เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

  นางวิสาขามิคารมาตาเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ (เรื่องภิกษุทะเลาะกัน) 1489
  (โดยย่อ)

เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน
นางวิสาขามิคารมาตาเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วิสาขา
  - ถ้ากระนั้น เธอจงถวายทานในภิกษุสองฝ่าย
  - ครั้นถวายทานในสองฝ่ายแล้ว จงฟังธรรมในสองฝ่าย ครั้นฟังธรรมในสองฝ่ายแล้ว
  - ภิกษุเหล่าใดเป็นธรรมวาที เธอจงพอใจในความเห็น และความเชื่อถือของภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น
---------------------------------------------------------
สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคีนั้น ไม่เป็นธรรม (ต้องสาวถึงสาเหตุก่อน)

สังฆสามัคคีมี ๒ อย่าง คือ
๑) สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ 
๒) สังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะ 

๑. อุบาลี สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะเป็นไฉนเล่า?
ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวราน แห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัย เรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี นี้เรียกว่าสังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ.
๒. อุบาลี สังฆสามัคคี ได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะเป็นไฉนเล่า?
ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวราน แห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้น สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี นี้เรียกว่าสังฆสามัคคีที่ได้ทั้งอรรถ ได้ทั้ง พยัญชนะ

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๒๗๒


นางวิสาขามิคารมาตาเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ
(เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน)

             [๒๕๖] นางวิสาขามิคารมาตาได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมางก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี จึงเข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นางวิสาขามิคารมาตา นั่งเฝ้า เรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้ แด่พระผู้มีพระภาคว่าพระพุทธเจ้าข้า

        ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี หม่อมฉันจะปฏิบัติในภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?

       พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วิสาขา ถ้ากระนั้น เธอจงถวายทานในภิกษุสองฝ่าย ครั้นถวายทานในสองฝ่ายแล้ว จงฟังธรรมในสองฝ่าย ครั้นฟังธรรมในสองฝ่ายแล้ว ภิกษุเหล่าใดในสองฝ่ายนั้นเป็นธรรมวาที เธอจงพอใจในความเห็น ความถูกใจ ความชอบและความเชื่อถือของภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น.

             [๒๕๗] ครั้งนั้น พวกชาวเมืองโกสัมพี ได้ไปถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ จึงท่านพระสารีบุตรเข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการ ทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้นพากันมาถึงพระนคร สาวัตถีแล้วโดยลำดับ ข้าพระพุทธเจ้า จะพึงจัดเสนาสนะสำหรับภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?

       พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร ถ้ากระนั้น เธอพึงให้เสนาสนะที่ว่าง
       สา. ก็ถ้าเสนาสนะว่างไม่มี จะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?

       พ. สารีบุตร ถ้ากระนั้น พึงทำเสนาสนะให้ว่างแล้วให้ แต่เราไม่ได้กล่าวว่า พึงห้ามเสนาสนะแก่ภิกษุผู้แก่พรรษา โดยปริยายอะไรๆ หามิได้เลย รูปใดห้าม ต้องอาบัติทุกกฏ.

       สา. ในอามิสเล่า จะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?

       พ. สารีบุตร พึงแบ่งอามิสให้ภิกษุทั้งหมดเท่าๆ กัน.

รับภิกษุผู้ถูกยกเข้าหมู่

             [๒๕๘] ครั้งนั้น ภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้น พิจารณาถึงธรรมและวินัยอยู่ ได้สำนึก ข้อนี้ว่านั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ เราเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่เป็นผู้ต้อง อาบัติหามิได้เราเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยกหามิได้ เราเป็นผู้ถูกยกแล้วด้วยกรรม เป็นธรรม ไม่กำเริบควรแก่ฐานะ

        ครั้นแล้วเข้าไปหาภิกษุ พวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยก แล้วได้กล่าวคำนี้ แก่ภิกษุพวกนั้นว่า อาวุโสทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ต้องอาบัติแล้วไม่เป็นผู้ต้องอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยก หามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมเป็นธรรมไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ มาเถิดท่านทั้งหลาย ขอได้กรุณารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิด ขอรับ.

       ลำดับนั้น ภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น พาภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้น เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุ ผู้ถูกยกรูปนี้ กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่เป็นผู้ต้องอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยก หามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้วด้วยกรรมเป็นธรรมไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ มาเถิด ท่านทั้งหลาย ขอได้กรุณารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิด ขอรับ ดังนี้พวกข้าพระพุทธเจ้า จะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?

       พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติ หามิได้ ภิกษุนั่นต้องอาบัติแล้ว ภิกษุนั่นไม่ต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุนั่นถูกยกแล้ว ภิกษุนั่นไม่ถูกยกหามิได้ ภิกษุนั่นถูกยกแล้วด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ เพราะภิกษุนั้นต้องอาบัติถูกยกแล้ว และเห็นอาบัติ ฉะนั้น พวกเธอจงรับภิกษุนั้นเข้าหมู่

       จึงภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น รับภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้นเข้าหมู่แล้ว เข้าไปหาภิกษุพวกยกถึงที่อยู่ ได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุพวกยกว่า อาวุโสทั้งหลาย ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง การวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้ว เพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้น ต้องอาบัติแล้ว ถูกยกแล้วเห็นอาบัติ และสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับเรื่องนั้น.

       จึงภิกษุพวกยกเหล่านั้น เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้ แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ความบาดหมางความทะเลาะ ความแก่งแย่ง การวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้ว เพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้นต้องอาบัติแล้ว ถูกยกแล้ว เห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับเรื่องนั้น ดังนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ พระพุทธเจ้าข้า?

พระพุทธานุญาตให้ทำสังฆสามัคคี

       พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุนั้น ต้องอาบัติ แล้ว ถูกยกแล้วเห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์เข้ารับหมู่แล้ว ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับเรื่องนั้น.

วิธีทำสังฆสามัคคี

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสังฆสามัคคี พึงทำอย่างนี้ คือภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่ อาพาธ ทั้งที่ไม่อาพาธ พึงประชุมพร้อมกันทุกๆ รูป รูปไหนจะให้ฉันทะไม่ได้ ครั้นประชุมกันแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติ ทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

กรรมวาจาทำสังฆสามัคคี

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกัน แห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้นต้องอาบัติแล้ว ถูกยกแล้วเห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกัน แห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้นต้องอาบัติแล้ว ถูกยกแล้วเห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว สงฆ์ทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับ เรื่องนั้น การทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูด

สงฆ์ทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้นแล้ว ความแตกแห่งสงฆ์ ถูกกำจัดแล้ว ความ ร้าวรานแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว การถือต่างกันแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว การทำต่างกัน แห่งสงฆ์ ถูกกำจัดแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ ไว้ด้วยอย่างนี้. สงฆ์พึงทำอุโบสถ พึงสวดปาติโมกข์ ในขณะนั้นเทียว.

สังฆสามัคคี ๒ อย่าง

             [๒๕๙] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลี เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มี พระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท แห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำ ต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใดสงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาว เข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคีสังฆสามัคคีนั้น เป็นธรรมหรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า?

       พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกัน แห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคีนั้น ไม่เป็นธรรม (ต้องสาวถึงสาเหตุก่อน)

       อุ. พระพุทธเจ้าข้า ก็ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท แห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกัน แห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้นสาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้น เป็นธรรมหรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า?

       พ. อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกัน แห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้น สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคีสังฆสามัคคีนั้นเป็นธรรม.

       อ. สังฆสามัคคีมีเท่าไร พระพุทธเจ้า?

       พ. อุบาลี สังฆสามัคคีมี ๒ อย่าง คือ สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ ๑ สังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะ ๑

       ๑. อุบาลี สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะเป็นไฉนเล่า? ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะ เรื่องใด สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคีนี้เรียกว่าสังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ.

       ๒. อุบาลี สังฆสามัคคี ได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะเป็นไฉนเล่า?
ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมี เพราะ เรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้น สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี นี้เรียกว่าสังฆสามัคคีที่ได้ทั้งอรรถ ได้ทั้งพยัญชนะ อุบาลี สังฆสามัคคี ๒ อย่างนี้แล.

       ลำดับนั้น ท่านพระอุบาลีลุกจากอาสน์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือ ไปทาง พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ว่าดังนี้:-

อุบาลีคาถา

             [๒๖๐] อุ. เมื่อกิจของสงฆ์ การปรึกษาวินัย การตีความ วินัย และการ วินิจฉัย ความแห่งวินัยเกิดขึ้นแล้ว ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นคนชนิดไรจึงมีอุปการะมาก เป็นคนชนิดไร จึงควรยกย่อง ในพระธรรมวินัยนี้

       พ. เบื้องต้น ภิกษุไม่ถูกตำหนิโดยศีล หมั่นตรวจตรามารยาท และสำรวมอินทรีย์ เรียบร้อย ศัตรูติเตียนไม่ได้โดยธรรม เพราะเธอไม่มีความผิด ที่ฝ่ายศัตรูจะพึงกล่าว ถึงเธอผู้เช่นนั้น ตั้งอยู่ในศีลวิสุทธิ เป็นผู้แกล้วกล้า พูดจาฉาดฉาน เข้าที่ประชุม ไม่สะดุ้ง ไม่ประหม่า กล่าวถ้อยคำมีเหตุ ไม่ให้เสียความ ถึงถูกถามปัญหาในที่ประชุม ก็เช่นนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่นิ่งอั้น ไม่เก้อ

       เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญ กล่าวถ้อยคำถูกกาล เหมาะแก่การพยากรณ์ ย่อมยังหมู่ วิญญูชน ให้พอใจ มีความเคารพในภิกษุทั้งหลาย ที่แก่พรรษากว่า เป็นผู้แกล้วกล้า ในอาจริยวาท ของตน สามารถเพื่อจะวิจารณ์ ชำนาญในถ้อยคำที่จะพึงกล่าว ฉลาดจับข้อพิรุธ ของฝ่ายศัตรู เป็นเหตุให้ฝ่ายศัตรูถึงความถูกปราบ และมหาชน ก็ยินยอม

       อนึ่ง ภิกษุนี้ย่อมไม่ลบล้างลัทธิเป็นที่เชื่อถือ คืออาจริยวาทของตน แก้ปัญหาได้ ไม่ติดขัด สามารถในหน้าที่ทูต และยอมรับทำกิจของสงฆ์ ดุจรับบิณฑบาตของที่เขา นำมา บูชาฉะนั้น ถูกคณะภิกษุส่งไปให้ทำหน้าที่เจรจา ก็ไม่ทะนงตัวว่า ตนทำได้ เพราะการทำหน้าที่เจรจานั้น ภิกษุต้องอาบัติเพราะวัตถุมีประมาณเท่าใด และ การออกจากอาบัติย่อมมีด้วยวิธีใด วิภังค์ทั้งสองนั้นมาแล้วด้วยดีแก่ภิกษุนั้น

       ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาดในวิธีการออกจากอาบัติ อนึ่ง ภิกษุทำกรรม มีก่อความ บาดหมาง เป็นต้นเหล่าใด ย่อมถึงการขับออก และถูกขับออก ด้วยเรื่องเช่นใด เธอฉลาดในวิภังค์ ย่อมเข้าใจวิธีการรับเข้าหมู่ แม้นั้น ที่ควรทำแก่ภิกษุ ผู้ประพฤติวัตรนั้น เสร็จแล้ว มีความเคารพในพระผู้เจริญกว่า คือที่เป็นผู้ใหญ่ ปานกลาง และผู้ใหม่ เป็นบัณฑิต ประพฤติประโยชน์แก่มหาชนในโลกนี้ ภิกษุผู้เช่นนั้นนั่น จึงควรยกย่องในธรรมวินัยนี้แล.

โกสัมพิขันธกะ ที่ ๑๐ จบ.

 





พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์