พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๙
ฐานะ ๔ ประการนี้ พึงรู้ด้วยฐานะ ๔
ฐานะ ๔ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย
มนสิการอยู่จึงจะรู้ ไม่มนสิการอยู่หารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทราม หารู้ไม่
ความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และความสะอาดนั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย
มนสิการอยู่จึงจะรู้ ไม่มนสิการหารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทราม หารู้ไม่
กำลังใจ พึงรู้ได้ในอันตราย และกำลังใจนั้นแล พึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย
มนสิการจึงจะรู้ ไม่มนสิการหารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทราม หารู้ไม่
ปัญญา พึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ เล็กน้อย
มนสิการจึงจะรู้ ไม่มนสิการหารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทราม หารู้ไม่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน... คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้
นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลในโลกนี้ เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้มักทำศีลให้ขาด มักทำให้ทะลุ มักทำให้ด่าง มักทำให้พร้อย ตลอดกาลนาน แล
ไม่กระทำติดต่อไป ไม่ประพฤติ ติดต่อในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นคนทุศีล หาใช่เป็นคนมีศีลไม่
อนึ่ง บุคคลในโลกนี้ เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้มีปรกติไม่ทำศีล ให้ขาด
ไม่ทำให้ทะลุ ไม่ทำให้ด่าง ไม่ทำให้พร้อย ตลอดกาลนาน มีปรกติ ทำติดต่อไป
ประพฤติติดต่อในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นผู้มีศีล หาใช่เป็นผู้ทุศีล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวว่า ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน... คนมีปัญญาทราม หารู้ไม่ ดังนี้
นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า ความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ คนมีปัญญา ทรามหารู้ไม่ ดังนี้
นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลในโลกนี้ สนทนาอยู่กับ บุคคล ย่อมรู้ อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัว เป็นอย่างหนึ่ง พูดกัน สองต่อสอง เป็นอย่างหนึ่ง พูดกันสามคนเป็นอย่างหนึ่ง
พูดกันมากคนเป็นอย่างหนึ่ง ท่านผู้นี้พูด คำหลังผิดแผกไปจากคำก่อน ท่านผู้นี้มีถ้อยคำไม่บริสุทธิ์
ท่านผู้นี้หามี ถ้อยคำ บริสุทธิ์ไม่
อนึ่ง บุคคลในโลกนี้ เมื่อสนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัว เป็นอย่างไร พูดกันสองคน สามคน มากคน ก็อย่างนั้นท่านผู้นี้พูดคำหลัง
ไม่ผิดแผก จากคำก่อน
มีถ้อยคำบริสุทธิ์ ท่านผู้นี้หามีถ้อยคำไม่บริสุทธิ์ไม่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวว่า ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ... คนมีปัญญา ทรามหารู้ไม่ ดังนี้
นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า กำลังใจ พึงรู้ได้ในอันตราย... คนมีปัญญาทราม หารู้ไม่ ดังนี้
นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลบางคน ในโลกนี้ กระทบความเสื่อมญาติ
กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อม เพราะโรค ย่อมไม่พิจารณา อย่างนี้ว่า โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนั้นเอง
การได้อัตภาพ เป็นอย่างนั้น ในโลก สันนิวาสตามที่เป็นแล้ว ในการได้อัตภาพตามที่เป็นแล้ว
โลกธรรม ๘ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑
ย่อมหมุนเวียนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตาม โลกธรรม ๘ ดังนี้
บุคคลนั้นกระทบความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อม เพราะโรค
ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความหลงใหล ส่วนบุคคล บางคนในโลกนี้
กระทบความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อมเพราะโรค
ย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่า
โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนั้น เอง การได้อัตภาพเป็นอย่างนั้น ในโลกสันนิวาสตามที่เป็นแล้ว
ในการได้อัตภาพตาม ที่เป็นแล้ว
โลกธรรม ๘ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ หมุนเวียน ไปตามโลกและโลกย่อมหมุนเวียน ตามโลกธรรม ๘ ดังนี้
บุคคลนั้นกระทบความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อม เพราะโรค
ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก คร่ำครวญ ไม่ถึงความ หลงใหล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
คำที่เรากล่าวว่า กำลังใจ พึงรู้ได้ในอันตราย...คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้
นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า
ปัญญา พึงรู้ได้ด้วยการสนทนา...คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้
นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลบางคนในโลกนี้ สนทนากับบุคคลย่อมรู้ อย่างนี้ว่า
ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร อภินิหารของท่านผู้นี้เพียงไร และการ ถามปัญหาของท่านผู้นี้เพียงไร
ท่านผู้นี้ปัญญาทรามท่านผู้นี้ ไม่มีปัญญา ข้อนั้น เพราะเหตุไร
เพราะท่านผู้นี้ไม่อ้างบทความอันลึกซึ้งอันสงบ
ประณีต ที่สามัญชน คาดไม่ถึง ละเอียด
อันบัณฑิตพึงรู้ได้
อนึ่ง ท่านผู้นี้กล่าวธรรมอันใด
ท่านผู้นี้ไม่สามารถจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนกกระทำให้ตื้น
ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นได้ โดยย่อหรือโดยพิสดาร ท่านผู้นี้มีปัญญาทราม ท่านผู้นี้ไม่มีปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ที่ฝั่งห้วงน้ำ พึงเห็นปลาเล็กๆ ผุดอยู่ เขาพึงทราบได้ว่า กิริยาผุด ของปลาตัวนี้เป็นอย่างไร
ทำให้เกิดคลื่นเพียงไหน และมีความเร็วเพียงไร ปลาตัวนี้ เล็ก ไม่ใช่ปลาตัวใหญ่ ดังนี้ ฉันใด
บุคคลเมื่อสนทนากับบุคคล ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร ฯลฯ
ท่านผู้นี้มีปัญญาทราม ท่านผู้นี้ไม่มีปัญญา ดังนี้ ส่วนบุคคลในโลกนี้ สนทนาอยู่กับ บุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร อภินิหารของท่านผู้นี้เพียงไร การถามปัญหาของท่านผู้นี้เพียงไร
ท่านผู้นี้มีปัญญา ท่านผู้นี้ไม่ใช่ทรามปัญญา ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร
เพราะท่านผู้นี้ย่อมอ้างบทความลึกซึ้ง
สงบ ประณีต สามัญชน คาดไม่ถึง ละเอียด อันบัณฑิตพึงรู้ได้
และท่านผู้นี้ย่อมกล่าวธรรมใด
ท่านผู้นี้เป็นผู้สามารถเพื่อจะบอก เพื่อแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น
ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้น ทั้งโดยย่อหรือพิสดารได้ ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปัญญา ท่านผู้นี้หาใช่เป็นผู้มีปัญญาทรามไม่ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ที่ฝั่งห้วงน้ำ พึงเห็นปลาตัวใหญ่กำลังผุด เขาพึงรู้อย่างนี้ว่า
กิริยาผุดของปลาตัวนี้เป็นอย่างไร ทำให้เกิดคลื่นได้เพียงไหน มีความเร็วเพียงไร ปลาตัวนี้ใหญ่
หาใช่ ปลาตัวเล็กไม่ ดังนี้ ฉันใด บุคคลสนทนา อยู่กับ บุคคลก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร ฯลฯ ท่านผู้นี้มีปัญญา หาใช่เป็นผู้มีปัญญาทรามไม่ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
คำที่เรากล่าวว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา...คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แล อันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔ นี้ |