พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๓๐
๒. จุนทิสูตร (เลื่อมใสตถาคต ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ)
[๓๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลัน ทกนิวาปสถานใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ราชกุมารีชื่อว่าจุนที แวดล้อมด้วย รถ ๕๐๐ คัน และกุมารี ๕๐๐คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราชกุมารพระนามว่าจุนทะ พระภาดาของหม่อมฉัน กล่าวอย่างนี้ว่า หญิงหรือชาย เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาด จากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุรา และ เมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ผู้นั้นตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ดังนี้
หม่อมฉันจึงขอทูลถามว่า ผู้ที่เลื่อมใสในศาสดาเช่นไร เมื่อตายไปแล้ว จึงเข้าถึง สุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในธรรมเช่นไร เมื่อตายไป แล้ว จึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในสงฆ์เช่นไร เมื่อตาย ไปแล้วจึง เข้าถึง สุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่ทำให้บริบูรณ์ในศีลเช่นไร เมื่อตายไปแล้ว จึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรจุนที สัตว์ที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดีมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณ เท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าสัตว์ เหล่านั้น
ชนเหล่าใด เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศ ย่อมมีแก่บุคคล ผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ธรรมที่เป็นปัจจัยปรุงแต่งก็ดี ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคะ คือ ธรรมอันย่ำยีความเมา กำจัด ความกระหายถอนเสียซึ่งอาลัย เข้าไปตัดวัฏฏะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น
ชนเหล่าใด เลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศ ย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ฯ หมู่ก็ดี คณะก็ดีมีประมาณ เท่าใด สงฆ์สาวกของพระตถาคต คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้สงฆ์สาวกของ พระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น
ชนเหล่าใด เลื่อมใสในสงฆ์ ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบาก อันเลิศ ย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ศีลมีประมาณเท่าใด ศีลที่พระอริยเจ้า ใคร่แล้ว คือ ศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุไม่ด่าง ไม่พร้อยเป็นไทย อันวิญญูชน สรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิไม่ลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ บัณฑิต กล่าวว่าเลิศกว่าศีล เหล่านั้น
ชนเหล่าใด ย่อมทำให้บริบูรณ์ในอริยกันตศีล ชนเหล่านั้นชื่อว่า ทำให้ บริบูรณ์ ในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ บุญอันเลิศ คือ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุขและกำลัง ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้รู้แจ้งธรรม ที่เลิศ เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศคือ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ
ผู้เป็นทักขิเณยบุคคล ชั้นเยี่ยม เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศ อันปราศจาก ราคะ เป็นที่เข้าไปสงบ เป็นสุข เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ เป็นนาบุญชั้นเยี่ยม ให้ทานในสิ่งที่เลิศ ปราชญ์ผู้ถือมั่นธรรมที่เลิศ ให้สิ่งที่เลิศ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ย่อมถึงสถานที่เลิศ บันเทิงใจอยู่ |