มิจฉาสังกัปปะ หรือ อกุศลวิตก (ความดำริผิด) มี 3 อย่าง
1. กามวิตก (หรือ กามสังกัปปะ) คือตรึกในกาม
2. พยาบาทวิตก (หรือ พยาบาทสังกัปปะ) คือ ตรึกในทางพยาบาท
3. วิหิงสาวิตก (หรือ วิหิงสาสังกัปปะ) คือ ตรึกในทางเบียดเบียน
สัมมาสังกัปปะ หรือ กุศลวิตก (ความดำริชอบ) มี 3 อย่าง
1. เนกขัมมวิตก (หรือ เนกขัมมสังกัปปะ) คือ ดำริในทางออกจากกาม
2. อพยาบาทวิตก (หรือ อพยาบาทสังกัปปะ) คือ ดำริในทางไม่พยาบาท
3. อวิหิงสาวิตก (หรือ อวิหิงสาสังกัปปะ) คือ ดำริในทางไม่เบียดเบียน |
|
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๖๐
๙. เทวธาวิตักกสูตร ว่าด้วยความวิตก ๒ ส่วน
เรื่องวิตก (ความตริตรึก ความคิด)
[๒๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว.
[๒๕๒] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรายังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก่อนแต่ตรัสรู้ทีเดียว ได้คิดอย่างนี้ว่า ถ้ากระไร เราพึงแยกวิตกให้เป็น ๒ ส่วนๆ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นจึงแยก
กามวิตก พยาบาทวิตก และ วิหิงสาวิตก นี้ออกเป็นส่วนหนึ่ง (ฝั่งอกุศล) และแยก
เนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก และ อวิหิงสาวิตก นี้ออกเป็นส่วนที่สอง (ฝั่งกุศล)
(กามวิตก ตรึกในกาม)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้น ไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไป อยู่อย่างนี้ กามวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า กามวิตกเกิดขึ้น แก่เราแล้วแล ก็แต่ว่ามัน
ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง
ย่อมเป็นไปเพื่อ เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน และผู้อื่นทั้งสองบ้าง ทำให้ปัญญาดับ ก่อให้เกิดความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
(พิจารณาใคร่ครวญในกามวิตกที่เกิดขึ้น)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน และผู้อื่นทั้งสองบ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป
(ละ กามวิตกเสีย ด้วยปัญญา)
เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันทำให้ปัญญาดับ ทำให้เกิดความคับแค้น ไม่เป็นไป เพื่อพระนิพพาน ดังนี้บ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแล ละเสีย บรรเทาเสีย ซึ่งกามวิตก ที่เกิดขึ้นแล้วๆ ได้ทำ ให้มันหมดสิ้นไป
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(พยาบาทวิตก ตรึกในพยาบาท)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผา กิเลส ส่งตนไปอยู่ อย่างนี้ พยาบาทวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น ฯลฯ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
( วิหิงสาวิตก ตรึกในทางเบียดเบียน)
วิหิงสาวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า วิหิงสาวิตก นี้เกิดขึ้น แก่เรา แล้วแล ก็แต่ว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เป็นไปเพื่อ เบียดเบียน ผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน และผู้อื่นทั้งสองบ้าง ทำให้ปัญญา ดับ ทำให้เกิดความคับแค้นไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
(พิจารณาใคร่ครวญในวิหิงสาที่เกิดขึ้น)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง มันก็ถึง ความดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง มันก็ถึง ความดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน และผู้อื่น ทั้งสองบ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่ามันทำให้ ปัญญา ดับ ทำให้เกิดความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ดังนี้บ้าง มันก็ถึง ความดับสูญไป
(ละ อวิหิงสาวิตก ด้วยปัญญา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแล ละเสีย บรรเทาเสีย ซึ่งวิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้น แล้วๆ ได้ทำให้มันหมดสิ้นไป. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรอง ถึงวิตกใดๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไป ข้างวิตกนั้นๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คือ ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึง กามวิตกมาก เธอก็ละทิ้ง เนกขัมมวิตกเสีย มากระทำอยู่แต่ กามวิตกให้มาก จิตของเธอนั้น ก็น้อมไป เพื่อ กามวิตก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึง พยาบาทวิตก มาก เธอก็ละ ทิ้ง อัพยาบาทวิตก เสีย มากระทำอยู่แต่ พยาบาทวิตกให้มาก จิตของเธอนั้น ก็น้อมไปเพื่อ พยาบาทวิตก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึง วิหิงสาวิตก มาก เธอก็ละทิ้ง อวิหิงสาวิตก เสีย มากระทำอยู่แต่ วิหิงสาวิตก ให้มาก จิตของเธอนั้นก็น้อมไป เพื่อวิหิงสาวิตก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนในสรทสมัยเดือนท้ายแห่งปี คนเลี้ยงโค ต้องคอย ระวังโค ทั้งหลายในที่คับคั่งด้วยข้าวกล้า เขาต้องดี ต้อนโคทั้งหลายจาก ที่นั้นๆกั้นไว้ ห้ามไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนเลี้ยงโคมองเห็นการฆ่า การถูกจำการเสียทรัพย์ การถูก ติเตียน เพราะโคทั้งหลายเป็นต้นเหตุ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราก็ฉันนั้น เหมือนกัน ได้แลเห็นโทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมอง ของอกุศลธรรม ทั้งหลาย และเห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม อันเป็นฝ่ายแห่งความผ่องแผ้ว ของกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตน ไปอยู่ อย่างนี้ เนกขัมมวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า เนกขัมมวิตกนี้ เกิดขึ้นแก่เราแล้วแล ก็แต่ว่า เนกขัมมวิตก นั้น ไม่เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนตน ไม่เป็นไป เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย เป็นทางทำให้ ปัญญาเจริญ ไม่ทำให้เกิดความคับแค้น เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าเราจะตรึกตรองถึง เนกขัมมวิตก นั้น อยู่ตลอดคืนก็ดี เราก็ยังมองไม่เห็นภัย อันจะบังเกิดแต่ เนกขัมมวิตก นั้นได้เลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถึงหากเราจะตรึกตรอง ถึง เนกขัมมวิตกนั้นอยู่ตลอดทั้ง กลางคืน และกลางวันก็ดี เราก็ยังมองไม่เห็นภัย อันจะบังเกิดขึ้นจาก เนกขัมมวิตก นั้นได้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากเราจะตรึกตรอง ถึง เนกขัมมวิตกนั้น ตลอดทั้ง กลางคืน และกลางวันก็ดี เราก็ยังไม่มองเห็นภัย อันจะบังเกิดขึ้นจาก เนกขัมมวิตก นั้นได้เลย ก็แต่ว่าเมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกาย เหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่านเมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแลดำรงจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ ประคองไว้ด้วยดี
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะปรารถนาไว้ว่า จิตของเราอย่าฟุ้งซ่านอีกเลย ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตน ไปแล้ว อยู่อย่างนี้ อัพยาบาทวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น ฯลฯ อวิหิงสาวิตก ย่อมบังเกิด ขึ้น เรานั้น ย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า อวิหิงสาวิตกนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้วแล ก็แต่ว่า อวิหิงสาวิตกนั้น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียด เบียนทั้งสองฝ่าย [คือตนและบุคคลอื่น] เป็นทางทำให้ปัญญา เจริญ ไม่ทำให้เกิด ความคับแค้น เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าเราจะตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตกนั้น อยู่ตลอดคืนก็ดี เราก็ยัง ไม่มองเห็นภัย อันจะเกิดขึ้น จากอวิหิงสาวิตกนั้นได้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถึงหากเราจะตรึกตรองถึง อวิหิงสาวิตกนั้น อยู่ตลอดวันก็ดี เราก็ยังไม่มองเห็นภัย อันจะเกิดขึ้นจาก อวิหิงสาวิตก นั้นได้เลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากเราจะตรึกตรองถึง อวิหิงสาวิตกนั้น ตลอดทั้งคืน และ กลางวัน ก็ดี เราก็ยังมองไม่เห็นภัยภัย จะเกิดขึ้นจาก อวิหิงสาวิตก นั้นได้เลย ก็แต่ว่า เมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ด เหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแลดำรงจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ ประคองไว้ด้วยดี ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะหมายในใจว่า จิตของเราอย่า ฟุ้งซ่าน อีกเลยดังนี้.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึง วิตกใดๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไป ข้างวิตกนั้นๆมาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คือ ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรอง ถึง เนกขัมมวิตก มาก เธอก็จะ ละ กามวิตก เสียได้ ทำ เนกขัมมวิตก อย่างเดียวให้มาก จิตของเธอ ก็จะน้อมไป เพื่อ เนกขัมมวิตก (หลีกออกจากกาม)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึง อัพยาบาทวิตก มาก เธอก็จะละ พยาบาทวิตก เสียได้ ทำ อัพยาบาทวิตก อย่างเดียวให้มาก จิตของเธอก็จะน้อม ไป เพื่อ อัพยาบาทวิตก (หลีกออกจาพยาบาท)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึง อวิหิงสาวิตก มาก เธอก็จะละ วิหิงสาวิตกเสียได้ ทำ อวิหิงสาวิตกอย่างเดียว ให้มาก จิตของเธอก็น้อมไป เพื่อ อวิหิงสาวิตก (หลีกออกจาการเบียดเบียน)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน คนเลี้ยงโคจะต้องรักษาโค ทั้งหลาย ในที่ใกล้บ้านในทุกด้าน เมื่อเข้าไปสู่โคนต้นไม้ หรือไปสู่ที่ แจ้ง จะต้อง ทำสติอยู่เสมอว่า นั้นฝูงโค [ของเรา] ดังนี้ ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราก็ฉันนั้น ต้องทำสติอยู่เสมอว่า เหล่านี้เป็นธรรม [คือกุศลวิตก] ดังนี้.
|