(พระสูตรนี้เป็นอรรถกถา)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๐๕
ทุติยสังคามวัตถุสูตรที่ ๕
[๓๗] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตร ทรงตระเตรียม จตุรงคินีเสนา ยกไปรุกราน พระเจ้าปเสนทิโกศล ถึงแคว้นกาสี พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทรงสดับข่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตรทรงตระเตรียม จตุรงคินีเสนา ยกมารุกรานเราถึงแคว้นกาสี
ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงจัด จตุรงคินีเสนา ยกออกไปต่อสู้ พระเจ้าแผ่นดิน มคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตร ป้องกันแคว้นกาสี
ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดิน มคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตร กับพระเจ้า ปเสนทิโกศล ทรงทำสงครามกันแล้ว แต่ในสงครามครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงชำนะพระเจ้าแผ่นดิน มคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตร และทรงจับพระองค์เป็นเชลย ศึกได้
[๓๗๓] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้มีพระดำริว่า ถึงแม้ พระเจ้าแผ่นดิน มคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตรนี้ จะประทุษร้ายเราผู้มิได้ประทุษร้าย แต่เธอก็ยังเป็น พระภาคิไนย(หลาน) ของเรา อย่ากระนั้นเลย เราควรยึดพลช้าง ทั้งหมด ยึดพลม้า ทั้งหมด ยึดพลรถทั้งหมด ยึดพลเดินเท้าทั้งหมด ของ พระเจ้าแผ่นดิน มคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตร แล้วปล่อยพระองค์ไปทั้งยังมีพระชนม์ อยู่เถิด
ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยึดพลช้างทั้งหมด ทรงยึดพลม้า ทั้งหมด ทรงยึดพลเดินเท้า ทั้งหมด ของพระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตร แล้วทรงปล่อยพระองค์ไป ทั้งยังมีพระชนม์อยู่
[๓๗๔] ครั้งนั้น เวลาเช้า ภิกษุเป็นจำนวนมาก นุ่งห่มแล้ว ถือบาตร และจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถี แล้ว ในเวลา ปัจฉาภัต (หลังฉัน) กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ภิกษุเหล่านั้น นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่าข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระโอกาส พระเจ้าแผ่นดินมคธ อชาตสัตรู เวเทหิบุตร ทรงตระเตรียมจตุรงคินีเสนา ยกมารุกรานพระเจ้า ปเสนทิโกศล ถึงแคว้นกาสี พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทรงสดับข่าวว่า พระเจ้าแผ่นดิน มคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตร ทรงตระเตรียมจตุรงคินีเสนา ยกมารุกรานถึงแคว้นกาสี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงทรงจัดจตุรงคินีเสนายก ออกไปต่อสู้ พระเจ้าแผ่นดิน มคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตร ป้องกันแคว้นกาสี ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดิน มคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตรกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงทำสงคราม กันแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ในสงครามครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงชำนะ พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตร และทรงจับพระองค์ เป็นเชลยศึกได้ด้วย
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้มีพระดำริว่า ถึงแม้พระเจ้าแผ่นดิน มคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตรนี้ จะประทุษร้ายเราผู้มิได้ประทุษร้าย แต่เธอก็ยังเป็น พระภาคิไนย(หลาน) ของเรา อย่ากระนั้นเลยเราควรยึดพลช้างทั้งหมด ยึดพลม้าทั้งหมด ยึดพลรถทั้งหมด ยึดพลเดินเท้าทั้งหมด ของพระเจ้าแผ่นดิน มคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตร แล้วปล่อยพระองค์ไปทั้งยังมีพระชนม์อยู่เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ลำดับนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยึดพลช้างทั้งหมด ทรงยึดพลม้า ทั้งหมด ทรง ยึดพลรถทั้งหมด ทรงยึดพลเดินเท้าทั้งหมด ของพระเจ้าแผ่นดิน มคธอชาตสัตรู เวเทหิบุตร แล้วทรงปล่อยพระองค์ไปทั้งยังมีพระชนม์อยู่
[๓๗๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงได้ทรง ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า บุรุษจะแย่งชิงเขาได้ ก็ชั่วกาลที่การแย่งชิง ของเขา ยังพอสำเร็จได้ แต่เมื่อใดคนเหล่าอื่นย่อมแย่งชิง ผู้แย่งชิงนั้น ย่อมถูกเขา กลับแย่งชิงเมื่อนั้น
เพราะว่า คนพาลย่อมสำคัญว่า เป็นฐานะตราบเท่าที่บาป ยังไม่ให้ผล แต่บาป ให้ผลเมื่อใด คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น
ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ ผู้ชำนะย่อมได้รับการชนะตอบ ผู้ด่าย่อมได้รับการด่าตอบ และผู้ขึ้งเคียดย่อมได้รับความขึ้งเคียดตอบ ฉะนั้น เพราะความหมุนเวียนแห่งกรรม ผู้แย่งชิงนั้น ย่อมถูกเขากลับแย่งชิงคืน
|