พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๐
๙. ราหุลสูตรที่ ๑
ว่าด้วยการรู้การเห็นที่ไม่ให้มี อหังการ มมังการ มานานุสัย
[๒๓๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่าพระเจ้าข้า เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไรหนอ อหังการ มมังการ และ มานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอกจึงจะไม่มี?
อหังการ หมายถึง การยึดว่าเป็นตัวเรา ความเย่อหยิ่งจองหอง ความทะนงตัว
มมังการ ความสำคัญว่าเป็นของเรา ความถือว่าเป็นของเรา ความยึดถือของจิต
มานานุสัย หมายถึงความถือตัว ความเคยชิน ว่าเป็นตัวเราของเรา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกล หรือในที่ใกล้ บุคคลพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่เรานั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายใน หรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ บุคคลพิจารณา เห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
ดูกรราหุล เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล อหังการ มมังการ และ มานานุสัย ในกาย ที่มีวิญญาณ นี้ และในสรรพนิมิตภายนอก จึงจะไม่มี
จบ สูตรที่ ๙.
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๐
๑๐. ราหุลสูตรที่ ๒
ว่าด้วยการรู้การเห็นที่ทำให้ ปราศจาก อหังการ มมังการ มานานุสัย
[๒๓๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้าเมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไรหนอ ใจจึงปราศจาก อหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกาย ที่มี วิญญาณนี้ และในสรรพนิมิต ภายนอก เป็นของก้าวล่วงด้วยดี ในส่วนแห่งมานะ สงบแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ บุคคลพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่านั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียดเลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ บุคคลพิจารณา เห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะ ไม่ถือมั่น.
ดูกรราหุล เมื่อบุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล ใจจึงจะปราศจากอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก เป็นของ ก้าวล่วง ด้วยดีในส่วนแห่งมานะ สงบแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว.
จบ สูตรที่ ๑๐ |