พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๗
๓. ธรรมทายาทสูตร
ว่าด้วยทายาทแห่งธรรม
[๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า พระเจ้าข้า ดังนี้.
[๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็น ธรรมทายาทของเราเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทของเราเลย เรามีความเอ็นดูใน พวกเธอ อยู่ว่า ทำอย่างไรหนอสาวกทั้งหลายของเราจะพึงเป็นธรรมทายาท จะไม่พึง เป็นอามิสทายาท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอจะพึงเป็นอามิสทายาทของเรา ไม่เป็นธรรม ทายาท ไซร้ ด้วยความที่พวกเธอเป็นอามิสทายาท ไม่เป็นธรรมทายาทนั้น ทั้งพวกเธอ ทั้งเรา พึงถูกวิญญูชนติเตียนได้ว่า พวกสาวกของพระศาสดา พากันเป็นอามิสทายาท ไม่เป็นธรรมทายาท
ดูกรภิกษุทั้งหลายถ้าพวกเธอพึงเป็นธรรมทายาทของเรา ไม่เป็นอามิส ทายาทไซร้ ด้วยความที่พวกเธอเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาทนั้น ทั้งพวกเธอ ทั้งเรา ไม่พึงถูกวิญญูชนติเตียนว่า พวกสาวกของพระศาสดา พากันเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท เพราะเหตุนั้นแล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด อย่าเป็น อามิสทายาทเลย เรามีความเอ็นดูในพวกเธออยู่ว่า ทำอย่างไรหนอ สาวกทั้งหลาย ของเรา พึงเป็นธรรมทายาท ไม่พึงเป็นอามิสทายาท.
[๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเราบริโภคเสร็จ อิ่มหนำสำราญเป็นอันดี เพียงพอ แก่ประโยชน์แล้ว แต่บิณฑบาตของเรายังมีเหลืออยู่ อันจำต้องทิ้งในเวลานั้น ภิกษุ สองรูป อันความหิว และความถอยกำลังครอบงำแล้วพากันมา เราพึงกล่าวกะ เธอทั้งสองนั้น อย่างนี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราบริโภคเสร็จ อิ่มหนำสำราญเป็นอันดี เพียงพอแก่ ประโยชน์แล้ว แต่บิณฑบาตนี้ของเรายังมีเหลืออยู่ อันจำต้องทิ้ง ถ้าเธอทั้งหลาย หวังจะบริโภค ก็จงบริโภคเถิด ถ้าเธอทั้งหลายจักไม่บริโภค เราทิ้งเสียในที่ที่ปราศจาก ของสดเขียว หรือจักเทเสียในน้ำ ที่ไม่มีตัวสัตว์ ณ บัดนี้
ภิกษุสองรูปนั้น รูปหนึ่ง มีความคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาค เสวยเสร็จ อิ่มหนำสำราญเป็นอันดี เพียงพอแก่ประโยชน์แล้ว แต่บิณฑบาตของพระผู้มีพระภาคนี้ ยังมีเหลืออยู่ อันจำต้องทิ้ง ถ้าเราทั้งหลายจักไม่บริโภค พระผู้มีพระภาคก็จักทรงทิ้ง ในที่ที่ปราศจากของสดเขียว หรือจักทรงเทเสียในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ ณ บัดนี้
แต่ พระผู้มีพระภาคตรัสสอนไว้ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็น ธรรมทายาทของเราเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย ก็บิณฑบาตนี้เป็นอามิสอย่างใด อย่างหนึ่ง อย่ากระนั้นเลย เราไม่พึงบริโภคบิณฑบาตนี้ พึงยังคืนและวันนี้ ให้ล่วงไปอย่างนี้ด้วยความหิว และความถอยกำลัง นี้แหละ เธอจึงไม่บริโภคบิณฑบาต นั้น แล้วยังคืนและวันนั้น ให้ล่วงไปอย่างนี้ ด้วยความหิวและความถอยกำลังนั้นเอง.
ส่วนภิกษุรูปที่ ๒ มีความคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ อิ่มหนำ สำราญ เป็นอันดีเพียงพอแก่ประโยชน์แล้ว แต่บิณฑบาตของพระผู้มีพระภาคนี้ ยังมีเหลืออยู่ อันจำต้องทิ้ง ถ้าเราทั้งหลายจักไม่บริโภค พระผู้มีพระภาค จักทรงทิ้ง ในที่ที่ปราศจากของสดเขียว หรือจักทรงเทเสียในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ ณ บัดนี้ อย่ากระนั้นเลย เราพึงบริโภคบิณฑบาตนี้ บรรเทาความหิว และความถอยกำลัง พึงยังคืนและวันนี้ให้ล่วงไปอย่างนี้ เธอจึงบริโภคบิณฑบาตนั้น บรรเทาความหิวและ ความถอยกำลัง พึงยังคืนและวันนั้นให้ล่วงไปอย่างนี้.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น แม้จะบริโภคบิณฑบาตนั้น บรรเทาความหิว และ ความถอยกำลัง พึงยังคืนและวันนั้น ให้ล่วงไปอย่างนี้ ถึงอย่างนั้น ภิกษุรูปก่อนโน้น ยังน่าบูชาและสรรเสริญกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนั้น จักเป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ขัดเกลา เลี้ยงง่าย ปรารภความเพียร แก่ภิกษุนั้น สิ้นกาลนาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทของเราเลย เรามีความเอ็นดูในพวกเธอว่า ทำอย่างไรหนอ พวกสาวกของเราพึงเป็นธรรมทายาท ไม่พึงเป็นอามิสทายาท พระผู้มีพระภาคสุคตเจ้า ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว จึงเสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่พระวิหาร. |