เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
ทวยตานุปัสสนาสูตร ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป หลุดพ้นพร้อมๆกัน 1439
 

(โดยย่อ)

จิตของภิกษุประมาณ ๖๐ รูป หลุดพ้นแล้วจากอาสวะ หลังฟังพระเทศนา ตามลำดับ
(ทวยตานุปัสสนาสูตร )

1. อริยสัจสี่
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี นี้เป็นข้อที่ ๒

2. อุปธิ
การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า ทุกข์.. ย่อมเกิดขึ้น เพราะ อุปธิปัจจัย นี้เป็นข้อ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า เพราะอุปธิทั้งหลายดับไปเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

3. อวิชชา
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์..ย่อมเกิดขึ้น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอวิชชานั่นเองดับไป..โดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

4. สังขาร
การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า ทุกข์...ย่อมเกิดขึ้น เพราะสังขารเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า เพราะสังขารทั้งหลายดับไป เพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

5. วิญญาณ
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์...ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะวิญญาณดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

6. ผัสสะ
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์...ย่อมเกิดเพราะ ผัสสะเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะผัสสะดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

7. เวทนา
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์...ย่อมเกิดขึ้น เพราะเวทนาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะเวทนาดับ เพราสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

8. ตัณหา
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์...ย่อมเกิดขึ้น เพราะ ตัณหาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะตัณหาดับ เพราะสำรอกโดย ไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

9. อุปาทาน
การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า ทุกข์...ย่อมเกิดขึ้นเพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอุปาทานดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

10. ความริเริ่ม
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์..ย่อมเกิดขึ้น เพราะ ความริเริ่มเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะการริเริ่ม ดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

11. อาหาร
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์...ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอาหารดับ เพราะสำรอกโดย ไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

12. ความหวั่นไหว
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์...ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะความหวั่นไหว ดับไป เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

13. ตัณหา ทิฐิ มานะ
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ความดิ้นรน ย่อมมีแก่ผู้อัน ตัณหา ทิฐิ และมานะ อาศัยแล้ว นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า ผู้ที่ตัณหา ทิฐิ และมานะ ไม่อาศัยแล้ว ย่อมไม่ ดิ้นรน นี้เป็นข้อที่ ๒

14. รูปภพ อรูปภพ
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า อรูปภพ ละเอียดกว่า รูปภพ นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นิโรธ ละเอียดกว่า อรูปภพ นี้เป็นข้อ ๒

15. นามรูป
นามรูป ที่โลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก เทวดา และมนุษย์เล็งเห็นว่า นามรูปนี้ เป็นของจริง
แต่พระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นามรูปนั่น เป็นของเท็จ

16. นิพพาน
นิพพานที่โลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นิพพานนี้ เป็นของเท็จ
แต่พระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่า นิพพานนั้น เป็นของจริง

17. อารมณ์อันเป็นที่น่าพอใจ(อิฏฐารมณ์)
อิฏฐารมณ์ ที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก..เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า เป็นสุข
แต่พระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นทุกข์

18. นิพพาน-เป็นสุข
นิพพาน ที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นี้เป็นทุกข์
พระอริยะเจ้า ทั้งหลายเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นสุข

19. อารมณ์ ๖ (ความพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ ธรรมารมณ์)
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อม
  เห็นอารมณ์ ๖ ที่เกิดขึ้น ที่โลก พร้อมทั้งเทวโลก เทวดาและมนุษย์ สมมติกันว่า เป็นสุข
  เห็นอารมณ์ ๖ ที่ดับไป สมมติกันว่า เป็นทุกข์
พระอริยะเจ้าผู้ได้สดับ ย่อม
  เห็นอารมณ์ ๖ ที่เกิดขึ้น ว่าเป็นทุกข์
  เห็นอารมณ์ ๖ ที่ดับไป ว่าเป็นสุข

20. วัตถุกาม
ชนเหล่าอื่น กล่าววัตถุกาม (ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ) โดยความเป็นสุข
ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าว วัตถุกามนั้น โดยความเป็นทุกข์

21. นิพพาน
ชนเหล่าอื่น กล่าวนิพพานใด โดยความเป็นทุกข์
ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้ง กล่าวนิพพานนั้นโดยความเป็นสุข
----------------------------------------------------------------------------------------


ท่านจงพิจารณาธรรมที่รู้ได้ยาก ชนพาลทั้งหลายผู้ไม่รู้แจ้ง พากันลุ่มหลงอยู่ในโลกนี้ ความมืดตื้อ ย่อมมีแก่ชนพาลทั้งหลายผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ส่วนนิพพานเป็นธรรมชาติ เปิดเผยแก่สัตบุรุษ เหมือนอย่างแสงสว่างนั้น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดต่อธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพานที่มีอยู่ในที่ใกล้

พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้น มีใจชื่นชมยินดี จิตของภิกษุประมาณ ๖๐ รูป หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้แล

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)

 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง สุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ หน้า ๔๒๑

ทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒


             [๓๙๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของ นางวิสาขา มิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล เมื่อราตรีเพ็ญมีพระจันทร์เต็มดวง ในวันอุโบสถที่ ๑๕ ค่ำพระผู้มีพระภาคอันภิกษุสงฆ์ แวดล้อมประทับนั่งอยู่ใน อัพโภกาส ทรงชำเลืองเห็นภิกษุสงฆ์สงบนิ่ง จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
-------------------------------------------------------------------------------------------------------

1. (อริยสัจสี่)

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า จะมีประโยชน์อะไรเพื่อการฟังกุศลธรรม อันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออกไป อันให้ถึงปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ แก่ท่านทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงตอบเขาอย่างนี้ว่า มีประโยชน์เพื่อรู้ธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง ตามความเป็นจริง

ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่าท่านทั้งหลายกล่าวอะไรว่าเป็นธรรม ๒ อย่างพึงตอบเขาอย่างนี้ว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เป็นข้อที่ ๒
(เป็นการจับคู่อริยสัจสี่ 1+2 และ 3+4)

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี พระผู้มีพระภาค ผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้ จบลงแล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ ต่อไปอีกว่า


             [๓๙๑] ชนเหล่าใดไม่รู้ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง และไม่รู้มรรค อันให้ถึงความเข้าไประงับทุกข์ ชนเหล่านั้น เสื่อมแล้วจาก เจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำ ที่สุด แห่งทุกข์ได้ เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้

              ส่วนชนเหล่าใดรู้ทุกข์เหตุเกิดแห่งทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ ดับทุกข์ไม่มี ส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง และรู้มรรค อันให้ถึงความ เข้าไประงับทุกข์ ชน เหล่านั้น ถึงพร้อมแล้วด้วยเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เป็นผู้ควรที่จะทำที่สุด แห่งทุกข์ได้ และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

2. (อุปธิ)


             [๓๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมเป็น ธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ จะพึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม พึงตอบเขาว่า พึงมี ถ้าเขา พึงถามว่า พึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า ทุกข์อย่างใด อย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้น เพราะ อุปธิปัจจัย นี้เป็นข้อ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า เพราะอุปธิทั้งหลายนี้เองดับไปเพราะสำรอก โดย ไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิดนี้เป็นข้อที่ ๒

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่าทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีเป็นอันมาก ในโลก ย่อมเกิดเพราะอุปธิ เป็นเหตุ ผู้ใดแลไม่รู้ย่อมกระทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นผู้เขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะเหตุนั้น ผู้พิจารณาเห็นเหตุเกิด แห่งทุกข์ เนืองๆ ทราบชัดอยู่ ไม่พึงทำอุปธิ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

3. (อวิชชา)

             [๓๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรม เป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ พึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม ควรตอบเขาว่า พึงมี ถ้าเขาถามว่า พึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอวิชชานั่นเองดับไปเพราะสำรอก โดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า อวิชชานั้นเอง เป็นคติ ของสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงชาติมรณะ และสงสารอันมีความเป็น อย่างนี้ และ ความเป็นอย่างอื่นบ่อยๆ อวิชชา คือความหลงใหญ่นี้ เป็นความเที่ยง อยู่สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลาย ผู้ไปด้วยวิชชาเท่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

4. (สังขาร)

             [๓๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใด อย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะสังขารทั้งหลาย นั่นเองดับไป เพราะสำรอก โดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

       ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่าทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย เพราะสังขาร ทั้งหลายดับ โดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิดภิกษุรู้โทษนี้ว่า เพราะสังขารเป็นปัจจัย ทุกข์จึงเกิดขึ้น เพราะความ สงบ แห่งสังขารทั้งมวล สัญญาทั้งหลายจึงดับ ความสิ้นไป แห่งทุกข์ ย่อมมีได้ ด้วยอาการ อย่างนี้ ภิกษุรู้ความสิ้นไปแห่งทุกข์นี้ โดยถ่องแท้ บัณฑิตทั้งหลาย ผู้เห็นชอบผู้ถึงเวทย์ รู้โดยชอบแล้ว ครอบงำกิเลส เป็นเครื่องประกอบของมาร ได้แล้ว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

5. (วิญญาณ)

             [๓๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใด อย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะวิญญาณนั่นเองดับ เพราะสำรอก โดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบ อย่างนี้ ฯลฯจึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เพราะวิญญาณ ดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้น เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัยดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วเพราะความเข้าไป สงบแห่ง วิญญาณ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

6. (ผัสสะ)

             [๓๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใด อย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดเพราะ ผัสสะเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะผัสสะนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่าความสิ้นไปแห่ง สังโยชน์ ของชนทั้งหลายผู้อันผัสสะครอบงำแล้ว ผู้แล่นไปตาม กระแส แห่งภวตัณหา ผู้ดำเนินไปแล้วสู่หนทางผิด ย่อมอยู่ห่างไกล ส่วนชนเหล่าใด กำหนดรู้ผัสสะ ด้วยปัญญา ยินดีแล้วในธรรมเป็นที่เข้าไปสงบชนแม้เหล่านั้น เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วเพราะการดับไปแห่งผัสสะ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

7. (เวทนา)

             [๓๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้น เพราะเวทนาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะเวทนา นั่นเองดับ เพราสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณา เห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า ภิกษุรู้เวทนาอย่างใด อย่างหนึ่ง คือ สุขเวทนา หรือทุกขเวทนา กับอทุกขมสุขเวทนา ที่มีอยู่ทั้งภายใน และภายนอกว่าเวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ มีความสาปสูญไป เป็นธรรมดา มีความ ทรุดโทรม ไปเป็น ธรรมดา ถูกต้องด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว เห็นความเสื่อมไป อยู่ ย่อมรู้แจ่มแจ้ง ความเป็นทุกข์ ในเวทนานั้น อย่างนี้ เพราะเวทนาทั้งหลาย สิ้นไป นั้นเอง ทุกข์จึงไม่เกิด

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

8. (ตัณหา)

             [๓๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้น เพราะ ตัณหาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะตัณหา นั่นเองดับ เพราะสำรอกโดย ไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณา เห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่าบุรุษผู้มีตัณหาเป็น เพื่อนสอง ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน ย่อมไม่ล่วงพ้นสงสารอันมี ความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นไปได้ ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ตัณหาเป็นเหตุเกิด แห่งทุกข์ เป็นผู้มีตัณหาปราศจาก ไปแล้ว ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

9. (อุปาทาน)

             [๓๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า ทุกข์อย่างใด อย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะ อุปาทาน นั่นเองดับ เพราะสำรอก โดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรม เป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯจึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่าภพย่อมมีเพราะอุปาทาน เป็นปัจจัย สัตว์ผู้เกิดแล้วย่อมเข้าถึงทุกข์ ต้องตาย นี้เป็น เหตุเกิด แห่งทุกข์ เพราะเหตุนั้นบัณฑิตทั้งหลายรู้แล้วโดยชอบ รู้ยิ่งความสิ้นไป แห่งชาติแล้ว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทาน

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

10. (ความริเริ่ม)

             [๔๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้น เพราะ ความริเริ่มเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะการ ริเริ่ม นั่นเองดับ เพราะสำรอกโดย ไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่ม เป็นปัจจัย เพราะความ ริเริ่มดับ โดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิดภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความ ริเริ่ม เป็นปัจจัยดังนี้แล้ว สละคืนความริเริ่มได้ทั้งหมดแล้ว น้อมไปในนิพพาน ทีไม่มีความริเริ่ม ถอนภวตัณหา ขึ้นได้แล้ว มีจิตสงบมีชาติสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

11. (อาหาร)

             [๔๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอาหาร ทั้งหมดนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดย ไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่าทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย เพราะอาหาร ทั้งหลายดับ โดย ไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิดภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรมผู้ถึงเวทย์ รู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะ อาหารเป็น ปัจจัย ดังนี้แล้วกำหนดรู้อาหารทั้งปวง เป็นผู้อัน ตัณหาไม่อาศัยใน อาหารทั้งหมด รู้โดยชอบซึ่ง นิพพาน อันไม่มีโรค พิจารณาแล้ว เสพปัจจัย ๔ ย่อมไม่เข้าถึงการนับว่า เป็นเทวดาหรือมนุษย์ เพราะอาสวะทั้งหลาย หมดสิ้นไป

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

12. (ความหวั่นไหว)

             [๔๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใด อย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะความหวั่นไหวทั้งหลายนั่นเองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้น เพราะความหวั่นไหว เป็นปัจจัย เพราะความหวั่นไหวดับ ไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้น เพราะความหวั่นไหว เป็นปัจจัย ดังนี้ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุสละตัณหาแล้ว ดับสังขารทั้งหลายได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีความ หวั่นไหว ไม่ถือมั่น แต่นั้นพึงเว้นรอบ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

13. (ตัณหา ทิฐิ มานะ)

             [๔๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ความดิ้นรน ย่อมมีแก่ผู้อัน ตัณหา ทิฐิ และมานะ อาศัยแล้ว นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆว่า ผู้ที่ตัณหา ทิฐิ และมานะ ไม่อาศัยแล้ว ย่อมไม่ ดิ้นรน นี้เป็นข้อที่ ๒

       ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็น ธรรม ๒ อย่างโ ดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่าผู้อันตัณหา ทิฐิ และ มานะ ไม่อาศัยแล้ว ย่อมไม่ดิ้นรน ส่วนผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะอาศัยแล้ว ถือมั่นอยู่ ย่อมไม่ล่วงพ้นสงสาร อันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นไปได้ ภิกษุ รู้โทษนี้ ว่าเป็นภัยใหญ่ในเพราะนิสสัย คือ ตัณหาทิฐิและมานะทั้งหลายแล้ว เป็นผู้อันตัณหา ทิฐิ และ มานะ ไม่อาศัยแล้ว ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

14. (รูปภพ อรูปภพ)

             [๔๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า อรูปภพ ละเอียดกว่า รูปภพ นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นิโรธ ละเอียดกว่า อรูปภพ นี้เป็นข้อ ๒

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ ต่อไปอีกว่า สัตว์เหล่าใด ผู้เข้าถึง รูปภพ และตั้งอยู่ใน อรูปภพ สัตว์เหล่านั้น เมื่อยังไม่รู้ชัด ซึ่ง นิพพาน ก็ยังเป็นผู้ จะต้อง มาสู่ภพใหม่ส่วนชนเหล่าใด กำหนดรู้รูปภพแล้ว (ไม่) ดำรงอยู่ด้วยดี ในอรูปภพ ชนเหล่านั้น น้อมไปในนิพพานทีเดียว เป็นผู้ละมัจจุเสียได้

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

15. (นามรูป)

             [๔๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย นามรูป ที่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์เล็งเห็นว่า นามรูปนี้ เป็นของจริง พระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นด้วยดีแล้ว ด้วยปัญญาอันชอบตาม ความ เป็นจริงว่า นามรูปนั่น เป็นของเท็จ นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๑

-----------------------------------------------------------------------------------------------------


16. (นิพพาน-มีจริง)

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานที่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นิพพานนี้ เป็นของเท็จ พระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นด้วยดีแล้ว ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความ เป็นจริงว่า นิพพานนั้น เป็นของจริง นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๒

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒อย่าง โดยชอบ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า ท่านผู้มีความสำคัญ ในนามรูป อันเป็นของมิใช่ตนว่าเป็นตนจงดูโลก พร้อมทั้ง เทวโลก ผู้ยึดมั่นแล้ว ในนามรูป ซึ่งสำคัญนามรูปนี้ว่า เป็นของจริง ก็ชนทั้งหลาย ย่อมสำคัญ (นามรูป) ด้วยอาการใดๆ นามรูปนั้น ย่อมเป็นอย่างอื่นไปจากอาการ ที่เขาสำคัญนั้นๆ นามรูปของผู้นั้นแลเป็นของเท็จ เพราะนามรูป มีความสาปสูญไป เป็นธรรมดา นิพพานมีความไม่สาปสูญไปเป็นธรรมดา พระอริยเจ้า ทั้งหลาย รู้นิพพานนั้น โดยความเป็นจริง พระอริยเจ้าเหล่านั้นแล เป็นผู้หายหิวดับรอบแล้ว เพราะตรัสรู้ ของจริง

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

17. (อารมณ์อันเป็นที่น่าพอใจ)
(อิฏฐารมณ์)


             [๔๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรม เป็นธรรม ๒ อย่างเนืองๆ โดยชอบ จะพึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหมพึงตอบเขาว่า พึงมี ถ้าเขาถามว่าพึงมี อย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย อิฏฐารมณ์ที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า เป็นสุข พระอริยเจ้า ทั้งหลาย เห็นด้วยดีแล้ว ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่านั่นเป็นทุกข์ นี้เป็นอนุปัสสนา ข้อที่ ๑
----------------------------------------------------------------------

18. (นิพพาน-เป็นสุข)

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นี้เป็นทุกข์ พระอริยะเจ้า ทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้ว ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นสุข นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๒

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใด อย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้หรือ เมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระ อนาคามี พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา
-----------------------------------------------------------------------------------------------------

19.(อารมณ์ ๖
)

รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ มีประมาณ เท่าใด โลกกล่าวว่ามีอยู่

       ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ มีประมาณ เท่าใด โลกกล่าวว่ามีอยู่

-อารมณ์ ๖ อย่างเหล่านี้ โลกพร้อมทั้งเทวโลก สมมติกันว่า เป็นสุข -แต่ว่าธรรมเป็นที่ดับอารมณ์ ๖ อย่างนี้ ชนเหล่านั้น สมมติกันว่า เป็นทุกข์
-ความดับแห่งเบญจขันธ์ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย เห็นว่าเป็นสุข
ความเห็นขัดแย้ง กันกับโลกทั้งปวงนี้ ย่อมมีแก่บัณฑิตทั้งหลาย ผู้เห็นอยู่
-------------------------------------------------------------------------------------------------------

20 (วัตถุกาม) รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ

ชนเหล่าอื่น กล่าววัตถุกามใดโดยความเป็นสุข
พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าววัตถุกามนั้น โดยความเป็นทุกข์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------

21 (นิพพาน ) ผู้รู้เห็นนิพพานโดยความเป็นสุข

ชนเหล่าอื่น กล่าวนิพพานใดโดยความเป็นทุกข์
พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้ง กล่าวนิพพานนั้น โดยความเป็นสุข

------------------------------------------------------------------------------------

ท่านจงพิจารณาธรรมที่รู้ได้ยาก ชนพาลทั้งหลาย ผู้ไม่รู้แจ้ง พากันลุ่มหลงอยู่ใน โลกนี้ ความมืดตื้อ ย่อมมีแก่ ชนพาลทั้งหลาย ผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ผู้ไม่เห็นอยู่

ส่วนนิพพาน เป็นธรรมชาติเปิดเผยแก่สัตบุรุษผู้เห็นอยู่ เหมือนอย่างแสงสว่างฉะนั้น ชนทั้งหลายเป็นผู้ค้นคว้า ไม่ฉลาดต่อธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพานที่มีอยู่ในที่ใกล้

ชนทั้งหลายผู้ถูก ภวราคะ ครอบงำแล้ว แล่นไปตามกระแส ภวตัณหา ผู้เข้าถึงวัฏฏะ อันเป็นบ่วงแห่งมารเนืองๆ ไม่ตรัสรู้ธรรมนี้ได้โดยง่าย นอกจาก พระอริยเจ้าทั้งหลาย ใครหนอย่อมควรจะรู้บท คือ นิพพานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ตรัสรู้ดีแล้ว พระอริยเจ้า ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีอาสวะเพราะรู้โดยชอบ ย่อมปรินิพพาน


             [๔๐๗] พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้น มีใจชื่นชมยินดี ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็และเมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัส ไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุประมาณ ๖๐ รูป หลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้แล ฯ

จบทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์