พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้าที่ ๑๔
ดูพระสูตรเต็ม P975
พระพุทธเจ้าสอนอะไรกับปัจจวัคคีย์ (สรุปย่อ)
เสด็จเข้าไปหาพระปัญจวัคคีย์
1. เสด็จเข้าหาปัจจวัคคีย์ที่ป่าอิสิ แขวงเมืองพาราณสี
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกถึงป่าอิสิปตนะ มฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี เสด็จเข้าไปทางสำนักพระปัญจวัคคีย์
2. พระปัญจวัคคีย์นัดหมายกันว่าจะไม่ลุกรับกราบไหว้
พระปัญจวัคคีย์เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงนัดหมายกันว่า จะไม่อภิวาท ไม่ลุกขึ้นต้อนรับ เพราะพระโคดมเป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความ เป็นคนมักมาก
3. เมื่อเสด็จมาถึงต่างลืมกติกาที่ตกลงกันไว้
ครั้นเสด็จไปถึง พระปัญจวัคคีย์ก็ลืมกติกาตามที่ตกลงกันไว้ ต่างลุกขึ้นต้อนรับ ปูอาสนะ จัดหาน้ำล้างพระบาท เช็ดพระบาท เชื้อเชิญให้ประทับนั่ง บนอาสนะ
4. ตรัสห้ามเรียกพระองค์ว่า อาวุโส
ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์เรียกพระผู้มีพระภาคว่า "อาวุโส" ทรงตรัสห้าม
ตถาคตเป็น อรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ
เราบรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติ
ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้ง อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
5. พระปัญจวัคคีย์ค้านว่าตถาคตยังไม่บรรลุ ยังเป็นผู้มักมาก
พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านว่าพระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุ อุตตริมนุสสธรรม พระองค์เป็น ผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก
6.
พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้าน ถึง 3 ครั้ง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ใช่เป็นคนมักมาก ไม่ได้เวียนมา เพื่อความเป็นคนมักมาก
แม้ครั้งที่สอง พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้าน พระผู้มีพระภาค ...
แม้ครั้งที่สาม พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้าน พระผู้มีพระภาค...
7.
พระปัญจวัคคีย์จำนนที่จำถ้อยคำในอดีตไม่ได้
เมื่อพระปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า พวกเธอยังจำได้ หรือไม่ว่าถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อน
พระปัญจวัคคีย์ กราบทูลว่า คำนี้ ไม่เคยได้ฟังเลย พระพุทธเจ้าข้า (ปัจจวัคคีย์จำไม่ได้ และนี้อาจเป็นเหตุให้ต้องยอมจำนน จึงยอมฟังธรรมของตถาคต)
8. พระปัญจวัคคีย์ยินยอมฟังธรรม
พระผู้มีพระภาคทรงทำให้พระปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว จึงเชื่อฟัง เงี่ยโสตลงสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (ปฐมเทศนา)
1.ทรงรับสั่งว่าที่สุดสองอย่าง อันบรรพชิตไม่ควรเสพ
คือ
ไม่พัวพันด้วยกามสุข และ ไม่ทำความลำบากแก่ตน (ปฏิบัติแบบทรมาน)
และไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น
2.ทรงให้ปฏิบัติทางสายกลาง
ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ 1.ปัญญาอันเห็นชอบ 2. ความดำริชอบ 3. เจรจาชอบ 4. การงานชอบ 5. เลี้ยงชีวิตชอบ 6. พยายามชอบ 7. ระลึกชอบ 8. ตั้งจิตชอบ
3.ทรงตรัสเรื่องอริยสัจสี่
- นี้แลเป็นทุกขอริยสัจ
คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็เป็นทุกข์ ไม่ประสบกับสิ่งที่่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
- ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วย ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
- นี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรค คือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน.
- นี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละ คือ 1.ปัญญา อันเห็นชอบ 2. ความดำริชอบ 3. เจรจาชอบ 4. การงานชอบ 5. เลี้ยงชีวิตชอบ 6. พยายามชอบ 7. ระลึกชอบ 8. ตั้งจิตชอบ
4. ญาณทัสสนะ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลาย ที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า
นี้ทุกขอริยสัจ.. ควรกำหนดรู้ ..เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว
นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ .. ควรละเสีย .. เราได้ละแล้ว
นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ .. ควรทำให้แจ้ง.. เราทำให้แจ้งแล้ว
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.. ควรให้เจริญ.. เราให้เจริญแล้ว
5. พระองค์ยืนยันถึงการตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึง ยืนยันได้ว่าเป็นผู้ตรัสรู้ สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับ กำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป
6. ท่านพระโกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรม
ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัส ไวยากรณ ภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา
7. เหล่าภุมมเทวดา ได้บันลือเสียง
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดา ได้บันลือเสียงว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกจะคัดง้างไม่ได้
เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป เป็นทอดๆ จนถึงพรหมโลก
8. ทั้งหมื่นโลกธาต สะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่
ชั่วขณะการครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้ แล. ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หา ประมาณ มิได้ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย.
9. โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้
10. ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมแล้ว
ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว จึงได้ทูลขอบรรพชา
พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วตรัสต่อไปว่า เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำ ที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด
11.ท่านพระวัปปะ และท่านพระภัททิยได้บรรลุธรรมแล้ว
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรง ประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุที่เหลือจากนั้นด้วย ธรรมีกถา ท่านพระวัปปะ และท่านพระภัททิยะ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ว่า สิ่งใด สิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา จากนั้นทั้งสองจึงทูลขอบรรพชา
12. ท่านพระมหานามะ และ ท่าน พระอัสสชิ ได้บรรลุธรรมแล้ว
วันต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตา เห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่ ท่านพระมหานามะ และ ท่าน พระอัสสชิ ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับ เป็นธรรมดา ท่านทั้งสองได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว จึงได้ขอบรรพชา
13. ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ไม่พึงเป็นเพื่อ อาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็น อย่างนั้นเลย .. เวทนาเป็นอนัตตา...สัญญาเป็นอนัตตา...สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา
... วิญญาณเป็นอนัตตา
14. ทรงแสดง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
พวกเธอสำคัญความนั้น เป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา
15. ตรัสให้พิจารณาโดย ยถาภูตญาณทัสสนะ
เพราะเหตุนั้นแล รูป อย่างใด อย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ..สัญญาอย่างใด อย่างหนึ่ง ..วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ตรัสอย่างเดียวกัน
16. เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด ย่อมหลุดพ้น
อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ใน สัญญา แม้ในสังขารทั้งหลาย แม้ในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้นเมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว
17. ชาติสิ้นแล้ว กิจที่ทำได้ทำเสร็จแล้ว
อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้วกิจ ที่ควรทำได้ทำ เสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี
18. พระปัญจวัคคีย์สำเร็จเป็นพระอรหันต์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลินภาษิตของ ผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์พ้น แล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
19. ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์
1.ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
2 ท่านพระโกณทัญญะ
3.ท่านพระวัปปะ
4.ท่านพระภัททิยะ
5.ท่านพระมหานามะ
6.ท่านพระอัสสชิ
ดูพระสูตรเต็ม P975
|