เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

รวมพระสูตร"แสดงธรรมโดยย่อ" ทุกพระสูตร 1556
  (ย่อ)

รวมทุกพระสูตร"การแสดงธรรมโดยย่อ"
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ ได้ฟังแล้วพึงเป็นผู้ๆเดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท..


เรียงตามเล่ม หน้า ข้อ จากพระไตรปิฎก (ฉบับหลวง)

1) พาหิยสูตร (สูตร ๒) ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๖๓ (ตรัสกับ ท่านพระพาหิยะ)
     ข้อธรรม ขันธ์๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ควรเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา..
     ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ..ไม่เที่ยง
     รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส.. ไม่เที่ยง
     วิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.. ไม่เที่ยง
     ผัสสะทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ..ไม่เที่ยง
     สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุข .. ไม่เที่ยง
     สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ มีความแปนปรวน
     ไม่ควรเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
     อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จึงหลุดพ้น
-------------------------------------------------------------------------------------

2) สังคัยหสูตรที่ ๒ ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๗๒ (ตรัสกับ ท่านพระมาลุกยบุตร)
    ข้อธรรม รูป เสียง กลิ่นรส สัมผัส ธรรมารมณ์ ทั้งอนาคตอดีตปัจจุบัน ย่อมไม่มี
     เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
     รูป ที่พึงรู้แจ้งด้วย จักษุเหล่าใด เธอไม่เห็นแล้ว
     ทั้งไม่เคยเห็นแล้ว ย่อมไม่เห็นในบัดนี้ด้วย
     ความกำหนด ว่าเราเห็น มิได้มีแก่เธอด้วย
     เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือ มีความรักในรูป เหล่านั้นหรือ 
     (เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ก็ตรัสถามทำนองเกียงกัน)

-------------------------------------------------------------------------------------

3) ภิกขุสูตร (การเจริญสติปัฏฐาน๔) ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๖๓ (ตรัสกับภิกษุรูปหนึ่ง)
   ข้อธรรม เธอจงรักษากุศลธรรม ให้บริสุทธิ์ก่อน คือ ศีลที่บริสุทธิ์
   เมื่อศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔
   จงพิจารณาเห็นกายในกายภายใน ทั้งภายในภายนอกอยู่ 
   จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในอยู่ ...
   จงพิจารณาเห็นจิตในจิต …
   จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรม…
-------------------------------------------------------------------------------------

4)
พาหิยสูตร (เจริญสติปัฏฐาน๔)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๘๑ (ตรัสกับพระพาหิยะ)
   ข้อธรรม เธอจงรักษากุศลธรรม ให้บริสุทธิ์ก่อน คือ ศีลที่บริสุทธิ์
   เมื่อศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔
   จงพิจารณาเห็นกายในกายภายใน ทั้งภายในภายนอกอยู่ 
   จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในอยู่ ...
   จงพิจารณาเห็นจิตในจิต …
   จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรม…
-------------------------------------------------------------------------------------

5) อุตติยสูตร (อาศัยศีลเจริญสติปัฏฐาน ๔) ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๘๒ (พระอุตติยะ)
   ข้อธรรม เธอจงรักษากุศลธรรม ให้บริสุทธิ์ก่อน คือ ศีลที่บริสุทธิ์
   เมื่อศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔
   จงพิจารณาเห็นกายในกายภายใน ทั้งภายในภายนอกอยู่ 
   จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในอยู่ ...
   จงพิจารณาเห็นจิตในจิต …
   จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรม…
-------------------------------------------------------------------------------------

6) ปาฏิโมกขสูตร (ว่าด้วยปาฏิโมกขสังวร)ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๒๐๕ (ภิกษุรูปหนึ่ง)
   ข้อธรรม เธอจงรักษากุศลธรรม ให้บริสุทธิ์ก่อน คือ ศีลที่บริสุทธิ์
   เมื่อศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔
   จงพิจารณาเห็นกายในกายภายใน ทั้งภายในภายนอกอยู่ 
   จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในอยู่ ...
   จงพิจารณาเห็นจิตในจิต …
   จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรม…
-------------------------------------------------------------------------------------

7) ทุจริตสูตร (ว่าทุจริต-สุจริต) ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๒๐๖ (ตรัสกับ ภิกษุรูปหนึ่ง)
   ข้อธรรม เธอจงรักษากุศลธรรม ให้บริสุทธิ์ก่อน คือ ศีลที่บริสุทธิ์
   เมื่อศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔
   จงพิจารณาเห็นกายในกายภายใน ทั้งภายในภายนอกอยู่ 
   จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในอยู่ ...
   จงพิจารณาเห็นจิตในจิต …
   จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรม…
-------------------------------------------------------------------------------------

8)  อภิญญาวรรคที่ ๖ ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๒๓๔ (ตรัสพระมาลุงกยบุตร)
   ข้อธรรม เหตุเกิดตัณหา ซึ่งเป็นที่ที่ตัณหาเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้นแก่ ภิกษุ
   ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน  ตัณหาเมื่อเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดขึ้น 
   ๑) เพราะจีวรเป็นเหตุ 
   ๒) เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ 
   ๓) เพราะเสนาสนะเป็นเหตุ 
   ๔) เพราะความเป็นและความ ไม่เป็น อย่างนั้น อย่างนี้เป็นเหตุ
-------------------------------------------------------------------------------------

9)  วินัยวรรคที่ ๓ ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๑๑๒ (ตรัสกับพระอุบาลี)
   ข้อธรรม ธรรมเหล่าใดไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด
   เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้เพื่อนิพพาน
   เธอพึงรู้ว่านี้ไม่ใช่ธรรม นี้ไม่ใช่วินัย นี้ไม่เป็นคำสั่งสอนของศาสดา
   ธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์ ๗ ประการนี้ เพื่อสงบระงับอธิกรณ์ที่เกิดแล้ว
   ๑) สงฆ์พึงให้สัมมุขาวินัย (สำหรับระงับต่อหน้า)
   ๒) พึงให้สติวินัย (สำหรับพระอรหันต์ผู้มีสติไพบูลย์)
   ๓) พึงให้อมูฬหวินัย (สำหรับภิกษุบ้า)
   ๔) ปฏิญญาตกรณะ (ให้ทำการปรับโทษตามคำปฏิญาณ)
   ๕) เยภุยยสิกา (ปรับโทษถือข้างมากเป็นประมาณ)
   ๖) ตัสสปาปิยสิกา (ปรับโทษสมกับความผิดแก่ภิกษุจำเลยนั้น)
   ๗) ติณวัตถารกะ (ตัดสินทำนองกลบหญ้า คือ ทำการประนีประนอม)
-------------------------------------------------------------------------------------

10) สังขิตตสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๒๑ (ตรัสกับนางมหาปชาบดี)
   ข้อธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา
   ๑) เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
   ๒) เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้
   ๓) เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส
   ๔) เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก
   ๕) เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ
   ๖) เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
   ๗) เป็นไปเพื่อ ปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
   ๘) เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก

-------------------------------------------------------------------------------------


11) สังขิตตสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๓๘ (ตรัสกับ ภิกษุรูปหนึ่ง)
   ข้อธรรม เมื่อใดจิตของเธอเป็นจิตตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในภายใน
   และ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล ที่เกิดขึ้นแล้วไม่ครอบงำจิตได้
   เมื่อนั้น เธอพึงศึกษา อย่างนี้ว่า เราจักเจริญ กระทำให้มาก
   ซึ่งเมตตาเจโตวิมุติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง
   สั่งสม ปรารภดีแล้ว ดูกรภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

-------------------------------------------------------------------------------------


12) พาหิยสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๗ (ตรัสกับพาหิยทารุจีริยะ)
   ข้อธรรม ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น
   เมื่อฟังจักเป็นสักว่า ฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ
   เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี
   ในกาลใดท่านไม่มี ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มีในโลกนี้
   ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มี ในระหว่างโลกทั้งสอง
   นี้แล เป็นที่สุดแห่งทุกข์
(ต่อมาพาหิยทารุจีระ ถูกวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตาย)



เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
  รวมพระสูตรที่พระศาสดาแสดงธรรมเทศนาโดยย่อ
  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง พระสูตร ตรัสกับ
1 เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๓ พาหิยสูตร (สูตร ๒) พระพาหิยะ
2 เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๒ สังคัยหสูตรที่ ๒ พระมาลุกยบุตร
3 ล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๓ ภิกขุสูตร
ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔
ภิกษุรูปหนึ่ง
4 เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๑ พาหิยสูตร
ศีลเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม
พระพาหิยะ
5 เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๒ อุตติยสูตร
อาศัยศีลเจริญสติปัฏฐาน ๔
พระอุตติยะ
6 เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๕ ปาฏิโมกขสูตร
ว่าด้วยปาฏิโมกขสังวร
ภิกษุรูปหนึ่ง
7 เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๖ ทุจริตสูตร
ว่าทุจริต-สุจริต
ภิกษุรูปหนึ่ง
8 เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๔ (อภิญญาวรรคที่ ๖) พระมาลุงกยบุตร
9 เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๒ (วินัยวรรคที่ ๓) พระอุบาลี
10 เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๑ สังขิตตสูตร พระนางมหาปชาบดี
11 เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๘ สังขิตตสูตร ภิกษุรูปหนึ่ง
12 เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๗ พาหิยสูตร พาหิยทารุจีริยะ
  หมายเหตุ : พระพาหิยะ กับ พาหิยทารุจีริยะ เป็นคนละคนกัน  

 

1)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๖๓

(สูตร ๒)
พาหิยสูตร
(ตรัสกับ ท่านพระพาหิยะ)

             [๑๑๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระพาหิยะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่  ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ  ประทาน พระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยย่อ  ที่ข้าพระองค์ ได้ฟังแล้วพึงเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรพาหิยะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยง หรือไม่เที่ยง
ท่านพระพาหิยะ กราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะ ตาม เห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง
พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง
พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ใจเที่ยงหรือไม่เที่ยง
พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ธรรมารมณ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง
พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุข เวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง
พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาควร หรือหนอที่จะ ตาม เห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ดูกรพาหิยะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ทั้งใน จักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ

ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้งใน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส เป็นปัจจัย

เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้น แล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

        [๑๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระพาหิยะ ชื่นชมยินดีพระภาษิต ของพระผู้มี พระภาค ลุกจาก อาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล ท่าน พระพาหิยะเป็นผู้ๆเดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจ เด็ดเดี่ยว กระทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตร ทั้งหลาย ออกบวชเป็น บรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควร  ทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มีได้มี ก็แหละท่านพระพาหิยะได้ เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวน พระอรหันต์ทั้งหลาย



2)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๒

สังคัยหสูตรที่ ๒
(ตรัสกับมาลุกยบุตร)


        [๑๓๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตร มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรด แสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์สดับแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจาก หมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาลุกยบุตร ในการที่เธอขอโอวาทนี้ในบัดนี้ เราจักบอกกะพวกทหรภิกษุทำไม ก็ท่านใดแก่แล้ว เป็นผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ย่อมขอโอวาทโดยย่อ เราจักบอกแก่เธอนั้น

             [๑๓๒] มา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์แก่แล้ว เป็นผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้วก็จริง ถึงกระนั้นขอพระผู้มีพระภาค ผู้สุคตโปรดแสดงธรรมโดยย่อ แก่ข้าพระองค์เถิด ไฉนข้าพระองค์พึงรู้ถึงพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค พึงเป็นผู้ได้รับพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

        พ. ดูกรมาลุกยบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปที่พึงรู้แจ้งด้วย จักษุเหล่าใดเธอไม่เห็นแล้ว ทั้งไม่เคยเห็นแล้ว ย่อมไม่เห็นในบัดนี้ด้วย ความกำหนด ว่าเราเห็น มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือ มีความรักในรูป เหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า

        พ. เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหูเหล่าใด เธอไม่ได้ฟังแล้ว ทั้งไม่เคยได้ฟังแล้ว ย่อม ไม่ได้ฟังในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราได้ฟัง มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมี ความพอใจ มีความกำหนัดหรือมีความรักในเสียงเหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า

        พ. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูกเหล่าใด เธอไม่ได้ดมแล้ว ทั้งไม่เคยได้ดม แล้ว ย่อมไม่ได้ดมในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราได้ดม มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมีความพอใจ มีความกำหนัดหรือมีความรักในกลิ่นเหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า

        พ. รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้นเหล่าใด เธอไม่ได้ลิ้มแล้ว ทั้งไม่เคยได้ลิ้มแล้ว ย่อม ไม่ได้ลิ้มในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราได้ลิ้ม มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมีความพอใจ มีความกำหนัดหรือความรักในรสเหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า

        พ. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้ง ด้วยกายเหล่าใด เธอไม่ได้ถูกต้องแล้ว ทั้งไม่ได้ เคยถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ได้ถูกต้องในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เราถูกต้องมิได้มีแก่เธอ ด้วย เธอมีความพอใจ มีความกำหนัด หรือมีความรักในโผฏฐัพพะเหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า

        พ. ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ด้วยใจเหล่าใด เธอไม่ได้รู้แล้ว ทั้งไม่ได้เคย รู้ แล้ว ย่อมไม่รู้ในบัดนี้ด้วย ความกำหนดว่า เรารู้ มิได้มีแก่เธอด้วย เธอมีความพอใจ มีความ กำหนัด หรือมีความรักในธรรมารมณ์เหล่านั้นหรือ
มา. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า

-----------------------------------------------------------------------

              [๑๓๓] พ. ดูกรมาลุกยบุตร ก็ในธรรมเหล่านั้น คือ รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง ในรูปที่ได้เห็นแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่า เห็น ในเสียงที่ได้ฟังแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าได้ฟัง ในอารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ได้ทราบ ในธรรมที่ได้รู้แจ้ง เธอจักเป็นเพียงแต่ได้รู้แจ้ง

        ดูกรมาลุกยบุตร ในธรรมทั้งหลาย คือ รูปที่ได้เห็นเสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ ทราบ และธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง ในรูปที่ได้เห็นแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าเห็น ในเสียง ที่ได้ฟังแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าได้ฟัง ในอารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว เธอจักเป็นเพียงแต่ ได้ทราบ ในธรรมที่ได้รู้แจ้งแล้ว เธอจักเป็น เพียงแต่ได้รู้แจ้งแล้ว

        ในกาลใด ในกาลนั้นเธอจักเป็นผู้ไม่ถูกราคะย้อม ไม่ถูกโทสะประทุษร้าย ไม่หลง เพราะโมหะ เธอจักเป็นผู้ไม่ถูกราคะย้อม ไม่ถูกโทสะประทุษร้าย ไม่หลงเพราะ โมหะ ในกาลใด ในกาลนั้น เธอจักไม่พัวพันในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ในอารมณ์ ที่ได้ทราบ หรือในธรรมารมณ์ที่ได้ รู้แจ้ง

        ดูกรมาลุกยบุตร
ในโลกนี้ก็ไม่มี ในโลกอื่น ก็ไม่มี ในระหว่างโลกทั้งสอง ก็ไม่มี นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์
มา. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ ย่อมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรม ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดารว่า
----------------------------------------------------------------------------

        [๑๓๔] สติหลงไปแล้วเพราะเห็นรูป บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรูปเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจในอารมณ์นั้นตั้งอยู่มีเวทนา อันมีรูป เป็นแดนเกิด เป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌา และวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสม ทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่าห่างไกลนิพพาน

             สติหลงไปแล้ว เพราะได้ฟังเสียง บุคคลเมื่อใส่ใจถึงเสียงเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความ ติดใจในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมี เสียง เป็นแดนเกิด เป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิต อันอภิชฌา และวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อ สั่งสมทุกข์อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกล นิพพาน

             สติหลงไปแล้วเพราะได้ดมกลิ่น บุคคลเมื่อใส่ใจถึงกลิ่นเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความ ติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีกลิ่นเป็น แดนเกิดเป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอัน อภิชฌา และวิหิงสาเข้าไปกระทบเมื่อสั่งสม ทุกข์ อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกล นิพพาน

สติหลงไปแล้วเพราะลิ้มรส
บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรสเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความ ติดใจในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมีรสเป็นแดนเกิด เป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอัน อภิชฌา และวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์ อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน

สติหลงไปแล้วเพราะถูกต้องโผฏฐัพพะ บุคคลเมื่อใส่ใจถึงโผฏฐัพพะ เป็น นิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนา อันมีโผฏฐัพพะเป็นแดนเกิด เป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌา และวิหิงสาเข้าไป กระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้บัณฑิตกล่าวว่า ห่างไกลนิพพาน

        สติหลงไปแล้วเพราะรู้ธรรมารมณ์ บุคคลเมื่อใส่ใจถึงธรรมารมณ์เป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมี ความติดใจในอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนาอันมี ธรรมารมณ์ เป็นแดนเกิด เป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌา และวิหิงสาเข้าไป กระทบ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิต กล่าวว่าห่างไกลนิพพาน
----------------------------------------------------------------------------

        [๑๓๕] บุคคลนั้นเห็นรูปแล้ว มีสติไม่กำหนัดในรูปทั้งหลาย มีจิตคลาย กำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่บุคคลนั้น เมื่อเห็นรูป และ เสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไปฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน

        บุคคลนั้นได้ฟังเสียงแล้ว มีสติไม่กำหนัดในเสียงทั้งหลาย มีจิตคลาย กำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อได้ฟัง เสียง และเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิต กล่าวว่าใกล้นิพพาน

        บุคคลนั้นเมื่อดมกลิ่น แล้วมีสติไม่กำหนัดในกลิ่นทั้งหลาย มีจิตคลาย กำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อดมกลิ่น และเสวย เวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าว ว่า ใกล้นิพพาน

บุคคลนั้นลิ้มรสแล้วมีสติ ไม่กำหนัดในรสทั้งหลาย มีจิตคลายกำหนัด เสวย อารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อลิ้มรสและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสม ทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ใกล้นิพพาน

บุคคลนั้นถูกต้องผัสสะแล้ว มีจิตไม่กำหนัดในผัสสะทั้งหลาย มีจิตคลาย กำหนัด เสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อถูกต้อง ผัสสะ และ เสวยเวทนาอยู่ทุกข์สิ้นไป และไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติ เที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิต กล่าวว่า ใกล้นิพพาน

บุคคลนั้นรู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ทั้งหลาย มีจิต คลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อรู้ ธรรมารมณ์ และเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์สิ้นไปและไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้น เป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิต กล่าวว่า ใกล้นิพพาน

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรม ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร ด้วยประการฉะนี้

----------------------------------------------------------------------------

             [๑๓๖] พ. ดูกรมาลุกยบุตร สาธุๆ เธอรู้ทั่งถึงเนื้อความแห่งธรรม ที่เรากล่าว โดยย่อได้โดยพิสดารดีอยู่แล ว่า

             [๑๓๗] สติหลงไปเพราะเห็นรูป บุคคลเมื่อใส่ใจถึงรูปเป็นนิมิตที่รัก ก็มีจิต กำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งมีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ มีเวทนา อันมีรูปเป็นแดนเกิด เป็นอเนกทวีขึ้น และมีจิตอันอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อบุคคลสั่งสมทุกข์ อยู่อย่างนี้ เรากล่าวว่าไกลนิพพาน ฯลฯ (เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ก็เช่นกัน)

             [๑๓๘] บุคคลนั้นรู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ มีจิต คลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่มีความติดใจอารมณ์นั้นตั้งอยู่ บุคคลนั้นเมื่อรู้ ธรรมารมณ์ และเสวยเวทนาอยู่ทุกข์สิ้นไป และไม่สั่งสมทุกข์ ฉันใด บุคคลนั้นเป็นผู้ มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ฯลฯ เรากล่าวว่าใกล้นิพพาน

        ดูกรมาลุกยบุตร เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งธรรม ที่กล่าวแล้วโดยย่อนี้ โดย พิสดาร อย่างนี้แล

             [๑๓๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตร ชื่นชมยินดีพระภาษิต ของพระผู้มี พระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุกยบุตรเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาทมีความเพียร มีจิต เด็ดเดี่ยว ไม่ช้าก็กระทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตร ทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แลท่านพระมาลุกยบุตรได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

จบสูตรที่ ๒



3)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๓

ภิกขุสูตร
ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยส่วน ๓
(ตรัสกับภิกษุรูปหนึ่ง ณ อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี)


        [๖๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

             [๖๘๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มี พระภาค โปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวเถิด

         พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็โมฆบุรุษบางพวกในโลกนี้ ย่อมเชื้อเชิญเราอย่างนี้ เหมือนกัน และเมื่อเรากล่าวธรรมแล้ว ย่อมสำคัญเราว่า เป็นผู้ควรติดตามไปเท่านั้น

        ภิกษุนั้นทูลวิงวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดแสดงธรรม โดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคต โปรดแสดงธรรมโดยย่อ แก่ข้าพระองค์ แม้ไฉน ข้าพระองค์พึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาค แม้ไฉน ข้าพระองค์พึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาค

             [๖๘๗] พ. ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงยังเบื้องต้นในกุศลธรรม ให้บริสุทธิ์ก่อน เบื้องต้นของกุศลธรรมคืออะไร? คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี และความเห็นตรง เมื่อใด ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นของเธอจักตรง เมื่อนั้นเธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้วพึง เจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยส่วน ๓ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน?

             [๖๘๘] ดูกรภิกษุ
๑) เธอจงพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ มีความเพียร(๑) มีสัมปชัญญะมีสติ(๒)พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย(๓)

๒) จงพิจารณาเห็นกายในกายภายนอกอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

๓) จงพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย

๔) จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในอยู่ ...
จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกอยู่ ...
จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในภายนอกอยู่ ...
จงพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ ...
จงพิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกอยู่ ...
จงพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในภายนอกอยู่ ...
จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสีย

๕) จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌา และโทมนัส ในโลกเสีย

๖) จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในภายนอกอยู่ มี ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

             [๖๘๙] ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จักเจริญสติปัฏฐาน ๔เหล่านี้ โดยส่วน ๓ อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญ ในกุศลธรรมทั้งหลาย อย่างเดียว ตลอดคืน หรือวันอันจักมาถึง ไม่มีความเสื่อมเลย

             [๖๙๐] ครั้งนั้น ภิกษุนั้น ชื่นชม ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจาก อาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เธอเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุด แห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองใน ปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แลภิกษุนั้น ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

จบ สูตรที่ ๓



4)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๑

พาหิยสูตร
ศีลเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม
(ตรัสกับ พระพาหิยะ)

             [๗๔๗] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น ท่านพระพาหิยะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวเถิด

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงชำระเบื้องต้นใน กุศลธรรม ให้บริสุทธิ์เสียก่อน ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม คือศีลที่บริสุทธิ์ดี และความเห็นอันตรง

             [๗๔๘] ดูกรพาหิยะ เมื่อใดแล ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็น ของเธอจักตรง เมื่อนั้น เธอพึงอาศัยศีล ตั้งมั่นในศีล แล้วเจริญสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน?

ดูกรพาหิยะ เธอจงพิจารณา เห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชญาและโทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อใด เธออาศัยศีล ตั้งมั่น อยู่ในศีลแล้ว จักเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อย่างนี้เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญ ในกุศลธรรมทั้งหลายได้ทีเดียว ตลอดราตรีหรือวันที่จักมาถึง ไม่มีความเสื่อมเลย

             [๗๔๙] ครั้งนั้น ท่านพระพาหิยะชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของพระผู้มี พระภาค แล้วลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ท่านพระพาหิยะหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี และท่านพระพาหิยะ เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ ทั้งหลาย

จบ สูตรที่ ๕



5)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๒

อุตติยสูตร
อาศัยศีลเจริญสติปัฏฐาน ๔
(ตรัสกับ พระอุตติยะ)

             [๗๕๐] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น ท่านพระอุตติยะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานพระวโรกาสขอพระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวเถิด

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรอุตติยะ เพราะฉะนั้น เธอจงชำระเบื้องต้น ในกุศลธรรม ให้บริสุทธิ์เสียก่อน ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี และความเห็นอันตรง

             [๗๕๑] ดูกรอุตติยะ เมื่อใดแล ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็น ของ ธอจักตรงเมื่อนั้น เธอพึงอาศัยศีล ตั้งมั่นในศีลแล้ว เจริญสติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน?

ดูกรอุตติยะ เธอจงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย เมื่อใดเธออาศัยศีล ตั้งมั่น ในศีลแล้ว จักเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอจักไปพ้นฝั่งแห่งบ่วงมาร

             [๗๕๒] ครั้งนั้น ท่านพระอุตติยะ ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของพระผู้มี พระภาค แล้วลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ท่านพระอุตติยะหลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี และท่านพระอุตติยะ เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

จบ สูตรที่ ๖



6)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๕

ปาฏิโมกขสูตร
ว่าด้วยปาฏิโมกขสังวร
(ตรัสกับพระภิกษุรูปหนึ่ง)

             [๘๒๗] ครั้งนั้น พระภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออก จากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด

             [๘๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอจง ชำระเบื้องต้นในกุศลธรรม ให้บริสุทธิ์เสียก่อน ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม? เธอจงสำรวมในปาฏิโมกขสังวร จงถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร เห็นภัยในโทษมี ประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

             [๘๒๙] ดูกรภิกษุ เมื่อใดแล เธอจักสำรวมในปาฏิโมกขสังวร จักถึงพร้อม ด้วยมารยาทและโคจร เห็นภัยในโทษมีปรามาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย เมื่อนั้นเธออาศัยศีลดำรงอยู่ในศีลแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน?

        ดูกรภิกษุเธอจงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ... ในเวทนาอยู่ ... ในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และ โทมนัส ในโลกเสีย เมื่อใด เธอจักอาศัยศีลดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญในกุศลธรรมได้ทีเดียว ตลอดคืน หรือ วันที่จักมาถึง ไม่มีความเสื่อม

             [๘๓๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้น ชื่นชม อนุโมทนา พระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค แล้วลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป ภิกษุนั้นเป็นผู้ผู้เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลา ยผู้ออกบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แลภิกษุนั้น เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

จบ สูตรที่ ๖



7)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๖

ทุจริตสูตร
ว่าทุจริต-สุจริต

(ตรัสกับภิกษุรูปหนึ่ง)

             [๘๓๑] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ แล้วกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออก จากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด

             [๘๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอจงชำระ เบื้องต้นในกุศลธรรมให้บริสุทธิ์เสียก่อน ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม? เธอจักละ กายทุจริตเจริญกายสุจริต จักละวจีทุจริตเจริญวจีสุจริต จักละมโนทุจริตเจริญมโนสุจริต

             [๘๓๓] ดูกรภิกษุ เมื่อใดแล เธอจัก ละกายทุจริต เจริญกายสุจริต จักละวจีทุจริตเจริญวจีสุจริต จักละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต เมื่อนั้น เธอพึงอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้วเจริญสติปัฏฐาน ๔

        สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? เธอจงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ... ในเวทนาอยู่ ...ในจิตอยู่ ... จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

        เมื่อใดแล เธอจักอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญ ในกุศลธรรมได้ทีเดียว ตลอดคืนหรือวัน ที่จักมาถึง ไม่มีความเสื่อมเลย ฯลฯ ก็แล ภิกษุรูปนั้น เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย



8)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๔

(ตรัสกับพระมาลุงกยบุตร)

             [๒๕๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุงกยบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรง แสดงธรรม โดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว พึงหลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

        ดูกรมาลุงกยบุตร ทีนี้เราจักกล่าวกะพวกภิกษุหนุ่มอย่างไรเล่า ในเมื่อท่าน เป็น คนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ขอโอวาทของตถาคต โดยย่อ

พระมาลุงกยบุตร กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงแสดงธรรม โดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมโดยย่อ แม้ไฉนข้าพระองค์จะพึงรู้ถึงเนื้อความ แห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาค แม้ไฉน ข้าพระองค์พึงเป็นทายาทแห่งภาษิต ของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

         ดูกรมาลุงกยบุตร เหตุเกิดตัณหา ซึ่งเป็นที่ที่ตัณหาเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้นแก่ ภิกษุ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน

        ดูกรมาลุงกยบุตร ตัณหาเมื่อเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดขึ้น
๑) เพราะจีวรเป็นเหตุ
๒) เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ
๓) เพราะเสนาสนะเป็นเหตุ
๔) เพราะความเป็นและความ ไม่เป็น อย่างนั้น อย่างนี้เป็นเหตุ


ดูกรมาลุงกยบุตร เหตุเกิดตัณหาซึ่งเป็นที่ที่ตัณหา เมื่อเกิดย่อมเกิดแก่ภิกษุ๔ ประการนี้แล เมื่อใดแล ภิกษุละตัณหาได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจ ตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุนี้เราเรียกว่า ตัดตัณหา ได้เด็ดขาด รื้อสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดทุกข์ได้แล้วเพราะละมานะโดยชอบ

        ลำดับนั้นแล ท่านพระมาลุงกยบุตร อันพระผู้มีพระภาคทรงโอวาทด้วย พระโอวาท นี้ แล้วลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป

        ลำดับนั้นแล ท่านพระมาลุงกยบุตร เป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ได้กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วย ปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ต่อกาลไม่นานเลย ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก

        ก็แลท่านพระมาลุงกยบุตร เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ ทั้งหลาย



9)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๒
(ตรัสกับพระอุบาลี)

             [๘๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระอุบาลี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรดแสดง ธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า ธรรมเหล่านี้ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว เธอพึงทรงธรรมเหล่านั้นไว้ โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม นี้ไม่ใช่วินัย นี้ไม่เป็นคำสั่งสอนของศาสดา

        อนึ่ง เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านี้ไว้ โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรมนี้เป็นวินัยนี้เป็น คำสั่งสอน ของศาสดา

             [๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์ ๗ ประการนี้ เพื่อสงบ ระงับอธิกรณ์ที่เกิดแล้วๆ ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน คือ
๑) สงฆ์พึงให้สัมมุขาวินัย (สำหรับระงับต่อหน้า)
๒) พึงให้สติวินัย (สำหรับพระอรหันต์ผู้มีสติไพบูลย์)
๓) พึงให้อมูฬหวินัย (สำหรับภิกษุบ้า)
๔) ปฏิญญาตกรณะ (ให้ทำการปรับโทษตามคำปฏิญาณ)
๕) เยภุยยสิกา (ปรับโทษถือข้างมากเป็นประมาณ)
๖) ตัสสปาปิยสิกา (ปรับโทษสมกับความผิดแก่ภิกษุจำเลยนั้น)
๗) ติณวัตถารกะ (ตัดสินทำนองกลบหญ้า คือ ทำการประนีประนอม)

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสำหรับระงับ อธิกรณ์ ๗ ประการนี้แล เพื่อสงบระงับ อธิกรณ์ที่เกิดแล้วๆ



10)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๑

สังขิตตสูตร

(ตรัสกับนางมหาปชาบดีโคตมี)

             [๑๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมี เสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ธรรมโดยย่อแก่หม่อมฉัน ซึ่งหม่อมฉันได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

         ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้

เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก
เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ
เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด
เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย


ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่ คำสั่งสอนของพระศาสดา

        ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้
เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้
เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก
เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ
เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก


ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่ง สอนของพระศาสดา



11)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓๘

สังขิตตสูตร
(ตรัสกับภิกษุรูปหนึ่ง)

              [๑๖๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรดแสดง ธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว พึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โมฆบุรุษบางพวกในโลกนี้ ย่อมเชื้อเชิญเรา โดยหาเหตุ มิได้ เมื่อเรากล่าวธรรมแล้ว ย่อมสำคัญเราว่าควรติดตาม ด้วยคิดว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรด แสดงธรรมโดยย่อ ไฉนหนอเราพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ไฉนหนอเราพึงเป็นทายาทแห่งภาษิต ของพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้นแหละภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดี ในภายใน และธรรม อันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ ดูกรภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

        ดูกรภิกษุ เมื่อใด จิตของเธอเป็นจิตตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในภายใน และ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล ที่เกิดขึ้นแล้วไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อนั้น เธอพึงศึกษา อย่างนี้ว่า เราจักเจริญ กระทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภดีแล้ว ดูกรภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

        ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญกระทำให้มากซึ่งสมาธินี้อย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น เธอพึง เจริญสมาธินี้ แม้มีวิตกวิจาร พึงเจริญสมาธินี้แม้ไม่มีวิตก มีแต่วิจาร พึงเจริญสมาธินี้ แม้ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร พึงเจริญสมาธินี้แม้มีปีติ พึงเจริญสมาธินี้ แม้ไม่มีปีติ พึงเจริญ สมาธินี้ แม้สหรคตด้วยความสำราญพึงเจริญสมาธินี้ แม้สหรคต ด้วยอุเบกขา

        ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญสมาธินี้อย่างนี้ เจริญดีแล้ว เมื่อนั้น เธอพึง ศึกษา อย่างนี้ว่า เราจักเจริญ กระทำให้มากซึ่งกรุณาเจโตวิมุติ ฯลฯ มุทิตา เจโตวิมุติ ฯลฯ เราจักเจริญกระทำให้มาก ซึ่งอุเบกขาเจโตวิมุติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภดีแล้ว ดูกรภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

        ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญกระทำให้มากซึ่งสมาธินี้อย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น เธอพึง เจริญสมาธินี้ แม้มีวิตก มีวิจาร ...พึงเจริญสมาธินี้ แม้สหรคตด้วย อุเบกขา ดูกรภิกษุ เมื่อใด เธอเจริญสมาธินี้อย่างนี้ เจริญดีแล้ว เมื่อนั้น เธอพึงศึกษา อย่างนี้ว่า เราจัก พิจารณากายในกายอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌา และ โทมนัส ในโลกเสีย ดูกรภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

        ดูกรภิกษุ เมื่อใดแจ้งชัด ทรงกระทำโอภาสแจ้งชัด แม้อย่างนี้ ท่าน พระอานนท์ ก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค พึงทรงดำรงอยู่ตลอดกัลป ขอพระสุคต พึงทรงดำรงอยู่ ตลอดกัลป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและ มนุษย์ ทั้งหลาย เพราะถูกมาร เข้าดลใจ

        ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์เธอ จงไปเถิด บัดนี้เธอย่อมสำคัญกาลที่สมควร ท่านพระอานนท์ ทูลรับพระผู้มี พระภาคแล้ว ลุกจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วไปนั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค

        ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน มารผู้ลามกได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาค จงเสด็จปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตจงเสด็จปรินิพพานเถิด บัดนี้เป็นกาลปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญก็พระผู้มีพระภาคตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------------------

(พระภูมิภาคตรัสกับมารว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบากสก อุบาสิกา ยังไม่ฉลาด ยังไม่แกล้วกล้า ยังไม่บรรลุธรรม ...)

        ดูกรมารผู้ลามก เราจักยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่พวก ภิกษุสาวก ของเรา ยังไม่ฉลาด ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ยังไม่บรรลุธรรม อันเกษมจากโยคะ ยังไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ยังไม่ปฏิบัติชอบ ยังไม่ประพฤติตามธรรม ไม่เรียนอาจาริยวาทของตนแล้วบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนกกระทำให้ง่าย ไม่แสดงธรรมมีปฏิหาริย์ย่ำยีด้วยดี ซึ่งปรัปปวาท ที่เกิดขึ้นแล้วโดยชอบธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

        บัดนี้ ภิกษุสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ฉลาด ได้รับแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะเป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนอาจาริยวาทของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผยจำแนก กระทำให้ง่าย แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ย่ำยีด้วยดี ซึ่งปรัปปวาท ที่เกิดขึ้นแล้วโดยชอบธรรมข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ขอพระผู้มีพระภาค จงเสด็จ ปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตจงเสด็จปรินิพพานเถิด บัดนี้ เป็นกาลปรินิพพาน แห่งพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า

        ดูกรมารผู้ลามก เราจักยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่ ภิกษุณีสาวิกา ของเรา ฯลฯ อุบาสกสาวกของเรา ฯลฯ อุบาสิกาสาวิกาของเรา ยังไม่ฉลาด ยังไม่ได้รับ แนะนำ ยังไม่แกล้วกล้ายังไม่บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ยังไม่เป็นพหูสูต ยังทรงจำ ธรรม ไม่ได้ ยังปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ได้ ยังไม่ปฏิบัติชอบ ยังไม่ประพฤติตาม ธรรม ไม่เรียนอาจาริยวาทของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำ ให้ง่าย ไม่แสดงธรรมมีปฏิหาริย์ย่ำยีด้วยดี ซึ่งปรัปปวาท ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยชอบธรรม

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ อุบาสิกาสาวิกาของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ฉลาด ได้รับแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ เป็นพหูสูตทรงธรรม ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนอาจาริยวาทของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ย่ำยีด้วยดี ซึ่งปรัปปวาทที่เกิดขึ้นแล้ว โดยชอบธรรมข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาค จงเสด็จปรินิพพานเถิด ขอพระสุคต จงเสด็จปรินิพพานเถิด บัดนี้เป็นกาลปรินิพพาน แห่งพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า

        ดูกรมารผู้ลามก เราจักยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่พรหมจรรย์ ของเรานี้ ยังไม่เจริญแพร่หลายกว้างขวาง ชนเป็นอันมาก ยังไม่รู้ทั่วยังไม่แน่นหนา เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ยังไม่ประกาศดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พรหมจรรย์ของ พระผู้มีพระภาค เจริญแพร่หลายกว้างขวาง ชนเป็นอันมากรู้ทั่ว แน่นหนา เทวดาและ มนุษย์ประกาศดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญบัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จ ปรินิพพาน เถิด ขอพระสุคตจงเสด็จปรินิพพานเถิด บัดนี้ เป็นกาลปรินิพพานแห่งพระผู้มีพระภาค
--------------------------------------------------------------------------------------------

(ณ เวลานั้น พระองค์ทรงทราบด้วยจิตแล้วว่าพุทธบริษัท ๔ ฉลาดแล้ว แกล้วกล้าแล้ว พึ่งตนพึ่งธรรมโดยไม่พึ่งตถาคตได้แล้ว จึงปลงสังขาร ว่าอีก 3 เดือน ต่อจาก นี้จะ ปรินิพพาน )

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมารผู้ลามก ท่านจงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ไม่นานนัก ตถาคตจักปรินิพพาน แต่นี้ล่วงไป ๓ เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน ลำดับนั้น แลพระผู้มีพระภาคทรงมีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ เมื่อพระผู้มี พระภาค ทรงปลงอายุสังขารแล้ว แผ่นดินไหวใหญ่ น่าสะพึงกลัว โลมชาติ ชูชัน กลองทิพย์ก็บันลือลั่น

        พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทาน ในเวลานั้น ว่ามุนีได้ปลงเครื่องปรุงแต่งภพ อันเป็นเหตุสมภพ ทั้งที่ชั่งได้ทั้งที่ชั่งไม่ได้ ยินดี ในภายใน มีจิตตั้งมั่น ได้ทำลายกิเลสที่เกิดในตนเหมือนทหารทำลายเกราะ ฉะนั้น

        ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า แผ่นดินนี้ไหวใหญ่หนอ แผ่นดินนี้ไหวใหญ่จริงหนอ น่าสะพึงกลัว โลมชาติชูชัน ทั้งกลองทิพย์ก็ บันลือ ลั่น อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย แห่งความปรากฏแผ่นดินไหวใหญ่ ลำดับนั้นแลท่าน พระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง

        ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินนี้ไหวใหญ่ หนอ แผ่นดินนี้ไหวใหญ่จริงหนอ น่าสะพึงกลัว โลมชาติชูชัน ทั้งกลองทิพย์ ก็บันลือลั่น อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งความปรากฏแผ่นดินไหวใหญ่
-----------------------------------------------------------------------------------------------------

(ตรงตรัสถึงเหตุปัจจัย ๘ อย่าง ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว )

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้แห่งความปรากฏ แผ่นดินไหวใหญ่ ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรอานนท์ แผ่นดินใหญ่ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ สมัยนั้นลมพายุ พัดจัด ลมพายุพัดให้น้ำไหว น้ำไหวแล้วทำให้แผ่นดินไหว ดูกรอานนท์ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยประการที่ ๑ แห่งความปรากฏแผ่นดินไหวใหญ่ (ความไม่สมดุลย์ของธาตุ ดิน น้ำ อากาศ ลม )

        อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ บรรลุความชำนาญทางจิต หรือเทวดาผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เจริญปฐวีสัญญานิดหน่อย เจริญอาโปสัญญา หาประมาณมิได้ย่อมยังแผ่นดินนี้ ให้สะเทื้อนสะท้านหวั่นไหว ดูกรอานนท์ นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยประการที่ ๒ แห่งความปรากฏแผ่นดินไหวใหญ่ (ด้วยฤทธิ์ของผู้มีความชำนาญทางจิต)

        อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระโพธิสัตว์จุติจากชั้นดุสิต มีสติสัมปชัญญะ ลงสู่ พระครรภ์พระมารดา เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ ย่อมสะเทื้อนสะท้านหวั่นไหว ดูกรอานนท์ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยประการที่ ๓ แห่งความปรากฏแผ่นดินไหวใหญ่ (การจุติลงบมาจากชั้นดุสิตของโพธิสัตว์)

        อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระโพธิสัตว์ มีสติสัมปชัญญะ ประสูติจากพระครรภ์ พระมารดา เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทื้อนสะท้านหวั่นไหว ดูกรอานนท์ นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ประการที่ ๔ แห่งความปรากฏแผ่นดินไหวใหญ่ (ในวันประสูติของจากครรภ์มารดา)

        อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคต ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทื้อนสะท้านหวั่นไหว ดูกรอานนท์ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยประการที่ ๕ แห่งความปรากฏแผ่นดินไหวใหญ่ (เมื่อตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ)

        อีกประการหนึ่ง เมื่อใด พระตถาคตทรงประกาศอนุตรธรรมจักร เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ ย่อมสะเทื้อนสะท้านหวั่นไหว ดูกรอานนท์ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยประการที่ ๖ แห่งความปรากฏแผ่นดินไหวใหญ่ (เมื่อประกาศพระธรรมจักร)

        อีกประการหนึ่ง เมื่อใด ตถาคตทรงมีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขาร เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทื้อนสะท้านหวั่นไหว ดูกรอานนท์ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยประการที่ ๗ แห่งความปรากฏแผ่นดินไหวใหญ่ (เมื่อกำหนดปลงสังขาร)

        อีกประการหนึ่ง เมื่อใด ตถาคตปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ ย่อมสะเทื้อนสะท้านหวั่นไหว ดูกรอานนท์ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยประการที่ ๘ แห่งความปรากฏแผ่นดินไหวใหญ่ (เมื่อปรินิพพาน)

       ดูกรอานนท์ เหตุปัจจัย๘ ประการนี้แล แห่งความปรากฏแผ่นดินไหวใหญ่

จบจาลวรรคที่ ๒



12)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๗

(สูตร ๑)
๑๐. พาหิยสูตร
(ตรัสกับ พาหิยทารุจีริยะ ชาวประมง)


        [๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อพาหิยทารุจีริยะ อาศัย อยู่ที่ ท่าสุปปารกะใกล้ฝั่งสมุทร เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือบูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

ครั้งนั้นแล พาหิยทารุจีริยะ หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ ว่า เรา เป็นคนหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ หรือผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลก ลำดับนั้นแล เทวดา ผู้เป็นสายโลหิต ในกาลก่อนของพาหิยทารุจีริยะ เป็นผู้อนุเคราะห์ หวัง ประโยชน์ ได้ทราบความปริวิตกแห่งใจ ของพาหิยทารุจีริยะ ด้วยใจ แล้วเข้าไปหา พาหิยทารุจีริยะ

        ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรพาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นผู้ถึง อรหัตตมรรค อย่างแน่นอน ท่านไม่มีปฏิปทาเครื่องให้เป็นพระอรหันต์ หรือ เครื่องเป็น ผู้ถึง อรหัตตมรรค พาหิยทารุจีริยะถามว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ใครเล่า เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้ถึง อรหัตตมรรคในโลกกับเทวโลก

เทวดาตอบว่า ดูกรพาหิยะ ในชนบททางเหนือ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถี บัดนี้ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ในพระนครนั้น

ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล เป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอน ทั้งทรงแสดงธรรม เพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย

ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะผู้อันเทวดานั้น ให้สลดใจแล้ว หลีกไปจาก ท่าสุปปารกะ ในทันใดนั้นเอง ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้ประทับอยู่ใน พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี โดยการพักแรมสิ้นราตรีหนึ่ง ในที่ทั้งปวง

             [๔๘] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกัน จงกรมอยู่ในที่แจ้ง พาหิยทารุจีริยะ เข้า ไปหาภิกษุทั้งหลายถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ถามภิกษุเหล่านั้นว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าประสงค์ จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า

ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เพื่อบิณฑบาต ลำดับนั้น แลพาหิยทารุจีริยะ รีบด่วนออกจากพระวิหารเชตวัน เข้าไปยังพระนครสาวัตถี ได้เห็น พระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ในพระนครสาวัตถี น่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ถึงความฝึก และความสงบอันสูงสุด มีตน อันฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์สำรวมแล้วผู้ประเสริฐ แล้วได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค หมอบลงแทบพระบาท ของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงแสดงธรรมแก่ ข้าพระองค์  ขอพระสุคต โปรดทรงแสดงธรรม ที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด

             [๔๙] เมื่อพาหิยทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควรก่อน เพราะเรายังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เพื่อบิณฑบาต อยู่ แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิต ของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็นไปแห่งอันตราย แก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรง แสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรม ที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด    

แม้ครั้งที่ ๒... แม้ครั้งที่ ๓ พาหิยทารุจีริยะ ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิต ของพระผู้มีพระภาค ก็ดีความเป็นไป แห่งอันตราย แก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรด ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้ง จักเป็นสักว่ารู้แจ้ง

ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล

        ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่า ฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อม ไม่มี ในกาลใดท่านไม่มี ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มี ในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แล เป็นที่สุดแห่งทุกข์

        ลำดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยะ กุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ ของพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนพาหิยทารุจีริยะกุลบุตร ด้วยพระโอวาท โดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป

             [๕๐] ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน แม่โค ลูกอ่อน ขวิด พาหิยทารุจีริยะ ให้ล้มลงปลงเสียจากชีวิต ครั้นพระผู้มี พระภาค เสด็จ เที่ยวบิณฑบาต ในพระนครสาวัตถี เสด็จกลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต เสด็จออกจากพระนคร พร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตร เห็นพาหิย ทารุจีริยะ ทำกาละแล้ว จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงช่วยกันจับสรีระของพาหิยทารุจีริยะ ยกขึ้นสู่เตียงแล้ว จงนำไปเผาเสีย แล้วจงทำสถูปไว้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะ ประพฤติธรรมอันประเสริฐ เสมอกับท่าน ทั้งหลาย ทำกาละแล้ว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ช่วยกันยกสรีระของ พระพาหิยทารุจีริยะ ขึ้นสู่เตียง แล้วนำไปเผา และทำสถูปไว้แล้ว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้นั่งอยู่ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สรีระของ พาหิย ทารุจีริยะ ข้าพระองค์ทั้งหลายเผาแล้ว และสถูปของพาหิยทารุจีริยะนั้น ข้าพระองค์ ทั้งหลาย ทำไว้แล้วคติของพาหิยทารุจีริยะนั้นเป็นอย่างไร ภพเบื้องหน้าของเขา เป็นอย่างไร

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะ เป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำเราให้ลำบาก เพราะเหตุแห่งการ แสดงธรรม  ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้น ว่า

ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น
ดาวทั้งหลาย ย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง
ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใด พราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ ๔) รู้แล้วด้วยตน เมื่อนั้น พราหมณ์ย่อม หลุดพ้น จากรูป และ อรูป จากสุข และทุกข์

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์