เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

ปาฏิกสูตร สุนักขัตตะ เข้ามาบวชเพื่อต้องการเรียนรู้อิทธิปาฎิหาริย์จากพระพุทธเจ้า 1522
 

สุนักขัตตะ (พระโอรสเจ้าลิจฉว) เข้ามาบวชเพื่อต้องการเรียนรู้อิทธิปาฎิหาริย์ จากพระพุทธเจ้า จึงทำหน้าที่เป็น อุปัฏฐากผู้ใกล้ชิด แต่ตลอดระยะเวลาที่บวช กลับไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าแสดง ฤทธิ์จึงบอก ลาสิกขา แต่ก็ไม่ได้ลาสิกขา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์ไม่เคยให้ใครมาบวชเพื่อ จะได้ อิทธิปาฎิหาริย์ นั่นเป็นความเข้าใจผิดของ สุนักขัตตะ เอง... สุนักขัตตะ ไม่เข้าใจ และ มองไม่เห็นว่า พระศาสดาแสดงธรรมเพื่อการสิ้นรอบของมนุษย์ คืออิทธิปาฎิหาริย์ ที่เป็นของ ผู้เป็นอริยะ แต่สุนักขัตตะกลับอยากได้ฤทธิ์ที่เป็นของปุถุชน(เป็นของต่ำ) จึงถูกพระศาสดาย้อนถาม

"ธรรมที่เราได้แสดงไว้ย่อมนำผู้ประพฤติให้ สิ้นทุกข์โดยชอบ เช่นนี้ เธอจะปรารถนาการกระทำ อิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์(ของต่ำ)ไปทำไม"


สุนักขัตตะ ยังเข้าใจผิดว่า อเจลก (นักบวชเปลือย)เจ้าสำนัก 3 คน เป็นพระอรหันต์ ได้แก่ อเจลก
ชื่อ (1) โกรักขัตติยะ (2) กฬารมัชฌกะ (3) ปาฏิกบุตร

(1) โกรักขัตติย อเจลก
ดูกรสุนักขัตตะ เธอได้เห็น โกรักขัตติย อเจลก คนนี้ ซึ่งประพฤติอย่างสุนัข เดินด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นด้วยปาก แล้วเธอจึงได้คิดต่อไปว่า เขาเป็นสมณะอรหันต์ที่ดีผู้หนึ่งมิใช่หรือ แต่ อีก ๗ วัน เขาจักตายด้วย โรคอลสกะ (กินอาหารมากเกินไป) คติของเขา คือ ได้ไปเกิดในเหล่า อสูร ชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง

(2) กฬารมัชฌกะ อเจลก
ชีเปลือย กฬารมัชฌกะ ถูกโกรักขัตติยะ ถามปัญหาแล้วตอบไม่ได้จึงเกิดโทสะ ต่อมา กฬารมัชฌกะ กลับมานุ่งผ้า มีภรรยา ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมด กลายเป็น คนเสื่อมยศ แล้วตายไป

(3) ปาฏิกบุตร อเจลก
อเจลก ปาฏิกบุตร ท้าทายพระพุทธเจ้าว่า หากเจอกันแล้ว ก็จะทำปาฏิหาริย์ให้มากกว่าเป็น สองเท่า ครั้นพวกพราหมณ์มหาศาล และพวกเจ้าลิจฉวี พากันมามากมาย กลับซบ ศีรษะ อยู่ในที่นั้น และไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ เพราะตะโพกติดกับที่นั่ง อเจลกชื่อปาฏิกบุตรนี้ เป็นผู้แพ้แล้ว เพราะเขาไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น จึงไม่สามารถที่จะมาพบเห็น เราได้
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑

๑. ปาฏิกสูตร (๒๔)

          [๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
          สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม ของชาวมัลละ ในแคว้นมัลละ ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไป บิณฑบาตยังอนุปิยนิคม

          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า ยังเช้านักที่จะเข้าไปบิณฑบาต ยังอนุปิยนิคม ถ้ากระไรเราพึงไปหา ปริพาชก ชื่อ ภัคควโคตร ที่อารามของเขา ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาปริพาชกชื่อ ภัคควโคตร ที่อารามของเขาแล้ว

          ปริพาชกชื่อภัคควโคตร ได้กราบทูลเชิญพระผู้มีพระภาคว่า ขอเชิญ พระผู้มีพระภาค เสด็จมาเถิด พระเจ้าข้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว นานๆ พระองค์จึง จะมีโอกาสเสด็จมาที่นี้ ขอเชิญประทับนั่ง นี้อาสนะที่จัดไว้ พระผู้มีพระภาคได้ ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้แล้ว ฝ่ายปริพาชกชื่อภัคควโคตร ถือเอาอาสนะต่ำแห่ง หนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

          ครั้นแล้ว จึงได้กราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ พระโอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ* ได้เข้ามาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่แล้ว บอกว่า ดูกรภัคควะ บัดนี้ ข้าพเจ้า บอกคืน(ลาสิกขา) พระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพเจ้าไม่อยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำนั้นเป็นดังที่เขากล่าวหรือ
*(สุนักขัตตะเข้ามาบวชเพื่อต้องการเรียนรู้อิทธิปาฎิหาริย์จากพระพุทธเจ้า จึงทำหน้าที่เป็น อุปัฏฐากผู้ใกล้ชิด แต่ตลอดระยะเวลาที่บวช กลับไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าแสดงฤทธิ์จึงบอก ลาสิกขา แต่ก็ไม่ได้ลาสิกขา)

          ก็เป็นดังที่โอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อ สุนักขัตตะ กล่าวนั้นแล ภัคควะ ในวันก่อนๆ เขาได้เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์ ขอบอกคืนพระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จักไม่อยู่ อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค เมื่อเขากล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวว่า ดูกรสุนักขัตตะ เราได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า มาเถิด สุนักขัตตะเธอจงอยู่อุทิศต่อเรา ดังนี้บ้าง หรือ หามิได้พระเจ้าข้า

          หรือว่า เธอได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ จักอยู่อุทิศต่อ พระผู้มีพระภาค หามิได้พระเจ้าข้า

          ดูกรสุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เรา ไม่ได้กล่าวกะเธอว่า มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศต่อเรา ดังนี้ อนึ่งเธอก็ไม่ได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเมื่อ บอกคืน จะชื่อว่าบอกคืนใคร เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอ เท่านั้น

          [๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาค มิได้ทรงกระทำ อิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่ข้าพระองค์เลย

          ดูกรสุนักขัตตะ เราได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า มาเถิดสุนักขัตตะ เธอจงอยู่ อุทิศต่อเรา เราจะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่เธอ ดังนี้ บ้างหรือ หามิได้พระเจ้าข้า

      หรือว่า เธอได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ จักอยู่อุทิศ ต่อ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค จักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็น ธรรมยิ่งยวด ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์ หามิได้ พระเจ้าข้า

          ดูกรสุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เรามิได้กล่าวกะเธอว่า มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจง อยู่อุทิศต่อเรา เราจักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ แก่เธอดังนี้ อนึ่ง เธอก็มิได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศ ต่อ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค จักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยิ่งยวด ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์ ดังนี้

          ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเมื่อบอกคืน จะชื่อว่าบอกคืนใคร ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คือเมื่อเราได้กระทำอิทธิ ปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยิ่งยวด ของมนุษย์ หรือมิได้กระทำก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำ ผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ [หรือหาไม่]

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ได้ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็น ธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้ทรงกระทำก็ดี ธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ พระเจ้าข้า

          ดูกรสุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เมื่อเราได้กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรม ยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้กระทำก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ย่อมนำผู้ประพฤติให้ สิ้นทุกข์โดยชอบ เช่นนี้ เธอจะปรารถนาการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรม ยิ่งยวด ของมนุษย์ไปทำไม ดูกรโมฆบุรุษ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอ เท่านั้น

          [๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบัญญัติสิ่งที่โลก สมมติว่าเลิศแก่ข้าพระองค์เลย

          ดูกรสุนักขัตตะ เราได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า มาเถิดสุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศ ต่อเรา เราจักบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศแก่เธอ ดังนี้ บ้างหรือ หามิได้พระเจ้าข้า

     หรือว่า เธอได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ จักอยู่อุทิศ ต่อ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค จักทรงบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ แก่ข้าพระองค์ หามิได้ พระเจ้าข้า

          ดูกรสุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เรามิได้กล่าวกะเธอว่า มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศต่อเรา เราจักบัญญัติ สิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศแก่เธอ ดังนี้ อนึ่งเธอ ก็มิได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค จักทรงบัญญัติ สิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศแก่ข้าพระองค์ ดังนี้

           ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเมื่อบอกคืน จะชื่อว่าบอกคืนใคร ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือเมื่อเราได้บัญญัติสิ่งที่โลกสมมติ ว่าเลิศ หรือ มิได้บัญญัติก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์ โดยชอบ [หรือหาไม่]

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ได้บัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ หรือ มิได้บัญญัติก็ดีธรรมที่พระองค์ได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ

          ดูกรสุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เมื่อเราได้บัญญัติ สิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ หรือ มิได้บัญญัติก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ เช่นนี้ เธอจะปรารถนาการบัญญัติสิ่งที่ โลกสมมติว่าเลิศไปทำไม

          ดูกรโมฆบุรุษ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้ เป็นความผิดของเธอเท่านั้น สุนักขัตตะ เธอได้สรรเสริญเราที่วัชชีคามโดยปริยายมิใช่น้อยว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไป ดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของ เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้

          เธอได้ สรรเสริญพระธรรมที่วัชชีคาม โดยปริยายมิใช่น้อยว่า พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้บรรลุพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียก ให้มาดู ควรน้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ และเธอได้สรรเสริญ พระสงฆ์ ที่วัชชีคาม โดยปริยายมิใช่น้อยว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล๘ นั่นคือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรรับของบูชา เป็นผู้ควรรับ ของต้อนรับ เป็นผู้ควรรับของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นบุญญเขตของ ชาวโลกไม่มีเขตอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

          สุนักขัตตะ เราขอบอกเธอ เราขอเตือนเธอว่า จักมีผู้กล่าวติเตียนเธอว่า โอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม บอกคืน สิกขา เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ดังนี้ ดูกรภัคควะ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อ สุนักขัตตะ ถึงแม้ถูกเรากล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้ เหมือนสัตว์อบาย เหมือน สัตว์นรกฉะนั้น
-----------------------------------------------------------------------------------------------------

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕

เรื่องนักบวชชีเปลือย ชื่ออเจลก

(1)
อเจลก (ชีเปลือย) ชื่อ โกรักขัตติยะ (สุนักขัตตะ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นอรหันต์)
โกรักขัตติยะ เดินด้วยข้อศอกและเข่ากินอาหาร ที่กองบนพื้น แบบสุนัข
ต่อมาตายด้วยโรค โรคอลสกะ ได้ไปเกิดในเหล่าอสูร ชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปว

          [๔] ดูกรภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่นิคมแห่งชาวถูลู ชื่ออุตตรกาในถูลู ชนบท ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เรานุ่งแล้วถือบาตรและจีวร มีโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนัก ขัตตะเป็น ปัจฉาสมณะ เข้าไปบิณฑบาตที่อุตตรกานิคม สมัยนั้น มี อเจลก คน หนึ่งชื่อ โกรักขัตติยะ ประพฤติอย่างสุนัข เดินด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหาร ที่กองบนพื้นด้วยปาก

          ดูกรภัคควะ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้เห็นแล้วจึงคิดว่าเขาเป็นสมณะ อรหันต์ที่ดีผู้หนึ่ง ครั้งนั้น เราได้ทราบความคิดในใจของโอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ ด้วยใจแล้ว จึงกล่าวกะเขาว่า ดูกรโมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอก็ยังจักปฏิญาณ ตนว่า เป็นศากยบุตรอยู่หรือ ฯ

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ดูกรโมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังจักปฏิญาณตนว่าเป็นศากยบุตรอยู่หรือ

          ดูกรสุนักขัตตะ เธอได้เห็น โกรักขัตติย อเจลก คนนี้ ซึ่งประพฤติอย่างสุนัข เดินด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นด้วยปาก แล้วเธอจึงได้คิดต่อไปว่า เขาเป็นสมณะอรหันต์ที่ดีผู้หนึ่งมิใช่หรือ

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคยังทรงหวง พระอรหันต์ อยู่หรือ

          ดูกรโมฆบุรุษ เรามิได้หวงพระอรหันต์ แต่ว่าเธอได้เกิดทิฐิลามกขึ้น เธอจงละ มันเสีย ทิฐิลามกนั้นอย่าได้มีแก่เธอ เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อทุกข์ ตลอดกาล นานอนึ่ง เธอย่อมเข้าใจ โกรักขัตติย อเจลก ว่าป็นสมณะ อรหันต์ที่ดี ผู้หนึ่ง อีก ๗ วัน เขาจักตายด้วย โรคอลสกะ (กินอาหารมากเกินไปจนกระพาะไม่ย่อย)

          ครั้นแล้ว จักบังเกิดในเหล่าอสูร ชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง และจักถูกเขานำไปทิ้ง ที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ และเมื่อเธอประสงค์อยู่ พึงเข้าไปถาม โกรักขัตติย อเจลก ว่า

          ดูกรโกรักขัตติยะ ผู้มีอายุ ท่านย่อมทราบคติของตนหรือ ข้อที่โกรักขัตติย อเจลกพึงตอบเธอว่า ดูกรสุนักขัตตะผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบคติของตนอยู่ คือ ข้าพเจ้าไปเกิดในเหล่าอสูร ชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง ดังนี้ เป็น ฐานะที่มีได้ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้เข้าไปหาโกรักขัตติยอเจลก แล้วจึงบอกว่า

          ดูกรโกรักขัตติยะ ผู้มีอายุ ท่านถูกพระสมณโคดม ทรงพยากรณ์ว่า อีกวัน โกรักขัตติยอเจลกจัก ตายด้วยโรคอลสกะ แล้วจักบังเกิดในเหล่าอสูร ชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง และจักถูกเขานำไปทิ้งที่ป่าช้าชื่อ วีรณัตถัมภกะ ฉะนั้น ท่านจงกินอาหารและดื่มน้ำแต่พอสมควร จงให้คำพูดของ พระสมณโคดมเป็นผิด ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้นับวันตั้งแต่วันที่ ๑ ที่ ๒ ตลอดไปจนครบ ๗ วัน เพราะเขาไม่เชื่อต่อพระตถาคต

          ครั้งนั้น โกรักขัตติยอเจลก ได้ตายด้วยโรค อลสกะ ในวันที่ ๗ แล้วได้ไป บังเกิดใน เหล่าอสูรชื่อ กาลกัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง และถูกเขานำไป ทิ้งไว้ที่ป่าช้า ชื่อวีรณัตถัมภกะ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้ทราบข่าวว่า โกรักขัตติย อเจลก ได้ตายด้วย โรคอลสกะ ได้ถูกเขานำไปทิ้งไว้ ที่ป่าช้าชื่อ วีรณัตถัมภกะ

          ครั้นแล้ว จึงเข้าไปหาศพโกรักขัตติยอเจลก ที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ แล้วจึงเอามือตบซากศพเขาถึง ๓ ครั้ง แล้วถามว่า ดูกรโกรักขัตติยะ ท่านทราบคติ ของตนหรือ ครั้งนั้น ซากศพโกรักขัตติยอเจลกได้ลุกขึ้นยืน พลางเอามือลูบหลัง ตนเอง ตอบว่า

          ดูกรสุนักขัตตะ ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบคติของตนอยู่ คือข้าพเจ้าไปบังเกิดใน เหล่าอสูร ชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง ดังนี้ แล้วล้มลงนอนหงายอยู่ ณ ที่นั้นเอง

           ดูกรภัคควะ ครั้งนั้นโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะได้เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เราได้กล่าวกะเขาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า สุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน วิบากนั้นได้มีแล้ว เหมือนดังที่เราได้ พยากรณ์ โกรักขัตติยอเจลก ไว้แก่เธอมิใช่โดยประการอื่น ฯ

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วิบากนั้นได้มีแล้ว เหมือนดังที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงพยากรณ์ โกรักขัตติยอเจลก ไว้แก่ข้าพระองค์ มิใช่โดยประการอื่น

          ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ อิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ชื่อว่าเป็นคุณอันเราได้แสดงไว้แล้ว หรือไม่ได้แสดงไว้

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นอันทรงแสดงไว้แล้ว แน่นอน มิใช่ไม่ได้ทรง แสดงไว้

          ดูกรโมฆบุรุษ แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอยังจะกล่าวกะเรา ผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค มิได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ แก่ข้าพระองค์ดังนี้

          ดูกรโมฆบุรุษ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้ เป็นความผิดของเธอเท่านั้น ดูกรภัคควะ โอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อว่าสุนักขัตตะ ถูกเรากล่าวอยู่อย่างนี้ ได้หนีไปจากพระธรรมวินัยนี้ เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในอบาย เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในนรก ฉะนั้น

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

(2)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖


เรื่องนักบวชชีเปลือย ชื่อ กฬารมัชฌกะ

อเจลก ชื่อ กฬารมัชฌกะ (โกรักขัตติยะ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นอรหันต์)
ชีเปลือย กฬารมัชฌกะ ถูกโกรักขัตติยะ ถามปัญหาแล้วตอบไม่ได้จึงเกิดโทสะ ต่อมา กฬารมัชฌกะ กลับมานุ่งผ้า มีภรรยา ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมด กลายเป็น คนเสื่อมยศ แล้วตายไป

          [๕] ดูกรภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตเมือง เวสาลี สมัยนั้น อเจลก คนหนึ่งชื่อ กฬารมัชฌกะอาศัยอยู่ที่วัชชีคาม เขตเมือง เวสาลี เป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ เขาได้ยึดถือสมาทานข้อวัตรทั้ง ๗ คือ:
๑. เราพึงเปลือยกาย ไม่นุ่งห่มผ้าตลอดชีวิต ฯ
๒. เราพึงประพฤติพรหมจรรย์ไม่เสพเมถุนธรรมตลอดชีวิต ฯ
๓. เราพึงเลี้ยงชีวิตด้วยการดื่มสุราและกินเนื้อสัตว์ ไม่กินข้าวและขนม ตลอดชีวิต ฯ
๔. เราพึงไม่ล่วงเกินอุเทนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทิศบูรพาแห่งเมืองเวสาลี ฯ
๕. เราพึงไม่ล่วงเกินโคตมเจดีย์ ซึ่งอยู่ทิศทักษิณแห่งเมืองเวสาลี ฯ
๖. เราพึงไม่ล่วงเกินสัตตัมพเจดีย์ ซึ่งอยู่ที่ทิศประจิมแห่งเมืองเวสาลี ฯ
๗. เราพึงไม่ล่วงเกินพหุปุตตกเจดีย์ ซึ่งอยู่ทิศอุดรแห่งเมืองเวสาลี ฯ

          เพราะการสมาทานข้อวัตรทั้ง ๗ นี้ เขาจึงเป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ อยู่ที่ วัชชีคาม ครั้งนั้นโอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะได้เข้าไปหาอเจลก ชื่อกฬารมัชฌกะ แล้วถามปัญหากะเขา เขาไม่สามารถแก้ปัญหาของโอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ ให้ถูกต้องได้ จึงแสดงความโกรธ โทสะและความโทมนัสให้ปรากฏ

          ครั้งนั้นโอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ ได้คิดว่า ตนได้รุกรานสมณะผู้เป็น พระอรหันต์ที่ดี ข้อนั้นอย่าได้มีแก่เราเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อทุกข์ สิ้นกาลนานครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้เข้ามาหาเราถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเรา ได้กล่าวกะเขาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า ดูกรโมฆบุรุษ แม้คน เช่นเธอ ก็ยังจักปฏิญาณตนเป็นศากยบุตรอยู่หรือ

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาค จึงตรัสกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ดูกรโมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังจักปฏิญาณตนเป็นศากยบุตรอยู่หรือ

          ดูกรสุนักขัตตะ เธอได้เข้าไปหาอเจลก ชื่อกฬารมัชฌกะ แล้วถามปัญหา กะเขา เขาไม่สามารถแก้ปัญหาของเธอให้ถูกต้องได้ จึงได้แสดงความโกรธ โทสะ และความโทมนัส ให้ปรากฏเธอจึงได้คิดว่า ตนได้รุกรานสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ ที่ดี ข้อนั้นอย่าได้มีแก่เราเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ดังนี้ มิใช่หรือ

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาค ก็ยังทรงหวงพระอรหัต อยู่หรือ

          ดูกรโมฆบุรุษ เรามิได้หวงพระอรหัต แต่ว่าเธอได้เกิดทิฐิลามก เธอจง ละ มันเสียทิฐิอันลามกนี้ อย่าได้เกิดแก่เธอ เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน อนึ่งเธอย่อมเข้าใจอเจลก ชื่อ กฬารมัชฌกะ ว่าเป็นสมณะผู้เป็น พระอรหันต์ ที่ดีผู้หนึ่ง ต่อไปไม่นานเขาจักกลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา กินข้าวและขนม ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมด กลายเป็นคนเสื่อมยศ แล้วตายไป

          ดูกรภัคควะ ต่อมาไม่นาน อเจลก ชื่อ กฬารมัชฌกะ ก็กลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา กินข้าวและขนม ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมด กลายเป็นคนเสื่อมยศ แล้วตายไป โอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะได้ทราบข่าวว่า อเจลกชื่อกฬารมัชฌกะ กลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยากินข้าวและขนม ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมด กลายเป็นคนเสื่อมยศ แล้วตายไปจึงได้เข้ามาหาเรา ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง เราจึงกล่าวกะเขาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า

          สุนักขัตตะ เธอ จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน วิบากนั้น ได้มีแล้วเหมือน ดังที่เราได้พยากรณ์ อเจลก ชื่อกฬารมัชฌกะไว้แก่เธอ มิใช่โดยประการอื่น ฯ

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วิบากนั้นได้มีแล้ว เหมือนดังที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงพยากรณ์ อเจลกชื่อกฬารมัชฌกะ ไว้แก่ข้าพระองค์ มิใช่โดยประการอื่น ฯ

          ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ อิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ชื่อว่าเป็นคุณอันเราได้แสดงไว้แล้ว หรือมิใช่ ฯ

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นอันทรงแสดงแล้วแน่นอน มิใช่ไม่ทรง แสดง ฯ

          ดูกรโมฆบุรุษ แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอยังจะกล่าวกะเรา ผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็น ธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค มิได้ทรง แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์แก่ข้าพระองค์ ดังนี้

          ดูกรโมฆบุรุษ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอเท่านั้น ดูกรภัคควะ โอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ ถูกเรากล่าวอยู่อย่างนี้ ได้หนีไปจากพระธรรมวินัยนี้ เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในอบาย เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในนรก ฉะนั้น

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

(3)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘

เรื่องนักบวชชีเปลือย ชื่อ ปาฏิกบุตร

อเจลก ชื่อ ปาฏิกบุตร (โกรักขัตติยะ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นอรหันต์)
อเจลกปาฏิกบุตร ท้าทายพระพุทธเจ้าว่า หากเจอกันแล้ว ก็จะทำปาฏิหาริย์ให้มากกว่าเป็น สองเท่า ครั้นพวกพราหมณ์มหาศาล และพวกเจ้าลิจฉวี พากันมามากมาย กลับซบ ศีรษะ อยู่ในที่นั้น และไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ เพราะตะโพกติดกับที่นั่ง อเจลกชื่อปาฏิกบุตรนี้ เป็นผู้แพ้แล้ว เพราะเขาไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น จึงไม่สามารถที่จะมาพบเห็น เราได้

          [๖] ดูกรภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตเมือง เวสาลีนั้นเอง สมัยนั้น อเจลก ชื่อ ปาฏิกบุตร อาศัยอยู่ที่วัชชีคาม เขตเมืองเวสาลี เป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ เขากล่าววาจาในบริษัท ที่เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า แม้ พระ สมณโคดมก็เป็นญาณวาท แม้เราก็เป็นญาณวาท ก็ผู้ที่เป็นญาณวาท ย่อมควรแสดง อิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์กับผู้ที่เป็นญาณวาท พระสมณโคดม พึงเสด็จไปกึ่งหนทาง

    แม้เราก็พึงไปกึ่งหนทาง ในที่พบกันนั้น แม้เรา ทั้ง ๒ พึงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์
    ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักกระทำ ๒ อย่าง
   ถ้าพระสมณโคดม จักทรงกระทำ ๒ อย่าง เราจักกระทำ ๔ อย่าง
   ถ้าสมณโคดมจักทรงกระทำ๔ อย่าง เราจักกระทำ ๘ อย่าง
   พระสมณโคดมจักทรงกระทำเท่าใดๆ เราก็จักกระทำให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณๆ

           โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อ สุนักขัตตะทราบข่าวนั้น จึงเข้ามาหาเราถวาย อภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วจึงกล่าวกะเราว่า

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อเจลกชื่อปาฏิกบุตร อาศัยอยู่ที่วัชชีคามเขตเมือง เวสาลี เป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ เขากล่าววาจาในบริษัทที่เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า แม้พระสมณโคดมก็เป็นญาณวาท แม้เราก็เป็นญาณวาท ก็ผู้ที่เป็นญาณวาท ย่อมควร แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ กับผู้ที่เป็นญาณวาท พระสมณโคดม พึงเสด็จไปกึ่ง หนทาง แม้เราก็พึงไปกึ่งหนทาง ในที่พบกันนั้น

          แม้เราทั้ง ๒ พึงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ถ้าพระสมณโคดม จักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของ มนุษย์ ๑ อย่าง เราจักกระทำ ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงทำ ๒ อย่าง เราจักกระทำ ๔ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักกระทำ ๔ อย่าง เราจักกระทำ ๘ อย่างพระสมณโคดม จักทรงกระทำเท่าใดๆ เราจักกระทำให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณๆ

          เมื่อโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ กล่าวอย่างนี้ เราได้กล่าวกะเขาว่า สุนักขัตตะ อเจลก ชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจาจิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้

          แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่าเราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก ฯ

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรักษาพระวาจานั้น ขอพระสุคต จงทรงรักษาพระวาจานั้น

          ดูกรสุนักขัตตะ ก็ไฉนเธอจึงกล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงรักษาพระวาจานั้น ขอพระสุคต จงทรงรักษาพระวาจานั้น

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะพระผู้มีพระภาค ตรัสวาจาโดยแน่นอนว่า อเจลก ชื่อปาฏิกบุตรเมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถจะมาพบเห็น เราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืน ทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก ดังนี้

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อเจลกชื่อปาฏิกบุตร อาจแปลงรูปมาพบเห็นพระผู้มี พระภาคก็ได้ ในคราวนั้น พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคก็พึงเป็นมุสา

          ดูกรสุนักขัตตะ ตถาคตเคยกล่าววาจาที่เป็น ๒ ไว้บ้างหรือ(พระศาสดา จะกล่าวครั้งเดียวถือเป็นสัจจะถูกต้อง จะไม่กล่าวครั้งที่ ๒)

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาค ทรงทราบ อเจลก ชื่อ ปาฏิกบุตร โดยแจ้งชัดด้วยพระหฤทัยว่า เขาเมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้นก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึง แตกออก หรือเทวดา มาทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคว่า เขาเมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นพระองค์ได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้นก็พึงไปพบเห็น พระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก ฯ

          ดูกรสุนักขัตตะ เราทราบอเจลก ชื่อปาฏิกบุตร โดยแจ้งชัดด้วยใจของเรา ว่า เขาไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น จึงไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็น สมณโคดมได้ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก

          แม้เทวดา ก็ได้บอกความ นั้นแก่เรา ว่าเขาเมื่อไม่ละวาจา จิตและสละคืน ทิฐิ เช่นนั้น ก็ไม่สามารถจะมา พบเห็นพระองค์ได้ ถ้าแม้เขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละ วาจา จิต และสละคืน ทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะ พึงแตกออก

          แม้เสนาบดี แห่งเจ้าลิจฉวี ชื่ออชิตะ ซึ่งได้ตายไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้าถึง พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ก็ได้เข้ามาบอกเรา อย่างนี้ว่า อเจลกชื่อ ปาฏิกบุตร เป็นคน ไม่ละอาย ชอบกล่าวมุสา ทั้งได้พยากรณ์ข้าพระองค์ว่า เสนาบดี แห่งเจ้าลิจฉวี ชื่อ อชิตะ ในวัชชีคามเข้าถึงมหานรก แต่ข้าพระองค์มิได้เข้าถึงมหานรก ได้เข้า ถึงพวก เทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาไม่ละอายชอบกล่าวมุสา เขาเมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืน ทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถจะมาพบเห็นพระองค์ได้

          แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก แม้เพราะเหตุนี้แล สุนักขัตต ะเราทราบ อเจลกชื่อปาฏิกบุตร โดยแจ้งชัดด้วยใจของเราว่า เขาไม่ละวาจา จิต สละคืนทิฐิเช่นนั้น ไม่ควรมาพบเห็นเรา แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละ วาจา จิต และ สละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ ศีรษะเขาจะพึงแตกออก

          แม้เทวดาก็บอกความนี้แก่เราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อเจลกชื่อ ปาฏิกบุตร ไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ไม่ควรมาพบเห็นพระผู้มี พระภาค ถ้าแม้เขา พึงมี ความคิดเห็นอย่างนี้ว่าเราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิ เช่นนั้น พึงไปพบเห็น สมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะของเขาจะพึงแตกออก

          ดูกรสุนักขัตตะ เรานี้แล เที่ยวไปบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี กลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต แล้วเข้าไปยังอารามของ อเจลก ชื่อปาฏิกบุตร เพื่อพักผ่อนกลางวัน บัดนี้ ถ้าเธอปรารถนาก็จงไปบอกเขาเถิด

          [๗] ดูกรภัคควะ ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เรานุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไป บิณฑบาตที่เมืองเวสาลี กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต แล้วเข้าไปยังอาราม ของอเจลก ชื่อปาฏิกบุตร เพื่อพักผ่อนกลางวัน ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ รีบเข้าไปเมืองเวสาลี แล้วเข้าไปหาพวกเจ้าลิจฉวี ที่มีชื่อเสียงบอกว่า ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค เสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี กลับจากบิณฑบาต ในเวลา ปัจฉาภัต แล้วเสด็จเข้าไปยังอารามของอเจลก ชื่อปาฏิกบุตรเพื่อทรงพักผ่อน กลางวัน ขอพวกท่านจงรีบออกไป จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ของพวกสมณะที่ดี

          ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวี ผู้มีชื่อเสียงได้คิดกันว่า ท่านผู้เจริญทราบข่าวว่า จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ของพวกสมณะที่ดี ฉะนั้น เชิญพวกเราไปกันและโอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ เข้าไปหาพวก พราหมณ์ มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง แล้วบอกว่าท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี กลับจาก บิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัตแล้ว เสด็จเข้าไปยังอารามของอเจลก ชื่อปาฏิกบุตร เพื่อทรงพักผ่อนกลางวัน ขอพวกท่านจงรีบออกไป จักมีการแสดง อิทธิปาฏิหาริย์ที่ เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ของพวกสมณะที่ดี

          ครั้งนั้น พวกพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง ได้คิดกันว่าท่านผู้เจริญ ทราบข่าวว่า จักมีการแสดง อิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยม ของพวกสมณะที่ดี ฉะนั้น เชิญพวกเราไปกัน

          ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง และพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง ได้เข้าไปยังอารามของอเจลก ชื่อปาฏิกบุตร ดูกรภัคควะ บริษัทนั้นๆ มีหลายร้อย หลายพันคน

          อเจลกชื่อ ปาฏิกบุตรได้ทราบข่าวว่า บรรดาเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงและ พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มี ชื่อเสียง ได้พากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดม ก็ทรงนั่งพักผ่อนกลางวันที่อารามของเรา ครั้นแล้ว จึงเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า ครั้งนั้นอเจลก ชื่อ ปาฏิกบุตร เมื่อกลัว หวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า จึงเข้าไปยังอารามของปริพาชก ชื่อติณฑุกขานุ บริษัทนั้นได้ทราบข่าวว่า อเจลกชื่อปาฏิกบุตรกลัวหวาดเสียว ขนพอง สยองเกล้า เข้าไปยังอารามของ ปริพาชก ชื่อ ติณฑุกขานุ

          ครั้งนั้น บริษัทนั้นได้เรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปหา อเจลก ชื่อปาฏิกบุตร ที่อารามของปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ แล้วจงบอกกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านปาฏิกบุตรท่านจงกลับไป บรรดาเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง และพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆและสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียงได้พากันออกมาแล้ว แม้สมณโคดม ก็ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่อารามของท่าน

          อนึ่ง ท่านได้กล่าววาจา ในบริษัทที่เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า แม้พระสมณโคดม ก็เป็นญาณวาทแม้เราก็เป็นญาณวาท ก็ผู้ที่เป็นญาณวาทย่อมควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ กับผู้ที่เป็นญาณวาท พระสมณโคดมพึงเสด็จมา กึ่งหนทาง แม้เราก็พึงไปกึ่ง หนทาง ในที่พบกันนั้น

          แม้เราทั้ง ๒ พึงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ถ้าพระสมณโคดม จักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่ เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักกระทำ ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำ ๒ อย่าง เราจักกระทำ ๔ อย่าง

          ถ้าพระสมณโคดม จักทรงกระทำ๔ อย่าง เราจักกระทำ ๘ อย่าง พระสมณ โคดม จักทรงกระทำเท่าใดๆ เราก็จักกระทำให้มากกว่านั้น เป็นทวีคูณๆ ดังนี้ ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงออกไปกึ่งหนทาง พระสมณโคดม เสด็จมาก่อนคน ทั้งปวง ทีเดียว ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่อาราม ของท่าน

          ดูกรภัคควะ บุรุษนั้นรับคำสั่งบริษัทนั้นแล้ว จึงเข้าไปหาอเจลก ชื่อปาฏิกบุตร ที่อารามของปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ แล้วบอกกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไป พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง และพราหมณ์มหาศาลคฤหบดี ผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ ผู้มีชื่อเสียง ได้พากันออกมาแล้ว

          แม้พระสมณโคดม ก็ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่อารามของท่าน อนึ่ง ท่านได้กล่าววาจาในที่บริษัท ที่เมืองเวสาลี อย่างนี้ว่า แม้พระสมณโคดมก็เป็น ญาณวาท แม้เราก็ เป็นญาณวาท ก็ผู้ที่เป็นญาณวาท ย่อมควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์กับผู้ที่ เป็นญาณวาท พระสมณโคดมพึงเสด็จมา กึ่งหนทาง

          แม้เราก็พึงไปกึ่งหนทาง ในที่พบกันนั้น แม้เราทั้ง ๒ พึงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำ อิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักกระทำ ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดม จักทรงกระทำ ๒ อย่าง เราจักกระทำ ๔ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำ ๔ อย่าง เราจักกระทำ ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงกระทำเท่าใดๆ เราจักกระทำ ให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณๆ ดังนี้

          ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงออกไปกึ่งหนทาง พระสมณโคดมเสด็จมาก่อน คนทั้งปวงทีเดียว ประทับนั่งพักผ่อนกลางวัน ที่อารามของท่าน เมื่อบุรุษนั้น กล่าวอย่างนี้แล้ว อเจลกชื่อปาฏิกบุตรจึงกล่าวว่าเราจะไปๆ แล้ว ซบศีรษะ อยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้

          ครั้งนั้น บุรุษนั้นได้กล่าวกะเขาว่า ท่านปาฏิกบุตร ไฉนท่านจึงเป็นอย่างนี้ ตะโพกของท่านติดกับที่นั่ง หรือว่าที่นั่งติดกับตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า เราจะ ไปๆ แต่กลับซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้

          ดูกรภัคควะ อเจลกชื่อปาฏิกบุตร แม้ถูกกล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ยังกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ เมื่อบุรุษนั้น ได้ทราบว่า อเจลก ชื่อปาฏิกบุตรนี้เป็นผู้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า เราจะไปๆแล้ว ก็ซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ จึงกลับมาหาบริษัทนั้น แล้วบอกว่า ท่านผู้เจริญ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรนี้ เป็นผู้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้

          ดูกรภัคควะ เมื่อบุรุษนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า ท่านทั้งหลาย อเจลก ชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขา จะพึงแตกออก

จบ ภาณวาร ที่หนึ่ง

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์