้น เราก็เป็นพระอริยะองค์หนึ่ง
ดูกรพราหมณ์ เราเห็นชัด ซึ่งความเป็นผู้มีกายกรรมอันบริสุทธิ์นี้ในตน จึงถึง ความเป็นผู้มีขนตก(ขนเรียบ)โดยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า.
|