เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 รักษาโรคด้วย โพชฌงค์ ๗ ประกอบด้วย 10 พระสูตร 1325
 

(โดยย่อ)

รักษาโรคด้วย โพชฌงค์ ๗ มีการกล่าวถึงในพระไตรปิฎก 10 พระสูตร

1) คิลานวรรคที่ ๒ ปาณูปมสูตร อาศัยศีลเจริญโพชฌงค์ ๗
2) สุริยูปมสูตรที่ ๑ อาศัยกัลยาณมิตรเจริญโพชฌงค์ ๗
3) สุริยูปมสูตรที่ ๒ โยนิโสมนสิการเป็นเบื้องแรก แห่งโพชฌงค์
4) คิลานสูตรที่ ๑ พระมหากัสสป หายอาพาธด้วยโพชฌงค์ ๗
5) คิลานสูตรที่ ๒ พระมหาโมคคัลลานะ หายอาพาธด้วยโพชฌงค์ ๗
6) คิลานสูตรที่ ๓ พระผู้มีพระภาค หายประชวรด้วยโพชฌงค์ ๗
7) ปารคามีสูตร เจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่ง
8) วิรัทธสูตร โพชฌงค์ ๗ ที่ปรารภผิดปรารภถูก
9) อริยสูตร เจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมนำตนออกจากทุกข์
10) นิพพานสูตร เจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย

โพชฌงค์ ๗ คือ
สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ 
ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ 
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ 


เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๐๕ - ๑๑๑

1)
คิลานวรรคที่ ๒
ปาณูปมสูตร อาศัยศีลเจริญโพชฌงค์ ๗

        [๔๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งสำเร็จอิริยาบถ ๔ คือ บางคราวก็เดินบางคราวก็ยืน บางคราวก็นั่ง บางคราวก็นอน สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด อาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงสำเร็จอิริยาบถ ๔ นั้น อย่างนั้นแหละ แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมกระทำให้มากซึ่ง โพชฌงค์ ๗ ฉันนั้นเหมือนกัน.

        [๔๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ย่อมเจริญ โพชฌงค์ ๗ย่อมกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างไรเล่า?

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัย วิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขา สัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์๗ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๑



2)
สุริยูปมสูตรที่ ๑
อาศัยกัลยาณมิตรเจริญโพชฌงค์ ๗

        [๔๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิต มาก่อนคือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความ บังเกิด ขึ้นแห่งโพชฌงค์ ๗ แก่ภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญโพชฌงค์ ๗ จักกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗.

        [๔๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมกระทำ ให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อม
เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขา สัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๒



3)
สุริยูปมสูตรที่ ๒
โยนิโสมนสิการเป็นเบื้องแรก แห่งโพชฌงค์

        [๔๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิด แห่งโพชฌงค์ ๗ แก่ภิกษุ คือ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อม ด้วยการกระทำไว้ในใจ โดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญโพชฌงค์ ๗ จักกระทำให้มาก ซึ่งโพชฌงค์ ๗.

        [๔๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ถึงพร้อม ด้วยการกระทำไว้ในใจ โดย แยบคาย ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างไรเล่า?

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัย วิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขา สัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วย การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๓



4)
คิลานสูตรที่ ๑

พระมหากัสสป หายอาพาธด้วยโพชฌงค์ ๗

        [๔๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปอาพาธ ไม่สบาย เป็นไข้หนัก อยู่ที่ปิปผลิคูหา.

        [๔๑๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ แล้วประทับนั่งบนอาสนะ ที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระมหากัสสป ว่า ดูกรกัสสป เธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กำเริบขึ้น แลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบขึ้น ไม่ปรากฏแลหรือ?

        ท่านพระมหากัสสป กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทน ไม่ได้ ยังอัตภาพ ให้เป็นไปไม่ได้ ทุกเวทนาของพระองค์ กำเริบหนัก ยังไม่คลายไป ความกำเริบขึ้นย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ.

        [๔๑๗] พ. ดูกรกัสสป โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โพชฌงค์ ๗เป็นไฉน?

        [๔๑๘] ดูกรกัสสป สติสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญ แล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

        ดูกรกัสสป โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

        [๔๑๙] ท่านพระมหากัสสป กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค โพชฌงค์ดีนัก ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์ดีนัก พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหากัสสป ปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค

        ท่านพระมหากัสสป หายจากอาพาธนั้นแล้ว และอาพาธนั้น อันท่าน พระมหากัสสป ละได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ สูตรที่ ๔



5)
คิลานสูตรที่ ๒

พระมหาโมคคัลลานะ หายอาพาธด้วยโพชฌงค์ ๗

        [๔๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ อาพาธ ไม่สบาย เป็นไข้หนักอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ.

        [๔๒๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่เร้น ในเวลาเย็น เข้าไปหา ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ถึงที่อยู่ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะ ว่า

        ดูกรโมคคัลลานะ เธอพออดพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้แลหรือ ทุกขเวทนา คลายลงไม่กำเริบขึ้น แลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบขึ้น ไม่ปรากฏแลหรือ?

        ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ อดทน ไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนา ของข้าพระองค์ ย่อมกำเริบ หนัก ยังไม่คลายลง ความกำเริบย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ.

        [๔๒๒] พ. ดูกรโมคคัลลานะ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน?

        [๔๒๓] ดูกรโมคคัลลานะ สติสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

        ดูกรโมคคัลลานะ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน.

        [๔๒๔] ท่านพระโมคคัลลานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค โพชฌงค์ ดีนัก ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์ดีนัก พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค

        ท่านพระมหา โมคคัลลานะ หายจากอาพาธนั้นแล้ว และอาพาธนั้นอันท่าน พระมหาโมคคัลลานะ ละได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ สูตรที่ ๕



6)
คิลานสูตรที่ ๓

พระผู้มีพระภาค หายประชวรด้วยโพชฌงค์ ๗

        [๔๒๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทก นิวาป สถานใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงประชวร ไม่สบาย เป็นไข้หนัก.

        [๔๒๖] ครั้งนั้น ท่านพระมหาจุนทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ ตรัสกะท่านพระจุนทะว่า

ดูกรจุนทะ โพชฌงค์จงแจ่มแจ้งกะเธอ.

        จ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานโพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน?

        [๔๒๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สติสัมโพชฌงค์ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบ แล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความ ตรัสรู้ เพื่อนิพพานฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

        ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญโพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความ ตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

        [๔๒๘] ดูกรจุนทะ โพชฌงค์ดีนัก ดูกรจุนทะ โพชฌงค์ดีนัก ท่านพระมหา จุนทะ ได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้แล้ว พระศาสดา ทรงพอพระทัย พระผู้มีพระภาค ทรงหายจากประชวรนั้น และอาพาธนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงละแล้ว ด้วยประการ ฉะนี้แล.
จบ สูตรที่ ๖



7)
ปารคามีสูตร
เจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่ง

        [๔๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่งจากที่มิใช่ฝั่ง โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน? คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ

อุเบกขาสัมโพชฌงค์

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่ง จากที่มิใช่ฝั่ง.

        [๔๓๐] ในหมู่มนุษย์ คนที่ไปถึงฝั่งมีจำนวนน้อย แต่หมู่สัตว์นอกนี้ ย่อมวิ่งไป ตามฝั่งนั่นเอง ส่วนชนเหล่าใด ประพฤติตามธรรม ในธรรมที่พระผู้มีพระภาค ตรัส ดีแล้ว ชนเหล่านั้น จักข้ามบ่วงมฤตยู ซึ่งแสนยากที่จะข้ามได้ บัณฑิตพึงละธรรม ฝ่ายดำเสีย เจริญธรรมฝ่ายขาว ออกจากความอาลัย อาศัยความไม่มีอาลัยแล้ว พึงละ กามเสีย เป็นผู้ไม่มีกิเลส เป็นเครื่องกังวล ปรารถนาความยินดีในวิเวก ที่สัตว์ ยินดีได้ยาก บัณฑิต พึงชำระตนให้ ผ่องแผ้ว จากเครื่องเศร้าหมองจิต

        ชนเหล่าใด อบรมจิตดีแล้วโดยชอบ ในองค์เป็นเหตุตรัสรู้ ไม่ถือมั่น ยินดีแล้ว ในความสละคืน ซึ่งความยึดถือชนเหล่านั้น เป็นผู้สิ้นอาสวะ มีความรุ่งเรือง ปรินิพพานแล้ว ในโลก.
จบ สูตรที่ ๗



8)
วิรัทธสูตร

โพชฌงค์ ๗ ที่ปรารภผิดปรารภถูก

        [๔๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ อันบุคคล เหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภ ผิดแล้ว อริยมรรค อันยังสัตว์ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เป็นอันบุคคลเหล่านั้น ปรารภผิดแล้ว โพชฌงค์๗ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปรารภถูกแล้ว อริยมรรค อันยังสัตว์ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เป็นอันบุคคลเหล่านั้นปรารภถูกแล้ว โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน? คือสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.

        [๔๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปรารภผิดแล้ว อริยมรรคอันยังสัตว์ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เป็นอันบุคคล เหล่านั้นปรารภผิดแล้ว โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปรารภ ถูกแล้ว อริยมรรคอันยังสัตว์ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เป็นอันบุคคลเหล่านั้น ปรารภถูกแล้ว.
จบ สูตรที่ ๘



9)
อริยสูตร

เจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมนำตนออกจากทุกข์

        [๔๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ให้เป็นอริยธรรม นำตนออกจากทุกข์ ย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ แก่ผู้กระทำซึ่งโพชฌงค์ ๗ นั้น

โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน? คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้ มากแล้ว ให้เป็นอริยธรรม นำตนออกจากทุกข์ ย่อมนำไป เพื่อความสิ้นทุกข์ โดย ชอบ แก่ผู้กระทำซึ่งโพชฌงค์ ๗ นั้น.
จบ สูตรที่ ๙



10)
นิพพานสูตร

เจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย

        [๔๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความหน่าย โดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน? คือ สติสัมโพชฌงค์ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มาก แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย โดยส่วนเดียว เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความ ดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

จบ สูตรที่ ๑๐
จบ คิลานวรรคที่ ๒


11)
โพชฌงค์ ๗ คือ

๑. สติสัมโพชฌงค์ ..
เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาอันยิ่ง ระลึกได้ ระลึกได้บ่อยๆ

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ 
มีสติอย่างนั้นอยู่ วิจัย เลือกสรร พิจารณา ซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญา

๓. วิริยสัมโพชฌงค์ 
ความเพียร ความไม่ย่อหย่อน อันภิกษุนั้นพิจารณา ซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญา

๔. ปีติสัมโพชฌงค์ 
ปีติ อันปราศจากอามิส เกิดขึ้นแก่พระภิกษุ ผู้มีความเพียร อันปรารภแล้ว

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ 
กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจปีติ ย่อมสงบระงับ

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ 
จิตของภิกษุผู้มีกายสงบระงับแล้ว มีความสุขสบายย่อมตั้งมั่น

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ 
ภิกษุนั้น เป็นผู้เพ่งเล็งอยู่ด้วยดี ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นอย่างนั้น


 






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์