พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๒๗๕
เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน
สังฆสามัคคี ๒ อย่าง
[๒๕๙] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลี เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้ว ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้ แด่พระผู้มี พระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า
ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำ ต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใดสงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาว เข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคีสังฆสามัคคีนั้น เป็นธรรมหรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกัน แห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคีนั้น ไม่เป็นธรรม (ต้องสาวถึงสาเหตุก่อน)
อุ. พระพุทธเจ้าข้า ก็ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท แห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำ ต่างกัน แห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้นสาวเข้าไปถึง มูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้น เป็นธรรมหรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า?
พ. อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกัน แห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้น สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคีสังฆสามัคคีนั้น เป็นธรรม (ต้องวินิจฉัยก่อน ต้องสาวให้ถึงเหตุก่อน)
อ. สังฆสามัคคีมีเท่าไร พระพุทธเจ้า?
พ. อุบาลี สังฆสามัคคีมี ๒ อย่าง คือ สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ ๑ สังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะ ๑
๑. อุบาลี สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะเป็นไฉนเล่า? ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะ เรื่องใด สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคีนี้เรียกว่าสังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ.
๒. อุบาลี สังฆสามัคคี ได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะเป็นไฉนเล่า?
ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมี เพราะ เรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้น สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี นี้เรียกว่าสังฆสามัคคีที่ได้ทั้งอรรถ ได้ทั้งพยัญชนะ อุบาลี สังฆสามัคคี ๒ อย่างนี้แล.
ลำดับนั้น ท่านพระอุบาลีลุกจากอาสน์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือ ไปทาง พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ว่าดังนี้:-
อุบาลีคาถา
[๒๖๐] อุ. เมื่อกิจของสงฆ์ การปรึกษาวินัย การตีความ วินัย และการ วินิจฉัย ความแห่งวินัยเกิดขึ้นแล้ว ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นคนชนิดไรจึงมีอุปการะมาก เป็นคนชนิดไร จึงควรยกย่อง ในพระธรรมวินัยนี้
พ. เบื้องต้น ภิกษุไม่ถูกตำหนิโดยศีล หมั่นตรวจตรามารยาท และสำรวมอินทรีย์ เรียบร้อย ศัตรูติเตียนไม่ได้โดยธรรม เพราะเธอไม่มีความผิด ที่ฝ่ายศัตรูจะพึงกล่าว ถึงเธอผู้เช่นนั้น ตั้งอยู่ในศีลวิสุทธิ เป็นผู้แกล้วกล้า พูดจาฉาดฉาน เข้าที่ประชุม ไม่สะดุ้ง ไม่ประหม่า กล่าวถ้อยคำมีเหตุ ไม่ให้เสียความ ถึงถูกถามปัญหาในที่ประชุม ก็เช่นนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่นิ่งอั้น ไม่เก้อ
เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญ กล่าวถ้อยคำถูกกาล เหมาะแก่การพยากรณ์ ย่อมยังหมู่ วิญญูชน ให้พอใจ มีความเคารพในภิกษุทั้งหลาย ที่แก่พรรษากว่า เป็นผู้แกล้วกล้า ในอาจริยวาท ของตน สามารถเพื่อจะวิจารณ์ ชำนาญในถ้อยคำที่จะพึงกล่าว ฉลาดจับข้อพิรุธ ของฝ่ายศัตรู เป็นเหตุให้ฝ่ายศัตรูถึงความถูกปราบ และมหาชน ก็ยินยอม
อนึ่ง ภิกษุนี้ย่อมไม่ลบล้างลัทธิเป็นที่เชื่อถือ คืออาจริยวาทของตน แก้ปัญหาได้ ไม่ติดขัด สามารถในหน้าที่ทูต และยอมรับทำกิจของสงฆ์ ดุจรับบิณฑบาตของที่เขา นำมา บูชาฉะนั้น ถูกคณะภิกษุส่งไปให้ทำหน้าที่เจรจา ก็ไม่ทะนงตัวว่า ตนทำได้ เพราะการทำหน้าที่เจรจานั้น ภิกษุต้องอาบัติ เพราะวัตถุมีประมาณเท่าใด และ การออกจากอาบัติย่อมมีด้วยวิธีใด วิภังค์ทั้งสองนั้นมาแล้วด้วยดีแก่ภิกษุนั้น
ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาดในวิธีการออกจากอาบัติ อนึ่ง ภิกษุทำกรรม มีก่อความ บาดหมาง เป็นต้นเหล่าใด ย่อมถึงการขับออก และถูกขับออก ด้วยเรื่องเช่นใด เธอฉลาดในวิภังค์ ย่อมเข้าใจวิธีการรับเข้าหมู่ แม้นั้น ที่ควรทำแก่ภิกษุ ผู้ประพฤติวัตรนั้น เสร็จแล้ว มีความเคารพในพระผู้เจริญกว่า คือที่เป็นผู้ใหญ่ ปานกลาง และผู้ใหม่ เป็นบัณฑิต ประพฤติประโยชน์แก่มหาชนในโลกนี้ ภิกษุผู้เช่นนั้นนั่น จึงควรยกย่องในธรรมวินัยนี้แล. |