เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ  

 
  พุทธเจ้าแรกตรัสรู้ ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ 975
 
พุทธเจ้าแรกตรัสรู้
ออกไปหน้าแรก รวมพระสูตร
เรื่องสำคัญ ของพระพุทธเจ้า
 
1 973
  1) โพธิกถาปฏิจจสมุปบาทมนสิการ : ทรงพิจารณาปฏิจจตลอด ๗ วัน เป็นอนุโลมและปฏิโลม(ทบทวน) ตลอดปฐมยาม
  2) พุทธอุทานคาถาที่ ๑ : ทรงพิจารณาปฏิจจ (สายเกิด-ดับ) ตลอด ๗ วัน เป็นอนุโลมและปฏิโลม(ทบทวน) ตลอดมัชฌิมยาม
  3) พุทธอุทานคาถาที่ ๒ : (ทบทวนปฏิจ)เมื่อธรรมทั้งหลายปรากฎ ความสงสัยย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัย ทั้งหลาย
  4) พุทธอุทานคาถาที่ ๓ : (ทบทวน)เมื่อธรรมทั้งหลายปรากฏ เมื่อนั้นย่อมกำจัดมาร เสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัย ทำอากาศให้สว่าง
  5) เรื่องพราหมณ์หุหุกชาติ : พราหมณ์ทูลถามว่า คำว่าพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ธรรมเหล่าไหนทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์
  6) พุทธอุทานคาถา : พราหมณ์ใดมีบาปอันลอยเสียแล้ว ไม่มีกิเลสในอารมณ์ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้วควรกล่าวว่า ตนเป็นพราหมณ์
  7) เรื่องมุจจลินทนาคราช : นาคราชพันล้อมกายพระพุทธเจ้า ๗ รอบ แผ่แม่เบี้ยเหนือพระเศียร ครบ ๗ วันแปลงร่างเป็นคน ก้มกราบ
  8) พุทธอุทานคาถา : ความสงัดเป็นสุขของผู้สันโดษ.. ความไม่พยาบาทเป็นสุขในโลก.. การกำจัดอัสมิมานะเสียได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง
2 974
  1) เรื่องตปุสสะภัลลิกะ ๒ พ่อค้า : ล่วง ๗ วัน พ่อค้าอตปุสสะ และ ภัลลิก ถวายสัตตุผง(ข้าวผง)และสัตตุก้อน ตามที่เทวดาแนะนำ
  2) ทรงปริวิตก : ว่าธรรมที่บรรลุแล้ว เห็นได้ยาก รู้ได้เฉพาะบัณฑิต หมู่สัตว์ยังเริงรมย์ด้วยยินดี-อาลัย ในอวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขาร
  3) อนัจฉริยคาถา : เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่ได้บรรลุ พระทัยก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม
  4) พรหมยาจนกถา : ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบพระปริวิตกของพระผู้มีพระภาค เกิดปริวิตกว่า ชาวเราผู้เจริญ โลกจักฉิบหายหนอ
  5) สัตว์โลกเปรียบด้วยดอกบัว ๓ เหล่า : ทรงตรวจดูสัตว์โลก เห็นสัตว์ที่มีธุลีคือกิเลส อุปมาเหมือน บัวกออุบล กอปทุม กอบุณฑริก
  6) พุทธปริวิตกกถา : ทรงดำริว่าจะแสดงธรรม แก่อาฬารดาบส - อุทกดาบส แต่เทวดาบอกเสียชีวิตแล้ว จึงไปหาปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิ
7) เรื่องอุปกาชีวก : อาชีวก เห็นผิวพรรณของ ภ.ผุดผ่องยิ่งนัก ถาม..ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบธรรมของใคร..แล้วส่ายหน้า
3 975
  1) เรื่องพระปัญจวัคคีย์ : พระองค์ยังไม่บรรลุ อุตตริมนุสสธรรม.. เป็นผู้มักมาก.. ตถาคตตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ
  2) ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนา : ส่วนสุดสองอย่างนี้ไม่ควรเสพ คือกามสุข-ทำความลำบากแก่ตน ทางสายกลางคือมรรค๘
  3) ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง : ทุกข์-ควรกำหนดรู้..สมุทัย-ควรละ..นิโรธ-ควรทำให้แจ้ง..ปฏิปทา..ควรให้เจริญ
  4) ญาณทัศนะมี ๓ รอบ ๑๒ อาการ : โกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม เหล่าเทวดา บันลือธรรมจักรอันยอดเยี่ยม จนถึงพรหมโลก
4 976
  1) ปัญจวัคคีย์ทูลขอบรรพชาอุปสมบท : พระโกณฑัญญะ บรรลุธรรมแล้ว จากนั้น วัปปะ ภัททิยะ มหานาทะ อัสสชิ ก็ตามมาขอบวช
  2) ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร : รูปเป็นอนัตตา เวทนา.. สัญญา.. สังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา ขันธ์ทั้ง ๕ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
  3) ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์ : รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
  4) ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ : เธอพึงเห็นรูปด้วยปัญญาอันชอบว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา
 
 
 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้าที่ ๑๔

1
เรื่องพระปัญจวัคคีย์

          [๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตนะ มฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เสด็จเข้าไปทางสำนักพระปัญจวัคคีย์.

          พระปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลแล้ว ได้นัดหมายกัน และกันว่า ท่านทั้งหลาย พระสมณะโคดมนี้เป็นผู้มักมากคลายความเพียร เวียนมา เพื่อความเป็นคน มักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ พระองค์ ไม่พึงรับบาตร จีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนา ก็จักประทับนั่ง.

          ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปถึงพระปัญจวัคคีย์ พระปัญจวัคคีย์นั้น ไม่ตั้ง อยู่ในกติกาของตน ต่างลุกขึ้นต้อนรับพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของ พระผู้มี พระภาครูปหนึ่ง ปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่ง รองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้อง เช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง บนอาสนะ ที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท.

          ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์เรียกพระผู้มีพระภาคโดยระบุพระนาม และใช้คำว่า "อาวุโส" เมื่อพระปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสห้าม พระปัญจวัคคีย์ว่า

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเรียกตถาคตโดยระบุชื่อ และอย่าใช้คำว่า "อาวุโส" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจง เงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ ตามที่เรา สั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุด แห่ง พรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการ นั้น ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่.

          เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว.

          พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาค ว่าอาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุ อุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ ก็บัดนี้พระองค์เป็น ผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริ-มนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถได้เล่า.

          เมื่อพระปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคต ไม่ใช่เป็นคนมักมาก ไม่ได้เป็นคนคลายความเพียร ไม่ได้เวียนมา เพื่อความเป็นคนมักมากดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้ บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้วไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้ง ซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.

แม้ครั้งที่สอง พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคว่า ...
แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า ...
แม้ครั้งที่สาม พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคว่า อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุ อุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ ก็บัดนี้ พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุ อุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถได้เล่า.

          เมื่อพระปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังจำได้หรือว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อน แต่กาลนี้. พระปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า คำนี้ไม่เคยได้ฟังเลย พระพุทธเจ้าข้า.

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ พวกเธอ จงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จักแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้ง ซึ่งคุณ อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้า ถึงอยู่.

          พระผู้มีพระภาคทรงสามารถให้พระปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว.

          ลำดับนั้นพระปัญจวัคคีย์ ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิต เพื่อรู้ยิ่ง.

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

2
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ปฐมเทศนา

          [๑๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

          การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุข ในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้านเป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

          การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของ พระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคต ได้ตรัสรู้ แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความ สงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความ ตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน?

          ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละ คือปัญญา อันเห็นชอบ ๑ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ตั้งจิตชอบ ๑

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วย ปัญญา อันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ ยิ่ง เพื่อความ ตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

          [๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบ ด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วย ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรค มีองค์ ๘นี้แหละ คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑ ... ตั้งจิตชอบ ๑.
...........................................................................................................................................................

3
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง

          [๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรม ทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสัจ.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสัจนี้ นั้นแล ควรให้เจริญ.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ นั้นแล เราให้เจริญแล้ว.

  ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง
  ทุกขอริยสัจ.. ควรกำหนดรู้ เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว
  ทุกขสมุทัยอริยสัจ.. ควรละเสีย เราละได้แล้ว
  ทุกขนิโรธอริยสัจ.. ควรทำให้แจ้ง เราทำให้แจ้งแล้ว
  ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.. ควรให้เจริญ เราให้เจริญแล้ว

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

4
ญาณทัสสนะ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒

          [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้ว เพียงใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึง ยืนยันได้ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์.

          อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับ กำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป.

          ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัส ไวยากรณ ภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นรรมดาสิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา.

          [๑๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดา ได้บันลือเสียงว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาค ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.

          เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือ เสียง ต่อไป. เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของพวกเทวดา ชั้นจาตุมหาราช แล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป. เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้นดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ...
เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ... เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ได้ยินเสียงของพวกเทวดา ชั้นปรนิมมิตวสวดีแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไปว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม

          พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.

          ชั่วขณะการครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้ แล. ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หา ประมาณ มิได้ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย.

          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้.
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบ



                                                     Next  หน้าถัดไป


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์