เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

ปปัญจธรรม (ธรรมอันเป็นเครื่องเนิ่นช้า) รวมพระสูตร ฉบับหลวง และปฏิจจจากพระโอษฐ์ 1788
  รวมพระสูตร ปปัญจธรรม (ธรรมอันเป็นเครื่องเนิ่นช้า)

1. สักกปัญหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ หน้า ๒๐๗ - ๒๐๙
2. มธุปิณฑิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๕๒-๑๕๙
3. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ หน้า ๑๙๔
4. สัญเจตนิยวรรคที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ หน้า ๑๕๖
5. ฏิจจสมุปบาท แห่งปปัญจสัญญาสังขาสมุทาจรณะ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์หน้า 601
6. ปฏิจจแห่งปปัญจสัญญา อันทำความเนิ่นช้า ปฏิจจจากพระโอษฐ์ หน้า 604
7. ปฏิจจสมุปบาท แห่ง การดับปปัญจสัญญาสังขา ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์หน้า 612
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 

 


1
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้า ๒๐๗ - ๒๐๙


สักกปัญหสูตร
ปฏิปทาให้ถึงความดับส่วนแห่งสัญญา อันประกอบด้วย ปปัญจธรรม (ตรัสกับท้าวสักกะจอมเทพ)
(อุเบกขาที่ควรเสพและไม่ควรเสพ-เครื่องเนิ่นช้า)

         ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ความตรึกมีอะไร เป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็น กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความตรึกจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความตรึกจึง ไม่มี

         ดูกรจอมเทพ ความตรึกมีส่วนแห่งสัญญา อันประกอบด้วยปปัญจธรรม (เครื่องเนิ่นช้า) เป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด เมื่อส่วนแห่งสัญญา อันประกอบ ด้วย ปปัญจธรรมมี ความตรึกจึงมี เมื่อส่วนแห่งสัญญา อันประกอบด้วย ปปัญจธรรม ไม่มี ความตรึกจึงไม่มี

         [๒๕๗] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่า ดำเนิน ปฏิปทา อันสมควร ที่จะให้ถึงความดับส่วนแห่งสัญญา อันประกอบด้วย ปปัญจธรรม

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวโสมนัส โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี โทมนัส ก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี และ อุเบกขา ก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวโสมนัสโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงโสมนัสดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในโสมนัส ทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบโสมนัส อันใดว่า เมื่อเราเสพโสมนัสนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศล ธรรมเสื่อม โสมนัสเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ บุคคลพึงทราบโสมนัสอันใด ว่า เมื่อเราเสพ โสมนัสนี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น โสมนัสเห็นปานนั้นควรเสพ ในโสมนัส ทั้ง ๒ นั้น ถ้าโสมนัสอันใดมีวิตก มีวิจาร อันใด ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น โสมนัส ที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวโสมนัสโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ ควรเสพก็มี ฉะนี้แล ที่กล่าวถึงโสมนัสดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวโทมนัสโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ที่กล่าวถึงโทมนัสดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในโทมนัสทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบโทมนัสอันใดว่า เมื่อเราเสพโทมนัสนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม เสื่อม โทมนัสเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ บุคคลพึงทราบโทมนัสอันใดว่า เมื่อเราเสพโทมนัส นี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น โทมนัสเห็นปานนั้น ควรเสพ ในโทมนัสทั้ง ๒ นั้น ถ้าโทมนัสอันใด มีวิตก มีวิจาร อันใด ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารใน ๒ อย่างนั้น โทมนัสที่ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวโทมนัส โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควร เสพก็มีฉะนี้แล ที่กล่าวถึงโทมนัสดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวอุเบกขาโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ที่กล่าวถึง อุเบกขา ดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในอุเบกขา ทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบอุเบกขาอันใดว่า เมื่อเราเสพอุเบกขานี้ อกุศลธรรม เจริญขึ้น กุศลธรรม เสื่อม อุเบกขาเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ บุคคลพึงทราบอุเบกขา อันใดว่า เมื่อเราเสพ อุเบกขา นี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น อุเบกขา เห็นปานนี้ ควรเสพ ในอุเบกขาทั้ง ๒ นั้น ถ้าอุเบกขาอันใด มีวิตก มีวิจาร อันใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น อุเบกขาที่ไม่วิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวอุเบกขาแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควร เสพ ก็มี ฉะนี้แล ที่กล่าวถึงอุเบกขาดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้

         ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่า ดำเนินปฏิปทาอันสมควรที่จะให้ถึงความดับ แห่ง ส่วนสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม

         พระผู้มีพระภาค อันท้าวสักกะจอมเทพทูลถามปัญหาแล้ว ทรงพยากรณ์ ด้วยประการ ฉะนี้

         ท้าวสักกะจอมเทพทรงดีพระทัย ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็น อย่างนั้น ในข้อนี้ ข้าพระองค์ ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากถ้อยคำที่จะพูดว่า อย่างไรแล้ว เพราะได้ฟังการพยากรณ์ปัญหา ของพระผู้มีพระภาค

         [๒๕๘] ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ในปัญหาพยากรณ์ ข้อนี้ ดังนี้แล้ว จึงได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น ไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ก็ภิกษุ ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อ ความสำรวมในปาติโมกข์

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพ ก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี วจีสมาจารก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพ ก็มี และการ แสวงหา ก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพ ก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงกายสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ใน กายสมาจาร ทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบ กายสมาจารอันใดว่า เมื่อเราเสพกายสมา จารนี้ อกุศลธรรม เจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมกายสมาจารเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ บุคคลพึงทราบกายสมาจาร อันใดว่า เมื่อเราเสพกายสมาจารนี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น กายสมาจาร เห็นปานนี้ ควรเสพ

         ดูกรจอมเทพอาตมภาพ กล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฉะนี้แล ที่กล่าวถึงกายสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าววจีสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพ ก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงวจีสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในวจี สมาจารทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบ วจีสมาจารอันใดว่า เมื่อเราเสพวจีสมาจารนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมวจีสมาจาร เห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ บุคคล พึงทราบวจีสมาจารอันใดว่า เมื่อเราเสพวจีสมาจารนี้อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรม เจริญขึ้น วจีสมาจารเห็นปานนี้ ควรเสพ

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าววจีสมา จารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฉะนี้ แล ที่กล่าวถึง วจีสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวการแสวงหาโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพ ก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงการแสวงหาดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ใน การแสวงหา ทั้ง ๒ นั้นบุคคลพึงทราบการ แสวงหาอันใดว่า เมื่อเราเสพการแสวง หานี้ อกุศลธรรม เจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม การแสวงหา เห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ บุคคลพึงทราบการ แสวงหา อันใดว่า เมื่อเราเสพการแสวงหานี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น การแสวงหาเห็นปานนี้ ควรเสพ

         ดูกรจอมเทพ อาตมภาพ กล่าวการแสวงหาโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพ ก็มีฉะนี้แล ที่กล่าวถึงการแสวงหาดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้

         ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้ว เพื่อสำรวมในปาติโมกข์



2
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๒-๑๕๙

มธุปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยธรรมบรรยายที่ไพเราะ (ธรรมเครื่องเนิ่นช้า)
(อนุสัย ๗- เครื่องเนิ่นช้า)

          [๒๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท. ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าเข้าไปสู่พระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อบิณฑบาต. ครั้นเสร็จจากการเสด็จเที่ยวไป บิณฑบาตแล้ว เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน เพื่อทรงพักในเวลากลางวัน ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม แม้ ทัณฑปาณิศากยะ กำลังเสด็จ เที่ยว เดินเล่น ได้เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังต้นมะตูมหนุ่ม ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนยัน ไม้เท้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระสมณะมีปกติ กล่าวอย่างไร มีปกติบอกอย่างไร?

ตรัสตอบปัญหาทัณฑปาณิศากยะ

          พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างไร จึงจะไม่ โต้เถียง กันกับผู้ใดผู้หนึ่งในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ดำรงอยู่ในโลก และสัญญาทั้งหลาย จะไม่ครอบงำพราหมณ์ ผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลายนั้น ผู้ไม่ลังเล ผู้ตัดความ คะนอง ได้แล้ว ผู้ปราศจากตัณหา ในภพน้อยภพใหญ่ได้อย่างไร เรามีปกติ กล่าวอย่างนั้น มีปกติบอกอย่างนั้น. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทัณฑปาณิศากยะ ได้สั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่นเป็น ๓ รอย ถือไม้เท้ายันหลีกไป

          [๒๔๔] ครั้งนั้น เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น แล้วเสด็จ เข้าไปยังนิโครธาราม ประทับ ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นแล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย มารับสั่งว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะเล่าให้ฟัง เวลาเช้า เรานุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปสู่พระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อบิณฑบาต ครั้นเสร็จจากการเที่ยวไป บิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังป่ามหาวัน เพื่อพักในเวลากลางวัน ครั้นถึงแล้ว จึงนั่งพักกลางวัน ณ โคนต้น มะตูมหนุ่ม.

          ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้ทัณฑปาณิศากยะ เสด็จเที่ยวเดินเล่น ได้เข้าไปยังป่า มหาวัน ครั้นแล้วเข้าไปหาเรายังต้นมะตูมหนุ่ม ได้ปราศรัยกับเรา ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนยันไม้เท้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และได้ถามเราว่า พระมหาสมณะ มีปกติกล่าวอย่างไร มีปกติบอกอย่างไร?

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ ทัณฑปาณิศากยะ กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราได้ตอบว่า

          ดูกรผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างไร จึงจะไม่โต้เถียงกันกับผู้ใดผู้หนึ่ง ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์ ดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายจะไม่ครอบงำพราหมณ์ ผู้ปราศจากกาม ทั้งหลายนั้น ผู้ไม่ลังเล ผู้ตัดความคะนองได้แล้ว ผู้ปราศจากตัณหา ในภพน้อย ภพใหญ่ ได้อย่างไร เรามีปกติกล่าวอย่างนั้น มีปกติบอกอย่างนั้น

          เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว ทัณฑปาณิศากยะ สั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่น เป็น ๓ รอย ถือไม้เท้ายันหลีกไป

          [๒๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามขึ้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมีปกติตรัสอย่างไร จึงไม่โต้เถียงกับผู้ใดผู้หนึ่ง ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายจะไม่ครอบงำพราหมณ์ ผู้ปราศจากกามทั้งหลายนั้น ผู้ไม่ลังเล ผู้ตัดความคะนองได้แล้ว ผู้ปราศจากตัณหาใน ภพน้อย ภพใหญ่ได้อย่างไร?

          พระผู้มีพระภาคตอบว่า ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อม ครอบงำ บุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุ นั้น อันนี้เทียว
เป็นที่สุดแห่ง ราคานุสัย(๑)
เป็นที่สุดแห่ง ปฏิฆานุสัย (๒)
เป็นที่สุดแห่ง ทิฏฐานุสัย (๓)
เป็นที่สุดแห่ง วิกิจฉานุสัย (๔)
เป็นที่สุดแห่ง มานานุสัย (๕)
เป็นที่สุดแห่ง ภวราคานุสัย (๖)
เป็นที่สุดแห่ง อวิชชานุสัย (๗)
เป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะ การถือผิด การโต้เถียง การด่าว่า การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรม อันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไป โดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น (อนุสัย ๗ หรือ สังโยชน์ ๗ P610 )

ครั้นพระผู้มีพระภาคผู้สุคตเจ้า ได้ตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย

ทรงแสดงอุเทศโดยย่อ

          [๒๔๖] ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้น ก็บังเกิดความสงสัยว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้ โดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลินยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียว เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัยเป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่ง วิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่ง อวิชชานุสัย เป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะการถือผิด การโต้เถียง การด่าว่า การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรมอันลามก เหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้ พิสดาร เสด็จลุก จากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย ใครหนอ จะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้

          ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นก็บังเกิดความคิดว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว และเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และท่าน พระมหากัจจานะ สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้ โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้ ผิฉะนั้น เราทั้งหลายควรพากันไปหา ท่าน มหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านพระมหากัจจานะ

          ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัย กับ ท่านพระมหากัจจานะว่า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว พากันนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง และพูดกะท่านมหากัจจานะว่า ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงอุเทศนี้ไว้โดยย่อว่า

          ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้นอันนี้เทียว เป็นที่สุดแห่ง ราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นเป็นที่สุดแห่ง วิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่ง มานานุสัย เป็นที่สุดแห่ง ภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่ง อวิชชานุสัย เป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะ การถือผิด การโต้เถียงการด่าว่า การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย

          ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน พวกผมได้ บังเกิด ความสงสัยดังนี้ว่าดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้ ไว้ โดยย่อ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย ใครหนอ จะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรง ชี้แจงโดย พิสดาร ให้พิสดารได้

          ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ ผมเหล่านั้นก็บังเกิดความคิดว่า ท่านมหากัจจานะนี้ อันพระศาสดา ทรงยกย่องแล้ว และเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และ ท่านมหากัจจานะนี้ สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้ ผิฉะนั้น เราทั้งหลายควรพากันเข้าไหา ท่านกัจจานะถึงที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านมหากัจจานะดู ขอท่านมหากัจจานะ จงชี้แจงไปเถิด

          [๒๔๗] ท่านพระมหากัจจานะจึงกล่าวตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้ อยู่ ก็ล่วงเลยโคนต้นและลำต้นของต้นไม้ใหญ่อันมีแก่นเสีย สำคัญว่าจะพึงแสวงหา แก่น ที่กิ่ง และใบอฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้นเมื่อพระศาสดา ทรงปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายก็ล่วงเลยพระองค์ไปเสียแล้ว กลับจะมาไต่ถามเนื้อความนี้ กะผม

          ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงรู้ทรงเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ เป็นผู้มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ เป็นผู้ประกาศเป็นผู้ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็นพระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลา อันสมควร ที่ท่านทั้งหลายจะทูลถามเนื้อความนี้ต่อพระผู้มีพระภาคแท้ พระองค์ทรง แก้ไขอย่างไร ท่านทั้งหลายก็ควรจำไว้อย่างนั้น

          ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็นเป็นผู้มีพระจักษุ เป็นผู้มีพยาน เป็นผู้มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ เป็นผู้ประกาศ เป็นผู้ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็นพระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่กระผมทั้งหลาย จะทูลถามเนื้อความ นี้ ต่อพระผู้มีพระภาคแท้ พระองค์ทรงแก้ไขอย่างไร กระผมทั้งหลาย ควรจำไว้อย่างนั้น ก็จริงอยู่แล แต่ว่า ท่านพระมหากัจจานะ อันพระศาสดา ทรงยกย่องแล้ว และเพื่อน พรหมจรรย์ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และท่านพระมหากัจจานะก็สามารถจะชี้แจง เนื้อความแห่ง อุเทศที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้โดยย่อว่า ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้ ขอท่านพระมหากัจจานะ จงชี้แจงไปเถิด อย่าทำความหนักใจให้เลย

พระมหากัจจานะแสดงอุเทศโดยพิสดาร

          [๒๔๘] ท่านมหากัจจานะจึงกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดีผมจะกล่าว. ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหากัจจานะ จึงกล่าวดังนี้ว่าดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงอุเทศไว้โดยย่อว่า

          ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืนไม่มีในเหตุนั้นอันนี้แล เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่งวิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย เป็นที่สุดแห่งการ จับท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะ การถือผิด การโต้เถียง การด่าว่า การส่อเสียดยุยง และการกล่าว เท็จ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น แล้วไม่ทรง ชี้แจง เนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย

          ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ผมรู้ถึงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้ โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้อย่างนี้-

     ๑. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เพราะอาศัยตาและรูป เพราะ ประชุม ธรรม ๓ ประการ จึงเกิดผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำเวทนาอันนั้น
บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึกถึงเวทนาอันนั้น
บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น
บุคคลเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันใด ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้าก็ครอบงำบุรุษ เพราะเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้นเป็นเหตุ ในรูปทั้งหลาย ที่พึงจะรู้ด้วยตา เป็นอดีตก็ดี เป็นอนาคตก็ดี เป็นปัจจุบันก็ดี
     ๒. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย โสตวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยหูและเสียง ...
     ๓. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ฆานวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูกและกลิ่น ...
     ๔. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นและรส ...
     ๕. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กายวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ..
     ๖. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มโนวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ เพราะประชุมธรรม ๓ ประการ จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำเวทนาอันนั้น บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึกถึงเวทนาอันนั้น บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น บุคคลเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันใด ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้าก็ครอบงำบุรุษ เพราะเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้นเป็นเหตุ ในธรรมารมณ์ทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยใจเป็นอดีตก็ดี เป็นอนาคตก็ดี เป็นปัจจุบันก็ดี
.............................................................................................................

     ๑. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อตามี รูปมี และจักขุวิญญาณมี เขาจักบัญญัติ ว่า ผัสสะ ข้อนี้มีฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติผัสสะมี เขาจักบัญญัติว่าเวทนา ข้อนี้เป็นฐานะ ที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติว่าเวทนามี เขาจักบัญญัติสัญญา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติสัญญามี เขาจักบัญญัติวิตก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติวิตกมี เขาจักบัญญัติว่า การครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
     ๒. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อมีหู เสียงมี ...
     ๓. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อจมูกมี กลิ่นมี ...
     ๔. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อลิ้นมี รสมี ...
     ๕. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อกายมี โผฏฐัพพะมี ...
     ๖. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใจมี ธรรมารมณ์มี และมโนวิญญาณมี เขาจักบัญญัติว่า ผัสสะ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติผัสสะมี เขาจักบัญญัติว่าเวทนา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติเวทนามี เขาจักบัญญัติว่าสัญญา ข้อนี้เป็นฐานะ ที่จะมีได้เมื่อการบัญญัติสัญญามี เขาจักบัญญัติว่าวิตก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติวิตกมีเขาจักบัญญัติว่า การครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
.............................................................................................................

     ๑. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อตาไม่มี รูปไม่มี และจักขุวิญญาณไม่มี เขาจักบัญญัติว่า ผัสสะ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติผัสสะไม่มี เขาจักบัญญัติว่าเวทนา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติเวทนาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าสัญญา ข้อนี้มิใช่ ฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติสัญญาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าวิตก ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติวิตกไม่มี เขาจักบัญญัติว่า การครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้
     ๒. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อหูไม่มี เสียงไม่มี ...
     ๓. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อจมูกไม่มี กลิ่นไม่มี ...
     ๔. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อลิ้นไม่มี รสไม่มี ...
     ๕. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อกายไม่มี โผฏฐัพพะไม่มี ...
     ๖. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใจไม่มี ธรรมารมณ์ไม่มี และมโนวิญญาณ ไม่มีเขา จักบัญญัติว่าผัสสะ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติผัสสะไม่มี เขาจักบัญญัติว่า เวทนา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติเวทนาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าสัญญา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติสัญญาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าวิตก ข้อนี้มิใช่ฐานะ ที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติวิตกไม่มี เขาจักบัญญัติว่า การครอบงำส่วนแห่งสัญญา เครื่องเนิ่นช้า ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้
.............................................................................................................

          ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้ไว้โดยย่อว่า ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคล จะเพลิดเพลิน ยึดถือกล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียว
เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย
เป็นที่สุดแห่ง ปฏิฆานุสัย
เป็นที่สุดแห่ง ทิฏฐานุสัย
เป็นที่สุดแห่ง วิจิกิจฉานุสัย
เป็นที่สุดแห่ง มานานุสัย
เป็นที่สุดแห่ง ภวราคานุสัย
เป็นที่สุดแห่ง อวิชชานุสัย
เป็นที่สุดแห่งการท่อนไม้ การจับศาสตรา การทะเลาะการถือผิด การโต้เถียงกัน การด่าว่ากัน การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไป โดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าที่ประทับเสีย

          ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผมรู้ถึงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้โดยย่อนี้ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดาร ให้พิสดารได้อย่างนี้

          ก็แลเมื่อท่านทั้งหลายปรารถนา ก็พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถาม เนื้อความนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ประการใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำข้อนั้น ไว้โดยประการนั้นเถิด

          [๒๔๙] ลำดับนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านมหากัจจานะ แล้วลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงอุเทศไว้โดยย่อว่า

          ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียว เป็นที่สุดแห่ง ราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่งวิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย เป็นที่สุด แห่งการจับท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะ การถือผิด การโต้เถียงกัน การด่าว่ากัน การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับ เสีย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคหลีกไปไม่นาน พวกข้าพระองค์ได้บังเกิด ความสงสัยดังนี้ว่า

          ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้ไว้โดยย่อ ... ไม่ทรงชี้แจง เนื้อความให้พิสดาร แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย ใครหนอ จะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อนี้ ไม่ทรงชี้แจง เนื้อความไว้โดยพิสดาร ให้พิสดารได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ก็บังเกิด ความคิดขึ้นว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้ อันพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว และเพื่อน พรหมจรรย์ ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และท่านพระมหากัจจานะ ก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความ แห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดาร ให้พิสดารได้ผิฉะนั้น เราทั้งหลายจะพากันไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านพระมหากัจจานะดู

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้นเอง ข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้พากันเข้าไปหา ท่านมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านพระมหากัจจานะ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะได้ชี้แจงเนื้อความด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ แก่พวกข้าพระองค์

ทรงสรรเสริญพระมหากัจจานะ

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระมหากัจจานะเป็นบัณฑิต เป็นผู้มี ปัญญามาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้พวกเธอจะถามเนื้อความนี้กะเรา แม้เราก็จะพึง พยากรณ์ เนื้อความนั้น เหมือนกับที่พระมหากัจจานะพยากรณ์แล้วนั้น นี่แหละเป็น เนื้อความ แห่งข้อนั้น เธอทั้งหลายจงทรงจำข้อนั้นไว้เถิด

          [๒๕๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงกราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษผู้ถูกความหิว ความเหนื่อยอ่อน ครอบงำ ได้ขนมหวาน แล้วกินในเวลาใด ก็พึงได้รับรสอันอร่อยหวาน ชื่นชูใจในเวลานั้น ฉันใดข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนักคิด ชาติบัณฑิต พึงใคร่ครวญ เนื้อความแห่งธรรมบรรยายนี้ด้วยปัญญา ในเวลาใด ก็พึงได้ความพอใจ และได้ความ เลื่อมใสแห่งใจในเวลานั้น ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร

          พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เหตุดังนั้น เธอจงทรงจำธรรมบรรยายนี้ ว่า มธุปิณฑิกปริยาย ดังนี้เถิด

          พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจชื่นชม ยินดี ภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล


3
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้า ๑๙๔

ปปัญจธรรม (อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร)
(พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำวัฏฏะแล้ว ตัด ปปัญจธรรม แล้วจึงปราศจากเครื่องเนิ่นช้า)

         [๓๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลา อาหารแล้ว นั่งประชุมกัน ในอุปัฏฐานศาลา เกิดข้อสนทนากันขึ้น ในระหว่างดังนี้ว่า

         ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายน่าอัศจรรย์จริง ไม่น่าเป็นไปได้เลยข้อที่พระตถาคต มีอิทธานุภาพมาก ซึ่งเป็นเหตุให้ทรงทราบพระพุทธเจ้าในอดีต ผู้ปรินิพพานแล้ว ทรงตัดปปัญจธรรมแล้ว ทรงตัดตอวัฏฏะแล้ว ทรงครอบงำวัฏฏะแล้ว ทรงล่วงทุกข์ ทั้งปวงแล้ว ว่าพระผู้มีพระภาคนั้นๆ มีพระชาติ อย่างนี้บ้าง มีพระนามอย่างนี้บ้าง มีโครตอย่างนี้บ้าง มีศีลอย่างนี้บ้าง มีธรรมอย่างนี้บ้าง มีปัญญาอย่างนี้บ้าง มีวิหารธรรม อย่างนี้บ้าง มีวิมุตติอย่างนี้บ้าง เมื่อภิกษุเหล่านั้น สนทนากันอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า

         ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตทั้งหลาย ทั้งน่าอัศจรรย์และประกอบด้วย ธรรมน่าอัศจรรย์ พระตถาคตทั้งหลาย ทั้งไม่น่าเป็นไปได้และประกอบด้วยธรรม ไม่น่าเป็นไปได้ ข้อสนทนากัน ในระหว่างของภิกษุเหล่านั้น ค้างอยู่เพียงเท่านี้

         [๓๕๘] ขณะนั้นแล พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากสถานที่ทรงหลีกเร้นอยู่ ในเวลาเย็น เสด็จเข้าไป ยังอุปัฏฐานศาลานั้น แล้วจึงประทับนั่ง ณ อาสนะ ที่เขา แต่งตั้ง ไว้ แล้วตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุม สนทนา เรื่องอะไรกัน และพวกเธอสนทนาเรื่องอะไรกัน ในระหว่างค้างอยู่แล้ว

         ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ณ โอกาสนี้ พวกข้าพระองค์กลับจาก บิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา เกิดข้อสนทนา กันขึ้น ในระหว่างดังนี้ว่า

         ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริงไม่น่าเป็นไปได้เลย ข้อที่พระตถาคต มีอิทธานุภาพมาก ซึ่งเป็นเหตุให้ทรงทราบพระพุทธเจ้าในอดีต ผู้ปรินิพพานแล้ว ทรงตัดปปัญจธรรมแล้ว ทรงตัดตอวัฏฏะแล้ว ทรงครอบงำวัฏฏะแล้ว ทรงล่วงทุกข์ ทั้งปวงแล้ว


4
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้า ๑๕๖

ปปัญจธรรม (สัญเจตนิยวรรคที่ ๓)
(เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลือ ปปัญจธรรม ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ก็ดับสนิท สงบระงับ)


         [๑๗๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโกฏฐิตะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึง ได้ ปราศรัยกับ ท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรอาวุโสเพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอก ไม่เหลือ อะไรๆอื่นมีอยู่หรือ ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนี้

         ม. ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลืออะไร ๆ อื่น ไม่มีอยู่หรือ

         สา. ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น

         ม. ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลืออะไร ๆ อื่น มีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วยหรือ

         สา. ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น

         ม. ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลืออะไร ๆ อื่น มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ

         สา. ดูกรอาวุโส อย่ากล่าวอย่างนั้น

         ม. ผมถามว่า ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลือ อะไรๆอื่น มีอยู่หรือ ท่านก็กล่าวว่า ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น ผมถามว่า ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลืออะไรๆ อื่นไม่มีอยู่หรือ ท่านก็กล่าวว่า ดูกรอาวุโส อย่ากล่าวอย่างนั้น ผมถามว่า ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิท โดยสำรอกไม่เหลือ อะไรๆอื่นมีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วยหรือ ท่านก็กล่าวว่า

         ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น ผมถามว่า ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิท โดยสำรอกไม่เหลือ อะไรๆอื่นมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ ท่านก็กล่าวว่า ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น

         ดูกรอาวุโส ก็เนื้อความแห่งคำถาม ที่ท่านกล่าวแล้วนี้ จะพึงเห็น ได้อย่างไร

         สา. ดูกรอาวุโส เมื่อกล่าวว่า เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลือ อะไรๆอื่น มีอยู่หรือ ... ไม่มีอยู่หรือ ... มีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วยหรือ ... มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ ก็มิใช่หรือ ดังนี้ ชื่อว่าทำความไม่เนิ่นช้าให้เนิ่นช้าผัสสายตนะ ๖ ยังดำเนินไปเพียงใด ปปัญจธรรมก็ยังดำเนินไปเพียงนั้น ปปัญจธรรม ยังดำเนินไปเพียงใด ผัสสายตนะ ๖ ก็ยังดำเนินไปเพียงนั้น ดูกรอาวุโสเพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลือ ปปัญจธรรมก็ดับสนิทสงบระงับ

         [๑๗๔] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปหาท่านพระมหาโกฏฐิตะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัย กับท่านพระมหาโกฏฐิตะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระมหาโกฏฐิตะว่า

         ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลือ อะไรๆ อื่นมีอยู่ หรือ ท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวว่า ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น

         อา. ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลืออะไร ๆ อื่น ไม่มีอยู่หรือ

         ม. ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น

         อา. ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลืออะไรๆ อื่น มีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วยหรือ

         ม. ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น

         อา. ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลืออะไรๆ อื่น มีอยู่ ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ

         ม. ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น

         อา. ผมถามว่า เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลืออะไร ๆ อื่นมีอยู่หรือ ท่านกล่าวว่า ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น ผมถามว่า ดูกรอาวุโส เพราะ ผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลือ อะไรๆ อื่นไม่มีหรือ ท่านก็กล่าวว่า ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น ผมถามว่า ดูกรอาวุโสเพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิท โดยสำรอกไม่เหลือ อะไรๆ อื่นมีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วยหรือ ท่านก็กล่าวว่า

         ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้น ผมถามว่า ดูกรอาวุโสเพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิท โดยสำรอกไม่เหลือ อะไรๆ อื่นมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ ท่านก็กล่าวว่า ดูกรอาวุโส อย่าได้กล่าวอย่างนั้นดูกรอาวุโส ก็เนื้อความแห่งคำตามที่ท่านกล่าวแล้วนี้ จะพึงเห็นได้อย่างไร

         ม. อาวุโส เมื่อกล่าวว่า เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลือ อะไรๆ อื่นมีอยู่หรือ ... ไม่มีอยู่หรือ ... มีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วยหรือ... มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ ก็มิใช่หรือ ดังนี้ชื่อว่าทำความไม่เนิ่นช้า ให้เนิ่นช้าผัสสายตนะ ๖ ยังดำเนินไปเพียงใด ปปัญจธรรม ก็ดำเนินไปเพียงนั้น ปปัญจธรรมยังดำเนินไปเพียงใด ผัสสายตนะ ๖ ก็ดำเนินไป เพียงนั้น

         ดูกรอาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับสนิทโดยสำรอกไม่เหลือ ปปัญจธรรม ก็ดับสนิท สงบระงับ



5
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์
หน้า 601

ปฏิจจสมุปบาท แห่ง ปปัญจสัญญาสังขาสมุทาจรณะ
(บุคคลตริตรึกอยู่กะเวทนาใด ย่อมประพฤติซึ่งความเนิ่นช้า (ปปัญจะ) อยู่กะเวทนานั้น
บุคคลประพฤติ ซึ่งความเนิ่นช้าอยู่กะเวทนาใด สัญญา (อนุสัย) อันเป็นเครื่องทำความเนิ่นช้า (ปปัญจสัญญาสังขา) ย่อมกลุ้มรุมบุรุษนั้น)


          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัย ตา ด้วย รูป ทั้งหลายด้วย จึงเกิด จักขุวิญญาณ การประจวบพร้อมแห่งธรรมสามประการ (ตา+รูป+จักขุวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
บุคคล เสวย ซึ่งเวทนาใด ย่อม รู้สึก (สัญญา) ซึ่งเวทนานั้น
บุคคล รู้สึก ซึ่งเวทนาใด ย่อม ตริตรึก (วิตก) อยู่กะเวทนานั้น
บุคคล ตริตรึก อยู่กะเวทนาใด ย่อม ประพฤติซึ่งความเนิ่นช้า (ปปัญจะ) อยู่กะเวทนานั้น
บุคคล ประพฤติซึ่งความเนิ่นช้า อยู่กะเวทนาใด สัญญา (กล่าวคืออนุสัย) ชนิดต่าง อันเป็นเครื่องทำความเนิ่นช้า (ปปัญจสัญญาสังขา) ย่อมกลุ้มรุมซึ่งบุรุษนั้น โดยมี เวทนานั้น เป็นเหตุในรูปทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยตาทั้งที่เป็น อดีต อนาคต และปัจจุบัน

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัย หู ด้วย เสียง ทั้งหลายด้วย จึงเกิด โสตวิญญาณ การประจวบ พร้อมแห่งธรรมสามประการ (หู+เสียง+โสตวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ...ฯลฯ... ...ฯลฯ... ในเสียงทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยหูทั้งที่เป็น อดีต อนาคต และปัจจุบัน

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัย จมูก ด้วย กลิ่น ทั้งหลายด้วย จึงเกิด ฆานวิญญาณ การประจวบ พร้อมแห่งธรรมสามประการ (จมูก+กลิ่น+ฆานวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ...ฯลฯ... ...ฯลฯ... ในกลิ่นทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยจมูกทั้งที่เป็น อดีต อนาคต และปัจจุบัน

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัย ลิ้น ด้วย รส ทั้งหลายด้วย จึงเกิด ชิวหาวิญญาณการประจวบ พร้อมแห่งธรรมสามประการ (ลิ้น+รส+ชิวหาวิญญาณ) นั่นคือผัสส ...ฯลฯ.. ...ฯลฯ.. ในรสทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยลิ้นทั้งที่เป็น อดีต อนาคต และปัจจุบัน

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัย กาย ด้วยโผฏฐัพพะ ทั้งหลายด้วย จึงเกิด กายวิญญาณการประจวบ พร้อมแห่งธรรมสามประการ (กาย+โผฏฐัพพะ +กายวิญญาณ ) นั่นคือผัสส ..ฯลฯ... ...ฯลฯ... ในโผฏ ฐัพพ ะทั้งหลาย อันจะพึง รู้แจ้งได้ด้วยกาย ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัย ใจ ด้วย ธัมมารมณ์ ทั้งหลายด้วย จึงเกิด มโนวิญญาณการประจวบ พร้อมแห่งธรรมสามประการ (ใจ+ธัมมารมณ์+ มโนวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนาบุคคลเสวย ซึ่ง เวทนาใด ย่อม รู้สึก (สัญญา) ซึ่งเวทนานั้นบุคคล รู้สึกซึ่งเวทนาใด ย่อมตริตรึก (วิตก) อยู่กะเวทนานั้นบุคคลตริตรึก อยู่กะเวทนาใด ย่อม ประพฤติซึ่งความเนิ่นช้า (ปปัญจะ) อยู่กะเวทนานั้น

          บุคคลประพฤติซึ่งความเนิ่นช้าอยู่กะเวทนาใด สัญญา (กล่าวคืออนุสัย) ชนิดต่าง อันเป็นเครื่องทำ ความเนิ่นช้า (ปปัญจสัญญา-สังขา) ย่อมกลุ้มรุม ซึ่งบุรุษนั้น โดยมีเวทนานั้นเป็นเหตุ ในธัมมารมณ์ ทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยใจ ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน
---- ---- ---- ----
          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ
เมื่อตามีอยู่ เมื่อรูปมีอยู่ เมื่อจักขุวิญญาณมีอยู่ เขาก็จักบัญญัติ ซึ่ง
ผัสสบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งผัสสะมีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง
เวทนาบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งเวทนามีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง สัญญาบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะ ที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งสัญญามีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง
วิตกบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งวิตกมีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง ปปัญจสัญญาสังขาสมุทาจรณ บัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่ มีได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อหูมีอยู่ เมื่อเสียงมีอยู่เมื่อโสต วิญญาณมีอยู่ เขาจักบัญญัติ ซึ่งผัสสบัญญัติ ...ฯลฯ... ...ฯลฯ... ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อจมูกมีอยู่ เมื่อกลิ่นมีอยู่เมื่อฆานวิญญาณมีอยู่ เขาจักบัญญัติ ซึ่งผัสสบัญญัติ ...ฯลฯ... ...ฯลฯ... ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อลิ้นมีอยู่ เมื่อรสมีอยู่เมื่อชิวหา วิญญาณ มีอยู่ เขาจักบัญญติ ซึ่ง ผัสสบัญญติ ...ฯลฯ... ...ฯลฯ...ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อกายมีอยู่ เมื่อโผฏฐัพพะมีอยู่ เมื่อกาย-วิญญาณ มีอยู่เขาจัก บัญญติ ซึ่ง ผัสสบัญญติ ...ฯลฯ... ...ฯล ฯ...ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ
เมื่อใจมีอยู่ เมื่อธัมมารมณ์ มีอยู่ เมื่อมโนวิญญาณมีอยู่เขาก็จัก บัญญัติซึ่ง ผัสสบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งผัสสะมีอยู่ เขาก็จัก บัญญัติซึ่ง เวทนาบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะ ที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งเวทนามีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง สัญญาบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะ ที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งสัญญามีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง วิตกบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งวิตกมีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง ปปัญจสัญญาสังขาสมุทาจรณ บัญญัติ ข้อนี้ เป็นฐานะที่มีได้


6
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 604

ปฏิจจสมุปบาทแห่งปปัญจสัญญา อันทำความเนิ่นช้า
แก่การละอนุสัย

(ความเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมก ที่อยู่ในสัญญาทั้ง ๗ คือรูปสัญญา หรือสัญญาในรูป สัญญาในเสียง ในกลิ่น ในรส ในกายสัมผัส ในอารมณ์ ก่อให้เกิดอนุสัย๗ ทำให้เกิดความเนิ่นช้า)

(เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเล่าเรื่องการสนทนากับ ทัณฑปาณิศากยะ จบลงแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามขึ้นว่า )

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ทรงมีปรกติตรัสอย่างไร จึงไม่ โต้เถียง กับผู้ใดผู้หนึ่ง ในโลกพร้อม ทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ พร้อม ทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดา และมนุษย์ ดำรงอยู่ในโลกอนึ่งจะเป็นไปได้โดย วิธีใด ที่สัญญาทั้งหลาย จะไม่นอนตาม ซึ่งบุคคลผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ปราศจากกาม ทั้งหลายอยู่ ผู้หมดความสงสัย อันเป็นเหตุให้ถามว่า อะไรเป็นอย่างไร ผู้มีความรำคาญ อันตัดขาดแล้ว ผู้ปราศจาก ตัณหาในภพน้อย และภพใหญ่ พระเจ้าข้า

          ดูก่อนภิกษุ สัญญา (ความสำคัญมั่นหมายซึ่งเป็นอนุสัย)
ชนิดต่าง ๆอันเป็น เครื่องทำความเนิ่นช้า(ปปัญจสัญญา) ย่อมกลุ้มรุมบุรุษ เพราะมีอารมณ์ใด เป็นต้นเหตุ ถ้าสิ่งใด ๆเพื่อความเป็นอารมณ์นั้น มีไม่ได้ (ด้วยเหตุใดก็ตาม) เพื่อบุรุษนั้น จะพึงเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมก แล้วไซร้ นั่นแหละคือที่สุดแห่ง ราคานุสัย แห่งปฏิฆานุสัย แห่งทิฏฐานุสัย แห่ง วิจิกิจฉานุสัย แห่งมานานุสัย แห่งภวราคานุสัย แห่งอวิชชานุสัย(อนุสัย๗) และนั่นแหละ คือที่สุด แห่งการใช้อาวุธไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวคำหยาบว่า มึง มึง การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จทั้งหลาย ธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ในเพราะเหตุนั้น ย่อมดับไปโดยไม่มีส่วนเหลือ ดังนี้.

          ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว เสด็จเข้าสู่ที่ประทับ พวกภิกษุที่ฟังอยู่ยัง ไม่เข้าใจ ในเนื้อความ แห่ง พุทธพจน์นี้ จึงพากันไปหาพระมหากัจจานะ ให้ช่วย ขยายความ
………………………………..................................................……………………..
สัญญาในที่นี้ มิใช่เป็นเพียงความจำแต่เป็นความสำคัญมั่นหมาย เช่น สุขสัญญา = สัญญาว่าสุข อัตตสัญญา = สัญญาว่าตัวตน เป็นต้น เกิดขึ้นด้วยอุปาทานเกิดเมื่อใด ย่อมก่ออนุสัย และเพิ่มความ เป็นอนุสัย (ความเคยชิน) ยิ่งขึ้นทุกทีก็ทำความเนิ่นช้า หรือความยากแก่การดับทุกข์ ยิ่งขึ้นทุกที.

การที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ตรัสตอบคำถามที่หนึ่งโดยตรง เพราะตอบรวมกัน ได้กับคำตอบ ของคำถาม ที่สองนั่นเอง ถ้าพิจารณาดูให้ดีก็จะเห็นได้ ไม่ต้องฉงน ข้อความตอนที่ว่า นั่นคือที่สุดแห่งการใช้อาวุธ ไม่มีคม...นั่นเองเป็นคำตอบของปัญหา ที่หนึ่ง ที่ถามว่า มีปรกติตรัสอย่างไร?

          พระมหากัจจานะกล่าวขยายความ

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงอุเทศไว้แต่
โดยย่อ
ว่า ดูก่อนภิกษุ สัญญาชนิดต่าง ๆ อันเป็นเครื่องทำความเนิ่นช้า ย่อมกลุ้มรุม บุรุษ เพราะมีอารมณ์ใด เป็นต้นเหตุ ถ้าสิ่งใด ๆ เพื่อความเป็นอารมณ์นั้นมีไม่ได้ (ด้วยเหตุใดก็ตาม) เพื่อบุรุษนั้น จะพึงเพลิดเพลิน ...ฯลฯ...ฯลฯ... ธรรมอันเป็นบาป อกุศลเหล่านั้น ในเพราะเหตุนั้น ย่อมดับไปโดยไม่มีส่วนเหลือ ดังนี้แล้วไม่ทรงจำแนก เนื้อความโดยพิสดาร และเสด็จ ลุกจากอาสนะเข้าสู่ที่ประทับเสียนั้น

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้เนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้แต่โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดารนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้คือ

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัยตาด้วย รูปทั้งหลายด้วยจึงเกิด จักขุวิญญาณ การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ (ตา+รูป+จักขวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
บุคคลเสวยซึ่งเวทนาใด ย่อมรู้สึกซึ่งเวทนานั้น
บุคคลรู้สึกซึ่งเวทนาใด ย่อมมีวิตกอยู่กะเวทนานั้น
บุคคล
มีวิตกอยู่กะเวทนาใด ย่อมประพฤติซึ่งความเนิ่นช้าอยู่กะเวทนานั้น
บุคคล
ประพฤติซึ่งความเนิ่นช้าอยู่กะเวทนาใด สัญญา (ความมั่นหมาย) ชนิดต่างๆ อันเป็นเครื่องทำความเนิ่นช้า ย่อมกลุ้มรุมซึ่งบุรุษนั้น โดยมีเวทนานั้นเป็นเหตุ เป็นไปในรูปทั้งหลาย อันพึงรู้แจ้งได้ด้วยตา ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัยหูด้วย ...ฯลฯ...
และปัจจุบัน.
ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัยจมูกด้วย ...ฯลฯ... และปัจจุบัน.
ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัยลิ้นด้วย ...ฯลฯ... และปัจจุบัน.
ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัยกายด้วย ...ฯลฯ... และปัจจุบัน.
ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัยใจด้วย ธัมมารมณ์ทั้งหลายด้วย
จึงเกิดมโนวิญญาณการประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ (ใจ+ธัมมารมณ์+มโนวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
บุคคลเสวยซึ่งเวทนาใด ย่อมรู้สึกซึ่งเวทนานั้น
บุคคลรู้สึกซึ่งเวทนาใด ย่อมมีวิตกอยู่กะเวทนานั้น
บุคคลมีวิตกอยู่กะเวทนาใด ย่อมประพฤติซึ่งความเนิ่นช้าอยู่กะเวทนานั้น
บุคคลประพฤติซึ่งความเนิ่นช้าอยู่กะเวทนาใด สัญญา (ความมั่นหมาย) ชนิดต่าง ๆ อันเป็นเครื่องทำความเนิ่นช้า ย่อมกลุ้มรุมซึ่งบุรุษนั้น โดยมีเวทนานั้นเป็นเหตุ เป็นไปใน ธัมมารมณ์ทั้งหลาย อันพึงรู้แจ้งได้ด้วยใจ ทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน

.....................................................................................

ในกรณีแห่งตากับรูป มีข้อความพิสดารอย่างไร ในกรณีแห่งหูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ซึ่งละ...ฯลฯ...ไว้ ก็พึงทราบว่ามีข้อความเต็มอย่างเดียวกัน ทุกตัวอักษร ต่างกันแต่เพียงชื่อแห่งอายตนะ แต่ละอายตนะเท่านั้น.

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อตามีอยู่ เมื่อรูปมีอยู่ เมื่อจักขุ วิญญาณมีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง ผัสสบัญญัติข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งผัสสะมีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง เวทนาบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งเวทนามีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง สัญญาบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งสัญญามีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง วิตกบัญญัติข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งวิตกมีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง  ปปัญจสัญญาสังขาสมุทาจรณ บัญญัติ
ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อกายมีอยู่ เมื่อโผฏ-ฐัพพะมีอยู่ เมื่อกาย วิญญาณ มีอยู่เขาก็จักบัญญัติซึ่งผัสสบัญญัติ ...ฯลฯ...ฯลฯ... ข้อนี้เป็นฐานะ ที่มีได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อใจมีอยู่ เมื่อธัมมารมณ์ มีอยู่ เมื่อมโนวิญญาณมีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง ผัสสบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งผัสสะมีอยู่ เขาก็จักบัญญัติ ซึ่งเวทนาบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งเวทนามีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่งสัญญาบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
เมื่อการบัญญัติซึ่งสัญญามีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่งวิตก-บัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะ ที่มีได้ เมื่อการบัญญัติซึ่งวิตกมีอยู่ เขาก็จักบัญญัติซึ่ง ปปัญจสัญญาสังขาสมุทาจรณบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

---- (ปฎิปกขนัย) ----

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อตาไม่มีอยู่ เมื่อรูปไม่มีอยู่ เมื่อจักขุวิญญาณไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งผัสสบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีไม่ได้ เมื่อการบัญญัติซึ่งผัสสะไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งเวทนา บัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะ ที่มีไม่ได้ เมื่อการบัญญัติซึ่งเวทนาไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งสัญญาบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีไม่ได้ เมื่อการบัญญัติซึ่งสัญญาไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งวิตก บัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะ ที่มีไม่ได้เมื่อการ บัญญัติซึ่งวิตกไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่ง ปปัญจสัญญา สังขาสมุทาจรณบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีไม่ได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อหูมีอยู่ เมื่อเสียงมีอยู่ เมื่อโสต วิญญาณมีอยู่เขา ก็จัก บัญญัติซึ่ง ผัสสบัญญัติ ...ฯลฯ...ฯลฯ...
ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย| บุรุษนั้นหนอ เมื่อจมูกมีอยู่ เมื่อกลิ่นมีอยู่ เมื่อฆานวิญญาณมีอยู่เขาก็จักบัญญัติ ซึ่งสัมผัสสบัญญัติ...ฯลฯ...ฯลฯ... ข้อนี้เป็นฐานะ ที่มีได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย| บุรุษนั้นหนอ เมื่อลิ้นมีอยู่ เมื่อรสมีอยู่เมื่อชิวหา วิญญาณมีอยู่เขาก็จักบัญญัติ ซึ่งสัมผัสสบัญญัติ...ฯลฯ...ฯลฯ... ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้


………………………………………………………………………………………………………………..
ผัสสบัญญัติ คือการกล่าวไปตามความรู้สึกของเขา เกี่ยวกับผัสสะ ว่า มีอยู่โดยชนิด โดยอาการเป็นต้น ว่ามีอยู่อย่างนั้น ๆ ไม่มีอะไรอื่นมากไปกว่านั้น. แม้ในการบัญญัติ ข้ออื่น ๆ มีเวทนา-บัญญัติเป็นต้นก็มีนัย อย่างเดียวกัน.
ปปัญจสัญญาสังขาสมุทาจรณบัญญัติ คือการบัญญัติซึ่งการกลุ้มรุมของสัญญา กล่าวคือความสำคัญ ซึ่งเป็นอนุสัยมีชนิดต่าง ๆ ล้วนแต่ทำความเนิ่นช้า.
ในกรณีแห่งตากับรูป มีข้อความพิสดารอย่างไรในกรณีแห่งหูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรสกายกับ โผฏฐัพพะ ซึ่งละ...ฯลฯ...ไว้พึงทราบว่า มีข้อความเต็มอย่างเดียวกัน.

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อหูไม่มีอยู่ เมื่อเสียงไม่มีอยู่ เมื่อโสตวิญญาณ ไม่มีอยู่เขาจักบัญญัติ ซึ่งผัสสบัญญัติ ...ฯลฯ...ฯลฯ...ข้อนี้เป็นฐานะ ที่มีไม่ได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อจมูกไม่มีอยู่ เมื่อกลิ่นไม่มีอยู่ เมื่อฆานวิญญาณไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งผัสสบัญญัติ ...ฯลฯ...ฯลฯ... ข้อนี้เป็นฐานะ
ที่มีไม่ได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อลิ้นไม่มีอยู่ เมื่อรสไม่มีอยู่ เมื่อ ชิวหาวิญญาณ ไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งผัสสบัญญัติ ...ฯลฯ ...ฯลฯ... ข้อนี้เป็นฐานะ
ที่มีไม่ได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อกายไม่มีอยู่ เมื่อโผฏฐัพพะ ไม่มีอยู่ เมื่อกายวิญญาณไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งผัสสบัญญัติ...ฯลฯ...ฯลฯ... ข้อนี้ เป็นฐานะ
ที่มีไม่ได้

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุรุษนั้นหนอ เมื่อใจไม่มีอยู่ เมื่อธัมมารมณ์ไม่มีอยู่ เมื่อมโนวิญญาณไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งผัสสบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะ
ที่มีไม่ได้

เมื่อการบัญญัติ ซึ่งผัสสะไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งเวทนาบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะ
ที่มี ไม่ได้

เมื่อการบัญญัติ ซึ่งเวทนาไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งสัญญาบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะที่มี ไม่ได้

เมื่อการบัญญัติ ซึ่งสัญญาไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งวิตกบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะ
ที่มีไม่ได้

เมื่อการบัญญัติ ซึ่งวิตกไม่มีอยู่ เขาจักบัญญัติซึ่งปปัญจสัญญาสังขาสมุทาจรณบัญญัติ ข้อนี้เป็นฐานะ
ที่มีไม่ได้

---- ---- ---- --

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงอุเทศ ไว้ แต่โดยย่อว่า ดูก่อนภิกษุ สัญญา (ความมั่นหมาย) ชนิดต่าง ๆ อันเป็นเครื่องทำความ เนิ่นช้า ย่อมกลุ้มรุมบุรษ เพราะมี อารมณ์ใดเป็นต้นเหตุ ถ้าสิ่งใด ๆ เพื่อความ เป็นอารมณ์นั้น มีไม่ได้ (ด้วยเหตุใดก็ตาม) เพื่อบุรุษนั้นจะ พึงเพลิดเพลิน ...ฯลฯ...ฯลฯ ... ธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ในเพราะเหตุนั้น ย่อมดับไปโดยไม่มี ส่วนเหลือดังนี้ แล้วไม่ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร และเสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่ที่ประทับเสียนั้น

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้เนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้ แต่โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความโดยพิสดารนี้ ได้โดยพิสดาร อย่างนี้แล

          ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ถ้าท่านทั้งหลายหวังอยู่ ก็จงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถาม ซึ่งความข้อนั้นเถิด พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ แก่ท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านทั้งหลาย จงทรงจำไว้อย่างนั้น เถิด

(ภิกษุเหล่านั้น ได้เข้าไปกราบทูลเรื่องนี้ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสรับรอง ข้อความ นั้นว่า ถูกต้อง ตาม ที่พระองค์จะตรัสเอง และได้ตรัสสรรเสริญ พระมหากัจจานะว่า เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก)
………………………………………………………………………………………….

หมายเหตุผู้รวบรวม ผู้ศึกษาพึงสังเกตอาการแห่งปฏิจจสมุปบาทเพียงอาการเดียว ซึ่งในที่นี้ได้แก่เวทนา อันเกิดมาจากอวิชชาสัมผัสนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจก็ตาม เป็นสิ่งทำความเนิ่นช้า แก่การละเสียซึ่งอนุสัย คือความเคยชิน ในการสยบ มัวเมาในเวทนาแต่กาลก่อน ยิ่งเสวยเวทนาอีก ก็ยิ่งเพิ่มอนุสัยยิ่งขึ้นไปอีก สุขเวทนา เพิ่มกำลัง แก่อนุสัยประเภทราคะ ทุกขเวทนา เพิ่มกำลังแก่อนุสัย ประเภทโทสะ อทุกขมสุขเวทนา เพิ่มกำลังแก่อนุสัยประเภทโมหะ

มันเพิ่มกำลังแก่อนุสัยอย่างไร รู้ได้ที่อาการแห่ง ปฏิจจสมุปบาท ทั้งหลาย นั่นเอง กล่าวคือ ทำ ความเคยชินเพิ่มขึ้น ในการสร้างภพ-ชาติ-ตามแบบ ปฏิจจสมุปบาทดังนั้น จงระวังแม้แต่ปฏิจจ-สมุปบาท เพียงอาการเดียว คือ เวทนาในลักษณะ ที่กล่าวไว้ ในสูตรนี้แล้ว ซ่อนตัวอยู่ในนามของ สัญญาซึ่งในที่นี้หมาย ถึงความสำคัญมั่นหมาย ในเวทนานั้น



7
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 612

ปฏิจจสมุปบาท แห่ง การดับปปัญจสัญญาสังขา
(เหตุแห่งการทะเลาะกัน มาจากอิสสาและมัจฉริยะ การดับแห่งปปัญจสัญญาสังขาโดยการปฏิบัติ ต่อ อุเบกขา อย่างถูกต้อง คือเสพอุเบกเขาที่ีทำให้กุศลเจริญ)

          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อะไรเป็นเครื่องผูกพันเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คันธัพพ์ ทั้งหลาย อันมีอยู่เป็นหมู่ ๆ (ซึ่งแต่ละหมู่) ปรารถนาอยู่ว่า เราจักเป็นคน ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกัน แต่แล้วก็ไม่สามารถ จัก เป็นผู้อยู่อย่างผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีเบียดเบียนแก่กันและกันเล่า พระเจ้าข้า?

          ดูก่อนจอมเทพ อิสสาและมัจฉริยะ นั่นแล เป็นเครื่องผูกพัน...ฯลฯ... ข้าแต่พระสุคต ความสงสัยของ ข้าพระองค์ในเรื่องนั้นสิ้นแล้ว เรื่องที่จะต้องถามใครว่า อย่างไรในเรื่องนั้น ก็ปราศจากไปแล้ว เพราะได้ฟัง ปัญหาพยากรณ์ของพระผู้มีพระ-ภาคเจ้า

          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็
อิสสา และ มัจฉริยะ นั้น
มีอะไรเป็น นิทาน (ต้นเหตุ)
มีอะไรเป็น สมุทัย (เครื่องก่อขึ้น)
มีอะไรเป็น ชาติกะ (เครื่องทำให้เกิด)
มีอะไรเป็น ปภวะ (แดนเกิด)?
เมื่ออะไรมีอยู่ อิสสาและมัจฉริยะจึงมี?
เมื่ออะไรไม่มีอยู่ อิสสา และ มัจฉริยะ จึงไม่มี พระเจ้าข้า?

          ดูก่อนจอมเทพ อิสสาและมัจฉริยะนั้น มีสิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รัก (ปิยาปฺปิย) นั่นแล เป็นนิทาน ...ฯลฯ... เมื่อสิ่งเป็นที่รัก และสิ่งไม่เป็นที่รักไม่มีอยู่ อิสสาและมัจฉริยะ ก็ไม่มี

          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ก็สิ่งเป็นที่รัก และ สิ่งไม่เป็นที่รักนั้นเล่า
มีอะไรเป็น นิทาน เป็นสมุทัย เป็นชาติกะ เป็นปภวะ? เมื่ออะไรมีอยู่ สิ่งเป็นที่รัก และสิ่งไม่เป็น ที่รักจึงมี? เมื่ออะไรไม่มีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็น ที่รักจึงไม่มี พระเจ้าข้า?

          ดูก่อนจอมเทพ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักนั้น มีฉันทะ (ความพอใจ) เป็นนิทาน ...ฯลฯ... เมื่อฉันทะ ไม่มีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักก็ไม่มี

          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ฉันทะนั้นเล่า มีอะไรเป็นนิทาน เป็นสมุทัยเป็นชาติกะ เป็นปภวะ? เมื่ออะไรมีอยู่ ฉันทะจึงมี? เมื่ออะไรไม่มีอยู่ ฉันทะจึงไม่มีพระเจ้าข้า?

          ดูก่อนจอมเทพ ฉันทะนั้นมีวิตก (ความตริตรึก) เป็นนิทาน...ฯลฯ...เมื่อวิตก ไม่มีอยู่ ฉันทะก็ไม่มี

          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็วิตกนั้นเล่า มีอะไรเป็นนิทาน เป็นสมุทัย เป็นชาติกะ เป็นปภวะ? เมื่ออะไรมีอยู่ วิตกจึงมี? เมื่ออะไรไม่มีอยู่ วิตกจึงไม่มี พระเจ้าข้า?

          ดูก่อนจอมเทพ วิตกนั้น มีปปัญจสัญญาสังขา เป็นนิทาน ...ฯลฯ... เมื่อ ปปัญจสัญญาสังขา ไม่มีอยู่ วิตกก็ไม่มี

          ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติอย่างไรเล่า จึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ ข้อปฏิบัติเครื่อง ยังสัตว์ให้ถึง ซึ่งสมควรแก่การดับไม่เหลือ แห่งปปัญจ สัญญาสังขา พระเจ้าข้า?

          ดูก่อนจอมเทพ เราตคถาคตย่อมกล่าว ซึ่งโสมนัส ไว้เป็น ๒ อย่าง คือโสมนัสที่ควรเสพ อย่างหนึ่ง โสมนัส ที่ไม่ควรเสพ อย่างหนึ่ง (ต่อไปได้ตรัสถึงโทมนัส และอุเบกขา ซึ่งแต่ละอย่าง ๆ ได้ตรัสไว้โดยแยกเป็นสอง อย่างเช่นเดียวกัน)

          ดูก่อนจอมเทพ คำนี้ว่า เราตถาคตย่อมกล่าว ซึ่งโสมนัส ไว้เป็น ๒ อย่าง คือ
โสมนัสที่ควรเสพอย่างหนึ่ง โสมนัสที่ไม่ควรเสพอย่างหนึ่ง ดังนี้ เป็นคำที่เรา กล่าวแล้ว ก็คำนั้น เราอาศัยเหตุผล อะไรกล่าวเล่า?

          ดูก่อนจอมเทพ ในบรรดาโสมนัส ๒ อย่างนั้น บุคคลพึงรู้จัก ซึ่งโสมนัสอันใดว่า เมื่อเราเสพโสมนัสนี้แลอยู่
ธรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ธรรมอันเป็น กุศลทั้งหลาย ย่อมเสื่อมสิ้นไปดังนี้ โสมนัสอันมี ลักษณะอย่างนี้ เป็นโสมนัส ที่ไม่ควรเสพ

          ดูก่อนจอมเทพ ในบรรดาโสมนัส อย่างนั้น บุคคลพึงรู้จักซึ่งโสมนัสอันใดว่า เมื่อเราเสพโสมนัสนี้ แลอยู่ ธรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมอันเป็น กุศลทั้งหลาย ย่อมเจริญขึ้นดังนี้โสมนัสอันมี ลักษณะอย่างนี้ เป็นโสมนัสที่ควรเสพ

          ดูก่อนจอมเทพ ในบรรดาโสมนัสทั้ง ๒ อย่างนั้นโสมนัสใดแล มีวิตกมีวิจาร โสมนัสใดแล ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร โสมนัสที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารนั่น เป็นโสมนัสที่ประณีต กว่าโสมนัสที่มีวิตก มีวิจารนั้น

          ดูก่อนจอมเทพ คำใดที่เรากล่าวแล้วว่า โสมนัสมีสองอย่าง คือโสมนัสที่ ควรเสพ อย่างหนึ่ง โสมนัสที่ไม่ควร เสพอย่างหนึ่งดังนี้นั้น คำนั้น เรากล่าวแล้วอาศัย เหตุผลเหล่านี้แล

(ต่อไปนี้ก็ได้ตรัสคำอธิบายเกี่ยวกับโทมนัส และอุเบกขา โดยนัยอย่างเดียวกัน ทุกประการ)

          ดูก่อนจอมเทพ ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติแล้ว (ในลักษณะที่ทำให้รู้จักโสมนัส โทมนัส และอุเบกขา ดังที่กล่าวแล้ว) อย่างนี้แล ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติเครื่อง ยังสัตว์ ให้ถึงซึ่ง ความสมควรแก่การดับไม่เหลือแห่ง ปปัญจสัญญาสังขา

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์