เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

สัพพาสวสังวรสูตร ว่าด้วยการสังวรในอาสวะทั้งปวง 1524
  (ย่อ)

สัพพาสวสังวรสูตร ว่าด้วยการสังวรในอาสวะทั้งปวง


การดับอาสวะ (กิเลส) มีหลายวิธี
(๑) ที่จะพึงละได้ เพราะการเห็น มีอยู่
(๒) ที่จะพึงละได้ เพราะการสังวร ก็มี
(๓) ที่จะพึงละได้ เพราะเสพเฉพาะ ก็มี
(๔) ที่จะพึงละได้ เพราะความอดกลั้น ก็มี
(๕) ที่จะพึงละได้ เพราะเว้นรอบ ก็มี
(๖) ที่จะพึงละได้ เพราะบรรเทาก็มี
(๗) ที่จะพึงละได้ เพราะอบรม ก็มี
-------------------------------------------------------------------------------------------------------

(๑) ว่าด้วยการละอาสวะได้เพราะการเห็น
ภิกษุเป็นผู้สดับในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัปบุรุษ ฉลาดในธรรม ได้รับการแนะนำของ สัปบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ภิกษุนมัสการธรรมเหล่าใด กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป

(๒) ว่าด้วยอาสวะที่จะพึงละได้เพราะการสังวร
ภิกษุเป็นผู้สำรวมสังวรอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ จักขุอินทรีย์ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ มโน

(๓) ว่าด้วยละอาสวะได้เพราะการพิจารณาเสพเฉพาะ
(ภิกษุเสพจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และบริขาร โดยรู้จักประมาณในความพอดี

(๔) ว่าด้วยละอาสวะได้เพราะการอดกลั้น
เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว การสัมผัสยุงและแมลง อดกลั้นต่อคำชั่ว

(๕) ว่าด้วยละอาสวะได้เพราะการเว้นรอบ
หลีกเลี่ยงสัตว์ร้ายที่จะทำอันตราย ไม่โครจรเข้าไปในที่อโคจร เช่นสถานที่มีสัตว์ดุร้าย มีบ่อ เหว น้ำครำ ตอ พงหนาม หรือสถานที่อันลามก

(๖) ว่าด้วยละอาสวะได้เพราะการบรรเทา
พิจารณาโดยแยบคายในกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมอดกลั้น ทำให้สิ้นไป ทำให้ไม่มี

(๗) ว่าด้วยละอาสวะได้เพราะการอบรม
เจริญโพชฌงค์ทั้ง ๗ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ เพื่อน้อมไป

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑

๒. สัพพาสวสังวรสูตร
ว่าด้วยการสังวรในอาสวะทั้งปวง


          [๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทัยอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปริยาย ว่าด้วยการสังวรอาสวะทั้งปวง แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระผู้มีพระภาคว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

          [๑๑] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว ความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ เราไม่กล่าวความสิ้นอาสวะ ของภิกษุผู้ไม่รู้ อยู่ ไม่เห็นอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นอาสวะจะมีได้แก่ภิกษุผู้รู้อะไร เห็นอยู่อะไร ความสิ้นอาสวะจะมีได้แก่ภิกษุ ผู้รู้เห็นโยนิโสมนสิการ และอโยนิโสมนสิการ

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย
   เมื่อภิกษุมนสิการโดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลาย ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น
   เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะ
(๑) ที่จะพึงละได้ เพราะการเห็น มีอยู่
(๒) ที่จะพึงละได้ เพราะการสังวร ก็มี
(๓) ที่จะพึงละได้ เพราะเสพเฉพาะ ก็มี
(๔) ที่จะพึงละได้ เพราะความอดกลั้น ก็มี
(๕) ที่จะพึงละได้ เพราะเว้นรอบ ก็มี
(๖) ที่จะพึงละได้ เพราะบรรเทาก็มี
(๗) ที่จะพึงละได้ เพราะอบรม ก็มี

(๑) ว่าด้วยการละอาสวะได้เพราะการเห็น
(ภิกษุเป็นผู้สดับในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัปบุรุษ ฉลาดในธรรม ได้รับการแนะนำของ
สัปบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ภิกษุนมัสการธรรมเหล่าใด กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป )

          [๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการเห็น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็น สัปบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัปบุรุษ ย่อมไม่รู้ ทั่วถึงธรรม อันตนควรมนสิการ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนไม่ควรมนสิการ เมื่อเขาไม่รู้ ทั่วถึงธรรม ที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมมนสิการธรรม ที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ที่ปุถุชนมนสิการอยู่เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่เขามนสิการอยู่

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรมนสิการ ที่ปุถุชนไม่มนสิการอยู่ เป็นไฉน? เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมที่ควรมนสิการ เหล่านี้ ที่เขาไม่มนสิการอยู่ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญแก่ปุถุชนนั้น เพราะมนสิการธรรม ที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะไม่ มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

          ปุถุชนนั้นมนสิการ อยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า เราได้มีแล้วในอดีตกาล หรือหนอ เราไม่ได้มีแล้วในอดีตกาลหรือหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอย่างไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรแล้วจึงเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักมีหรือหนอ ในอนาคตกาลเราจักไม่มีหรือหนอ ในอนาคตกาล เราจักเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาล เราจักเป็นอย่างไรหนอ ในอนาคตกาล เราจักเป็นอะไรแล้ว จึงจักเป็นอะไรหนอ หรือว่า ปรารภกาลปัจจุบันในบัดนี้ มีความสงสัยขึ้นภายในว่า เรามีอยู่หรือ เราไม่มีอยู่หรือ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ และมันจักไป ณ ที่ไหน.

          เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการอยู่ โดยไม่แยบคายอย่างนี้ บรรดาทิฏฐิ ๖ ทิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น ทิฏฐิโดยจริงโดยแท้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้นว่า ตนของเรามีอยู่ หรือว่า ตนของเราไม่มีอยู่ หรือว่า เราย่อมรู้ชัดตนด้วยตนเอง หรือว่า เราย่อมรู้ชัดสภาพ มิใช่ตนด้วยตนเอง หรือว่าเราย่อมรู้ตนด้วยสภาพมิใช่ตน

           อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิย่อมเกิดมีแก่ปุถุชนนั้นอย่างนี้ว่า ตนของเรานี้เป็นผู้เสวย ย่อมเสวยวิบากแห่งกรรม ทั้งดีทั้งชั่วในอารมณ์นั้นๆ ก็ตนของเรานี้นั้น เป็นของแน่นอน ยั่งยืนเที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอด้วยสิ่งยั่งยืนแท้ ข้อนี้เรากล่าวว่าทิฏฐิ ชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือ ทิฏฐิ สิ่งที่ประกอบสัตว์ไว้คือทิฏฐิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่พ้นจากทุกข์.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาด ในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำด้วยดีในธรรมของพระอริยะ ผู้เห็นสัปบุรุษ ฉลาด ในธรรมของสัปบุรุษ ได้รับคำแนะนำด้วยดีในธรรมของสัปบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่ควร มนสิการ และไม่ควรมนสิการ เมื่ออริยสาวกนั้นรู้ทั่วถึงธรรม ที่ควรมนสิการ และไม่ควร มนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรม ที่ไม่ควรมนสิการ และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกไม่มนสิการ? เมื่ออริยสาวกนั้น มนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกไม่มนสิการ.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกมนสิการอยู่? เมื่ออริยสาวกนั้น มนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมที่ควรมนสิการ เหล่านี้ ที่อริยสาวก มนสิการอยู่อาสวะทั้งหลาย ที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้น และ ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเสื่อมสิ้นไปแก่อริยสาวกนั้น เพราะไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.

          อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์นี้ ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้น มนสิการอยู่โดย แยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อม เสื่อมสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น

(๒) ว่าด้วยอาสวะที่จะพึงละได้เพราะการสังวร
(ภิกษุเป็นผู้สำรวมสังวรอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ จักขุอินทรีย์ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ มโน)

          [๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการสังวร ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม แล้ว ด้วยความสำรวมในจักขุนทรีย์อยู่ ก็อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความ คับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์ อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้สำรวม จักขุนทรีย์อยู่อย่างนี้. ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมใน โสตินทรีย์อยู่ ...
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมใน ฆานินทรีย์อยู่ ...
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมใน ชิวหินทรีย์อยู่ ...
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมใน กายินทรีย์อยู่ ...
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมใน มนินทรีย์อยู่ ก็อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ผู้ไม่สำรวมในมนินทรีย์อยู่ อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวม ในมนินทรีย์อยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการสังวร

(๓) ว่าด้วยละอาสวะได้เพราะการพิจารณาเสพเฉพาะ
(ภิกษุเสพจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และบริขาร โดยรู้จักประมาณในความพอดี )

          [๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการ พิจารณาเสพ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคาย แล้ว เสพจีวรเพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อน สัมผัส แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และ สัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะ ที่ให้ความละอายกำเริบ พิจารณาโดย แยบคายแล้ว เสพบิณฑบาตมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่ เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นไปเพื่อกำจัดความลำบาก เพื่อ อนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่ เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษ และความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เราฉะนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพเสนาสนะเพียงเพื่อกำจัดหนาวร้อน สัมผัสแห่ง เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ ในการหลีกออกเร้นอยู่ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขาร คือ ยาอันเป็นปัจจัย บำบัดไข้ เพียงเพื่อกำจัดเวทนา ที่เกิดแต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความ เร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้พิจารณาเสพอยู่ อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการ พิจารณาเสพ.

(๔) ว่าด้วยละอาสวะได้เพราะการอดกลั้น
(เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว การสัมผัสยุงและแมลง อดกลั้นต่อคำชั่ว)

          [๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะความ อดกลั้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้ อดทนต่อหนาว ร้อน หิวระหาย สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์ เลื้อยคลาน เป็นผู้มีชาติของผู้ อดกลั้นต่อถ้อยคำ ที่ผู้อื่นกล่าวชั่ว ร้ายแรงต่อเวทนา ที่มีอยู่ในตัว ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้า แข็งเผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ ชอบใจ อาจพล่าชีวิตเสียได้.

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นผู้ไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความ คับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น.

(๕) ว่าด้วยละอาสวะได้เพราะการเว้นรอบ
(หลีกเลี่ยงสัตว์ร้ายที่จะทำอันตราย ไม่โครจรเข้าไปในที่อโคจร เช่นสถานที่มีสัตว์ดุร้าย มีบ่อ เหว น้ำครำ ตอ พงหนาม หรือสถานที่อันลามก)

          [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะความเว้น รอบ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นช้าง ที่ดุร้าย ม้าที่ดุร้าย โคที่ดุร้าย สุนัขที่ดุร้าย งู หลักตอ สถานที่มีหนาม บ่อ เหว แอ่งน้ำครำ บ่อน้ำครำ เพื่อนพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย พึงกำหนดลงซึ่ง บุคคลผู้นั่ง ณ ที่มิใช่อาสนะเห็นปานใด ผู้เทียวไป ณ ที่มิใช่โคจรเห็นปานใด ผู้คบมิตร ที่ลามกเห็นปานใด ในสถานทั้งหลายอันลามก ภิกษุนั้นพิจารณา โดยแยบคายแล้ว เว้นที่มิใช่อาสนะนั้น ที่มิใช่โคจรนั้น และมิตรผู้ลามกเหล่านั้น

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย จริงอยู่ อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้น เหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่เว้นสถาน หรือบุคคลอันใดอันหนึ่ง อาสวะ และความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้เว้นรอบ อยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะการเว้นรอบ

(๖) ว่าด้วยละอาสวะได้เพราะการบรรเทา
(พิจารณาโดยแยบคายในกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมอดกลั้น ทำให้สิ้นไป ทำให้ไม่มี)

          [๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะความ บรรเทา? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทากามวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความ ไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา พยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึง ความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา วิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทาธรรมที่เป็นบาปอกุศล ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่บรรเทาธรรม อันใดอันหนึ่งอาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความบรรเทา.

(๗) ว่าด้วยละอาสวะได้เพราะการอบรม
(เจริญโพชฌงค์ทั้ง ๗ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ เพื่อน้อมไป)

          [๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะอบรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติ สัมโพชฌงค์(๑) อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์(๒) ... เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ (๓)...เจริญปิติสัมโพชฌงค์ (๔)... เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(๕) ... เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ (๖)... เจริญอุเบกขา สัมโพชฌงค์(๗) อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่อบรมธรรมอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อบรมอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะอบรม.

-------------------------------------------------------------------------------------------------------

          [๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุว่า
อาสวะเหล่าใด อันภิกษุใดพึงละได้ เพราะการเห็น
อาสวะเหล่านั้น อันภิกษุนั้น ได้แล้ว เพราะการเห็น

อาสวะเหล่าใด อันภิกษุใดพึงละได้ เพราะการสังวร
อาสวะเหล่านั้น อันภิกษุนั้น ละได้แล้วเพราะการสังวร

อาสวะเหล่าใด อันภิกษุใดพึงละได้ เพราะการพิจารณาเสพ
อาสวะเหล่านั้น อันภิกษุนั้น ละได้แล้วเพราะการพิจารณาเสพ

อาสวะเหล่าใด อันภิกษุใดพึงละได้ เพราะความอดกลั้น
อาสวะเหล่านั้น อันภิกษุนั้น ละได้แล้วเพราะความอดกลั้น

อาสวะเหล่าใด อันภิกษุใดพึงละได้ เพราะการเว้นรอบ
อาสวะเหล่านั้น อันภิกษุนั้น ละได้แล้วเพราะการเว้นรอบ

อาสวะเหล่าใด อันภิกษุใดพึงละได้ เพราะการบรรเทา
อาสวะเหล่านั้น อันภิกษุนั้น ละได้แล้วเพราะการบรรเทา

อาสวะเหล่าใด อันภิกษุใดพึงละได้ เพราะการอบรม
อาสวะเหล่านั้น อันภิกษุนั้น ละได้แล้วเพราะการอบรม

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้สำรวมด้วยความสังวร ในอาสวะ ทั้งปวงอยู่ ตัดตัณหาได้แล้ว ยังสังโยชน์ให้ ปราศไปแล้ว ได้ทำที่สุดแห่งทุกข์เพราะ ความตรัสรู้ ด้วยการเห็นและ การละมานะโดยชอบ.

          พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสสังวรปริยายนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีภาษิต ของ พระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล.

จบ สัพพาสวสังวรสูตร ที่ ๒

 

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์