เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ  

 
  พุทธเจ้าแรกตรัสรู้ ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ 974
 
พุทธเจ้าแรกตรัสรู้
ออกไปหน้าแรก รวมพระสูตร
เรื่องสำคัญ ของพระพุทธเจ้า
 
1 973
  1) โพธิกถาปฏิจจสมุปบาทมนสิการ : ทรงพิจารณาปฏิจจตลอด ๗ วัน เป็นอนุโลมและปฏิโลม(ทบทวน) ตลอดปฐมยาม
  2) พุทธอุทานคาถาที่ ๑ : ทรงพิจารณาปฏิจจ (สายเกิด-ดับ) ตลอด ๗ วัน เป็นอนุโลมและปฏิโลม(ทบทวน) ตลอดมัชฌิมยาม
  3) พุทธอุทานคาถาที่ ๒ : (ทบทวนปฏิจ)เมื่อธรรมทั้งหลายปรากฎ ความสงสัยย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัย ทั้งหลาย
  4) พุทธอุทานคาถาที่ ๓ : (ทบทวน)เมื่อธรรมทั้งหลายปรากฏ เมื่อนั้นย่อมกำจัดมาร เสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัย ทำอากาศให้สว่าง
  5) เรื่องพราหมณ์หุหุกชาติ : พราหมณ์ทูลถามว่า คำว่าพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ธรรมเหล่าไหนทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์
  6) พุทธอุทานคาถา : พราหมณ์ใดมีบาปอันลอยเสียแล้ว ไม่มีกิเลสในอารมณ์ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้วควรกล่าวว่า ตนเป็นพราหมณ์
  7) เรื่องมุจจลินทนาคราช : นาคราชพันล้อมกายพระพุทธเจ้า ๗ รอบ แผ่แม่เบี้ยเหนือพระเศียร ครบ ๗ วันแปลงร่างเป็นคน ก้มกราบ
  8) พุทธอุทานคาถา : ความสงัดเป็นสุขของผู้สันโดษ.. ความไม่พยาบาทเป็นสุขในโลก.. การกำจัดอัสมิมานะเสียได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง
2 974
  1) เรื่องตปุสสะภัลลิกะ ๒ พ่อค้า : ล่วง ๗ วัน พ่อค้าอตปุสสะ และ ภัลลิก ถวายสัตตุผง(ข้าวผง)และสัตตุก้อน ตามที่เทวดาแนะนำ
  2) ทรงปริวิตก : ว่าธรรมที่บรรลุแล้ว เห็นได้ยาก รู้ได้เฉพาะบัณฑิต หมู่สัตว์ยังเริงรมย์ด้วยยินดี-อาลัย ในอวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขาร
  3) อนัจฉริยคาถา : เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่ได้บรรลุ พระทัยก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม
  4) พรหมยาจนกถา : ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบพระปริวิตกของพระผู้มีพระภาค เกิดปริวิตกว่า ชาวเราผู้เจริญ โลกจักฉิบหายหนอ
  5) สัตว์โลกเปรียบด้วยดอกบัว ๓ เหล่า : ทรงตรวจดูสัตว์โลก เห็นสัตว์ที่มีธุลีคือกิเลส อุปมาเหมือน บัวกออุบล กอปทุม กอบุณฑริก
  6) พุทธปริวิตกกถา : ทรงดำริว่าจะแสดงธรรม แก่อาฬารดาบส - อุทกดาบส แต่เทวดาบอกเสียชีวิตแล้ว จึงไปหาปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิ
  7) เรื่องอุปกาชีวก : อาชีวก เห็นผิวพรรณของ ภ.ผุดผ่องยิ่งนัก ถาม..ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบธรรมของใคร..แล้วส่ายหน้า
3 975
  1) เรื่องพระปัญจวัคคีย์ : พระองค์ยังไม่บรรลุ อุตตริมนุสสธรรม.. เป็นผู้มักมาก.. ตถาคตตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ
  2) ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนา : ส่วนสุดสองอย่างนี้ไม่ควรเสพ คือกามสุข-ทำความลำบากแก่ตน ทางสายกลางคือมรรค๘
  3) ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง : ทุกข์-ควรกำหนดรู้..สมุทัย-ควรละ..นิโรธ-ควรทำให้แจ้ง..ปฏิปทา..ควรให้เจริญ
  4) ญาณทัศนะมี ๓ รอบ ๑๒ อาการ : โกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม เหล่าเทวดา บันลือธรรมจักรอันยอดเยี่ยม จนถึงพรหมโลก
4 976
  1) ปัญจวัคคีย์ทูลขอบรรพชาอุปสมบท : พระโกณฑัญญะ บรรลุธรรมแล้ว จากนั้น วัปปะ ภัททิยะ มหานาทะ อัสสชิ ก็ตามมาขอบวช
  2) ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร : รูปเป็นอนัตตา เวทนา.. สัญญา.. สังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา ขันธ์ทั้ง ๕ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
  3) ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์ : รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
  4) ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ : เธอพึงเห็นรูปด้วยปัญญาอันชอบว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา
 
 
 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้าที่ ๑

พระวินัยปิฎก เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑
มหาขันธกะ


1
ราชายตนกถา
เรื่องตปุสสะภัลลิกะ ๒ พ่อค้า
(ตักบาตรคราวที่๑)


           [๖] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จจาก ควงไม้ มุจจลินท์ เข้าไปยังต้นไม้ ราชายตนะ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้ ราชายตนะ ตลอด ๗ วัน.

          ก็สมัยนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะ ภัลลิกะ ๑ เดินทางไกลจากอุกกลชนบท ถึง ตำบลนั้น ครั้งนั้นเป็น เทพยดา ผู้เป็นญาติสาโลหิตของ ตปุสสะ ภัลลิกะ ๒ พ่อค้า ได้กล่าวคำนี้กะ ๒ พ่อค้านั้นว่า

         ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้ ราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไปบูชาพระผู้มีพระภาคนั้น ด้วย สัตตุผง(ข้าวตากป่น) และ สัตตุก้อน (ข้าวตากป่นผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นก้อน) การบูชาของท่านทั้งสองนั้นจักเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ และความสุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน.
(ข้าวสัตตุผง และข้าวสัตตุก้อน สมัยก่อนเป็นเสบียงสำหรับการเดินทาง คล้ายข้าวตูของไทย)

          ครั้งนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ ถือสัตตุผง และสัตตุก้อนเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค แล้วถวายบังคม ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. สองพ่อค้านั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับ สัตตุผง สัตตุก้อน ของข้าพระพุทธเจ้า ทั้งสอง ซึ่งจะเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลายตลอด กาลนาน. ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงปริวิตกว่า พระตถาคตทั้งหลาย (พระพุทธเจ้าในอดีต) ไม่รับวัตถุด้วยมือ เราจะพึงรับสัตตุผง และสัตตุก้อน ด้วยอะไรหนอ

           ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ ทรงทราบพระปริวิตกแห่งจิตของพระผู้มี พระภาค ด้วยใจของตนแล้ว เสด็จมาจาก ๔ ทิศ ทรงนำบาตรที่สำเร็จด้วยศิลา ๔ ใบเข้าไป (เทวดาเนรมิตรบาตร) ถวายพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงรับสัตตุผง และสัตตุก้อน ด้วยบาตรนี้ พระพุทธเจ้าข้า.

          พระผู้มีพระภาคทรงใช้บาตรสำเร็จด้วยศิลา (บาตรหิน) อันใหม่เอี่ยม รับสัตตุผง และ สัตตุก้อน แล้วเสวย.

          ครั้งนั้น พ่อค้าตปุสสะ และภัลลิกะ ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค และพระธรรมว่า เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองว่า เป็นอุบาสก ผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป. ก็นายพาณิชสองคนนั้น ได้เป็นอุบาสก กล่าวอ้าง ๒ รัตนะ เป็นชุดแรกในโลก.

ราชายตนกถา จบ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

2
ทรงปริวิตกว่า ธรรมที่บรรลุแล้ว เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก รู้ได้เฉพาะบัณฑิต

         [๗] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว เสด็จจาก ควงไม้ ราชายตนะ เข้าไปยัง ต้นไม้ อชปาลนิโครธ. ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงไม้ อชปาล นิโครธนั้น และพระองค์เสด็จไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มี พระปริวิตก แห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง ส่วนหมู่สัตว์นี้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย ชื่นชม ในอาลัย ฐานะคือ ความที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารเป็นต้นนี้ เป็นสภาพอาศัย ปัจจัยเกิดขึ้นนี้ อันหมู่สัตว์ผู้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย ชื่นชมในอาลัย เห็นได้ยาก แม้ฐานะ คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้น กำหนัด เป็นที่ดับสนิท หากิเลสเครื่องร้อยรัดมิได้นี้ ก็แสนยากที่จะเห็นได้ ก็ถ้าเรา จะพึง แสดงธรรม สัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรม ของเรา ข้อนั้นจะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่ แก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่า แก่เรา.

          อนึ่ง อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ ที่ไม่เคยได้สดับในกาลก่อน ปรากฏแก่ พระผู้มีพระภาค ว่า ดังนี้:-


3
อนัจฉริยคาถา
          บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว โดยยาก เพราะธรรมนี้ อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะ ครอบงำแล้วไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้ว ถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแสคือนิพพาน. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพิจารณา เห็นอยู่ ดังนี้ พระทัยก็น้อมไป เพื่อความ ขวนขวาย น้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรง แสดงธรรม.

4
พรหมยาจนกถา
          [๘] ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบพระปริวิตกแห่งจิต ของพระผู้มี พระภาค ด้วยใจของตน แล้ว เกิดความปริวิตกว่า ชาวเราผู้เจริญ โลกจักฉิบหายหนอ โลกจักวินาศหนอ เพราะ พระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงน้อมพระทัยไป เพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม.

          ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ได้หายไปในพรหมโลก มาปรากฏ ณ เบื้อง พระพักตร์ ของพระผู้มีพระภาค ดุจบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขน ที่เหยียด ฉะนั้น ครั้นแล้วห่มผ้า อุตราสงค์(จีวร) เฉวียงบ่า คุกชาณุมณฑล(เข่า) เบื้องขวา ลงบนแผ่นดิน ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มี พระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค ได้โปรดทรงแสดงธรรม ขอพระสุคต ได้โปรด ทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี.

          ท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลดังนี้แล้ว จึงกราบทูลเป็นประพันธคาถา ต่อไปว่า เมื่อก่อน ธรรมไม่บริสุทธิ์อันคนมีมลทินทั้งหลาย คิดแล้วได้ปรากฏ ใน มคธชนบท ขอพระองค์ได้ โปรดทรงเปิดประตู แห่งอมตธรรมนี้ ขอสัตว์ทั้งหลาย จงฟังธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หมด มลทินตรัสรู้แล้ว ตามลำดับเปรียบเหมือน บุรุษ มีจักษุยืนอยู่บน ยอดภูเขา ซึ่งล้วนแล้วด้วยศิลา พึงเห็น ชุมชนได้ โดยรอบ ฉันใด

        ข้าแต่พระองค์ผู้มี ปัญญาดี มีพระปัญญาจักษุรอบคอบ ขอพระองค์ ผู้ปราศจาก ความโศก จงเสด็จขึ้นสู่ปราสาท อันสำเร็จด้วยธรรม แล้วทรงพิจารณาชุมชน ผู้เกลื่อนกล่น ด้วยความโศก ผู้อันชาติและชรา ครอบงำแล้ว มีอุปมัยฉันนั้นเถิด ข้าแต่ พระองค์ผู้มีความเพียร ทรงชนะสงคราม ผู้นำหมู่ หาหนี้มิได้ ขอพระองค์จงทรง อุตสาหะเที่ยวไป ในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม เพราะสัตว์รู้ทั่วถึง ธรรมจักมี.

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


5
ทรงพิจารณาสัตวโลกเปรียบด้วยดอกบัว ๓ เหล่า


         [๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงกราบคำทูลอาราธนาของพรหม และทรง อาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ เมื่อตรวจดู สัตว์โลก ด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลาย ที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยก็มี ที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุมากก็มี ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี ที่มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่าย ก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี ที่มีปกติเห็นปรโลก และโทษโดยความเป็นภัยอยู่ ก็มี.

          มีอุปมาเหมือน ดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือ ดอกบุณฑริก (มีแค่3เหล่าเท่านั้น) ในกอบุณฑริกที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ งอกงามแล้วในน้ำ บางเหล่า ยังจม ในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ อันน้ำไม่ติดแล้ว.

          พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลาย บางพวกมีธุลี คือกิเลสในจักษุน้อย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุมาก บางพวก มีอินทรีย์แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการทราม บางพวกสอนให้รู้ได้ง่าย บางพวกสอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมีปกติ เห็นปรโลกและ โทษโดยความเป็นภัยอยู่ ฉันนั้น เหมือนกัน

          ครั้นแล้วได้ตรัสคาถาตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า ดังนี้ เราเปิดประตูอมตะ แก่ท่านแล้ว สัตว์เหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด ดูกรพรหม เพราะเรา มีความสำคัญ ในความลำบาก จึงไม่แสดงธรรม ที่เราคล่องแคล่ว ประณีต ในหมู่มนุษย์.

          ครั้นท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาส เพื่อจะแสดงธรรม แล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้นแล.

พรหมยาจนกถา จบ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

6
พุทธปริวิตกกถา

          [๑๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใคร ก่อน หนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้แล เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย เป็นปกติมานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรม แก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน.

           ทีนั้น เทพดาอันตรธานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้วพระพุทธเจ้าข้า. แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้วจึงทรงพระดำริว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้จะพึงรู้ทั่วถึงได้ ฉับพลัน.

           ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรม แก่ใครก่อน หนอ ใครจักรู้ ทั่วถึงธรรมนี้ ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า อุทกดาบส รามบุตรนี้ แลเป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยเป็นปกติ มานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรม แก่อุทกดาบส รามบุตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ ได้ฉับพลัน. 

           ทีนั้น เทพดาอันตรธานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า อุทกดาบส รามบุตร สิ้นชีพเสีย วานนี้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า. แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบว่า อุทกดาบส รามบุตร สิ้นชีพ เสียวานนี้แล้ว จึงทรงพระดำริว่าอุทกดาบส รามบุตรนี้ เป็นผู้มีความ เสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน.

          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อน หนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า ภิกษุ ปัญจวัคคีย์ มีอุปการะ แก่เรามาก ได้บำรุงเราผู้ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรอยู่ ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรม แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน

           ครั้นแล้วได้ทรงพระดำริต่อไปว่า บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ

           พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขต พระนครพาราณสี ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ครั้นพระองค์ประทับ อยู่ ณ อุรุเวลาประเทศ ตามควรแก่ พุทธาภิรมย์แล้วเสด็จจาริกไปทางพระนคร พาราณสี.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


7
เรื่องอุปกาชีวก
(เสด็จกรุงพาราณสี)

          [๑๑] *อาชีวกชื่ออุปกะ ได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกล ระหว่าง แม่น้ำคยา และไม้โพธิพฤกษ์ ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ดูกรอาวุโส ท่านบวช อุทิศใคร? ใครเป็นศาสดาของท่าน? หรือท่านชอบธรรมของใคร?
* วนิพกพเนจร

          เมื่ออุปกาชีวกกราบทูลอย่างนี้แล้ว. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถา ตอบ อุปกาชีวก ว่า ดังนี้ เราเป็นผู้ครอบงำ ธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง อันตัณหา และ ทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้ว ในธรรมทั้งปวง ละธรรมเป็นไปในภูมิสาม (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) ได้หมด พ้นแล้วเพราะ ความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเอง แล้ว จะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเรา ก็ไม่มีบุคคล เสมอเหมือนเรา ก็ไม่มี ในโลกกับ ทั้งเทวโลก เพราะเราเป็น พระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดา หาศาสดาอื่น ยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปเมืองในแคว้นกาสี เพื่อ ประกาศธรรมจักร ให้เป็นไป เราจะตีกลอง ประกาศ อมตธรรมในโลกอันมืด เพื่อให้สัตว์ได้ธรรมจักษุ.

           อุปกาชีวกทูลว่า ดูกรอาวุโส ท่านปฏิญาณโดยประการใด ท่านควรเป็นผู้ชนะ หาที่สุดมิได้ โดยประการนั้น.

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นอาสวะแล้ว บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า เป็นผู้ชนะเช่นเรา ดูกรอุปกะ เราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้นเรา จึงชื่อว่า เป็นผู้ชนะ.

          *เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวกทูลว่า เป็นให้พอเถิด พ่อ ดังนี้ แล้วสั่นศีรษะ ถือเอาทางผิดเดินหลีกไป. (อ่านเปรียบเทียบสำนวนแปล)

* (สำนวนแปล จากพระโอษฐ์ของท่านพุทธทาส : ราชกุมาร ! ครั้นเรากล่าวดังนี้ อุปกาชีวก ได้กล่าวว่า “เห็นจะเป็นได้ ผู้มีอายุ !” ดังนี้แล้ว ส่ายศีรษะไปมา แลบลิ้น ถือเอาทางสูง หลีกไปแล้ว)
เรื่องอุปกาชีวก จบ


เปรียบเทียบสำนวนแปล 4 สำนัก

 

(ฉบับหลวง) เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวกทูลว่า เป็นให้พอเถิด พ่อ ดังนี้ แล้ว สั่นศีรษะ ถือเอาทางผิดเดินหลีกไป

(มหามกุฏ) เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว  อุปกาชีวกทูลว่า  พึงเป็นผู้ชนะเถิด ท่านผู้มีอายุ ดังนี้แล้ว ก้มศีรษะลง แล้วแยกทางหลีกไป.

(มหาจุฬา) เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว อุปกาชีวกจึงทูลว่า  “อาวุโส    ควรจะเป็นอย่างนั้น”  โคลงศีรษะแล้วเดินสวนทางหลีกไป

(จากพระโอษฐ์) ครั้นเรากล่าวดังนี้ อุปกาชีวก ได้กล่าวว่า “เห็นจะเป็นได้ ผู้มีอายุ(๑)!” ดังนี้แล้ว ส่ายศีรษะไปมา แลบลิ้น ถือเอาทางสูง หลีกไป (๒) แล้ว
---------------------------------------------------------------------------

๑. คำนี้เห็นจะเป็นคำเยาะ บาลีตอนนี้มีแต่ “หุเวยฺยาวุโส” เท่านั้น ไม่ได้ใส่ประธานอะไร ไว้ คงหมายว่าประธานของประโยคนี้ คือคำที่พระองค์ตรัสนั่นเอง อรรถกถาแก้ว่า “ชื่อแม้ เช่นนั้นพึงมีได้”
๒. บาลีเป็น อุมฺมคฺโค. ตามตัวว่า ทางขึ้น. มีบางท่านแปลว่า ทางผิด ที่จริงเขาน่าจะเดิน สวนทางขึ้นไปทางเหนือ ส่วนพระองค์ลงไปพาราณสี เป็นทางใต้, ถ้าเรามัวมุ่งแต่จะติคน ภายนอกอย่างเดียว คำแปลต่างๆ อาจค่อนไปข้างแรงก็ได้ กระมัง ? ...ผู้แปล (พุทธทาส)


                                                     Next  หน้าถัดไป

 

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์