เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

เรื่องราวของสุสิมะ ปริพาชกเข้าบวชเพราะเข้าใจผิดว่า สาวกตถาคตมีจิตหลุดพ้นด้วยอิทธิวิธีต่างๆ 1585
  (ย่อ)
1) สุสิมสูตร (ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๖)
1.1) บริษัทของสุสิมปริพาชกชักชวนให้สุสิมบวชในสำนักโคดม จะได้มีผู้เคารพ นับถือ
1.2) สุสิมปริพาชกได้บวชแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค
1.3) สุสิมพึ่งบวชใหม่ เข้าใจว่าสาวกตถาคต จิตหลุดพ้นด้วยอิทธิวิธี แต่ภิกษุ ท. ปฏิเสธว่าไม่ใช่
1.4) พวกท่านย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้หรือ ภิกษุตอบว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่
1.5) พวกท่านระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมากหรือ ภิกษุตอบว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่
1.6) พวกท่านเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติด้วยทิพย์จักษุหรือ ภิกษุตอบว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่
1.7) ภิ.ท่านสุสิมะ ท่านพึงเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม แต่ผมทั้งหลาย ก็หลุดพ้นได้ ด้วยปัญญา
1.8) พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สุสิมะ ธรรมฐิติญาณเกิดก่อน ญาณในพระนิพพาน เกิดภายหลัง
1.9) ตรัสเรื่องความไม่เที่ยงของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
1.10) รูป เวทนา สัญญา... พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา
1.11) อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป ในเวทนา.. ในสังขาร ในวิญญาณ
1.12) สุสิมะ เข้าใจปฏิจสมุปบาท สายดับ เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ
1.13) สุสิมะ เข้าใจแล้วว่าการรู้เห็นธรรมชาติตามที่เป็นจริง ไม่ใช่การบรรลุอิทธิวิธีต่าง
1.14) ท่านสุสิมะหมอบแทบพระบาท ว่าตนเองโง่ ที่หลงผิด คิดว่าผู้ที่ได้อิทธิวิธี คือผู้หลุดพ้น
1.15) เพราะเธอเห็นโทษ โดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษนั้น ของเธอ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

2) อานนท์ เธอชอบสารีบุตร หรือไม่ (สุสิมสูตรที่ ๙) (ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันต หน้าที่ ๘๐)
2.1) ท่านพระสารีบุตรไม่ใช่คนพาล แต่เป็นบัณฑิต ใครเล่าจะไม่ชอบ
2.2) ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล..ผู้มีปัญญาหลักแหลม สันโดษ สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่
2.3) แม้เทวดาผู้เป็นเทพบุตร ยังกล่าวกันหนาหูว่า ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต
2.4) ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญ ส.ได้เกิดปีติ โสมนัส มีรัศมี ผิวพรรณปรากฏ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อรรถกถา: เรื่องราวของสุสิมะ มีอรรถกถาเข้ามาปะปน (คลิก)
สุสิมสูตรที่ ๒ / ฉบับหลวง เล่ม ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้า ๒๖๑
สุสีมชาดก / ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๗ สุตตันตปิฎก -ชาดก หน้าที่ ๒๑๗
อัตถทัสสีพุทธวงศ์ /ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๓ สัตตันตปิฎก หน้า ๓๔๐

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)

 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๖


1)

๑๐. สุสิมสูตร

        [๒๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถานเขต พระนคร ราชคฤห์

สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคอันเทวดาและมนุษย์ทั้งมวล สักการะ เคารพ นับถือ บูชายำเกรง ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขาร เป็นปัจจัย แก่คนไข้


แม้ภิกษุสงฆ์อันเทวดา และมนุษย์ทั้งมวล ก็สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวรบิณฑบาตเสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้

แต่พวก ปริพาชก เดียรถีย์อื่น
อันเทวดาและมนุษย์ทั้งมวล ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่ยำเกรง ไม่ได้จีวรบิณฑบาตเสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัย แก่คนไข้

1.1)
(บริษัทของสุสิมปริพาชกชักชวนให้สุสิมบวชในสำนักโคดม จะได้มีผู้เคารพ นับถือ)

        [๒๘๐] สมัยนั้นแล สุสิมปริพาชก อาศัยอยู่ ณ พระนครราชคฤห์กับปริพาชก บริษัทเป็นอันมาก ครั้งนั้นแล บริษัทของสุสิมปริพาชก ได้กล่าวกะสุสิมปริพาชกว่า มาเถิดท่านสุสิมะ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักของพระสมณโคดม ท่านเรียนธรรมแล้ว พึงบอกข้าพเจ้าทั้งหลาย พวกข้าพเจ้าเรียนธรรมนั้นแล้ว จักกล่าว แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกเราก็จักมีเทวดาและมนุษย์ทั้งมวล สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง จักได้จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และเภสัชบริขาร เป็นปัจจัย แก่คนไข้

        สุสิมปริพาชก ยอมรับคำบริษัทของตน แล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึก ถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นสุสิมปริพาชกนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าว กะท่านพระอานนท์ว่า ท่านพระอานนท์ ผมปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ ในธรรมวินัยนี้

        [๒๘๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ พาสุสิมปริพาชก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่าน พระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า สุสิมปริพาชก ผู้นี้ กล่าวอย่างนี้ว่าท่านพระอานนท์ ผมปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ ในธรรมวินัยนี้

1.2)
(สุสิมปริพาชกได้บวชแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค)

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้สุสิมปริพาชกบวช

        สุสิมปริพาชกได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว

        [๒๘๒] สมัยนั้นแล ได้ยินว่า ภิกษุเป็นอันมากอวดอ้างพระอรหัตผล ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

        ท่านสุสิมะได้ฟังมาว่า ภิกษุเป็นอันมากอวดอ้างพระอรหัตผลในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

        ทันใดนั้นเอง ท่านสุสิมะก็เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับ ภิกษุเหล่านั้นครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านสุสิมะนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ได้ยินว่าท่านทั้งหลาย อวดอ้าง พระอรหัตผลในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี ดังนี้จริงหรือ
        ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า จริงอย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ

1.3)
(สุสิมพึ่งบวชใหม่ เข้าใจว่าภิกษุสำนักพระโคมดม จิตหลุดพ้นด้วยอิทธิวิธีต่างๆ
ภิกษุ ท. ปฏิเสธว่า หาเป็นเช้่นั้นไม่)

        [๒๘๓] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมบรรลุ อิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ทำให้ ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่าง ก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดิน ก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ บ้างหรือหนอ
       ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ

        [๒๘๔] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมได้ยิน เสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ บ้างหรือหนอ
        ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ

1.4)
(พวกท่านย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้หรือ
ภิกษุตอบว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่)

        [๒๘๕] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมกำหนด รู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือ
จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือ จิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
บ้างหรือหนอ
        ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ

1.5)
(พวกท่านระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมากหรือ
ภิกษุตอบว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่)

        [๒๘๖] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมระลึกถึง ชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้างสิบชาติ บ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง

ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมาก บ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏกัปวิวัฏกัป เป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขและ ทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้น แล้วได้ไปเกิดในภพโน้น ในภพนั้น เรามีชื่ออย่างนั้นมีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้นมีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้น แล้วมาเกิดในภพนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้ง อาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้บ้างหรือหนอ
     ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ

1.6)
(พวกท่านย่อมเห็น หมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติด้วยทิพย์จักษู หรือ ภิกษุตอบว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่)

        [๒๘๗] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเห็น หมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์

ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริตวจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิยึดถือ การกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายเพราะกาย แตกดับไป ก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรกท่านผู้เจริญทั้งหลาย ส่วนสัตว์เหล่านั้น ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายเพราะกายแตกดับไป ก็เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

ย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ
เลว ประณีตมีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้ เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ บ้างหรือหนอ
     ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ

1.7)
(ภิ. ท่านสุสิมะ ท่านพึงเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม แต่ผมทั้งหลาย ก็หลุดพ้นได้ ด้วยปัญญา)

        [๒๘๘] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมถูกต้องอารูปวิโมกข์อันสงบ ก้าวล่วงรูปวิโมกข์ ทั้งหลายด้วยกาย บ้างหรือหนอ
      ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ

        [๒๘๙] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย คำตอบนี้ และการไม่เข้าถึงธรรมเหล่านี้ มีอยู่ในเรื่องนี้ในบัดนี้ อาวุโส เรื่องนี้ เป็นอย่างไรแน่
       ภิ. ท่านสุสิมะ ผมทั้งหลายหลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

       สุ. ผมไม่เข้าใจเนื้อความแห่งคำที่ท่านทั้งหลาย กล่าวโดยย่อนี้โดยพิสดารได้ ขอท่านทั้งหลายจงกล่าวแก่ผม เท่าที่ผมจะพึงเข้าใจเนื้อความ แห่งคำที่ท่านทั้งหลาย กล่าวโดยย่อนี้ โดยพิสดารเถิด
      ภิ. ท่านสุสิมะ ท่านพึงเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม แต่ผมทั้งหลายก็หลุดพ้นได้ ด้วยปัญญา

1.8)
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สุสิมะ ธรรมฐิติญาณเกิดก่อน ญาณในพระนิพพาน เกิดภายหลัง)

        [๒๙๐] ครั้งนั้นแล ท่านสุสิมะลุกจากอาสนะแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านสุสิมะ นั่งเรียบร้อยแล้ว กราบทูลถ้อยคำที่สนทนากับภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาค

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สุสิมะ ธรรมฐิติญาณเกิดก่อน ญาณในพระนิพพาน เกิดภายหลัง

        พระสุสิมะกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เข้าใจเนื้อความแห่งคำ ที่พระองค์ ตรัสไว้โดยย่อนี้โดยพิสดารได้ ขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสแก่ข้าพระองค์ เท่าที่ข้าพระองค์ จะพึงเข้าใจ เนื้อความแห่งพระดำรัส ที่พระองค์ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิสดารเถิด

1.9)
(ตรัสเรื่องความไม่เที่ยงของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

        [๒๙๑] พ. ดูกรสุสิมะ เธอจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม โดยแท้จริงแล้ว ธรรมฐิติญาณเกิดก่อน ญาณในพระนิพพานเกิดทีหลัง สุสิมะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้น อย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า

พ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตาม เห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า

พ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตาม เห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า

พ. สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า

พ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา

สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า

1.10)
(รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา)

        [๒๙๒] พ. ดูกรสุสิมะ เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ด ีอนาคต ก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดีอยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งหมดนั่นอันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

        เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดีในที่ใกล้ก็ดี เวทนาทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

        สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดีในที่ใกล้ก็ดี สัญญาทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

        สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดีภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี สังขารทั้งหลายทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

        วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดีในที่ใกล้ก็ดี วิญญาณทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

1.11)
(อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ )

        [๒๙๓] พ. ดูกรสุสิมะ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูปแม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขารทั้งหลาย แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นเมื่อหลุดพ้น ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้วย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

        [๒๙๔] พ. ดูกรสุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะหรือ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติหรือ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพหรือ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทานหรือ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ... เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ... เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา ... เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ... เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ ... เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ... เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารหรือ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

1.12)
(สุสิมะ เข้าใจปฏิจสมุปบาท สายดับ เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ)

        [๒๙๕] พ. ดูกรสุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับหรือ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะภพดับ ชาติจึงดับหรือ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ... เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ... เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ... เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ... เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ...เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ... เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ...เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ... เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับหรือ
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

1.13)
(สุสิมะ เข้าใจแล้วว่า การรู้เห็นธรรมชาติตามที่เป็นจริงอย่างนี้ จึงไม่ใช่การ บรรลุอิทธิวิธีประการต่างๆ)

        [๒๙๖] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมบรรลุอิทธิวิธี หลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏ ก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปบนอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพ มาก ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ บ้างหรือหนอ
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

        [๒๙๗] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และอยู่ใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์บ้างหรือหนอ
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

        [๒๙๘] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ ฯลฯ จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตไม่หลุดพ้นบ้างหรือหนอ
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

        [๒๙๙] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้ เป็นอันมาก คือชาติหนึ่งบ้าง ฯลฯ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้ง อาการ ทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ บ้างหรือหนอ
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

        [๓๐๐] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ ฯลฯ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม กรรม บ้างหรือหนอ

สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

        [๓๐๑] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมถูกต้องอารูปวิโมกข์ อันสงบ ก้าวล่วงรูปวิโมกข์ทั้งหลาย ด้วยกายบ้างหรือหนอ

สุ. มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

1.14)
(ท่านสุสิมะหมอบลงแทบพระบาท ว่าตนเองนั้นโง่ ไม่ฉลาด ที่หลงผิด คิดว่า ผู้ที่ได้อิทธิวิธีต่างๆ คือผู้หลุดพ้น)

        [๓๐๒] พ. ดูกรสุสิมะ คำตอบนี้ และการไม่เข้าถึงธรรมเหล่านี้ มีอยู่ในเรื่องนี้ ในบัดนี้ เรื่องนี้เป็นอย่างไรแน่

        ลำดับนั้นเอง ท่านสุสิมะหมอบลงแทบพระบาททั้งสอง ของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้าได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า โทษได้ตกถึงข้าพระองค์ เท่าที่โง่ เท่าที่หลง เท่าที่ไม่ฉลาด ข้าพระองค์บวชขโมยธรรมในธรรมวินัย ที่พระองค์ ตรัสดีแล้วอย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงรับโทษไว้โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวม ต่อไป ของข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า

        [๓๐๓] พ. เอาเถิด สุสิมะ โทษได้ตกถึงเธอ เท่าที่โง่ เท่าที่หลง เท่าที่ไม่ฉลาด เธอบวชขโมยธรรมในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ เปรียบเหมือนเจ้าหน้าที่จับโจร ผู้ประพฤติผิดมาแสดงตัวแก่พระราชา แล้ว กราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ โจรคนนี้ ประพฤติผิดแด่พระองค์ ขอพระองค์จงทรงลงอาชญา ตามที่พระองค์ทรง พระประสงค์แก่โจรคนนี้เถิด พระราชาพึงรับสั่งให้ลงโทษโจรนั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย จงไปมัดบุรุษนี้ไพล่หลังให้มั่น ด้วยเชือกที่เหนียวแล้วเอามีดโกน โกนหัวเสีย พาเที่ยวตระเวนตามถนน ตามทางสี่แยก ด้วยฆ้อง ด้วยกลองเล็กๆ ให้ออกทางประตูด้านทักษิณ แล้วจงตัดศีรษะเสียข้างด้านทักษิณของเมือง ราชบุรุษ มัดโจรนั้นไพล่หลังอย่างมั่นคง ด้วยเชือกที่เหนียวแล้วเอามีดโกนโกนหัว พาเที่ยว ตระเวนตามถนนตามทางสี่แยกด้วยฆ้อง ด้วยกลองเล็กๆ พาออกทางประตูด้านทักษิณ พึงตัดศีรษะเสียข้างด้านทักษิณของเมือง สุสิมะเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นต้องเสวยทุกข์และโทมนัสอันมีกรรมนั้นเป็นเหตุหรือหนอ

สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า

1.15)
(เพราะเธอเห็นโทษ โดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษนั้น ของเธอ)

        [๓๐๔] พ. ดูกรสุสิมะ บุรุษนั้นต้องเสวยทุกข์และโทมนัส อันมีกรรมนั้นเป็นเหตุ แต่การบวชของเธอผู้ขโมยธรรมในธรรมวินัย ที่ตถาคตกล่าวดีแล้วอย่างนี้ นี้ยังมีผล
รุนแรงและเผ็ดร้อนกว่านั้น และยังเป็นไปเพื่อวินิบาต แต่เพราะเธอเห็นโทษ โดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษนั้นของเธอ ผู้ใดเห็นโทษ โดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป ข้อนี้เป็นความเจริญ ในวินัยของพระอริยะ


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๐ - ๘๒

2)
สุสิมสูตรที่ ๙
(อานนท์ เธอชอบสารีบุตร หรือไม่)

        [๓๐๓] สาวัตถีนิทาน
ณ กาลครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์เถระ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงถวายอภิวาท นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

        พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอชอบสารีบุตรหรือไม่

2.1)

(ท่านพระสารีบุตรไม่ใช่คนพาล แต่เป็นบัณฑิต ใครเล่าจะไม่ชอบ)

        อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่ คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็น บัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลี ด้วยหมู่ ปรารภความเพียรเป็นผู้เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คน มีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน

2.2)
(ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ..ผู้ปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด สันโดษ เป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร)

        [๓๐๔] พ. อย่างนั้นๆ อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่ คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร เพราะสารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญามีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้ สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลี ด้วยหมู่ ปรารภความเพียร เป็นผู้เข้าใจพูด อดทน ต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร

        [๓๐๕] ณ กาลครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร แวดล้อมไปด้วยเทพบุตรบริษัท เป็น อันมากขณะที่พระผู้มีพระภาค และพระอานนท์เถระ กำลังกล่าว สรรเสริญคุณท่าน พระสารีบุตรอยู่ (สุสิมเทพบุตร) ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงถวายอภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเมื่อยืนเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบ บังคมทูลพระผู้มี พระภาคว่า จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคจริง อย่างนั้น พระสุคต อันใครเล่าที่ไม่ใช่ คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน พระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต ฯลฯ เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว

(พระสูตรนี้ เข้าใจได้ว่า สุสิมะ ได้ทำกาละไปแล้วและได้ไปเกิดเป็นเทวดา และได้ฟังธรรม จากพระสารีบุตร พร้อมกับกล่าวสรรเสริญคุณของพระสารีบุตรว่า เป็นบัณฑิต)

2.3)
(แม้เทวดาผู้เป็นเทพบุตร ยังกล่าวกันหนาหูว่า ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต)

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์ได้เข้าร่วมประชุม เทพบุตรบริษัทใดๆ ก็ได้ยินเสียงอย่างหนาหูว่า ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต ฯลฯ เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน

2.4)
(ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าว สรรเสริญคุณ ท่านพระสารีบุตรอยู่ เกิดปีติ โสมนัส มีรัศมี แห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่)

        [๓๐๖] ครั้งนั้น เทพบุตรบริษัท ของสุสิมเทพบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติกำลัง กล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าว สรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ โสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

        [๓๐๗] แก้วมณีและแก้วไพฑูรย์ อันงาม โชติช่วง แปดเหลี่ยม อันบุคคล ขัดสี เรียบร้อยแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ย่อมส่องแสงแพรวพราวรุ้งร่วง ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลัง กล่าว สรรเสริญคุณ ท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณ แพรวพราว ปรากฏอยู่

        [๓๐๘] แท่งทองชมพูนุท เป็นของที่บุตรนายช่างทอง ผู้ขยันหมั่นใส่เบ้า หลอม ไล่จนสิ้นราคีเสร็จแล้ว วางไว้บนผ้ากำพลสีเหลือง ย่อมขึ้นสีผุดผ่องเปล่งปลั่ง ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าว สรรเสริญคุณ ท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมี แห่งผิวพรรณแพรว พราวปรากฏอยู่

        [๓๐๙] ดาวประกายพฤกษ์ ขณะที่อากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆ ใน ฤดูสรทกาล ย่อมส่องแสงสุกสกาววาวระยับ ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

        [๓๑๐] พระอาทิตย์ขณะที่อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากหมู่เมฆในฤดู สรทกาล พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ขจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งปวง ย่อมแผดแสง แจ่มจ้า ไพโรจน์ ฉันใดเทพบุตรบริษัท ของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าว สรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ โสมนัส มีรัศมีแห่ง ผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

        [๓๑๑] ครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภ ถึงท่านพระสารีบุตรว่าท่านพระสารีบุตรคนรู้จักท่านดีว่า เป็นบัณฑิตไม่ใช่คนมักโกรธ มีความปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม ฝึกฝนมาดี มีคุณงามความดีอันพระศาสดา ทรงสรรเสริญ เป็นผู้แสวงคุณ

        [๓๑๒] พระผู้มีพระภาคได้ภาษิตคาถา ตอบสุสิมเทพบุตรปรารภถึงท่าน พระสารีบุตรว่า สารีบุตรใครๆ ก็รู้จักว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความปรารถนา น้อย สงบเสงี่ยม อบรม ฝึกฝนมาดี จำนงอยู่ก็แต่กาลเป็นที่ปรินิพพาน




อรรถกถา (เรื่องแต่ง)

  เรื่องราวของสุสิมะ มีอรรถกถาเข้ามาปะปน
สุสิมสูตรที่ ๒ / ฉบับหลวง เล่ม ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้า ๒๖๑
สุสีมชาดก / ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๗ สุตตันตปิฎก -ชาดก หน้าที่ ๒๑๗
อัตถทัสสีพุทธวงศ์ / ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๓ สัตตันตปิฎก หน้า ๓๔๐
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๖๑

สุสิมสูตรที่ ๒ (อรรถกถา)
(อสูรรบกับเทวดา)

        [๘๕๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่าน อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

        ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

        [๘๕๖] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกอสูร ได้พากันมารบกับพวกเทวดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย

       ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสเรียก สุสิมเทพบุตร มาบัญชา ว่า พ่อสุสิมะ พวกอสูรเหล่านี้ กำลังพากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไปป้องกันพวกอสูร ไว้

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุสิมเทพบุตร รับบัญชาท้าวสักกะจอมเทวดาว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญดังนี้ แล้วมัวประมาทเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ท้าวสักกะจอมเทวดา ก็ได้ตรัสเรียกสุสิมเทพบุตรมาบัญชาว่า พ่อสุสิมะ พวกอสูรเหล่านี้กำลังพากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไปป้องกันพวก อสูรไว้
....ฯลฯ



ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๗ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
หน้าที่ ๒๑๗

สุสีมชาดก (อรรถกถา)
(ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะออกผนวช)

         [๑๐๗๙] เมื่อก่อนผมดำเกิดบนศีรษะ อันเป็นประเทศที่สมควร ดูกร สุสิมะ วันนี้ท่านเห็นผมเหล่านั้น กลายเป็นสีขาวแล้ว จงประพฤติธรรมเถิด เวลานี้เป็นการ สมควรจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว.
... ฯลฯ



ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๓ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวังสะจริยาปิฎก หน้า ๓๔๐

อัตถทัสสีพุทธวงศ์ (อรรถกถา)
ว่าด้วยพระประวัติพระอัตถทัสสีพุทธเจ้า

        [๑๕] ในมัณฑกัปนั้นแล มีพระพุทธเจ้าผู้มียศมากนามว่าอัตถทัสสี

....ฯลฯ ....

ครั้งที่ ๑ พระภิกษุ ขีณาสพมาประชุมกันเก้าหมื่นแปดพัน
ครั้งที่ ๒ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกันแปดหมื่นแปดพัน

ครั้งที่ ๓ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกันเจ็ดหมื่นแปดพัน สมัยนั้น เราเป็นชฎิล ผู้มีตบะ อันรุ่งเรือง มีนามชื่อว่า
สุสิมะ ประชาชนยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ใน แผ่นดิน เรานำ ดอกมณฑารพ ดอกประทุม ดอกปาริชาตอันเป็นทิพย์ จากเทวโลก มาบูชา พระสัมพุทธเจ้า แม้พระพุทธอัตถทัสสีมหามุนี พระองค์นั้น ก็ทรงพยากรณ์ เราว่า ในพันแปดร้อยกัป

....ฯลฯ ....



 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์