พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑
ว่าด้วยกายเปรียบด้วยฟองไข่
(พระสารีบุตร แสดงธรรมแก่นกุลปิตคฤหบดี)
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬาวัน (ป่าเป็นที่นางยักษ์ ชื่อเภสกฬาอยู่อาศัย) อันเป็นสถานที่ให้อภัยแก่หมู่มฤค ใกล้เมือง สุงสุมารคิระใน ภัคคชนบท ฯลฯ
ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อนกุลบิดาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้วโดยลำดับ มีกายกระสับ กระส่าย เจ็บป่วยเนืองๆ พระพุทธเจ้าข้า ก็ข้าพระองค์มิได้เห็นพระผู้มีพระภาค และ ภิกษุทั้งหลาย ผู้ให้เจริญใจอยู่เป็นนิตย์ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดสั่งสอนข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดพร่ำสอนข้าพระองค์ ด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นั่นถูกแล้วๆ คฤหบดี อันที่จริง กายนี้กระสับกระส่าย เป็นดังว่า ฟองไข่ อันผิวหนังหุ้มไว้ ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลผู้บริหารกายนี้อยู่ พึงรับรอง ความเป็นผู้ไม่มีโรค ได้แม้เพียงครู่เดียว จะมีอะไรเล่านอกจากความเป็นคนเขลา
ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเรามีกาย กระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่กระสับกระส่าย ดูกรคฤหบดี ท่านพึงศึกษา อย่างนี้แล.
[๒] ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อนกุลบิดา ชื่นชมยินดีพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปหาท่าน พระสารีบุตร อภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกะ นกุลปิตคฤหบดีว่า คฤหบดี อินทรีย์ของท่าน ผ่องใสนัก สีหน้าของท่านบริสุทธิ์ เปล่งปลั่ง วันนี้ ท่านได้ฟังธรรมีกถา ในที่เฉพาะ พระพักตร์ พระผู้มีพระภาคหรือ? นกุลปิตคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไฉนจะ ไม่เป็น อย่างนี้เล่า พระผู้มีพระภาค ทรงหลั่งอมฤตธรรมรดข้าพเจ้าด้วยธรรมีกถา.
ส. ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคทรงหลั่งอมฤตธรรม รดท่านด้วยธรรมีกถา อย่างไรเล่า?
น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ (ข้าพเจ้าจะเล่าถวาย) ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาล ผ่านวัยแล้วโดยลำดับ มีกายกระสับ กระส่ายเจ็บป่วยเนืองๆ พระพุทธเจ้าข้า ก็ข้าพระองค์มิได้เห็นพระผู้มีพระภาค และภิกษุทั้งหลาย ผู้ให้เจริญใจอยู่เป็นนิตย์ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดสั่งสอนข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคโปรด พร่ำสอน ข้าพระองค์ด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ ตลอดกาลนานเถิด.
เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นั่น ถูกแล้วๆ คฤหบดี อันที่จริง กายนี้กระสับกระส่าย เป็นดังว่าฟองไข่อันผิวหนังหุ้มไว้
ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลผู้บริหารกายนี้อยู่พึงรับรอง ความเป็นผู้ไม่มีโรค ได้แม้ เพียงครู่เดียว จะมีอะไรเล่า นอกจากความเป็นคนเขลา ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุนั้น แหละ ท่านพึงศึกษา อย่างนี้ว่า เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่ กระสับกระส่าย ดูกรคฤหบดี ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงหลั่งอมฤตธรรม รดข้าพเจ้าด้วยธรรมีกถา อย่างนี้แล.
[๓] ส. ดูกรคฤหบดี ก็ท่านมิได้ทูลสอบถามพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า พระพุทธเจ้าข้า ด้วยเหตุเท่าไรหนอ? บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย และเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย และก็ด้วยเหตุเท่าไรหนอ? บุคคลแม้เป็นผู้มีกาย กระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับ กระส่ายไม่.
น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาแม้แต่ที่ไกล เพื่อจะทราบเนื้อความแห่ง ภาษิตนั้น ในสำนักท่าน พระสารีบุตร ดีละหนอ ขอเนื้อความแห่งภาษิตนั้นจงแจ่มแจ้ง กะท่านพระสารีบุตรเถิด.
ส. ดูกรคฤหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.
นกุลปิต คฤหบดี รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว. ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า
สักกายทิฏฐิ ๒๐
[๔] ดูกรคฤหบดี ก็อย่างไรเล่า? บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายด้วย จึงชื่อว่า เป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายด้วย. ดูกรคฤหบดี คือ ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ มิได้เห็นพระอริยะ ทั้งหลาย ไม่ฉลาด ในธรรมของพระอริยะ มิได้รับแนะนำในอริยธรรม มิได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาด ในธรรมของสัตบุรุษ มิได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม
ย่อมเห็นรูป โดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมเห็นรูปในตน ๑
ย่อมเห็นตนในรูป ๑
เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา.
เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูป ของเรา รูปนั้นย่อมแปรปรวน เป็นอย่างอื่นไป เพราะรูปแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาสจึงเกิดขึ้น.
ย่อมเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีเวทนา ๑
ย่อมเห็นเวทนาในตน ๑
ย่อมเห็นตนในเวทนา ๑
เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่าเราเป็นเวทนา เวทนาของเรา.
เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นเวทนา เวทนาของเราเวทนานั้น ย่อมแปรปรวน เป็นอย่างอื่นไป เพราะเวทนาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส จึงเกิดขึ้น.
ย่อมเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีสัญญา ๑
ย่อมเห็นสัญญาในตน ๑
ย่อมเห็นตนในสัญญา ๑
เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า
เราเป็นสัญญา สัญญาของเรา.
เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสัญญา สัญญาของเรา สัญญานั้น ย่อมแปรปรวน เป็นอย่างอื่นไป เพราะสัญญาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส จึงเกิดขึ้น.
ย่อมเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีสังขาร ๑
ย่อมเห็นสังขารในตน ๑
ย่อมเห็นตนในสังขาร ๑
เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขาร สังขารของเรา.
เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขาร สังขารของเรา สังขารนั้น ย่อมแปรปรวน เป็นอย่างอื่นไป เพราะสังขารแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส จึงเกิดขึ้น.
ย่อมเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑
ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑
ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑
เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่าเราเป็นวิญญาณ วิญญาณของเรา
เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นวิญญาณ วิญญาณของเรา วิญญาณนั้น ย่อม แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่น ไปโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้น.
ดูกรคฤหบดี ด้วยเหตุอย่างนี้แล บุคคลจึงชื่อว่า เป็นผู้มีกาย กระสับ กระส่าย และเป็นผู้มีจิต กระสับกระส่าย.
---------------------------------------------------------------------
ในทางตรงกันข้ามกัน(ปฏิปักษ์)
[๕] ดูกรคฤหบดี ก็อย่างไรเล่า? บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่หา เป็นผู้มีจิต กระสับกระส่ายไม่. ดูกรคฤหบดี คือ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ในธรรมวินัยนี้ ผู้เห็นพระอริยะ ทั้งหลาย ผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ผู้ได้รับแนะนำดีแล้ว ในอริยธรรม ผู้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ผู้ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ผู้ได้รับแนะนำดีแล้ว ในสัปปุริสธรรม
ย่อมไม่เห็นรูป โดยความเป็นตน ๑
ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ๑
ย่อมไม่เห็นรูปในตน ๑
ย่อมไม่เห็นตนในรูป ๑
ไม่เป็นผู้ ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา.
เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่าเราเป็นรูป รูปของเรา รูปนั้นย่อม แปรปรวน เป็นอย่างอื่นไป เพราะรูปแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไปโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส จึงไม่เกิดขึ้น.
ย่อมไม่เห็นเวทนา โดยความเป็นตน ๑
ย่อมไม่เห็นตนมีเวทนา ๑
ย่อมไม่เห็นเวทนาในตน ๑
ย่อมไม่เห็นตนในเวทนา ๑
ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นเวทนา เวทนาของเรา.
เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นเวทนา เวทนาของเรา เวทนานั้น ย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะเวทนาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส จึงไม่เกิดขึ้น.
ย่อมไม่เห็นสัญญา โดยความเป็นตน ๑
ย่อมไม่เห็นตนมีสัญญา ๑
ย่อมไม่เห็นสัญญาในตน ๑
ย่อมไม่เห็นตนในสัญญา ๑
ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่าเราเป็นสัญญา สัญญาของเรา.
เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสัญญา สัญญาของเรา. สัญญานั้น ย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะสัญญาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส จึงไม่เกิดขึ้น.
ย่อมไม่เห็นสังขาร โดยความเป็นตน ๑
ย่อมไม่เห็นตนมีสังขาร ๑
ย่อมไม่เห็นสังขารในตน ๑
ย่อมไม่เห็นตนในสังขาร ๑
ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขารสังขารของเรา.
เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขาร สังขารของเรา สังขารนั้น ย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะสังขารแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส และ อุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น.
ย่อมไม่เห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ๑
ย่อมไม่เห็นตนมีวิญญาณ ๑
ย่อมไม่เห็นวิญญาณในตน ๑
ย่อมไม่เห็นตนในวิญญาณ ๑
ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นวิญญาณ วิญญาณของเรา. เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า
เราเป็นวิญญาณ วิญญาณของเรา วิญญาณนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น.
ดูกรคฤหบดี อย่างนี้แล บุคคลแม้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิต กระสับ กระส่ายไม่.ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำเช่นนี้แล้ว นกุลปิตคฤหบดี ชื่นชม ยินดี ภาษิตของท่านพระสารีบุตร ฉะนี้แล. |