พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๘
สุขอันเกิดจากผู้บริโภคกาม ๔ ประการ (อันนนาถสูตร)
[๖๒] ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า
ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้ อันคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม พึงได้รับ ตามกาล ตามสมัย
สุข ๔ ประการเป็นไฉน คือ
๑) สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
๒) สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค
๓) สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้
๔) สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ
ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์เป็นไฉน โภคทรัพย์ของกุลบุตร ในโลกนี้ เป็นของที่เขาหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรมเขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อ โทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรมของเรามีอยู่ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความ มีทรัพย์
ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภคเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำบุญทั้งหลายด้วยโภคทรัพย์ ที่ตนหามาได้ ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อม กระทำบุญทั้งหลายด้วยโภค
ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้เป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมไม่ เป็นหนี้อะไรๆของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราไม่เป็นหนี้อะไรๆ ของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความ ไม่เป็นหนี้
ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษ มิได้ เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ
ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้แล อันคฤหบดีผู้บริโภคกามพึงได้รับตามกาล ตามสมัย
นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ รู้ความไม่เป็นหนี้ว่าเป็นสุขแล้ว พึงระลึกถึงสุข เกิดแต่ความมีทรัพย์ เมื่อใช้สอยโภคะเป็นสุขอยู่ ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญา ผู้มีเมธาดี เมื่อเห็นแจ้ง ย่อมรู้ส่วนทั้ง ๒ ว่า สุขแม้ทั้ง ๓ อย่างนี้ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อันจำแนกแล้ว ๑๖ ครั้ง ของสุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ
|