พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๒
อาสวสูตร
อาสวะ ๓
(ละด้วยมรรค๘)
[๓๑๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ กามาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ อย่างนี้แล
[๓๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรค อันประกอบด้วย องค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่งเพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละอาสวะ ๓ อย่างนี้แล ฯลฯ ภิกษุควรเจริญอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ฯลฯ
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๘
อาสวสูตร
อาสวะ ๓
(ละด้วยสติปัฏฐาน๔)
[๘๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือกามาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการนี้แล
[๘๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละ อาสวะ ๓ ประการนี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิต ในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ เพื่อละ อาสวะ ๓ ประการนี้แล
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๘
การละอาสวะด้วยธรรม ๖ ประการ (๔. อาสวสูตร)
[๓๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควร ของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็น นาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ
๑) อาสวะเหล่าใด อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงละด้วยการ สำรวม
อาสวะเหล่านั้น เป็นอันภิกษุละได้แล้ว ด้วยการสำรวม
๒) อาสวะเหล่าใด อันภิกษุ พึงละด้วยการ ซ่องเสพ
อาสวะเหล่านั้น เป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยการซ่องเสพ
๓)
อาสวะเหล่าใด อันภิกษุ พึงละด้วยการ อดทน
อาสวะเหล่านั้น เป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยการอดทน
๔)
อาสวะเหล่าใด อันภิกษุ พึงละด้วยการ หลีกเลี่ยง
อาสวะเหล่านั้น เป็นอันภิกษุละได้แล้ว ด้วยการ หลีกเลี่ยง
๕)
อาสวะเหล่าใด อันภิกษุ พึงละด้วยการ บรรเทา
อาสวะเหล่านั้น เป็นอัน ภิกษุละได้แล้ว ด้วยการบรรเทา
๖)
อาสวะเหล่าใด อันภิกษุ พึงละด้วย ภาวนา
อาสวะ เหล่านั้น เป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยภาวนา
(1) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการ สำรวม ที่เป็นอันภิกษุ ละได้แล้ว ด้วยการสำรวมเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคาย แล้ว เป็นผู้สำรวม ด้วยการสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวม พึงเป็นเหตุให้ อาสวะ ที่ทำความคับแค้น และความเร่าร้อนเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่อาสวะเหล่านั้น ที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยประการอย่างนี้
ภิกษุพิจารณา โดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมโสตินทรีย์ ... ฆานินทรีย์ ...ชิวหินทรีย์... กายินทรีย์ ... ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยการ สำรวมมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อเธอไม่ สำรวม พึงเป็นเหตุให้อาสวะ ที่ทำความคับแค้น และ ความเร่าร้อนเกิดขึ้น เมื่อเธอ สำรวมอยู่ อาสวะเหล่านั้น ที่ทำความคับแค้น และความ เร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่สำรวมอยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้น และ ความเร่าร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะ เหล่านั้น ที่ทำความคับแค้น และ ความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยประการอย่างนี้ อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าอันภิกษุ พึงละด้วยการสำรวม ที่เป็นอันภิกษุละได้แล้ว ด้วยการสำรวม
(2) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะอันภิกษุ พึงละด้วยการ ซ่องเสพที่เป็นอัน ภิกษุ ละได้แล้วด้วย การซ่องเสพเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดย แยบคายแล้ว ย่อมเสพจีวรเพียง เพื่อป้องกันหนาว ร้อน เหลือบ ยุง ลม แดดและ สัมผัสแห่ง สัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะที่น่าละอาย พิจารณาโดย แยบคายแล้ว ย่อมเสพบิณฑบาต มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่ เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อความดำรงอยู่ เพื่อความเป็นไปแห่งกายนี้ เพื่อบรรเทาความหิว เพื่อ อนุเคราะห์ พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า เราจะบรรเทาเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนา ใหม่ เกิดขึ้น ความเป็นไปแห่งร่างกาย จักมีแก่เรา ความไม่มีโทษ และความอยู่สบาย จักมี แก่เรา ด้วยการเสพบิณฑบาตนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเสพเสนาสนะ เพียงเพื่อป้องกันหนาว ร้อน เหลือบ ยุงลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพียง เพื่อบรรเทาอันตรายที่เกิดจากฤดู และยินดีในการหลีกออกเร้น พิจารณาโดย แยบคาย แล้ว ย่อมเสพคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพียงเพื่อบรรเทาเวทนา ที่เกิดจาก อาพาธต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เพื่อไม่มีความเจ็บไข้เป็นที่สุด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่เสพอยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้น และความ เร่าร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเสพอยู่ อาสวะเหล่านั้น ที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า อันภิกษุพึงละด้วยการซ่องเสพ ที่เป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยการซ่องเสพ
(3) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะอันภิกษุ พึงละด้วยความ อดกลั้น ที่เป็นอัน ภิกษุละได้แล้วด้วยความอดกลั้นเป็นไฉน คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดย แยบคาย แล้ว ย่อมเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย เหลือบ ยุง ลมแดด และ สัมผัสแห่ง สัตว์เลื้อยคลาน ย่อมเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำหยาบ คำเสียดสี ย่อมเป็นผู้ อดกลั้น ต่อ ทุกขเวทนาทางกายที่เกิดขึ้นแล้ว กล้าแข็ง เผ็ดร้อนดี ไม่เป็นที่พอใจ สามารถปลิดชีพไปได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่อดทนอยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้น และความ เร่าร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อเธออดทนอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้น และความ เร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า อันภิกษุพึงละด้วยการอดทนที่เป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยการอดทน
(4) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะที่ภิกษุ พึงละด้วยการ หลีกเลี่ยงที่เป็น อันภิกษุ ละได้แล้วด้วยการหลีกเลี่ยงเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดย แยบคาย แล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงช้างดุ ม้าดุ โคดุ สุนัขดุ งู หลักตอ ที่มีหนามหลุม ตลิ่งชัน บ่อโสโครก ท่อโสโครก พวกวิญญูชนที่เป็นพรหมจารี พึงลงความเห็นเธอ ผู้นั่ง ในที่ ไม่ควรนั่ง เที่ยวไปในที่ไม่ควรเที่ยวไป คบปาปมิตรเช่นใด ในฐานะที่เป็น บาป เธอพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงที่ไม่ควรนั่ง ที่ไม่ควรเที่ยวไป และ ปาปมิตรเช่นนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอไม่หลีกเลี่ยงฐานะดังกล่าวแล้ว อยู่อาสวะที่ทำ ความคับแค้น และความเร่าร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอหลีกเลี่ยงอยู่ อาสวะเหล่านั้น ที่ทำความคับแค้น และความเร่าร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอหลีกเลี่ยงอยู่ อาสวะเหล่านั้น ที่ทำความคับแค้น และความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า อันภิกษุพึงละด้วยการ หลีกเลี่ยง ที่เป็นอันภิกษุละได้ด้วยการหลีกเลี่ยง
(5) ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุ พึงละด้วยการ บรรเทาที่เป็นอันภิกษุ ละได้แล้วด้วยการบรรเทาเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมไม่รับไว้ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้สิ้นไป ย่อมทำให้หมดไป ซึ่งกามวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมไม่รับไว้ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้สิ้นไป ย่อมทำให้หมดไป ซึ่งพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ... ซึ่งวิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ... ซึ่งธรรมที่เป็นบาป อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอไม่บรรเทาอยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้น และ ความเร่าร้อน พึงเกิดขึ้น เมื่อเธอบรรเทาอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้น และความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า อันภิกษุพึงละด้วยการบรรเทา ที่เป็นอันภิกษุละได้แล้วด้วยการบรรเทา
(6) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะอันภิกษุ พึงละได้ด้วย ภาวนา ที่เป็นอันภิกษุ ละได้แล้วด้วยภาวนา เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปเพื่อความ สละ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ... วิริยสัมโพชฌงค์ ... ปีติสัมโพชฌงค์ ... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์...สมาธิสัมโพชฌงค์ ... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่เจริญโพชฌงค์อยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้น และความเร่าร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเจริญโพชฌงค์อยู่ อาสวะที่ทำความคับแค้น และ ความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า อันภิกษุพึงละด้วยภาวนาที่เป็นอัน ภิกษุละได้แล้วด้วยภาวนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควร ของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๗
ธรรม ๑๐ ประการเพื่อการละอาสวะ (อาสวสูตร)
[๑๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ
๑)
สัมมาทิฐิ
๒) สัมมาสังกัปปะ
๓) สัมมาวาจา
๔) สัมมากัมมันตะ
๕) สัมมาอาชีวะ
๖) สัมมาวายามะ
๗) สัมมาสติ
๘) สัมมาสมาธิ
๙) สัมมาญาณะ
๑๐) สัมมาวิมุติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
|