เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
สุนักขัตตสูตร : ภิกษุสุนักขัตตะ ถาม พ.ว่า ภิกษุพยากรณ์ตนว่าบรรลุแล้ว ได้จริงหรือ 1491
 

(โดยย่อ)

สุนักขัตตสูตร

พระสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
มีภิกษุมากรูปด้วยกัน พยากรณ์อรหัตผล ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า ตนเองรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้วกิจ ที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ..เป็นการ พยากรณ์อรหัตผลโดยชอบ หรือว่าความสำคัญผิดว่าตนได้บรรลุ

ดูกรสุนักขัตตะ พวกภิกษุที่พยากรณ์ อรหัตผลี นั้น มีบางเหล่า ในพวกนี้ได้พยากรณ์อรหัตผล โดยชอบแท้ แต่ก็มีภิกษุบางเหล่า ในที่นี้ได้พยากรณ์อรหัตผล ด้วยความสำคัญว่า ตนได้บรรลุบ้าง (มีทั้งบรรลุจริง และสำคัญตนผิดว่าบรรลุแล้ว)
--------------------------------------------------------------------

ดูกรสุนักขัตตะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

1.บางคนน้อมใจไปในโลกามิส(กามคุณ๕) ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรม อันควรแก่โลกามิส คบแต่ คนชนิดเดียวกัน เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับ อาเนญชสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง เปรียบเหมือนคนที่จาก นิคม ของตนไปนาน พบบุรุษคนหนึ่งผู้จากนิคมนั้นไปใหม่ๆ ต้องถามบุรุษนั้น ถึงเรื่องหรือนิคมนั้นๆ

2. บางคนน้อมใจไปใน อาเนญชสมาบัติ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่ อาเนญชสมาบัติเท่านั้น ย่อม ตรึก ย่อมตรองธรรม อันควรแก่ อาเนญชสมาบัติ คบแต่คนชนิดเดียวกัน เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับ โลกามิส ย่อมไม่สนใจฟัง เปรียบเหมือนใบไม้เหลือง หลุดจากขั้วแล้ว ไม่อาจเป็นของเขียว สดได้

3. บางคนเป็นผู้น้อมใจไป ในอากิญจัญญายตนสมาบัติ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่ อากิญจัญญาฯ เท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรอง ธรรมอันควรแก่ อากิญจัญญาฯ คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจ กับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับ อาเนญชสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง เปรียบเหมือนศิลา แตก ออกเป็น ๒ ซีก ย่อมเชื่อมให้สนิทไม่ได้

4.บางคนเป็นผู้น้อมใจไป ในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ผู้น้อมใจไปในเนวสัญญาฯ ถนัดแต่เรื่อง ที่เหมาะแก่ เนวสัญญาฯ ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรมอันควรแก่ เนวสัญญา คบแต่คนเช่น เดียวกัน แต่เมื่อ มีใครพูดถึง เรื่องเกี่ยวกับ อากิญจัญญายตนสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง เปรียบเหมือน คนบริโภคโภชนะ ที่ถูกใจอิ่มหนำแล้ว พึงทิ้งเสีย

5.บุคคลผู้น้อมใจไป ในนิพพานโดยชอบ ถนัดแต่เรื่อง ที่เหมาะแก่นิพพานโดยชอบเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรม อันควรแก่นิพพานโดยชอบ คบแต่คนเช่นเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคน เช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ เนวสัญญาฯ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่คบคนชนิดนั้นเปรียบเหมือน ตาล ยอดด้วน ไม่อาจงอกงามได้อีก

(ผู้ที่บรรลุธรรมขั้นใดก็จะสนใจธรรมในชั้นนั้น สนใจที่จะพูดจาสนทนากับคนระดับเดียวกัน ใครพูดถึง ธรรมในชั้นที่ตำกว่าภูมิปัญญาของตนก็จะไม่สนใจ)

ลูกศรคือตัณหา อวิชชาคือโทษอันเป็นพิษ
ลูกศร คือตัณหา โทษอันเป็นพิษคือ อวิชชา ย่อมงอกงามได้ด้วย ฉันทราคะและพยาบาท ตถาคต ละลูกศรคือตัณหานั้นได้แล้ว กำจัดโทษอันเป็นพิษ คืออวิชชาได้แล้ว จึงเป็นผู้มีใจ น้อมไปในนิพพาน โดยชอบ นั่นเป็นฐานะที่มีได้แล

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)

 

 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๗

๕. สุนักขัตตสูตร (๑๐๕)

            [๖๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขต พระนคร เวสาลี ก็สมัยนั้นแล มีภิกษุมากรูปด้วยกันทูล พยากรณ์อรหัตผล ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า พวกข้าพระองค์รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้วกิจ ที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

            [๖๘] พระสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้ทราบข่าวว่า มีภิกษุมากรูปด้วยกัน ได้ทูลพยากรณ์อรหัตผล ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า พวกข้าพระองค์รู้ชัดว่าชาติ สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้ มิได้มี จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ทราบข่าวดังนี้ว่า มีภิกษุมากด้วยกัน ได้ทูลพยากรณ์อรหัตผล ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า พวกข้าพระองค์รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกภิกษุที่ทูลพยากรณ์อรหัตผล ในสำนักของ พระผู้มีพระภาคดังนั้น ได้ทูลพยากรณ์อรหัตผลโดยชอบหรือ หรือว่าภิกษุบางเหล่า ในพวกนี้ ได้ทูลพยากรณ์อรหัตผล ด้วยความสำคัญว่าตนได้บรรลุ

            [๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสุนักขัตตะ พวกภิกษุที่พยากรณ์ อรหัตผล ในสำนักของเราว่า พวกข้าพระองค์รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี นั้น มีบางเหล่า ในพวกนี้ได้พยากรณ์อรหัตผล โดยชอบแท้ แต่ก็มีภิกษุบางเหล่า ในที่นี้ได้พยากรณ์อรหัตผล ด้วยความสำคัญว่า ตนได้บรรลุบ้าง (มีทั้งบรรลุจริง และสำคัญตนผิดว่าบรรลุแล้ว)

            ดูกรสุนักขัตตะ ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุพวกที่พยากรณ์อรหัตผลโดยชอบ แท้นั้นย่อมมีอรหัตผลจริงทีเดียว ส่วนในภิกษุพวกที่พยากรณ์อรหัตผล ด้วยความสำคัญว่า ตนได้บรรลุนั้น ตถาคตมีความดำริอย่างนี้ว่า จักแสดงธรรม แก่เธอ

            ดูกรสุนักขัตตะ ในเรื่องนี้ตถาคตมีความดำริว่า จักแสดงธรรมแก่ภิกษุ เหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ แต่ถ้าธรรมวินัยนี้มีโมฆบุรุษ บางพวกคิดแต่งปัญหา เข้ามาถามตถาคต ข้อที่ตถาคตมีความดำริในภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า จักแสดงธรรม แก่เธอนั้น ก็จะเป็นอย่างอื่นไป

            พระสุนักขัตตะทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ขณะนี้เป็นกาลสมควร แล้วๆ ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรม ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มี พระภาค แล้วจักทรงจำไว้

            พ. ดูกรสุนักขัตตะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป พระสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ทูลรับพระดำรัสแล้ว

            [๗๐] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรสุนักขัตตะ กามคุณนี้มี ๕ อย่างแล ๕ อย่างเป็นไฉน คือ

(๑) รูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

(๒) เสียงที่รู้ได้ด้วยโสต อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

(๓) กลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

(๔) รสที่รู้ได้ด้วยชิวหา
อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

(๕) โผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจเป็นที่รัก ประกอบด้วย กาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

            ดูกรสุนักขัตตะ นี้แลกามคุณ ๕ อย่าง

-------------------------------------------------------------------------------------------

            [๗๑] ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ปุริสบุคคลบางคนในโลกนี้ พึงเป็นผู้น้อมใจ ไปในโลกามิส นั่นเป็นฐานะที่มีได้แล ปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในโลกามิส ถนัด แต่เรื่องที่เหมาะแก่โลกามิสเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรม อันควรแก่โลกามิส คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดเรื่อง เกี่ยวกับ อาเนญชสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ไม่คบคน ชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น เปรียบเหมือนคนที่จากบ้าน หรือ นิคมของตนไปนาน พบบุรุษคนใดคนหนึ่งผู้จากบ้าน หรือนิคมนั้นไปใหม่ๆ ต้องถามบุรุษนั้น ถึงเรื่องที่บ้าน หรือนิคมนั้นมีความเกษม ทำมาหากินดี และมีโรคภัยไข้เจ็บน้อย บุรุษนั้นพึงบอกเรื่องที่บ้าน หรือนิคมนั้นมีความเกษม ทำมาหากินดี และมีโรคภัย ไข้เจ็บน้อยแก่เขา

             ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เขาจะพึงสนใจฟังบุรุษ นั้น เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ คบบุรุษนั้นและถึงความใฝ่ใจกับบุรุษนั้น บ้างไหมหนอ

            สุ. แน่นอน พระพุทธเจ้าข้า

            พ. ดูกรสุนักขัตตะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ข้อที่ปุริสบุคคลบางคนในโลกนี้ พึงเป็นผู้ น้อมใจไปในโลกามิส นั่นเป็นฐานะที่มีได้แล ปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปใน โลกามิส ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่โลกามิสเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรมอันควรแก่ โลกามิส คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูด เรื่องเกี่ยวกับ อาเนญชสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น พึงทราบเถิดว่า เป็นปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในโลกามิส

-------------------------------------------------------------------------------------------

            [๗๒] ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ปุริสบุคคลบางคนในโลกนี้ พึงเป็นผู้น้อมใจ ไปใน อาเนญชสมาบัติ นั่นเป็นฐานะที่มีได้แล ปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปใน อาเนญช สมาบัติ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่ อาเนญชสมาบัติเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรม อันควรแก่ อาเนญชสมาบัติ คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับโลกามิส ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น เปรียบเหมือน ใบไม้เหลือง หลุดจากขั้วแล้ว ไม่อาจเป็นของเขียวสดได้ ฉันใด

          ดูกรสุนักขัตตะ ฉันนั้นเหมือนกัน แล เมื่อความเกี่ยวข้อง ในโลกามิสของ ปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปใน อาเนญชสมาบัติ หลุดไปแล้ว บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น พึงทราบเถิดว่า เป็นปุริสบุคคล ผู้น้อมใจไป ในอาเนญชสมาบัติ พรากแล้วจาก ความเกี่ยวข้องในโลกามิส
-------------------------------------------------------------------------------------------

            [๗๓] ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ปุริสบุคคล บางคนในโลกนี้ พึงเป็นผู้ น้อมใจไป ในอากิญจัญญายตนสมาบัติ นั่นเป็นฐานะที่มีได้แล ปุริสบุคคล ผู้น้อมใจไป ในอากิญ จัญญายตนสมาบัติ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่ อากิญจัญญา ยตน สมาบัติเท่านั้น ย่อม ตรึก ย่อมตรอง ธรรมอันควรแก่ อากิญจัญญายตนสมาบัติ คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับ อาเนญชสมาบัติ ย่อม ไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจ กับคนชนิดนั้น เปรียบเหมือน ศิลาก้อน แตกออกเป็น ๒ ซีกแล้ว ย่อมเป็นของ เชื่อมกัน ให้สนิทไม่ได้ ฉันใด

            ดูกรสุนักขัตตะ ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อความเกี่ยวข้อง ในอาเนญช สมาบัติ ของปุริสบุคคลผู้น้อมใจไป ในอากิญจัญญายตนสมาบัติแตกไปแล้ว บุคคล ที่เป็นอย่างนี้นั้น พึงทราบเถิดว่า เป็นปุริสบุคคลผู้น้อมใจ ไปในอากิญจัญญายตน สมาบัติ พรากแล้วจากความเกี่ยวข้อง ในอาเนญชสมาบัติ

-------------------------------------------------------------------------------------------

            [๗๔] ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ปุริสบุคคลบางคนในโลกนี้ พึงเป็นผู้ น้อมใจไป ในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ นั่นเป็นฐานะที่มีได้แล ปุริสบุคคล ผู้น้อมใจไป ในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่ เนวสัญญานา สัญญายตนสมาบัติ ย่อมตรึก ย่อมตรอง ธรรมอันควรแก่ เนวสัญญา นาสัญญายตน สมาบัติ คบแต่คนเช่นเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดถึง เรื่องเกี่ยวกับ อากิญจัญญายตนสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับไม่ตั้งจิต รับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจ กับคนชนิดนั้น เปรียบเหมือนคนบริโภค โภชนะ ที่ถูกใจอิ่มหนำแล้ว พึงทิ้งเสีย

            ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เขาจะพึงมีความ ปรารถนาในภัตนั้น บ้างไหมหนอ

สุ. ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า
พ. นั่นเพราะเหตุไร
สุ. เพราะว่าภัตโน้น ตนเองรู้สึกว่า เป็นของปฏิกูลเสียแล้ว

            พ. ดูกรสุนักขัตตะ ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อความเกี่ยวข้อง ในอากิญ จัญญายตน สมาบัติ อันปุริสบุคคลผู้น้อมใจไป ในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ คายได้แล้ว บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น พึงทราบเถิดว่า เป็นปุริสบุคคลผู้น้อมใจไป ใน เนวสัญญา นาสัญญายตนสมาบัติ พรากแล้วจากความเกี่ยวข้อง ในอากิญจัญญา ยตนสมาบัติ

-------------------------------------------------------------------------------------------

            [๗๕] ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ปุริสบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้น้อมใจไป ในนิพพานโดยชอบ นั่นเป็นฐานะที่มีได้แล ปุริสบุคคลผู้น้อมใจ ไปในนิพพาน โดยชอบ ถนัดแต่เรื่อง ที่เหมาะแก่นิพพานโดยชอบเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรม อันควรแก่นิพพานโดยชอบ คบแต่คนเช่นเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น เปรียบเหมือนตาลยอดด้วน ไม่อาจงอกงามได้อีก ฉันใด

            ดูกรสุนักขัตตะ ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อความเกี่ยวข้องใน เนวสัญญานา สัญญาย ตนสมาบัติ อันปุริสบุคคลผู้น้อมใจ ไปในนิพพานโดยชอบตัดขาดแล้ว ถอนราก ขึ้นแล้ว ไม่มีเหตุตั้งอยู่ได้ดังต้นตาล ถึงความเป็นไปไม่ได้แล้ว มีความไม่ เกิดต่อไปเป็นธรรมดา บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น พึงทราบเถิดว่าเป็น ปุริสบุคคล ผู้น้อมใจไปในนิพพานโดยชอบ พรากแล้วจากความเกี่ยวข้องในเนวสัญญานา สัญญายตนสมาบัติ

-------------------------------------------------------------------------------------------

            [๗๖] ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ภิกษุบางรูป ในธรรมวินัยนี้ พึงมีความดำริ อย่างนี้ว่า พระสมณะตรัสลูกศร คือตัณหาไว้แล โทษอันเป็นพิษคือ อวิชชา ย่อม งอกงามได้ด้วย ฉันทราคะ และพยาบาท เราละลูกศร คือตัณหานั้นได้แล้ว กำจัด โทษ อันเป็นพิษ คืออวิชชาได้แล้ว จึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบ นั่นเป็นฐานะที่มีได้แล

สิ่งที่เป็นผลเบื้องต้น พึงมีได้อย่างนี้ คือ เธอประกอบเนืองๆซึ่งอารมณ์ อันไม่เป็นที่ สบายของใจ อันน้อมไปในนิพพานโดยชอบ ได้แก่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งทัสสนะคือรูป อันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ประกอบเนืองๆ
ซึ่งเสียง อันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ประกอบเนืองๆ
ซึ่งกลิ่น อันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะประกอบเนืองๆ
ซึ่งรส อันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ประกอบเนืองๆ
ซึ่งโผฏฐัพพะ อันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ประกอบเนืองๆ

ซึ่งธรรมารมณ์ อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน เมื่อเธอประกอบเนืองๆ
ซึ่งทัสสนะ คือรูป อันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ
ซึ่งเสียง อันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต
ซึ่งกลิ่น อันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ
ซึ่งรส อันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา
ซึ่งโผฏฐัพพะ อันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย
ซึ่งธรรมารมณ์ อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโนแล้ว ราคะพึงตามกำจัดจิต เธอมีจิตถูกราคะ ตามกำจัดแล้ว พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย

เปรียบเหมือนบุรุษ ถูกลูกศรที่มียาพิษ อาบไว้อย่างหนาแล้ว มิตรอำมาตย์ ญาติสา โลหิต ของเขาให้หมอผ่าตัดรักษา หมอผ่าตัดใช้ศาตรา ชำแหละปากแผล ของเขา ครั้นแล้วใช้เครื่องตรวจค้นหาลูกศร แล้วถอนลูกศรออก กำจัดโทษคือพิษ ที่ยังมีเชื้อ เหลือติดอยู่ จนรู้ว่าไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่ จึงบอกอย่างนี้ว่า

            ดูกรพ่อมหาจำเริญ เราถอนลูกศรให้ท่านเสร็จแล้ว โทษคือพิษเราก็กำจัด จนไม่มีเชื้อ เหลือติดอยู่แล้ว ท่านหมดอันตราย และพึงบริโภคโภชนะที่สบายได้ เมื่อท่านจะบริโภคโภชนะที่แสลง ก็อย่าให้แผลต้องกำเริบ และท่านต้องชะแผล ทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา เมื่อท่านชะแผลทุกเวลา ทายาสมาน ปากแผล ทุกเวลา อย่าให้น้ำเหลือง และเลือดรัดปากแผลได้ และท่านอย่าเที่ยว ตากลม ตากแดด ไปเนืองๆ เมื่อท่านเที่ยวตากลม ตากแดดไป เนืองๆ แล้วก็อย่า ให้ละออง และของโสโครกติดตามทำลายปากแผลได้

            ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านต้องคอยรักษาแผลอยู่ จนกว่าแผลจะประสานกัน บุรุษนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า หมอถอนลูกศรให้เราเสร็จแล้ว โทษคือพิษหมอ ก็กำจัด จนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว เราหมดอันตราย เขาจึงบริโภคโภชนะที่แสลง เมื่อบริโภค โภชนะที่แสลงอยู่ แผลก็กำเริบ และไม่ชะแผลทุกเวลา ไม่ทายาสมาน ปากแผล ทุกเวลา เมื่อเขาไม่ชะแผลทุกเวลา ไม่ทายาสมานปากแผลทุกเวลา น้ำเหลือง และเลือดก็รัดปากแผล และเขาเที่ยวตากลม ตากแดด ไปเนืองๆ เมื่อเขาเที่ยว ตากลม ตากแดดไปเนืองๆ แล้ว ปล่อยให้ละออง และของโสโครก ติดตามทำลาย ปากแผลได้ ไม่คอยรักษาแผลอยู่ จนแผลประสานกันไม่ได้ เพราะเขา ทำสิ่งที่แสลง นี้แล แผลจึงถึงความบวมได้ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ไม่กำจัดของ ไม่ สะอาด และโทษ คือพิษอันยังมีเชื้อเหลือติดอยู่ เขามีแผล ถึงความบวมแล้ว พึงเข้าถึง ความตาย หรือทุกข์ปางตายได้ ฉันใด

            ดูกรสุนักขัตตะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ข้อที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงมีความดำริ อย่างนี้ว่าพระสมณะ ตรัสลูกศรคือตัณหาไว้แล โทษอันเป็นพิษคือ อวิชชาย่อมงอกงามได้ด้วย ฉันท ราคะ และพยาบาท เราละลูกศรคือตัณหานั้น ได้แล้ว กำจัดโทษ อันเป็นพิษ คืออวิชชาได้แล้ว จึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน โดยชอบ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ สิ่งที่เป็นผลเบื้องต้นพึงมีได้อย่างนี้ คือ เธอประกอบ เนืองๆ ซึ่ง อารมณ์อันไม่เป็นที่สบายของใจ อันน้อมไปในนิพพานโดยชอบ

ได้แก่ ประกอบเนืองๆ

ซึ่งทัสสนะ คือรูป อันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ประกอบเนืองๆ
ซึ่งเสียง อันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ประกอบเนืองๆ
ซึ่งกลิ่น อันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะประกอบเนืองๆ
ซึ่งรส อันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ประกอบเนืองๆ
ซึ่งโผฏฐัพพะ อันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ประกอบเนืองๆ
ซึ่งธรรมารมณ์ อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน

เมื่อเธอประกอบเนืองๆ

ซึ่งทัสสนะ คือ รูปอันไม่เป็นสบายด้วยจักษุ
ซึ่งเสียงอันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต
ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ
ซึ่งรสอันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา
ซึ่งโผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย
ซึ่งธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโนแล้ว ราคะพึงตามกำจัดจิตเธอ มีจิตถูก ราคะตามกำจัดแล้ว พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย

            ดูกรสุนักขัตตะ ก็ความตายนี้ในวินัยของพระอริยะ ได้แก่ลักษณะที่ภิกษุ บอกคืน สิกขา แล้วเวียนมาเพื่อหีนเพศ ส่วนทุกข์ปางตายนี้ ได้แก่ลักษณะที่ภิกษุ ต้องอาบัติ มัวหมอง ข้อใดข้อหนึ่ง

            [๗๗] ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงมีความดำริ อย่างนี้ ว่า พระสมณะตรัสลูกศร คือตัณหาไว้แล โทษอันเป็นพิษคืออวิชชา ย่อม งอกงามได้ด้วย ฉันท ราคะ และพยาบาท เราละลูกศรคือตัณหานั้นได้แล้ว กำจัดโทษ อันเป็นพิษ คืออวิชชาได้แล้ว จึงเป็นผู้มีใจน้อมไป ในนิพพานโดยชอบ นั่นเป็นฐานะที่มีได้แล เมื่อใจน้อมไปในนิพพาน โดยชอบนั่นแล เธอไม่ประกอบ เนืองๆซึ่งอารมณ์ อันไม่เป็นที่สบายของใจ อันน้อมไปในนิพพานโดยชอบแล้ว

ได้แก่ไม่ประกอบเนืองๆ

ซึ่งทัสสนะ คือรูป อันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งเสียง อันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งกลิ่น อันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ ไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งรส อันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งโผฏฐัพพะ อันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งธรรมารมณ์ อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน

เมื่อเธอไม่ประกอบเนืองๆ

ซึ่งทัสสนะ คือรูป อันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ
ซึ่งเสียง อันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต
ซึ่งกลิ่น อันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ
ซึ่งรส อันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา
ซึ่งโผฏฐัพพะ อันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย
ซึ่งธรรมารมณ์ อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน ราคะก็ไม่ตาม กำจัดจิต เธอมีจิตไม่ถูก ราคะตามกำจัดแล้ว ไม่พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย เปรียบเหมือนบุรุษ ถูกลูกศรมียาพิษอาบ ไว้อย่างหนาแล้ว มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตของเขา ให้หมอผ่าตัดรักษา หมอผ่าตัด ใช้ศาตรา ชำแหละปากแผลของเขา

            ครั้นแล้วใช้เครื่องตรวจค้นหาลูกศร แล้วถอนลูกศรออก กำจัดโทษคือพิษ ที่ยังมีเชื้อเหลือติดอยู่ จนรู้ว่าไม่มีเชื้อเหลืออยู่ จึงบอกอย่างนี้ว่า

            ดูกรพ่อมหาจำเริญ เราถอนลูกศรให้ท่านเสร็จแล้ว โทษคือพิษเราก็กำจัด จนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว ท่านหมดอันตราย และพึงบริโภคโภชนะที่สบายได้ เมื่อท่านจะบริโภคโภชนะที่แสลง ก็อย่าให้แผลต้องกำเริบ และท่านต้องชะแผล ทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา เมื่อท่านชะแผลทุกเวลา ทายาสมาน ปากแผล ทุกเวลา อย่าให้น้ำเหลืองและเลือดรัดปากแผลได้ และท่านอย่าเที่ยว ตากลม ตากแดด ไปเนืองๆ เมื่อท่านเที่ยวตากลมตากแดด ไปเนืองๆแล้ว ก็อย่าให้ ละออง และของโสโครกติดตามทำลายปากแผลได้

            ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านต้องคอยรักษาแผลอยู่ จนกว่าแผลจะประสานกัน บุรุษนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า หมอถอนลูกศรให้เราเสร็จแล้ว โทษคือพิษหมอก็กำจัด จนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว เราหมดอันตราย เขาจึงบริโภคโภชนะที่สบาย เมื่อ บริโภคโภชนะ ที่สบายอยู่ แผลก็ไม่กำเริบ และชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผล ทุกเวลา เมื่อเขาชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผล ทุกเวลาน้ำเหลืองและเลือด ก็ไม่รัดปากแผล และเขาไม่เที่ยวตากลมตากแดด ไปเนืองๆ

เมื่อเขาไม่เที่ยวตากลมตากแดด ไปเนืองๆ ละอองและของโสโครก ก็ไม่ติดตาม ทำลายปากแผล เขาคอยรักษาแผลอยู่ จนแผลหายประสานกัน เพราะเขาทำสิ่ง ที่สบายนี้แล แผลจึงหายได้ด้วย ๒ ประการ คือ กำจัดของไม่สะอาด และโทษคือ พิษจนไม่มีเชื้อ เหลือติดอยู่แล้ว เขามีแผลหาย ผิวหนังสนิทแล้ว จึงไม่พึงเข้าถึง ความตาย หรือทุกข์ปางตาย ฉันใด

            ดูกรสุนักขัตตะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ข้อที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงมี ความดำริอย่างนี้ว่า พระสมณะตรัสลูกศร คือตัณหาไว้แล โทษอันเป็นพิษคืออวิชชา ย่อมงอกงามได้ด้วยฉันทราคะและพยาบาท เราละลูกศร คือตัณหาได้แล้ว กำจัด โทษ อันเป็นพิษ คืออวิชชาได้แล้ว จึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบ นั่นเป็น ฐานะที่มีได้ เมื่อใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบ อยู่นั่นแล เธอไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่ง อารมณ์ อันไม่เป็นที่สบายของใจ อันน้อมไปในนิพพานโดยชอบแล้ว

ได้แก่ ไม่ประกอบเนืองๆ

ซึ่งทัสสนะ คือรูปอันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งเสียง อันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งกลิ่น อันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ ไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งรส อันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งโผฏฐัพพะ อันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ไม่ประกอบเนืองๆ
ซึ่งธรรมารมณ์ อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน

เมื่อเธอไม่ประกอบเนืองๆ

ซึ่งทัสสนะ คือรูป อันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ
ซึ่งเสียง อันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต
ซึ่งกลิ่น อันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ
ซึ่งรส อันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา
ซึ่งโผฏฐัพพะ อันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย
ซึ่งธรรมารมณ์ อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโนแล้ว ราคะก็ไม่ตามกำจัดจิต เธอมีจิตไม่ถูก ราคะตามกำจัดแล้ว ไม่พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย

            ดูกรสุนักขัตตะ เราอุปมาเปรียบเทียบดังนี้ เพื่อให้รู้เนื้อความ เนื้อความ ในอุปมานี้ คำว่าแผล เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ โทษคือพิษ เป็นชื่อของอวิชชา ลูกศร เป็นชื่อของตัณหา เครื่องตรวจเป็นชื่อของสติ ศาตรา เป็นชื่อของปัญญา ของพระอริยะ หมอผ่าตัดเป็นชื่อของตถาคต ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว

            ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ภิกษุนั้นทำความสำรวม ในอายตนะอันที่เป็นกระทบ ๖ อย่าง รู้ดังนี้ว่า อุปธิเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์ จึงเป็นผู้ปราศจากอุปธิ พ้นวิเศษแล้ว ในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ จักน้อมกาย หรือปล่อยจิตไปในอุปธิ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ เปรียบเหมือนภาชนะมีน้ำดื่มเต็มเปี่ยม ถึงพร้อมด้วยสี ด้วยกลิ่นด้วยรส แต่ระคน ด้วยยาพิษ เมื่อบุรุษผู้รักชีวิต ยังไม่อยากตาย ปรารถนาสุขเกลียดทุกข์ พึงมาถึงเข้า

            ดูกรสุนักขัตตะ เธอสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงดื่มน้ำ ที่เต็มเปี่ยม ภาชนะ นั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่า ดื่มแล้วจะเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย บ้างไหมหนอ

            สุ. ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า

            [๗๘] พ. ดูกรสุนักขัตตะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ข้อที่ภิกษุนั้นทำความ สำรวม ในอายตนะ อันเป็นที่กระทบ ๖ อย่าง รู้ดังนี้ว่าอุปธิเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์ จึงเป็นผู้ ปราศจากอุปธิ พ้นวิเศษแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ จักน้อมกายหรือปล่อยจิต ไปใน อุปธิ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ ดูกรสุนักขัตตะ เปรียบเหมือนงูพิษ มีพิษร้ายแรง เมื่อบุรุษ ผู้รักชีวิต ยังไม่อยากตาย ปรารถนาสุข เกลียดทุกข์ พึงมา ถึงเข้า ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงยื่นมือ หรือหัวแม่ มือให้แก่งูพิษ ที่มีพิษร้ายแรงนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่า ถูกงูกัดแล้ว จะเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ ปางตาย บ้างไหมหนอ

            สุ. ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า

            [๗๙] พ. ดูกรสุนักขัตตะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ข้อที่ภิกษุนั้น ทำความ สำรวม ในอายตนะเป็นที่กระทบ ๖ อย่าง รู้ดังนี้ว่า อุปธิเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์ จึงเป็นผู้ปราศจากอุปธิ พ้นวิเศษแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ จักน้อมกาย หรือปล่อย จิตไป ในอุปธิ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

            พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว พระสุนักขัตตะลิจฉวีบุตร ชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์