พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๔๘
3)
สิเนรุสูตรที่ ๑
ทุกข์ของพระอริยบุคคลหมดไปมากกว่าที่เหลือ
[๑๗๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษเก็บก้อนหิน ประมาณเท่าเมล็ด ถั่วเขียว ๗ ก้อนแห่งขุนเขาสิเนรุราช เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหิน ประมาณ เท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่บุรุษเก็บแล้วกับ ขุนเขาสิเนรุราช อย่างไหน จะมากกว่ากัน?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุราชมากกว่า ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่บุรุษเก็บแล้ว น้อยกว่า เมื่อเทียบกับ ขุนเขาสิเนรุราช แล้ว ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อน ที่บุรุษนั้นเก็บไว้แล้ว ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ตรัสรู้แล้วผู้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาที่สิ้นไป หมดไปแล้ว มากกว่าที่ยังเหลือมีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว เมื่อเทียบกับกองทุกข์อันมีในก่อนที่สิ้นไป หมดไปแล้ว อย่างสูงเพียง ๗ ชาติ ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำ ความเพียรเพื่อรู้ ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
4)
สิเนรุสูตรที่ ๒
ทุกข์ของพระอริยบุคคลหมดไปมากกว่าที่เหลือ
[๑๗๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนขุนเขาสิเนรุราชพึงถึงความสิ้นไป หมดไปเว้นก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อน เธอทั้งหลายจะสำคัญ ความข้อนั้น เป็นไฉน ขุนเขาสิเนรุราช ที่สิ้นไป หมดไป กับก้อนหินประมาณเท่าเมล็ด ถั่วเขียว ๗ ก้อนที่ยังเหลืออยู่ อย่างไหนจะมากกว่ากัน?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุราชที่สิ้นไป หมดไปนี้แหละมากกว่า ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่ยังเหลืออยู่ น้อยกว่า เมื่อเทียบกับ ขุนเขาสิเนรุราช ที่สิ้นไป หมดไป ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ด ถั่วเขียว ๗ ก้อนที่ยังเหลืออยู่ ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ตรัสรู้แล้วผู้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาที่สิ้นไป หมดไปแล้ว มากกว่าที่ยังเหลือมีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว เมื่อเทียบกับกองทุกข์ อันมีในก่อนที่สิ้นไป หมดไปแล้ว อย่างสูงเพียง ๗ ชาติ ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๕
5)
๑๑. ปัพพตูปมสูตรที่ ๓
(ทุกข์ของโสดาบันเท่ากับเม็ดถั่วเขียว ๗ เม็ด ส่วนทุกข์เหล่าเดียรถีร์ปริพาชก ที่บรรลุคุณวิเศษเหมือน เขาสิเนรุ )
[๓๓๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงวางก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อน ไว้ที่ ขุนเขาสิเนรุ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียว เจ็ดก้อน ที่บุรุษวางไว้กับ ขุนเขาสิเนรุ ไหนจะมากกว่ากัน
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุนี้แหละมากกว่า ก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อน ที่บุรุษวางไว้มีประมาณน้อย ก้อนหินเท่า เมล็ด ถั่วเขียว เจ็ดก้อน ที่บุรุษวางไว้ เมื่อเทียบเข้ากับ ขุนเขาสิเนรุ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐
[๓๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล การบรรลุคุณวิเศษ แห่งอัญญเดียรถีย์สมณพราหมณ์และปริพาชก เมื่อเทียบกับ การบรรลุโสดาปัตติมรรค แห่งบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฐิ ไม่เข้าถึง เสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิ มีอธิคมใหญ่ อย่างนี้ มีอภิญญาใหญ่อย่างนี้
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๐
6)
๗. คัททูลสูตรที่ ๑
ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข
[๒๕๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏสำหรับสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชา เป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่.
มหาสมุทรยังมีสมัยเหือดแห้ง ไม่เป็นมหาสมุทร. แต่เราไม่กล่าวว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยว ไปมาอยู่ จะกระทำที่สุดทุกข์ได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาสิเนรุ ยังมีสมัยที่ถูกไฟไหม้พินาศไปมีอยู่ไม่ได้. แต่เรากล่าวไม่ได้ถึงการกระทำที่สุดทุกข์ แห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่อง กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบ ท่องเที่ยวไปมาอยู่.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แผ่นดินใหญ่ยังมีสมัยที่ถูกไฟไหม้ พินาศไป มีอยู่ไม่ได้. แต่เรากล่าวว่าสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ จะกระทำที่สุดทุกข์ได้.
[๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้ที่หลักหรือเสา อันมั่นคงย่อมวิ่งวนเวียนหลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด. ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้น เหมือนกันแล ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตาม เห็นรูปโดยความเป็นตน เห็นตนมีรูปเห็นรูปในตน หรือเห็นตนในรูป ย่อมตามเห็นเวทนา ... เห็นสัญญา ... เห็นสังขาร ... เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน เห็นตนมีวิญญาณ เห็นวิญญาณในตน หรือเห็นตนในวิญญาณ
เขาย่อมแล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นเอง เมื่อเขาแล่น วนเวียน รูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณอยู่ ย่อมไม่พ้นไปจากรูป ไม่พ้นไปจาก เวทนา ไม่พ้นไปจากสัญญา ไม่พ้นไปจากสังขาร ไม่พ้นไปจากวิญญาณ ไม่พ้นไปจาก ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสอุปายาส เรากล่าวว่าย่อมไม่พ้นไปจาก ทุกข์.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดใน อริยธรรม ได้รับแนะนำดีแล้วในอริยธรรม ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำดีแล้ว ในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ...ไม่พิจารณาเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ... ไม่พิจารณาเห็นสัญญา โดยความเป็น ตน ... ไม่พิจารณาเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ... ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณ โดยความ เป็นตน ไม่เห็นตนมีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในตน หรือไม่เห็นตนในวิญญาณ
อริยสาวกนั้น ย่อมไม่แล่นวนเวียนรูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ อริยสาวกนั้นเมื่อไม่แล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณย่อมพ้นจากรูป พ้นจากเวทนา พ้นจากสัญญา พ้นจากสังขาร พ้นจากวิญญาณ พ้นจากชาติชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์.
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๑๕
7)
จูฬนีสูตร (พระสูตรเต็ม)
[๕๒๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้ทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า
ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ใน พรหมโลก ให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไร ให้รู้แจ้งได้ด้วย พระสุรเสียง พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์นั้นสาวก ส่วนพระตถาคต นับไม่ถ้วน
ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ทำให้พ้นแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียงพระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไร ให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง ฯ
พ. ดูกรอานนท์ นั้นเป็นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน ท่านพระอานนท์ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคแม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับ รับฟังมา เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขี สัมมา สัมพุทธเจ้า ซึ่งมีนามว่า อภิภู สถิตอยู่ในพรหมโลก ทำให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถ ที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง
พ. ดูกรอานนท์ เธอได้ฟังเรื่องพันโลกธาตุ เพียงเล็กน้อย
อา. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลเวลาแห่งเทศนา ที่พระองค์จะพึงตรัส ภิกษุทั้งหลาย ได้สดับธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้
พ. ดูกรอานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระอานนท์ ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอานนท์ จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาส ที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่ง โลกธาตุ อย่างกลางมีล้านจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณ แสน โกฏิจักรวาล ดูกรอานนท์ตถาคตมุ่งหมายอยู่ พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณ แสน โกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคพึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณ แสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งด้วยพระสุรเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ ทรงมุ่งหมาย อย่างไร
พ. ดูกรอานนท์ พระตถาคตในโลกนี้ พึงแผ่รัศมีไปทั่วโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณแสนโกฏิจักรวาล เมื่อใด หมู่สัตว์พึงจำแสงสว่างนั้นได้ เมื่อนั้นพระตถาคต พึงเปล่งพระสุรเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน พระตถาคตพึงทำให้โลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณ แสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง หรือพึงทำให้รู้แจ้งได้ เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ด้วยอาการเช่นนี้แล
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลว่า เป็นลาภ ของข้าพระองค์หนอ ข้าพระองค์ได้ดีแล้วหนอที่ข้าพระองค์ มีพระศาสดาผู้มีฤทธิ์มี อานุภาพมาก อย่างนี้ เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายี ได้กล่าวกะ ท่านพระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าศาสดาของท่านมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่าน พระอุทายีว่า ดูกรอุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป เธอพึงเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา๗ ครั้งพึงเป็นเจ้าจักพรรดิ ในชมพูทวีป นี้แหละ ๗ ครั้ง เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น ดูกรอุทายีก็แต่ว่าอานนท์ จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๔
8)
สุริยสูตร (พระสูตรเต็ม)
[๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพปาลีวัน ใกล้พระนครเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็น กำหนด ควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาสิเนรุ โดยยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ โดยกว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์
มีกาลบางคราวที่ฝนไม่ตกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พืชคาม ภูตคามและติณชาติที่ใช้เข้ายา ป่าไม้ใหญ่ ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้ ฉันใด สังขารก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ แม่น้ำลำคลองทั้งหมด ย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด สังขารก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ...ควรหลุดพ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ เพราะอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆคือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใดดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ คือแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภูมหี ทั้งหมดย่อม งวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี ๒๐๐ โยชน์ก็ดี ๓๐๐ โยชน์ก็ดี ๔๐๐ โยชน์ก็ดี ๕๐๐โยชน์ก็ดี ๖๐๐ โยชน์ก็ดี ๗๐๐ โยชน์ก็ดี ย่อมงวดลงเหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖ ชั่วต้นตาลก็มี ๕ ชั่วต้นตาลก็มี ๔ ชั่วต้นตาลก็มี ๓ ชั่วต้นตาลก็มี ๒ ชั่วต้นตาลก็มี ชั่วต้นตาลเดียวก็มี แล้วยังจะเหลืออยู่ ๗ ชั่วคน๖ ชั่วคน ๕ ชั่วคน ๔ ชั่วคน ๓ ชั่วคน ๒ ชั่วคน ชั่วคนเดียว ครึ่งชั่วคน เพียงเอว เพียงเข่า เพียงแค่ข้อเท้าเพียงในรอยเท้าโค
ดูกรภิกษุทั้งหลาย น้ำในมหาสมุทรยังเหลืออยู่เพียงในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ เปรียบเหมือนในฤดูแล้ง เมื่อฝนเมล็ดใหญ่ๆ ตกลงมา น้ำเหลืออยู่ในรอยเท้าโค ในที่นั้นๆฉะนั้น เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรแม้เพียงข้อนิ้วก็ไม่มี ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ...ควรหลุดพ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น เปรียบเหมือนนายช่างหม้อเผาหม้อ ที่ปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น ฉะนั้นดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้และ ขุนเขาสิเนรุ ไฟจะติดทั่วลุกโชติช่วง มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน
เมื่อแผ่นดินใหญ่ และ ขุนเขาสิเนรุ ไฟเผาลุกโชนลมหอบเอาเปลวไฟ ฟุ้งไปจนถึงพรหมโลก
เมื่อขุนเขาสิเนรุ ไฟเผาลุกโชนกำลังทะลาย ถูกกองเพลิงใหญ่เผาท่วม ตลอดแล้ว ยอดเขาแม้ขนาด ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ย่อมพังทะลาย
เมื่อแผ่นดินใหญ่ และขุนเขาสิเนรุ ถูกไฟเผาผลาญอยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้า และเขม่า เปรียบเหมือนเมื่อเนยใส หรือน้ำมันถูกไฟเผาผลาญ อยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้า และเขม่า ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่า ชื่นชม ควรจะเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ใครจะรู้ใครจะเชื่อว่า แผ่นดินนี้ และ ขุนเขาสิเนรุ จักถูกไฟไหม้พินาศไม่เหลืออยู่ นอกจากอริยสาวกผู้มีบทอันเห็นแล้ว (โสดาบัน)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาชื่อสุเนตตะเป็นเจ้าลัทธิ ปราศจาก ความกำหนัดในกาม ก็ศาสดาชื่อสุเนตตะนั้น มีสาวกอยู่หลายร้อย เธอแสดงธรรมแก่ สาวก ทั้งหลาย เพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก และเมื่อสุเนตตศาสดา แสดงธรรม เพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก
สาวกเหล่าใดรู้ทั่วถึงคำสอนได้หมดทุกอย่าง สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไป ก็เข้าถึงสุคติ พรหมโลก ส่วนสาวกเหล่าใด ยังไม่รู้ทั่วถึงคำสอนได้หมดทุกอย่าง สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไป บางพวกเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัสดี บางพวก เข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต บางพวกเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาชั้นยามา บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ บางพวกเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช บางพวกเข้าถึงความ เป็นสหาย แห่งกษัตริย์มหาศาล บางพวกเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งพราหมณ์มหาศาล บางพวก เข้าถึงความเป็นสหาย แห่งคฤหบดีมหาศาล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล สุเนตตศาสดา มีความคิดเห็นว่า การที่เราจะพึง เป็นผู้มีสติ เสมอกับสาวกทั้งหลายในสัมปรายภพไม่สมควรเลย ผิฉะนั้นเราควรจะเจริญ เมตตาให้ยิ่งขึ้นไปอีก
ครั้งนั้นแล สุเนตตศาสดาจึงได้เจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี แล้วไม่มาสู่โลกนี้ ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัล์ป เมื่อโลกวิบัติเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกเจริญ เข้าถึงวิมานพรหมที่ว่าง ในวิมานนั้น สุเนตตศาสดาเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่ารู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ เป็นผู้มีอำนาจมาก เกิดเป็นท้าว สักกะ จอมเทวดา ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ตั้งอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา มีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้ได้ชัยชนะสงคราม สถาปนาประชาชนไว้เป็นปึกแผ่น มั่นคง พรั่งพร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ หลายร้อยครั้ง
พระราชโอรสของพระเจ้าจักรพรรดินั้น ล้วนแต่องอาจ กล้าหาญ ชาญชัย ย่ำยีศัตรูได้พระเจ้าจักรพรรดินั้น ทรงปกครองปฐพีมณฑล อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศัสตรา ใช้ธรรมปกครอง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุเนตตศาสดานั้นแล มีอายุยืนนานดำรงมั่นอยู่อย่างนี้ แต่ก็ไม่พ้นจาก ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นจากทุกข์ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะยังไม่ตรัสรู้ไม่ได้แทงตลอด ธรรม ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือ อริยศีล ๑ อริยสมาธิ ๑ อริยปัญญา ๑ อริยวิมุติ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยศีลอริยสมาธิ อริยปัญญา อริยวิมุติ เราตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว เราถอนตัณหาในภพได้แล้ว ตัณหาอันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี ฯ
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุติ อย่างยิ่ง พระโคดม ผู้มียศตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา ผู้มี พระจักษุ ทรงรู้ยิ่งด้วยประการ ดังนี้แล้ว ตรัสบอกธรรม ๔ประการแก่ภิกษุทั้งหลาย ทรงกระทำที่สุดทุกข์ แล้วปรินิพพาน
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๓
9)
โกศลสูตรที่ ๑ (อุปมาเขาสิเนรุ)
[๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาสีและโกศลชนบทมีประมาณเท่าใด แว่นแคว้นของ พระเจ้าปเสนทิโกศล มีประมาณเท่าใด พระเจ้าปเสนทิโกศล ประชาชนกล่าวว่า เป็นผู้เลิศ ในกาสี และโกศลชนบท และแว่นแคว้นประมาณนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่โดยแท้ความแปรปรวน มีอยู่แม้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในความดำรงอยู่ใน สมบัตินั้น เมื่อหน่ายในความดำรงอยู่ในสมบัตินั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเลิศแห่ง สมบัติ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งเลวเล่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ย่อมหมุนเวียนส่องทิศ ให้ไพโรจน์ อยู่ในที่มีประมาณเท่าใด โลกธาตุพันหนึ่ง มีอยู่ในที่มีประมาณเท่านั้น ในโลกธาตุพันหนึ่งนั้น มีดวงจันทร์พันดวง ดวงอาทิตย์พันดวง ขุนเขาสิเนรุหนึ่งพัน ชมพูทวีปพันทวีป อมรโคยานพันทวีป อุตตรกุรุพันทวีป ปุพพวิเทหะพันทวีป มหาสมุทรสี่พัน เทวโลกชั้นมหาราชสี่พัน ชั้นจาตุมหาราชิกาหนึ่งพัน ชั้นดาวดึงส์ หนึ่งพัน ชั้นยามาหนึ่งพัน ชั้นดุสิตหนึ่งพัน ชั้นนิมมานรดีหนึ่งพัน ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี หนึ่งพัน ชั้นพรหมโลกหนึ่งพัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พันโลกธาตุมีประมาณเท่าใด ท้าวมหาพรหม โลกกล่าวว่า เป็นเลิศในพันโลกธาตุนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายความเป็นอย่างอื่นมีอยู่ ความแปรปรวน ก็มีอยู่แม้แก่ท้าวมหาพรหม ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในพันโลกธาตุนั้น เมื่อหน่ายในพันโลกธาตุนั้น ย่อมคลายกำหนัดในความ เป็นผู้เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยที่โลกนี้พินาศมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกพินาศ อยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปในพรหมโลก ชั้นอาภัสสรโดยมาก สัตว์เหล่านั้น เป็นผู้สำเร็จ แล้วด้วยใจ มีปีติเป็นภักษา มีแสงสว่างในตัวเอง เที่ยวไปได้ในอากาศ มีปรกติดำรงอยู่ได้ด้วยดี ย่อมดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้น ตลอดกาลยืน ยาวนาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกพินาศอยู่อาภัสสรเทพทั้งหลาย โลกกล่าวว่า เป็นผู้เลิศ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ความแปรปรวน ก็มีแม้แก่ อาภัสสรเทพทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่าย แม้ในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้น เมื่อหน่ายในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้น ย่อมคลาย กำหนัด ในความเป็นผู้เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้
๑๐ ประการเป็นไฉนคือ
บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำปฐวีกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสองหาประมาณมิได้
บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำอาโปกสิณ ...
บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำเตโชกสิณ...
บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำวาโยกสิณ ...
บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำนีลกสิณ ...
บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำปีตกสิณ ...
บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำโลหิตกสิณ ...
บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำโอทาตกสิณ ...
บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำอากาสกสิณ ...
บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำวิญญาณกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาบ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้ วิญญาณกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้ ที่บุคคลผู้หนึ่งจำได้ เป็นยอดสัตว์ทั้งหลาย แม้ผู้มีสัญญา อย่างนี้แลมีอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวน ก็มีอยู่แก่สัตว์ ทั้งหลาย แม้มีสัญญาอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในบ่อเกิดแห่งกสิณ เมื่อหน่ายในบ่อเกิดแห่งกสิณนั้น ย่อมคลายกำหนัด ในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า
....ฯลฯ....
|
(อรรถกถา 1)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต หน้าที่ ๓๔๖
นาลกสูตรที่ ๑๑
[๓๘๘] อสิตฤาษีอยู่ในที่พักกลางวัน ได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ และเทวดา คณะไตรทส ผู้มีใจชื่นชม มีปีติโสมนัส ยกผ้าทิพย์ขึ้นเชยชมอยู่อย่างเหลือเกิน ในที่อยู่อันสะอาด
ครั้นแล้วจึงกระทำความนอบน้อม แล้วได้ถามเทวดาทั้งหลาย ผู้มีใจเบิกบาน บันเทิงในที่นั้นว่า เพราะเหตุไรหมู่เทวดา จึงเป็นผู้ยินดีอย่างเหลือเกิน ท่านทั้งหลาย ยกผ้าทิพย์ขึ้นแล้ว รื่นรมย์อยู่เพราะอาศัยอะไร แม้คราวใด ได้มีสงคราม กับ พวกอสูร พวกเทวดาชนะ พวกอสูรปราชัย แม้คราวนั้นขนลุกพองเช่นนี้ก็มิได้มี เทวดาทั้งหลาย ได้เห็นเหตุอะไร ซึ่งไม่เคยมีมา จึงพากันเบิกบานเปล่งเสียงชมเชย ขับร้องประโคม ปรบมือ และฟ้อนรำกันอยู่เราขอถามท่านทั้งหลาย ผู้อยู่บน ยอดเขาสิเนรุ
ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลายขอท่านทั้งหลาย จงช่วยขจัดความสงสัย ของเรา โดยเร็วเถิด
เทวดาทั้งหลาย กล่าวว่าพระโพธิสัตว์ ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐนั้น หาผู้เปรียบ มิได้ ได้เกิดแล้วในมนุษย์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข ที่ป่าลุมพินีวัน ในคามชนบทของเจ้าศากยะทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายจึงพากันยินดี เบิกบานอย่างเหลือเกิน พระโพธิสัตว์ นั้น เป็นอัครบุคคล ผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เป็นผู้องอาจกว่านรชน สูงสุดกว่าหมู่สัตว์ ทั้งมวล เหมือนสีหะผู้มีกำลัง ครอบงำ หมู่เนื้อบันลืออยู่ จักทรงประกาศธรรมจักร ที่ป่าอิสิปตนะ
...ฯลฯ...
(อรรถกถา 2 )
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๔
๔. เนมิราชชาดก (พระเจ้าเนมิราชทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี)
ที่มา เนมิราชชาดก
[๕๒๕] น่าอัศจรรย์จริงหนอ เมื่อใด พระเนมิราชเจ้าผู้เป็นบัณฑิต เป็นพระราชา ผู้ปราบอริราชศัตรู มีพระประสงค์ด้วยกุศล ทรงให้ทานแก่ชาววิเทหรัฐ ทั้งปวง เสด็จอุบัติ ขึ้นแล้ว เมื่อนั้นบุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย ย่อมบังเกิดขึ้นในโลก เมื่อพระเจ้าเนมิราช ทรงให้ทานนั้นอยู่ เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานหรือพรหมจรรย์ อย่างไหนมีผลมากหนอ
...............
[๕๙๓] มาตลีเทพสารถี ... ผู้ไม่ทรงทราบว่า ประตูนี้เขาเรียกชื่อว่า จิตรกูฏ เป็นที่เสด็จเข้าออกแห่ง ท้าวสักกรินทรเทวราช ก็ประตูนี้เป็นประตูแห่งเทพนคร ตั้งอยู่ในที่สุดแห่ง เขาสิเนรุราช อันงามน่าดู ปรากฏอยู่ มีรูปต่างๆ งามวิจิตรด้วยรูป เช่น รูปพระอินทร์ แวดล้อมดีแล้ว ปรากฏเหมือนป่าอันเสือโคร่งทั้งหลายรักษาดีแล้ว ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปทางประตูนี้ เชิญเสด็จเหยียบภูมิภาคอัน ราบรื่นเถิด พระเจ้าข้า.
.............
[๑๐๕๑] พระนางผุสดีเทพอัปสร จุติจากดาวดึงสเทวโลกนั้น มาบังเกิด ในสกุล กษัตริย์ ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระเจ้าสญชัย ในพระนครเชตุดร พระนางผุสดี ทรงครรภ์ถ้วน ทสมาส เมื่อทรงทำประทักษิณพระนคร ประสูติเราที่ท่ามกลางถนน ของพวกพ่อค้า ชื่อของเรามิได้เนื่องแต่พระมารดา และมิได้เกิดแต่พระบิดา เราเกิดที่ ถนนแห่งพ่อค้า เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่า เวสสันดร เมื่อใด เรายังเป็น ทารก มีอายุ ๔ ขวบแต่เกิดมา เมื่อนั้น เรานั่งอยู่ในปราสาทคิดจะบริจาคทานว่า เราจะพึงให้หทัยดวงตา เนื้อ เลือด และร่างกาย เมื่อใครมาขอเรา เราก็ยินดีให้ เมื่อเราคิดถึงการบริจาคทานอันเป็นความจริง หฤทัยก็ไม่หวั่นไหวมุ่งมั่นอยู่ ในกาลนั้น ปฐพี มี สิเนรุบรรพต และหมู่ไม้ เป็นเครื่องประดับ ได้หวั่นไหว.
.............
[๑๑๐๐] เมื่อพระเวสสันดรเสด็จออกจากพระนคร ทรงเหลียวมา ทอดพระเนตร แม้ครั้งนั้น แผ่นดินอันมี ขุนเขาสิเนรุ และราวป่าเป็นเครื่องประดับก็ หวั่นไหว
(อรรถกถา 3 )
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส หน้าที่ ๑๑๗
ชราสุตตนิทเทสที่ ๖
........
[๑๙๘] คำว่า บุรุษตื่นแล้วย่อมไม่เห็น มีความว่า บุรุษผู้ฝันเห็นดวงจันทร์ เห็นดวงอาทิตย์ เห็นมหาสมุทร เห็นขุนเขาสิเนรุ เห็นช้าง เห็นม้า เห็นรถ เห็นคนเดินเท้า เห็นขบวนเสนา เห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ เห็นป่าที่น่ารื่นรมย์ เห็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ เห็นสระน้ำที่น่ารื่นรมย์ ครั้นตื่นแล้วย่อมไม่แลเห็นสิ่งอะไรๆ ฉันใด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุรุษตื่นแล้วย่อมไม่เห็น.
ว่าด้วยการทำอาถรรพณ์
[๗๕๔]
...............
ว่าด้วยการทำนายฝัน
พวกชนที่ทำนายฝัน ย่อมทำนายฝันว่า คนฝันเวลาเช้า จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเวลาเที่ยง จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเวลาเย็น จะมีผลอย่างนี้ คนฝันยามต้น จะมีผลอย่างนี้ คนฝันยามกลางจะมีผลอย่างนี้ คนฝันยามหลัง จะมีผลอย่างนี้ คนนอนข้างขวาฝัน จะมีผลอย่างนี้ คนนอนข้างซ้ายฝัน จะมีผลอย่างนี้ คนนอนหงายฝัน จะมีผลอย่างนี้ คนนอนคว่ำฝัน จะมีผลอย่างนี้คนฝันเห็นพระจันทร์ จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเห็นพระอาทิตย์ จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเห็นมหาสมุทร จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเห็นขุนเขาสิเนรุราช จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเห็นช้าง จะมีผลอย่างนี้คนฝันเห็นม้า จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเห็นรถ จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเห็นพลเดินเท้า จะมีผลอย่างนี้คนฝันเห็นหมู่เสนา จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเห็นป่าที่น่ารื่นรมย์ จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเห็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ จะมีผลอย่างนี้ คนฝันเห็นสระที่น่ารื่นรมย์ จะมีผลอย่างนี้ พวกชนที่ทำนายฝัน ย่อมทำนายฝันอย่างนี้.
(อรรถกถา 4 )
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๑
อาฏานาฏิยสูตร (๓๒)
.................
[๒๑๒] แต่ที่นี้ไป ทิศที่มหาชนเรียกกันว่า ปัจฉิมทิศที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของพวกนาค ทรงนามว่าท้าว วิรูปักษ์ อันพวกนาคแวดล้อมแล้ว ทรงโปรดปรานด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ทรง อภิบาลอยู่ ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า โอรสของท้าวเธอมีมากองค์ มีพระนามเดียวกันทั้ง เก้าสิบเอ็ดองค์ มีพระนามว่าอินทะทรงพระกำลังมาก ทั้งท้าววิรูปักษ์และโอรส เหล่านั้น ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้เบิกบานแล้ว ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระอาทิตย์พากัน ถวายบังคม พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม แต่ที่ไกล เทียวว่า พระบุรุษ อาชาไนย
ข้าพระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระองค์ พระอุดมบุรุษ ข้าพระพุทธเจ้า ขอนอบน้อม แด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงตรวจดูมหาชน ด้วยพระญาณอันฉลาด แม้พวกอมนุษย์ก็ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้สดับมาอย่างนั้น เนืองๆ ฉะนั้น จึงกล่าวเช่นนี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถามเขาว่า พวกท่านถวายบังคมพระชินโคดมหรือ เขาพากันตอบว่าถวายบังคมพระชินโคดมข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายบังคม พระพุทธโคดม ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ อุตตรกุรุทวีปเป็นรมณียสถาน มีภูเขาหลวง ชื่อสิเนรุ แลดูงดงาม ตั้งอยู่ทิศใด พวกมนุษย์ซึ่งเกิดในอุตตรกุรุทวีป นั้น ไม่ยึดถือสิ่งใดว่าเป็นของตน ไม่หวงแหนกันมนุษย์เหล่านั้น ไม่ต้องหว่านพืช และไม่ต้องนำไถออกไถ
หมู่มนุษย์บริโภคข้าวสาลี อันผลิตผลในที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์มีกลิ่นหอม เป็นเมล็ดข้าวสาร หุง [ข้าวนั้น] ในเตาอันปราศจากควัน แล้ว บริโภค โภชนะแต่ที่นั้นทำแม่โคให้มีกีบเดียว แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อย ทิศใหญ่ทำ ปศุสัตว์ ให้มีกีบเดียว แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ ทำหญิงให้เป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ ทิศน้อย ทิศใหญ่ ทำชายให้เป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อย ทิศใหญ่ ทำกุมารีให้เป็น พาหนะแล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ ทำกุมารให้เป็น พาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อย ทิศใหญ่ บรรดานางบำเรอของพระราชานั้น ก็ขึ้นยานเหล่านั้น ตามห้อมล้อม ไปทุกทิศ ด้วย ยานช้างยานม้า ยานทิพย์ ปราสาทและวอ ก็ปรากฏแก่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศ ฯ
..... ฯลฯ
(อรรถกถา 5 อื่นๆ )
อรรถกถา เรื่องเขาสิเนรุ
ที่พบในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐, ๓๒, ๓๓, ๓๗
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส หน้าที่ ๒๒๕
(โสฬสมาณวกปัญหานิทเทส ว่าด้วยปัญหาของมาณพทั้ง ๑๖ คน)
-----------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๒ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
พุทธาปทานที่ ๑ ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า
-----------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๓ สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒
(พุทธวังสะ-จริยาปิฎก)
-----------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๗ อภิธรรมปิฎก กถาวัตถุปกรณ์
หน้า ๖๑ , ๖๓ , ๖๕, ๖๖ , ๖๘ , ๖๙ , ๗๓ , ๗๔ , ๘๓๓
----------------------------------------------------------------------------------------- |
|