พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖
ว่าด้วยสิกขา ๓
[๔๖] คำว่า เพราะฉะนั้นแล สัตว์ผู้เกิดมาพึงศึกษาในศาสนานี้แหละ มีความว่า คำว่า
เพราะฉะนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น คือ เพราะเห็น
โทษนั้นในกามทั้งหลาย.
คำว่าพึงศึกษา มีความว่า พึงศึกษาสิกขาทั้ง ๓ คือ
อธิศีลสิกขา ๑
อธิจิตตสิกขา ๑
อธิปัญญาสิกขา ๑.
อธิศีลสิกขา เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วด้วยการ สำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ศีลขันธ์น้อย ศีลขันธ์ใหญ่ ศีล ที่ตั้ง เบื้องต้น เบื้องบาท ความสำรวม ความระวัง ปาก ประธาน แห่งความถึงพร้อมด้วยกุศลธรรม ทั้งหลาย นี้เรียกว่าอธิศีลสิกขา.
อธิจิตตสิกขา เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม ทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่.
เพราะวิตกและวิจารสงบไป จึงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่.
เพราะปีติสิ้นไป จึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ ตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่ เป็นสุข.
เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ จึงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่าอธิจิตตสิกขา.
อธิปัญญาสิกขา เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วย ปัญญา อันให้ถึงความเกิดและความดับ อันประเสริฐ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์ โดยชอบ ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิด อาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะนี้เรียกว่าอธิปัญญาสิกขา.
สัตว์ผู้เกิดมา เมื่อนึกถึงสิกขาทั้ง ๓ นี้ เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อพิจารณา เมื่ออธิษฐานจิต เมื่อน้อมใจไปด้วยความเชื่อ เมื่อประคองความเพียร เมื่อตั้งสติ เมื่อตั้งจิต เมื่อรู้ชัด ด้วยปัญญา เมื่อรู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ซึ่งธรรม ที่ควรกำหนดรู้ เมื่อละธรรม ที่ควรละเมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรม ที่ควรทำให้แจ้ง พึงศึกษา พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทาน ประพฤติ.
คำว่า ในศาสนานี้ คือ ในความเห็นนี้ ในความควรนี้ ในความชอบใจนี้ ในความ ยึดถือนี้ ในธรรมนี้ ในวินัยนี้ ในธรรมวินัยนี้ ในปาพจน์นี้ในพรหมจรรย์นี้ ในสัตถุศาสน์ นี้ ในอัตภาพนี้ ในมนุษย์โลกนี้.
คำว่า สัตว์ผู้เกิดมา คือ สัตว์นระ ฯลฯ มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะฉะนั้น แล สัตว์ผู้เกิดมาพึงศึกษาในศาสนานี้แหละ.
[๔๗] คำว่า พึงรู้กรรมอันไม่เสมออย่างใดอย่างหนึ่ง ในโลกว่าเป็นกรรม อันไม่เสมอ มีความว่า คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ทั้งปวงโดยอาการทั้งปวง ทั้งปวง โดยประการทั้งปวง
ไม่เหลือ ไม่มีเหลือ คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ เป็นเครื่องกล่าว กรรมทั้งสิ้น.
คำว่า พึงรู้ว่าเป็นกรรมอันไม่เสมอ มีความว่า สัตว์ผู้เกิดมา พึงรู้ พึงรู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจาผรุสาวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ สังขารทั้งหลาย กามคุณ ๕ นิวรณ์ ๕เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ อันไม่เสมอ ว่าเป็นกรรมอันไม่เสมอ.
คำว่า ในโลก คือในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงรู้กรรมอันไม่เสมออย่างใดอย่างหนึ่งในโลก ว่าเป็นกรรมอันไม่เสมอ.
[๔๘] คำว่า ไม่พึงประพฤติกรรมอันไม่เสมอ เพราะเหตุแห่งกรรม อันไม่ เสมอนั้น มีความว่า สัตว์ผู้เกิดมา ไม่พึงประพฤติ ไม่พึงเอื้อเฟื้อประพฤติ ไม่พึง เอื้อเฟื้อ ประพฤติโดยชอบไม่พึงสมาทานประพฤติ ซึ่งกรรมอันไม่เสมอ เพราะเหตุ แห่ง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสาวาจา สัมผัปปลาปะอภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ สังขารทั้งหลาย กามคุณ ๕ นิวรณ์ ๕ เจตนา ความปรารถนาความตั้งใจอันไม่เสมอ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงประพฤติกรรมอันไม่เสมอ เพราะเหตุ
แห่งกรรมอันไม่เสมอนั้น
|