พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๕
ความสงสัยในอนาคต ๑๕ ประการ
[๔๔] คำว่า เราทั้งหลายเคลื่อนจากภพนี้แล้วจักเป็นอะไรหนอ มีความว่า สัตว์เหล่านั้น แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปสู่ความเคลือบแคลง เกิดไม่แน่ใจ ย่อมพูดถึง เพ้อถึง โศกถึง ลำบากใจ รำพัน ตบอก คร่ำครวญถึง ถึงความหลงใหล อยู่ว่า เราทั้งหลายเคลื่อนจาก ภพนี้แล้ว จักเป็นอะไรหนอ คือ
๑) จักเป็นสัตว์เกิดในนรก
๒) จักเป็นสัตว์เกิดในดิรัจฉานกำเนิด
๓) จักเป็นสัตว์เกิดในเปรตวิสัย
๔) จักเป็นมนุษย์
๕) จักเป็นเทวดา
๖) จักเป็นสัตว์มีรูป
๗) จักเป็นสัตว์ไม่มีรูป
๘) จักเป็นสัตว์มีสัญญา
๙) จักเป็นสัตว์ไม่มีสัญญา หรือ
๑๐) จักเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
๑๑) เราทั้งหลายจักมีในอนาคตหรือหนอ หรือ
๑๒) จักไม่มีในอนาคต
๑๓) เราทั้งหลายจักเป็นอะไรหนอแลในอนาคต
๑๔) เราทั้งหลายจักเป็นอย่างไรหนอแลในอนาคต
๑๕) เราทั้งหลายเป็นอะไรแล้วจึงจักเป็นอะไรอีกในอนาคตกาล ดังนี้
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า (สัตว์เหล่านั้น ย่อมรำพันว่า) เราทั้งหลายเคลื่อน จากภพนี้แล้ว จักเป็นอะไรหนอ.
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัตว์เหล่านั้น ปรารถนา ขวนขวาย หลงใหลอยู่ในกามทั้งหลายเป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมอันไม่เสมอ ถึงทุกข์เข้าแล้ว ย่อมรำพันอยู่ว่าเราทั้งหลายเคลื่อนจากภพนี้แล้ว จักเป็นอะไรหนอ.
[๔๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเพราะฉะนั้นแล สัตว์ผู้เกิดมาพึงศึกษาใน ศาสนานี้แหละ พึงรู้กรรมอันไม่เสมออย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่าเป็นกรรมอันไม่เสมอ ไม่พึงประพฤติกรรมอันไม่เสมอ เพราะเหตุแห่งกรรมอันไม่เสมอนั้น นักปราชญ์ทั้งหลาย ได้กล่าวชีวิตนี้ว่าเป็นของน้อย. |